เดินตามรอยเท้าวันสุดท้ายของคานธี

ทุกครั้งที่ผมมาเยือนประเทศอินเดีย หากมีโอกาสจะต้องแวะมาสถานที่ในความทรงจำเกี่ยวกับท่านมหาตมะคานธีเสมอ

ผมชอบศึกษาชีวิตของคานธี อยากรู้ว่าเหตุใดคนคนนี้ถึงทำให้ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวประโยคอมตะภายหลังคานธีเสียชีวิตว่า “คนรุ่นต่อไปคงจะไม่เชื่อเลยว่า เคยมีคนที่มีเลือดเนื้อแบบนี้ มีชีวิตอยู่จริงบนโลกมนุษย์ใบนี้”

ภายหลังการเสียชีวิตของคานธี


เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสมาเยือนพิพิธภัณฑ์คานธี ซึ่งสร้างอยู่ภายในบริเวณอาคารที่เคยเป็นที่พำนักของท่านในช่วงชีวิตสุดท้ายในกรุงนิวเดลี

ผมเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคาร ๒ ชั้น  สิ่งที่สะดุดตาเมื่อเดินเข้าไปภายในคือห้องทำงานและห้องนอนของท่านมหาตมะคานธี เป็นห้องเล็กๆ ๒ ห้องที่ท่านพำนักมาตลอดในปีสุดท้าย  บ้านพักหลังนี้มีคนใจดีแบ่งให้ท่านอาศัยในกรุงเดลีเพื่อเป็นสถานที่พบปะผู้คนจำนวนมากที่มารอพบท่าน  อาคารใหญ่โตพอควร เจ้าของบ้านยกให้คานธีทั้งหลังเพื่อความสะดวกสบายในการพักผ่อน แต่คานธีบอกเจ้าของบ้านว่า ท่านขอแค่ห้องเล็กๆ ๒ ห้องเท่านั้น

วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๐ คานธีตัดสินใจเดินทางจากเมืองกัลกัตตามาพักอยู่ในกรุงเดลี เพื่อพยายามระงับความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมกับชาวฮินดูหลังจากที่เขาได้นำคนอินเดียต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษมาอย่างยาวนานด้วยวิธีอหิงสาจนได้รับเอกราชจากอังกฤษในที่สุด  ต่อมาความขัดแย้งทางศาสนาที่คุกรุ่นมานานระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิมได้ก่อให้เกิดการแยกประเทศไปตั้งเป็นสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน และเกิดการต่อสู้เข่นฆ่าระหว่างสองฝ่าย มีผู้ล้มตายจำนวนมาก

คานธีประกาศว่าจะอยู่ที่นี่เพื่อแก้ไขความขัดแย้งของผู้คนแม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม

ห้องทำงานของคานธีที่ยังเก็บรักษาไว้ในสภาพเดิม

ห้องทำงานของท่านมีเพียงโต๊ะตัวเล็ก ฟูกสีขาว แว่นตา นาฬิกา ไม้เท้า รองเท้าไม้  และตุ๊กตาไม้รูปลิง ๓ ตัวทำท่าปริศนาธรรม –มือปิดหู ปิดตา ปิดปาก

สมบัติของผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก บุรุษร่างเล็กผู้ชนะใจคนนับพันล้านทั่วโลก มีเพียงแค่นี้จริงๆ

เมื่อคานธีปักหลักอยู่ที่นี่เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนร่วมชาติ กิจวัตรประจำวันของท่านคือการเดินมานั่งตรงลานหญ้าเพื่อพูดคุยกับประชาชนต่างเชื้อชาติต่างศาสนาที่มาระบายความคับแค้นใจให้ท่านฟัง และมาสวดมนต์ร่วมกัน

ผมเดินออกมานอกอาคาร เบื้องหน้าคือสนามหญ้ากว้างใหญ่ทุกเย็นคานธีจะมาพบปะพี่น้องประชาชนและร่วมสวดมนต์ที่นั่นที่สะดุดตาคือทางเดินปูด้วยอิฐข้างสนามหญ้าหล่อเป็นรูปรอยเท้าสีขาวมุ่งหน้าสู่ศาลาหลังหนึ่งซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ ๕๐ เมตร มีป้ายเขียนว่า “วันสุดท้ายที่ท่านมหาตมะคานธีเดินไปร่วมสวดมนต์บนเส้นทางตรงนี้ ”

เย็นวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๙๑ คานธีในวัย ๗๘ ปีเดินออกมาปฏิบัติกิจวัตรโดยมีหลานสาว ๒ คนพยุงแขนสองข้าง  ขณะเดินไปได้สักพัก ชายคนหนึ่งก็เดินแหวกฝูงชนมาหาท่าน  หลานสาวคิดว่าชายผู้นั้นจะมาก้มลงแตะเท้าของคานธีเป็นการแสดงความเคารพ  หลานสาวคนหนึ่งบอกคานธีว่า “บาปู (ชื่อเรียกคานธี) สายมากแล้ว” และเธอพยายามกันชายผู้นั้นออกไป ทันใดนั้นเขาก็ผลักเธอ พร้อมเงยหน้าและหยิบปืนสั้นเบเรตต้า .๓๘ มม. ยิงเข้าที่หน้าอกและท้องอันเปลือยเปล่าของคานธี ๓ นัดซ้อน

คานธีได้กล่าวคำสุดท้ายก่อนล้มลงเสียชีวิตว่า “Hey Ram” (โอ พระเจ้า)

ตลอดชีวิตการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียจากการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ คานธีถูกลอบสังหารเกือบเอาชีวิตไม่รอด ๔ ครั้ง  สองวันก่อนเสียชีวิต คือวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๙๑ คานธีเขียนว่า “หากผมตายจากกระสุนปืนของคนบ้า ผมยังจะมีรอยยิ้ม ไม่มีความอาฆาตโกรธแค้นภายในตัวผม พระเจ้าจะอยู่ในหัวใจและคำพูดของผม”

ทางเดินของคานธีวันสุดท้ายที่นำไปสู่จุดจบตรงศาลาด้านซ้ายไกลออกไป

ลานหญ้าตรงกลางคือสถานที่ที่คานธีนั่งสวดมนต์กับประชาชนทุกวันศาลาที่เห็นในภาพคือจุดที่ท่านถูกลอบสังหาร

ผมเดินตามรอยเท้าสีขาวไปเรื่อยๆ จนถึงศาลาหลังหนึ่ง เป็นจุดที่คานธีล้มลงเสียชีวิตเมื่อ ๖๔ ปีก่อน ด้วยฝีมือของฆาตกรชื่อ นาฮูราม กอสซี ชาวฮินดูหัวรุนแรงวัย ๓๖ ปีที่ไม่พอใจเมื่อคานธีอ่อนข้อให้ข้อเรียกร้องของมุสลิมปากีสถานมากเกินไป

ด้านหนึ่งของสนามหญ้ามีแท่นเล็กๆ ตั้งอยู่ เป็นที่นั่งสวดมนต์ของคานธีเมื่อครั้งยังมีชีวิต  ด้านหลังมีภาพถ่ายขาวดำขนาดใหญ่เป็นภาพคานธีขณะนั่งสวดมนต์บนแท่นนี้ร่วมกับพี่น้องฮินดูและมุสลิม

ภายหลังข่าวการเสียชีวิตของคานธีแพร่กระจายไปทั่วประเทศ คนอินเดียทั้งมุสลิมและฮินดูต่างเศร้าสลด การเข่นฆ่ากันระหว่างคนต่างศาสนาส่วนใหญ่ยุติลง มีแต่เสียงร่ำไห้ของผู้คนตามท้องถนน  ประชาชนกว่า ๒ ล้านคนมุ่งหน้าไปกรุงเดลีเพื่อแสดงความอาลัยท่านเป็นครั้งสุดท้าย ฝูงชนต่อแถวยาวเหยียดเกือบ ๑๐ กิโลเมตรเพื่อร่วมไว้อาลัยบริเวณหน้าบ้านที่เกิดเหตุแห่งนี้

ในอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวชีวิตคานธีอย่างละเอียด  ตอนหนึ่งมีภาพยวาหะราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ขณะกล่าวกับคนทั้งชาติทางวิทยุภายหลังเหตุการณ์นั้นว่า

“เพื่อนและสหาย แสงสว่างได้หายไปจากชีวิตของพวกเราแล้ว มีแต่ความมืดมิดทุกหนแห่ง และข้าพเจ้าก็ไม่อาจบอกพวกท่านได้ว่าจะอยู่กันอย่างไรต่อไป  ผู้นำอันเป็นที่รักยิ่งของเรา บาปู หรือที่เราเรียกว่า พ่อของชาติ ได้จากไปแล้ว  เราไม่สามารถเห็นท่านได้อีกต่อไป แม้ว่าเราจะได้พบท่านมาเป็นเวลานานแล้ว เราจะไม่สามารถวิ่งไปขอคำปรึกษาหรือคำปลอบประโลมจากท่านได้อีก  มันเป็นความทุกข์มหันต์ ไม่เฉพาะสำหรับข้าพเจ้า แต่สำหรับผู้คนหลายล้านคนในประเทศนี้”

ภายในนิทรรศการมีภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่สะดุดตา เป็นรูปคานธีล้มลงเสียชีวิต หน้าอกมีรอยเลือด ข้างกายมีหลานสาวประคองท่านอยู่ ด้านหลังเป็นรูปวาดพระเยซูสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน

คานธีเสียชีวิตในวันศุกร์ วันเดียวกับที่พระเยซูสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเมื่อ ๑,๙๑๕ ปีก่อน  การเสียชีวิตของคานธีอาจถือเสมือนการถูกตรึงกางเขนเป็นคนที่ ๒ ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ นับแต่พระเยซูเจ้าถูกตรึงกางเขนเพื่อไถ่บาปแก่มวลมนุษย์ เช่นเดียวกับการเสียชีวิตของคานธีอันเป็นการยุติสงครามกลางเมืองระหว่างคนต่างศาสนา

ในโลกยุคปัจจุบันที่ผู้คนเต็มไปด้วยความเกลียดชังและความขัดแย้ง จะมีใครยอมเสียสละถูกตรึงกางเขนเป็นคนที่ ๓ หรือไม่ คงต้องดูกันไปนานๆ และให้เวลาพิสูจน์ว่าใครเป็นตัวจริงตัวปลอมกันต่อไป

Comments

  1. Pingback: ฉบับที่ ๓๓๑ กันยายน ๒๕๕๕

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.