หลักการสัมภาษณ์

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


interview01

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชั้นปี ๓ มีรายวิชาการเขียนภาษาไทยเพื่อวิชาชีพ แต่ละเทอมจะมีชั่วโมงที่เป็นการบรรยายของวิทยากรพิเศษมืออาชีพด้านการเขียนประเภทต่างๆ ผมเคยได้รับเกียรติให้ไปเล่าประสบการณ์ให้หนุ่มสาวชาวอักษรฟังหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จำได้ว่ารุ่นแรกที่มีโอกาสได้เจอกันในห้องประชุม ๕๐๓ ตึกบรมราชกุมารีนั้น บัดนี้บางคนส่งข่าวคราวมาว่าแต่งงานมีลูกเต้าเข้าเรียนอยู่ชั้นประถมแล้ว นับเวลาที่ได้มาพบปะชาวอักษร จุฬาฯ ก็คงเกิน ๑๐ รุ่น แต่คณะครูอาจารย์ที่มีโอกาสได้มาเจอกันปีละครั้ง ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มเดิม

ว่าตามจริงช่วงเวลาบรรยายแค่ ๓ ชั่วโมง จะสอนให้ใครเขียนสารคดีได้เลยคงเป็นไปได้ยาก แต่อาจารย์ผู้เชิญบอกว่าแค่ให้นิสิตมีโอกาสได้พบปะ ได้ยินได้ฟังวิธีการทำงานของนักเขียนตัวจริง ได้เห็นแบบอย่างเป็นแรงบันดาลใจ ก็เพียงพอแล้ว

แต่ไหนๆ เมื่อมีโอกาสได้เจอกัน ผมก็อยากให้เขาได้อะไรในลักษณะขององค์ความรู้หรือหลักการบางอย่างไปด้วยบ้าง ตามขีดความสามารถอันจำกัดจำเขี่ยของผู้บรรยาย

อาจารย์แอบกระซิบว่าปัญหาหลักของนักหัดเขียนรุ่นใหม่ยุคไอทีคือ มีงานเขียนอยู่มากมายในหน้ากระดาษออนไลน์ แล้วเขาก็มักจะใช้วิธีการง่ายๆ ด้วยการไปก็อปปี้มาวางใหม่แล้วปริ๊นส่งอาจารย์

แบบฝึกหัดสารคดีปีนี้ อาจารย์จึงตั้งกฎเกณฑ์หลักว่า ตัวเรื่องต้องมีส่วนที่เป็นบทสัมภาษณ์ ส่งพร้อมแนบหลักฐานการสัมภาษณ์มาด้วย

เห็นโจทย์ดังนี้ ผมจึงเห็นช่องทางที่จะช่วยให้เขาเบาใจและได้แนวทางไปใช้ในการปฏิบัติจริง ด้วยการเน้นแบ่งปัน “วิธีการสัมภาษณ์” พร้อมฉายให้เห็นภาพจริงผ่านตัวอย่างหนังฝรั่งเรื่อง Life of Pi ซึ่งโครงเรื่องหลักฉายให้คนดูเห็นตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องว่าเรื่องราวในหนังนั้นมาจากการที่นักเขียนฝรั่งคนหนึ่งนั่งคุย (สัมภาษณ์) กับพาย-ลูกชายเจ้าของสวนสัตว์ชาวอินเดีย-ตัวละครหลักของเรื่อง

interview02

จะเป็นนักสัมภาษณ์ที่เก่งต้องเน้นที่การฝึกปฏิบัติ ได้คุยกับแหล่งข้อมูลที่หลากหลายบ่อยๆ ก็จะค่อยๆ เรียนรู้ได้เองว่าจะคุยกับแหล่งข้อมูลแต่ละแบบอย่างไรให้ได้ประเด็นและข้อมูลมาใช้ในงานเขียนอย่างเข้มข้นด้วยน้ำเนื้อ

ส่วนหลักเบื้องต้นทางทฤษฎีก็อาจมีที่พอแบ่งปันกันได้ ซึ่งมาจากการสรุปบทเรียนส่วนตัวเท่าที่ได้ทำมาดังนี้

๑.มีเวลาได้นั่งคุยกันมากพอ การสัมภาษณ์เพื่อข้อมูลสำหรับเขียนสารคดี ไม่อาจขอเวลาแค่ ๕-๑๐ นาที หรือสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เพราะการสัมภาษณ์เชิงลึกต้องมีการปูพื้นฐาน ซักไซ้ ขยายความ โต้ตอบ รวมทั้งบางทีความเงียบก็เป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา การได้คุยกันต่อหน้าจึงเป็นเรื่องจำเป็น อีกทั้งอากัปกิริยา สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง จังหวะวาจา ล้วนเป็นส่วนที่จะนำมาใช้ในการเขียนเรื่องได้ทั้งหมด

๒.หลายคนเข้าใจว่านักสัมภาษณ์ต้องพูดเก่ง ความจริงคุณสมบัติที่สำคัญกว่าคือ การเป็นนักฟัง คนสัมภาษณ์ต้องฟังอย่างใส่ใจต่อสิ่งที่แหล่งข้อมูลพูด จะทำให้จับใจความได้ เก็บประเด็นและต่อประเด็นได้ ซักถามและแกะรอยรายละเอียดเนื้อหาของสิ่งแหล่งข้อมูลต้องการจะบอกได้

๓.เตรียมโครงคำถามจากหัวข้อประเด็นที่ต้องการจะเขียน เป็นข้อคำถามหลักๆ ในการพูดคุย แต่อย่าละเลยหรือข้ามการซักไซ้ลงรายละเอียดในเรื่องที่แหล่งข้อมูลเล่าซึ่งเราไม่เคยรู้ไม่ได้เตรียมการมาด้วย กระทั่งเข้าใจแจ่มแจ้งต่อใจความทั้งหมดแบบเล่าต่อคนอื่นได้ นั่นจึงเรียกว่าสัมภาษณ์ได้ครอบคลุม

๔.การซักค้านก็จำเป็น แต่ต้องเป็นในท่วงทีคุยกันแบบสบายๆ ไม่ใช่ไล่ต้อนเค้นเอาความ การสัมภาษณ์เพื่องานเขียนสารคดีไม่ใช่การไต่สวนแบบรายการสนทนาถ่ายทอดสด แต่เน้นเนื้อสารที่เป็นน้ำเนื้อแห่งชีวิต ความรู้ ความสามารถ ความจริง ความรู้สึก วิธีคิด สารัตถะที่ตกผลึกหนักแน่นจนเป็นตัวตนของใครสักคนหนึ่ง สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนออกมาได้อย่างตรงตามจริงก็ในสถานการณ์และอารมณ์ที่เขารู้สึกดี ผ่อนคลาย และไว้วางใจ

๕.ขั้นตอนสำคัญ ถ้าเป็นไปได้ควรถอดเทปเอง เพราะการฟังซ้ำจะทำให้เราได้ย้อนทวนถึงเหตุการณ์และสิ่งที่ได้ซึมซับสดับมาชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งนำมาใช้ในการเล่าเรื่องได้เช่นกัน และการถอดเทปของนักสารคดีจะเน้นคงความแบบคำต่อคำ ไม่ตัดแม้แต่ เอ่อ.. อ่า.. หรือการพูดจาที่วกวนขาดห้วง ทั้งหมดนี้คืออารมณ์ บรรยากาศการสนทนา ที่จะกลายเป็นเนื้อหา น้ำเสียงที่หนักเบา เศร้าเครือ ก็อาจวงเล็บไว้ด้วย เหล่านี้เป็นสีสันและอารมณ์ของตัวละครจะไปอยู่ในเรื่องได้ด้วย

ฯลฯ

ความจริงยังมีอีกหลายข้อที่จะบอกกล่าวกันเป็นกฎเกณฑ์ แต่ก็อย่างที่เล่าแล้วการเรียนการเขียนนั้นยากที่จะปั้นให้เป็นกันได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ผ่านเพียงภาคทฤษฎี

การเติบโตบนเส้นทางอยู่ที่การได้ฝึกฝนซ้ำๆ

ลองใช้ ๕ ข้อนี้เป็นแนวทางเบื้องตน แล้วมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันต่อ


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา