![]() |
นายบรรณรักษ์ คุ้มรักษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อ. เมือง จ. เชียงใหม่ |
เรื่อง เลือก (อ่าน) ไม่ถูกเชิญทางนี้ มีของดีจะบอกการอ่านเป็นปัจจัยสิ่งแรกของหัวใจนักปราชญ์ (สุ จิ ปุ ลิ) การอ่านเป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาและเสริมสร้างสติปัญญา ซึ่งตามหลักพระพุทธศาสนาการที่จะเกิดปัญญาได้นั้นต้องเริ่มจากการอ่าน-การฟัง (สูตมยปัญญา) จากนั้นจึงเป็นการคิดพิจารณา (จินตามยปัญญา) สุดท้ายจึงเป็นการลงมือปฏิบัติจริง (ภาวนามยปัญญา) จึงจะถือว่าเกิดปัญญาที่แท้จริง ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการอ่านเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะการเกิดปัญญา ในชีวิตประจำวันของเราก็เช่นเดียวกัน การอ่านมีส่วนสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเรามาก ทั้งการอ่านข่าวสาร เหตุบ้านการณ์เมือง ประกาศ โฆษณา หรือจะเป็นการเรียน การทำงาน เราก็ใช้การอ่านอยู่เสมอๆ นอกจากนี้การอ่านยังถือเป็นการพักผ่อนหย่อนใจและเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย ประโยชน์มากมายจากการอ่านคงทำให้หลายๆ คนอยากใช้เวลาว่างกับการอ่านหนังสือขึ้นมาบ้างแล้ว ซึ่งนอกจากจะเป็นตำราเรียนที่ต้องอ่านอยู่เป็นประจำ หรือจะเป็นหนังสือการ์ตูนที่เป็นที่นิยมและอ่านกันอย่างแพร่หลายแล้ว ยังมีหนังสือดีๆ มีประโยชน์สารพัดที่น่าอ่านและน่าสนใจ ทีนี้จะเลือกเล่มไหนมาอ่านกันดี ตอนนี้เลือกไม่ได้ไม่เป็นไร ขอเชิญทางนี้ผมมีหนังสือดีๆ อยากจะขอแนะนำซึ่งก็หวังว่าคงจะถูกใจโดยเฉพาะ ผู้อ่านที่นิยมชมชอบหนังสือประเภทนวนิยายรักโรแมนติกที่พอจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการเลือกซื้อหา หยิบยืม หรือค้นคว้ามาอ่านได้เป็นอย่างดี เรื่องแรก ข้างหลังภาพ เป็นผลงานชิ้นเอกของศรีบูรพา ถือได้ว่าเป็นปรมาจารย์ของวงการประพันธ์เมืองไทย ข้างหลังภาพ ถือเป็นนวนิยายอมตะที่เป็นอกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีล้าสมัย อ่านเมื่อไรก็อ่านได้ จึงเป็นที่นิยมของผู้อ่านทุกยุคทุกสมัย ดังจะเห็นว่ามีการตีพิมพ์มาแล้วกว่า 30 ครั้ง ข้างหลังภาพ เป็นเรื่องราวของหญิงสาวสูงศักดิ์ผู้หนึ่งซึ่งรอคอยความรักแท้จริงและรอคอยชายที่เธอจะมอบความรักให้ จนเวลาล่วงมาเมื่อเธออายุ 35 ปี เธอหมดหวังที่จะพบรักแท้ เธอจึงตกลงแต่งงานกับท่านเจ้าคุณ อายุ 50 ปี และเพื่อกับที่เธอจะได้ออกไปเผชิญโลกกว้างภายนอกเสียที หลังแต่งงานที่เธอได้ไปฮันนีมูนกับท่านเจ้าคุณ ณ ประเทศญี่ปุ่นซึ่งทำให้เธอได้พบรักกับชายหนุ่มนักเรียนไทยผู้เป็นบุตรชายเพื่อนของท่านเจ้าคุณ ด้วยจารีตและฐานะของเธอที่เกิดมาในชนชั้นของเลือดสีน้ำเงิน ทำให้เธอต้องเก็บความรู้สึกนี้ไว้ จนกระทั่งแม้ท่านเจ้าคุณตายจากไป เธอก็มิอาจจะบอกรักแก่ชายหนุ่มที่เธอรักได้ จนในที่สุดฉากสุดท้ายของชีวิตของเธอ เธอได้ทิ้งประโยคสั้นๆ ที่มีความหมายลึกซึ้งและกินใจแก่ชายที่เธอรักและรอคอยมาตลอด ก่อนที่เธอจะสิ้นใจด้วยโรคร้าย ซึ่งเป็นจุดจบที่น่าเศร้าและน่าสะเทือนใจอย่างยิ่ง หนังสือเล่มนี้มีเขียนขึ้นด้วยภาษาที่งดงาม พอเหมาะพอควร แทบทุกแง่ทุกมุม ม.ร.ว. กีรติ ตัวละครเอกของเรื่อง ผู้แต่งได้ประดิษฐ์และรังสรรค์ตัวละครตัวนี้ให้เป็นสตรีในอุดมคติ มีความรอบคอบเยือกเย็น สุภาพเรียบร้อย อ่อนหวานรู้จักวางตัว ซื่อสัตย์และกตัญญู คุณความดีอีกหลายๆ อย่าง ผู้แต่งได้ใช้จินตนาการและความฝัน วาดภาพความรู้สึกลักษณะของ ม.ร.ว. กีรติไว้เหมือนภาพถ่ายที่ชัดเจน แจ่มแจ้ง ไม่มีสลัว ไม่ใช่ภาพเขียน แต่ให้ความรู้สึกว่ามีอยู่จริงๆ ซึ่งบางครั้งก็งดงามเกินกว่ามนุษย์ธรรมดาจริงๆ ในโลกนี้ ทั้งนี้ผู้เขียนพยายามสร้างให้ ม.ร.ว. กีรติได้รับความสงสารเห็นใจในความอาภัพเรื่องความรักด้วย ส่วนนพพร นิสิตแห่งมหาวิทยาลัยริคเคียว ผู้เป็นบุตรชายเพื่อนของท่านเจ้าคุณสามีของ ม.ร.ว. กีรติก็เป็นชายหนุ่มที่ถูกสร้างขึ้นอย่างประณีตไม่น้อยไปกว่า ม.ร.ว. กีรติเป็นแบบอย่างของชายหนุ่มวัย 22 ปีที่น่ารักน่าเอ็นดู มีความรู้สึกนึกคิดที่ดีงามในการครองตัว มีจรรยามารยาทที่เรียบร้อยน่าชื่นชม มีความเป็นลูกผู้ชาย แต่ยึดมั่นในค่านิยมว่า รักมิได้เป็นใหญ่ไปกว่าการงาน การตั้งตัว หรือชื่อเสียง นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาลืมความรักที่เคยมีต่อ ม.ร.ว. กีรติอย่างรุนแรงลงได้ ม.ร.ว.กีรติจึงเรียกความสงสารจากผู้อ่านได้เป็นอย่างมาก สมดังความมุ่งหมายของผู้แต่ง ผู้แต่งได้รังสรรค์ฉากในเหตุการณ์ต่างๆ ไว้อย่างตระการตา เปรียบเสมือนหนึ่งอาภรณ์ประดับบทประพันธ์ชิ้นนี้ให้มีค่ายิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฉากของเมืองมากูระ ที่ผู้แต่งได้พรรณนาความเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสีสันที่งดงามของดอกไม้แบบญี่ปุ่น ความสวยงามยามค่ำคืนของเมืองชายทะเลที่มีลมโกรกเย็นอยู่เรื่อยๆ มีลูกคลื่นฟอกหาดสาดหินอยู่เป็นระยะ มีดวงดาวพร่างพราวเต็มท้องฟ้า อีกฉากหนึ่งเป็นฉากที่มิตาเกะเมืองที่เกิดเหตุการณ์อันเป็นหัวใจของเรื่องข้างหลังภาพ ความงามที่ผู้แต่งได้พรรณนาไว้นั้นทำให้ไม่สงสัยว่าเหตุใดความรักระหว่างนพพรกับ ม.ร.ว. กีรติจึงแบ่งบานงอกงาม ณ ที่แห่งนี้ ภาพลำธารที่ไหลผ่านเชิงเขา มีต้นไม้อยู่หนาทึบ น้ำใสสะอาดจนสามารถมองเห็นก้อนหินตะปุ่มตะป่ำอยู่ใต้พื้นน้ำ แสงแดดอ่อนๆ ของฤดูออทัมน์ ช่างเป็นบรรยากาศที่โรแมนติกสำหรับคู่รักเสียจริงๆ การดำเนินเรื่องซึ่งศรีบูรพาได้ขึ้นต้นเรื่องอย่างแยบคาย แต่บทส่งท้ายตอนอวสานได้ให้นพพรเป็นผู้บรรยายเรื่อง ซึ่งเป็นศิลปะการประพันธ์แบบหนึ่งที่ไม่ทำให้รสของเรื่องกร่อยในตอนจบแต่กลับกระชับไม่ยืดยาด ทั้งนี้การเรียบเรียงเรื่องก็เป็นไปอย่างสุขุม สมเหตุสมผล ทุกๆ ระยะของมิตรภาพระหว่างนพพรกับ ม.ร.ว. กีรติได้เจริญงอกงามขึ้นไปทีละน้อย เดินเรื่องไปอย่างเรียบร้อยไม่เร่งรัดแต่ลงตัว สำหรับการให้ภาษาที่ตัวละครใช้สื่อสารระหว่างกันก็ทำได้ไพเราะ สละสลวย ควรแก่ฐานะและสถานภาพ เมื่อได้อ่านแล้วรู้สึกประทับใจ เป็นบทสนทนาที่ไพเราะและรื่นหูมากที่สุดเท่าที่เคยได้ยินมา ผู้แต่งยังได้ใช้ท่วงทำนองการเขียนยั่วยุให้ผู้อ่านเกิดอรรถรสในการติดตาม ใช้ตัวละครตัวหนึ่งพูดถึงตัวละครอีกตัวหนึ่ง ชี้ถึงความละเอียดลออที่จะช่วยให้คนอ่านเข้าใจตัวละครได้ตามที่ผู้แต่งต้องการ ในส่วนของคุณค่าด้านสังคมและวัฒนธรรม ถึงแม้ผู้แต่งจะไม่ได้เน้นหนักมากนัก แต่ก็มีส่วนที่เป็นความรู้อยู่บ้างเล็กน้อย ได้แก่ ค่านิยมการคลุมถุงชน ค่านิยมการรักนวลสงวนตัวของหญิงไทย ค่านิยมในการมีความกตัญญูต่อบิดามารดา ค่านิยมการจำกัดสถานภาพสิทธิของผู้หญิงไทยหรือการแบ่งสังคมเพศ ทั้งนี้ผู้แต่งยังแฝงข้อคิดไว้ด้วยว่า สิ่งมีชีวิตจะต้องรู้จักเจ็บปวด ผิดหวัง เสียใจด้วยกันทั้งนั้น โดยไม่เลือกว่าจะอยู่ในเชื้อชาติใด วรรณะใด เพศใด จะเป็นสัตว์หรือมนุษย์ นอกจากนี้ข้างหลังภาพ ยังให้คติในเรื่องของสุภาพสตรี โดยถือ ม.ร.ว. กีรติเป็นแบบอย่างของสุภาพสตรีไทยในสมัยที่สังคมยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างเก่ากับใหม่ โดยการศึกษาได้ปลุกให้ ม.ร.ว. กีรติตื่นจากจารีตเก่าๆ แต่ด้วยความที่ได้รับการเลี้ยงดูอบรมด้วยศีลธรรมแบบเก่า ซึ่งเป็นรากฐานของจิตใจทำให้เธอจึงไม่ปล่อยให้ตัวเองทำในสิ่งที่ใจปรารถนาทุกอย่าง เล่มต่อมาที่จะแนะนำคือเรื่องปุลากง อันเป็นบทประพันธ์ของ โสภาค สุวรรณ ที่ได้บรรจงสร้างสรรค์และเรียบเรียงไว้อย่างงดงามไม่น้อยไปกว่าข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา ที่กล่าวมาข้างต้นเลย แต่บทประพันธ์ทั้งสองเรื่องนี้ต่างกันตรงที่ฉากจบของเรื่องซึ่งในข้างหลังภาพ ศรีบูรพาได้ปิดฉากลงด้วยความเศร้าโศกอาลัยเป็นอย่างยิ่ง แต่ในปุลากง โสภาค สุวรรณ ได้ปิดฉากสุดท้ายลงอย่างมีความสุข ปุลากง เป็นผลงานชิ้นโบแดงชิ้นหนึ่งของ โสภาค สุวรรณ ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวความรักของชายหญิงคู่หนึ่ง คือ เข้ม และ หนูตุ่น เข้มเป็นนายร้อยตำรวจไฟแรงที่พร้อมจะทำงานเพื่อชาติและบ้านเมือง โดยไม่หวั่นเกรงต่อภัยอันตราย ส่วนหนูตุ่นเธอเป็นนักพัฒนาผู้มีความมุ่งมั่นและอุดมการณ์อันแรงกล้า เธอต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนชนบทให้อยู่ดีกินดีและมีความสุข ทั้งเข้มและหนูตุ่นได้ปฏิบัติหน้าที่ของตน ณ ตำบลปุลากง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ที่นี่เป็นจุดสำคัญของเรื่อง เป็นที่ที่เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นรวมทั้งความรักของทั้งสองคนก็ได้ก่อตัวขึ้น ณ ที่แห่งนี้ด้วย ความสัมพันธ์ของทั้งเข้มและหนูตุ่นเริ่มต้นขึ้นด้วยความขัดแย้งไม่ชอบกัน แต่ด้วยความเหมือนกันตรงที่ทั้งคู่ต่างก็มุ่งมั่นและทำงานโดยยึดถืออุดมการณ์และความถูกต้องเป็นใหญ่เหมือนกัน อีกทั้งความใกล้ชิดสนิทสนมกันขณะอยู่ที่ปุลากง ในที่สุดสิ่งต่างๆ ก็ทำให้คนทั้งสองเข้าใจกันและสัญญาว่าจะเป็นคู่ชีวิตของกันและกันจะทำงานและเสียสละเพื่อส่วนรวมเคียงคู่กันตลอดไป แนวคิดที่สำคัญของบทประพันธ์เล่มนี้ คือความเสียสละเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมและเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง ผู้แต่งได้จินตนาการให้ตัวละครเอกของเรื่องคือ เข้มและหนูตุ่นเป็นสื่อนำในการถ่ายทอดถึงแนวคิดนี้ได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งเป็นที่สุดทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงแนวคิดนี้ได้ตามจุดมุ่งหมายของผู้แต่ง ในตัวละครเข้มนั้น โสภาค สุวรรณ ได้วาดภาพของเขาให้เป็นเด็กที่ขาดความสมบูรณ์ในครอบครัว เข้มเป็นลูกเมียน้อย ซึ่งขาดการเอาใจใส่จากพ่อ เขาจึงค่อนข้างมีทิฐิต่อพ่อของเขามาก ชีวิตของเขามีแม่เท่านั้นที่เป็นแรงผลักดันให้เขาอดทนไม่ย่อท้อ เขาจึงค่อนข้างมีทิฐิและเป็นคนเก็บกดอย่างเห็นได้ชัด ถึงกระนั้นก็ตามผู้แต่งได้แสดงให้เห็นว่าเข้มเป็นแบบอย่างที่ดีของชายหนุ่มที่มีความกตัญญู มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ยุติธรรม มีความเสียสละ มีความมุมานะที่จะตั้งตัวและยืนด้วยลำแข้งของตนเอง และผู้แต่งยังได้ถ่ายทอดถึงลักษณะของเข้มในด้านอื่นๆ ไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย โดยเฉพาะบุคลิกของเข้มที่ภายนอกมองดูเป็นคนแข็งกร้าว แต่ลึกๆ แล้วเขากลับอ่อนไหว ซ่อนความปวดร้าวอยู่ภายในใจ ทั้งนี้ผู้แต่งยังได้จินตนาการวาดภาพให้เข้มเป็นชายหนุ่มผิวคล้ำท่าทีสง่าและคนเข้มตามแบบของชายหนุ่มรูปงามอีกด้วย สำหรับหนูตุ่นนั้น ผู้แต่งก็ได้บรรจงประดิษฐ์ให้งดงามไม่น้อยไปกว่าเข้มเลย โดยได้จินตนาการให้หนูตุ่นเป็นหญิงสาวผิวขาว ตากลม น่ารัก และอัธยาศัยดี และยังสร้างให้เธอเป็นผู้มีความเมตตา มีความเสียสละ กตัญญู เป็นสาวสมัยใหม่ที่กล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีความเชื่อมั่นในตนเอง และรักเพื่อนฝูง ในส่วนของการดำเนินเรื่อง ผู้แต่งได้เรียบเรียงไว้อย่างเหมาะสมและลงตัว อีกทั้งยังมีการสร้างปมปัญหาให้ผู้อ่านเกิดอรรถรสในการอ่าน เป็นการยั่วยุให้ผู้อ่านเกิดความอยากติดตามต่อไป ผู้แต่งได้ใช้ลีลาภาษาในการดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่ายแต่ระมัดระวัง ค่อยๆ เล่าจากต้นเรื่องไปสู่ปลายเรื่อง ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ต่อเนื่องและสามารถลำดับเรื่องราวโดยไม่สับสน ตอนสุดท้ายของเรื่องผู้แต่งได้บรรยายไว้อย่างน่าประทับใจและโรแมนติกอย่างที่สุด ภาพของหนูตุ่นในอ้อมกอดของเข้ม ภายใต้แสงอรุณรุ่งของวันใหม่ที่เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มชีวิตคู่ของคนทั้งสอง และเริ่มทำงานที่แสนหนักหน่วงเพื่อประเทศชาติให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นต่อไป ฉากที่ผู้แต่งได้สร้างขึ้นให้เป็นอาภรณ์ประดับบทประพันธ์ชิ้นนี้ให้ทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น คือฉากที่ตำบลปุลากง ผู้แต่งก็ได้พรรณนาไว้อย่างงดงาม ด้วยความละเอียดรอบคอบไม่ว่าจะเป็นการกล่าวถึงภูมิประเทศ ชุมชนบ้านเรือน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภาคใต้และชาวไทยมุสลิม วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ตลอดการดำเนินเรื่อง ผู้แต่งก็สามารถถ่ายทอดออกมาให้ผู้อ่านเห็นภาพได้อย่างชัดเจน และเคลิบเคลิ้ม เสมือนหนึ่งว่าได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยจริงๆ ในส่วนของคุณค่าทางสังคม อาจกล่าวได้ว่าปุลากง เป็นบทประพันธ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของสังคมไทยได้อย่างชัดเจนและดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นด้านของปัญหาสังคมที่ผู้แต่งได้ยกขึ้นมาให้เห็นถึงปัญหาการแบ่งแยกดินแดนของสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ปัญหาครอบครัวของสังคมไทยประการหนึ่งที่ผู้แต่งต้องการแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนมีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาการทุจริต การใช้เส้นสายในแวดวงข้าราชการ เป็นต้น ในด้านค่านิยม ผู้แต่งก็ได้แสดงให้เห็นว่าสมัยนั้นข้าราชการผู้ใหญ่นิยมมีภรรยาน้อย ค่านิยมเรื่องการรับราชการ เป็นต้น ความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อสามีของหญิงไทย เป็นต้น และในส่วนของความเชื่อ ผู้แต่งชี้ให้เห็นว่าไสยศาสตร์มีอยู่ในคนทุกชนชั้นไม่แบ่งแยกศาสนาและวัฒนธรรม ดังจะเห็นว่าชาวมุสลิมแม้จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มีความเชื่อด้านไสยศาสตร์เช่นเดียวกับชาวพุทธ นอกจากนี้ยังผู้แต่งยังสอดแทรกข้อคิดหรือคติเรื่องความรักชาติบ้านเมืองยิ่งกว่าสิ่งใด การมีคุณธรรม จริยธรรมที่ดีงามย่อมเป็นสุขและประสบความสำเร็จ ความรักที่บริสุทธิ์ของชายหญิงย่อมไม่ต้องการสิ่งตอบแทน เป็นต้น กล่าวโดยสรุปแล้ว ทั้งข้างหลังภาพ และปุลากง เป็นเรื่องประโลมใจที่ให้แง่คิดทางจิตวิทยาแก่ผู้อ่านอย่างมีเหตุผล ผู้อ่านได้รับความเพลิดเพลินและความรู้ไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งยังอ่านเข้าใจง่าย และรู้สึกซาบซึ้งกินใจ ดังนั้นใครที่อยากจะรู้จักชีวิตของ ม.ร.ว. กีรติจะแสนเศร้าอย่างไร และความรักระหว่าง ม.ร.ว. กีรติและนพพรจะหวานซึ้งเพียงไหน หรือใครที่อยากจะสัมผัสวิถีชีวิตของชาวมุสลิมไปพร้อมๆ กับการลุ้นว่าเข้มและหนูตุ่นจะทำหน้าที่ของตนสำเร็จหรือไม่ และเขาทั้งสองจะลงเอยกันอย่างไร ก็อย่าลืมหาหนังสือทั้งสองเล่มนี้มาอ่านยามว่างนะครับ และเนื่องในปีแห่งการส่งเสริมการอ่าน เพื่อเฉลิมฉลองในมงคลวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุครบ 48 พรรษา ในปี พ.ศ. 2547 นี้ จึงขอเชิญชวนให้เพื่อนๆ เยาวชนไทยทุกคนหันมาอ่านหนังสือกันเถอะครับ ซึ่งนอกจากหนังสือสองเล่มที่แนะนำมาแล้ว ก็ยังมีหนังสือดีๆ อีกหลายเล่มที่จะเสริมสร้างปัญญา ประดับความรู้ สร้างความเพลิดเพลินใจให้แก่เพื่อนๆ ทั้งยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วย | |
นายบรรณรักษ์ คุ้มรักษา โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เกิดวันที่ 16 ธันวาคม 2529 อายุ 17 ปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่อยู่ : 4/2 ซ. 3 ถ.สิงหราช ต. ศรีภูมิ อ. เมือง จ. เชียงใหม่ 50200 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เลขที่ 238 ถ. พระปกเกล้า ต. ศรีภูมิ อ. เมือง จ. เชียงใหม่ 50200 โทร. 0-5341-9037-9 โทรสาร ต่อ 111, 214213 อาจารย์ผู้รับทราบ อาจารย์บังอร เข็มมุกต์ |