นายปกรณ์ ล. ตระกูล

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อ. เมือง จ. เชียงใหม่

เรื่อง ชวนอ่าน “อำพรางอำยวน” และ “ศพใต้เตียง” รวมเรื่องสั้นแนวหักมุมของสรจักร ศิริบริรักษ์

ชวนอ่าน “อำพรางอำยวน” และ “ศพใต้เตียง” รวมเรื่องสั้นแนวหักมุมของ สรจักร ศิริบริรักษ์

ถ้าจะมอบสมญานามราชาเรื่องสั้นในยุคสมัยนี้คงไม่มีใครเหมาะสมเท่า “สรจักร ศิริบริรักษ์” ผู้ที่มีลักษณะเด่นในการเขียนเรื่องสั้น คือ กระชับ หักมุม มีเหตุผลในตัว และที่สำคัญที่สุด ความรู้ทางวิชาการต้องเป็นจริง อ้างอิงได้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่าน พร้อมๆ กับการให้ความเพลิดเพลินในอรรถรส ผลงานของนักเขียนผู้นี้มีการรวมเล่มเป็นห้าชุดด้วยกัน คือ ศพข้างบ้าน ศพใต้เตียง อำพรางอำยวน ผีหัวขาด และศพท้ายรถ แต่ละเล่มได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง ด้วยเป็นเพราะความแปลกใหม่ของกลวิธีการนำเสนอที่ไม่ซ้ำแบบใคร ซึ่งในที่นี้จะขอแนะนำรวมเรื่องสั้นเพียงสองเล่มคือ อำพรางอำยวน และศพใต้เตียง

กล่าวได้ว่าสรจักรเป็นผู้ที่มีศิลปะในการแต่งเรื่องสั้นสูง กล่าวคือ มีการวางโครงเรื่องที่กระตุ้นอารมณ์และเร้าความสนใจของผู้อ่านตลอดเวลา เหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องมีความสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ มีเทคนิคในการลำดับเรื่องให้ผู้อ่านเข้าใจได้แจ่มแจ้ง และดึงดูดใจผู้อ่านได้ทั้งการเปิดเรื่องและปิดเรื่อง มีการสร้างปมปัญหาต่างๆ เพื่อเร้าความสนใจผู้อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อกระตุ้นให้คนอ่านติดตามเนื้อเรื่องตลอดไป มีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโครงเรื่องใหญ่กับโครงเรื่องย่อย และแต่ละโครงเรื่องจะมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นเหตุเป็นผล และชี้ให้ผู้อ่านมองเห็นโลกและสังคมมนุษย์อย่างกว้างขวาง เรื่องสั้นทุกเรื่องที่ปรากฏในรวมเรื่องสั้นทั้งสองชุด มีลักษณะการวางโครงเรื่องที่นักเขียนทุกคนนิยมมาก ได้แก่ การเริ่มต้นเหตุการณ์ที่จุด ก. เมื่อเริ่มต้นแล้วก็ค่อยๆ ขมวดปมการเขียนให้ยุ่งยากชวนสงสัยไปเรื่อยๆ พอเขม็งเกลียวเนื้อหาจนถึงที่สุดแล้ว ก็จะระเบิดจุดสุดยอดออกมาตรงจุด ข. ซึ่งถือเป็นจุดไคลแมกซ์ของเรื่องที่จะทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น เรื่อง “พลอยแกมเพชร” ในการอำพรางอำยวน สรจักรจะเปิดเรื่องด้วยบทสนทนาของตัวละครเอก ซึ่งผู้เขียนได้ผูกปมตั้งแต่เปิดเรื่องให้ผู้อ่านเข้าใจว่าตัวละครเอกในเรื่อง (หนุ่ย) เป็นผู้หญิงห้าว แต่ท้ายสุดจึงเฉลยแบบหักมุมตอนจบว่าหนุ่ยเป็นสาวประเภทสอง ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นในงานเขียนของสรจักรที่มีการวางโครงเรื่องได้อย่างแยบยลและน่าติดตาม

การเปิดเรื่องถือเป็นจุดเริ่มเรื่องที่นับว่าสำคัญยิ่ง สรจักรทำได้ดีมากในจุดนี้ การเปิดเรื่องของสรจักรจึงก่อให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น ส่วนมากจะเปิดเรื่องด้วยการบรรยายฉากและตัวละครที่สามารถสะท้อนแง่มุมและแสดงเงื่อนงำในเรื่องได้เป็นอย่างดี เป็นฉากแรกที่เร้าความสนใจของผู้อ่านให้รู้สึกอยากที่จะติดตาม เช่น เรื่อง “ปมปิตุฆาต” จาก ศพใต้เตียง หน้า 167 “กลิ่นคาวเลือดคละคลุ้งไปทั่วห้องโถง...โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามลมสงบเช่นนี้ มันกระตุ้นให้หลายคนโก่งคออาเจียน แต่ก็ไม่มีใครกล้าแตะต้องศพชายชราที่คอขาดห้อยกะรุ่งกะริ่งอยู่ที่เชิงบันไดแห่งนั้น ด้วยเกรงว่าจะมีผลต่อการชันสูตรพลิกศพของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” ถึงแม้ภาษาจะเรียบง่าย แต่สละสลวยในความหมายที่กระตุ้นความรู้สึกของผู้อ่าน เป็นการปูพื้นเรื่องกว้างๆ แต่ใช้ถ้อยคำกระชับ ซึ่งเนื้อหาในการเริ่มต้นเรื่องของสรจักรจะเป็นสิ่งที่นำไปเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในตอนกลางเรื่องหรือดำเนินเรื่องได้เป็นอย่างดี เรื่องสั้นทุกเรื่องผู้เขียนจะเปิดเรื่องด้วยการบอกกล่าวถึงตัวละครหลักที่จะเป็นตัวดำเนินเรื่องต่อไป มีการแสดงนัยแห่งปมปัญหา ปูความคิดด้านพื้นฐาน ฉาก และการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ส่วนการดำเนินเรื่องในเรื่องสั้นทั้งสองเล่มของสรจักรนั้น เมื่อหลายคนได้อ่านแล้วคงรู้สึกราวกับว่ากำลังฟังนิทานจากนักเล่านิทานชั้นยอด เพราะนอกจากจะพบปัญหาที่น่าตื่นเต้นสลับซับซ้อนของเรื่องราวแล้ว ตัวละครหลักก็เริ่มเคลื่อนไหว และแสดงบทบาทที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ผู้อ่านติดตามอย่างกระชั้นชิดและเริ่มมองเห็นปัญหาความขัดแย้งเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งความขัดแย้งที่เร้าใจนี้มีทั้งความขัดแย้งระหว่างตัวละครหลักกับตัวละครรอง หรืออาจจะเป็นความขัดแย้งของจิตใจตนเอง หรือความขัดแย้งระหว่างตัวละครกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบกาย และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเนื่องจากความเห็นไม่ตรงกัน จุดเด่นของการดำเนินเรื่องที่โดดเด่นในรวมเรื่องสั้นชุดอำพรางอำยวน และ ศพใต้เตียง ก็คือ การสร้างกับดักทางความคิด ที่ผู้แต่งจงใจที่จะสร้างภาพลักษณ์พร้อมกับปัจจัยแวดล้อมของตัวละครที่จะโน้มน้าวใจผู้อ่านให้ตกหลุมพรางหรือปักใจเชื่อว่า ตัวละครหลักหรือตัวละครรองตัวนั้นเป็นผู้ก่อเหตุ จากการผูกปมปัญหาหรือสร้างความขัดแย้งให้เกิดกับตัวละครนั้น แต่กลับหักมุมจบแบบพลิกความคาดหมาย กับดักของสรจักรที่จะพบอยู่เสมอมักจะมีการวางแผนและผูกโครงเรื่องให้มีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นเหตุเป็นผลน่าติดตาม เช่น เรื่อง “ล้มลุก” จากอำพรางอำยวน ที่ผู้เขียนวางหมากให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเจ้าของร้านที่มีบุคลิกลักษณะฉ้อโกงนั้น เป็นแก๊งล้มลุกที่เป็นสิบแปดมงกุฎขโมยของหนีไปขอนแก่น โดยการสร้างภาพให้ผู้อ่านเดินหมากไปตามเกมได้อย่างแยบยล ทำให้ผู้อ่านหลงเชื่อแต่สุดท้ายกลับหักมุมจบ ด้วยการเฉลยว่า “ไอ้นึก” เพื่อนของตัวละครเอกเสียเองที่กลายเป็นขโมย

ในกระแสจิตสำนึกของผู้อ่านทุกคน ย่อมมีการคาดหวังหรือสร้างกรอบคิดในตอนจบเรื่องของตัวเองด้วยกันทั้งนั้นว่าเรื่องที่มีการดำเนินมาตั้งแต่ต้นจนจบควรจะเป็นเช่นไร เมื่อมีการหักมุมจบ ผู้อ่านจึงมีความรู้สึกอยู่สองประการ คือ ประการแรกมีความยินดีและประทับใจ เพราะเป็นไปดังที่ตนคิดและจินตนาการไว้ ประการที่ 2 อาจจะรู้สึกขัดแย้งกับอารมณ์และความรู้สึก ทำให้เกิดความประหลาดใจ ดังนั้นการปิดเรื่องแบบหักมุมหรือพลิกความคาดหมายนี้จึงมีผู้เรียกว่า “การปิดเรื่องแบบบิดเกลียว” ซึ่งเป็นการจบเรื่องที่ผู้อ่านคาดไม่ถึง

ภาพรวมของแก่นเรื่องหรือแนวคิดสำคัญของเรื่องในรวมเรื่องสั้นทั้งสองชุดนี้ ถือว่ามีลักษณะเป็นสัญชาตญาณแห่งความตาย นั่นคือ แก่นเรื่องแต่ละเรื่องจะเป็นการฆาตกรรม หรือเล่ห์กลโกงของคนในสังคมที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของความรุนแรงเสียส่วนใหญ่ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อจิตใต้สำนึกของมนุษย์ทุกคน สืบเนื่องจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่บีบคั้นด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งก่อให้เกิดการชิงดีชิงเด่น เข่นฆ่า และใช้เล่ห์กลในการต่อสู้ดำรงชีวิต ทุกคนย่อมหาทางออกให้กับตัวเอง สรจักรได้เสนองานที่ฉีกแนวและเร้าต่อจิตใต้สำนึกของคนในสังคมได้เป็นอย่างดี กล่าวคือทุกคนย่อมมีความกลัวและความเครียดอยู่ในจิตใจตามสภาพสังคมในปัจจุบัน เมื่อได้เสพรสวรรณกรรมที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า หรือจิตใต้สำนึกของสัญชาตญาณมุ่งตายหรือการใช้ความรุนแรงแล้วก็สามารถระบายความเครียดของคนในสังคมได้ ซึ่งผู้เขียนคงเล็งเห็นแล้วว่า การสร้างแก่นเรื่องแบบนี้จะสามารถประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจจากคนในสังคมได้เป็นอย่างดี ความแค้น จุดดำมืดในใจ อารมณ์เบื้องลึกของคนเรานั้น เป็นวัตถุดิบชั้นดีในการเขียนเรื่องสั้นทุกชุดของสรจักร เขาศึกษามนุษย์อย่างลึกซึ้งถึงแก่นแห่งรัก โลภ โกรธ หลง เพราะว่านอกจากความร่วมสมัย ปัญหาครอบครัว และสังคมที่เขาตระหนักถึงและแสดงออกมาในงานของเขาแล้ว การฆาตกรรม อาชญากรรม ก็เป็นสิ่งที่สรจักรให้ความสำคัญและหยิบออกมาใช้เสมอ และเขาก็ทำได้อย่างที่ถือกันว่าเป็นสุดยอด

ในการสร้างตัวละครในเรื่องสั้นของสรจักรนั้น ที่ปรากฏในชุด อำพรางอำยวน และศพใต้เตียง มีหลายรูปแบบและแปลกแตกต่างกันออกไป เช่น คนบ้า โจร ฆาตกร เป็นต้น ผู้เขียนได้สร้างตัวละครหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการสร้างตัวละครแบบมิติสมบูรณ์คือ มีอุปนิสัยที่พัฒนาไปตามเหตุการณ์ เช่น “สายชล” ในเรื่อง “คนดีตายหมดแล้ว” จากศพใต้เตียง เธอมีบุคลิกสองหน้า คือเป็นคนดีต่อหน้าคำตัน (ตัวเอก) และเป็นคนเลวในท้ายที่สุด ซึ่งถ้ามองในแง่จิตวิทยาแล้ว สายชลมีสัญชาตญาณเพื่อความตาย สัญชาตญาณบางอย่างจะถูกเก็บกดไว้ในจิตสำนึกและสายชลมีกลไกในการป้องกันตัวเอง ในแบบป้ายความผิดให้แก่ผู้อื่น หรือในเรื่อง “ปมปิตุฆาต” จากศพใต้เตียง ในเรื่องนี้ตัวเอกเป็นหมอ และมีปมโอดีปุส คือเกลียดพ่อและรักแม่ ตามธรรมชาติของเด็กวัย 3-5 ขวบจะมีความรักในเพศตรงข้าม ตอนเป็นเด็กอาจจะรักแม่และอยากทำร้ายพ่อแต่ทำไม่ได้เพราะพ่อตัวใหญ่กว่า ดังนั้นปมดังกล่าวจึงอาจจะติดตัวมาถึงตอนโตได้ งานเขียนทุกเรื่องแฝงมุมมองใหม่ๆ ของการฆ่าเอาไว้ ซึ่งมักจะกล่าวถึงการวางแผนฆาตกรรมอันแยบยล แนบเนียนไร้ที่ติว่าเป็นการตายอย่างสวยงาม บางครั้งสำหรับเขาแล้วมันคงไม่ได้ต่างอะไรไปจากงานศิลปะ เขาปิดฉากการตายของตัวละครทุกตัวได้อย่างสวยงามราวกับมันเป็นเรื่องปกติธรรมดาด้วยน้ำเสียงกลายๆ ว่าการฆาตกรรมมิใช่สิ่งผิด ทั้งยังชมเชยอยู่ในใจลึกๆ ความแปลกแยกนี้เองที่ทำให้เขาได้รับความนิยมสูงสุดในบรรดางานประเภทเดียวกัน

ส่วนในด้านฉากซึ่งหมายถึงเวลาและสถานที่รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่ตัวละครแสดงบทบาทอยู่ เรื่องสั้นทุกเรื่อง ฉากมีความสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง และช่วยสร้างเสริมบรรยากาศของเรื่องได้อย่างเหมาะสม นอกจากนั้นฉากยังถูกต้องตามความเป็นจริงอีกด้วย ขณะเดียวกัน “อารมณ์และบรรยากาศ” มักจะปรากฏพร้อมกับฉากเสมอ เช่น เรื่อง “ฝันมรณะ” จากศพใต้เตียง ซึ่งได้บรรยายฉากและบรรยากาศดังนี้ “มันเป็นคืนที่มืดวังเวงที่สุดในชีวิต ท้องฟ้าไร้ดาว บรรยากาศรอบข้างมีแต่หมอกหนา แสงจากโคมไฟแสงจันทร์ทึมๆ เป็นระยะ บอกให้รู้ว่า สมศรีกำลังยืนอยู่บนทางเท้า ริมถนนไฮเวย์ที่ไร้ยวดยาน อากาศเย็นยะเยือกพัดผ่านชุดแพรบางสีเนื้อ จนเธอต้องกอดอกตัวงอ” อาจกล่าวได้ว่า อารมณ์และบรรยากาศเป็นส่วนสร้างองค์ประกอบและรายละเอียดต่างๆ ในเรื่องสั้นทั้งสองชุดนี้ ขณะเดียวกันอารมณ์และบรรยากาศที่ถูกสร้างขึ้นมาก็มีผลให้รายละเอียดต่างๆ กระจ่างแจ้งขึ้น ทำให้ผู้อ่านเรื่องสั้นของสรจักรรู้สึกประทับใจ

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้เรื่องสั้นของ สรจักร ศิริบริรักษ์ ได้รับความนิยมจากผู้อ่าน คือ ผู้เขียนสามารถผูกเรื่องในเรื่องสั้นของเขาได้อย่างกระชับ ทำให้ผู้อ่านอ่านแล้วต้องการจะติดตามอ่านให้ถึงตอนจบ โดยไม่วางจากหนังสือเล่มนั้นเลย เพราะในทางจิตวิทยาธรรมชาติของมนุษย์จะมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่ไม่รู้จบ การสอดรู้สอดเห็นเรื่องราวของบุคคลอื่นนี่เอง จึงทำให้สรจักรเขียนเรื่องสั้นในแนวหักมุมจบให้น่าติดตาม เพราะจะทำให้ผู้อ่านได้สนุกกับสัญชาตญาณดิบที่ได้รับการตอบสนองอย่างสะใจ เมื่อสรจักรจับจุดธรรมชาติของมนุษย์ได้ จึงทำให้ผลงานเขียนเรื่องสั้นมีเนื้อหาที่น่าติดตาม เช่น เรื่องศพใต้เตียง จากศพใต้เตียง ที่สามีฆ่าภรรยาเพราะอารมณ์ชั่ววูบ เพียงเพราะเธอตั้งครรภ์ ผู้เขียนได้ผูกเรื่องให้น่าติดตามว่าเขาจะทำอย่างไรกับศพภรรยา สรจักรได้วางเนื้อเรื่องให้ตัวเอกคือสามีนั้นคิดแผนการที่จะกำจัดศพให้พ้นทางเพื่อทำให้เขาไม่มีความผิด เป็นการทำให้ผู้อ่านติดตามการกระทำของตัวเองอย่างใจจดใจจ่อว่าเขาจะทำอย่างไร ซึ่งเป็นการเสริมส่งให้เนื้อเรื่องของเรื่องสั้นน่าติดตามมากยิ่งขึ้น

เรื่อง “คนดีตายหมดแล้ว” จากศพใต้เตียง คำตันซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และบังเอิญได้ยินแผนการฆาตกรรม คำตันก็พยายามจะบอกเหยื่อให้รู้ตัว จึงเป็นสับสนของตัวเอก ว่าจะบอกเหยื่อให้รู้ตัวดีหรือไม่ เป็นการสร้างเนื้อเรื่องให้ผู้อ่านได้ติดตามเนื้อเรื่องอย่างจดจ่อ เรื่อง “ผู้หวังดี” จากอำพรางอำยวน เนื้อเรื่องของเรื่องก็น่าติดตามที่ว่าเธอ (ตัวเอก) จะทำอย่างไรถ้าเกิดถูกปล้นขณะขับรถ เรื่อง “ข้าเก่า เมียรัก” จากอำพรางอำยวน สรจักรก็วางเนื้อเรื่องให้น่าติดตามตรงที่ ภรรยาของตัวเอกจะตัดสินใจอย่างไร เพราะในการเปิดเรื่องผู้เขียนได้วางให้ภรรยาของตัวเอกมีลักษณะนิสัยที่ดูไม่ดีนัก จึงทำให้ผู้อ่านอยากทราบว่าภรรยาของตัวเอกจะตัดสินใจเลือกใคร ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าธรรมชาติของมนุษย์ย่อมมีความอยากรู้อยากเห็น

นอกจากเรื่องสั้นทั้งสองชุดนี้จะเป็นที่น่าติดตามแล้ว เรื่องสั้นดังกล่าวยังเป็นรูปแบบเรื่องสั้นที่สอดคล้องกับชีวิตจริงหรือเหมาะสมกับยุคสมัยและเข้ากับสังคมได้เป็นอย่างดี กล่าวคือความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ทำให้ผู้คนมีความสนใจที่ติดตามความเคลื่อนไหวของข่าวสาร มีความต้องการที่จะฟังหรืออ่านเรื่องราวที่มีเหตุผลอันมีลักษณะคล้ายกับเรื่องที่เขาสามารถจะพบเห็นได้ในชีวิตจริง เพราะตามธรรมชาติแล้ว มนุษย์ย่อมมีความสนใจในเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่าเรื่องที่อยู่ไกลตัว ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตของคนในสังคมที่เปลี่ยนไป และการได้รับการศึกษาสูงขึ้น เรื่องสั้นจึงต้องมีเนื้อเรื่อง ตัวละคร บทสนทนา เหตุการณ์และสถานที่ในเรื่องมีลักษณะที่สมจริงตามสภาพชีวิตจริงมากที่สุด สรจักรก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเป็นอย่างดี เช่นเรื่อง “พลเมืองดี” จากศพใต้เตียง ซึ่งสะท้อนสภาพสังคมปัจจุบัน เนื่องจากตัวเอกเป็นคนยากจนแต่เขาเป็นคนดี เขาช่วยจับโจรกระตุกสร้อย แต่โจรเป็นคนที่มีหน้าตาเหมือนลูกคนรวย เจ้าทุกข์เลยชี้ตัวเอกที่เป็นคนดีเพราะเขาแต่งตัวไม่ดี เจ้าทุกข์เองก็ไม่ได้ว่าใครเป็นใคร เพราะในขณะที่โดนกระตุกสร้อยเป็นตอนค่ำแล้ว จากเรื่องนี้ชี้ให้สถานสภาพของคนในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำกัน คนที่มีเงินทองทรัพย์สินมากย่อมมีพื้นที่ทางสังคมมาก ในทางตรงกันข้ามคนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา ไม่มีเงินย่อมมีพื้นฐานทางสังคมน้อย อาจถูกคนในสังคมมองว่าเป็นขโมยเป็นโจรได้มากกว่าผู้ที่แต่งตัวดีๆ แม้ว่าจะเป็นโจรในคราบผู้ดีก็ตาม จึงเห็นได้ว่าสรจักรสามารถสร้างสรรค์เนื้อเรื่องได้เหมาะสมกับยุคสมัยจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ

มีผู้กล่าวไว้ว่า “ภาระหน้าที่ของวรรณกรรมไม่เป็นเพียงแต่จะสะท้อนให้เห็นอะไรเท่านั้น หากแต่ถ้าสามารถทำให้เห็นภาพอย่างไร อันเป็นต้นตอและธาตุแท้ของอะไรก็ยิ่งสมบูรณ์มากขึ้น” หากมันเป็นจริงแล้วสรจักรก็มิได้บกพร่องในข้อนี้เช่นกัน กับความพยายามที่จะอธิบายจิตใจของมนุษย์ที่เป็นสาเหตุของปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโกหกหลอกลวงที่คิดว่าไม่มีความผิดเพราะมีเจตนาที่ดี หรือความไร้จรรยาบรรณของหมอหรือพยาบาลที่มิได้รักษาชีวิตเท่านั้น หากแต่ทำเพื่อผลประโยชน์ด้วยแล้ว หมอหรือพยาบาลก็อาจกลายเป็นฆาตกรที่แนบเนียนที่สุดคนหนึ่ง

จากสถิติการตีพิมพ์เรื่องสั้นชุดอำพรางอำยวน และศพใต้เตียง รวมทั้งอีกหลายๆ ชุดของ สรจักร ศิริบริรักษ์ ย่อมเป็นเครื่องชี้ได้อย่างดีว่างานเขียนของเขาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มนักอ่านทุกเพศทุกวัย เป็นงานเขียนเรื่องสั้นที่ผลิตออกมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักอ่านอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้เขียนรู้จักการวิเคราะห์ผู้อ่านและบริบทต่างๆ อย่างถี่ถ้วน ดังนั้นเรื่องสั้นของเขาที่ออกมาจึงดูเหมาะสมลงตัวกับบริบททางสังคมปัจจุบันเป็นอย่างดี ทำให้ผู้คนนิยมอ่านและเป็นเหตุให้หนังสือขายดีในที่สุด...แล้วคุณล่ะได้ลองสัมผัสรวมเรื่องสั้นแนวหักมุมทั้งสองชุดนี้บ้างแล้วหรือยัง?

ปกรณ์ ล. ตระกูล
โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย
เพชรบุรี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 76120
โทร. 0-3247-0295-22
เกิดวันที่ 3 พฤศจิกายน 2529
ชื่ออาจารย์นายพรไพรสน คนมี
อาจารย์ 1 ระดับ 5 หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย