กลับไปหน้า สารบัญ
ซานาน่า กุสเมา
กับอนาคตของติมอร์ตะวันออก
คณะนักวิจัยจากโครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค* : สัมภาษณ์
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : ถ่ายภาพ
    เดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๙ เมื่อ โจเซ่ รามอส ฮอร์ต้า ผู้นำคนหนึ่งของติมอร์ตะวันออก ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ เนื่องในโอกาสที่เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เขากล่าวว่า "บุคคลที่ควรจะได้รับรางวัลนี้ ควรจะเป็นผู้ชายคนหนึ่งที่มีความกล้าหาญอย่างยิ่ง อดทน และเป็นรัฐบุรุษของพวกเรา ขณะที่ผมพูดอยู่นี้ เขากำลังติดคุกเพราะความปรารถนาที่จะเห็นอิสรภาพ และเสรีภาพของพวกเรา ...ซานาน่า กุสเมา ผู้เป็นวีรบุรุษในดวงใจของชาวติมอร์ตะวันออกทุกคน"
คลิกดูภาพใหญ่    ซานาน่า กุสเมา เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๘๙ ในเมืองมานาตูโต ซึ่งขณะนั้นเพิ่งรอดพ้นจากการยึดครองของทหารญี่ปุ่น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ติมอร์ตะวันออกยังคงเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ซานาน่ามีพี่น้องหกคน บิดาซึ่งเป็นครู ส่งซานาน่าเข้าเรียนในโรงเรียนคริสต์นิกายคาทอลิก ด้วยหวังว่าลูกชายจะบวชเป็นพระ แต่เมื่อซานาน่าจบการศึกษาระดับมัธยม เขาก็เดินทางเข้าเมืองดิลี ยึดอาชีพเป็นครูสอนภาษาโปรตุเกสที่โรงเรียนจีน ในปี ๒๕๑๗ เขาสมัครเป็นนักข่าว และเข้าร่วมขบวนการกู้ชาติของติมอร์ตะวันออก (FRETILIN) ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายข่าว
   ๗ ธันวาคม ๒๕๑๘ ทหารอินโดนีเซียบุกเข้ายึดติมอร์ตะวันออก และผนวกเป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเซีย แต่สหประชาชาติไม่ให้การรับรอง ซานาน่าพร้อมกองกำลังของกลุ่ม FRETILIN ได้เดินทางขึ้นภูเขา เพื่อจับอาวุธสู้รบกับกองทัพอินโดนีเซีย และในปี ๒๕๒๔ เขาได้รับเลือกให้เป็นผู้บัญชาการกองกำลังปลดปล่อยติมอร์ตะวันออก ซานาน่าเดินทางไปทั่วติมอร์ตะวันออก เพื่อสร้างแนวร่วม และจัดตั้งกองกำลังอิสระ ซึ่งกระจายไปทั่วประเทศ ต่อสู้กับทหารอินโดนีเซีย จนซานาน่ากลายเป็นบุคคลที่ทางการอินโดนีเซียต้องการตัวมากที่สุด
   ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ ทหารอินโดนีเซีย ได้สังหารหมู่ชาวเมืองดิลี ในสุสานซานตาครู้ส ขณะที่คนเหล่านั้น กำลังเดินขบวนเรียกร้องเอกราช มีผู้เสียชีวิต ๒๐๐ กว่าคน นักข่าวต่างประเทศแอบบันทึกภาพเหตุการณ์นั้นไว้ได้ และนำออกเผยแพร่จนเป็นที่สะเทือนใจของคนทั่วโลก ทำให้การเรียกร้องเอกราชของติมอร์ตะวันออก เป็นที่สนใจขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
 คลิกดูภาพใหญ่     ปีต่อมาซานาน่าลักลอบเข้าเมืองดิลี เพื่อติดต่อกับแนวร่วมในเมือง แต่ถูกเพื่อนคนหนึ่งทรยศ ซานาน่าจึงถูกทหารอินโดนีเซียจับกุมตัว ส่งไปอยู่ในเรือนจำที่กรุงจาการ์ตา และต่อมาศาลได้พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ท่ามกลางเสียงคัดค้านของนานาชาติ ซานาน่ากลายเป็นนักโทษการเมือง ที่โดดเด่นคนหนึ่งของโลกในเวลานั้น
    ซานาน่าใช้ชีวิตภายในคุก ด้วยการวางแผนยุทธศาสตร์ ต่อต้านรัฐบาลอินโดนีเซียอย่างลับ ๆ เรียนภาษาอังกฤษ ภาษาอินโดนีเซีย กฎหมาย นอกจากนั้นเขายังแต่งบทกวี วาดภาพติมอร์ตะวันออกจากความทรงจำ ซึ่งมีการนำภาพของเขาไปประมูลขายในออสเตรเลีย เพื่อหาทุนให้แก่กองกำลังเรียกร้องเอกราชติมอร์ตะวันออกด้วย ซานาน่ากลายเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องเอกราช ของชาวติมอร์ตะวันออก ในขณะที่สื่อมวลชนต่างประเทศพากันขนานนามเขาว่า "แมนเดลาแห่งติมอร์" อันเป็นนามของประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้ ซึ่งเคยเป็นนักต่อสู้ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการเหยียดผิวในประเทศแอฟริกาใต้ จนประสบความสำเร็จ
    กรกฎาคม ๒๕๔๐ ประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา เดินทางไปเยือนประเทศอินโดนีเซีย และได้เข้าเยี่ยมซานาน่าในเรือนจำ เป็นเวลาถึงสองชั่วโมง เพื่อสนทนาถึงปัญหาอนาคตของติมอร์ตะวันออก 
    เมษายน ๒๕๔๑ มีการจัดตั้งสภาเพื่อการต่อต้านแห่งชาติติมอร์ตะวันออก (CNRT) ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของชาวติมอร์ตะวันออก ซานาน่าได้รับเลือกให้เป็นผู้นำสูงสุด เดือนถัดมาเมื่อประธานาธิบดีซูฮาร์โตลาออก เสียงเรียกร้องเอกราชของติมอร์ตะวันออก ได้กระหึ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ผู้นำทั่วโลกพากันกดดันให้รัฐบาลใหม่ของอินโดนีเซีย ยอมให้ชาวติมอร์ตะวันออกตัดสินว่าจะขอเป็นเอกราช หรือจะเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย
คลิกดูภาพใหญ่     ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๒ รัฐบาลอินโดนีเซียยอมให้มีการลงประชามติทั่วติมอร์ตะวันออก โดยมีเจ้าหน้าที่จากสหประชาชาติ เป็นผู้ควบคุมการลงประชามติ ผลปรากฏว่าร้อยละ ๗๘.๕ ของชาวติมอร์ตะวันออก ต้องการเป็นเอกราช แต่หลังจากนั้นฝ่าย militias ซึ่งเป็นชาวติมอร์ตะวันออกที่นิยมอินโดนีเซีย และได้รับการติดอาวุธจากทหารอินโดนีเซีย ได้ออกมาเข่นฆ่าชาวติมอร์ตะวันออกล้มตายจำนวนมาก ทั้งยังเผาบ้านเรือนจนหมดสิ้น ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยไปอยู่ติมอร์ตะวันตกถึง ๒ แสนกว่าคน 
ในช่วงเวลานั้นซานาน่าได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ เขาไปลี้ภัยทางการเมืองในสถานทูตอังกฤษ ก่อนจะหลบหนีไปเมืองดาร์วิน ประเทศออสเตรเลีย
   ๑๕ กันยายน ๒๕๔๒ กองทหารสหประชาชาติ ที่มีทหารออสเตรเลียเป็นกำลังหลัก ได้ยกพลขึ้นบกที่เมืองดิลี ทำหน้าที่รักษาความสงบในติมอร์ตะวันออก และกวาดล้างพวก militias ซานาน่าได้กลับไปติมอร์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อร่วมกันสร้างชาติที่ถูกเผา จนย่อยยับให้กลับฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง
คลิกดูภาพใหญ่     กันยายน...หนึ่งปีถัดมา คณะนักวิจัยเรื่องติมอร์ตะวันออกชุดแรกของประเทศไทย จากโครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ (อบศ. ๕) ซึ่งมี ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นหัวหน้าคณะ ได้เดินทางมาที่ประเทศเกิดใหม่แห่งนี้และมีโอกาสได้สนทนากับซานาน่า กุสเมา ผู้นำสูงสุดของ CNRT (National Council of Timorese Resistence) ในช่วงเวลาสั้น ๆ อย่างเป็นกันเอง และด้วยอารมณ์ขันของ ซานาน่า กุสเมา ผู้กำลังจะสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ ท่ามกลางซากปรักหักพังและปัญหานานาที่จะติดตามมา 

* คณะนักวิจัยติมอร์ตะวันออกจากโครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค ประกอบด้วย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ดร.วิทยา สุจริตธนารักษ์ ดร.จุฬาพร เอื้อรักสกุล และดร.สรณรัชฎ กาญจนะวณิชย์
คลิกดูภาพใหญ่
สารคดี : คุณคิดอย่างไรที่สั่งไม่ให้กองกำลัง FALINTIL ของคุณออกไปช่วยเหลือชาวติมอร์ตะวันออก ที่กำลังถูกฝ่าย militai ที่นิยมอินโดนีเซียฆ่าตายอย่างมากมายภายหลังการลงประชามติ
ซานานา : มันเป็นเรื่องลำบากใจมาก เมื่อประชาชนที่หนีตายจากการถูก militia เข่นฆ่าและมาร้องขอให้ทหารของเราช่วยป้องกัน เพราะต้องยึดมั่นในแผนทางการทหารของเรา เรารู้ถึงแผนยุทธศาสตร์ของทหารอินโดนีเซีย ที่ต้องการวางกับดักล่อให้ทหาร FALINTIL ออกมาสู้กับพวก militia ซึ่งจะทำให้ทั่วโลกมองว่า เป็นเรื่องความขัดแย้งภายในประเทศ ทำให้กองกำลังสหประชาชาติ ไม่กล้าเข้ามาแทรกแซง เรารู้ถึงแผนการนี้ เราจึงอดทนที่จะไม่ยอมตกหลุมพรางของทหารอินโดนีเซีย และถึงตอนนี้ประชาชนของเราจึงเข้าใจแล้วว่า ทำไมเราจึงไม่สามารถออกไปช่วยเหลือพวกเขาได้ในเวลานั้น
คลิกดูภาพใหญ่
สารคดี : คุณมีแผนในการสร้างความปรองดองในชาติอย่างไรกับพวก militia ซึ่งเป็นชาวติมอร์ที่ยังฝักใฝ่อินโดนีเซีย
ซานานา : เราให้ความสำคัญมากกับการปรองดองกันในชาติ แต่ต้องพิจารณาถึงความยุติธรรมด้วย การสร้างความปรองดองในชาติ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอีกนาน แต่ก่อนอื่นเราต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมก่อน ซึ่งจะทำให้ประชาชนของเรายอมให้อภัย แต่จะไม่ลืม ผมเชื่อว่าพวก militia เองก็คงจะเริ่มสำนึกได้ ในสิ่งที่พวกเขากระทำลงไป และบทบาทอะไรที่พวกเขาควรจะเล่นในเวลานี้ ผมรู้ว่าตอนนี้ประชาชนกำลังเรียกร้องหาความยุติธรรม ในสิ่งที่พวก militia ได้กระทำลงไป แต่ผมเชื่อว่าหากประชาชนได้เข้าใจอะไรมากขึ้นว่า ทำไมเราต้องสร้างความสมานฉันท์ในชาติ สักวันหนึ่งประชาชนจะให้อภัยคนเหล่านั้นเอง
   ...คนในรุ่นผมเองก็ผ่านประสบการณ์มาเยอะมาก ผ่านการทำลายล้างเผ่าพันธุ์มาถึงสามครั้ง จึงปลงอะไรบางอย่างได้ คือ ครั้งแรกประมาณปี ๑๙๔๕ เมื่อตอนผมเกิดใหม่ ๆ ติมอร์อยู่ในการยึดครองของญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ พวกเราถูกฆ่าตายเยอะมาก พอปี ๑๙๗๕ ทหารอินโดนีเซียมายึดประเทศของเราไป คนตายไปร่วม ๒ แสนคน และมาถึงปัจจุบันที่พวก militia ไล่เข่นฆ่าคนติมอร์ตะวันออกด้วยกัน ดังนั้นการปรองดองในชาติจะต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ผมย้ำว่าเราจะเจรจาปรองดองกันได้ แต่มีข้อแม้ว่าฝ่ายที่นิยมอินโดนีเซีย จะต้องยอมรับในเอกราชของชาวติมอร์ตะวันออก จะต้องไม่หวนกลับไปปกครองอย่างเดิมอีก ผมย้ำว่าพวกเขาต้องล้มเลิกความคิดเดิม ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย ก่อนที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
คลิกดูภาพใหญ่
สารคดี : ตอนนี้สภาพธรรมชาติในติมอร์ตะวันออกเป็นอย่างไรบ้าง
ซานานา : ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ผมสนใจมาก ๒๔ ปีที่ผ่านมาทหารอินโดนีเซียได้ทำลายป่าของเราจำนวนมาก เพราะกองกำลังของเราซ่อนตัวอยู่ในป่า ตามภูเขา ทำการซุ่มโจมตีพวกทหารอินโดนีเซีย พวกเขาจึงเผาป่าไม่เหลือ เผาป่าสี่ครั้งต่อปี ทำให้ทุ่งหญ้ารุกเข้าไปในป่า จนเหลือหย่อมป่าไม่กี่แห่ง จนผมร้องออกมาว่า "ช่วงหน้าฝน โอ สวยเหลือเกิน แต่ช่วงหน้าแล้ง โอ แสนปวดร้าว" ตอนนี้มองไปทางไหนเราจึงเห็นแต่ไร่กาแฟอย่างเดียว ถ้ามีโอกาสผมอยากให้พวกคุณขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินดูปัญหาป่าไม้ของเรา เพราะฉะนั้นการฟื้นฟูป่า จึงเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ เราตั้งใจจะเริ่มปลูกป่าใหม่ ตามเขาตอนกลางของประเทศ ซึ่งมีสภาพไม่แห้งแล้งเท่าภาคเหนือ เรื่องนี้ทางนิวซีแลนด์อยากเข้ามาช่วย แต่ผมสนใจที่จะร่วมมือกับทางไทยมากกว่า เพราะมีพรรณพืชคล้าย ๆ กัน 
คลิกดูภาพใหญ่
สารคดี : ในฐานะที่เป็นประเทศเกิดใหม่ ชาวติมอร์จะใช้ภาษาอะไรเป็นภาษาประจำชาติ
ซานานา : ในติมอร์ตะวันออก เราจะใช้สี่ภาษา คือภาษาแต้ตุน ภาษาพื้นเมืองของเราจะเป็นภาษาประจำชาติ ส่วนภาษาราชการมีสองภาษาคือ ภาษาโปรตุเกส ซึ่งคนติมอร์ตะวันออกเคยใช้กันก่อนที่จะถูกอินโดนีเซียยึดครอง สามารถใช้ติดต่อกับประเทศในทวีปแอฟริกา และอเมริกาใต้ ที่เคยเป็นอาณานิคมเก่าของโปรตุเกสได้ และภาษาบาฮาซ่า ภาษาราชการของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นภาษาที่เราใช้มากที่สุด และไม่เฉพาะจะใช้ติดต่อกับคนอินโดนีเซียเท่านั้น แต่เป็นภาษาที่คนมาเลเซีย และสิงคโปร์ใช้ด้วย ส่วนภาษาสุดท้ายเป็นภาษาสากล คือภาษาอังกฤษซึ่งพูดกันทั่วโลก โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และจะเป็นภาษาที่บรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาด้วย ทุกวันนี้ในระหว่างคนติมอร์ตะวันออกด้วยกันเอง เราใช้ภาษาบาฮาซ่าของอินโดนีเซียมากที่สุด เพราะตลอดเวลา ๒๔ ปีที่อินโดนีเซียปกครองชาวติมอร์ตะวันออก คนที่เกิดในช่วงเวลานี้ จึงพูดภาษาบาฮาซ่ากันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนภาษาโปรตุเกสมีคนพูดได้ไม่มาก เด็กรุ่นใหม่จะพูดอังกฤษมากกว่าภาษาโปรตุเกส คนติมอร์จำนวนหนึ่งก็ยังพูดภาษาแต้ตุนได้ แต่ภาษานี้ยังมีปัญหาเรื่องมาตรฐานของภาษาอยู่ คงต้องใช้เวลาอีก ๕-๑๐ ปี กว่าที่คนติมอร์ตะวันออกจะใช้ภาษาแต้ตุนได้แพร่หลาย ภาษาแต้ตุนเป็นการแสดงความเป็นชาติของเรา สมมุติว่าผมมีโอกาสสนทนากับทูตไทยอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งคู่ก็คงใช้ภาษาอังกฤษคุยกัน แต่หากผมเจอทูตไทยในงานพิธีการ ต่างคนก็ต้องใช้ภาษาของตัวเองใช่ไหม ตอนนี้เราพยายามมากในเรื่องการสอนภาษา แต่เรายังขาดแคลนงบประมาณจำนวนมาก ความสำคัญตอนนี้เราต้องใช้งบประมาณไปซ่อมแซมโรงเรียนก่อน
คลิกดูภาพใหญ่
สารคดี : หมายถึงโรงเรียนที่ถูกกองกำลัง militia เผาหมดทั่วประเทศใช่ไหม
ซานานา : เราใช้เงินไปแล้ว ๑๔ ล้านดอลล่าร์สหรัฐในการซ่อมโรงเรียนระดับประถม แต่ไม่ใช่มีเพียงแต่โรงเรียนเท่านั้นที่ถูกเผา โรงพยาบาลก็ถูกเผา โรงพยาบาลหลายแห่งยังเปิดใช้การไม่ได้ เพราะยังไม่มีเงินซ่อมแซม 
สารคดี :   ก่อนหน้านี้เราไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยติมอร์ตะวันออก ซึ่งถูกเผาเกือบหมด แต่ก็เห็นนักศึกษาหลายคนกำลังเรียนคอมพิวเตอร์ และภาษาอังกฤษซึ่งเป็นคอร์สสั้น ๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลี อยากทราบว่านโยบายทางการศึกษาเป็นอย่างไร
ซานานา : เราหวังว่าปลายปีนี้เราสามารถเปิดมหาวิทยาลัยได้ แต่คงรับนักศึกษาได้เพียง ๕๐๐ คนก่อน จากผู้สมัคร ๕,๐๐๐ คน เราได้รับการช่วยเหลือด้านการศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ แต่ก็ถือว่าเป็นเงินที่ไม่มากนัก ทุกวันนี้ยังมีนักศึกษาของเราหลายคน เรียนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยของอินโดนีเซียด้วย เพราะพูดภาษาบาฮาซ่าเหมือนกัน และโปรตุเกสก็เสนอให้ทุนการศึกษา ๑,๐๐๐ ทุนส่งคนติมอร์ไปเรียนที่โปรตุเกส แต่มีเงื่อนไขว่าเราต้องซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางไปเอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะเราไม่มีเงินเลย เช่นเดียวกับออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศให้ทุนนักศึกษาของเราไปเรียน แต่อุปสรรคคือนักศึกษาที่นี่พูดอังกฤษไม่ได้ พวกเขาพูดได้แต่บาฮาซ่าเท่านั้น แต่เราหวังว่าในอนาคต มหาวิทยาลัยของเราจะมีเงินทุนพอที่จะรับนักศึกษาได้เป็นพัน ๆ คน ซึ่งอาจจะใช้เวลาอีกหลายปี เพราะต้องยอมรับว่าติมอร์เป็นประเทศยากจนมาก บ้านเมืองถูกเผาทำลาย ตอนนี้เราให้ความสำคัญกับการซ่อมแซมบ้านเรือน และโรงพยาบาลมากกว่า
คลิกดูภาพใหญ่
สารคดี : บทบาทของคาทอลิกในด้านการศึกษาเอกชนเป็นอย่างไร
ซานานา : ในอีกสี่ห้าปีข้างหน้าอาจจะเป็นไปได้ ที่มีการศึกษาโดยเอกชน แต่วันนี้หากคุณไปที่บ้านผม และบอกว่า ผมต้องจ่ายค่าเล่าเรียน ๘ ดอลล่าร์ต่อเด็กหนึ่งคน หากผมมีลูกสามคน ก็ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน ๒๔ ดอลลาร์ ถามว่าผมจะเอาเงินมาจากไหน ผมอายที่จะตอบคำถามนี้ เพราะคนติมอร์ยากจนมาก และสมมุติว่าเด็ก ๆ มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน พอเรียนได้สี่ห้าปีจนจบการศึกษา และออกมาหางานทำ พวกเขาก็เจอปัญหาใหญ่อีกคือ ตกงาน ปัญหาสังคมที่ใหญ่ที่สุดของคนติมอร์ในขณะนี้ คือการไม่มีงานทำ มีการเดินขบวน เพื่อเรียกร้องหางานทำบ่อย ๆ เราบอกคนของเราว่า หากมีการเดินขบวนทุกวัน ก็จะไม่มีงานทำ จะไม่มีใครมาลงทุน เราพยายามหางานให้คนติมอร์ทำตลอด เรามีครูตกงาน ๗,๐๐๐ คน เราหางานให้ทำได้ ๔,๐๐๐ คน มีคนเดินขบวนตกงาน ๒๗,๐๐๐ คน เราหางานให้ทำได้แค่ ๒,๐๐๐ คน นักศึกษาที่นี่หากเราหางานให้พวกเขาได้ พวกเขาก็ยินดีจะทำงานหาเงิน แล้วค่อยคิดไปเรียนภายหลัง เรายอมรับว่าปัญหาความยากจน เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ไม่รวมถึงปัญหาอื่น ๆ การขาดแคลนสาธารณูปโภค การขาดแคลนแหล่งน้ำ เราคิดว่าปัญหาเหล่านี้คงไม่สามารถแก้ได้ทันทีทันใด คงต้องใช้เวลาอีกยาวนาน
คลิกดูภาพใหญ่
สารคดี : คุณอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติ มาลงทุนในประเทศอย่างเต็มที่หรือไม่
ซานานา : ปัญหาก็คือ เมื่อนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วเราต้องการอะไรกันแน่ งานสำหรับประชาชนของเรา เทคโนโลยี ความรู้ต่าง ๆ เพียงแค่นั้นหรือ เราคิดว่าเราต้องคิดให้ชัดเจนมากกว่านั้น ปัญหาคือคนติมอร์เองก็ไม่พร้อม เรายังไม่ได้เตรียมคนของเราขึ้นมา เราไม่มีนักธุรกิจ ไม่มีผู้ประกอบการ เรามีเพียงผู้รับเหมารายย่อย ความชำนาญในการทำธุรกิจจึงเป็นปัญหาของเรา และในปีหน้าเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วประเทศ เราต้องเตรียมร่างกฎหมายหลายฉบับ เกี่ยวกับการลงทุน ภาษี ศุลกากร ฯลฯ 
คลิกดูภาพใหญ่
สารคดี :    คุณมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับประเทศติมอร์ตะวันออกอย่างไร
ซานานา :  เราจะสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน ไม่ใช่เป็นวิสัยทัศน์ของผมเพียงคนเดียว แต่เป็นของชาวติมอร์ตะวันออกร่วมกัน ภายในเดือนหน้าเราจะมีการระดมความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย เพื่อช่วยกันมองประเทศไปข้างหน้าว่าจะพัฒนาประเทศกันอย่างไร จะแก้ไขปัญหาสังคม ปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างไร เราจะมีนโยบายด้านการเกษตร การประมงกันอย่างไร จะมีนโยบายการใช้ที่ดินอย่างไร และนโยบายการลงทุนจากต่างประเทศจะเอาอย่างไร แน่นอนว่าเราโชคดีที่ประเทศติมอร์ตะวันออก ยังมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เรามีน้ำมัน มีก๊าซธรรมชาติ แมงกานีส และแร่ธาตุอื่น ๆ อีกมากมาย แต่เราเพียงรู้ว่ามีปริมาณเท่าใด ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสำรวจอีกหลายปี ควบคู่ไปกับการที่เราต้องแสวงหาความรู้อย่างแท้จริง และพัฒนาศักยภาพของคนติมอร์ตะวันออกด้วย เราจะต้องสร้างวิสัยทัศน์ของประเทศติมอร์ตะวันออกให้ชัดเจน มองไปข้างหน้าให้ไกล ๆ เพื่อคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะว่าครึ่งหนึ่งของประชากร ๘ แสนกว่าคนของติมอร์ตะวันออก มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ดังนั้นภายใน ๑๐-๒๐ ปี ชาวติมอร์ตะวันออกรุ่นใหม่ จะเข้ามาแทนที่รุ่นพวกเรา ซึ่งคงจะไปอยู่อีกโลกหนึ่งแล้ว (หัวเราะ)
คลิกดูภาพใหญ่
สารคดี : ในกรุงดิลี่ค่าครองชีพสูงมาก จากการที่มีเจ้าหน้าที่สหประชาชาติมาทำงานหลายพันคน สินค้ามีราคาแพงมาก เศรษฐกิจของติมอร์ตะวันออก อยู่ได้เพราะเงินหมุนเวียนของสหประชาชาติ ดังนั้นในปีหน้า เมื่อเจ้าหน้าที่สหประชาชาติถอนตัวออกไป อะไรจะเกิดขึ้น
ซานานา : เรายอมรับว่าความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่ เราต้องหาความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อที่จะแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจของเรา เราอาจต้องขอความช่วยเหลือจากธนาคารโลก  แต่ไม่ใช่การคิดดอกเบี้ยร้อยละ ๑๐ ซึ่งเราไม่มีปัญญาจ่ายแน่นอน แต่การให้ความช่วยเหลือแก่ติมอร์ตะวันออกนั้น เพื่อให้เราสามารถตั้งตัวได้นั้น แน่นอนว่าทั้งหมดคงไม่ใช่การให้เงินเปล่า ๆ บางครั้งอาจจะเป็นเงินกู้ ซึ่งเราคงไม่สามารถจ่ายคืนได้ทันทีทันใด นักลงทุนชาวต่างชาติที่มาติมอร์คงจะเข้าใจดี ประชาชนของเรายังไม่มีบ้าน ยังไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย แต่เราเชื่อว่าเมื่อเราฟื้นตัวได้ เราจะใช้คืนหนี้สินที่กู้มาให้หมดสิ้น เราเชื่อมั่นในพลังของประชาชนว่า จะสร้างประเทศได้แน่นอน แต่ต้องใช้เวลาอาจจะเป็นสิบปี เราเชื่อมั่นในรัฐบาลของเรา ที่จะจัดตั้งขึ้นว่าจะดูแลคนติมอร์ ไม่ใช่เฉพาะเด็ก ๆ หรือหนุ่มสาว แต่รวมถึงผู้เฒ่าผู้แก่ คนที่ตกงาน อาทิตย์หน้าจะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากจีนมาเยือน ผมไปขอความช่วยเหลือจากจีน ซึ่งทางจีนเข้าใจสถานการณ์ของเราดี และยินดีให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า ยินดีที่จะช่วยเราสร้างบ้าน บูรณะประเทศขึ้นมา และแน่ละผมคงต้องเดินทางไปสิงคโปร์ ไต้หวัน ประเทศไทย ฯลฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ อาจจะเป็นการขยายตลาดกาแฟ (กาแฟพันธุ์อะราบีกา ที่ปลูกในติมอร์ตะวันออก มีชื่อเสียงมากว่ามีคุณภาพยอดเยี่ยม บริษัทผลิตกาแฟชื่อดังของโลก อาทิ Starbucks ก็ใช้เมล็ดกาแฟจากติมอร์ตะวันออก-ผู้สัมภาษณ์) สำหรับเมืองไทย เราอาจจะขอความช่วยเหลือเรื่องพันธุ์ข้าว ซึ่งประเทศไทยมีชื่อเสียง ในเรื่องความหลากหลายของพันธุ์ข้าวเป็นอย่างยิ่ง เพื่อมาช่วยให้เกษตรกรของเรา เพิ่มผลิตผลในพื้นที่นาได้มากขึ้น เราอาจจะต้องการความช่วยเหลือด้านรถแทร็กเตอร์ ความช่วยเหลือในการสร้างระบบชลประทาน ซึ่งการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง เป็นปัญหาใหญ่ของเรามาก ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เราจะเริ่มจากโครงการขนาดเล็ก ๆ ที่สามารถควบคุมได้ก่อน ไม่ใช่เป็นโครงการขนาดยักษ์ ที่เราไม่สามารถควบคุมได้
สารคดี :    ติมอร์ตะวันออกมีแผนจะสมัครเป็นสมาชิกอาเซียนหรือไม่
ซานานา :  แน่นอนครับ เรากำลังวางแผนจะสมัครเป็นสมาชิกอาเซียน หลังจากที่เราประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการแล้ว