กลับไปหน้า สารบัญ ภาพประกอบเพลงชาติของคณะกรรมการเอกลักษณ์ไทย : สร้างเอกภาพหรือทำลายความหลากหลาย ?
คั ด ค้ า น

มาลินี คุ้มสุภา อาจารย์พิเศษประจำคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
มาลินี คุ้มสุภา
อาจารย์พิเศษ ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • การมีภาพประกอบเพลงชาติ ที่เป็นของทางการอยู่แบบเดียว ยิ่งสร้างความไม่ปรองดอง ให้เกิดขึ้น เพราะภาพต่าง ๆ ที่ถูกเลือกมา ไม่สามารถ เป็นตัวแทนของคน ทุกกลุ่มได้จริง

  • การปล่อยให้หลาย ๆ ฝ่ายทำภาพประกอบ เพลงชาติ และ เพลงสรรเสริญ พระบารมีขึ้นเอง เป็นการแสดง ถึงความต้องการมีส่วนร่วม และให้ความสำคัญ กับบทเพลงของรัฐ ทางการจึงไม่ควรสกัดกั้น

  • เพลงชาติ ไม่ได้มีบทบาท ต่อความมั่นคงของชาติ และความรักชาติ เหมือนในอดีต จึงไม่มีประโยชน์ ที่จะเน้นความสำคัญ ของเพลงชาติในยุคปัจจุบัน

   "ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพลงชาติในขณะนี้ เพราะสังคมไทยไม่จำเป็นต้องปลุกสำนึกในความเป็นชาติ เหมือนในอดีตอีกแล้ว เนื่องจากเราไม่ได้อยู่ในช่วงที่ต้องต่อสู้ หรือเป็นศัตรูกับชาติอื่น จึงถือเป็นเรื่องไร้สาระ ที่จะมาเน้นความสำคัญของเพลงชาติในปัจจุบัน
   "การที่คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ มีแนวคิดจะให้ใช้ภาพประกอบเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นแบบเดียวกันหมดนี้ เป็นเพียงการแสดงอำนาจว่า รัฐสามารถกำหนดให้ทุกอย่าง เป็นไปอย่างที่ต้องการได้ ซึ่งเป็นธรรมชาติของรัฐ คือ เมื่อเขารู้สึกว่า ปล่อยให้ทำกันอย่างอิสระมากเกินไปแล้ว ก็จะต้องออกมาบอกให้รู้ว่า จะทำอะไรกันตามใจชอบไม่ได้ เพราะมีหน่วยงานที่ควบคุมคุณอยู่
    "คณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ บอกว่าตนยอมรับ ความแตกต่างหลากหลาย โดยยกตัวอย่างว่า วิดีทัศน์ที่ทำขึ้นใหม่จะมีภาพของศาสนาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธเท่านั้น แต่กลับไม่ยอมให้มีวิดีทัศน์ภาพประกอบเพลงชาติ ที่แตกต่างกันหลาย ๆ รูปแบบอย่างทุกวันนี้ นับว่าเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกันเอง ส่วนการอ้างว่าทำภาพประกอบเพลงชาติขึ้นใหม่ เพื่อให้คนไทยสามัคคี และปรองดองกันมากขึ้น ก็ฟังดูไม่สมเหตุสมผล เพราะจริงแล้ว ๆ ปัญหาเรื่องการแบ่งกลุ่ม กีดกันทางศาสนาในสังคมไทย ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นที่จะต้องเข้าไปจัดการแก้ไข เห็นได้ว่าที่ผ่านมา ถึงไม่มีรูปภาพของคนอิสลามปรากฏในเพลงชาติ ก็ไม่ได้สร้างความไม่พอใจให้เขาแต่อย่างใด เพราะคนกลุ่มต่าง ๆ ไม่ได้รู้สึกถึงความแปลกแยกแตกต่างกันเท่าไหร่ การบังคับให้ใช้ภาพประกอบเพลงชาติที่รัฐผลิตขึ้น อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความไม่ปรองดองกันขึ้นเองด้วยซ้ำ เพราะคนจะเพ่งเล็งภาพประกอบเพลงชาติ ซึ่งเผยแพร่อยู่เพียงเวอร์ชั่นเดียวนี้มากขึ้น โดยที่วิดีทัศน์ที่ผลิตโดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ นี้ก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่มได้ และรัฐก็ไม่มีทางที่จะควบคุม ให้คนที่เห็นวิดีทัศน์ชุดนี้ เกิดความรู้สึกปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนที่เขาต้องการได้
   "สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีการกล่าวถึงในเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญฯ นั้นไม่ได้เป็นเอกลักษณ์ของชาติ อย่างที่ คณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ เข้าใจ เพราะเอกลักษณ์ หมายถึงสิ่งที่ประเทศอื่นไม่มีเหมือนกับที่เรามี แต่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ประเทศอื่น ก็มีเช่นกัน เอกลักษณ์ของชาติเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เสริมสร้างกันไม่ได้ หรือถ้าคณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ คิดจะทำอะไร ก็ไม่ควรมาบังคับให้คนทั้งประเทศ ต้องทำตามอย่างนี้
   "อย่างไรก็ตาม เพลงชาติยังคงมีความสำคัญในยุคนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในการแข่งกีฬาหรือในการเมืองระดับประเทศ เช่น เมื่อคนไทยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในองค์กรระหว่างประเทศ แต่เพลงชาติไม่ได้มีบทบาทสำคัญ ในแง่ความมั่นคงของชาติ เพราะความมั่นคงของชาตินั้น มีมิติที่หลากหลาย ไม่ได้ตั้งอยู่บนอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และภาคประชาสังคมมากกว่า ดังนั้น การเชื่อมโยงเพลงชาติเข้ากับเรื่องของความมั่นคง และการรวมชาตินั้นล้าสมัยเกินไปแล้ว เพลงชาติเป็นเพียงสัญลักษณ์อย่างคร่าว ๆ ที่ทำให้คนรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน แต่ความรู้สึกนี้ ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ชาติมั่นคง หรือทำให้ทุกคนรักชาติ ต่อให้เพลงชาติมีเนื้อหาดี สมบูรณ์แค่ไหนก็ตาม ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี หรือภาคประชาสังคมไม่เข้มแข็ง ก็เป็นไปไม่ได้ที่ชาติจะมีความมั่นคง
   "นอกจากนี้ กรอบความคิดเกี่ยวกับชาติ ยังได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอีกด้วย คนไม่ได้คิดถึงชาติ  ในลักษณะที่มีเพียงแค่ดินแดน ประชากร และอำนาจอธิปไตยอีกต่อไป เพราะความเป็นภูมิภาค เริ่มมีความสำคัญมากกว่าดินแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง อำนาจอธิบไตยก็ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดด ๆ แต่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถ้าคิดจะทำเพลงชาติขึ้นใหม่ ก็ต้องคิดถึงคอนเซ็ปต์ของความเป็นชาติแบบใหม่ด้วย ถ้ายังคงเน้นเรื่องความรู้สึกรวมหมู่ เอกราช ความมั่นคงทางการทหาร และเทิดทูนวีรบุรุษของไทยในอดีต ตามรูปแบบเดิม ๆ ก็คงไม่ได้ส่งผลเปลี่ยนแปลงใด ๆ อาจจะเป็นการเสียเวลาเปล่าด้วยซ้ำ แม้แต่การกำหนดให้ยืนเคารพธงชาติตอน ๘.๐๐ และ ๑๘.๐๐ น. ก็ไม่ได้ช่วยให้คนรู้สึกสำนึกถึงความเป็นชาติ อย่างที่ทางการคิด ถึงยกเลิกไปก็ไม่เสียหาย เพราะความรักชาติแบบเดิมนั้น ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน การบังคับให้ฟังเพลงชาติทุกเช้าเย็น อาจยิ่งสร้างความเบื่อหน่าย ให้คนในชาติก็ได้
   "ในอีกด้านหนึ่ง การที่มีเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาติหลาย ๆ แบบอย่างทุกวันนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าประชาชน มีความรู้สึกร่วม และเห็นความสำคัญของบทเพลงแต่ละฝ่าย จึงตั้งใจทำขึ้นมา แต่คณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ กลับแปลงเจตนารมณ์ผิดไป มองว่าความหลากหลาย คือความไม่เป็นเอกภาพ จึงต้องการสกัดกั้น และผลิตเวอร์ชั่นที่เป็นทางการขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่การเปิดให้มีการสร้างสรรค์ อย่างหลากหลายต่างหาก ที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการมีส่วนร่วม และมีความรู้สึกกับมันจริง ๆ รวมทั้งอาจทำให้คนอยากฟังเพลงชาติ หรือเพลงสรรเสริญฯ มากขึ้น เพราะมีหลายแบบให้ติดตามดู เช่น ก่อนหน้านี้ภาพประกอบเพลงสรรเสริญฯ ที่ฉายตามโรงภาพยนตร์ จะเป็นแบบเดียวกันหมดซึ่งแห้งแล้ง ไม่ค่อยน่าสนใจ แต่เมื่อโรงภาพยนตร์แต่ละเครือผลิตขึ้นเอง กลับยิ่งทำให้รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของในหลวง ซึ่งเห็นได้ว่า เขาทำด้วยความตั้งใจจริง ถ้าภาพประกอบบทเพลง เป็นเหมือนกันหมด คนจะยิ่งรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะเห็นว่ามันเหมือนเดิม ไม่แตกต่าง เพราะฉะนั้นดูครั้งเดียวก็พอ
   "แต่สิ่งที่น่าวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในตอนนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการกำหนดให้ใช้ภาพประกอบเพลงชาติ หรือเพลงสรรเสริญฯ ที่ทางการจะทำขึ้นเท่านั้น แต่เป็นคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติต่างหาก เพราะเราไม่ควรจะมีหน่วยงานที่ประกาศว่าตน เป็นตัวแทนของประเทศ เป็นผู้ที่คอยบอกว่าเอกลักษณ์ของประเทศนี้คืออะไร เหมือนกับว่าถ้ามีคน ๆ หนึ่งอ้างว่า เป็นตัวแทนของวัยรุ่นสมัยนี้ทั้งหมดแล้ว จะมาบอกว่าวัยรุ่นสมัยนี้คิดอย่างไร ก็คงไม่มีใครเชื่อ เอกลักษณ์ของชาติ เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถนิยามได้อย่างอิสระ คณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ น่าจะเป็นองค์กรที่ส่งเสริมให้วัฒนธรรม หรือเอกลักษณ์แบบต่าง ๆ ได้แสดงตนออกมา และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มากกว่าจะกำหนดให้แบบใดแบบหนึ่งเป็นมาตรฐาน
   "ถ้าคณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ ยืนยันที่จะกำหนดให้ใช้วิดีทัศน์ ภาพประกอบเพลงชาติที่รัฐผลิตขึ้นมาเหมือนกันหมดจริง ก็น่าจะเปิดเวทีให้คนร่วมเสนอความเห็นเสียก่อน แทนที่จะมุบมิบทำกันอยู่ โดยที่มีทหารเป็นประธานคณะกรรมการจัดทำ หรือผ่านความเห็นชอบ ของคนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น"

  อ่านฝ่ายสนับสนุน คลิกที่นี่
ธัชกร เหมะจันทร
ผู้อำนวยการสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ

click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*