สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕ " ๑๐ ตัวพิมพ์กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย "
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕  

ทำหลังคาโตเกียวเป็นสีเขียว

วันชัย ตัน /ภาพประกอบ : Din-Hin

  ทำหลังคาโตเกียวเป็นสีเขียว
        แต่ไหนแต่ไรในกรุงโตเกียว สีเขียว ๆ บนดาดฟ้าอาคารที่เราจะได้เห็น ก็เป็นเพียงสีเขียวของสนามกอล์ฟที่ปูด้วยหญ้า (ปลอม ๆ) ...แต่เดี๋ยวนี้ ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลง
      ตอนนี้หากใครมีโอกาสไปเยือนกรุงโตเกียว อาจได้เห็นว่า บนดาดฟ้าอาคารหรือหลังคาตึกบางแห่ง เขียวครึ้มไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด 
      เหตุผลไม่ใช่เรื่องของความสวยงาม แต่เป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวบนตึก เพื่อลดความร้อนในเขตเมือง ที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นทุกขณะ
      บนหลังคาตึกสามชั้นในย่านการค้าแห่งหนึ่งของกรุงโตเกียว มีทั้งต้นเชอรี ต้นปาล์ม ต้นบลูเบอรี ฯลฯ แผ่กิ่งก้านร่มครึ้ม ช่วยให้ผู้คนในตึกได้คลายร้อน จากความอบอ้าวของมหานครแห่งนี้ 
      ภาวะโลกร้อน ทำให้กรุงโตเกียวมีอากาศร้อนขึ้นอย่างรุนแรง ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิในกรุงโตเกียวโดยเฉลี่ย สูงถึง ๒๘ องศาเซลเซียส สูงกว่าเมื่อ ๓๐ ปีก่อนถึง ๓ องศา
      ทุกวันนี้โตเกียวไม่ต่างจากนครใหญ่ ๆ ทั่วโลก ที่นับวันจะมีปัญหาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างผิดปรกติ ซึ่งสาเหตุสำคัญ ก็มาจากการกระทำของมนุษย์แทบทั้งสิ้น นับตั้งแต่ความร้อนจากท่อไอเสียรถยนต์ จำนวนหลายล้านคัน ที่ช่วยกันพ่นออกมาในช่วงการจราจรติดขัด พื้นถนนปูด้วยยางมะตอย ที่สะท้อนความร้อนขึ้นสู่อากาศ ไปจนถึงลมร้อนจากเครื่องปรับอากาศนับล้าน ๆ เครื่องที่ผู้คนในอาคารบ้านเรือน ช่วยกันกระหน่ำเปิด สร้างความเย็นฉ่ำภายใน แต่ระบายลมร้อนมาสู่ภายนอก ลมร้อนเหล่านี้ เมื่อระบายออกมาก็ได้แต่ไหลวนอยู่ในบริเวณรอบ ๆ อาคาร ไม่อาจถ่ายเทออกไปได้ เพราะถูกตึกระฟ้าสูง ๆ จำนวนมากปิดกั้นเอาไว้
      "สวนบนหลังคาตึกจะช่วยดูดซับความร้อน และช่วยลดอุณหภูมิภายในตึกลงได้" คาซูโยชิ โคจิมา วัย ๕๒ ปี ผู้ริเริ่มและผลักดันให้มีการปลูกสวนป่าบนหลังคาตึก กล่าวอย่างมั่นใจ
      ที่ผ่านมา มีการนำเสนอแนวทางในการลดความร้อนในกรุงโตเกียวอยู่หลายวิธี วิธีหนึ่งที่ได้รับความสนใจก็คือ การสูบน้ำทะเลให้ไหลเข้ามาตามท่อที่วางไว้ใต้เมือง เพี่อดูดซับความร้อน แต่เนื่องจากวิธีดังกล่าว ต้องใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ และอาจก่อความเสียหายแก่ระบบนิเวศในทะเล เมื่อต้องปล่อยน้ำที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น จากการรับความร้อนจากเมืองกลับลงสู่ทะเลอีกครั้ง แนวคิดนี้จึงพับไป
      ดังนั้นในตอนนี้ แนวคิดเรื่องการลดความร้อนในเมือง โดยการปลูกต้นไม้บนหลังคาจึงกำลังมาแรง 
      คาซูโยชิ โคจิมา เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีหน้าที่ดูแลควบคุมการก่อสร้างอาคารใหม่ ๆ ในเมืองให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากตัวโคชิมาเอง เป็นคนรักธรรมชาติ ถึงขนาดเคยควักกระเป๋าซื้อป่าหย่อมเล็ก ๆ ไว้ก่อนที่มันจะถูกแปรสภาพเป็นสนามกอล์ฟ เขาจึงมุ่งมั่นหาวิธีลดอุณหภูมิของนครโตเกียวด้วยวิธีธรรมชาติ จนค้นพบว่า ป่าบนหลังคาจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้
      เมื่อสองปีก่อน หลังจากที่โคจิมาได้รับมอบหมายให้ดูแลการก่อสร้างอาคารใหม่ ในย่านชิบูย่า ซึ่งมีกฎหมายใหม่ออกมาบังคับใช้ว่า อาคารสร้างใหม่ที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า ๓๐๐ ตารางเมตร จะต้องปลูกสวนประมาณ ๑ ใน ๕ ของพื้นที่บนหลังคาตึก โคจิมาจึงได้โอกาสทำตามความฝันของเขา ภายใน ๖ เดือน โคจิมาดำเนินการปลูกสวนบนหลังคาอาคารใหม่ ได้เป็นพื้นที่ร่วม ๗,๐๐๐ ตารางเมตร
      ตอนแรกไม่มีใครเชื่อว่า การสร้างสวนป่าบนหลังคาตึกจะเป็นไปได้ สถาปนิกบริษัทต่าง ๆ ก็ไม่สนใจ โคจิมาจึงตัดสินใจออกแบบสวนบนหลังคาตึกเอง และในที่สุดเขาก็สามารถเนรมิตให้หลังคาที่ว่างเปล่า ปกคลุมไปด้วยสีเขียวของต้นไม้
      "สวนบนหลังคาเป็นไปได้ เมื่อพวกเขาเอาใจใส่มันเต็มที่" โคจิมากล่าว "คุณเชื่อไหม เมื่อก่อนเราเคยตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในอาคารไว้ที่ ๒๐ องศาเซลเซียส แต่มันก็ยังร้อนอยู่ แต่พอเราปลูกต้นไม้บนหลังคาตึก แม้ปรับอุณหภูมิไปที่ ๒๗ องศาเซลเซียส อากาศก็ยังเย็นสบาย ไม่เพียงเท่านั้น ในฤดูหนาว เพียงเปิดเครื่องทำความร้อน ๑ ชั่วโมงภายในอาคารที่มีสวนอยู่บนหลังคา อากาศในอาคารยังอบอุ่นไปตลอดวัน เป็นการช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี"
      เขาสรุปจากประสบการณ์ว่า การปลูกต้นไม้บนหลังคาอาคาร ช่วยลดความร้อนในเขตเมืองลง และยังช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารให้เหมาะสมได้ โดยไม่ต้องลงทุนมากมายแต่ประการใด 
      โคจิมาบอกว่า ความฝันของเขา คือการทำให้ครึ่งหนึ่งของหลังคาอาคารในย่านชิบูยา เป็นสีเขียวด้วยต้นไม้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่การก่อสร้างตึกในย่านอื่น ๆ ต่อไป
      "คุณจำได้ไหม เมื่อเราเป็นเด็ก ในฤดูร้อนเราแค่ใช้พัดกระดาษพัดตัว เราก็รู้สึกเย็นสบายแล้ว ผมหวังว่าเราจะกลับไปเป็นเช่นนั้นได้อีก" 
      วันนี้ คุณปลูกต้นไม้บนหลังคาหรือยัง ?