สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕ " ๑๐ ตัวพิมพ์กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย "
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕  

๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย

เรียบเรียงโดย ประชา สุวีรานนท์
โดยการสนับสนุนของ บริษัท เอส. ซี. แมทช์บอกซ์ และนิตยสาร สารคดี

 ตัวพิมพ์กับกำเนิดโลกทัศน์ใหม่

 
  บรัดเล โดย ดี.บี. แบรดลีย์ พ.ศ. ๒๓๘๔-๒๔๑
นายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ (คลิกดูภาพใหญ่)       ปฐมบทของการพิมพ์ และการออกแบบตัวพิมพ์ของไทยเริ่มขึ้นเมื่อนายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ หรือหมอบรัดเล และมิชชันนารีคณะแบปติสต์จากสหรัฐอเมริกาเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ เขาได้ก่อตั้งโรงพิมพ์และจัดพิมพ์หนังสือด้วยตัวพิมพ์ภาษาไทย ในปีพ.ศ. ๒๓๘๒ กิจการหนังสือพิมพ์และโรงพิมพ์ของคณะฯ เจริญเติบโตจนเป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็ว มีการออกหนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม และสั่งซื้อแท่นพิมพ์เพิ่มขึ้นในปีต่อๆ มา
      นั่นคือช่วงเวลาหลังจากที่ไทยได้ทำสัญญาเบอร์นี่ และสยามประเทศอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ในด้านเทคโนโลยี เทคนิควิทยาการ เช่น การแพทย์สมัยใหม่ เครื่องจักรไอน้ำ และสิ่งประดิษฐ์นานาชนิด กำลังหลั่งไหลเข้ามา ในด้านความรู้และภูมิปัญญา สังคมไทยกำลังเผชิญกับการท้าทายของแนวคิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบกฎหมาย แบบแผนประเพณี ตลอดจนความหมายของชุมชนที่จะเรียกกันว่า ชาติ
      หนังสือและตัวพิมพ์ซึ่งเป็นผลงานของแบรดลีย์คือที่รวมของความเปลี่ยนแปลงทั้งสองด้านนั้น ในด้านเทคโนโลยี มันเป็นแบบอย่างของการผลิตซ้ำอย่างกลไกด้วยเครื่องจักร ประสิทธิภาพการพิมพ์ในสมัยนั้นช่วยย่นย่อระยะเวลา และขจัดข้อผิดพลาดของการทำงานแบบเก่าซึ่งในที่นี้ก็คือการคัดลอกด้วยมือ
ในด้านความรู้และภูมิปัญญา เนื้อหาของสิ่งพิมพ์อันได้แก่ หนังสือสอนศาสนาคริสต์ ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ วิทยาศาสตร์ ตลอดจนภูมิ-ดาราศาสตร์ได้เข้ามาสั่นคลอนรากฐานความรู้และคติความเชื่อเดิมของสังคมไทย นอกจากนั้น บางกอกรีคอร์เดอร์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยของเขา ยังได้นำเอาวิธีการรายงานข่าวและการเขียนบทความแบบวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นของใหม่ในสมัยนั้นเข้ามาด้วย
 

กำเนิดตัวพิมพ์ไทย : เส้นทางอันยอกย้อน

 แนนซี่ ยัดสัน หรือ แอนน์ ฮาเซลไทน์ ยัดสัน ผู้ออกแบบตัวพิมพ์ที่ใช้ในไวยากรณ์ไทย ของเจมส์โลว์ (คลิกดูภาพใหญ่)       กำเนิดตัวพิมพ์ไทยมีความซับซ้อนที่น่าสนใจ ก่อนยุคของ แบรดลีย์ การพิมพ์และหล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยมีขึ้นแล้ว แต่ทำกันในต่างประเทศ ผลงานยุคแรกสุดเช่นหนังสือ James Low's Thai Grammar ใช้ตัวพิมพ์ซึ่งจัดทำโดยมิชชันนารีสตรีชาวอเมริกันชื่อ แนนซี่ ยัดสัน และช่างพิมพ์ที่ชื่อนายฮัฟ การเรียงตัวและจัดพิมพ์ทำขึ้นที่อินเดียและพม่าในราวพ.ศ. ๒๓๗๐ เข้าใจว่าในเวลาต่อมา เมื่อแบรดลีย์เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ได้ไม่นาน ตัวพิมพ์ชุดนี้ก็ถูกนำเข้ามาใช้ในโรงพิมพ์ของเขา
      ในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ แบรดลีย์รับจ้างราชการไทยจัดพิมพ์เอกสารที่เรียกกันว่า แผ่นประกาศห้ามสูบฝิ่น ขึ้นตามพระราชโองการของรัชกาลที่ ๓ เพื่อแจกจ่ายออกไปทั่วพระราชอาณาจักร เอกสารชิ้นนี้ใช้ตัวเรียงซึ่งซื้อจากสิงคโปร์ เข้าใจว่าคณะมิชชันนารีได้ส่งคนในคณะฯ ไปดูแลการทำแม่แบบที่ปีนัง และนำไปหล่อที่มะละกา 
      การหล่อตัวพิมพ์ในประเทศไทยทำสำเร็จครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๓๘๔ แบบตัวชุดนี้มีความสวยงามกว่า และมีขนาดเล็กกว่าที่เคยสั่งหล่อจากสิงคโปร์ หนึ่งในสิ่งพิมพ์ชิ้นแรกๆ ที่ใช้ตัวเรียงพิมพ์ที่หล่อเป็นครั้งแรกในเมืองไทยคือ หนังสือของแบรดลีย์เอง ชื่อ คำภีร์ ครรภ์ทรักษา, แปลย่นความออกจากกำภิร์ครรภ์ทรักษา แห่งแพทย์หมออะเมริกา. ส่วนตัวพิมพ์ที่เรียกกันว่า "บรัดเลเหลี่ยม" นั้นเป็นผลงานรุ่นถัดมา ปรากฏการใช้เป็นครั้งแรกใน บางกอกรีคอร์เดอร์ หรือหนังสือจดหมายเหตุฯI ซึ่งออกในปี พ.ศ.๒๓๘๗ ถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย (ชื่อตัวพิมพ์ดังกล่าวตั้งขึ้นในภายหลังโดย กำธร สถิรกุล ใน ตัวหนังสือและตัวพิมพ์)
 

เมื่อตัวพิมพ์ยืดตัวตรง และโครงสร้างถูกจัดระเบียบ

หนังสือ คำภีย์ครรภ์รักษาฯ ตีพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๓๘๕ (คลิกดูภาพใหญ่)

      แบบอักษรของบรัดเลเหลี่ยมนั้นถ่ายทอดมาจากตัวเขียนลายมืออย่างไม่ต้องสงสัย ตัวเขียนที่แบรดลีย์ใช้เป็นต้นแบบ สันนิษฐานได้ว่ามาจากลายมือแบบอาลักษณ์ เราอาจพบลายมือคล้ายกันนี้ปรากฏอยู่ในสมุดข่อยซึ่งเขียนขึ้นในยุคต้นรัตนโกสินทร์หลายเล่ม 
      หากเอาบรัดเลเหลี่ยมมาเปรียบเทียบกับตัวพิมพ์รุ่นก่อนหน้านั้น ก็จะพบว่ามีความแตกต่างกันมาก บรัดเลเหลี่ยมมีรูปทรงตั้งตรง ตัวรุ่น คำภีร์ ครรภ์ทรักษาฯ ยังเป็นแบบเอนไปข้างหลัง โครงสร้างอักษรของตัวคำภีร์เริ่มชัดเจนแต่ยังไม่ค่อยมีเอกภาพ เช่น เส้นตั้งไม่ได้ขนานกันอย่างสมบูรณ์ ตัว ก ไก่ อ้วนมาก การม้วนของ ห หีบ เป็นเส้นเหลี่ยม หรือถ้าเอาไปเปรียบเทียบกับรุ่นของยัดสัน จะเห็นว่ารุ่นนั้นถ่ายทอดมาจากลายมือแบบหวัดแกมบรรจง ยังไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน เช่น มีตัวหนังสือที่โย้หน้าบ้างโย้หลังบ้าง
      การแกะตัวพิมพ์เป็นศิลปะอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจากการเขียน ถ้าการเขียนหรือจารเป็นงานจิตรกรรม การแกะพั้นช์ แกะแม่ทองแดง และหล่อตัวพิมพ์ ก็เปรียบได้กับงานประติมากรรม ในการถ่ายทอดศิลปะข้ามสื่อนี้ มีความจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างบางอย่างของตัวอักษร เพื่อทำให้การแกะง่ายขึ้น เช่น ดัดตัวให้ตรง มีเส้นนอนด้านบนซึ่งหักมุมเหลี่ยมเป็นบุคลิกสำคัญ มีรูปทรง และสัดส่วนของอักษรที่แน่นอน เช่น ก ไก่ มีความกว้างยาวเป็นสัดส่วนราว ๒ ต่อ ๓ และมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง
      นอกจากนั้นบรัดเลเหลี่ยมยังมีการปรับปรุงโครงสร้างอื่นๆ เช่น ทำเส้นตั้ง หรือ "ขา" ให้ตั้งฉากกับเส้นนอน กำหนดหัวกลมโปร่งให้มีเอกภาพและตำแหน่งแน่นอน เส้นมีความหนา และการหักมุมเที่ยงตรงแบบเรขาคณิต แลดูเป็นระเบียบเรียบร้อย
      รูปโฉมของบรัดเลเหลี่ยมไม่ได้เป็นเพียงการแต่งเนื้อแต่งตัวให้แปลกใหม่ทันสมัยมากขึ้น แต่เป็นการสถาปนามาตรฐานใหม่ของอักษรไทย ถือกันว่าเป็นการวางรากฐานสำคัญให้แก่ตัวพิมพ์ไทย


 

กำเนิดโรงพิมพ์หลวง

 ภาพแกะไม้ในหนังสือ คำภีย์ครรภ์รักษาฯ (คลิกดูภาพใหญ่)       หนังสือพิมพ์และตัวพิมพ์นำความสนใจมาสู่ชนชั้นผู้นำของสยาม โดยเฉพาะสำหรับเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ซึ่งในขณะนั้นทรงผนวชและเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ท่านโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในวัด โรงพิมพ์นี้มีพระสงฆ์เป็นผู้ทำหน้าที่ทุกอย่างในการพิมพ์ และมีผลงานด้านหนังสือเผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่น พระปาฏิโมกข์ และบทสวดมนต์
      ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ หลังจากที่เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ได้ทรงตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง พระ-ราชทานนามว่าโรงอักษรพิมพการ และโปรดให้มีฐานะเป็น "โรงพิมพ์หลวง" โรงอักษรพิมพการได้ดำเนินการผลิตหนังสือ และเอกสารสำคัญของแผ่นดินหลายฉบับ เช่น ราชกิจจานุเบกษา หรือหนังสือรวมประกาศข้อบังคับต่าง ๆ ของราชการ ซึ่งพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๐๑
      ระหว่างที่ทรงดำเนินกิจการโรงพิมพ์ในวัดบวรฯ ด้วยความรอบรู้และเข้าใจในความยากลำบากของการแกะ หล่อและเรียงพิมพ์ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ จึงมีพระราชดำริเปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนอักษรไทยเสียใหม่ เพื่อให้สะดวกแก่การพิมพ์ และประดิษฐ์อักษรไทยแบบใหม่ซึ่งมีชื่อว่า "อักษรอริยกะ" วิธีการเขียนแบบนี้มีจุดเด่นตรงที่อักษรทั้งหมดถูกจับลงมาอยู่บรรทัดเดียวกัน และเรียงสระและวรรณยุกต์ให้อยู่หลังพยัญชนะ เช่นเดียวกับอักษรโรมัน ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือเลิกใช้รูปอักษรเดิม หันไปใช้รูปทรง และโครงสร้างที่คล้ายอักษรโรมัน อักษรอริยกะถูกสร้างเป็นตัวพิมพ์เพื่อใช้ในโรงพิมพ์วัดบวรฯ และพิมพ์เอกสารที่เผยแพร่เฉพาะในหมู่สงฆ์ในนิกายธรรมยุติ
 

บั้นปลายของหนังสือพิมพ์รุ่นบุกเบิก

 โรงพิมพ์หมดบรัดเล  ตั้งอยู่ที่ปากคลองบางหลวง หรือบางกอกใหญ่ (คลิกดูภาพใหญ่)       แม้ว่าชนชั้นสูงของสยามจะรู้สึกหวาดระแวงต่อเนื้อหาและการแจกจ่ายหนังสือ "นอกศาสนา" ของแบรดลีย์ แต่ความแปลกใหม่ และมีประโยชน์ของการพิมพ์ทำให้การสอนศาสนา และการดำเนินธุรกิจของเขาเป็นที่ยอมรับ ผลงานด้านหนังสือพิมพ์ ความรู้ หนังสือแปล และตำราเรียนของเขาแพร่หลายออกไปทีละน้อย หลังจากนั้นโรงพิมพ์อื่นๆ ก็เกิดตามมา เช่น โรงพิมพ์ของมิชชันนารีอีกคนหนึ่งที่ชื่อ แซมมวล จอห์น สมิธ หรือ ครูสมิธ
      ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ แบรดลีย์ได้พิมพ์นิราษเมืองลอนดอน ของหม่อมราโชทัย (กระต่าย) ซึ่งปรากฏเป็นข่าวเกรียวกราวเนื่องจากเป็นหนังสือภาษาไทยเล่มแรก ที่มีการซื้อลิขสิทธิ์กันอย่างเป็นทางการในหนังสือเล่มนี้มีการใช้ตัวพิมพ์แบบใหม่คือ "บรัดเลโค้ง" เป็นครั้งแรก ชุดนี้มีถึง ๒ ขนาด ขนาดใหญ่ใช้เรียงเป็นชื่อหนังสือในหน้าแรกๆ ส่วนใน บางกอกรีคอร์เดอร์ ซึ่งออกในปี พ.ศ. ๒๔๐๘ บรัดเลโค้งใช้เป็นตัวพาดหัว หรือตัวดิสเพลย์ 
      กิจการโรงพิมพ์ของแบรดลีย์เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ แต่การทำหนังสือพิมพ์ของเขายุติลงในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ด้วยเหตุว่าถูกฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาท แบรดลีย์เชื่อว่าการที่ตนเองแพ้คดีนี้เพราะถูกกลั่นแกล้ง เนื่องจากชนชั้นสูงชาวสยามเริ่มไม่พอใจกับการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ของเขา
      ตัวพิมพ์นั้น หากถือว่าเป็นพัฒนาการในยุคแรกเริ่ม ก็นับว่าเป็นไปอย่างช้าๆ ตราบจนสิ้นรัชกาลที่ ๔ เรามีตัวพิมพ์สามสี่แบบ ผลงานออกแบบตัวพิมพ์ของแบรดลีย์กลายเป็นรากฐานการออกแบบในยุคต่อไป ตัวพิมพ์ไทยในรุ่นหลังเกือบทั้งหมดล้วนแล้วแต่วิวัฒนาการมาจากตัวพิมพ์ที่ท่านได้วางเอาไว้ทั้งสิ้น

 ตัวพิมพ์กับการสถาปนาชาติ

  ธงสยาม พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓
 
      ในช่วงต้นของรัชกาลที่ ๕ แบรดลีย์ และสมิธลดบทบาทการออกหนังสือพิมพ์ แต่ไม่ได้ยุติกิจการของโรงพิมพ์ ทั้งสองหันมาผลิตหนังสือทั้งที่เป็นความรู้ และวรรณกรรมอย่างขนานใหญ่ ตัวพิมพ์ได้แสดงบทบาทอย่างมากในเวทีใหม่นี้
 

การพิมพ์บ่ายหน้าไปสู่ตลาดหนังสือ

ผลงานของโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ซึ่งถือกำเนิดในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ (คลิกดูภาพใหญ่)       แบรดลีย์และสมิธได้ต้นฉบับมาจากเอกสารยุคก่อนการพิมพ์ ซึ่งอยู่ในรูปของสมุดข่อย สมุดไทย และใบลาน เอกสารเหล่านี้ได้มาจากทั้งชาวบ้าน และพระสงฆ์ รวมทั้งจากขุนนางชั้นสูง เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  ต้นฉบับเหล่านี้จะถูกนำมาเรียบเรียงตีพิมพ์ใหม่ ในรูปหนังสือเล่มหรือที่เรียกกันว่า "สมุดฝรั่ง"
      เล่มที่โด่งดังที่สุดคือ พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ ซึ่งแยกพิมพ์เป็นเล่มเล็กๆ สิบกว่าเล่ม หนังสือชุดนี้เป็นผลงานการจัดพิมพ์ของสมิธ และเป็นที่ร่ำลือกันว่าทำให้ผู้พิมพ์จำหน่ายร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น นอกจากนั้น เขายังได้จัดการสั่งแท่นพิมพ์มาขาย ซึ่งมีผลทำให้เกิดโรงพิมพ์ขึ้นอีกหลายโรงด้วย
      ส่วนแบรดลีย์นั้น นอกเหนือจากหนังสือแปล ตำรา และพงศาวดารจีนหลายเล่มแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ เขายังได้พิมพ์หนังสือที่ถือเป็นผลงานชิ้นเอกนั่น คือ อักขราภิธานศรับท์ หรือ Dictionary of the Siamese Language หนังสือเล่มนี้เขียนโดยอาจารย์ทัด และถือกันว่าเป็นพจนานุกรมเล่มแรกของไทย บรรจุคำศัพท์ไว้ถึง ๔๐,๐๐๐ คำ และเป็นต้นแบบสำหรับการจัดทำพจนานุกรม ในสมัยต่อมา
      หนังสือบางเล่มพิมพ์คราวละมากๆ เช่น หนังสือไทยสำหรับมูลศึกษา กรมศึกษาธิการ เรื่องประถม ก กา พิมพ์ครั้งที่ ๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐ ฉบับ บางเล่มก็พิมพ์ซ้ำหลายครั้ง เช่น กฎหมายไทยของหมอปรัดเล พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖
      การเปลี่ยนแนวทางของโรงพิมพ์ทั้งสองจากหนังสือพิมพ์ มาสู่หนังสือเล่มไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างลอยๆ หรือในขอบเขตเล็กๆ เพราะความตื่นตัวในเรื่องการอ่านหนังสือ และแสวงหาความรู้กำลังก่อตัวขึ้นเป็นกระแสใหญ่ในสังคม ยิ่งไปกว่านั้น ในเวลาใกล้เคียงกัน ราชการไทยก็เริ่มตระหนักถึงศักยภาพของเทคโนโลยีการพิมพ์ ในฐานะเครื่องมือของอำนาจ
 

ตัวพิมพ์กับความศักดิ์สิทธิ์แบบใหม่

พัดกัญจนา และอักษรไทย ผลงานของกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นแบบอย่างของอักษรไทยที่เรียกว่ "นริศ" (คลิกดูภาพใหญ่)       อะไรคือความแตกต่างระหว่างอักษรตัวหนึ่งที่เขียนด้วยลายมือ กับอักษรตัวเดียวกันที่พิมพ์ด้วยเครื่อง การผลิตอักษรด้วยลายมือมนุษย์ แม้จะรักษาโครงสร้างของอักษรไว้ได้ และสามารถคงรูปสัณฐานไว้ตามแม่แบบ แต่ทุกครั้งที่ตัวอักษรนั้นถูกเขียนขึ้นใหม่ ก็ย่อมมีรายละเอียดที่ผิดเพี้ยนกันไปไม่มากก็น้อย ในทางตรงกันข้าม เทคโนโลยีการพิมพ์สามารถดลบันดาลให้ตัวอักษรที่ผลิตซ้ำ มีหน้าตาเหมือนกันอย่างสมบูรณ์น่าทึ่ง ประหนึ่งว่าจดจารด้วยฝีมือของเทพยดาผู้มีนามว่าความศิวิไลซ์ มนต์ขลังของตัวพิมพ์อยู่ที่มันได้ปลดปล่อยตัวอักษร ให้หลุดพ้นจากความไม่สม่ำเสมอของลายมือมนุษย์ 
      อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่การพิมพ์สถาปนาขึ้นคือ ความเป็นเอกรูป (uniformity) ของตัวอักษร อีกทั้งยังเป็นเอกรูปที่มีความเป็นนิรันดร์ (eternity) นั่นคือสามารถถูกผลิตซ้ำอย่างยั่งยืนถาวรไปได้นานแสนนาน
      ความเป็นเอกรูปและความเป็นนิรันดร์ สองสิ่งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าชาติ ด้วยเหตุที่ตัวพิมพ์แต่ละตัวบรรจุคุณสมบัติทั้งสองข้างต้นไว้อย่างครบถ้วน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มันจะถูกดึงไปใช้เป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพเพื่อสร้างอำนาจแผนใหม่ให้แก่รัฐ เริ่มด้วยการใช้ตัวพิมพ์เป็นสื่อเกาะอิงสำหรับสถาปนา "องค์ความรู้แห่งชาติ" ขึ้นมา
 

ความรู้ถูกยกระดับให้กลายเป็นสถาบันด้วยการพิมพ์

แท่นพิมพ์โคลัมเบียน สร้างในอังกฤษราว พ.ศ. ๒๓๗๔ (คลิกดูภาพใหญ่)       การสถาปนารัฐแบบใหม่ที่เรียกว่าชาติ ไม่ได้เป็นเพียงการปรับปรุงเทคนิคการบริหารราชการ แต่ยังเป็นการให้นิยามความหมายแบบใหม่แก่ชุมชนของตนเอง ความหมายนี้จะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับที่มาที่ไปของสังคมได้ ถ้าเปรียบการทำแผนที่ว่าเป็นการก่อร่างสร้างกายให้แก่ชาติ และการสถาปนาระบบการปกครองแบบใหม่เป็นการสร้างเครือข่ายของเส้นประสาท การสังคายนาความรู้เกี่ยวกับตนเองและโลก ก็เป็นเสมือนการสร้างสติปัญญาให้แก่องคาพยพทางการเมืองสมัยใหม่นี้
      บทบาทดังกล่าวเริ่มขึ้นโดยหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๗ หอสมุดแห่งนี้ทำหน้าที่เหมือนคลังสมองของชาติ กล่าวคือ รวบรวม เลือกสรร คัดลอก และตรวจสอบต้นฉบับเก่าๆ (ซึ่งอยู่ในรูปของเอกสารใบลาน สมุดข่อย) แต่งต้นฉบับใหม่ๆ และที่สำคัญยิ่งคือ นำเอาต้นฉบับทั้งเก่า และใหม่เหล่านี้มาดำเนินการจัดพิมพ์เป็นหนังสือ
เจ้าพระยาภาสกรวงษ์ ผู้จัดทำประติทินบัตร นิตยสารรายเดือน (คลิกดูภาพใหญ่)       การเชิดชูหนังสือทำให้ความรู้ในสังคมไทยเกิดการหักเหทิศทางอย่างรุนแรง เช่น จากสังคมที่ศึกษาธรรมะเป็นหลัก ก็หันมาศึกษาสิ่งที่กว้างขวางขึ้น อาทิ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวรรณคดี จากความรู้ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ครู หรือพระ และผันแปรไปตามแต่ผู้เทศนา กลายเป็นความรู้ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวหนังสือ ซึ่งถูกตรึงไว้อย่างแน่นหนาด้วยความเป็นเอกรูป และความเป็นนิรันดร์ของตัวพิมพ์ ในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่า ตัวพิมพ์มีส่วนสร้างความศักดิ์สิทธิ์แบบใหม่ให้แก่องค์ความรู้ที่มาเกาะอิงกับตัวมัน
      พูดอีกอย่างหนึ่ง "วิชา" ไม่ได้กินความกว้างๆ อีกต่อไป แต่หมายความเฉพาะเจาะจงลงไปเลยว่าเป็น "วิชาหนังสือ" ซึ่งหมายถึง "วิชาที่ได้รับการพิมพ์ลงเป็นหนังสือ" ด้วยนิยามใหม่นี้ ความรู้จึงกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ รวบรวมได้ ตรวจสอบได้ และที่สำคัญก็คือ วางมาตรฐานบางอย่างได้
      นอกจากนั้น ภายใต้แนวคิดที่ว่าวิชาหนังสือเป็นที่นับถือกันในโลกตะวันตก และความรู้เป็นคุณสมบัติที่ชาติอันศิวิไลซ์จะพึงมี หรืออย่างน้อยก็ดูเหมือนว่ามีการสร้างห้องสมุดหรือคลังสมองจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรัฐชาติแบบใหม่ ความรู้อันอยู่ในรูปที่หอพระสมุดฯ ได้จัดระเบียบแล้วจึงกลายเป็น "วิชาอันประเสริฐ" 
 

ตัวพิมพ์แทนที่ลายมือ หนังสือแทนที่ใบลาน

พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม พ.ศ. ๒๔๔๒ (คลิกดูภาพใหญ่)       การนำเอกสารเก่ามาจัดพิมพ์เป็นหนังสือนั้น หอพระสมุดฯ เห็นเป็นภารกิจอันสำคัญ หนังสือเป็นหนทางที่จะรักษาสืบทอดความรู้ ซึ่งในที่นี้ก็คือ หยุดยั้งการเสื่อมสลายของเอกสารเก่า ในขณะเดียวกัน การทำงานนี้ก็มีจุดประสงค์ เพื่อสร้างความรู้มาตรฐานของชาติขึ้นมาด้วย ดังที่กล่าวมาแล้วว่ากระแสความตื่นตัวด้านความรู้ในหมู่ประชาชนกำลังก่อตัวขึ้น หอพระสมุดฯ จึงเล็งเห็นว่าไม่ควรปล่อยให้โรงพิมพ์ มิชชันนารี และชาวบ้าน จัดพิมพ์เอกสารที่คัดลอกอย่างผิดๆ ถูกๆ 
      ต่อความรู้นั้น หอพระสมุดฯ พยายามดำเนินนโยบายทั้ง ในด้านควบคุม และเผยแพร่ นั่นหมายความว่า นอกจากจะทำตัวเป็นผู้จัดพิมพ์แล้ว หอพระสมุดฯ ยังได้ตั้งตัวเป็นผู้ให้อนุญาตการจัดพิมพ์แก่โรงพิมพ์อื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อโรงพิมพ์อื่นๆ นำต้นฉบับเหล่านี้ไปพิมพ์เป็นหนังสือแจกในงานศพ หน่วยงานนี้จะทำหน้าที่ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด กล่าวคือตรวจความสมบูรณ์ถูกต้อง ดูแลคุณภาพการพิมพ์ กำหนดราคา รวมทั้งเก็บค่าธรรมเนียมซึ่งเรียกว่า "ค่าภาคหอพระสมุด" ซึ่งกำหนดให้ส่งมอบหนังสือเล่มนั้นๆ เป็นจำนวนร้อยละ ๒๐ ของยอดพิมพ์
      มองอย่างเผินๆ จะเห็นว่าหนังสือในช่วงนี้พัฒนาในด้านปริมาณยอดพิมพ์ และการเข้าเล่มทำปกที่ประณีตงดงามขึ้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การเข้ามาของกระบวนการพิมพ์หนังสือแบบหอพระสมุดฯ เอื้ออำนวยให้เกิดการควบคุมได้ง่ายขึ้น การตรวจสอบ กลั่นกรอง และตรวจทานให้ตรงกับต้นฉบับ ถูกรวมศูนย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในยุคนี้เอง มีการจัดพิมพ์ตำราอักขรวิธี พจนานุกรม และระเบียบเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายวรรคตอนขึ้นมาหลายเล่ม
      ดังนั้น ถึงแม้ว่าหอพระสมุดฯ ไม่ได้เข้ามาปรับปรุง และพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์และตัวพิมพ์โดยตรง แต่โดยการสร้างมาตรฐานการจัดพิมพ์ หอพระสมุดฯ ก็ได้ทำให้การพิมพ์ และรูปแบบของหนังสือสมัยใหม่ มีบทบาทเป็นสำเนียงแม่บทให้แก่ความรู้มาตรฐานดังกล่าว
      กระบวนการนี้เองที่เราอาจตีความว่า มีบทบาทไม่น้อยในการสร้างรัฐชาติ เพราะในการจำแนกแยกแยะความรู้ต่างๆ ก็คือ การแยกความรู้ของไทยออกจาก "ไม่ไทย" ซึ่งการแยกแยะนี้ มักจะส่งผลให้ความรู้บางอย่างที่ผู้ตรวจสอบคิดว่า "แปลกๆ" หรือ "วิปลาส" ถูกกำจัดทิ้งไป ความรู้ที่หอพระสมุดฯ จัดพิมพ์เป็นความรู้ที่ถูกกลั่นกรองแล้วว่าเหมาะสม จะเป็นสมบัติของชาติ ความรู้ที่ถูกคัดออกมีจำนวนเท่าไร ไม่มีใครทราบ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ จะไม่ถูกพิมพ์ และส่งเสริมให้ใช้เป็นมาตรฐาน
 

ตัวพิมพ์กับการสร้างมาตรฐานตัวเขียน

หลวงดำรงธรรมสาร (มี ธรรมสาร) ผู้ก่อตั้งโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ (คลิกดูภาพใหญ่)       ตัวพิมพ์มิได้มีบทบาทเป็นเพียงสื่อสำหรับตรึงความรู้ที่ผ่านการสังคายนาแล้วเท่านั้น หากยังถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับตรึงภาษาเขียนไว้ในรูปแบบเดียวกันอีกด้วย ก่อนหน้ายุคการพิมพ์ เราสามารถพบวิธีการสะกดคำอันหลากหลายสำหรับคำคำเดียวกัน ซึ่งมิได้ถือว่าเป็นความบกพร่องทางภาษาแต่อย่างใด ครั้นเมื่อหอพระสมุดฯ ได้เข้ามาควบคุมการจัดพิมพ์องค์ความรู้มาตรฐาน ย่อมเกิดความพยายามที่จะควบคุมภาษาให้เป็นบรรทัดฐานควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้โดยการลดทอนความหลากหลายของวิธีสะกดคำให้เหลือเพียงรูปแบบเดียว อักขรวิธีมาตรฐานที่ตรึงไว้ด้วยตัวพิมพ์ดังกล่าวนี้ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างชาติ
      ในระดับที่เหนือขึ้นไปจากการสะกดคำ ตัวพิมพ์ก็มีบทบาทในการสร้างเอกรูป ให้แก่แบบแผนของภาษาเขียนเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ้อยคำ สำนวน หรือรูปประโยคที่ปรากฏในเอกสารราชการ ล้วนแล้วแต่ได้รับการจัดแต่งให้เป็นแบบแผนเดียวกันหมด แล้วจึงตีพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นที่ยอมรับของประชาชน เนื่องเพราะเห็นว่าเป็นแบบแผนที่กำหนดโดยอำนาจทางการ (authority) คงไม่เป็นการเกินเลยที่จะกล่าวว่า ตัวพิมพ์มีส่วนร่วมกลไกการทำให้ภาษาเขียนเกิดการ "แข็งตัว" 
      ตัวพิมพ์ยังได้ติดตามกระบวนการสร้างรัฐชาติ ของสยามในขั้นตอนต่อไปนั่นคือ ขั้นตอนของการผนวกดินแดนประเทศราช ซึ่งเดิมอยู่ในฐานะรัฐอิสระ ที่มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง เช่น ดินแดนล้านนา เมื่อดินแดนเหล่านี้ถูกผนวกเข้ามาเป็นมณฑลหนึ่งของสยามแล้ว ก็มีการนำเอาภาษาไทย ไปบังคับหยิบยื่นให้แก่ผู้คนในดินแดนดังกล่าว แน่นอนว่ากระบวนการแผ่อิทธิพลทางภาษานี้ ย่อมต้องอาศัยภาษาเขียนของราชการเป็นตัวนำร่อง ดังเช่นที่ปรากฏในคำสั่ง ใบประกาศราชการ ป้ายชื่อสถานที่ รวมทั้งตำราเรียนต่างๆ ในภายหลัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกาะอยู่กับตัวพิมพ์ที่สร้างขึ้นในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น
 

พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่าง ธงสยาม : หน้าตาของชาติและตัวพิมพ์

 โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ อยู่บนถนนบำรุงเมือง จัดตั้งขึ้นในสมัย ร.๕ (คลิกดูภาพใหญ่)       เราได้เห็นแล้วว่า รัฐชาติที่กำลังก่อตัว ได้ให้ความสำคัญอย่างใหญ่หลวงเพียงใดต่อสิ่งพิมพ์ ในฐานะเครื่องมือนิยามตัวตนของชาติ ดังนั้น โครงการจัดพิมพ์หนังสือขนาดใหญ่โต เพื่อสร้างหน้าตาของประเทศ เช่น การจัดพิมพ์พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย
      หนังสือเล่มนี้นับเป็นเอกสารฉบับแรก ซึ่งกำหนดให้ธงรูปช้างบนพื้นแดงเป็นธงชาติของสยาม นับเป็นเอกสารที่เกิดจากการตกลงร่วมกันระหว่างสยามกับชาติอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเดินเรือ และการค้าขายระหว่างประเทศ 
      เพื่อให้หนังสือมีความประณีตสวยงามทั้งในแง่การจัดหน้า การวาดภาพประกอบ การพิมพ์ และการทำปกเข้าเล่ม ราชสำนักได้ส่งไปดำเนินการจัดพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ที่เมืองไลป์ซิก ประเทศเยอรมนี อันเป็นเมืองอุตสาหกรรมการพิมพ์สำคัญของโลก
      ตัวพิมพ์ของ พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม มีขนาดราว ๑๖ พอยต์มีเส้นที่หนาเท่ากันโดยตลอด หากนำไปเปรียบเทียบกับตัวบรัดเลสองแบบหลัง ก็จะเห็นว่าตัว "ธงสยาม" มีโครงสร้างที่คล้ายกัน แต่มีความอ่อนช้อยมากกว่าจุดเด่นคือตัว ญ หญิงที่มีหางติดกับลำตัว และมีการเว้นระยะระหว่างบรรทัดน้อยมาก
      ตัวพิมพ์ธงสยามเป็นตัวพิมพ์ที่เคยใช้ในโรงพิมพ์หลวง และโรงพิมพ์อื่นๆ ปรากฏครั้งแรกๆ ในประติทินบัตร นิตยสารรายเดือนซึ่งตีพิมพ์ฉบับแรกในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ โดยโรงพิมพ์บางกอกประสิทธิการกอมปนี ลิมิเตด เจ้าของหนังสือ และโรงพิมพ์นี้คือ เจ้าพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้ากรมศึกษาธิการในขณะนั้น
 

ความรู้มาตรฐานกับโรงพิมพ์ชาวบ้าน

หอพระสมุดวชิรญาณ ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๗ (คลิกดูภาพใหญ่)       นโยบายการเผยแพร่ความรู้ของหอพระสมุดฯ ที่เน้นให้เอกชนนำต้นฉบับไปจัดพิมพ์เอง ทั้งในรูปของสินค้า และหนังสือแจกในงานศพ ทำให้การพิมพ์ และตลาดหนังสือขยายตัวขึ้นมาก นอกเหนือจากโรงพิมพ์ของพวกมิชชันนารีแล้ว เจ้านายที่เป็นคนไทยก็เริ่มตั้งโรงพิมพ์เอง โรงพิมพ์ในยุคนี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่า ๒๐ โรง เช่น โรงพิมพ์ไทย โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ โรงพิมพ์วัชรินทร์ โรงพิมพ์อักษรนิติ์ โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย และโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
      ต่อมาไม่นาน โรงพิมพ์ของสามัญชน เช่น โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ (โรงพิมพ์หน้าวัดเกาะ) ก็ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ เข้าใจว่าในช่วงนี้แท่นพิมพ์และอุปกรณ์การพิมพ์ต่างๆ ถูกสั่งเข้ามาขายมากขึ้นและมีราคาที่ถูกลง
      โรงพิมพ์เหล่านี้เองที่เข้ามาสืบทอดภารกิจการจัดพิมพ์หนังสือสำคัญๆ ของชาติไปจากโรงพิมพ์หลวง และต่อจากนั้นไม่นาน โรงอักษรพิมพการก็ได้ถูกสั่งยุบเลิกไปในปี พ.ศ. ๒๔๓๙

ตัวพิมพ์กับการศึกษาระบบโรงเรียน

  ฝรั่งเศส โดย โรงพิมพ์อัสสัมชัญ พ.ศ. ๒๔๔๑-๒๔๗๐
สังฆราชปาลเลอกัวซ์ ผู้แต่ง สัพะ พะจะนะ พาสา ไท (คลิกดูภาพใหญ่)       ในตอนต้นของรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การส่งเสริมการศึกษายังจำกัดอยู่เฉพาะสำหรับชนชั้นสูง มุ่งให้พระบรมวงศานุวงศ์ และบุตรหลานข้าราชการเข้าฝึกหัดเพื่อรับราชการ แม้จะมีการตั้งกรมศึกษาธิการขึ้นมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ โรงเรียนก็ยังเป็นของวัง และมิชชันนารี มีหน้าที่ผลิตคนเพื่อป้อนข้าราชการให้แก่ระบบราชการและเสมียนให้แก่ห้างร้านเป็นส่วนมาก
 

ระบบการศึกษาแห่งชาติ ความจำเป็นอันรีบด่วน

 สัพะ พะจะนะ พาสา ไท หรือ พจนานุกรมภาษาไทย (คลิกดูภาพใหญ่)       เบื้องหลังการปฏิรูปการศึกษานับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ คือการคุกคามจากประเทศมหาอำนาจตะวันตก สภาพการณ์นี้ได้ทำให้สำนึกความเป็นสยามสั่นคลอนอย่างรุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การเร่งพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญตามเยี่ยงอย่างอารยประเทศ รวมทั้งแนวคิดที่ว่าสยามจะรอดพ้นการคุกคาม และดำรงสถานะรัฐเอกราชต่อไปได้ ก็ด้วยการปรับปรุงการเมืองการปกครองให้รวมศูนย์ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น การรถไฟ และไปรษณีย์ นอกจากจะสร้างขึ้นเพื่อนำความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างๆ แล้ว ยังเป็นการกระชับเครือข่ายการคมนาคมระหว่างส่วนภูมิภาค กับส่วนกลางอีกด้วย ในกระบวนการสร้างชาติที่กล่าวมานี้ เราได้เห็นมาแล้วว่า ตัวพิมพ์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน
      การจัดการศึกษาให้ขยายเป็นระดับชาติก็เช่นกัน กลายเป็นวาระรีบด่วนขึ้นมาหลังกรณี ร.ศ. ๑๑๒ หรือการที่ฝรั่งเศส เคลื่อนทัพเรือเข้ามายังพระนคร และจบลงด้วยการเสียดินแดนบางส่วน การปฏิรูปครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้การศึกษา ซึ่งแต่เดิมอยู่ในความอุปการะของวัด เข้ามาอยู่ในความควบคุมของรัฐโดยตรง และมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
      การกระจายการศึกษาไปสู่สามัญชน ในระยะแรกประสบปัญหาหลายอย่าง จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๑ การปฏิรูปการศึกษาในขอบเขตทั่วประเทศจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง ต่อมาจึงมีการออกพระราชบัญญัติประถมศึกษาในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งกำหนดให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ ๗-๑๔ ปีเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษา รัฐบาลได้ตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๓
 

แบบเรียนเพื่อมวลชนและตัวพิมพ์ใหม่

 อัสสัมชัญอุโฆษสมัย วารสารของ ร.ร.อัสสัมชัญ พ.ศ. ๒๔๕๗ (คลิกดูภาพใหญ่)       ภายใต้แนวคิดเรื่องการนับถือวิชาหนังสือ การศึกษาก็คือ การอ่านออกเขียนได้ การจัดพิมพ์แบบเรียน และตำราจึงขยายตัวออกไปพร้อมกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๔ มีการจัดพิมพ์หนังสือเรียนชุดแบบเรียนหลวง ๖ เล่ม หรือที่รู้จักในนาม มูลบทบรรพกิจ ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เพื่อใช้เป็นแบบเรียนสำหรับโรงเรียนหลวง ซึ่งตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์หนังสือชุดแบบเรียนเร็วขึ้นมาเพื่อใช้แทน มูลบทบรรพกิจ เพราะทรงเห็นว่าชาวบ้านต้องการแบบเรียนที่ง่ายขึ้น และที่สำคัญสามารถเรียนจบเล่มภายในเวลาอันสั้น
      หลังจากแผนการศึกษาใหม่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ จำนวนโรงเรียน และนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่าก้าวกระโดดการพิมพ์แบบเรียนจำนวนมาก เป็นผลโดยตรงจากความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ภารกิจดังกล่าวตกอยู่ในมือของโรงพิมพ์เอกชน โรงพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในด้านนี้ได้แก่ โรงพิมพ์อักษรนิติ์ โรงพิมพ์โสภณพิพรรตธนากร โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ โรงพิมพ์ กรุงเทพฯเดลิเมล์ และโรงพิมพ์พิมพ์ไทย
      ตัวพิมพ์ที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคนี้ ปรากฏอยู่ในแบบเรียนทั้งที่เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดยรัฐและเอกชน ตัวพิมพ์ "วิทยาจารย์" (ชื่อเรียกตาม กำธร สถิรกุล) เกิดขึ้นราวปี พ.ศ. ๒๔๕๒-๒๔๕๕ ในหนังสือเรียนหลายเล่ม เช่น บทเรียนด้วยของ-วิทยาศาสตร์เบื้องต้น (จัดพิมพ์โดยกรมวิชาการ), เลขมูลศึกษา-คณนาวิทยา (กรมวิชาการ), หนังสือสำหรับเด็ก-นายแย็กผู้ฆ่ายักษ์ (กรมราชบัณฑิต) ทั้งหมดนี้เป็นผลงานการพิมพ์ของโรงพิมพ์อักษรนิติ์
      ตัวพิมพ์ชุดนี้มีความหนามากเป็นพิเศษ จุดเด่นคือ สามารถใช้เป็นตัวพาดหัว สำหรับแบบเรียนสำหรับเด็กเล็ก โรงพิมพ์อักษรนิติ์นำตัวนี้มาใช้เป็นตัวพื้นซึ่งปรากฏว่าเหมาะสมดี เพราะมีขนาดใหญ่ และอ่านง่าย ตัวชุดนี้ถูกใช้ในแบบเรียนรุ่นต่อมาอีกหลายเล่ม
 

สำนักคาทอลิกกับก้าวใหม่ของความรู้และตำรา

 หลุยส์ รอมิเออ ผู้แลการสร้างตัวฝรั่งเศษ (คลิกดูภาพใหญ่)       มิชชันนารีนิกายคาทอลิกเป็นสำนักที่ให้ความสำคัญกับหนังสือ และการพิมพ์เสมอมา อันที่จริง นักบวชชาวคริสต์นิกายนี้ เป็นผู้นำเอาการพิมพ์เข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว "มิชชันนารีคริสตัง" เป็นโรงพิมพ์ซึ่งตั้งมาตั้งแต่สมัยนั้น (ต่อมากลายเป็นโรงพิมพ์อัสสัมชัญ) แต่หนังสือที่พิมพ์ในสมัยอยุธยา จะเป็นภาษาต่างประเทศ หรือไม่ก็เป็น "ภาษาวัด" ซึ่งใช้ตัวพิมพ์โรมันแต่อ่านออกเสียงเป็นไทย 
      ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ขณะที่แบรดลีย์กำลังพยายามเผยแพร่สิ่งพิมพ์อยู่นั้น ปาลเลอกัวซ์ สังฆราชของนิกายคาทอลิก ก็กำลังแต่งหนังสือเล่มสำคัญเล่มหนึ่งนั่นคือ พจนานุกรมภาษาไทยที่มีชื่อว่า สัพะ พะจะนะ พาสา ไท
      หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่แต่งโดยสังฆราชปาลเลกัวซ์ คือ ไวยากรณ์ไทย หรือ Grammatica Linguae Thai (๒๓๘๖) หนังสือเล่มนี้บรรจุตัวอักษรทั้งตัวตรง และเอน ตัวเอนเป็นแบบเดียวกับใน สัพะพะจะนะ พาสา ไท แต่ตัวตรงนั้นมีการออกแบบที่แตกต่างออกไป มีลักษณะหลายอย่างคล้ายกับบลัดเล
      ทั้งสองเล่มนี้จัดพิมพ์ขึ้นในประเทศฝรั่งเศส ในเอกสารของโรงพิมพ์แห่งจักรวรรดิ (Imprimerie impซriale) ระบุไว้ว่า ปาลเลอกัวซ์เป็นผู้ดำเนินการจัดทำ โดยมีช่างผู้แกะตัวชื่อ นายแบร์ทรอง เลออูลิเยต์
      หลังจากนั้น โรงพิมพ์อัสสัมชัญได้ถูกจัดตั้งขึ้นและดำเนินกิจการเรื่อยมาปี พ.ศ. ๒๔๓๙ บาทหลวงเวย์ (J.E.Vey) สังฆราชในสมัยนั้น ได้จัดพิมพ์ ศริพจน์ภาษาไทย ซึ่งเป็นพจนานุกรมไทย-ฝรั่งเศส-อังกฤษขึ้น โดยเรียบเรียงจากสัพะ พะจะนะ พาสา ไท และจัดพิมพ์ขึ้นโดยโรงพิมพ์อัสสัมชัญ
 

กำเนิดของ "ฝรั่งเศส" ตัวพิมพ์ไทยยอดนิยม

 ภราดา ฟ. ฮีแลร์ อธิการ ร.ร.อัสสัมชัญ เป็นบรรณาธิการ และผู้จัดทำอัสสัมชัญอุโฆษสมัย (คลิกดูภาพใหญ่)       การศึกษาซึ่งเจริญขึ้นเป็นลำดับทำให้โรงพิมพ์ขยายตัวตาม ระหว่างนี้โรงพิมพ์อัสสัมชัญได้จัดพิมพ์หนังสือหลายเล่ม เช่น คำสอนเด็กนักเรียน แบบเรียนวิชาภูมิศาสตร์และคณิตศาสตร์
      ราวปี พ.ศ. ๒๔๕๖ คณะอัสสัมชัญได้ให้กำเนิดตัวพิมพ์ชุดสำคัญชุดหนึ่งออกมา เข้าใจว่าเป็นตัวพิมพ์ใหม่สำหรับใช้ในโรงพิมพ์ของตนเองโดยเฉพาะ ตัวพิมพ์ชุดนี้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกใน อัสสัมชัญอุโฆษสมัย วารสารรายสี่เดือนของคณะฯ และเป็นที่รู้จักและเรียกกันว่า "ฝรั่งเศส" อันเป็นชื่อที่ใช้กันมาจนสิ้นสุดยุคตัวพิมพ์ตะกั่ว หรืออีกเกือบ ๗๐ ปีต่อมา
      จากการค้นคว้าของ กำธร สถิรกุลตัวพิมพ์ชุดนี้มีชื่อว่าฝรั่งเศส เพราะแม่ทองแดงที่ใช้หล่อตัวพิมพ์ ทำมาจากประเทศฝรั่งเศส สันนิษฐานว่าโครงการนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ หลุยส์ รอมิเออ ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงพิมพ์อัสสัมชัญ (ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๕๖) ส่วนอัสสัมชัญอุโฆษสมัย ในขณะนั้นมีภราดา ฟ. ฮีแลร์ อธิการโรงเรียนอัสสัมชัญเป็นบรรณาธิการ และผู้จัดทำ
      ด้วยความละเอียดประณีตและชั้นเชิงในการออกแบบ ตัวพิมพ์ชุดฝรั่งเศสจึงมีความน่าสนใจ ทั้งในแง่รูปแบบและประโยชน์ใช้สอย อาจกล่าวได้ว่าตัวพิมพ์ชุดนี้มีความสมบูรณ์ที่สุดชุดหนึ่ง บทพิสูจน์ก็คือ ตลอดช่วงเวลาเกือบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา ตัวพิมพ์นี้ก็ยังได้รับความนิยม และคงความทันสมัย
      ผลงานสำคัญของคณะภราดาอัสสัมชัญ เช่น แบบเรียนชุด ดรุณศึกษา ซึ่งแต่งโดย ฟ. ฮีแลร์ (พ.ศ. ๒๔๕๗) มีส่วนวางรากฐานความรู้ และศิลปะวิทยาการของไทยในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก ตัวพิมพ์ชุดนี้ก็เช่นกัน ฝรั่งเศสกลายเป็นตัวที่ได้ชื่อว่ามีความสวยงาม คุณภาพสูง ต่อมาก็แพร่กระจายออกไปและเป็นที่นิยมไปทั่ว

ตัวพิมพ์กับระบอบการปกครองใหม่

  โป้งแซ โดยนายแซ/ โป้งไม้ โดยตงเซียง  พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๘๒
ในยุคแรกตัวพิมพ์ที่ใช้พาดหัวข่าว ใช้วิธีแกะไม้เป็นตัวๆ เช่นเดียวกับตัวพิพ์ wood type ของตะวันตก (คลิกดูภาพใหญ่)       ขณะที่ตลาดหนังสือกำลังเข้มแข็งขึ้นนั้น ตัวพิมพ์ก็ยังถูกดึงไปรับใช้สื่ออีกชนิดหนึ่ง นั่นคือหนังสือพิมพ์ ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในทางปริมาณและคุณภาพ ตลอดสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการออกหนังสือพิมพ์กันอย่างคึกคักทั้งที่เป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายอื่นๆ กว่าร้อย นักประวัติ ศาสตร์บางท่านเรียกยุคนี้ว่า "ยุคทองของหนังสือพิมพ์"
      การเติบโตครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อการรู้หนังสือได้ขยายตัวออกไปในวงกว้าง และกลุ่มข้าราชการ พ่อค้า และไพร่กระฎุมพีขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว คนกลุ่มนี้แม้จะยังมีจำนวนน้อย แต่ก็มีความต้องการข่าวสารทั้งในด้านการค้าและการเมือง และมีกำลังทรัพย์พอที่จะอุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์ได้ ธุรกิจการหนังสือพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้เปลี่ยนมือจากเจ้านาย และชาวต่างประเทศมาอยู่ในมือของพ่อค้า และกระฎุมพีทั้งที่เป็นชาวไทย และจีนสยาม เช่น ศรีกรุง ของนายสุกรีและมานิต วสุวัต บางกอกการเมือง และ ไทยหนุ่ม ของนายหอม นิลรัตน์ ไทยใหม่ ของนายเอก วีสกุล หนังสือพิมพ์เหล่านี้เป็นทั้งสื่อที่เผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชน และเวทีการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
แม่ทองแดงของตัวโป้วแซ เป็นเบ้าหล่อตัวพิมพ์ ขนาด ๔๘ พอยด์ (คลิกดูภาพใหญ่)       ในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ขึ้นครองราชย์ ความขัดแย้งระหว่างความคิดเห็น กลุ่มการเมือง และชนชั้น ได้ขยายตัวไปจนกลายเป็นความไม่พอใจต่อระบบการปกครอง โดยเฉพาะระบบเจ้าขุนมูลนาย เสียงเรียกร้องประชาธิปไตยเริ่มดังขึ้นทีละน้อย การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็ขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น
      เมื่อรัฐบาลประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ กระแสการเรียกร้องทางการเมือง ได้นำไปสู่การปฏิวัติในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ อันนำมาซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
      หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ว่า ภายใต้ระบอบการปกครองใหม่ หนังสือพิมพ์ทั้งที่เป็นรายวันและรายอื่นๆ มีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกหลายฉบับ หนังสือพิมพ์รายวันที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนี้คือ ประมวญวัน และ ประชาชาติ ซึ่งออกจำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ทั้งสองฉบับได้รับความนิยม และมีอิทธิพลต่อแนวทางการเมืองของรัฐบาล และแนวคิดของประชาชนเป็นอย่างมาก
 

ตัวพิมพ์เพื่อสื่อสารกับมวลชน

 โรงหล่อตงเซียม กำเนิดหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (คลิกดูภาพใหญ่)       ความเจริญเติบโตของหนังสือพิมพ์ ส่งผลให้รูปแบบตัวพิมพ์มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อรับใช้สื่อสารมวลชน ตัวพิมพ์ที่หนังสือพิมพ์ต้องการ คือตัวพาดหัวข่าวหรือตัวดิสเพลย์ อันได้แก่ตัวพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองการเสนอข่าวสารของหนังสือพิมพ์รายวัน และการโฆษณาที่จะต้องดึงดูดความสนใจ รวมทั้งแบ่งระดับความสำคัญของข่าวสารข้อมูลให้ชัดเจน
      รูปแบบของตัวพิมพ์รุ่นใหม่ที่เรียกกันว่า "โป้ง" ซึ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ ต่างกับตัวพื้นด้วยขนาดที่ใหญ่กว่ากันมาก และรูปลักษณ์ที่บึกบึนขึงขัง ตัวพิมพ์ดังกล่าว แทนที่จะพูดจาด้วยน้ำเสียงอันราบเรียบ และเป็นทางการ กลับสื่อสารด้วยเสียงดังราวกับตะโกน กล่าวได้ว่าตัวโป้งเป็นตัวแทนของยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ รวมทั้งสังคมการค้า และวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นในขณะนั้น
      หนึ่งในตัวพิมพ์ตระกูลโป้งที่มีชื่อว่า "โป้งแซ" ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นตัวพาดหัวตัวเดียวในขณะนั้น โป้งแซปรากฏเป็นครั้งแรกๆ ใน ไทยหนุ่ม บางกอกการเมือง และประชาชาติ
      โป้งแซมีขนาดเดียวคือ ๔๘ พอยต์ มีสัดส่วนกว้างกว่าตัวพิมพ์ธรรมดา มีเส้นหนา-บางที่แตกต่างกันมากกว่าตัวพิมพ์รุ่นก่อนๆ จุดที่น่าสนใจที่สุดในโป้งแซคือ หัวอักษรซึ่งเป็นวงกลมทึบ และมีคอที่ยื่นยาวออกมา ความสำคัญของโป้งแซอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นตัวพิมพ์ชุดแรกที่ได้ชื่อตามนักออกแบบและผู้แกะแบบ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ยังหาประวัติหรือข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับท่านผู้นี้ไม่ได้
 นาย โง้ว เพ็ก ง้ำ ผู้ก่อตั้ง "ตงเซียม" (คลิกดูภาพใหญ่)       "โป้งใหม่" เป็นตัวโป้งอีกแบบหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน ตัวพิมพ์แบบนี้มีความสวยงามไม่แพ้โป้งแซแต่สูงโปร่งขึ้น และที่น่าสนใจก็คือ ตลอดยุคตัวตะกั่ว โป้งใหม่เป็นที่นิยมใช้มาก มีการผลิตขนาดที่แตกต่างกันถึง ๕ ขนาด คือ ๒๐, ๓๒, ๓๖, ๔๐ และ ๗๒ พอยต์ (สำหรับขนาดใหญ่สุด บางแห่งเรียกว่าโป้งรอง บางแห่งเรียกว่า โป้งไม้บาง) ในช่วงปลายยุคตัวตะกั่ว ตัวพิมพ์ชุดนี้หายหน้าหายตาไปจากวงการราว ๒๐ ปี หลังจากนั้นจึงถูกปรับปรุงเป็นตัวคอมพิวฯ ชื่อ C3 และกลับมาเป็นที่รู้จักในปัจจุบันในชื่อ อีเอซี โกเมน
      ตัวพิมพ์ที่ถูกจัดอยู่ในตระกูลโป้งอีกตัวหนึ่งคือ "โป้งไม้" การที่ตัวพิมพ์ชุดนี้มีชื่อว่า "ไม้" นั้น สันนิษฐานว่าเพราะในช่วงแรกไม่ได้หล่อด้วยโลหะแต่ใช้วิธีแกะไม้เป็นตัวๆ เช่นเดียวกับตัวพิมพ์ wood type ของตะวันตก นับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ โป้งไม้ได้เข้ามาทำหน้าที่พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์รายวันแทนโป้งแซ
      โป้งไม้มีรูปแบบที่พัฒนาคลี่คลายมาหลายขั้นตอน เช่นที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ สุภาพบุรุษ ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ นั้น เข้าใจว่าแกะจากไม้ จึงทำได้ไม่สมบูรณ์ดี ส่วนการเรียงก็ยังโย้เย้ไม่เป็นระเบียบ โดยเฉพาะในยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งกระดาษและอุปกรณ์การพิมพ์อื่นๆ ขาดแคลนมาก หลังสงครามมีการหล่อตัวนี้เป็นตัวตะกั่ว โป้งไม้จึงปรากฏรูปโฉมที่งดงามลงตัวและสามารถเรียงได้อย่างมีระเบียบ
      รูปแบบของโป้งไม้ได้รับอิทธิพลจากตัวพิมพ์ที่ชื่อ fat face ซึ่งเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และ Bodoni ซึ่งเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ลักษณะที่คล้ายกัน ได้แก่ มีขา หรือ เส้นตั้งที่หนามาก เส้นนอนบาง โค้ง และมีปลายมน หัวมีรูปร่างเหมือนวงรีครึ่งซีก อย่างไรก็ตามโป้งไม้ยังมีข้อบกพร่องในอักษรบางตัวโดยเฉพาะตัวที่มีหัวกลาง เช่น ด เด็ก ค ควาย ต เต่า
 

กำเนิดของโรงหล่อตัวพิมพ์

 โรงหล่อตัวพิมพ์ตงเซียม กำเนิดจากหนังสือพิมพ์จีน มินก็กยิดป่อ (คลิกดูภาพใหญ่)       ในขณะที่ธุรกิจการพิมพ์พัฒนาเติบใหญ่ขึ้น โรงพิมพ์ใหญ่ๆ ในยุคนี้ก็สามารถผลิตตัวพิมพ์ได้เอง โรงพิมพ์บางโรง เช่น ห้างสมุด จัดจำหน่ายตัวพิมพ์ตะกั่วให้แก่โรงพิมพ์อื่นๆ ด้วย
      บัดนี้ ตัวพิมพ์ไทยก้าวมาถึงจุดที่มีตัวพื้นให้เลือกใช้ราวห้าหกชุด และมีขนาดต่างๆ กันชุดละสองสามขนาด ตัวหนาที่มีในขณะนั้นมีขนาดใหญ่ไม่เกิน ๒๔ พอยต์ ตัวพื้นเองก็มีการปรับปรุงให้มีขนาดเล็กลงเพื่อประหยัดเนื้อที่และจัดวางได้สวยงามขึ้น สิ่งที่น่าสนใจคือเริ่มมีตัวพิมพ์แบบเอนหรือ italic กำธร สถิรกุล บันทึกไว้ว่า พบครั้งแรกในหนังสือพระราชนิพนธ์บทละครของรัชกาลที่ ๖ พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรในปี พ.ศ. ๒๔๖๘
      ในยุคเดียวกัน เกิดมีอาชีพช่างฝีมือที่เรียกกันว่า ช่างแกะ ช่างกลุ่มนี้เปิดห้างร้านรับจ้างแกะแบบ หล่อตัวพิมพ์ และนำไปจำหน่ายแก่โรงพิมพ์ ดังจะเห็นได้จากแจ้งความโฆษณาของนายแซ ช่างแกะตัวพิมพ์ ซึ่งลงในนิตยสาร รวมข่าว ในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๐ 
      การแยกกิจการเกี่ยวกับตัวพิมพ์ออกมาจากโรงพิมพ์ ถือเป็นพัฒนาการขั้นหนึ่ง ข้อความในโฆษณาชิ้นนี้ นอกจากจะบอกว่า "โป้ง" เป็นชื่อของกลุ่ม หรือตระกูลตัวพิมพ์ที่มีสไตล์ และขนาดที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ชื่อของตัวพิมพ์แบบใดแบบหนึ่ง หรือขนาดใดขนาดหนึ่งแล้ว ยังชี้ให้เห็นด้วยว่ากิจการของนายแซ ศิลปินช่างแกะผู้นี้ เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
        ในช่วงเวลาเดียวกัน โรงหล่อตงเซียมซึ่งในเวลาต่อมา จะกลายเป็นโรงหล่อตัวพิมพ์ชื่อดังก็กำเนิดขึ้น ประวัติของตงเซียมน่าสนใจตรงที่มีความเกี่ยวพันกับการเมืองไทยในขณะนั้นพอสมควร
      ผู้ก่อตั้งตงเซียมชื่อ โง้ว เพ็ก ง้ำ เป็นชาวจีนสยามซึ่งเดินทางเข้ามาเมืองไทยเมื่ออายุ ๒๐ ปี เขาเริ่มต้นเข้าสู่วงการในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ด้วยการเป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนฝ่ายก๊กมินตั๋ง โง้ว เพ็ก ง้ำ ดำเนินกิจการนี้ต่อมาเป็นเวลาอีกสิบกว่าปี กลายเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ภาษาจีนหลายฉบับเช่น กัวมินยิดป่อ มั่งกกซิงซีป่อ และหนังสือพิมพ์ไทยอีก ๒ ฉบับ
      เมื่อกิจการหนังสือพิมพ์จีนเริ่มขึ้น โง้ว เพ็ก ง้ำ เห็นความจำเป็นในการผลิตตัวพิมพ์ภาษาจีนขึ้นเพื่อใช้เอง อาศัยเครื่องจักรและแม่ทองแดงจากเมืองจีน เขาตั้งโรงหล่อตงเซียม และจำหน่ายตัวพิมพ์แก่โรงพิมพ์อื่นๆ ต่อมาก็หันมาผลิตตัวพิมพ์ภาษาไทย รวมทั้งสั่งเครื่องหล่อตัวพิมพ์ และแท่นพิมพ์เข้ามาจำหน่าย
 ห้องเรียงพิมพ์ของ มินก็กยิดป่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ (คลิกดูภาพใหญ่)       หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ การเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นของชาวจีนในเมืองไทย ทวีความเข้มข้นขึ้น จนทำให้รัฐบาลไทยหวาดระแวง เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เขาได้เริ่มดำเนินนโยบายปราบปราม และกดดันชาวจีนในเมืองไทย นโยบายนี้ทำให้มีการปิดหนังสือพิมพ์ของชาวจีน และโรงเรียนจีนจำนวนมาก ในช่วงนี้หนังสือพิมพ์ของ โง้ว เพ็ก ง้ำ จึงถูกสั่งปิดหลายครั้ง
      หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โง้ว เพ็ก ง้ำ ยุติธุรกิจการทำหนังสือพิมพ์ และหันมาดำเนินกิจการโรงหล่อตัวพิมพ์อย่างจริงจัง กิจการการพิมพ์และหนังสือพิมพ์ไทยหลังสงครามโลกนั้นเฟื่องฟูขึ้นเป็นอันมาก ตงเซียมจึงกลายเป็นแหล่งตัวพิมพ์ที่โรงพิมพ์ทั้งหลายพึ่งพา มีทั้งมาซื้อตัวเรียง และจ้างเรียง ต่อมาได้กลายเป็นโรงหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และดำเนินกิจการเรื่อยมาจนสิ้นสุดยุคตะกั่ว
      หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง การขยายตัวของธุรกิจการพิมพ์ทั้งที่ทำโดยรัฐและเอกชน นอกจากจะสำรวจได้จากปริมาณหนังสือ หนังสือพิมพ์ และจำนวนโรงพิมพ์ที่กระจายไปสู่จังหวัดต่างๆ อย่างมากมายแล้ว ยังอาจสังเกตได้จากการเปิดสอนวิชาช่างพิมพ์ เพื่อผลิตช่างพิมพ์ด้วย โรงเรียนที่ตั้งขึ้นเพื่อเปิดสอนวิชานี้ เป็นการเฉพาะเป็นโรงเรียนแรกคือ โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่ถนนพระสุเมรุ ริมคลองบางลำพู

  อ่านต่อคลิกที่นี้คลิกอ่านต่อ