นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ "โกมล คีมทอง ครูของแผ่นดิน"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

จากบรรณาธิการ

 

 (คลิกดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า
แอบดู ฉากรักของสัตว์โลก
     "ข้าพเจ้ากลัวในความต้องการของตัวเอง ความไม่รู้จักเพียงพอ ความไม่รู้จักจบสิ้น กลัวที่จะต้องตามสังคม เขามีเช่นไรข้าพเจ้าจะต้องตะเกียกตะกายหาให้มีเท่าและเหมือน สังคมมีสิ่งฟุ่มเฟือย ตกแต่งมากเท่านี้ ข้าพเจ้าจะต้องมีตาม สังคมมีเหรียญตรา มียศ และขั้นเท่านั้น ข้าพเจ้าจะต้องไล่กวดตาม ชีวิตสันโดษ พอใจแค่เฉพาะที่มี และความมักน้อยจะหมดไปหรือนี่"

โกมล คีมทอง


     หากสวนดุสิตโพลทำการสำรวจว่า คนไทยเคยได้ยินชื่อ โกมล คีมทอง หรือไม่ ผมเชื่อว่า คงมีไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซนต์
     และในจำนวนคนที่เคยได้ยินชื่อ ก็ไม่แน่ใจว่า โกมล คีมทอง เป็นชื่ออะไรกันแน่
     เพื่อนรุ่นน้องของผมบอกว่าเป็นชื่อมูลนิธิ บ้างบอกว่าเป็นชื่อร้านหนังสือ บางคนบอกว่าเป็นเอ็นจีโอ และหลายคนยืนยันว่าโกมลยังมีชีวิตอยู่
     คงมีไม่มากที่จะรู้ดีว่า โกมล คีมทอง เป็นครูบ้านนอกคนหนึ่ง และเสียชีวิตไปสามสิบสองปีแล้ว
     โกมล คีมทองเป็นเด็กโรงเรียนสวนกุหลาบ ก่อนจะสอบเอ็นทรานซ์เข้ามาเป็นนิสิตคณะครุศาสตร์ แห่งรั้วจามจุรี ในปีพ.ศ. ๒๕๐๙ 
     ยุคสมัยที่สังคมมหาวิทยาลัย ยังยึดติดกับค่านิยมแห่งความฟุ้งเฟ้อ หนุ่มสาวสนใจแต่เรื่องของตัวเอง และความสุขสบายส่วนตัว ลีลาศงานบอลล์และฟุตบอลประเพณี จึงเป็นกิจกรรมสำคัญของปัญญาชน
     บรรยากาศในเวลานั้น อาจจะไม่แตกต่างจากบรรยากาศในรั้วมหาวิทยาลัยปัจจุบัน
     แต่โกมล ไม่ได้ถูกกระแสสังคมพัดพา ตลอดเวลาที่เรียนหนังสือ โกมลเป็นนิสิตที่อาจารย์ทุกคนรักมาก ด้วยลักษณะของผู้คงแก่เรียนอย่างแท้จริง
     สุมน อมรวิวัฒน์ อาจารย์คณะครุศาสตร์เคยพูดถึงเขาไว้ว่า
     " ลักษณะของผู้คงแก่เรียน (Scholar) คือเป็นคนที่ใคร่รู้ใคร่เรียน ปรารถนาจะหาคำตอบในสิ่งที่เขายังไม่รู้ และปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะติดต่อสื่อความหมายแก่ผู้อื่น ทั้งการพูดและการเขียน ซึ่งในตัวของนายโกมล คีมทอง มีอยู่ครบถ้วน เขาเป็นนักคิด นักศึกษา นักปฏิบัติ และยังเป็นนักสนทนา และนักเขียนอีกด้วย "

       ไม่เพียงเท่านั้น ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยสี่ปี เขาอุทิศให้กับกิจกรรมการออกค่ายอาสาพัฒนา ไปเรียนรู้ชีวิตของคนยากคนจน เห็นปัญหาการขาดแคลนครูในชนบทอันห่างไกล สวนทางกับกิจกรรมส่วนใหญ่ของนิสิต นักศึกษาในเวลานั้น
     สุดท้ายเมื่อจบเป็นบัณฑิต โกมล คีมทองเลือกหนทางเดินของตัวเองที่ตั้งใจไว้ คือออกจากเมืองกรุง สละความสุขส่วนตัว เดินทางลึกเข้าไปในท้องถิ่นทุรกันดาร เป็นครูสอนหนังสือให้แก่เด็กที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา อำเภอบ้านส้อง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดินแดนสีชมพูที่ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งอย่างรุนแรง ระหว่างฝ่ายรัฐบาล และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
     แต่โกมล ใช้ชีวิตเป็นครูในอุดมคติได้ไม่ถึงปี ก็ถูกลอบสังหารพร้อมกับคุณรัตนา สกุลไทย บัณฑิตอักษร จุฬาฯรุ่นพี่ที่เดินทางไปช่วยสอนหนังสือ ด้วยฝีมือของคนในป่าที่เข้าใจผิดคิดว่า ทั้งสองคนเป็นสายให้กับทางการ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔
     โกมลตายอายุยังไม่ครบ ๒๕ ปี แต่ได้ส่งผลสะเทือนให้กับปัญญาชนในยุคนั้น และกลายเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับคนหนุ่มสาวหลายคน เลือกทางเดินเพื่อทำงานเสียสละให้กับสังคม และคนยากไร้ ในเวลาต่อมา
     โกมล คีมทอง ได้กลายเป็นบุคคลในอุดมคติของนิสิต นักศึกษาจำนวนมาก และ มีส่วนทำให้พลังของขบวนการนักศึกษาในเวลาต่อมาเข้มแข็งมากขึ้น จนสามารถยืนหยัดขึ้นต่อสู้อำนาจเผด็จการได้ ในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
     โกมล คีมทอง ไม่ใช่นักคิดผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่นักทฤษฎีที่ตกผลึกทางความคิดอย่างชัดเจน และไม่เคยได้รับการยกย่องให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่น ของโรงเรียนสวนกุหลาบ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเป็นเพียงครูเล็ก ๆ ธรรมดาคนหนึ่ง ที่กล้าหาญพอที่จะเลือกเส้นทางเดินชีวิตอย่างที่เขาเลือก แม้ว่าจะเป็นชีวิตที่สวนกระแสสังคมส่วนใหญ่ และยิ้มรับกับชะตากรรมที่เขาเลือก
     ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สอนให้รู้ว่า สังคมไทยขาดคนกล้าเสมอ 
     "สิ่งที่สาธุชนทำลงไว้ ถึงจะเล็กน้อย ก็ยั่งยืนเหมือนรอยที่จาฤกไว้ในศิลา
     สิ่งที่ชนต่ำช้าทำลงไว้ ย่อมพินาศไปโดยเร็ว เหมือนรอยที่ขีดลงในน้ำ"

วยาการณศตกะ                 

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com