นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ "โกมล คีมทอง ครูของแผ่นดิน"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

สีสันแห่งชีวิตในป่าฝนเขตร้อน ที่ฮาลา-บาลา

  เรื่องและภาพ : วีระวัช ศรีสุข
        เช้าตรู่กลางผืนป่า อากาศเย็นสดชื่น ผมยืนอยู่บนเนินเขาทอดตาลงไปยังหุบเบื้องล่าง ไอหมอกยังคงปกคลุมอยู่ทั่วทั้งป่า แลเห็นเพียงเรือนยอดไม้โผล่พ้นสายหมอกขาวนวล ต้นยวนสูงตระหง่านโดดเด่นอวดทรวดทรงกิ่งก้านที่งดงามท่ามกลางทิวไม้น้อยใหญ่ ชะนีดำใหญ่กู่ร้องก้องสะท้อนกังวานตอบกันไปมา ผสมผสานเสียงร้องของนกเงือกหัวแรดที่แว่วมาจากเขาลูกไกลออกไป...
      ไม่นานนัก ดวงอาทิตย์ก็โผล่พ้นทิวเขา สาดลำแสงทาบทาสายหมอกให้ค่อย ๆ จางหายไป เผยให้เห็นแนวป่าอันเขียวขจีของป่าฝนเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
  ๑.
(คลิกดูภาพใหญ่)       เช้าแรกหลังจากการเดินทางยาวนานกว่า ๑๕ ชั่วโมง อากาศชื้นฉ่ำบริสุทธิ์และสีเขียวสดใสของผืนป่า เป็นเหมือนรางวัลตอบแทนความเหนื่อยล้าจากการเดินทางไกล
      ระยะทาง ๑,๓๐๐ กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าลงใต้ ทำให้ต้องออกเดินทางแต่เช้ามืด เริ่มต้นเมื่อเข็มสั้นบนหน้าปัดนาฬิกาชี้ไปที่เลข ๔ มันวนมาครบรอบที่เลข ๔ อีกหนในช่วงเย็นเมื่อการเดินทางก้าวหน้ามาถึงจังหวัดปัตตานี และล่วงเลยมาถึงเลข ๗ ในช่วงหัวค่ำเมื่อมาถึงสถานีวิจัยสัตว์ป่า-ป่าพรุ-ป่าฮาลา-บาลา ซึ่งตั้งอยู่ในอาณาเขตอันกว้างใหญ่ของฮาลา-บาลา- -ป่าผืนใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่ใต้สุดของไทยติดต่อกับประเทศมาเลเซีย และดินแดนซึ่งจัดเป็นส่วนหนึ่งของป่าฝนเขตร้อนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน
      ป่าฝนเขตร้อน หรือป่าดงดิบชื้น (tropical rain forest) จัดเป็นป่าที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากที่สุดของโลก กล่าวกันว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่พบบนโลกจะพบได้ในป่านี้ แต่ความสำคัญของมันไม่ได้อยู่ที่การเป็นบ้านของพืชและสัตว์เท่านั้น หากการดำรงอยู่ของป่าฝนเขตร้อนยังมีผลโดยตรงต่ออนาคตของโลกด้วย จากการที่มันช่วยควบคุมสมดุลในบรรยากาศ และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำที่สำคัญที่จะทยอยปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำลำธาร รวมทั้งคายความชื้นสู่บรรยากาศให้กลายเป็นเมฆฝน แต่ก็เช่นเดียวกับแหล่งธรรมชาติอื่น ๆ ทุกวันนี้ป่าฝนเขตร้อนกำลังตกอยู่ในสภาวะอันตรายสูงสุด จากฝีมือมนุษย์ที่พอใจกับผลประโยชน์ระยะสั้นที่ได้รับจากการทำลายป่า
      ปัจจุบัน โลกเรามีป่าฝนเขตร้อนขนาดใหญ่เหลืออยู่ไม่กี่แห่ง เช่นในแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ป่าฝนเขตร้อนที่จัดว่าดีที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น คงต้องยกให้ป่าฝนบนเกาะบอร์เนียว เกาะที่ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนตามการครอบครองของสามประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน พื้นที่ซึ่งเป็นเกาะบอร์เนียวปัจจุบันนี้ เดิมเคยเชื่อมเป็นผืนเดียวกับพื้นที่ประเทศมาเลเซียที่มีพื้นที่ติดกับภาคใต้ของไทย แต่การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนได้แยกเกาะบอร์เนียวออกจากแผ่นดินใหญ่ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่เคยแพร่กระจายขึ้นมาถึงพื้นที่ภาคใต้ของไทย จึงถูกโดดเดี่ยวและมีวิวัฒนาการเป็นของตัวเอง
(คลิกดูภาพใหญ่)       ฮาลา-บาลา ผืนป่าดงดิบชื้นติดชายแดนไทย-มาเลเซีย จึงนับเป็นตัวแทนที่หลงเหลืออยู่ของป่าฝนเขตร้อน ความสำคัญยิ่งของป่าแห่งนี้ไม่ได้อยู่ที่ความเป็นป่าฝนซึ่งอาจพบได้ในพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นเพียงพอ หากอยู่ที่พืชพรรณและสัตว์ป่าซึ่งมีความคล้ายคลึงกับที่พบในเขตป่าฝนของมาเลเซียที่นับเป็นป่าฝน ๑ ใน ๔ แห่งใหญ่ของโลก มีชื่อเรียกว่า ป่าฝนอินโด-มาลายัน (Indo-Malayan rain forest) อันเป็นเขตป่าฝนที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นเขตป่าฝนที่แท้จริง 
      สถานีวิจัยสัตว์ป่า-ป่าพรุ-ป่าฮาลา-บาลา เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่หลักในการสำรวจเก็บข้อมูล และศึกษาพฤติกรรมสัตว์ป่ารวมทั้งพันธุ์พืชนานาชนิด ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา เมื่อเดินทางมาถึง ผมเข้าไปกล่าวสวัสดีและแจ้งการมาถึงกับเจ้าของสถานที่ คือ หัวหน้าสถานีวิจัยฯ คุณศิริพร ทองอารีย์ หรือ "พี่พร" สตรีร่างเล็กผู้บุกเบิกก่อตั้งสถานีวิจัยฯ แห่งนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙
      ผมมีเวลาสำหรับการทำงานในป่าแห่งนี้ ๑๐ วัน เป้าหมายในการเดินทางครั้งนี้ คือการค้นหาและถ่ายภาพสัตว์ป่าเล็กใหญ่ตั้งแต่แมลงตัวจิ๋วไปจนถึงลิงค่างที่เป็นสัตว์เฉพาะถิ่น ไม่สามารถพบเห็นได้ ณ ที่อื่นใดของเมืองไทย โดยเฉพาะบรรดานกเงือกขนาดใหญ่ที่สวยงามโดดเด่นเปรียบประดุจสีสันของป่าฝน นกเงือกของที่นี่เป็นชนิดพันธุ์ที่พบเห็นได้ในป่าฝนของประเทศมาเลเซียและบนเกาะบอร์เนียว อย่าง นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill; Buceros rhinoceros) นกชนหิน (Helmeted Hornbill; Rhinoplax vigil) และนกเงือกอีกหลายชนิดก็มีแหล่งอาศัยอยู่เฉพาะพื้นที่ทางใต้สุดของไทยเท่านั้น 
      ผมมาที่นี่ในเดือนเมษายนซึ่งเป็นฤดูร้อน และเป็นช่วงที่นกเงือกถิ่นใต้ทุกชนิดเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ หาโพรงไม้ที่เหมาะสมในการทำโพรงรังเพื่อฟักไข่ เลี้ยงดูลูก โพรงรังเหล่านี้พวกมันไม่สามารถเจาะขึ้นได้เอง แต่เป็นโพรงที่สัตว์อื่นได้สร้างไว้ เช่นโพรงเก่าของผึ้งหรือนกหัวขวานขนาดใหญ่ รวมถึงโพรงจากปุ่มตาของต้นยวนสูงใหญ่ซึ่งเหล่านกชนหินนิยมใช้เป็นโพรงรัง คนที่เข้าป่าในช่วงนี้จึงมักจะได้เห็นนกเงือกหลายชนิดบินออกหากินเป็นคู่ ๆ เว้นแต่บางคู่ที่หาโพรงรังได้และตัวเมียขังตัวเองอยู่ในโพรงรังเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะนกเงือกหัวแรด เจ้าของโหนกสีแดงสดงอนขึ้นคล้ายนอแรดที่ตั้งอยู่บนจะงอยปากเรียวยาวใหญ่สีเหลือง ซึ่งจะจับคู่เข้าโพรงรังเร็วกว่านกเงือกชนิดอื่น ๆ และด้วยเหตุนี้ นกเงือกหัวแรดจึงเป็นนกชนิดแรกที่ผมได้ไปเฝ้าดูพฤติกรรมของพวกมัน
(คลิกดูภาพใหญ่)       ผืนป่าในตอนเช้าตรู่ยังคงเปียกชุ่มด้วยน้ำค้าง ทากดูดเลือดเจ้าถิ่นพากันชูคอสลอน เมื่อประสาทสัมผัสจับแรงสั่นสะเทือน และคลื่นความร้อนจากเหยื่อของมันได้ บังไพรสำหรับเฝ้าติดตามพฤติกรรมและถ่ายภาพถูกสร้างไว้แล้วโดยเจ้าหน้าที่ของสถานีวิจัยฯ ลักษณะเป็นโครงไม้คลุมด้วยผ้าใบสีเขียว ภายในมีแผ่นไม้กระดานวางพาดอยู่บนท่อนไม้ให้นั่งเฝ้าได้สะดวก ด้านหน้าเป็นต้นไม้สูงลิ่ว ผมแหงนมองขึ้นไปตามลำต้นอวบใหญ่ เห็นช่องโพรงเรียวยาวในแนวดิ่งอยู่กลางลำต้น สูงจากพื้นดินไม่ต่ำกว่า ๓๐ เมตร โพรงรังนี้ตอนแรกจะกว้างเพียงแค่ให้นกตัวเมียเบียดตัวเข้าไปได้ หลังจากนั้นตัวเมียจะใช้เศษไม้เศษดินปิดปากโพรงไว้ให้เหลือเพียงช่องแคบ ๆ พอให้ตัวผู้ยื่นจะงอยปากเข้าไปป้อนอาหารได้เท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันตัวมันและลูกนกที่เกิดใหม่จากศัตรูตามธรรมชาติ ถัดลงมาจากช่องโพรงนิดเดียวมีปุ่มตายื่นออกมาเหมาะสำหรับจับเกาะเมื่อตัวผู้เข้าป้อนอาหาร 
      หลังจากผมและเจ้าหน้าที่ที่ไปด้วยกันหลบเข้าบังไพรได้ไม่นาน เสียงเฟี้ยวยาวอันเกิดจากการเสียดสีระหว่างแผ่นปีกกับมวลอากาศ ก็ดังขึ้นราวกับเป็นสัญญาณให้เราเตรียมตัวรับการมาถึงของนกเงือกหัวแรดเพศผู้ 
      ชัตเตอร์กล้องถ่ายภาพลั่นระรัว จับจังหวะท่วงท่าการขย้อนลูกไทรหลุดออกมาจากลำคอ ไหลกลิ้งมาตามร่องจะงอยปากล่างอย่างรวดเร็วคล้ายจะร่วงหล่นสู่พื้น แต่ก็ถูกคีบไว้ตรงปลายจะงอยที่เล็กแหลมอย่างแม่นยำก่อนจะส่งเข้าโพรงรังให้ตัวเมียที่รอรับอยู่ สำหรับนกเงือกแล้ว ภาระการหาอาหารในช่วงเวลาสำคัญนี้ตกอยู่กับตัวผู้เท่านั้น มันจะออกหาลูกไม้อย่างลูกไทรทีละหลาย ๆ ลูก กลืนเก็บไว้ในกระเพาะพักบริเวณหลอดอาหาร จากนั้นจึงบินกลับมาที่รังแล้วค่อย ๆ ขย้อนออกมาป้อนให้ตัวเมีย หากยังไม่อิ่ม มันก็จะบินกลับไปหามาให้ใหม่ ระหว่างนี้ตัวเมียจะไม่ออกจากรังเลย ฝากชีวิตไว้กับคู่ของมันเท่านั้น ดังนั้นหากตัวผู้ถูกฆ่าตาย ตัวเมียรวมทั้งลูกในโพรงรังก็จะพลอยอดตายไปด้วย 
      ไทรลูกแล้วลูกเล่าถูกขย้อนออกมาอย่างต่อเนื่องจนถึงไทรลูกสุดท้าย นกเงือกหัวแรดตัวผู้ที่เพิ่งป้อนลูกไทรให้คู่ของมันเสร็จ จึงหันมาเพ่งมองแขกที่ไม่ได้รับเชิญอย่างเราด้วยดวงตาสีแดงก่ำอันเป็นสัญลักษณ์ของนกเพศผู้ (เพศเมียจะเป็นสีขาว) ก่อนจะโผบินออกไปทางด้านตรงข้ามกับทิศทางตอนโผเข้ามา คงด้วยความที่มันคุ้นเคยกับผู้คนจึงไม่ตื่นตกใจนัก แม้จะรู้ว่ามีคนมาเฝ้าดูพฤติกรรมของมันอยู่ใกล้โพรงรัง การถ่ายภาพครั้งนี้จึงเป็นการถ่ายภาพนกเงือกที่สบาย ๆ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการถ่ายภาพนกเงือกกรามช้างอีกรังหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมรู้ซึ้งถึงความเฉลียวฉลาดและสายตาที่เฉียบคมของพวกมัน 
(คลิกดูภาพใหญ่)       นกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbill; Rhyticeros undulatus) เป็นนกเงือกขนาดใหญ่อีกชนิดหนึ่งที่ไม่มีโหนกหนาบนจะงอยปากเหมือนนกเงือกหัวแรด แต่เอกลักษณ์ที่สะดุดตาของมันอยู่ที่ถุงใต้คอซึ่งมีสีสันสวยงาม สีของถุงใต้คอนี้ใช้แยกแยะระหว่างนกเพศผู้และเพศเมีย ถ้าถุงใต้คอเป็นสีเหลืองสดก็เป็นตัวผู้ ถ้าสีฟ้าก็เป็นตัวเมีย นอกจากนี้ที่จะงอยปากยังมีรอยหยัก ที่สามารถใช้บ่งบอกอายุของพวกมันได้ตามจำนวนรอยหยักที่เกิดขึ้น เราสามารถพบนกเงือกชนิดนี้ได้ทั่วประเทศ ในบริเวณที่ผืนป่ายังอุดมสมบูรณ์อยู่ เช่นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือผืนป่าตะวันตกทั้งห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร 
      พี่พรให้ "สุวิทย์" ลูกน้องคนหนึ่งที่เชี่ยวชาญพื้นที่ป่าแถวนี้เป็นอย่างดี เป็นผู้นำทางผมไปยังตำแหน่งที่ตั้งของรังนกเงือกกรามช้าง ที่ตัวเมียเพิ่งเข้าโพรงรังไปไม่นานนัก พี่พรไม่ค่อยให้ใครเดินป่าตามลำพังโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ประกบไปด้วย เพราะห่วงว่าอาจจะเกิดอันตรายจากทั้งสัตว์ป่าและบุคคลที่ไม่ประสงค์ดี ก่อนหน้านี้ลูกน้องของพี่พรก็เพิ่งเผชิญหน้ากับเสือโคร่งตรงจุดที่ไม่ห่างจากรังนกเงือกมากนัก 
      บังไพรที่ใช้คราวนี้เป็นบังไพรผ้าลายพรางทรงเหลี่ยม มีช่องสำหรับเลนส์ถ่ายภาพอยู่ตรงกลาง ปลายเชือกจากสี่มุมของบังไพรถูกดึงไปผูกกับกิ่งไม้ พอเอากิ่งไม้ใบไม้มาคลุมทับอีกชั้นมันก็ดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเป็นอันดี แต่หลังจากเราเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในบังไพร เฝ้ารอเงียบ ๆ ตั้งแต่เช้าจนเที่ยง กลับได้ยินแต่เสียงนกกรามช้างตัวผู้ที่บินวนเวียนอยู่แถวรัง ไม่ยอมเข้าป้อนตัวเมียแต่อย่างใด หลังเที่ยงผมจึงออกจากบังไพรกลับที่พักเพื่อให้นกเข้าป้อนบ้าง พยายามคิดหาสาเหตุที่ทำให้มันหวาดระแวง จนไม่กล้าเข้ารังเพื่อหาทางแก้ไขสำหรับการมาเฝ้าในวันรุ่งขึ้น 
      วันต่อมา เราพยายามอีกครั้งโดยเข้าบังไพรให้เช้าขึ้นและอย่างเงียบกริบ เพื่อไม่ให้นกตัวผู้ที่อยู่แถวรังรู้ตัว แต่หลังจากรออยู่ครึ่งวัน ผลที่ออกมาก็เหมือนเดิมจนต้องถอยกลับ เมื่อได้คุยปรึกษากับเจ้าหน้าที่และนักวิจัยสัตว์ป่า ทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อาจเป็นเพราะนกเงือกกรามช้างเป็นนกเงือกที่มีความระแวดระวังภัยมาก เมื่อเทียบกับนกเงือกชนิดอื่น 
(คลิกดูภาพใหญ่)       คำตอบแท้จริงได้มาเมื่อ "กล้า" เด็กหนุ่มที่มาทำวิจัยเกี่ยวกับค้างคาว อาสาเข้าไปเฝ้าสังเกตพฤติกรรมจากอีกด้านหนึ่งอยู่ครึ่งวัน เพื่อหาคำตอบว่าทำไมนกตัวผู้จึงไม่กลับเข้ารัง เขาพบว่าหลังจากเราออกจากบังไพรแล้ว นกตัวผู้เข้าป้อนอาหารให้ตัวเมียเป็นปรกติ แต่ก็เพ่งมองมาที่บังไพรอยู่เป็นระยะ เมื่อมองตามจึงพบสาเหตุของความหวาดระแวงที่เราไม่คาดคิดกันมาก่อน นั่นคือเลนส์ถ่ายภาพที่โผล่ออกมาจากบังไพร เราลืมนึกกันไปว่า โดยทั่วไปนกนั้นมีสายตาที่เฉียบคมกว่ามนุษย์หลายเท่านัก ยิ่งเมื่อบวกกับความระแวงภัยสูงของนกชนิดนี้ด้วยแล้ว คงเป็นเรื่องยากที่เราจะเข้าถึงตัวมัน ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องยกเลิกการถ่ายภาพนกเงือกกรามช้างไปโดยปริยาย
      ...................................................
      วันต่อมาเราเลือกไปดักรอถ่ายภาพบริเวณต้นไทร--แหล่งอาหารสำคัญของสัตว์นานาชนิดในป่าฝน ขณะนั้นลูกไทรกำลังสุกงอม นกเงือกหลายชนิดผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามากินตั้งแต่เช้ามืด 
พอสาย บรรยากาศสดใสขึ้นด้วยแสงแดดอ่อนๆ นกชนหินคู่หนึ่งก็บินตามกันเข้ามาที่ต้นไทร เราคิดในใจว่าคงได้เห็นฉากรักของนกคู่นี้กันบ้าง แต่ไม่ทันไร นกชนหินตัวผู้อีกตัวก็บินเข้ามาสมทบ และเปลี่ยนฉากรักธรรมดา ๆ ให้กลายเป็นรักสามเส้าไปในทันที ตัวผู้ตัวแรกผละจากตัวเมียบินเข้าโจมตีนกเงือกคู่แข่ง และไล่ตามตีเข้าไปในราวป่า โดยมีตัวเมียบินตามไปติด ๆ ครู่ใหญ่ เราก็ได้เห็น "มือที่สาม" ถูกเจ้าตัวผู้ตัวเดิมไล่ตีออกมาอย่างปราชัย ...แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ยอมเลิกลาง่าย ๆ 
      วันถัดมา เราได้เห็นนกชนหินคู่เดิมอีกครั้งบนยอดไม้เหนือหุบที่รกทึบ มันเกาะเคียงคู่กันอยู่บนกิ่งไม้ ในปากของนกตัวผู้มีร่างยาว ๆ ของสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง ที่มันเพียรพยายามยื่นป้อนอย่างสุภาพให้ตัวเมียอยู่นาน แต่เจ้าหล่อนยังคงเฉยชาเล่นตัว ดูความพยายามของตัวผู้เพื่อพิสูจน์ความรักต่อ โดยการบินหนีไปเกาะยังต้นไม้อีกต้น เจ้าตัวผู้ไม่ละความพยายาม ยังคงคาบเหยื่อตามมาป้อนด้วยกิริยาอันอ่อนโยน จนในที่สุดตัวเมียก็รับอาหารชิ้นสำคัญนั้นจนได้ การยอมรับอาหารนั้นน่าจะหมายถึงการตกลงปลงใจ เพราะหลังจากนั้นมันก็พากันบินหายเข้าไปในป่าทึบ 
      เรื่องน่าจะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้งเพียงเท่านั้น แต่จู่ ๆ นกชนหินตัวผู้อีกตัวก็บินร่อนถลามาอย่างรีบร้อน เล็งดูกันแล้วก็เห็นว่าเป็นเจ้า "มือที่สาม" ตัวเดิมนั่นเอง มันพุ่งตัวเข้าสู่ดงทึบที่นกชนหินคู่นั้นบินหายเข้าไป แต่สักครู่มันก็บินกลับออกมาแล้วถลาเข้าไปใหม่ เป็นเช่นนี้อยู่สองสามรอบ ก่อนจะบินกลับหายไปทางเดียวกับตอนมา สำหรับปีนี้มันคงหมดหวัง ต้องเปลี่ยวเหงาไร้คู่ต่อไป รอคอยฤดูผสมพันธุ์ปีหน้า มันอาจได้เจอนกสาวที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ถึงวันนั้นเวลาคงทำให้มันแข็งแกร่งพอที่จะต่อสู้เอาชนะนกเพศผู้ตัวอื่น ๆ เพราะธรรมชาติจะคัดสรรเฉพาะผู้ที่แข็งแรงกว่าเท่านั้นที่จะได้โอกาสในการสืบทอดเผ่าพันธุ์ต่อไป 
  ๒.
(คลิกดูภาพใหญ่)       ป่าฝนเขตร้อนเป็นป่าที่มีความชุ่มชื้นสูง มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี ทำให้มีแหล่งน้ำลำธารอยู่มากมาย เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของสัตว์หลายประเภท โดยเฉพาะสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จนก่อให้เกิดชนิดพันธุ์ที่หลากหลาย ทั้งยังสามารถวิวัฒนาการรูปแบบให้มีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งไม่สามารถพบได้ ณ พื้นที่อื่นใดของเมืองไทย เห็นได้จากข้อมูลของ ธัญญา จั่นอาจ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ที่กล่าวไว้ว่า ในเมืองไทยมีการค้นพบ และตั้งชื่อสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกไว้แล้วกว่า ๑๒๑ ชนิด หรือประมาณร้อยละ ๒.๔ ของปริมาณที่ค้นพบทั่วโลก โดยสามารถแยกได้เป็นสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเขียดงู (caecilians) กลุ่มจิ้งจกน้ำ (newts) และกลุ่มกบและคางคก (frogs and toads) ซึ่งกลุ่มหลังนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายด้านชนิดพันธุ์มากที่สุด 
      ฮาลา-บาลาซึ่งเป็นเขตป่าฝนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของไทย จึงถือเป็นแหล่งรวมของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่สำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มกบและคางคกซึ่งหลายชนิดพบเฉพาะในป่าฝนทางใต้ของเมืองไทย นับตั้งแต่ชนิดที่มีลักษณะโดดเด่นอย่าง อึ่งกรายหัวแหลม (Megophrys nasuta) ซึ่งจัดเป็นสัตว์หายาก มีถิ่นอาศัยอยู่เฉพาะในป่าฝนทางใต้ของเมืองไทยเท่านั้น ความแปลกของมันอยู่ตรงที่บริเวณเหนือดวงตาและปากจะแหลมยื่นออกมาเป็นรูปสามเหลี่ยม และก็ด้วยหน้าตาอันแปลกประหลาดของมันนี่เอง ที่ส่งผลร้ายต่อสถานภาพการคงอยู่ เมื่อความแปลกกลายเป็น "จุดขาย" ที่ทำให้มันเป็นที่ต้องการของตลาดค้าสัตว์ป่าทั้งในและต่างประเทศ 
      อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือพวกปาดบิน ปาดกลุ่มนี้ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้ จึงมักจะมีสีเขียวสดใสเหมือนสภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ ความน่าสนใจของพวกมันอยู่ที่ความสามารถในการร่อน ที่ทำให้มันกระโดดจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งที่อยู่ห่างกันได้ และสิ่งที่ทำให้มันทำเช่นนี้ได้ คือ พังผืดระหว่างนิ้วตีน (web) และแผ่นหนังขอบข้างขาหรือชายครุย (frilly dermal flap) เวลากระโดด อวัยวะทั้งสองอย่างนี้จะช่วยต้านลมจนมันสามารถร่อนไปได้ ยิ่งชนิดที่มีขนาดใหญ่อย่าง ปาดตีนดำ (Rhacophorus nogropalmatus) และ ปาดเขียวตีนลาย (Rhacophorus Reinwardti) ที่จะมีพังผืดและชายครุยที่ใหญ่ ก็ยิ่งทำให้มันสามารถร่อนได้เป็นระยะทางไกล 
(คลิกดูภาพใหญ่)       เมื่อมีโอกาสเดินทางมาถึงฮาลา-บาลา ผมจึงแอบตั้งเป้าไว้ในใจว่า น่าจะเก็บภาพพวกมันได้ที่นี่ ดังนั้นหลังจากตระเวนเก็บภาพบรรดานกเงือกได้พักหนึ่ง ผมจึงเปลี่ยนเส้นทางโดยตามคณะของ "ตุ๊" หรือ ประสิทธิ์ วงษ์พรม นักวิจัยสัตว์ป่าที่เพิ่งมาประจำอยู่ที่สถานีวิจัยสัตว์ป่า ป่าพรุ-ป่าฮาลา-บาลาได้ปีกว่า เข้าไปสำรวจตามหุบเขาและแนวลำธารที่น่าจะเป็นแหล่งกบดานของสัตว์กลุ่มนี้ ตุ๊เป็นหนุ่มไฟแรงศิษย์เก่าวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่ำเรียนมาทางด้านวนผลิตภัณฑ์ แต่ผันตัวเองมาทำวิจัยทางด้านสัตว์ป่า ระยะเวลาที่ผ่านมาตุ๊เก็บข้อมูลสัตว์ป่าไว้หลายต่อหลายชนิด แต่กำลังลงลึกในเรื่องของสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
      สภาพภูมิประเทศที่ตุ๊พาผมและคณะนักศึกษาเข้าไปสำรวจเป็นแนวเทือกเขาสูง ระหว่างร่องเขาเป็นหุบและลำธารที่เต็มไปด้วยก้อนหินน้อยใหญ่ รูปทรงกลมมนเนื่องจากถูกกระแสน้ำกัดเซาะ บางช่วงของลำธารที่ไหลผ่านป่ารกทึบ ยากที่แสงแดดจะแทรกตัวลงไปได้ ก้อนหินในธารน้ำจะปกคลุมไปด้วยมอส และตะไคร่สีเขียวสลับกับเนื้อหินสีดำ 
      ทันทีที่เราก้าวเข้าไป บรรดาเจ้าถิ่นที่ซุ่มตัวอยู่ก็โดดหนีลงน้ำกันจ้าละหวั่นเหมือนเราเป็นผู้บุกรุก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราไม่ทันสังเกตเห็นมันตั้งแต่แรก เพราะลวดลายสีดำสลับเขียวของมัน กลืนไปกับก้อนหินในลำธารจนแทบแยกไม่ออก ตุ๊บอกเราว่า มันคือ กบลายหินภาคใต้ (Amolops larutensis) ที่อาจนับเป็นตัวอย่างของวิวัฒนาการในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าพิศวง เพื่อหลบซ่อนหรือพรางตัวให้รอดพ้นจากสัตว์ผู้ล่า 
      คู่มือสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่ตุ๊ใช้นั้นดีมากทั้งข้อมูลและภาพถ่าย มีเรื่องราวและภาพของสัตว์หลายชนิดที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ที่สำคัญมันทำขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างคนไทย กับชาวต่างประเทศอีกสองคน คนไทยที่ว่านี้ก็คือคุณธัญญา จั่นอาจ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ประจำองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาตินั่นเอง แต่หลังจากสอบถามถึงแหล่งที่มาของหนังสือเล่มดังกล่าว เผื่อจะหาซื้อไว้เป็นคู่มือสักเล่มก็ได้คำตอบมาว่า "เมืองไทยหาซื้อไม่ได้หรอกพี่ เล่มนี้ให้พี่ธัญญาช่วยหาซื้อมาให้" นี่ก็คงนับเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการศึกษาค้นคว้า เพราะเมืองไทยเราไม่มีคู่มือ-ตำราให้เลือกได้มากมายเหมือนในต่างประเทศ
      ......................................................
(คลิกดูภาพใหญ่)       ตกค่ำ แสงจากไฟฉายแบบสวมหัวเริ่มส่องสว่างไสว ไฟฉายที่เราใช้เป็นไฟฉายแบบเดียวกับที่ชาวสวนยางนิยมใช้ตอนออกกรีดยาง ซึ่งให้ความคล่องตัวสูง ค่ำนี้ตุ๊พานักศึกษาฝึกงานออกเดินหากบเขียดตามลำธาร หากเจอตัวที่น่าสนใจก็จะจับใส่ถุงผ้ามาเพื่อเก็บข้อมูล ถ่ายภาพ หรือเก็บดองในขวดโหลไว้เป็นตัวอย่างสำหรับงานวิจัย ทำให้ผมมีโอกาสได้พบเห็นกบ ปาด หรือแม้แต่คางคกชนิดใหม่ ๆ ซึ่งไม่ใช่คางคกหน้าตาพื้น ๆ ค่อนไปทางน่าเกลียดอย่างที่เห็นอยู่ตามบ้านเรา คางคกของที่นี่เป็นชนิดพันธุ์ที่สวยแปลกตา โดยเฉพาะเจ้าตัวที่มีชื่อว่า คางคกแคระ (Dwarf Toad; Bufo parvus) ซึ่งเป็นคางคกขนาดเล็กที่มีจุดสีส้มแดงอยู่ทั่วทั้งตัว 
      เมื่อถามตุ๊ถึงโอกาสที่จะเจอปาดบินและอึ่งกรายหัวแหลมตามที่ได้ตั้งความหวังไว้ ก็ได้คำตอบว่า "ช่วงนี้หาตัวมันยากพี่ ต้องรอช่วงฝนจะเจอได้ง่ายกว่า" แต่ไม่ถึงกับผิดหวังเสียทีเดียวเมื่อได้เจอกับปาด ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกปาดบินอีกชนิดหนึ่ง คือ ปาดเขียวตีนแดง (Malayan Tree Frog; Rhacophorus prominanus) ปาดชนิดนี้มีขนาดไม่ใหญ่นักและแผ่นชายครุยข้างขาก็เห็นไม่ชัดเจน มีพังผืดระหว่างนิ้วเท้าเป็นสีแดง อันเป็นที่มาของชื่อมัน ลำตัวด้านบนมีสีเขียวที่ไม่สดใสนัก ทั้งนี้อาจจะขึ้นกับสภาพแวดล้อมและอารมณ์ เพราะปาดในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีเม็ดสี (pigment) ที่ช่วยให้มันสามารถปรับความเข้มจางของสีลำตัวได้
      กบอีกชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้ตามลำธารยามค่ำคืน เป็นชนิดที่ผมเห็นแล้วถึงกับตะลึงกับสีสันที่จัดว่าสวยงามที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา มันมีชื่อว่า กบหลังจุด (Spotted Stream Frog; Rana signata) อยู่ในวงศ์กบเขียด (Family Ranidae) ลักษณะเด่นคือจุดแต้มสีส้มสดใสทั้งที่ลำตัวและขาหน้า-หลัง กับเส้นสีส้มสองเส้นที่พาดจากปลายปากผ่านเหนือเป้าตาทั้งสองข้างเรื่อยไปจนถึงท้ายลำตัว นอกจากนี้ยังมีม่านตาที่มีลวดลายเป็นสีส้มอีกด้วย สีสันของกบชนิดนี้ทำให้นึกไปถึงกบที่พบในต่างประเทศอย่างในป่าฝนของอเมริกาใต้ ที่หลายชนิดมีสีสันจัดจ้านสวยงาม ทั้งแดง เหลือง และน้ำเงินสดใส สีที่สวยงามเหล่านี้คือสิ่งเตือนภัยสัตว์ผู้ล่าว่าอย่าได้คิดมาข้องแวะ มิฉะนั้นจะเจอพิษที่ร้ายแรง ในเมืองไทยยังไม่มีข้อมูลการค้นพบกบที่มีพิษแต่อย่างใด ตุ๊บอกแต่เพียงว่า
      "ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการค้นพบกบที่มีพิษ แต่ถ้าเจอตัวที่มีพิษ ซึ่งผมอยากเจอมาก นั่นจะถือเป็นรายงานการค้นพบใหม่สำหรับเมืองไทย" 
  ๓. 
(คลิกดูภาพใหญ่)       แมลงเป็นสัตว์อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นเสมือนเอกลักษณ์ของป่าฝนเขตร้อน เพราะมันมีปริมาณและความหลากหลายมากที่สุด ข้อมูลบางแหล่งยังกล่าวว่า ในป่าฝน เราอาจพบแมลงได้มากกว่า ๑ หมื่นชนิดบนต้นไม้ใหญ่เพียงต้นเดียว นอกจากแมลงที่นี่จะมีรูปร่างหน้าตาหลากหลาย ทั้งสวยงาม แปลกประหลาด และน่าทึ่งแล้ว พัฒนาการในการอยู่รอดของพวกมันยังซับซ้อนน่าพิศวงกว่าหลายเท่า 
      ในระบบนิเวศที่แมลงคือแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์จำนวนมาก โดยเฉพาะนกที่มีอยู่มากมายในป่าฝน ทำให้แมลงต้องพัฒนาศิลปะในการปรับเปลี่ยนลวดลาย ลักษณะ สีสันของตนเองเพื่อให้รอดพ้นจากสายตาของเหล่านักล่า ตลอดการเดินทางผมจึงได้เห็นบรรดาแมลงแปลงโฉมสารพัดรูปแบบ ตั้งแต่ตั๊กแตนใบไม้ที่มีปีกสีเขียวและรูปทรงเหมือนใบไม้จนแทบแยกไม่ออก ตั๊กแตนกิ่งไม้ที่เลียนแบบกิ่งไม้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ รวมไปถึงตั๊กแตนที่มีลวดลายและสีสันเหมือนเปลือกไม้หรือไลเคน 
      ยามค่ำคืนเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะได้พบแมลงเหล่านั้น เพราะแสงไฟตามบ้านพักช่วยดึงดูดพวกมันให้มารวมตัวกัน ตามกำแพง ต้นไม้ มุ้งลวด ผ้าม่าน ทุกตารางเมตรในรัศมีของแสงไฟ จะปรากฏแมลงให้เห็นไม่ชนิดใดก็ชนิดหนึ่ง พวกมันส่วนใหญ่มีรูปร่างแปลกประหลาด หลายชนิดผมไม่เคยเห็นมาก่อนในป่าอื่นของเมืองไทย ทั้งตั๊กแตนนานาชนิดตั้งแต่ขนาดเล็กจิ๋วไปจนถึงขนาดใหญ่ยาวเกือบฟุต ผีเสื้อกลางคืนหน้าตาแปลก ๆ แมลงปีกแข็งหนวดยาว (Long-horn beetle) ขนาดต่าง ๆ ที่มีหน้าตาเหมือนหน้ากากไอ้มดแดง และมีหนวดยาวกว่าช่วงลำตัวซึ่งผมเคยเห็นเฉพาะในหนังสือหรือที่สตัฟฟ์เอาไว้ ด้วง (scarab) หลากสีที่บินชนหลอดไฟดังเก๊ง ๆ หนแล้วหนเล่า เดี๋ยวหล่นตุ๊บลงที่พื้น ประเดี๋ยวก็บินขึ้นไปอีก อยากรู้จริงๆ ว่าพวกมันต้องการอะไรจากแสงสว่างของหลอดไฟ 
      ผีเสื้อเป็นแมลงอีกกลุ่มที่จัดว่าเป็นสีสันที่งดงามที่สุดของผืนป่า และป่าฝนยังเป็นแหล่งอาศัยของผีเสื้อมากชนิดที่สุดด้วย โดยเฉพาะผีเสื้อเฉพาะถิ่นที่ไม่สามารถพบได้ในที่อื่นใด หลายชนิดได้ชื่อตามแหล่งที่พบ ในป่าฝนทางใต้ของไทยต่อเนื่องจนถึงประเทศมาเลเซีย ที่เรียกว่าแหลมมลายู เช่น ผีเสื้อสีชาดจุดขาวมลายู (Malay Red Harlequin; Paralaxita damajanti) ที่เป็นผีเสื้อขนาดไม่ใหญ่นัก ประมาณ ๔๐-๔๕ มม. มีพื้นปีกสีแดงจัดจ้านสดใสกับแต้มสีดำและสีฟ้าทั่วแผ่นปีก ผมพบมันได้ง่าย ๆ ที่นี่สมกับที่เป็นผีเสื้อเฉพาะถิ่นจริงๆ ผีเสื้อเฉพาะถิ่นที่ได้พบอีกชนิด คือ ผีเสื้อหางตุ้มหางกิ่ว (Common Clubtail; Pachliopta coon doubledayi) เป็นผีเสื้อหายากที่พบโดยบังเอิญตอนขากลับจากการเฝ้ารังนกเงือกกรามช้าง ขณะที่มันกำลังบินไปมาอยู่ในป่าริมลำธารสายใหญ่ มองเผิน ๆ คล้ายผีเสื้อหางตุ้มจุดชมพูที่พบได้บ่อยแถวป่าภาคกลาง แต่ตัวใหญ่กว่า พื้นปีกสีดำ ลำตัวมีสีชมพู กลางปีกคู่หลังมีแถบสีขาวและมีตุ้มคล้ายหยดน้ำที่ปลายปีก นอกจากนี้ผีเสื้อที่ดูโดดเด่นและเป็นสัญลักษณ์ของป่าทางใต้อีกกลุ่มก็คือ ผีเสื้อร่อนลม เป็นผีเสื้อที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ พื้นปีกสีขาว มีจุดแต้มสีดำทั่วทั้งปีกคู่หน้า-หลัง ชื่อของมันได้มาจากลีลาการบินที่ไม่เหมือนใคร ด้วยการอาศัยสายลมพร้อมขยับแผ่นปีกขึ้นลงช้า ๆ อย่างพลิ้วไหว ช่วยให้มันเคลื่อนตัวไปอย่างช้า ๆ ตามยอดไม้คล้ายกับขนนกที่ล่องลอยไปมาตามสายลม 
      ...........................................................
(คลิกดูภาพใหญ่)       มีคำกล่าวว่า "ไม่มีชีวิตใดที่สูญเปล่าในป่าเขตร้อน" ที่นี่เป็นเสมือนบ้านหลังใหญ่ของพืชและสัตว์ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ทุกชีวิตผูกพันกันด้วยระบบนิเวศอันซับซ้อนและบอบบาง แต่ละชนิดต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเพื่อความอยู่รอด พืชปรุงอาหารจากอากาศ น้ำ ดิน และแสงอาทิตย์ การกระจายเมล็ดพันธุ์ของพืชต้องได้รับความช่วยเหลือจากสัตว์ แมลงช่วยผสมเกสรและได้อาหารจากพืชตอบแทน แต่แมลงก็กลายเป็นอาหารของสัตว์นักล่าอีกทอดหนึ่ง นักล่าขนาดเล็กที่กินแมลงก็เป็นอาหารค้ำจุนชีวิตของสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อถึงวันสุดท้ายของชีวิต ซากของสัตว์เหล่านั้นก็จะเป็นอาหารให้แก่ชีวิตอื่นต่อไป ในผืนป่าแห่งนี้ การดำรงอยู่ของชีวิตหนึ่งจึงมีความหมายสำหรับอีกชีวิตหนึ่งเสมอ 
      ฮาลา-บาลาแม้จะตั้งอยู่เพียงชายขอบของป่าฝนเขตร้อน อันอุดมสมบูรณ์ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็เป็นดั่งชายขอบของสรวงสวรรค์สำหรับสัตว์ป่าและผู้หลงใหลในความงามของธรรมชาติ ผืนป่าแห่งนี้ไม่เพียงเกื้อกูลต่อสรรพชีวิตที่อยู่อาศัย หรือเกื้อกูลต่อจิตใจของผู้รักธรรมชาติเท่านั้น หากยังเกื้อกูลและเป็นตัวแปรสำคัญต่อการดำรงอยู่ของโลกใบนี้ด้วย
      ...บนเนินเขาที่เผยให้เห็นทิวทัศน์และเรือนยอดไม้เขียวชอุ่ม สายหมอกสีทองเมื่อต้องแสงอาทิตย์ยามเช้ากำลังระเหยหายไปด้วยไอร้อนของดวงอาทิตย์ ผมเพ่งมองความเปลี่ยนแปลงและเก็บภาพที่กำลังกลายเป็นอดีตนั้นไว้ ไม่มีเวลาสำหรับวันพรุ่งให้กลับมาชื่นชม เสียงชะนีดำใหญ่ก้องกังวานให้ผมได้ซึมซับช่วงเวลาสุดท้าย ก่อนกล่าวคำอำลากับผืนป่าฝนอันยิ่งใหญ่แห่งฮาลา-บาลา