นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ "โกมล คีมทอง ครูของแผ่นดิน"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

"อุ้ม" ไปแต่งงาน

  วันชัย ตัน /ภาพประกอบ : Din-Hin
  "อุ้ม" ไปแต่งงาน
        ชายฉกรรจ์สี่ห้าคนบุกเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง เอาปืนจี้หัวหนุ่มคนหนึ่งให้ออกไปยืนเคียงข้างหญิงสาวในชุดวิวาห์ที่ลานด้านนอก นักบวชชาวฮินดูซึ่งรออยู่แล้วเริ่มสวดมนต์อย่างเร่งรีบ สองสามนาทีต่อมานักบวชผู้นี้ก็ประกาศให้คนทั้งคู่เป็นสามีภรรยากัน
      นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในอินเดีย ประเทศที่มีประเพณีแต่งงานผิดแผกจากชาติอื่น คือฝ่ายหญิงต้องนำสินสอดไปสู่ขอฝ่ายชาย เมื่อฝ่ายหญิงยากจน แต่ฝ่ายชายเรียกสินสอดแพงระยับ การลักพาหนุ่มมาแต่งงานจึงกลายเป็นสิ่งที่กำลังระบาดในตำบลบีกูสาไร ทางตะวันออกของรัฐบิฮาร์ 
      "ตอนนี้บรรดาคนร้ายมีอาชีพใหม่คือการอุ้มเด็กหนุ่มเอ๊าะ ๆ มาขายให้ครอบครัวของเจ้าสาวที่ยากจน แต่ตำรวจก็ไม่ค่อยสนใจคดีพวกนี้ เพราะเจ้าทุกข์มัวแต่อับอายจึงไม่มาแจ้งความ" นเรศ สิงห์ เลขานุการประชาคมแห่งเบงกูสาไรให้สัมภาษณ์
แม้การเรียกเงินสินสอดจะเป็นสิ่งที่กฎหมายอินเดียไม่ยอมรับ แต่มันก็เป็นประเพณีที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่       โดยเฉพาะในรัฐบิฮาร์ รัฐที่มีประชากรยากจนที่สุดรัฐหนึ่ง ผู้ชายที่อยู่อาศัยในรัฐนี้นิยมเรียกสินสอดจากเจ้าสาวในราคาสูงลิ่ว ยิ่งหนุ่มคนไหนมีตำแหน่งหน้าที่การงานดี มีสถานะทางสังคมสูง ราคาสินสอดก็แพงขึ้นเรื่อย ๆ คนหนุ่มที่เป็นข้าราชการ จะมีราคาค่าสินสอดแพงที่สุด ประมาณ ๑.๕ ล้านรูปี หรือ ๑.๓๓ ล้านบาท 
      บรรดาหนุ่มโสดจึงต้องระวังตัวกันเป็นพิเศษ เพราะวันดีคืนดีอาจถูกลักพาตัวไปแต่งงาน 
      "การ "อุ้ม" ไปแต่งงานเป็นปฏิกิริยาตอบสนอง ต่อระบบสินสอดอันเลวร้ายในหมู่พวกฮินดู ถ้าหากพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาวไม่มีเงินจ่าย ก็ใช้วิธี "อุ้ม" แทน" ทานวิร์ ฮาซัน ผู้นำชุมชนคนหนึ่งกล่าว
      "อันที่จริงต้องเรียกว่าเป็นการช่วยให้หนุ่มสาวคู่หนึ่งได้พบความสุข เพราะที่ผ่านมาพ่อของเจ้าบ่าวจะเรียกสินสอดราคาแพง พวกเราหมดปัญญาที่จะหามาได้ จึงต้องใช้วิธีนี้" ญาติของเจ้าสาวที่เป็นคนช่วยลักพาตัวเจ้าบ่าว แอบกระซิบกับนักข่าว
      อย่างไรก็ตาม การลักพาตัวเจ้าบ่าวไปแต่งงานกับเจ้าสาว ก็ใช่ว่าจะราบรื่นทุกคู่ 
      สองปีก่อน จิเทนเดอร์ คูมาร์ หนุ่มชาวนาคนหนึ่งถูกลักพาตัวไปแต่งงานกับ มันนิ เทวี 
      "ผมไม่มีความสุขกับการถูก "อุ้ม" มาแต่งงาน แต่ต่อมาผมก็คิดว่าเจ้าสาวคนนี้ไม่ได้ผิดอะไร เธอไม่ควรจะเจ็บปวด สุดท้ายผมจึงพาเธอกลับมาอยู่ที่บ้านของผม"
      ขณะที่ รันจัน คูมาร์ เจ้าของร้านตัดเสื้อผ้าซึ่งถูกลักพาตัวไปแต่งงานกับ มีลา คูมาริ แห่งหมู่บ้านสิมฮาตั้งแต่ปี ๑๙๙๒ เล่าให้นักข่าวฟังว่า
      "ผมช็อกมากเมื่อถูกลักพาตัวและถูกบังคับให้รับผู้หญิงที่ไม่รู้จักมาก่อนเป็นภรรยา แต่ต่อมาผมก็รู้สึกผูกพันและยอมรับชีวิตสมรสได้ และรู้สึกว่า อนาคตของผมต้องมีเธออยู่ด้วยตลอดเวลา" 
      แต่ซาฮิ หนุ่มทนายความที่ถูกลักพาตัวไปแต่งงานเมื่อปี ๑๙๘๑ บอกว่า เขาไม่ยอมรับการแต่งงานครั้งนั้น และได้ฟ้องหย่าต่อศาล อีกสี่ปีต่อมาซาฮิจึงแต่งงานอีกครั้ง
      ขณะที่เจ้าสาวคนแรกซึ่งบัดนี้อายุได้ ๓๘ ปี ปฏิเสธที่จะอุ้มใครมาแต่งงานกับเธออีกครั้ง เธอบอกว่า
      "ฉันแต่งงานกับซาฮิแล้ว แม้ตอนนี้เราจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่เขาเป็นสามีของฉันไปจนตราบสิ้นลมหายใจ"
      บ้านเรายังไม่นิยม "อุ้ม" ไปแต่ง มีแต่ "อุ้ม" ไปทวงหนี้