นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๒ เดือนสิงหาคม  ๒๕๔๖ "นกแต้วแล้วท้องดำ บนเส้นทางแห่งการสูญพันธุ์ ?"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

เงินซาเพราะซาร์สมา

  วันชัย ตัน : รายงาน /ภาพประกอบ : Din-Hin
  เงินซาเพราะซาร์สมา
         เซินเจิ้นเป็นเมืองเศรษฐกิจชื่อดังทางตอนใต้ของประเทศจีนที่นักธุรกิจทั่วโลกรู้จักดี
       และเป็นเมืองที่สัตว์ป่าในเอเชียจำพวกตัวนิ่ม ชะมด อีเห็น หมีป่า นกฮูก ฯลฯ ได้ยินแล้วสยองเช่นกัน เพราะเซินเจิ้นอุดมไปด้วยร้านอาหารสัตว์ป่า มีเมนูรสเด็ด อาทิ อุ้งตีนหมีอบวุ้นเส้น ตุ๋นพะโล้ขาชะมด อีเห็นกระโดดกำแพง ไว้เสิร์ฟลูกค้าคนจีนที่นิยมเปิบพิสดาร ด้วยความเชื่อว่าเป็นยาโป๊ว เป็นอาหารคู่แข่งไวอากร้า
       เมืองทางตอนใต้ของจีนหลายแห่งถึงขนาดเขียนป้ายรับประกันไว้ว่า "เพียงคุณเดินทางมาเยือนเรา คุณสามารถเลือกกินทุกอย่างที่เป็นสี่ขาได้หมด ยกเว้นเก้าอี้ หรือคุณจะเลือกกินอะไรที่มีปีกได้หมด ยกเว้นเครื่องบิน"
       แต่ช่วงเวลาที่โรคซาร์สพัดผ่านเมืองจีน พลอยทำให้ร้านอาหารสัตว์ป่าหลายแห่งต้องปิดลง ลูกค้าหายวับไป เมื่อมีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ในฮ่องกง ได้ค้นพบไวรัสที่คล้ายคลึงกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์สในตัวชะมด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ไวรัสชนิดนี้อาจจะแพร่ระบาดมาสู่คน โดยผ่านคนชำแหละเนื้อสัตว์ และบรรดานักนิยมบริโภคเนื้อสัตว์ป่าทั้งหลาย
       นักวิทยาศาสตร์ยังพบเชื้อไวรัสที่มีหน้าตาคล้ายกับเชื้อโรคซาร์สในหมูป่า ค้างคาว และงูอีกต่างหาก
       การระบาดของโรคซาร์สเกิดครั้งแรกในโลกที่เมืองเซินเจิ้น ผลก็คือ กรงขังสัตว์ป่าในตลาดสดไม่ว่าจะเป็นชะมด ตัวนิ่ม งู นกฮูก ห่านป่า ฯลฯ ล้วนว่างเปล่า เพราะไม่มีลูกค้าสนใจอีกต่อไป ทุกคนกลัวจะเป็นซาร์สกันโดยถ้วนหน้า
       ที่ผ่านมา มีตัวเลขน่าตกใจว่า ในประเทศจีนมียอดจำหน่ายสัตว์ป่าสูงถึงปีละ ๔.๒ พันล้านบาท จากจำนวนสัตว์ป่าร้อยกว่าชนิด 
       ประมาณว่ามีสัตว์ป่าทั่วโลกต้องถูกจับเพื่อสังเวยนักเปิบชาวจีนปีละหลายแสนตัวทีเดียว
       ถนนทุกสายของการค้าสัตว์ป่าทั่วโลกล้วนมุ่งมาสู่ตอนใต้ของจีน
       "เลิกแล้วครับ ผมเลิกกินชะมดแล้วครับ ตั้งแต่ซาร์สแพร่ระบาด" จ้าว หลิน ยัน ตี๋หนุ่มพนักงานธนาคารแห่งหนึ่งยอมรับว่า เขาโปรดปรานการกินชะมดเป็นอันมาก และคนที่ชักนำให้เขามาเริ่มกินอาหารตำรับนี้ไม่ใช่ใครอื่น แฟนสาวของเขานั่นเอง
       "ตอนนี้เราหันมากินกุ้งหอยปูปลาแทน"
       ที่ผ่านมาชาวจีนนิยมกินอาหารสัตว์ป่า ด้วยความเชื่อว่า เนื้อสัตว์ป่ามีสารอาหารที่เนื้อสัตว์ธรรมดาไม่มี อาทิ เลือดงูทำให้สายตาดี เนื้อเต่าไปกระตุ้นต่อมทางเพศให้ปึ๋งปั๋ง 
       แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์จีนอีกกลุ่มหนึ่งได้ออกมาโต้แย้งว่า ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า ไวรัสในเนื้อสัตว์ป่าจะมีส่วนสัมพันธ์กับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส การกินเนื้อสัตว์ป่า ไม่น่าจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคซาร์ส
       ทว่าคำปลอบใจของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ ก็ไม่ได้ช่วยทำให้ยอดขายอาหารสัตว์ป่ากระตุ้นขึ้นแต่อย่างใด
       หากสัตว์ป่าพูดได้ มันคงนึกขอบคุณเจ้าไวรัสซาร์ส ที่ทำให้อัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าลดลง
       และทำให้เงินในกระเป๋าของบรรดาพ่อค้าสัตว์ป่าซาลงอีกต่างหาก