Home

 
 


นายรอบรู้ชวนเที่ยว.. รับทะเลหมอกบนภูชี้ฟ้า

ฤดูฝนผ่านไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากทิ้งทวนตกติดต่อกันร่วมเดือน เล่นเอาชาวกรุงเปียกปอนกันทั่วหน้า คราวนี้ก็ได้เวลา "แพ็ก" กระเป๋าไปเที่ยวกันอีกแล้ว "นายรอบรู้" จะชวนไปเที่ยวทะเลรับลมหนาวกัน นั่นแน่ ! ชักสงสัยแล้วใช่ไหมว่า เขามีแต่ไปเที่ยวทะเลหน้าร้อน แต่ "นายรอบรู้" มาแปลก ...ไม่ใช่อย่างนั้น ที่จะพาไปนี่เป็นทะเลหมอก ขึ้นไปดูบนภูชี้ฟ้าโน่นเลย

รับทะเลหมอกบนภูชี้ฟ้า (คลิกดูภาพใหญ่)
ทริปนี้เดินทางไกลไปชายแดนไทย-ลาวกันอีกครั้ง แต่ไปทางภาคเหนือกันบ้าง เพราะภูชี้ฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของเทือกดอยผาหม่นที่กั้นพรมแดนไทย-ลาวทางด้าน อ. เวียงแก่น จ. เชียงราย มีลักษณะเป็นยอดเขาแหลมชี้ขึ้นไปบนฟ้าสมชื่อ และมีหน้าผายื่นไปทางฝั่งลาว ยามเช้าในฤดูหนาวก็จะมีทะเลหมอกปกคลุมหนาแน่นท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ว่ากันว่า ทะเลหมอกบนภูชี้ฟ้าสวยที่สุดในเมืองไทยเชียวนา ที่นี่จึงเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่งดงามและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของ จ. เชียงราย
เมื่อก่อนการเดินทางมาเทือกภูชายแดนแบบนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่พอมาถึง พ.ศ. นี้ เมื่อเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวขึ้นมาก็ไม่ต้องห่วง มีทางลาดยางขึ้นไปเกือบถึงยอดภูเลยทีเดียว เส้นทางสะดวกที่สุดก็ต้องเป็นด้าน อ. เทิง จากกรุงเทพฯ ให้มุ่งหน้าขึ้นเหนือมาทาง จ. เชียงราย ใช้เส้นทางผ่าน จ. พะเยาจะใกล้หน่อย แต่ไม่ต้องไปถึงตัวเมืองเชียงราย ให้แยกเข้าสู่ อ. เทิง แล้วก็มุ่งหน้าสู่ภูชี้ฟ้าไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๑๕๕ ผ่านบ้านปางค่า พอถึงบ้านแผ่นดินทองให้เลี้ยวขวาขึ้นสู่ภูชี้ฟ้า ทางลาดยางกว้างตลอดสาย แต่ช่วงสุดท้ายต้องไต่ขึ้นเขาคดเคี้ยวและชันมาก พยายามขับรถระมัดระวังกันหน่อย จนไปพบกับสามแยก ทางขวามือไปบ้านร่มฟ้าไทย ส่วนทางซ้ายมือไปบ้านร่มฟ้าทอง ระยะทางประมาณ ๒ กม. เท่ากัน 
หมู่บ้านทั้งสองแห่งเป็นจุดเดินขึ้นสู่ภูชี้ฟ้าได้เหมือนกัน แต่ทางบ้านร่มฟ้าไทยมีบ้านพักและร้านอาหารบริการหลายแห่ง นักท่องเที่ยวจึงนิยมพักและเดินขึ้นตามเส้นทางนี้กันมาก แม้ว่าระยะทางเดินขึ้นภูค่อนข้างไกล ประมาณ ๑,๘๐๐ ม. ส่วนทางด้านบ้านร่มฟ้าทองได้เปรียบหน่อย เพราะสามารถนำรถขึ้นไปจอดได้ถึงหน่วยจัดการต้นน้ำหงาว-งาว แล้วเดินต่อขึ้นไปอีกเพียง ๘๐๐ ม. เท่านั้น แต่ทางเดินทั้งสองด้านชันพอกัน
ภูชี้ฟ้ารับอรุณกับแสงสีสวยที่ขอบฟ้า (คลิกดูภาพใหญ่)น้ำตกภูซาง (คลิกดูภาพใหญ่)
นักท่องเที่ยวจะพากันมาต้อนรับทะเลหมอกกันตั้งแต่เดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ บรรยากาศที่ภูชี้ฟ้าจึงคึกคักมากในช่วงดังกล่าว หลังจากซบเซากันมาหลายเดือน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปบนภูชี้ฟ้าหลายร้อยคน ช่วงนี้เลยค่อนข้างแออัด ถ้าคุณไม่ชอบความพลุกพล่านมากนัก "นายรอบรู้" ก็อยากแนะนำให้ไปชมทะเลหมอกกันในช่วงก่อนหรือหลังเทศกาลปีใหม่จะดีกว่า ถึงอย่างไรก็มีโอกาสเห็นความงามของทะเลหมอกเหมือนกัน อากาศก็ยังไม่หนาวเย็นจนเกินไป
เมื่อการเดินทางมาภูชี้ฟ้าสะดวกสบายขึ้น นักท่องเที่ยวบางกลุ่มก็เลือกแผนการเดินทางจากในเมืองมาถึงกันตั้งแต่ก่อนเช้ามืด แล้วเดินขึ้นไปบนภูชี้ฟ้าเลย แต่ถ้าจะให้ได้รสชาติการเที่ยวดงดอยและคุ้มค่าการเดินทางไกล ก็ควรมาค้างกันสักคืน สัมผัสความหนาวเย็นของเทือกดอยผาหม่น พอได้เวลาราวตีสี่ครึ่งก็ออกเดินขึ้นภูได้เลย ไม่ต้องกลัวตื่นไม่ทัน ถึงตอนนั้นก็มีเสียงเจี๊ยวจ๊าวของกลุ่มนักท่องเที่ยวแทนนาฬิกาปลุกแล้ว
จากบ้านร่มฟ้าไทย ใช้เวลาเดินขึ้นราว ๕๐ นาที ยังไม่ทันเหนื่อยหรอก อากาศก็เยือกเย็นสบาย แถมมีเพื่อนร่วมทางช่วยสร้างความคึกคักอีกหลายกลุ่ม จนกระทั่งไปถึงยอดภูชี้ฟ้าที่ระดับความสูงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. บริเวณยอดสูงสุดมีที่ราบกว้างปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าตลอดแนวหน้าผาที่ยื่นเข้าไปทางฝั่งลาว นักท่องเที่ยวจึงพากันมายืนรับอรุณอยู่ที่นี่ รอจนแสงอาทิตย์ส่องสว่างก็จะเริ่มมองเห็นหุบเขาสลับซับซ้อนเบื้องล่าง จากเขตแนวชายแดนลึกต่อเข้าไปทางฝั่งลาวได้เป็นอาณาเขตกว้างไกลทุกทิศทาง ท่ามกลางทะเลหมอกที่ปกคลุมแน่นทึบ และมีเสียงแหลมกังวานของกระดึงวัว และเสียงไก่ขันดังคลอให้บรรยากาศชนบทยามเช้า จนเมื่อสายหมอกบางส่วนพากันลอยผ่านหายไป ก็จะเผยให้เห็นบ้านเรือนของหมู่บ้านเชียงตองทางฝั่งลาวซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางป่าทึบในหุบเขา
เทือกดอยผาหม่นท่ามกลางทะเลหมอก (คลิกดูภาพใหญ่)นักท่องเที่ยวบนยอดภูชี้ฟ้า (คลิกดูภาพใหญ่)ทะเลหมอกปกคลุมเต็มหุบเขาทางฝั่งลาว (คลิกดูภาพใหญ่)
ช่วงฤดูหนาวบางปี อากาศบนภูชี้ฟ้าหนาวเย็นมาก จนอุณหภูมิลดต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง นักท่องเที่ยวจึงมีโอกาสพบน้ำค้างแข็งปรากฏตามใบไม้และพื้นผิวต่าง ๆ แต่ถ้ามาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก็จะได้เห็นดอกเสี้ยวหรือชงโคป่าบานสะพรั่งอวดดอกสีขาวอยู่ทั่วหุบเขา
ทะเลหมอกบนภูชี้ฟ้ามักปรากฏให้เห็นกันอยู่นาน นักท่องเที่ยวก็ชอบเฝ้าดูจนสาย จึงค่อยเดินลงมารับประทานอาหารเช้า แล้วก็แยกย้ายเดินทางกลับ สำหรับตอนขากลับนี้ "นายรอบรู้" อยากให้เปลี่ยนไปใช้เส้นทางเป็นวงกลมตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๓ เพื่อจะได้แวะเล่นน้ำที่น้ำตกภูซางกันด้วย
น้ำตกภูซางอยู่ในพื้นที่ของ อช. ภูซาง (ซึ่งในอนาคตจะมีการผนวกภูชี้ฟ้าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูซางด้วย) เป็นน้ำตกเล็กๆ ริมทางที่ไหลลงมาจากผาหินปูนสูง ๒๕ ม. และมีความพิเศษกว่าน้ำตกอื่นๆ เพราะเกิดจากสายน้ำอุ่นและปราศจากกลิ่นกำมะถัน ทำให้สายน้ำตกมีอุณหภูมิสูงถึง ๓๕ องศาเซลเซียส ใต้น้ำตกเป็นแอ่งน้ำสีเขียวมรกตใสราวกับกระจก นักท่องเที่ยวจึงนิยมลงไปแช่น้ำอุ่นคลายหนาวกัน โดยเฉพาะพวกที่เพิ่งลงมาจากภูชี้ฟ้า
พักผ่อนและเล่นน้ำที่น้ำตกภูซางให้ฉ่ำใจแล้วก็เดินทางกลับมาทาง อ. เชียงคำ จนมาถึงตัวเมืองพะเยา แวะพักกันที่นี่ เพื่อชมบรรยากาศยามเย็นริมกว๊านพะเยา แล้วค่อยเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในวันรุ่งขึ้น
Home