Home

 
 

รู้หรือ (ไม่) รู้
ผ้าพระเวส

รู้หรือ (ไม่) รู้ - ผ้าพระเวส (คลิกดูภาพใหญ่)หากใครไปอีสานช่วงเดือน ๔ (ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน) ในเวลามีงานบุญผเวส หรือบุญผะเหวดตามสำเนียงท้องถิ่น ซึ่งก็คืองานบุญเทศน์มหาชาติในภาคกลางนั่นเอง ในวันที่ ๒ ของงาน จะเห็นชาวบ้านนำพระพุทธรูป ดอกไม้ธูปเทียน ธงทิว และผ้าขาวยาวหลายสิบเมตร ที่เขียนเป็นภาพต่างๆ แห่ไปตามวัด ซักถามจากพ่อใหญ่แม่ใหญ่จึงได้รู้ว่า นี่เป็นพิธีแห่ผเวส เพื่อระลึกถึงช่วงเวลาที่พระเวสสันดร จะเสด็จกลับเข้าเมืองหลังจากบำเพ็ญทานบารมีสำเร็จแล้ว และผ้าขาวยาวที่มีภาพต่างๆ นั้นก็คือ ผ้าพระเวส หรือผ้าผเวสที่ชาวบ้านเรียกขานกัน ส่วนภาพที่ปรากฏบนผืนผ้า ก็เป็นเรื่องราวในพระเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์นั่นเอง

รู้หรือ (ไม่) รู้ - ผ้าพระเวส (คลิกดูภาพใหญ่)เมื่อเริ่มแห่ผ้าพระเวสเข้าวัด ชาวบ้านจะนำใบไม้ ดอกไม้ จุ่มน้ำโปรยใส่กันให้เหมือนฝนตก แต่บางแห่งก็นำผ้าพระเวสนี้ ไปขึงรอบศาลาโรงธรรม หรือรอบสิม (คือพระอุโบสถของทางภาคกลาง) เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้ปะพรมด้วยน้ำอบน้ำหอม เป็นการย้อนถึงเหตุการณ์ ที่ฝนโบกขรพรรษ ซึ่งเป็นฝนวิเศษที่ใครปรารถนาให้เปียกถึงจะเปียก ตกในเวลาที่พระเวสสันดรเสด็จกลับเข้าเมือง และยังเป็นเสมือนสัญลักษณ์ ที่แสดงถึงความร่มเย็นและอุดมสมบูรณ์ ด้วยชาวอีสานเชื่อว่างานบุญพระเวสนี้ เป็น "พิธีกรรมแห่งความอุดมสมบูรณ์" เนื่องจากเรื่องราวในชาดก เกี่ยวเนื่องกับความอุดมสมบูรณ์หลายตอน เช่น การที่พระเวสสันดรประทานช้างมงคล ให้แก่ชาวกลิงคราษฎร์ ชาวเมืองสีวีราษฎร์ก็แห้งแล้ง เกิดทุกข์เข็ญ ต่อเมื่อพระเจ้ากรุงสัญชัย ไปเชิญพระเวสสันดรกลับเข้าเมือง  เกิดฝนโบกขรพรรษตก แคว้นสีวีราษฎร์ก็กลับมั่งคั่งสมบูรณ์ 
นอกจากนี้นักวิชาการเชื่อว่า ผ้าพระเวสนี้ เป็นต้นแบบของการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ของทางอีสานด้วย
Home