home
Contact Uscontact@sarakadee.com
สาระเพื่อนักเดินทาง และการท่องเที่ยว อย่างเข้าใจและรอบรู้
www.Thaitraveler.com
เที่ยวทั้วไทยกับ "นายรอบรู้" เดือนตุลาคม

นายรอบรู้ชวนเที่ยว : ดูสนุก ดูที่ไหน
ยลวิหารล้านนา ถิ่นพายัพ

ยามเมื่อลมหนาวพัดมา ก็เริ่มเป็นฤดูกาลที่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบบรรยากาศอันเยือกเย็น ต่างวางเข็มมุ่งตรงไปยังภาคเหนือ ซึ่งนอกจากดอยดงเขาสูงแล้ว วัดวาอารามในเมืองเหนือแถบถิ่นล้านนา ก็มีความงามตามสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมือง ที่น่าหาโอกาสเข้าไปชื่นชมความละเมียดละไมของงานฝีมือช่างที่ฝากไว้เช่นกัน
วัดในภาคเหนือนั้นก็เหมือนกับวัดในภาคอื่นๆ ที่มีทั้งพระอุโบสถและพระวิหาร แต่วัดทางเหนือจะให้ความสำคัญกับวิหารมากกว่าพระอุโบสถ ในอดีตจึงปรากฏบันทึกว่ามีหลายๆ วัดใช้พระอุโบสถของวัดใดวัดหนึ่งร่วมกัน มากกว่าจะสร้างพระอุโบสถไว้ทุกวัด คราวนี้ "นายรอบรู้" จึงอยากชวนไปแอ่ววัดในเวียงเหนือเพื่อชมวิหารล้านนาแท้ๆ กัน บางแห่งเป็นฝีมือช่างพื้นบ้านงามแบบใสซื่อจริงใจ บางแห่งเป็นฝีมือช่างหลวง งามด้วยลวดลายแกะไม้ปั้นปูนประดับกระจกอย่างยิ่งใหญ่ ภาคเหนือนั้นเต็มไปด้วยป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ สิ่งก่อสร้างต่างๆ และวิหารจึงนิยมสร้างจากไม้ โดยเฉพาะไม้สักที่เนื้อไม้มีความละเอียดเกลี้ยงเกลา เนื้อไม่แข็งมาก สามารถนำมาแกะสลักได้อย่างสวยงาม
พระพุทธรูปประธานของวิหารวัดปราสาท ประดิษฐานอยู่ในปราสาท ด้านหน้ามีซุ้มประตูโขงที่ประดับประดาด้วยลายปูนปั้นและกระจกแก้ว เป็นลักษณะพิเศษที่พบเพียงไม่กี่วัดในล้านนา (คลิกดูภาพใหญ่)ประตูวิหารวัดพันเตา แกะสลักเป็นรูปนกยูง เพราะเดิมเคยเป็นหอคำของเจ้ามโหตรประเทศมาก่อน (คลิกดูภาพใหญ่)
การจะชมวิหารให้สนุก ก่อนอื่นต้องรู้จักว่าลักษณะของวิหาร ส่วนใดเรียกว่าอะไร ควรจะดูอะไรตรงไหน
วิหารล้านนามีอยู่ด้วยกันสองลักษณะ แบบแรกคือ วิหารโถง ไม่นิยมสร้างผนัง (ที่ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ป๋างเอก) บางครั้งจึงเรียกว่า วิหารไม่มีป๋างเอก ยกเว้นหลังพระประธานจะมีผนัง วิหารโถงนี้พบได้ที่ จ. ลำปาง เช่น วิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง วิหารจามเทวี วัดปงยางคก เป็นต้น
ส่วนอีกแบบหนึ่งคือวิหารแบบปิด หรือวิหารปราการ วิหารชนิดนี้จะทำฝาผนังจากฐานวิหารจรดโครงหลังคา สล่าหรือช่างในท้องถิ่นยังคงเรียกวิหารชนิดนี้ว่า วิหารป๋างเอก ซึ่งมีทั้งวิหารทรงโรง สร้างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กับวิหารทรงปราสาท ซึ่งจะมีมณฑปปราสาทอยู่หลังวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน เช่น วิหารวัดปราสาท จ. เชียงใหม่ เป็นต้น
วิหารล้านนาส่วนใหญ่มีโครงสร้างแบบที่เรียกว่า "ม้าต่างไหม" ซึ่งนำชื่อมาจากลักษณะการบรรทุกผ้าไหมบนหลังม้าของพ่อค้าม้าต่าง (ต่าง แปลว่า บรรทุก) ในล้านนา โดยมีการลดหลั่นของหลังคาจากห้องประธานลงมาทางด้านหน้าและด้านหลัง เป็นชั้นเชิงที่สวยงาม บางทีเรียกว่า วิหารซด (ซด ก็คือลด) ส่วนใหญ่มักมุงหลังคาด้วยดินขอ (กระเบื้องดินเผา) หรือแป้นเกล็ด (แผ่นไม้)
วิหารวัดปราสาทเป็นวิหารแบบม้าต่างไหมที่มีขนาดเล็กแต่งดงามด้วยรายละเอียดประดับตกแต่ง (คลิกดูภาพใหญ่)บนหน้าบันวิหารวัดปราสาท เป็นลายปูนปั้นประดับกระจก ต่ำลงมาที่คอกีดแกะสลักรูปสิงห์ฝีมือประณีต  ส่วนด้านล่างที่เป็นสามเหลี่ยมรูปโค้ง เรียกว่า โก่งคิ้ว (คลิกดูภาพใหญ่)
นอกจากโครงสร้างอันงดงามของตัววิหารแล้ว สิ่งที่น่าชมที่สุดก็คือสิ่งละอันพันละน้อยที่ประดับตัววิหารอยู่ ตั้งแต่ช่อฟ้า ซึ่งอยู่เหนือจั่วของวิหาร มีทั้งไม้แกะหรือปูนปั้นรูปพญานาค หางหงส์ หรือตัวเหงา มักทำเป็นรูปมกรคายนาค นาคทัณฑ์ หรือคันทวย ซึ่งเป็นไม้ค้ำยัน แกะสลักเป็นรูปต่างๆ เช่น มกรคายนาค นกหัสดีลิงค์ หงส์ประดับพรรณพฤกษา เทวดา เป็นต้น เรียกว่าแกะกันไม่ซ้ำลายเลยทีเดียว โดยเฉพาะบริเวณหน้าบัน หรือที่ท้องถิ่นเรียกกันว่า หน้าแหนบ นั้นจะตกแต่งสวยงามเป็นพิเศษ
ส่วนที่แตกต่างจากวิหารภาคกลาง คือ บริเวณที่ต่ำลงมาจากหน้าบัน จะเป็นแผงเรียกว่า คอกีด แกะสลักเป็นรูปต่างๆ ต่ำลงมาอีก เรียกว่า โก่งคิ้ว ลักษณะคล้ายกับสาหร่ายรวงผึ้งในภาคกลาง นอกจากนี้ยังมีส่วนด้านข้างที่เรียกว่า ปีกนก ทำเป็นหน้าบันหรือหน้าแหนบด้วย
บริเวณหน้าบันเหล่านี้มักแกะสลักลวดลายต่างๆ อย่างสวยงาม เป็นลวดลายดอกไม้ พรรณพฤกษา ลายประจำยาม รูปสัตว์ต่างๆ มากมาย บางแห่งยังติดปูนปั้นประดับกระจก หรือแก้วอังวะ ซึ่งเป็นแก้วที่มาจากประเทศพม่า ลองสังเกตชมกันดู
วิหารวัดปงยางคกแสดงลักษณะของวิหารซด คือมีหลังคาลดหลั่นกันลงมา โดยมักให้ความสำคัญกับด้านหน้า ซึ่งมักมีหลังคาซ้อนกันถึงสามชั้น ส่วนด้านหลังมีเพียงสองชั้น (คลิกดูภาพใหญ่)(คลิกดูภาพใหญ่)
เมื่อก้าวล่วงประตูเข้าไปภายในวิหาร จะพบเสาไม้เรียงรายเป็นแนวนำสายตาไปสู่พระประธาน เสาไม้ตรงกลางนี้เรียกว่า เสาหลวง นิยมประดับด้วยลวดลายรดน้ำปิดทอง บางแห่งก็สร้างบัวหัวเสาประกอบหรือมีลายปูนปั้นประดับ ส่วนเสาแถวนอกเรียกว่า เสาระเบียง ช่วยรับน้ำหนักปีกนกทั้งสองข้าง ถ้าเป็นวิหารโถงจะเป็นชายคาหรือที่ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า "ฝาน้ำย้อย" ขนาดใหญ่ หลายแห่งเขียนจิตรกรรมฝาผนัง หรือลายน้ำทองไว้ เมื่อแหงนหน้ามองบนเพดานวิหารจะเห็นงานแกะสลักไม้เป็นรูปดาวเพดาน ที่มีลวดลายสวยงามแตกต่างกันไปในแต่ละวัด
บริเวณห้องท้ายวิหาร มักสร้างกู่พระเจ้าหรือโขงปราสาท เป็นมณฑปรูปคล้ายเจดีย์ ส่วนใหญ่จะสร้างด้วยปูนเป็นรูปซุ้มประตูโค้ง มีลายปูนปั้นแบบล้านนาประดับอยู่โดยรอบ ภายในประดิษฐานพระประธานของวิหาร
การชมวิหารของล้านนาให้สนุกจึงต้องเป็นคนช่างสังเกตสักหน่อย อย่ามองข้ามรายละเอียดเล็กๆ น้อย ๆ เพราะแม้ว่ารูปทรงวิหารจะเหมือนกัน แต่การประดับประดาจะแตกต่างกัน ซึ่งแสดงถึงฝีมือช่างที่ทุ่มเทความสามารถ สร้างลวดลายให้เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ฝากไว้เป็นสมบัติให้แก่แผ่นดินจนถึงกาลนี้
(คลิกดูภาพใหญ่)

ดูสนุก ดูที่ไหน

วิหารวัดปราสาท อ. เมือง จ. เชียงใหม่

เป็นวิหารทรงปราสาท บริเวณหน้าบันเป็นปูนปั้นประดับกระจกที่งดงาม ภายในผนังวิหารมีลายรดน้ำสีทองเป็นเรื่องพระพุทธประวัติ ท้ายวิหารมีซุ้มประตูโขงติดกับฐานชุกชี สร้างเป็นซุ้มโค้งสองชั้น ชั้นล่างรูปร่างคล้ายกระบังยอดแหลม ใช้ฝาชามเบญจรงค์มาตกแต่งเป็นดอกไม้ ปลายซุ้มเป็นรูปหงส์ยืนหันหน้าเข้ากรอบซุ้ม ซุ้มโค้งชั้นบนทำเป็นรูปลำตัวมกรสองตัวยกหางขึ้นเกี่ยวกระหวัด มีลายปูนปั้นเป็นกลีบดอกไม้และรูปสัตว์หลายชนิด องค์ปราสาทหลังวิหารมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน

วิหารวัดพันเตา อ. เมือง จ. เชียงใหม่

เป็นวิหารที่มีลักษณะพิเศษคือ เคยเป็นหอคำหรือเรือนพักอาศัยของเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๕ ฝาหอคำมีลักษณะเหมือนฝาปะกนในภาคกลาง เรียกว่า "ฝาตาผ้า" คือเหมือนกับเอาผ้ามาขึงสะดึง ทำด้วยไม้ทั้งหลัง ที่งดงามที่สุดคือบริเวณประตูด้านหน้าวิหารมีไม้แกะสลักเป็นรูปนกยูง อันเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือ
ภายในวิหารหลวงวัดพระธาตุลำปางหลวง มีโขงปราสาทประดิษฐานพระเจ้าล้านทองอันเป็นที่สักการะของชาวล้านนา (คลิกดูภาพใหญ่) มกรคายนาคที่ป้านลมและหางหงส์ ที่คนล้านนามักเรียกว่าตัวเหงา ส่วนที่อยู่ในเงาแดดนั้นคือหน้าบันปีกนก (คลิกดูภาพใหญ่)วิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวิหารโถงเครื่องไม้  มีฝาผนังเพียงครึ่งบนเรียกว่าฝาน้ำย้อย เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังรอบ (คลิกดูภาพใหญ่)
วิหารวัดต้นเกว๋น อ. หางดง จ. เชียงใหม่

เป็นวิหารไม้ขนาดเล็ก สิ่งที่ควรชมคือเครื่องไม้แกะสลักประดับคันทวยหูช้าง ลวดลายต่างๆ เช่น กินนร กินนรี เป็นต้น บริเวณหน้าแหนบแกะสลักเป็นลายเครือเถา ตกแต่งประดับกระจกแก้วอังวะ โก่งคิ้วเป็นลายเครือเถาสอดสลับรูปเศียรนาค
สิ่งก่อสร้างอีกอย่างหนึ่งที่น่าชมคือ ศาลาจตุรมุข สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่หยุดพักขบวนอัญเชิญพระธาตุ จากจอมทองเข้ามาที่เชียงใหม่ มีช่อฟ้าเป็นลายปูนปั้นรูปนกเกาะ กลางสันหลังคามีซุ้มมณฑปขนาดเล็ก เรียกว่า ปราสาทเฟื้อง หรือช่อฟ้ายองปลี ซึ่งมักปรากฏบนสันหลังคาวิหารด้วย

วิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง อ. เกาะคา จ. ลำปาง
วิหารแห่งนี้ถือว่าเป็นวิหารโถงขนาดใหญ่ บริเวณหน้าแหนบได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่เมื่อ ปี ๒๔๖๖ จึงมีลวดลายที่แตกต่างจากที่อื่น ๆ โดยเป็นลวดลายเครือเถา รูปนาคและเทวดา รวมถึงเครื่องยศต่าง ๆ ส่วนโก่งคิ้วเป็นลายรดน้ำปิดทอง ภายในมีโขงปราสาทประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง นอกจากนี้ยังมีธรรมาสน์ไม้แกะสลักที่งดงามน่าชม รวมถึงบริเวณฝาน้ำย้อยมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง พุทธประวัติ ทศชาติชาดก และพรหมจักรหรือรามเกียรติ์สำนวนล้านนา นอกจากนี้ภายในวัดยังมีวิหารพระพุทธ และวิหารน้ำแต้ม ซึ่งล้วนแต่งดงามน่าชมอีกด้วย
ดาวเพดานภายในวิหารวัดต้นเกว๋น จ. เชียงใหม่ ตกแต่งด้วยไม้แกะประดับกระจก บนพื้นเพดานที่วาดเป็นลวดลาย (คลิกดูภาพใหญ่)บันไดวิหารล้านนามักสร้างเป็นบันไดนาค ด้วยเชื่อว่านาคเป็นเสมือนสะพานเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ (คลิกดูภาพใหญ่)
วิหารจามเทวี วัดปงยางคก อ. ห้างฉัตร จ. ลำปาง

วิหารแห่งนี้เป็นวิหารโถงเครื่องไม้ มีโขงปราสาทประดิษฐานพระประธานประดับปูนปั้นอย่างงดงาม ซึ่งช่างได้ซ่อนปริศนาธรรมไว้ โดยผู้ที่ต้องการชมพระพักตร์ของพระประธาน ต้องอยู่ในท่าก้มกราบ หมายความว่าผู้ที่ไม่เคารพ ก็ไม่สามารถจะเห็นพระพักตร์ของพระพุทธรูปได้ ส่วนบริเวณเสา ขื่อ และโครงสร้าง จะเขียนลายทองไว้ บริเวณฝาน้ำย้อยมีภาพลายทอง รูปอดีตพระพุทธเจ้าและลายหม้อปูรณมฏะแบบต่างๆ งดงามน่าชมมาก
Home