home
Contact Uscontact@sarakadee.com
สาระเพื่อนักเดินทาง และการท่องเที่ยว อย่างเข้าใจและรอบรู้
เที่ยวทั้วไทยกับ "นายรอบรู้" เดือนพฤษภาคม

รู้หรือ (ไม่) รู้

กระรอก กระแต

พญากระรอกดำเป็นกระรอกขนาดใหญ่ที่สุด เวลาเดินเที่ยวตามสวนผลไม้หรือเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่า มักมีกระรอกกระแตออกมาทักทายให้เห็นอยู่เสมอ พบคราวใดก็อดมองและชื่นชมท่วงท่าน่ารักของพวกมันไม่ได้ ความคุ้นเคยทำให้คนส่วนใหญ่ชอบเรียกกระรอกกระแตคล้องจองและคิดว่าเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน ทั้งที่จริงพวกมันเป็นสัตว์คนละประเภท

สำหรับกระรอก (Squirrel) เป็นสัตว์ฟันแทะ (Rodent) ในอันดับเดียวกับหนู สัตว์กลุ่มนี้มีฟันตัดบนขากรรไกรทั้งคู่ตั้งอยู่ห่างจากฟันบดเคี้ยวโดยไม่มีฟันเขี้ยวคั่นกลาง ช่วยให้กินเมล็ดพืชและส่วนที่แข็งของพืชได้ โดยกระรอกอยู่ในวงศ์ Sciuridae ทุกชนิดมีลำตัวเพรียวยาวและมีหางเป็นพู่ยาว หูและตามีขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ทั้งบนต้นไม้และตามพื้นดิน พวกบนต้นไม้ทำรังในโพรงไม้หรือสร้างรังด้วยกิ่งไม้และใบไม้ในบริเวณที่เปิดโล่ง มีทั้งหากินกลางวันและกลางคืน บางชนิดมีแผ่นหนังขึงระหว่างขาหน้ากับขาหลัง สามารถใช้กางออกเพื่อร่อนจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง เรียกกันว่า กระรอกบิน
ในเมืองไทยพบกระรอกทั้งหมด ๒๗ ชนิด โดยชนิดใหญ่ที่สุดคือพญากระรอกดำใหญ่(Black Giant Squirrel/Ratufa bicolor) มีขนาดยาวประมาณ ๓๗ ซม.
ส่วนกระแต (Treeshrew) มิใช่สัตว์ฟันแทะอย่างกระรอก แต่เป็นสัตว์ในวงศ์ Tupaiidae เนื่องจากกระแตบางชนิดมีขนาดและลักษณะคล้ายกระรอกมาก จึงมักเรียกและจำแนกสับสนกัน ทั้งนี้กระแตมีปลายจมูกยาวแหลมกว่ากระรอกและส่วนใหญ่มีหางยาวไม่เป็นพู่ หรือมีปลายหางเรียวแหลมกว่า กระแตชอบอาศัยบนต้นไม้และหากินเวลากลางวัน โดยกินผลไม้ แมลง และสัตว์เล็กๆ เป็นอาหาร
ในเมืองไทยพบกระแตทั้งหมด ๕ ชนิด ชนิดที่พบบ่อยคือกระแตเหนือ (Northern Treeshew/Tupaia belangeri)

Home