
กล้วยไม้ในธรรมชาติมีมากมายหลากหลายสายพันธุ์ บางพวกก็อยู่บนดิน ขณะที่มีไม่น้อยเจริญงอกงามบนต้นไม้
โผล่เปลือยรากยาวออกมา และชวนให้สงสัยว่า จะได้รับอาหารจากไหน
กล้วยไม้ส่วนใหญ่สามารถสังเคราะห์อาหารได้เอง (autophytic orchid) โดยรากทำหน้าที่ดูดธาตุอาหารจากใต้ดิน
และใช้ใบที่มีคลอโรฟีลล์สังเคราะห์อาหารด้วยแสง ส่วนกล้วยไม้อิงอาศัยก็อาศัยรากดูดกินธาตุอาหารที่ละลายปนมากับน้ำค้างและน้ำฝน
นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้อีกประเภทหนึ่งที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ เนื่องจากไม่มีคลอโรฟีลล์
เราเรียกกล้วยไม้จำพวกนี้ว่า กล้วยไม้กินซาก (saprophytic orchid)
ปรกติเราจะมองไม่เห็นกล้วยไม้กินซาก เพราะมันมีเหง้าหรือหัวซ่อนอยู่ใต้ดิน
คอยหาอาหารโดยอาศัยเบียนจากราที่ย่อยสลายซากพืชหรืออินทรียวัตถุอื่นอีกต่อหนึ่งแทนการสังเคราะห์อาหารด้วยแสง
จนกว่ากล้วยไม้เหล่านี้จะโผล่ช่อดอกขึ้นมาเหนือผิวดินนั่นแหละ ถึงจะมีโอกาสรู้ว่ามีกล้วยไม้กินซากอยู่ตรงไหน
กล้วยไม้กินซากเป็นกล้วยไม้กลุ่มเล็กๆ มักพบตามพื้นดินที่มีใบไม้หรือกิ่งไม้ผุ บริเวณที่ร่มและชื้นในป่าดงดิบ
โดยมีกล้วยมดเป็นชนิดที่พบบ่อย
|