เกษร สิทธิหนิ้ว : เรื่อง / ภาพ

srisakศรีศักร วัลลิโภดม
นักโบราณคดี, นักมานุษยวิทยา วัย ๖๖ ปี

ทุ่มเทชีวิตให้แก่งานด้านนี้มาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น กระทั่งปัจจุบันก็ยังสนุกและใช้เวลาไปกับการลงพื้นที่ ศึกษา ค้นคว้าวิจัยในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่มีหยุด

การศึกษาด้านมานุษยวิทยาทำให้เราเข้าใจความหลากหลายของผู้คนที่อยู่อาศัยในที่ต่าง ๆ  ความเข้าใจจะทำให้เราเคารพความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม และสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่คลั่งชาติ

ผมชอบไปเที่ยวปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ได้เห็นชุมชนชายทะเลที่อยู่ในกระท่อมไม้ไผ่หลังคามุงจาก  ชาวประมงออกหาปลาด้วยเรือกอและ  ได้เห็นชุมชนที่อาศัยในเรือนไม้รูปแบบต่าง ๆ ท่ามกลางเรือกสวนผลไม้นานาชนิด แต่ละครอบครัวมีปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ พี่น้อง และลูกหลาน อยู่ร่วมสัมพันธ์กันอย่างสงบสุข ผู้คนในชุมชนต่างรู้จักกันหมด แทบไม่มีความเป็นปัจเจก  สังคมมุสลิมมีความเป็นปึกแผ่นสูง สภาพเหล่านี้แหละที่คนภายนอกดูหมิ่นดูแคลนว่ายากจนและล้าหลัง เลยจำเป็นต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองเป็นการใหญ่

ขณะที่ภายนอกพยายามเข้าไปเปลี่ยนแปลงเขา ตั้งแต่สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เน้นสร้างชาตินิยม  ต่อมาก็ส่งทหารผ่านศึกเข้าไป แต่ที่สิ่งที่เข้าไปสร้างความปั่นป่วนให้แก่วัฒนธรรมมุสลิมที่สำคัญคือ การเข้าไปจัดตั้งเรื่องการศึกษา ให้เรียนภาษาไทย  มุสลิมเป็นสังคมที่มีศาสนาเป็นวิถีชีวิตและพยายามที่จะธำรงสิ่งนี้ไว้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่มาจากทั้งข้างในและข้างนอก  แต่คนไทยส่วนใหญ่กลับให้ความสำคัญกับศาสนาน้อยลง ชนชั้นกลางส่วนใหญ่แทบจะไม่มีศาสนาเลยก็ว่าได้

งานวิจัยที่ผมลงไปทำในพื้นที่ปัตตานี เห็นชัดเจนเลยว่าพื้นที่ตรงนั้นอยู่ในสภาพล้าหลังทางด้านวัตถุกว่าสังคมที่อยู่รอบ ๆ ราว ๔๐ ปี  ยิ่งภายนอกพยายามเข้าไปพัฒนาเขาเท่าไร เขายิ่งตามไม่ทัน ปรับตัวเข้ากับวัตถุไม่ได้ เขาก็เจ็บปวด มันทำให้เกิด movement บางอย่างขึ้นมาเพื่อทำลายส่ิงที่เป็นอยู่  ทำลายโลกเก่าที่เขาไม่พอใจ แล้วสร้างโลกใหม่ขึ้นมา เหตุการณ์รุนแรงเมื่อปลายเดือนเมษายนก็มีพื้นฐานมาจากสิ่งเหล่านี้เอง เด็กหนุ่ม คนรุ่นใหม่ในสังคมมุสลิมก็เลยต้องหาทางออกเพื่อจะดำรงอยู่ได้ในโลกใหม่ พอมีใครก่อหวอดขึ้นมาหน่อย มันก็พร้อมจะปะทุทันที

แต่ยิ่งเข้าไปแก้ปัญหาก็ยิ่งเหมือนวัวพันหลัก เพราะเราไม่พยายามทำความเข้าใจมิติทางด้านสังคมและวัฒนธรรมของคนที่นั่น เป็นการมองจากภายนอก ไม่ได้สะท้อนปัญหาจากภายใน ถ้าเราเข้าใจและรู้จักใช้ประโยชน์จากงานด้านมานุษยวิทยา เราจะเข้าใจความหลากหลาย เข้าใจคนอื่น และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้