“การที่พ่อทำในสิ่งที่ถูกต้อง แล้วมีบทลงเอยแบบนี้ ไม่ได้ทำให้เรากลัวที่จะทำความดี”

สุเจน กรรพฤทธิ์ : เรื่อง
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ

e01 “ก่อนหน้านี้ดูตัวอย่างการใช้ชีวิตจากพ่อ พ่อเป็นคนทำงาน มีศรัทธาในศาสนา บุคลิกแบบนี้ทำให้คนรอบข้างไว้ใจ และนับถือ พอพ่อหายไปเลยรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มต้นทำตามตัวอย่างที่เราศรัทธาเสียที”

เจ้าของประโยคข้างต้นคือ ประทับจิต นีละไพจิตร นิสิตปริญญาเอกคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ วัย ๒๒ ปี ทายาทคนที่ ๒ จากทั้งหมด ๕ คนของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งถูกคนร้ายลักพาตัวไปกลางกรุงอย่างอุกอาจเมื่อ ๒ ปีก่อน ในช่วงที่เขากำลังทำคดีให้แก่ลูกความซึ่งถูกจับกุมในข้อหาปล้นอาวุธปืนจากค่ายกองพันทหารพัฒนาที่ ๔ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส และว่าความให้ชาวมุสลิมซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายเจมาห์ อิสลามิยาห์ (เจไอ) โดยก่อนหน้านั้นไม่นาน ทนายสมชายได้ออกมาเปิดโปงกรณีที่ลูกความของเขาซึ่งถูกจับกุมในคดีปล้นปืน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมเพื่อให้รับสารภาพ

ถึงวันนี้ การตามหายังดำเนินต่อไป ทางการยังคงไม่มีคำตอบให้ครอบครัวนีละไพจิตรว่าทนายสมชายหายไปไหน และทำไมเรื่องเช่นนี้จึงเกิดขึ้นกลางกรุงเหมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป

อย่างไรก็ตาม การหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ก็ไม่นับเป็นการสูญเปล่า

สำหรับสังคมไทย กรณีการลักพาตัวทนายสมชายกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามต่ออำนาจมืดที่แฝงเร้นอยู่ในสังคม อำนาจรัฐที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะก่อให้เกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ส่วนหนึ่งมักใช้วิธีการนอกระบบ ซึ่งเชื่อกันว่านี่เป็นต้นตอหนึ่งที่ทำให้ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้น

และสำหรับครอบครัวนีละไพจิตรเอง การที่พ่อซึ่งเป็นทั้งหัวหน้าครอบครัว และแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ถูกลักพาตัวไปอย่างไร้ร่องรอย แม้จะสร้างความเจ็บปวดที่ไม่อาจเยียวยา ทว่าเหตุการณ์นี้ไม่ได้จบลงที่การสูญเสีย หากมันกลับกระตุ้นให้บุตรสาวคนรองของครอบครัวหันเหตัวเองมาสู่การทำกิจกรรมเพื่อสังคม หลังจากที่ผ่านมาเธอใช้เวลาไปกับการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว

“ฝันอยากเป็นครูมาตั้งแต่สมัยประถม-มัธยมแล้วค่ะ พอเข้ามหาวิทยาลัยเลือกเรียนรัฐศาสตร์เพราะคิดว่าการเป็นครูไม่จำเป็นต้องจบครุศาสตร์ ต้องย้อนให้ฟังว่าช่วงมัธยมปลาย เรียนที่โรงเรียนราชินี เขามีวิชารัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์ให้เรียนด้วย ทำให้พบว่าระบบคิดของเราเข้ากับวิชารัฐศาสตร์ และพอมาเรียนจริงๆ ก็รู้สึกดีกว่าที่หวัง เพราะอาจารย์ให้คิดเอง หาความรู้เอง จากที่ผ่านมาถูกป้อนทุกอย่างให้

“หลังจากที่พ่อหายไป ก็มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมหลายอย่างด้วยความเมตตา และคำชักชวนของบุคคลสำคัญหลายท่าน แม้บางทีจะอดคิดไม่ได้ว่าเราได้รับโอกาสเหล่านี้มาจากการหายตัวไปของพ่อ แต่ในเมื่อเรื่องมันเกิดขึ้นมาแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ ก็ขอตัดสินใจใช้โอกาสที่ได้รับนี้ให้ดีที่สุด

“เร็วๆ นี้มีโอกาสเข้าประชุมกับตัวแทนคณะทำงานกรณีคนหายขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ทำให้ทราบว่ามีอีกหลายประเทศในเอเชียที่เกิดปัญหานี้เหมือนกัน ซึ่งของเขาหนักกว่าเรามาก และทำให้ได้เรียนรู้ถึงวิธีต่อสู้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความอยุติธรรมของรัฐด้วย ในต่างประเทศ ญาติผู้สูญหายจะรวมตัวกันแล้วเคลื่อนไหวอย่างจริงจังเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก น่าเสียดายที่บ้านเรายังไม่มีเครือข่ายนี้

 

e02

“อีกกิจกรรมที่เพิ่งเข้าร่วมเมื่อเร็วๆ นี้คือ ‘มหกรรมสันติวิธี’ ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เป็นผู้จัด มีโอกาสได้พบคุณโสภณ สุภาพงษ์ วุฒิสมาชิก ท่านชวนลงพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไปกับคณะท่าน ได้ไปเยี่ยมผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัฐ โดยเฉพาะคนที่ญาติโดนอุ้ม แค่เห็นแววตาเขาก็เข้าใจทุกอย่าง เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา และเกิดอะไรขึ้นกับพ่อของเรา ได้พบผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งสูญเสียสามีแล้วร้องไห้ตลอดเวลา ต้องใช้เวลาหลายเดือนที่จะทำใจ และเลิกร้องไห้ ก็เข้าใจเขานะ คนอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ยินได้ฟังข่าวคราวร้ายๆ จนชิน อาจมองว่าเขาอ่อนแอไปหรือเปล่า แต่เราต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ชุมชนมุสลิมภาคใต้เคยสงบร่มเย็น ความรุนแรง และการเอารัดเอาเปรียบมีน้อยมาก ไม่แปลกเลยที่เขาจะสะเทือนใจมากกว่าเราหลายเท่า และฟื้นตัวยากกว่า

“ถึงวันนี้หากพูดเรื่องพ่อ บอกตรงๆ ว่าอยากเจอท่านไม่ว่าจะในสภาพไหน ส่วนตัวไม่มีความแค้นเลย แม้กระทั่งกับผู้ต้องหาคดีลักพาตัวพ่อ เราก็ไม่เคยโกรธเขา เขาน่าสงสารมาก เรามองว่าที่เขาต้องทำพ่อก็เพราะเขากลัว ซึ่งก็ต้องกลับมาถามว่าสังคมแบบไหนทำให้เขาตัดสินใจใช้วิธีที่ไร้วุฒิภาวะเช่นนั้น

“การที่พ่อทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้วมีบทลงเอยแบบนี้ ไม่ได้ทำให้เรากลัวที่จะทำความดี เรามีศาสนาเป็นหลักคิด เรายึดถือกฎสภาวการณ์ของพระเจ้า พระเจ้าเท่านั้นที่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น อยู่ตรงไหนตายได้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญคือจะทำอะไรขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ ระยะยาวคนที่ต้องกลัวคือรัฐ รัฐต้องทบทวนอย่างหนักที่จะทำเรื่องแบบนี้ การทำลายคนดีคนหนึ่งจะเกิดสิ่งที่คุณเจริญ วัดอักษร (ผู้นำชาวบ้านอำเภอบ่อนอกเข้าคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด ซึ่งถูกฆาตกรรมไปเมื่อ ๒ ปีก่อน) และอีกหลายๆ คนก่อนหน้านี้เคยพูดว่า ‘ตายสิบเกิดแสน’ คนไทยไม่โง่จนรัฐนึกจะทำอะไรก็ได้ ปรากฏการณ์ที่คนเดินออกมาขับไล่ผู้นำอยู่ในขณะนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด แต่นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น การต่อสู้ของภาคประชาชนยังต้องดำเนินต่อไปแม้จะมีอุปสรรค มองว่าระยะยาวประชาชนจะมีวุฒิภาวะเรื่องประชาธิปไตยมากขึ้น รัฐบาลชุดปัจจุบันต่อให้กลับมาอีกก็จะถูกจับตามอง และไม่มีทางอยู่สบายอีกต่อไป แต่นอกเหนือไปจากเรื่องนี้ สังคมไทยยังต้องเรียนรู้ด้วยว่าจะต้องปกป้องคนดีที่ทำงานให้สังคม

ว่าที่นักรัฐศาสตร์หญิงทิ้งท้ายกับเราว่า

“ปัญหาของสังคมไทยตอนนี้คือการเข้าถึงข้อมูล เราต้องกระจายข้อมูลความรู้ให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น ข้อมูลความรู้ที่ไม่ใช่แค่เรื่องปากท้อง แต่รวมถึงเรื่องจริยธรรมด้วย ซึ่งที่ผ่านมาสังคมไทยไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก เรามองว่าเยาวชนโดยเฉพาะนิสิตนักศึกษามีหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้เหล่านี้ให้คนในสังคม ดังนั้นจึงตั้งใจว่าต่อไปนี้จะไม่เรียนหนังสือเพื่อรู้อย่างเดียว เรียนแล้วจะทำงานทางวิชาการ เขียนหนังสือ ทำอะไรก็ได้ที่เป็นการเผยแพร่ความรู้ ทำให้คนไทยต่างศาสนาต่างวัฒนธรรมเข้าใจกัน และที่สำคัญ ตัวเราเองยังมีหน้าที่อธิบายความจริง และสิ่งที่เจอในฐานะเหยื่อของการอุ้มฆ่าด้วย จึงหวังอย่างมากว่าวันข้างหน้าจะสามารถสร้างความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ในระดับประเทศได้”

หมายเหตุ : คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รับนิสิตเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกได้โดยไม่ต้องจบปริญญาโทมาก่อน โดยผู้สมัครเรียนต้องได้รับเกียรตินิยมอันดับ ๒ ขึ้นไปในสาขาวิชารัฐศาสตร์ระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ได้เกรดเฉลี่ยรวมในระดับปริญญาตรีมากกว่า ๓.๒๕ ขึ้นไป สอบผ่านข้อสอบข้อเขียนของคณะฯ สอบผ่านข้อสอบข้อเขียนภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยโดยทำคะแนนได้มากกว่า ๕๐๐ คะแนน ผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษของคณะรัฐศาสตร์ การสอบสัมภาษณ์ และสามารถเขียนโครงเรื่องการวิจัยส่งได้