เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : สกล เกษมพันธุ์ และฝ่ายภาพนิตยสาร สารคดี

ความเมืองเรื่องเขาพระวิหาร

ข้อมูลพื้นฐาน ปราสาทพระวิหาร

ที่ตั้ง : เทือกเขาพนมดงแร็ก อำเภอจอมกระสาน จังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา ยอดผาเป้ยตาดี ความสูง ๖๕๗ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ๑๑๐ กิโลเมตร
พิกัดภูมิศาสตร์ (Datum: WGS84) : ๑๔ องศา ๒๓ ลิปดา ๒๘.๒๖ ฟิลิปดาเหนือ
๑๐๔ องศา ๔๐ ลิปดา ๔๘.๙๒ ฟิลิปดาตะวันออก
อายุ : ประมาณ ๙๐๐-๑,๐๐๐ ปี
ระยะเวลาการก่อสร้าง : ประมาณพุทธศักราช ๑๔๓๖-๑๕๙๓ (รัชสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ ถึงพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑)
ผู้ครอบครอง :
พ.ศ. ๑๔๓๖-๑๗๒๓ เป็นเทวสถานศักดิ์สิทธิ์ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ
พ.ศ. ๑๗๒๔-๒๔๔๘ ถูกทิ้งร้าง
พ.ศ. ๒๔๔๙-๒๔๘๓ ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนของฝรั่งเศส
พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๗ เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่ไทยได้คืนจากฝรั่งเศส
พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๙๖ เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่ไทยคืนให้ฝรั่งเศส
พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๕๐๕ ไทยส่งกำลังทหารเข้าไปครอบครอง
พ.ศ. ๒๕๐๕-ปัจจุบัน กัมพูชาครอบครองตามคำพิพากษาของศาลโลก
โบราณสถาน โบราณวัตถุบนเขาพระวิหารที่นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเกี่ยวเนื่องกับตัวปราสาท
ภาพสลักบนหน้าผามออีแดง : ภาพสลักนูนต่ำรูปเทพบุรุษและสตรีในท่านั่งเรียงกัน ๓ องค์ และมีส่วนที่ยังสลักไม่เสร็จ
สถูปคู่ : เป็นสถูป ๒ องค์ ก่อสร้างด้วยหินทราย ลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมลูกบาศก์สูง ๔.๒๐ เมตร ส่วนยอดมนข้างในมีโพรงบรรจุสิ่งของ คนท้องถิ่นเรียก “พระธาตุ” คาดว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของปราสาทพระวิหาร
สระตราว : สระน้ำขนาดใหญ่ คาดว่ามีสถานะเทียบเท่าบาราย (แหล่งเก็บน้ำในอารยธรรมขอม มักสร้างใกล้ปราสาทหิน)บริเวณใกล้เคียงยังพบร่องรอยการตัดหินเพื่อนำไปสร้างปราสาท
ทั้งนี้ ยังมีโบราณสถานอีกจำนวนหนึ่งซึ่งพบในเขตอำเภอจอมกระสาน จังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา
เส้นทางสู่ตัวปราสาท
ทิศเหนือ : ถนนหลวงหมายเลข ๒๒๑ จากอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
จากนั้นเข้าทางบันไดด้านหน้าจากอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ประเทศไทย
ทิศตะวันออก : ช่องบันไดหัก ไต่หน้าผาขึ้นจากอำเภอจอมกระสาน จังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ : ถนนจากบ้านโกมุย อำเภอจอมกระสาน จังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา

ย้อนประวัติศาสตร์ ‘รัก-ชื่น-ขื่น-ชัง’ กรณีปราสาทพระวิหาร

๑๓๔๕ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ เขาพระวิหารมีสถานะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
๑๔๓๖ พระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ สถาปนา “ศรีศิขเรศวร”
๑๘๙๓ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) สถาปนากรุงศรีอยุธยา
๑๙๗๔ กองทัพอยุธยาตีกรุงยโศธรปุระ (เมืองพระนคร) แตก
๒๔๐๖ กัมพูชาส่วนนอกตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
๒๔๓๑ แคว้นสิบสองจุไทของสยามตกเป็นของฝรั่งเศส
๒๔๓๖ เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ สยามสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสยึดจันทบูร (จันทบุรี) ไว้เป็นประกัน
๒๔๔๒ เอกสารฝ่ายไทยระบุว่า กรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ “ค้นพบ” ปราสาทพระวิหาร และสลักชื่อไว้ที่ผาเป้ยตาดีว่า “สรรพสิทธิ์ ๑๑๘'”
๒๔๔๖ สยามสละไชยะบุรี จำปาศักดิ์ และมโนไพร แลกจันทบูรกลับคืนมา โดยทำสนธิสัญญา
ค.ศ. ๑๙๐๔ ส่งผลให้มีการตั้งคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศสเพื่อปักปันเขตแดนระหว่างกัน
๒๔๔๙ สยามทำสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๗ กับฝรั่งเศสสละเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ แลกกับจันทบูรด่านซ้าย และยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนเอเชียในบังคับฝรั่งเศส
๒๔๗๒ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จเยือนปราสาทพระวิหาร
๒๔๘๓ พฤศจิกายน สงครามอินโดจีนระหว่างไทย-ฝรั่งเศส
๒๔๘๔ ต้นปี ไทยกับฝรั่งเศสทำ “อนุสัญญาโตกิโอ” เพื่อยุติสงคราม ส่งผลให้ไทยได้เสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ รวมถึงปราสาทพระวิหาร กลับมาอยู่ในอาณาเขต ก่อนที่กองทัพญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกช่วงปลายปี ทำให้ไทยต้องเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ในฐานะพันธมิตรญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยต้องคืนจังหวัดที่ได้มาทั้งหมดกลับคืนฝรั่งเศสตามเดิม
๒๔๙๗ ไทยส่งทหารขึ้นไปที่ปราสาทพระวิหารจนถึงปี ๒๕๐๐ ระหว่างนี้มีการประท้วงจากฝรั่งเศส ๓ ครั้ง
๒๔๙๘ ๒๕ กุมภาพันธ์ กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส
๒๕๐๑ สื่อมวลชนกัมพูชาโจมตีไทยเรื่องปราสาทพระวิหาร มีการเดินขบวนไปหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทยในกัมพูชา ไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน ๗ จังหวัดชายแดนติดกับกัมพูชา ในเดือนธันวาคม กัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย
๒๕๐๒ ๖ ตุลาคม กัมพูชายื่นฟ้องไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก)
๒๕๐๕ ๑๕ มิถุนายน ศาลโลกตัดสินว่าปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา รัฐบาลไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาด้วยการออกมติคณะรัฐมนตรีสั่งให้ล้อมรั้วลวดหนามรอบปราสาทและถอนทหารออกมา
๒๕๐๙ ไทย-กัมพูชาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอีกครั้งหลังหยุดชะงักไป ๓ ปี
๒๕๑๓ กัมพูชาเปิดเขาพระวิหารให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมจากฝั่งไทย
๒๕๑๘ ปิดเขาพระวิหาร เนื่องจากเขมรแเดงยึดอำนาจ และเกิดสงครามกลางเมืองภายในกัมพูชา
๒๕๓๕ เปิดเขาพระวิหารหลังพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของฮุนเซนชนะการเลือกตั้ง ทางฝั่งไทย จังหวัดศรีสะเกษสร้างประตูเหล็กบนสะพานข้ามลำห้วยอะมาเรียเพื่อควบคุมเส้นทางเข้าออกของนักท่องเที่ยว
๒๕๓๖ ปิดเขาพระวิหาร เนื่องจากกองกำลังเขมรแดงยึดครองพื้นที่เขาพระวิหาร และทำการต่อสู้กับทหารฝ่ายฮุนเซน
๒๕๔๑ กรกฎาคม ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารีเจรจากับผู้บัญชาการทหารของพรรคประชาชนกัมพูชาที่ดูแลเขาพระวิหาร ตกลงว่าจะทดลองเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวเขาพระวิหาร ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมปราสาทตั้งแต่ ๑ สิงหาคมเป็นต้นไป ต่อมาเกิดชุมชนกัมพูชาแห่งแรกบนเขาพระวิหาร ต่อมาขยายมาอยู่ด้านหน้าบันไดทางขึ้นปราสาท โดยแนวรั้วลวดหนามเดิมตามมติ ครม. ปี ๒๕๐๕ หายไป
๒๕๔๓ ไทยและกัมพูชาลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา โดยคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee-JBC)
๒๕๔๔ – ๓๑ พฤษภาคม กองกำลังสุรนารีมีคำสั่งให้ปิดจุดผ่านแดนเขาพระวิหาร เนื่องจากกัมพูชาไม่ให้ความร่วมมือแก้ปัญหาน้ำเสียที่ไหลมาฝั่งไทย ซึ่งเป็นปัญหามาหลายปี
– กรกฎาคม ไทยกับกัมพูชาตกลงในหลักการร่วมพัฒนาเขาพระวิหารให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว
๒๕๔๖ – ๓๑ พฤษภาคม ที่ประชุม ครม. ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชาที่ จ. เสียมเรียบ มีมติตั้ง “คณะ
กรรมการร่วมมือเพื่อพัฒนาเขาพระวิหาร” เพื่อเปิดเขาพระวิหารเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกครั้ง
๒๕๔๗ เปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวเขาพระวิหารให้นักท่องเที่ยวขึ้นชมปราสาทอีกครั้ง
๒๕๔๘

  • มกราคม กระทรวงการต่างประเทศไทยประท้วงกัมพูชากรณีตั้งชุมชนบริเวณทางขึ้นปราสาทและสร้างอาคารที่ทำการหน่วยงานท้องถิ่นบนพื้นที่ทับซ้อน และในเดือนกันยายน ประท้วงกรณีการตัดถนนจากบ้านโกมุย จังหวัดพระวิหาร ขึ้นมาจนถึงตัวปราสาท
  • ๘ มีนาคม กัมพูชายื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อยูเนสโก
    อย่างเป็นทางการ

๒๕๔๙

  • ๓๐ มกราคม ศูนย์มรดกโลกของยูเนสโกที่ปารีสขอให้กัมพูชายื่นเอกสารใหม่ในส่วนที่เกี่ยวกับเขตกันชนของปราสาทพระวิหาร และมีคำแนะนำให้ร่วมมือกับไทย
  • เมษายน กัมพูชาออก “พระราชกฤษฎีกากำหนดขอบเขตในการอนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร” และใช้แผนที่กำหนดขอบเขตกินเข้ามาในพื้นที่ทับซ้อน

๒๕๕๐ กัมพูชายื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารอีกครั้ง ขณะที่ไทยยื่นบันทึกช่วยจำต่อเอกอัครราชทูตกัมพูชาและเสนอขึ้นทะเบียนร่วม (Transboundary property) แต่คณะกรรมการมรดกโลกสากลมีมติเลื่อนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารออกไป โดยให้ไทยกับกัมพูชาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด

๒๕๕๑

  • ๒๒ พฤษภาคม นายนพดล ปัทมะ รมว. กระทรวงการต่างประเทศ ลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กับนายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ปารีส หลังหารือจนได้ข้อสรุปว่ากัมพูชาจะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท และแก้ไขแผนผังบริเวณที่จะขึ้นทะเบียนโดยไทยจะให้การสนับสนุน
  • ๑๘ มิถุนายน นายนพดล ปัทมะ ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Communique)
  • ๒๓ มิถุนายน กัมพูชาปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวเขาพระวิหารโดยไม่แจ้งล่วงหน้า พร้อมให้เหตุผลว่า มีม็อบไปประท้วงบริเวณทางขึ้นฝั่งไทยซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชาวกัมพูชา
  • ๒๗ มิถุนายน ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามไม่ให้ใช้แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และในวันที่ ๘ กรกฎาคม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชามีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน
  • ๘ กรกฎาคม คณะกรรมการมรดกโลกสากล ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
  • ๑๕ กรกฎาคม เกิดความตึงเครียดบริเวณเขาพระวิหาร ไทยและกัมพูชาเสริมกำลังพร้อมอาวุธหนักเข้าตรึงพื้นที่
  • ๒๘ กรกฎาคม รัฐบาลไทยส่งนายเตช บุนนาค รมว. กระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ ไปเจรจากับนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เสียมเรียบ และกรณีพิพาทนี้ยังดำรงอยู่จนปัจจุบัน

“ศาล
โดยคะแนนเสียงเก้าต่อสาม
ลงความเห็นว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา
โดยเหตุนี้ จึงพิพากษาโดยคะแนนเสียงเก้าต่อสาม
ว่าประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา.

โดยคะแนนเสียงเจ็ดต่อห้า
ว่าประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องคืนให้แก่กัมพูชา บรรดาวัตถุชนิดที่ได้ระบุไว้ในคำแถลงสรุปข้อห้าของกัมพูชาซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยอาจจะได้โยกย้ายออกไปจากปราสาทหรือบริเวณพระวิหาร นับแต่วันที่ประเทศไทยเข้าครอบครองพระวิหารเมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๔ (พ.ศ. ๒๔๙๗)”

ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาของศาลโลก คดีปราสาทพระวิหาร (ระหว่างประเทศกัมพูชากับประเทศไทย)
๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๕

กลางเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๓

๖.๓๐ น. ผมยืนอยู่ที่เชิงบันไดทางขึ้นปราสาทพระวิหาร

เงาทะมึนของบันไดหินซึ่งปกคลุมด้วยกลุ่มหมอกสีขาวเบื้องหน้าทำเอาใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ประหวัดถึงตำนาน “วิหารสวรรค์” ที่ชาวบ้านแถบทิวเขาพนมดงแร็กเล่าขานกันมาว่า เป็นที่สถิตของเทพเจ้าแห่งขุนเขา เป็นสถานที่ที่กษัตริย์ขอมหลายพระองค์ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายแด่เทพเจ้า เพื่อยังความรุ่งเรืองแก่พระราชอาณาจักร

ผมเดินขึ้นบันไดปราสาทพระวิหารช้าๆ นึกสงสัยว่าเทวสถานแห่งนี้เองหรือที่ตั้งอยู่บนสภาพแวดล้อมที่อัศจรรย์ที่สุดทั้งในแง่รัฐศาสตร์และภูมิศาสตร์

และเมื่อ ๓๘ ปีก่อน เป็นเหตุแห่งข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา

ผมได้สัมผัสความอลังการของเทวสถานขณะยืนอยู่บนยอดผาเป้ยตาดี มองไปยัง “ขแมร์กรอม” (เขมรต่ำ-แผ่นดินทิศใต้ของทิวเขาพนมดงแร็กที่ลดระดับลงจนเป็นที่ราบกว้างใหญ่ ส่วนทิศเหนือของทิวเขาเป็นที่ราบสูงภาคอีสานของไทย เรียกในภาษาถิ่นว่า “ขแมร์เลอ” หรือเขมรสูง) อันงดงามกว้างไกล แล้วกลับลงมาด้วยความอิ่มเอิบใจ

ไม่นึกว่าอีก ๘ ปีต่อมา เมื่อมีโอกาสกลับมาเยือนที่นี่อีกครั้ง จะทำได้เพียงหยุดยืน ณ แนวลวดหนามที่ทหารพรานวางบนลานหินก่อนถึงห้วยอะมาเรีย ที่ตั้งของประตูและสะพานซึ่งเชื่อมสู่ทางขึ้นปราสาทพระวิหาร

หยุดยืนท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดของเจ้าหน้าที่ทหารพรานที่ดูแลชายแดน เนื่องจากด้านหนึ่งกัมพูชาปิดประตูทางขึ้นโดยมิได้บอกกล่าว ขณะที่อีกด้านต้องรับมือม็อบที่เดินทางมาประท้วงขับไล่ชาวกัมพูชาซึ่งมาตั้งร้านค้าในพื้นที่ที่ทั้งไทยและกัมพูชาอ้างว่าเป็นดินแดนของตน

ยังไม่นับเสียงวิจารณ์ของนักท่องเที่ยวไทยจำนวนมากที่บ่นด้วยความไม่เข้าใจว่า ทำไมกัมพูชาจึงขึ้นทะเบียนปราสาทแห่งนี้เป็นมรดกโลกได้สำเร็จ ทั้งที่เส้นเขตแดนบริเวณนี้ยังปักปันไม่เรียบร้อย

ที่สำคัญพวกเขาหลายคนเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าปราสาทยังเป็นของไทย

พุทธศักราช ๒๕๕๑ ประวัติศาสตร์บาดแผลที่ตกสะเก็ดกว่า ๔ ทศวรรษถูกเปิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ “ปราสาทพระวิหาร” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

มรดกโลก ที่อาจแปลความอย่างสามัญที่สุดได้ว่า

“สมบัติของมวลมนุษยชาติ”

preahvihearnew01

ปราสาทพระวิหาร หรือ “เปรี๊ยะวิเฮียร” สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระศิวะ จารึกที่ค้นพบที่นี่เผยว่า เขาพระวิหารเป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ และทวีความสำคัญเมื่อพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ สถาปนา “ศรีศิขเรศวร” ขึ้น จากนั้นปราสาทก็เป็นรูปเป็นร่างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ การสร้างปราสาทหินในยุคนั้นเพื่อถวายเทพเจ้าและอุปถัมภ์ศาสนา (ภาพ : สกล เกษมพันธุ์)

preahvihearnew24

ปราสาทพระวิหารจากมุมสูง มองจากทิศเหนือย้อนไปทางทิศใต้เห็นชัดเจนถึงความโดดเ่ด่นของผังปราสาทแบบ “วิ่งเข้าหาจุดศูนย์กลาง” จากบันไดและอาคารไล่ไปจนถึงยอดเขาซึ่งพุ่งไปบนท้องฟ้าเหนือดินแดนเขมรต่ำ เป็นดั่งเขาไกลาศที่ประทับของพระศิวะ (ภาพ : สกล เกษมพันธุ์, บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช)

-๑-

“การก่อสร้างศาสนสถาน คือความทะเยอทะยานอันสูงสุดที่จะแสดงถึงความจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า”

ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี
บิดาแห่งวิชาศิลปะสมัยใหม่ของไทย

“ศรีศิขเรศวร”
จารึกที่เขียนด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต หลายหลักที่ค้นพบในบริเวณเทวสถานแห่งนี้เขียนไว้เช่นนั้น

คำนี้เกิดจากการสมาสกันของคำว่า “ศิขร” (ภูเขา) และ “อิศวร” (เทพองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู) ดังนั้นที่แห่งนี้จึงเป็นที่สถิตของเจ้าแห่งขุนเขาอันหมายถึงพระอิศวร ตามความเชื่อในลัทธิไศวนิกายที่นับถือพระอิศวร (หรือพระศิวะ) เป็นเทพสูงสุด

และยังบอกอีกว่า การก่อสร้างเทวสถานแห่งนี้น่าจะเริ่มก่อนกำเนิดกรุงสุโขทัยราว ๒๐๐ ปี ซึ่งถ้าสืบย้อนกลับไปจะพบว่าตรงกับสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๔๓๒-๑๔๔๓)

ทั้งนี้ จารึกที่ค้นพบ ณ ปราสาทพระวิหาร ๓ หลักคือ จารึกศิวะศักติ จารึกหมายเลข K 380 และ K 381 ยังทำให้เราทราบว่า การสร้างเทวาลัยแห่งนี้เริ่มก่อรูปก่อร่างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๓๔๕-๑๓๙๓) ในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือ “ภวาลัย” ที่ทรงมอบแก่เจ้าพื้นเมืองที่ครองดินแดนแถบเขาพระวิหารซึ่งอยู่ในตระกูล “พระนางกัมพูชาลักษมี” พระมเหสีของพระองค์ แล้วเป็นรูปเป็นร่างในสมัยพระเจ้ายโศวรมัน ซึ่งได้สถาปนาศรีศิขเรศวรไว้ที่นี่ในปี พ.ศ. ๑๔๓๖ ถือเป็นจุดกำเนิดของ “ศรีศิขเรศวร” ซึ่งภายหลังคนไทยเรียก “ปราสาทพระวิหาร” คนกัมพูชาเรียก “เปรี๊ยะ วิเฮียร”

อันจะมีความสำคัญต่อเนื่องไปจนถึงรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ซึ่งใช้ที่แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของลัทธิเทวราชา โดยจารึกกล่าวว่าพระองค์ส่ง “ทิวากรบัณฑิต” พราหมณ์คนสำคัญมาบวงสรวงพระศิวะทุกปี ความสำคัญของเทวาลัยแห่งนี้ยังทำให้ชุมชนโดยรอบที่กษัตริย์อุทิศไว้ให้รับใช้เทวสถานขยายตัว ชุมชนที่มีชื่อในจารึกก็เช่น กุรุเกษตร พะนุรทะนง เป็นต้น ชุมชนเหล่านี้ตั้งอยู่รอบเขาพระวิหารโดยมีเทวสถานเป็นศูนย์กลางความเชื่อและศรัทธา ทั้งยังอาศัยน้ำที่ไหลลงมาจากยอดเขาสู่แหล่งน้ำต่างๆ นักวิชาการบางคนเชื่อว่าชุมชนรอบๆ นี้อาศัยน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เห็นได้จากการค้นพบฐานศิวลึงค์สลักอยู่บนลานหินใกล้สายน้ำที่ไหลผ่านด้านหน้าเทวสถานทางทิศเหนือ

“สถาปนิกของศาสนสถานอันสวยงามอย่างยิ่ง คือปราสาทพระวิหารนี้ได้วางแผนผังด้วยความฉลาดอย่างยิ่ง ทำให้ปราสาทแห่งนี้เปรียบเสมือนการค่อยๆ ก้าวขึ้นไปสู่ที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า คือยังเขาไกรลาส สถาปนิกได้ฉวยโอกาสจากพื้นที่ที่สวยงามตามธรรมชาติอย่างพิเศษมาทำให้การก่อสร้างของตนนั้นมีความหมายยิ่งขึ้น”

ครั้งหนึ่ง ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี กล่าวถึงปราสาทพระวิหารไว้เช่นนั้น

และมันคงไม่เกินจริง ถ้าพิจารณาที่ตั้งซึ่งนายช่างขอมได้ใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศมาเสริมส่งความงามสง่าของตัวปราสาทได้อย่างน่าอัศจรรย์

ด้วยการวางผังแบบ “วิ่งเข้าจุดศูนย์กลาง” สร้างทางเข้าหลักจากเชิงเขาด้านทิศเหนือ โดยสร้างบันไดเชื่อมซุ้มประตูและอาคารสำคัญต่างๆ ขึ้นไปจนถึงปรางค์ประธานอันเป็นศูนย์กลางเทวสถานที่ยอดเขา ประหนึ่งว่าการก้าวเข้าสู่ตัวปราสาทเป็นดั่งการเข้าสู่ที่ประทับของพระอิศวร ณ ยอดเขาไกลาส ซึ่ง ณ ที่นี้แทนด้วย “ยอดผาเป้ยตาดี” ที่ความสูง ๖๕๗ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ยอดผาเป้ยตาดี

ถ้าดูจากภาพถ่ายดาวเทียมจะพบว่าเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาพนมดงแร็ก (ภูเขาไม้คาน) ทอดตัวจากตะวันตกสู่ตะวันออก กั้นที่ราบสูงภาคอีสานกับที่ราบเขมรต่ำออกจากกัน

ถ้ามองจากสายตาของนก ก็จะเห็นปราสาทพระวิหารเป็นดั่งทิพยวิมานบนสรวงสวรรค์ ด้วยยอดผานั้นได้ชี้ทะลุขึ้นสู่ท้องฟ้าเหนือระดับเมฆหมอก โดยมีแผ่นดินเขมรต่ำที่แผ่ออกกว้างไกลประหนึ่งมหาสมุทรรองรับอยู่เบื้องล่าง

วันปลายเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๓
ตั้งแต่ผมย่างเท้าผ่านประตูเหล็กข้ามห้วยเล็กๆ ชื่ออะมาเรีย ซึ่งทหารไทยและกัมพูชาที่ดูแลชายแดนใช้ควบคุมการเข้าออกของนักท่องเที่ยว สิ่งต่างๆ ที่กล่าวไปแล้วก็ปรากฏขึ้นตรงหน้า

จากตรงนั้น ทางขึ้นปราสาทพระวิหารเริ่มที่บันไดหิน ๑๖๒ ขั้น ขึ้นไปทางทิศใต้ เชื่อมกับบันไดหิน ๕๔ ขั้นขนาดย่อมกว่า อันจะนำขึ้นไปสู่ลานนาคราชและโคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นที่ ๑ และ ๒

เมื่อถึงโคปุระชั้นที่ ๓ จะพบกลุ่มอาคารที่เป็น “มณเฑียร” หรือปราสาทตั้งอยู่ร่วมกับโคปุระ มีลักษณะเป็นอาคารใหญ่ ๕ หลัง นักโบราณคดีเชื่อว่า เดิมหลังคามณเฑียรเหล่านี้น่าจะมุงด้วยเครื่องไม้ จึงผุพังไปตามกาลเวลา ปราศจากร่องรอยหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน

และในชั้นที่ ๔ ซึ่งเป็นชั้นสำคัญที่สุด ผมพบมหาปราสาทอันประกอบด้วยโคปุระ ระเบียงคด บรรณาลัย และภวาลัย (ปรางค์ประธาน)

ศาสตราจารย์ศิลปยังเชื่อว่า โคปุระน่าจะเป็นอาคารสำหรับผู้แสวงบุญใช้นั่งสมาธิเพื่อเตรียมจิตใจให้บริสุทธิ์ ก่อนเข้าใกล้ที่ประทับของเทพเจ้า นอกจากทำหน้าที่เป็นซุ้มประตูเช่นเดียวกับโคปุระในวัฒนธรรมอินเดีย ทั้งนี้โคปุระทุกชั้นยังปรากฏภาพสลักบริเวณหน้าบันและทับหลังที่มีความสำคัญจำนวนมาก อาทิ หน้าบันด้านทิศใต้ของโคปุระชั้นที่ ๒ มีภาพสลัก “กวนเกษียรสมุทร” ซึ่งสลักขึ้นตามความเชื่อเรื่อง “กูรมาวตาร” ในคัมภีร์รามายณะ กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระนารายณ์อวตารเป็นเต่า (กูรมะ) เพื่อรองรับภูเขามันทระที่กำลังจะทะลุผืนแผ่นดินลงไป จากการที่ถูกนำมาใช้เป็นแกนกวนเกษียรสมุทรเพื่อให้ได้น้ำอมฤตของเหล่าเทพและอสูร

ภาพสลักสำคัญที่สุดน่าจะเป็น “ศิวนาฏราช” ที่หน้าบัน แสดงการร่ายรำของพระศิวะเพื่อรักษาสมดุลให้โลกสามารถผ่านการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างปลอดภัย ซึ่งตามคัมภีร์บอกว่า หากทรงร่ายรำด้วยจังหวะเชื่องช้า โลกจะสงบสุข ถ้าเป็นจังหวะร้อนแรงรวดเร็ว โลกก็จะถึงแก่กาลแตกดับไป

อย่างไรก็ตาม มีการตีความภาพสลักนี้ในอีกมุมหนึ่งว่าอาจเป็นภาพสลัก “คชาสุรสังหารมูรติ” เล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งพระศิวะทรงสังหารอสูรรูปช้าง แล้วทรงนำหนังช้างมาเป็นอาภรณ์ท่อนบน

วันที่ผมไปเยือนปราสาทพระวิหาร ภาพสลักที่หน้าบันและทับหลังตามโคปุระทั้งหมดมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ปรางค์ประธานทั้งหลังยกเว้นอาคารมุขหน้านั้นพังทลายลงหมดแล้ว หลังขาดการบูรณะมาหลายร้อยปี ถ้าอนุมานจากหลักฐานที่พบก็ประมาณได้ว่าขาดการบูรณะตั้งแต่อาณาจักรขอมเสื่อมลง โดยเฉพาะหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ เป็นต้นมา จนถึงสิ้นยุคจักรวรรดิขอมในพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ซึ่งขณะนั้นเกิดอาณาจักรของคนสยามคือสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาขึ้นทางทิศตะวันตก และในที่สุดปี พ.ศ.๑๙๗๔ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) แห่งกรุงศรีอยุธยา ก็ส่งกองทัพมาโจมตีเมืองพระนครหรือกรุงยโศธรปุระจนแตกพ่าย กวาดพราหมณ์ราชบัณฑิต และทรัพย์สินกลับสู่ราชสำนักอยุธยา อันเป็นที่มาของอิทธิพล “เทวราชา” ความเชื่อที่สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ในความรู้สึกของคนไทยจำนวนมากที่มีต่อสถาบันกษัตริย์

ในขณะเดียวกันก็มีผู้เสนอว่า มันอาจจะถูกรื้อลงด้วยความจงใจในยุคหลังก็เป็นได้ เพราะในกัมพูชายุคหลังพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มีการทำลายหรือดัดแปลงเทวสถานให้เป็นไปตามที่ผู้ปกครองต้องการอยู่บ่อยครั้ง

กว่า ๑,๐๐๐ ปีผ่านไป ถ้าวันนี้จะมีใครสักคนถามถึงเหตุผลของการสร้างปราสาท ก็อาจอธิบายง่ายๆ ด้วยคำว่า “ศรัทธา”

เป็นศรัทธาและความทะเยอทะยานอันสูงสุดที่จะแสดงความจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า ที่ผลักดันให้ชนชาวขอมทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ ตัดหิน ขนหิน ชักลากขึ้นไปยังยอดผาสร้างมหาปราสาทอันแสนมหัศจรรย์ถวายเป็นบรรณาการแด่เทพเจ้า

กาลเวลาและบรรยากาศสามารถกลั่นเป็นจินตภาพผ่านบันทึกของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เมื่อคราวที่ท่านเดินทางมาเยือนปราสาทพระวิหาร ได้ว่า

“…หินแต่ละก้อนที่ก่อตั้งขึ้น ประติมากรรมแต่ละรูปที่สลักขึ้นเพื่อตกแต่งศาสนสถานเหล่านั้น ก็เป็นการกระทำอันสูงสุดทางศาสนา ซึ่งแต่ละคนอาจจะกระทำถวายแด่พระผู้เป็นเจ้าได้ ทุกคนเชื่อและทุกคนอยู่ภายในพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเป็นดังนี้ ก็ย่อมทนความทุกข์ทรมานและความเหนื่อยอ่อนที่เกิดขึ้นได้ ด้วยดวงใจอันสงบ คือมีความรู้สึกทางจิตใจสนับสนุนทางวัตถุอยู่ และทุกคนก็จะอยู่ในความสุขสงบด้วยมีความเชื่อในชีวิตเบื้องหน้าอันเต็มไปด้วยความสุขอย่างไม่รู้จักสุดสิ้น”

preahvihear02

แผนที่ “แผ่นดงแร็ก” ๑ ในแผนที่ ๑๑ ฉบับแสดงเส้นพรมแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน ทำขึ้นโดยฝรั่งเศสเมื่อปี ๒๔๕๐ ตามแผนที่ฉบับนี้ เส้นพรมแดนบริเวณเขาพระวิหารไม่เป็นไปตามสันปันน้ำซึ่งต่อมากลายเป็นระเบิดเวลาที่ถูกวางไว้ในสายสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

preahvihear03

หลังกรณีพิพาทดินแดนอินโดจีนสงบลงด้วยการที่สยามกับฝรั่งเศสทำสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จเยือนเขาพระวิหารเมื่อปี ๒๔๗๒ ในภาพคณะของพระองค์ขณะลงจากปราสาทพระวิหารที่ตีนบันได้มีพลับพลาชั่วคราวและเสาธงชาติฝรั่งเศสตั้งอยู่ (ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ)

preahvihear05

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสนทนากับข้าหลวงฝรั่งเศสบนยอดผาเป้ยตาดี (ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ)

-๒-

“เรสิดัง กำปงธม กับผู้ช่วย และเมอร์สิเออร์ ปามังติเอนักโบราณคดีฝรั่งเศสคอยรับเสด็จอยู่ที่บริเวณริมบันไดขึ้นพระวิหาร เรสิดังแต่งตัวเต็มยศ ตรัสว่าเสด็จมาคราวนี้มิได้เปนทางราชการ เปนแต่มาเที่ยวดูของโบราณเท่านั้นขอให้เรสิดังสรวมเสื้อขาวเสียให้สบายเถิด แล้วเมอร์สิเออร์ ปามังติเอ ได้เปนผู้นำเสด็จทอดพระเนตร์ พระวิหารต่อไป…”

ขุนบริบาลบุรีภัณฑ์
ใน จดหมายเหตุการเสด็จตรวจโบราณวัตถุสถาน มณฑลนครราชสีมา ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ. ๒๔๗๒

กษัตริย์ขอมและนายช่างผู้สร้างปราสาทพระวิหารย่อมไม่คิดว่า ปราสาทแห่งนี้จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างสยาม ฝรั่งเศส และกัมพูชาในอีกหลายร้อยปีต่อมา

“ยุคที่สร้างปราสาทพระวิหารไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเขตแดนหรือประเทศ การสร้างเทวสถานของกษัตริย์ขอมมิใช่การอ้างสิทธิเหนือดินแดน แต่เป็นการอุปถัมภ์ศาสนาและสมานฉันท์กับคนพื้นเมือง ใช้กระบวนการ ‘ฮินดูไนเซชัน'(Hidu-nization-ทำให้คนนับถือศาสนาฮินดู) กวาดศาสนาพื้นเมืองคือความเชื่อเรื่องผีให้มาอยู่ใต้เทพฮินดู ผมยังอยากให้ภาพว่าบริเวณเขาพระวิหารมีลักษณะเป็นเมืองด่าน เป็นแหล่งจาริกของนักพรต มีชุมชน มีผู้คนมาปะทะสังสันทน์กันอีกด้วย”

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดีอาวุโสยืนยันว่า การนำเรื่องในอดีตมาอ้างสิทธิเหนือปราสาทพระวิหารในปัจจุบันนั้นทำไม่ได้ ทั้งยังอธิบายต่อว่า เขาพระวิหารและพื้นที่โดยรอบสมัยก่อนนั้นมีสถานะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นจุดเชื่อมร้อยวัฒนธรรมจากใต้และเหนือทิวเขาพนมดงแร็ก
โดยตัวทิวเขามิได้ถูกคนโบราณใช้เป็น “เส้นเขตแดน” แบ่ง “รัฐชาติไทย” กับ “รัฐชาติกัมพูชา” ออกจากกันเหมือนปัจจุบันนี้

โดยเฉพาะในเวลานั้น รัฐชาติไทยและรัฐชาติกัมพูชาต่างยังไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ปัญหาเริ่มต้นขึ้นพร้อมการล่าอาณานิคมในอุษาคเนย์ของมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มีผลต่อความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชากรณีปราสาทพระวิหารในปัจจุบันนั้น สืบเนื่องแต่สมัยปลายรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา

สถานการณ์บนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ขณะนั้น อังกฤษยึดพม่าได้ทั้งอาณาจักรตั้งแต่ปี ๒๓๖๘ ขณะที่ฝรั่งเศสกำลังจะยึดเวียดนามได้ทั้งหมด ส่งผลให้อาณาเขตของสองมหาอำนาจตะวันตกเข้ามาประชิดแดนสยามทั้งด้านตะวันตกและตะวันออก

ตำราเรียนสำนักประวัติศาสตร์ชาตินิยมชี้ว่า สยาม “เสียดินแดน” ให้แก่ฝรั่งเศสต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี ๒๔๐๖ เมื่อสมเด็จนโรดม กษัตริย์กัมพูชา เซ็นสนธิสัญญาเป็นรัฐภายใต้อารักขาของฝรั่งเศส (The Protectorate Treaty) ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม

ปี ๒๔๓๑ เสียแคว้นสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหก (ปัจจุบันคือพื้นที่ตอนเหนือของลาวติดกับเวียดนาม)

ปี ๒๔๓๖ เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ปัจจุบันคือประเทศลาว) จากเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เมื่อฝรั่งเศสส่งเรือรบ ๓ ลำ คือ แองโค้งสต็องต์ โคแม็ต และ เลอฟอร์เฟต์ มาที่อ่าวไทย โดยในช่วงย่ำค่ำวันที่ ๑๓ กรกฎาคม เรือรบ แอง-โค้งสต็องต์ ได้บุกฝ่าแนวป้องกันเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยามาทอดสมออยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสฝั่งตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง พร้อมแสดงท่าทีคุกคามอย่างชัดเจน ทั้งนี้ฝรั่งเศสได้ยึดจันทบูร (จันทบุรี) ไว้เป็นประกัน

ปี ๒๔๔๖ สละไชยะบุรี (ปัจจุบันคือเมืองไชยะบุรี สปป. ลาว) แขวงจำปาศักดิ์ (ปัจจุบันคือแขวงจำปาศักดิ์ทางตอนใต้สุดของ สปป. ลาว) และมโนไพร (เขตกัมพูชาติดกับภาคใต้ของลาว) เพื่อแลกกับจันทบูรกลับคืนมา โดยทำ “หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส” หรือที่เรียกว่า “สนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔” (๑๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒) ซึ่งครั้งนี้มีการตั้งคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศสทำการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสโดยยึดหลัก “สันปันน้ำ”

และในปี ๒๔๔๙ สละเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณแลกกับด่านซ้าย (เลย) และตราดที่ฝรั่งเศสยึดไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๔๖ และยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนเอเชียในบังคับฝรั่งเศสด้วย โดยทำ “หนังสือสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามกับเปรสิเดนต์แห่งรีปับลิกฝรั่งเศส” หรือ “สนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๗” (๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕) และตั้งคณะกรรมการผสมเพื่อปักปันเขตแดนชุดใหม่

ในช่วงนี้เอง แผนที่ที่รู้จักกันในนามแผนที่ “ผนวก ๑” มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีการขีดเส้นเขตแดนบริเวณเขาพระวิหารไม่เป็นไปตามสันปันน้ำ โดยเฉือนเอาปราสาทพระวิหารเข้าไปไว้ในเขตกัมพูชา ได้รับการจัดพิมพ์ขึ้นที่ฝรั่งเศส โดย ๑ ชุดแผนที่ประกอบด้วยแผนที่แสดงแนวพรมแดน ๑๑ แผ่น และ “แผ่นดงแร็ก” คือแผนที่แสดงเขตแดนบริเวณเขาพระวิหาร หลังจากนั้นได้มีการส่งให้สยามนำมาใช้

หลังสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๗ กรณีพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศสก็สงบลง ซึ่งถ้ามองตามประวัติศาสตร์ชาตินิยมอาจสรุปได้ว่า สยาม “เสียดินแดน” ให้แก่ฝรั่งเศสทั้งหมด ๔๘๑,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร (เกือบเท่าพื้นที่ประเทศปัจจุบัน ๕๑๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร)

แต่ก็มีคำอธิบายอีกชุดหนึ่งที่แตกต่างออกไป

ผศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตซึ่งเมื่อ ๑๘ ปีก่อนได้ทำรายงานการศึกษาระดับปริญญาโทเรื่อง “การเรียกร้องดินแดน พ.ศ. ๒๔๘๓” ตีพิมพ์ใน สมุดสังคมศาสตร์ เมื่อปี ๒๕๓๓ กลับมองต่างออกไปว่า

“สยามสมัยของการล่าอาณานิคมนั้น ด้านหนึ่งอยู่ในฐานะของกระบวนการสร้าง ‘ประเทศ’ ได้รับแรงกดดันจากมหาอำนาจสมัยใหม่ อีกด้านก็แสดงให้เห็นการปรับตัวในฐานะอดีตชาติมหาอำนาจเหนือดินแดนในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกัมพูชา…ไม่เพียงแต่สยามจะดำเนินการเพื่อปกป้องและรักษาสิทธิของตน ทั้งโดยวิธีการอ้างสิทธิธรรมตามระบบบรรณาการแบบเดิม และการอ้างสิทธิตามแบบอย่างโลกตะวันตกในรูปของสนธิสัญญา ดังนั้นสยามจึงอยู่ในสถานะของ ‘การต่อสู้แย่งชิงดินแดนกับฝรั่งเศส’ ด้วยเช่นกัน”

ผลการต่อสู้นั้นจึงอาจมองอีกมุมได้ด้วยว่า สยาม “ไม่ได้ดินแดน” มิใช่ “เสียดินแดน”

ช่วงหลังจากนั้นมีชาวสยามและชาวต่างประเทศเดินทางไปเยือนเขาพระวิหารเป็นระยะ รวมถึงมีการใช้อำนาจปกครองของสยามในกิจการต่างๆ ด้วยเข้าใจว่าพื้นที่นี้อยู่ในเขตตน

ต้นปี ๒๔๗๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา ได้เสด็จไปทอดพระเนตรปราสาทพระวิหาร

ครั้งนั้น ขุนบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร(ต่อมาเป็นหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์) ผู้ติดตามขบวนเสด็จ ได้บันทึกไว้ใน จดหมายเหตุการเสด็จตรวจโบราณวัตถุสถาน มณฑลนครราชสีมา ว่า การเดินทางครั้งนั้นเป็นไปด้วยดี และกล่าวถึงเหตุการณ์ที่จะมีผลอย่างยิ่งต่อการได้สิทธิเหนือปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชาในภายหลัง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเช้าตรู่วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๗๒ ว่า

“เรสิดัง กำปงธม กับผู้ช่วย และเมอร์สิเออร์ ปามังติเอ นักโบราณคดีฝรั่งเศสคอยรับเสด็จอยู่ที่บริเวณริมบันไดขึ้นพระวิหาร เรสิดังแต่งตัวเต็มยศ ตรัสว่าเสด็จมาคราวนี้มิได้เปนทางราชการ เปนแต่มาเที่ยวดูของโบราณเท่านั้นขอให้เรสิดังสรวมเสื้อขาวเสียให้สบายเถิด แล้วเมอร์สิเออร์ปามังติเอ ได้เปนผู้นำเสด็จทอดพระเนตร์ พระวิหารต่อไป…”

จดหมายเหตุฯ บรรยายต่อไปว่า ก่อนเสด็จกลับ เมื่อพระองค์มาถึงเชิงบันไดปราสาท เรสิดังกำปงธมกับนายปามังติเอได้ทูลเชิญประทับ ณ ที่พักชั่วคราว กล่าวสุนทรพจน์มีใจความเกี่ยวกับมิตรภาพระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ในคราวที่สยามส่งทหารไปช่วยรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ปิดท้ายด้วยการเชิญชวนดื่มอวยพรเพื่อ “ถวายพระพรแก่พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามให้ทรงพระเจริญ” และ “เพื่อความเจริญไมตรีแห่งประเทศฝรั่งเศสแลประเทศสยาม”

ภายหลังการเสด็จครั้งนี้ถูกกัมพูชาหยิบยกไปใช้ในชั้นศาล โดยชี้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สยามยอมรับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของกัมพูชา และต่อมายังมีชุดของคำอธิบายว่า สยามตกเป็นเป็นฝ่ายเสียเปรียบเช่นนี้เนื่องจากไม่มีองค์ความรู้เรื่องแผนที่ อีกทั้งฝรั่งเศสได้เข้ามาสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโบราณคดีในแถบนี้ และใช้สิ่งนี้เป็นปัจจัยหนึ่งในการอ้างสิทธิเหนือดินแดน

ทั้งกรณีแผนที่ผนวก ๑ ซึ่งสยามไม่คัดค้าน ประกอบกับการเสด็จเยือนในครั้งนั้น คนรุ่นหลังมองว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดจนทำให้ภายหลังไทยแพ้คดีในศาลโลก เมื่อผมนำไปเรียนถาม ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ ก็ได้รับคำอธิบายอีกมุมหนึ่งว่า

“สมัยโน้น ปราสาทเขาพระวิหารหาใช่ประเด็นสำคัญอะไรไม่…สมัยการล่าเมืองขึ้นซึ่งตรงกับรัชกาลที่ ๕ ที่มีกรมพระยาดำรงฯ เป็น ‘มท. ๑’ เป็น ‘พระหัตถ์ข้างขวา’ ตัวปราสาทถูกทิ้งร้างอยู่ในป่า หนทางไปก็แสนทุรกันดาร คนที่สนใจก็มีเพียงนักโบราณคดีหรือข้าราชการฝรั่งเศสและสยามไม่กี่คน ประชาชนทั่วไปยกเว้นชาวบ้านแถบนั้นไม่รู้จักปราสาทเขาพระวิหาร”

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่ไม่มีการทักท้วง

ทั้งนี้ อาจารย์ชาญวิทย์ยังชี้ว่า รัฐบาลสยามในรัชกาลที่ ๕ ยอมรับเส้นเขตแดนนี้ เพราะนี่คือ ” ‘กุศโลบายรักษาเอกราชและอธิปไตยของรัชกาลที่ ๕ และกรมพระยาดำรงฯ’ หาใช่การ ‘เสียค่าโง่’ ครั้งแรกอย่างที่นักวิชาการอนุรักษนิยม/ชาตินิยมบางท่านกล่าวหาไม่ และก็ไม่ใช่เรื่องเอามาอ้างลอยๆ ว่าสยามสมัยนั้นไม่รู้เรื่องแผนที่ เพราะรัชกาลที่ ๕ ทรงทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นปี ๒๔๑๘ โดยทรงจ้างชาวอังกฤษ คือนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ (ต้นตระกูลเศวตศิลา) เป็นที่ปรึกษา มีการทำผังเมืองกรุงเทพฯ ทำแผนที่วางสายโทรเลขไปยังเมืองพระตะบอง ทั้งยังมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญอย่าง เจมส์ แมคคาธี (ต่อมาเป็นพระวิภาคภูวดล เจ้ากรมเซอร์เวทางและทำแผนที่) ทำแผนที่พระราชอาณาเขตที่มีปัญหากับเจ้าอาณานิคมอีกด้วย

“ดังนั้น ประเด็นหลักของเรื่องนี้คือ ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ ของเจ้าอาณานิคมฝรั่งกับเรื่อง ‘การทูตเรือปืน’ นั่นเอง โดยสยามเป็นหนึ่งในประเทศเอเชียที่ประสบชะตากรรมนี้เหมือนกับเพื่อนบ้านของเรา”

preahvihear11

ที่กระทรวงกลาโหม จอมพล ป.พิบูลสงคราม โบกธงรับบรรดานิสิตและนักเรียนเตรียมอุดมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๔๘๓

preahvihear12

การเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาคู่กับธงช้างเผือก ใต้ภาพมีบรรยาว่า “ชักธงพิธีที่อำเภอศรีโสภณ จังหวัดพระตะบอง ๒๘ ก.ค.๒๔๘๔”

preahvihear13

ในระหว่างสงครามอินโดจีน “กองทัพไทยทำการรบชะนะยึดที่มั่นข้าศึกที่บ้านดู่ทางภาคอีสานใต้ และทำพิธีชักธงชาติ” (ภาพจากหนังสือ การปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส โดย กรมโคสนาการ)

-๓-

“…ที่มานี่ ไม่ได้มาห้ามไม่ให้เดิน การเดินหรือไม่เดินเป็นเรื่องที่พวกคุณจะวินิจฉัย แต่ขอให้คิดให้ดี
เวลานี้ฝรั่งเศสกำลังทรุดหนัก เยอรมันบุกฝรั่งเศสอย่างหนัก การที่เราจะไปซ้ำเติมคนที่กำลังแพ้ ไม่ใช่วิสัยที่ดี การเรียกร้องดินแดนนี้ผมเชื่อว่าได้คืนแน่เพราะฝรั่งเศสกำลังแย่ แต่ผมขอพูดไว้ล่วงหน้าว่า ดินแดนที่ได้คืนมาจะต้องกลับคืนไป ในชีวิตของผมอาจจะไม่ได้เห็น (การกลับคืนไป) แต่ในชีวิตของพวกคุณจะต้องได้เห็นอย่างแน่นอน”

ปรีดี พนมยงค์
กล่าวต่อนักศึกษา มธก. เกี่ยวกับการเดินขบวนเรียกร้องดินแดน เช้าวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๘๓

ปราสาทพระวิหารที่ตั้งอยู่บนผาเป้ยตาดีกลายเป็นประเด็นครั้งแรกในฐานะพื้นที่ต่อเนื่องของดินแดนซึ่งไทยเรียกร้องคืนจากฝรั่งเศสเมื่อปี ๒๔๘๓

ขณะนั้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระเบิดขึ้นแล้วในยุโรป เยอรมนีรบชนะฝรั่งเศสตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๘๓ หลังจากนั้นฝรั่งเศสโดยรัฐบาลวิชี (ภายใต้การยึดครองของเยอรมนี) เรียกร้องให้ไทยลงสัตยาบันใน “สนธิสัญญาไม่รุกรานกันและกัน” ที่ทำขึ้นระหว่างฝรั่งเศส-ไทย-ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๘๒ เกิดผลบังคับใช้

จากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ พรมแดนไทยด้านอินโดจีน (ซึ่งรวมถึงการลากเส้นเขตแดนที่ผิดหลักการใช้สันปันน้ำบนยอดผาเป้ยตาดี) เป็นรูปร่างขึ้นก็เนื่องจากอิทธิพลของมหาอำนาจ ดังนั้นกลุ่มผู้นำใหม่ของไทยซึ่งขึ้นมาบริหารประเทศหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕ คือรัฐบาลคณะราษฎร จึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะกู้เกียรติยศของชาติกลับคืนมา

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ตอบไปว่าจะให้สัตยาบัน แต่มีข้อแม้ ๓ ประการคือ ขอปรับปรุงพรมแดนด้านอินโดจีนให้เป็นไปตามหลักสากล ขอไชยะบุรีและจำปาศักดิ์คืน และถือแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนระหว่างประเทศ สุดท้ายหากมีการโอนอธิปไตยในอินโดจีนของฝรั่งเศส ขอให้ลาวและกัมพูชาตกเป็นของไทย

แน่นอน ฝรั่งเศสปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง หลังจากนั้นเอกสารประวัติศาสตร์หลายชิ้นระบุตรงกันว่าตลอดเดือนตุลาคม ๒๔๘๓ รัฐบาลไทยปลุกเร้ากระแสการเรียกร้องดินแดนคืนผ่านสื่อสารมวลชนหลายแขนง ประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะนิสิตจุฬาฯ และนักศึกษา มธก. ต่างออกมาเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนอย่างคึกคัก

ระหว่างนี้กรมศิลปากรยังขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็น “โบราณสถานแห่งชาติ” เมื่อปี ๒๔๘๓

ต่อมารัฐบาลอาศัยสถานการณ์เหล่านี้มาสนับสนุนการดำเนินนโยบาย เห็นได้จากสุนทรพจน์ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๘๓ ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผ่านวิทยุกระจายเสียงซึ่งถือเป็นสื่อที่มีอิทธิพลที่สุดในยุคนั้นว่า

“ได้รับความเห็นพ้องต้องใจและความสนับสนุนเป็นเอกฉันท์จากมวลชนชาวไทยทุกหมู่ ทุกคณะ ทุกเพศทุกวัย จะเห็นได้จากการอาสาสมัครพลีชีวิตเพื่อชาติ จากการสละทรัพย์สิน จากการเดินขบวนแห่ ฯลฯ เป็นองค์พะยาน…กล่าวได้ว่ายังไม่เคยมีครั้งใดในประวัติการณ์พงศาวดารของชาติไทยจะได้มีพี่น้องร่วมชาติทั้งในและนอกประเทศ พร้อมใจกันสำแดงความสามัคคีเด็ดเดี่ยวสนับสนุนรัฐบาลเหมือนครั้งนี้”

เมื่อสืบค้นกลับไปผมก็พบว่า ในคณะรัฐมนตรียุคนั้น ยังมีผู้มองวิธีดำเนินนโยบายต่างจากจอมพล ป. อย่างสิ้นเชิง นั่นคือเรียกร้องดินแดนผ่านกระบวนการทางกฎหมายระหว่างประเทศ

วิธีนี้เสนอโดย ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้น

ใน จดหมายถึงท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ที่ปรีดีเขียนขึ้นภายหลังขณะลี้ภัยที่ประเทศจีน กล่าวถึงสถานการณ์นี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผมจึงได้พบท่านจอมพล ป.พิบูลสงครามที่วังสวนกุหลาบ แสดงทรรศนะของผมว่าเป็นการสมควรที่รัฐบาลไทยจะนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกในสมัยนั้น ให้วินิจฉัยว่าดินแดนที่ฝรั่งเศสได้ไปจากไทยตั้งแต่ ร.ศ. ๑๑๒ เป็นต้นมา ต้องคืนมาเป็นของประเทศไทย”

เขาชี้ว่า ด้วยวิธีนี้ ไทยจะมีทางชนะมากกว่าทำสงคราม – แต่นายกรัฐมนตรีปฏิเสธ

ในที่สุดสงครามอินโดจีนเปิดฉากขึ้นในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ และการรบก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กองทัพบกไทยได้เข้ายึดดินแดนที่เป็นข้อพิพาททั้งหมด กองทัพอากาศโจมตีจุดยุทธศาสตร์ในกัมพูชา อาทิ สนามบินนครวัด เมืองศรีโสภณ ส่วนกองทัพเรือ เรือรบหลวงธนบุรีได้ทำ “ยุทธนาวีที่เกาะช้าง” กับเรือลาดตระเวน ลามอตต์ ปิเกต์ และตกเป็นฝ่ายเสียหายอย่างหนัก

จนปลายเดือนมกราคม ญี่ปุ่นก็เข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจา ส่งผลให้เกิด “อนุสัญญาโตกิโอ” ระหว่างไทย-ฝรั่งเศสในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ ทำให้ไทยได้ไชยะบุรี จำปาศักดิ์ เสียมราฐ และพระตะบองคืน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นลานช้าง นครจำปาศักดิ์ พิบูลสงคราม (พระตะบองใช้ชื่อเดิม) ตามลำดับ ในอนุสัญญายังระบุว่าให้ใช้ร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขงเป็นเส้นพรมแดนระหว่างประเทศ ส่งผลให้ไทยได้เกาะอีก ๗๗ เกาะกลับคืนมา

และในเดือนธันวาคม ๒๔๘๔ กองโฆษณาการงานฉลองรัฐธรรมนูญได้ตีพิมพ์หนังสือ ประเทศไทยเรื่องการได้ดินแดนคืน ภายในมีภาพปราสาทพระวิหาร พร้อมคำบรรยายว่า “ปราสาทหินเขาพระวิหาร ซึ่งไทยได้คืนมาคราวปรับปรุงเส้นเขตต์แดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศสและทางการกำลังจัดการบูรณะให้สง่างามสมกับที่เป็นโบราณสถานสำคัญ”

เรื่องที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงคือ ท่าทีรัฐบาลฝรั่งเศสพลัดถิ่นของนายพล ชาร์ลส์ เดอโกลล์ ที่แคนาดา แถลงทันทีว่า “ไม่รับรองข้อตกลงใดๆ ที่รัฐบาลวิชีได้ทำไว้เกี่ยวกับเรื่องดินแดน ๔ จังหวัด”

ปรีดีเล่าว่า เมื่อทราบเรื่องนี้ “ผมจึงได้ไปเตือนท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามว่าต้องพิจารณาท่าทีของเดอโกลล์กับสัมพันธมิตรของเขาในสมัยนั้นให้มาก เพราะถ้าสัมพันธมิตรในขณะนั้นเป็นฝ่ายชนะสงครามแล้ว ข้อตกลงที่ฝ่ายรัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลวิชีที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ค้ำประกันนั้นก็จะต้องถูกยกเลิก และฝรั่งเศสก็จะได้ดินแดนกลับคืนไป ผมยังได้ชี้แจงว่าถ้าได้ใช้วิธีตามที่ผมได้เสนอไว้ในครั้งแรก คือนำเรื่องขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแล้ว…เราชนะคดี เพราะเรามีทางชนะ ก็ย่อมเป็นการตัดสินผูกพันประเทศฝรั่งเศสทั้งมวล ต่างกับข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐบาลวิชี ที่ฝ่ายนายพลเดอโกลล์กับฝ่ายสัมพันธมิตรเขาไม่รับรอง…ถ้าญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม…ผลที่จะตามมาก็คือประเทศไทยจะมิเพียงแต่ต้องคืนดินแดน ๔ จังหวัดเท่านั้น ดินแดนของไทยเท่าที่มีเหลืออยู่จะต้องเปลี่ยนฐานะไปอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่น่าวิตก”

หกสิบเจ็ดปีให้หลัง ผมพบบันทึกของ ประจวบ อัมพะเศวต อดีตนักเรียนโรงเรียนเตรียมปริญญาแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) รุ่นที่ ๒ ซึ่งผ่านเหตุการณ์เดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนเมื่อปี ๒๔๘๓ ตีพิมพ์ใน ธรรมศาสตร์ ๕๐ ปี ว่า

“…เริ่มขึ้นจากการที่มีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่งตัวแทนมาพบนักศึกษา ม.ธ.ก. ชักชวนให้ไปเดินขบวนเรียกร้องดินแดน การเคลื่อนไหวของนิสิตจุฬาดังกล่าวนี้ เป็นผลมาจากการผลักดันของกลุ่มทหาร”

และยังชี้ว่าก่อนหน้านั้นที่ มธก. “ปรึกษาหารือกันว่า ขณะนี้มีนักเรียนโรงเรียนต่างๆ หลายโรงเรียนจะเดินขบวนเรียกร้องดินแดนกัน และได้ข่าวว่าจุฬาก็จะเดินด้วย เราจะเดินขบวนด้วยจะดีไหม จะเหมาะสมหรือไม่ โดยพิจารณาว่าเราไม่รู้ข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลจะเอาจริงหรือเปล่า”

บันทึกยังกล่าวถึง “นายผี” อัศนี พลจันทร์ นักศึกษา มธก. ที่คัดค้านการเดินขบวนอย่างแข็งขัน จนทำให้เพื่อนหลายคนไม่พอใจ แต่ในวันรุ่งขึ้น เมื่อนิสิตจุฬาฯ เริ่มเดินขบวนช่วงเช้า นักศึกษา มธก. ก็ตัดสินใจเดินขบวนในช่วงบ่ายทันที

ทว่า ได้มี “เหตุการณ์บางอย่าง” ซึ่งประจวบเน้นว่า “สำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในขณะนั้น” เกิดขึ้นที่ มธก. ซึ่งถ้าไม่บันทึกไว้ “บันทึกการเดินขบวนของนักศึกษาธรรมศาสตร์จะไม่สมบูรณ์” เหตุการณ์นั้นคือ

“ท่านผู้ประศาสน์การ (ดร. ปรีดี พนมยงค์) ได้มากล่าวต่อหน้านักศึกษาเกี่ยวกับการเดินขบวนเรียกร้องดินแดน ตอนหนึ่งใจความว่า ‘…ที่มานี่ ไม่ได้มาห้ามไม่ให้เดิน การเดินหรือไม่เดินเป็นเรื่องที่พวกคุณจะวินิจฉัย แต่ขอให้คิดให้ดี เวลานี้ฝรั่งเศสกำลังทรุดหนัก เยอรมันบุกฝรั่งเศสอย่างหนัก การที่เราจะไปซ้ำเติมคนที่กำลังแพ้ ไม่ใช่วิสัยที่ดี การเรียกร้องดินแดนนี้ผมเชื่อว่าได้คืนแน่เพราะฝรั่งเศสกำลังแย่ แต่ผมขอพูดไว้ล่วงหน้าว่า ดินแดนที่ได้คืนมาจะต้องกลับคืนไป ในชีวิตของผมอาจจะไม่ได้เห็น (การกลับคืนไป) แต่ในชีวิตของพวกคุณจะต้องได้เห็นอย่างแน่นอน’ ”

ในที่สุดเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม นอกจากไทยต้องกู้สถานะไม่ให้ “แพ้สงคราม” ด้วย “พระบรมราชโองการสันติภาพ” ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าเสรีไทยแล้ว ยังต้องคืนดินแดนให้ฝรั่งเศสซึ่งกลับมาในภูมิภาคอินโดจีนอีกครั้งตาม “ความตกลงระงับกรณีลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖” เพื่อเปิดทางให้กับการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยไม่ถูกฝรั่งเศส หนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ “วีโต้” ด้วยถือว่าไทยนั้นเป็น “ผู้รุกราน” และเป็น “ผู้แพ้สงคราม” (การคัดค้านในคณะมนตรีความมั่นคงเพียงเสียงเดียว มีผลให้ที่ประชุมไม่สามารถออกมติได้)

ชายแดนไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสจึงกลับสู่สถานะก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งหมายถึงว่าสถานะของปราสาทพระวิหารบนเส้นพรมแดนกลับไปอยู่ในเขตกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติรัฐบาลไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ไม่ได้คืนปราสาทพระวิหาร โดยเฉพาะฝ่ายทหารที่ถือว่านี่คือจุดยุทธศาสตร์ โดยในปี ๒๔๙๗ มีการส่งกองทหารขึ้นไปบนเขาพระวิหารอีก

ส่วนฝรั่งเศส ครั้นเมื่อกลับมาในอินโดจีนก็ต้องเผชิญสงครามกู้ชาติในเวียดนาม (นำโดยโฮจิมินห์) ลาว (นำโดยเจ้าสุพานุวง และนายไกสอน พมวิหาน) และกัมพูชา(นำโดยนโรดมสีหนุ)

ระหว่างนั้นปรากฏหนังสือทักท้วงจากรัฐบาลฝรั่งเศสทั้งหมด ๓ ฉบับ แต่รัฐบาลไทยก็มิได้โต้ตอบกลับไปแต่อย่างใด

preahvihear06

เสาธงชาติไทยตั้งตระหง่านอยู่ที่ยอดผาเป้ยตาดีเมื่อครั้งไทยยังอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารระหว่างปี ๒๔๙๗ – ๒๕๐๕

preahvihear07

๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๕ หลังคำพิพากษาศาลโลก พลโท ประพาส จารุเสถียร รมว.มหาดไทย (ยืนซ้ายสุด) คุมตำรวจตระเวณชายแดนเชิญเสาธงชาติไทยจากยอดผาเป้ยตาดีมาทั้งเสา โดยไม่มีการเชิญธงชาติลงจากยอดเสา แล้วนำมาตั้งไว้ที่ผามออีแดง

preahvihear08

การเดินขบวนประท้วงกัมพูชาและคำพิพากษาศาลโลกในประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๐๕ (ภาพจากหนังสือ ความเมืองเรื่องเขาพระวิหาร)

preahvihear09

แผนที่ “ผนวก ๑” ที่กัมพูชาใช้ต่อสู้ในศาลโลก

preahvihear10

แผนที่การ “สละอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร” ของไทยตามมติคณะรัฐมนตรี ปี ๒๕๐๕

-๔-

“…แม้ว่ากัมพูชาจะได้ปราสาทพระวิหารนี้ไป ก็คงได้ไปแต่ซากปรักหักพังและแผ่นดินเฉพาะที่รองรับพระวิหารนี้เท่านั้น แต่วิญญาณของปราสาทพระวิหารคงยังอยู่กับไทยตลอดไป ประชาชนชาวไทยจะระลึกอยู่เสมอว่าปราสาทพระวิหารของไทยถูกปล้นเอาไปด้วยอุปเท่ห์เล่ห์กลของคนที่ไม่รักเกียรติและไม่รักความชอบธรรม…พี่น้องชาวไทยที่รัก ในวันหนึ่งข้างหน้า เราจะต้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาเป็นของชาติไทยให้จงได้”

คำปราศรัยของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
๔ กรกฎาคม ๒๕๐๕

ปราสาทพระวิหารกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งช่วงต้นปี ๒๕๐๑ เพียงแต่คราวนี้คู่กรณีของไทยเปลี่ยนจากฝรั่งเศสเป็นกัมพูชา (ซึ่งได้รับเอกราชเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘)

เรื่องเริ่มต้นในเดือนเมษายน เมื่อ ซัม ซารี องคมนตรีและเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำกรุงลอนดอน เขียนบทความลงนิตยสาร กัมพูชาวันนี้ (Le Combodge d’au jour d’ hui) มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า “ไทยอ้างสิทธิเหนือวิหารนี้โดยการใช้กำลังทหารเข้ายึดเอาพระวิหาร-อันเป็นการกระทำแบบฮิตเลอร์” และชี้ว่าการที่ไทยอ้างว่ามหาอำนาจบีบบังคับจนต้องยอมทำสนธิสัญญาในปี ค.ศ. ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗ นั้นไม่สามารถทำได้ เพราะ “พึงระลึกว่าประเทศไทยไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาปี ๑๙๐๔ เพราะถูกบังคับ แต่ทำไปโดยความมุ่งหมายจะสถาปนาบรรยากาศแห่งความเข้าใจดีต่อกันระหว่างไทยกับฝรั่งเศสต่างหาก โดยยอมคืนดินแดนที่ได้จากกัมพูชาไปโดยวิธีการฉ้อฉล”

นั่นหมายถึง ขณะที่ไทยทำสัญญากับฝรั่งเศสนั้นยินยอมอย่างเต็มที่ “เพื่อยุติกรณีพิพาท” และดินแดนที่ฝรั่งเศสได้จากไทยก็เป็นดินแดนที่กัมพูชาเคยมีสิทธิ์ครอบครองโดยชอบธรรม

เขายังเขียนต่อว่า “ย่อมจะจำได้ว่า กัมพูชานั้นได้ยอมรับปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่โตเกียวโดยไม่หวั่นไหวทั้งๆ ที่สนธิสัญญานั้นเป็นสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างฝรั่งเศสกับประเทศไทย…โดยอาศัยความช่วยเหลือของกองทัพญี่ปุ่น ที่พระตะบองกลับคืนมาเป็นของกัมพูชานั้น มิใช่เพราะกองทัพ
พันธมิตรมีชัยเท่านั้น แต่โดยอาศัยข้อตกลงที่วอชิงตันปี ค.ศ. ๑๙๔๖ ซึ่งประกาศยกเลิกสนธิสัญญาที่โตเกียว”

กระทรวงโฆษณาการกัมพูชานำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ จนเกิดกระแส “ทวงเขาพระวิหารคืนจากไทย” ในกัมพูชา จากนั้นความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ประเทศก็ทรุดลงอย่างรวดเร็ว มีการประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ หนังสือพิมพ์กัมพูชาเขียนโจมตีไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอน หนังสือพิมพ์ไทยก็ตอบโต้กลับเช่นกัน

พอถึงกลางปีก็มีความพยายามเจรจาระดับรัฐบาล แต่ไม่ประสบความสำเร็จ สถานการณ์กลับแย่ลงอีกเมื่อรัฐบาลกัมพูชาประกาศรับรองรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๐๑ ทำให้ไทยประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ ๗ จังหวัดชายแดนติดกับกัมพูชา หลังจากนั้นแม้จะมีความพยายามเจรจาและไกล่เกลี่ยจากสหประชาชาติก็ล้วนแต่ไม่เป็นผล อีกทั้งในไทยก็เกิดการรัฐประหารโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ก่อนที่กัมพูชาจะประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๑ และหลังจากนั้นได้ยื่นฟ้องไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๐๒

ต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๑ ห้องทำงานคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

“ตอนจะไปสู้คดี หม่อมเสนีย์ท่านว่าชนะ ๓๐๐ เปอร์เซ็นต์”

ศ. ดร. สมปอง สุจริตกุล เป็นคนไทยไม่กี่คนที่เคยอยู่ในห้องพิจารณาคดีปราสาทเขาพระวิหารที่ศาลโลกเมื่อ ๔๖ ปีก่อน เกริ่นไว้เช่นนั้นเมื่อถูกคนรุ่นหลานอย่างผมขอให้เล่าบรรยากาศการต่อสู้คดีในครั้งนั้น

“หม่อมเสนีย์” ที่อาจารย์สมปองเอ่ยถึง คือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าทีมทนายไทย

“เมื่อกัมพูชาฟ้องไทย หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร เอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ ทำหน้าที่ตัวแทนติดต่อศาลและเสนอคณะทนายจาก ๒ ชาติคือ ไทยกับสหรัฐฯ ผมเสนอ ๒ คณะคืออังกฤษกับเบลเยียม สรุปคณะแรกจากเบลเยียมทำหน้าที่หัวหน้าทีมทนายทั้งหมด นำโดย อังรี โรแลง ทนายความประจำศาลอุทธรณ์แห่งกรุงบรัสเซลส์ คณะที่สองจากอังกฤษ นำโดยเซอร์แฟรงก์ ซอสคีส ส.ส. พรรคแรงงาน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คณะที่สามจากสหรัฐอเมริกา นำโดย ฟิลิปส์ เจสสัน ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย คณะสุดท้ายจากไทยนำโดย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เนติบัณฑิต แต่เราโชคร้ายที่เจสสันได้รับการเสนอชื่อจากรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้พิพากษาศาลโลก ท่านต้องไปรับตำแหน่ง เราจึงขาดทนายที่เข้าใจรูปคดีไทยเป็นอย่างดี”

ใน รายงานคำพิพากษา คำปรึกษา และคำสั่ง คดีปราสาทพระวิหาร (ระหว่างประเทศกัมพูชากับประเทศไทย) แปลโดยกระทรวงการต่างประเทศ ระบุรายชื่อทีมทนายฝ่ายไทยทั้งหมดที่อาจารย์กล่าวถึง ยังไม่รวมผู้เชี่ยวชาญที่มาเป็นพยานในชั้นศาล ส่วนรายชื่อทีมทนายกัมพูชาประกอบด้วย ดีน แอจิสัน เนติบัณฑิตประจำศาลสูงสุด อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและที่ปรึกษาส่วนตัวของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี และทนายฝรั่งเศสอีก ๒ คน คือ โรเช่ ปินโต และ โปล เรอแตร์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส

ศาลโลกซึ่งมีองค์คณะผู้พิพากษา ๑๒ คนจาก ๑๒ ประเทศ ใช้เวลาพิจารณาคดีนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๐๓-๒๕๐๕ ในระหว่างพิจารณาคดี รัฐบาลไทยได้รณรงค์ให้ประชาชนบริจาคเงินคนละ ๑ บาทเป็นค่าจ้างทนาย

ในที่สุด วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๕ ศาลโลกก็ตัดสินโดยคะแนนเสียง ๙ ต่อ ๓ ว่า

“ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา” และ “ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา”

สุดท้าย ลงมติโดยคะแนนเสียง ๗ ต่อ ๕ ว่า “ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องคืนให้แก่กัมพูชา บรรดาวัตถุชนิดที่ได้ระบุไว้ในคำแถลงสรุปข้อห้าของกัมพูชาซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยอาจจะได้โยกย้ายออกไปจากปราสาทหรือบริเวณพระวิหาร นับแต่วันที่ประเทศไทยเข้าครอบครองพระวิหารเมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๔ (พ.ศ. ๒๔๙๗)”

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดการ “ขออนุญาตเดินขบวน” (ขณะนั้นการเดินขบวนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย) ทั่วประเทศไทยต่อเนื่องไปจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม พอวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๐๕ รัฐบาลไทยก็แถลงเสียใจและไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลโลก แต่ในที่สุดก็ระบุว่าจะปฏิบัติตามเพราะเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ซึ่งตาม “กฎบัตรข้อ ๙๔ ระบุชัดเจนว่าสมาชิกจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ”

วันต่อมา (๑๙ วันหลังคำพิพากษา) จอมพลสฤษดิ์กล่าวปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยถึงผลการไม่ปฏิบัติตามศาลโลกว่าอาจถูกอีกฝ่ายร้องเรียนต่อคณะมนตรีความมั่นคงได้ ดังนั้น “จำต้องยอมให้กัมพูชามีอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารนั้นตามพันธกรณีของกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ” แต่ “ขอตั้งข้อประท้วงและข้อสงวนสิทธิ…ที่จะดำเนินการทางกฎหมายที่จำเป็น ซึ่งอาจจะมีขึ้นในภายหน้า” ทั้งแสดงความรู้สึกว่า “ข้าพเจ้ามาพูดกับท่านด้วยน้ำตา แต่น้ำตาของข้าพเจ้าเป็นน้ำตาของลูกผู้ชาย ของเลือด ของความคั่งแค้น และการผูกใจเจ็บไปชั่วชีวิตทั้งชาตินี้และชาติหน้า”

ข้อสงวนที่จอมพลสฤษดิ์กล่าวถึงปรากฏเป็นหนังสือของ นายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงเลขาธิการสหประชาชาติ มีใจความยินยอมทำตามคำสั่งศาล แต่ “รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรารถนาที่จะตั้งข้อสงวนอันชัดแจ้งเกี่ยวกับสิทธิใดๆ ที่ประเทศไทยมีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ…”

ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลโลกได้ทิ้งปมที่ต้องตีความไว้ ๒ เรื่องคือ “เขตแดน” ที่ศาลไม่ได้ตัดสิน และ “พื้นที่ที่ไทยต้องคืนให้กัมพูชา” ซึ่งศาลไม่ได้ระบุว่าควรมีเท่าใด

เรื่องนี้รัฐบาลไทยดำเนินการโดยออกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ กำหนดพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูด้วยการขีดเส้น ๓ ด้าน (ดูแผนผังมติ ครม. ปี ๒๕๐๕ ประกอบ)

เส้นนี้ถูกทำให้ชัดโดยรั้วลวดหนามรอบตัวปราสาท พร้อมป้าย ๔ ป้าย ซึ่งด้านที่หันมาฝั่งไทยเขียนเป็นภาษาไทยว่า “เขตบริเวณปราสาทพระวิหาร” มีภาษาอังกฤษกำกับ ส่วนด้านที่หันไปทางกัมพูชาเขียนเป็นภาษากัมพูชาว่า “เขตนอกปราสาทพระวิหาร” มีภาษาฝรั่งเศสกำกับ การกำหนดขอบเขตดังกล่าวนอกจากจะส่งเอกสารแจ้งไปยังเลขาธิการสหประชาชาติพร้อมหนังสือของ รมว. ต่างประเทศแล้ว ยังได้นำลงตีพิมพ์ใน Foreign Affairs Bulletin ที่กระทรวงการต่างประเทศพิมพ์เผยแพร่ทุก ๒ เดือนด้วย

ต่อกรณีนี้อาจารย์ชาญวิทย์วิเคราะห์ว่า เหตุที่ไทยแพ้คดีเพราะ “รัฐบาลสฤษดิ์และประชาชนชาวไทย ‘เชื่อ’ และ ‘ถูกทำให้เชื่อ’ ว่าจะชนะคดีด้วยหลักฐานทางภูมิศาสตร์ ด้วย ‘สันปันน้ำ’ ด้วย ‘ทางขึ้น’ แต่ผู้พิพากษาส่วนใหญ่ตัดสินด้วยหลักฐานด้านกฎหมาย ด้านนิติศาสตร์ (กฎหมายปิดปาก) ด้านประวัติศาสตร์ และหลักฐานจดหมายเหตุว่าด้วยแผนที่และรูปถ่าย ทำให้ทนายไทยที่นำโดย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ที่อ่อนหลักฐานด้านเอกสารและจดหมายเหตุต้องพ่ายแพ้คดี

“จอมพลสฤษดิ์ยังได้ทิ้งเผือกร้อนและระเบิดเวลาไว้ด้วยคำปลุกใจที่ว่า ‘วันหนึ่งข้างหน้า เราจะต้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนเป็นของชาติไทยให้จงได้…’ เรื่องนี้ผมมองว่าเป็น ‘แผลเก่า’ ที่ฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนไทยจำนวนไม่น้อย”

ในที่สุด เวลา ๑๒.๐๐ น. วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๕ พลโท ประพาส จารุเสถียร ก็คุมตำรวจตระเวนชายแดนชะลอธงชาติไทยจากหน้าผาเป้ยตาดีลงมาทั้งเสาโดยไม่ชักธงลง และนำไปติดตั้งไว้บริเวณฐานปฏิบัติการ ตชด. ที่ผามออีแดง และกัมพูชาก็ส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นมาประจำการบนปราสาท

นับแต่นั้น เรื่องของปราสาทพระวิหารก็ตกตะกอนอยู่ในใจคนไทย เพียงแต่ไม่ได้ถูกกวนขึ้นมา ด้วยหลังจากนั้นเกิดสงครามกลางเมืองในกัมพูชา ส่วนปราสาทพระวิหารนั้นก็ได้ผลัดเปลี่ยนไปตกอยู่ใต้อิทธิพลของกองกำลังเขมรแต่ละฝ่ายที่สู้รบกันอยู่ ณ เวลานั้น

ในใจของชาวกัมพูชาเอง ร่องรอยของคดีนี้ถูกบันทึกไว้ในเอกสารทางวิชาการและหนังสือที่ใช้ในโรงเรียน อาทิ แบบเรียนประวัติศาสตร์เขมร ภาค ๑ ของ ตรึง เงีย ที่ใช้ในระดับมัธยมและอุดมศึกษามาจนถึงปัจจุบัน ระบุว่า

“…ปราสาทพระวิหารได้กลับคืนมาเป็นของเขมร…ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๕๓ สยามได้นำทัพมากำกับเอาปราสาทของเรานี้ด้วยการข่มขี่ เขมรเราได้ร้องเรียนถึงศาลโลกที่กรุงเฮก ในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ปี ค.ศ. ๑๙๖๒ ตุลาการนั้นได้ตัดสินความให้เขมรชนะ แล้วต้องให้สยามมอบปราสาทพระวิหารคืนมาให้เขมร…”

preahvihear18

เอกสารที่กัมพูชานำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกสากลในการประชุมครั้งที่ ๓๒ ณ เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา

preahvihear19

ทหารพรานไทยและกัมพูชาซึ่งต่างฝ่ายต่างตรึงกำลังรอบเขาพระวิหาร จับมือแสดงความเป็นมิตรต่อกัน ขณะที่การเจรจาระดับรัฐบาลเพื่อหาข้อยุติกำลังดำเนินไปอย่างเคร่งเครียด (ภาพ : หนังสือพิมพ์ ข่าวสด)

preahvihearnew20

บริเวณเชิงบันไดทางขึ้นปราสาทพระวิหารในพื้นที่ทับซ้อน ปัจจุบันมีชุมชนตลาดกัมพูชาตั้งอยู่หนาแน่น (ภาพ : จำนงค์ ศรีนวล)

preahvihear21

นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมรดกโลก ประเทศไทย นำคณะเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสากล ครั้งที่ ๓๒ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ และยื่นคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารอย่างเต็มที่

-๕-

“ปราสาทพระวิหาร อันเป็นเอกในเชิงสถาปัตยกรรมของกลุ่มโบราณสถานที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน โดยทางเดินและบันไดอันมีแกนกลางเป็นระยะทาง ๘๐๐ เมตรคือสถาปัตยกรรมเขมรที่มีความโดดเด่นระดับมาสเตอร์พีซ ในแง่ของการวางผัง, การประดับตกแต่งและความสัมพันธ์กับภูมิทัศน์แวดล้อมที่พิเศษจำเพาะ…”

คณะกรรมการมรดกโลกสากล ๒๑ ประเทศ
๑ ในเหตุผล ๑๖ ประการของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๑ อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ

ที่ลานหินก่อนทางขึ้นปราสาท รั้วลวดหนามยาวเหยียดกางกั้นอยู่ข้างหน้าผม ห่างออกไปไม่ไกลนัก มีทหารชุดดำ (ทหารพรานไทย) ๑๕-๒๐ คน พร้อมด้วยปืนเอ็ม ๑๖ ประจำกายและกระสุนที่ยังไม่ได้บรรจุ คอยสังเกตการณ์อยู่บริเวณหน้าประตูเหล็กซึ่งถูกปิดตายมาตั้งแต่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๑

“เขาปิดประตูโดยไม่ได้บอกเรา หน้าที่ตอนนี้คือป้องกันแนวชายแดน ป้องกันคนไทย เชื่อไหม ๒-๓ อาทิตย์ที่ผ่านมาคนแถวนี้ผมหงอกไปหลายเส้นแล้ว”

พันเอก ธัญญา เกียรติสาร ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ ๒๓ กล่าวติดตลก เมื่อชวนผมกับช่างภาพไปนั่งสนทนากันที่ฐานปฏิบัติการผามออีแดง กองร้อยทหารพรานที่ ๒๓๐๖ ซึ่งดูแลแนวชายแดนบริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหาร

สามสัปดาห์แล้วที่ผู้การธัญญาและลูกน้องต้องทำงานหนักกว่าปรกติ โดยเฉพาะการลาดตระเวน เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแบบรายวันหลังเหตุการณ์สำคัญอย่างน้อย ๓ เหตุการณ์เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน

เหตุการณ์แรก คือกรณีนายนพดล ปัทมะ รมว. กระทรวงการต่างประเทศ ลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ บันทึกความเข้าใจว่ากัมพูชาจะขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเฉพาะ “ตัวปราสาท” ไม่รวมพื้นที่ทับซ้อนที่ยังตกลงกันไม่ได้ โดยนำเรื่องกลับมาปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็มีมติรับรองเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน จากนั้นวันที่ ๑๘ มิถุนายนก็มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Communique’) เท่ากับไทยสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารอย่างเป็นทางการ แต่ต่อมา ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ ศาลปกครองกลางก็มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ ทำให้กัมพูชาไม่สามารถใช้แถลงการณ์นี้สนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ในการประชุมสมัยสามัญสมัชชาภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ครั้งที่ ๓๒ ณ เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา

เหตุการณ์ที่ ๒ คือในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาด้วยมติเอกฉันท์ว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ มีสภาพเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา นั่นหมายความว่า รัฐบาลไทยทำผิดขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐ วรรค ๒ ที่ระบุว่า “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย…ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”

เหตุการณ์ที่ ๓ คือกรณีคณะกรรมการมรดกโลกสากล ๒๑ ประเทศมีมติเอกฉันท์ขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” ในการประชุมสมัยสามัญสมัชชาภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติครั้งที่ ๓๒ ซึ่งหมายความว่า ปราสาทพระวิหารที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ยังไม่สามารถปักปันเขตแดนแน่นอนได้นั้น จะต้องมีการบริหารจัดการพื้นที่ตามมาตรฐานของมรดกโลก

เหตุเหล่านี้ล้วนเร่งอุณหภูมิการเมืองไทยทุกระดับ รวมถึงการเมืองระหว่างประเทศให้ร้อนแรง

ไม่เพียงผู้การธัญญาที่กังวล ผู้บังคับบัญชาระดับสูงคือ พล.ต. กนก เนตระคเวสนะ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๖ และผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารีที่ดูแลกองกำลังในพื้นที่ชายแดนอีสานใต้ทั้งหมด ก็รู้สึกไม่ต่างกัน นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้การธัญญาซึ่งปรกตินั่งทำงานที่หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ ๒๓ ในอำเภอกันทรลักษ์ ต้องขึ้นมาประจำบนผามออีแดงด้วยตนเอง

ผู้การธัญญาไม่ได้เจาะจงว่าสถานการณ์ที่น่าห่วงคืออะไร แต่เป็นที่เข้าใจว่าหนึ่งในนั้นคือกรณีม็อบ “คณะธรรมยาตรากอบกู้รักษาแผ่นดินไทยในกรณีเขาพระวิหาร มลฑลบูรพา” และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยส่วนหนึ่ง มาปักหลักชุมนุมเรียกร้องดินแดนมณฑลบูรพาคืนจากกัมพูชาตามสนธิสัญญาโตเกียว บนผามออีแดง ตั้งแต่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมได้เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่หลายครั้งหลังพยายามยกศาลาไทยเข้าไปตั้งใน “พื้นที่พิพาท” หรือ “พื้นที่ทับซ้อน” ที่ไทยกับกัมพูชายังไม่สามารถตกลงกันได้

“พื้นที่พิพาท” ที่ว่านี้เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ และปัญหานี้ได้สืบเนื่องมาจากคำพิพากษาศาลโลกโดยตรง เพราะไทยและกัมพูชาถือแผนที่คนละฉบับ และตีความคำพิพากษาคนละแบบ

กัมพูชาถือแผนที่ผนวก ๑ (Annex-1) มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ตร.กม. ที่ทำโดยฝรั่งเศส และเป็นแผ่นเดียวกับที่ใช้ในคราวชนะคดีประเทศไทยที่ศาลโลกเมื่อปี ๒๕๐๕ ซึ่งเลยสันปันน้ำบริเวณเขาพระวิหารเข้ามามากพอสมควร

กัมพูชามองว่าแผนที่นี้ได้รับการรับรองโดยศาลโลกแล้ว ดังนั้นเส้นเขตแดนในแผนที่ย่อมถูกต้อง และไม่ควรมีสิ่งที่ไทยเรียกว่า “พื้นที่ทับซ้อน” จำนวน ๔.๖ ตร.กม. แต่อย่างใด

ขณะที่ไทยถือแผนที่ระวาง L7017 มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ ตร.กม. ซึ่งสหรัฐอเมริกาให้ความร่วมมือจัดทำขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๓ ด้วยภาพถ่ายทางอากาศ ระหว่างคดีปราสาทพระวิหารอยู่ในชั้นศาล แผนที่ฉบับนี้จัดทำแล้วเสร็จหลังศาลโลกมีคำพิพากษาแล้ว นอกจากแผนที่นี้ไทยยังอ้างสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ ที่กำหนดให้ใช้ “สันปันน้ำ” เป็นเส้นพรมแดน

ดังนั้นในมุมมองไทย จึงสามารถแบ่งได้เป็นสองฝ่ายดังนี้

ฝ่ายแรกมองว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาตามคำพิพากษาศาลโลก และไทยได้สละตัวปราสาทไปแล้ว ส่วนพื้นที่นั้นศาลไม่ได้ตัดสินชัดเจน ไทยจึงควรยึดการสละพื้นที่ตามมติ ครม. ปี ๒๕๐๕ พื้นที่นอกเหนือจากนี้ควรเป็นไปตามสนธิสัญญา คือใช้สันปันน้ำเป็นเขตแดน

อีกฝ่ายมองว่า คำพิพากษาบอกว่าปราสาทเป็นของกัมพูชา แต่ “ผืนดินที่รองรับปราสาท” นั้นเป็นของไทย และไทยมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการกระบวนการใดๆ เพื่อเอาคืนได้เสมอ ดังนั้นควรต่อต้านการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

การถือแผนที่คนละฉบับและการตีความที่แตกต่างข้างต้นนำมาซึ่งกรณีพิพาททั้งระหว่างประเทศและในประเทศ โดยเฉพาะในไทยซึ่งมีปัญหาการเมืองภายในต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๘

ทั้งนี้ ถ้ายึดตามมติ ครม. ปี ๒๕๐๕ แล้วนำแผนที่ไทยกับกัมพูชาเฉพาะบริเวณเขาพระวิหารมาซ้อนกัน จะพบพื้นที่ทับซ้อนที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร (๓,๐๐๐ ไร่) ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของตัวปราสาท

พล.ต. กนกเล่าว่า ๔๖ ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ ๔.๖ ตร.กม. นี้มากมาย

“หลังปี ๒๕๐๕ ประมาณทศวรรษ ๒๕๒๐ กัมพูชาเกิดสงครามกลางเมือง ปราสาทพระวิหารถูกยึดครองโดยเขมรแดง ขณะที่ฝั่งไทยมี ตชด. ประจำการอยู่ที่ผามออีแดง ซึ่งต้องถอยมาอยู่ในจุดที่ได้เปรียบ ถึงทศวรรษ ๒๕๓๐ ก็มีการเปลี่ยนทหารพรานไปดูแล พอการสู้รบฝั่งกัมพูชาซาลง ก็มีคณะบุคคลประสานให้ช่วยใช้ความสัมพันธ์ที่มีกับทหารเขมรฝ่ายฮุนเซนพาเข้าชมปราสาทพระวิหาร ผมเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ไทยชุดแรกๆ ที่เข้าไป จำได้ว่ารกมาก ตอนนั้นเขาพระวิหารยังเป็นพื้นที่อันตราย เพราะมีกับระเบิดมาก สถานการณ์เป็นอย่างนั้นมาตลอดจนมีการเปิดทางขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี ๒๕๓๖ โดยถือเป็นจุดผ่อนปรนชั่วคราว (Temporary Checkpoint) เขาพระวิหาร”

และในปีนี้เองที่ พล.ต. กนกเล่าว่า มีการสร้างประตูเหล็กคร่อมบนสะพานข้ามลำห้วยอะมาเรีย ลำห้วยสายเล็ก ๆ ซึ่งคั่นลานหินและทางเชื่อมนำขึ้นสู่บันไดของตัวปราสาท เพื่อควบคุมการเข้าออกของนักท่องเที่ยว

“จากนั้นจะเปิด-ปิดอีกกี่ครั้งผมจำไม่ได้ แต่มีการปิดอีก และจะมีการเปิดอีกทีคือในปี ๒๕๔๑ โดยมีข้อตกลงว่าจะบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันระหว่างจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดพระวิหาร และภูมิภาคทหารที่ ๔ ของกัมพูชา สักพักการท่องเที่ยวไปได้ดี ทหารฝั่งนั้นก็เอาลูกเมียมาอยู่และทำมาค้าขาย
ตอนนั้นมีราว ๗๖ ครอบครัว สักพักก็มีน้ำเสียไหลมาฝั่งไทย เราประท้วงไปแต่ก็ไม่มีการแก้ไข ดังนั้นกองกำลังสุรนารีจึงเป็นฝ่ายสั่งปิดจุดผ่านแดนในปี ๒๕๔๔”

ส่งผลให้ชุมชนกัมพูชาขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค ลดจำนวนลงเหลือ ๒๐ ครอบครัว เพราะทางขึ้นฝั่งกัมพูชาสูงชัน ก่อนจะมีการประชุม ครม. สัญจรระหว่าง ๒ ประเทศเมื่อปี ๒๕๔๖ ที่จังหวัดเสียมเรียบ แล้วมีมติร่วมกันให้เปิดด่านเพื่อการท่องเที่ยว

“มติ ครม. บอกว่าเปิดเป็นจุดผ่อนปรนสำหรับท่องเที่ยว ส่วนปัญหาเขตแดนให้แก้โดยคณะกรรมการ เรื่องน้ำเสียก็มีหน่วยราชการเข้ามาดูแล แต่สุดท้ายก็ออกมาในรูปคำสั่งไม่มีการปฏิบัติ ปัญหาคือเวลาจะเราทำอะไรในพื้นที่ทับซ้อนจะโดนกัมพูชาประท้วง เพราะเขามองเห็นเรา เราก็มองเห็นเขา เช่นครั้งหนึ่งจะสร้างฝายเพื่อแก้ปัญหาน้ำเสีย เขาก็ประท้วงมา กระทรวงการต่างประเทศก็โทร. มาหาผม บอกให้สั่งหยุด แต่กลับกัน เวลาเขาทำอะไรในพื้นที่ทับซ้อน เราประท้วงไปกลับไม่มีผล ก็เลยเถิดจนเป็นอย่างที่เห็น

“ตอนนี้เขาก็พยายามบอกว่าเขตแดนเขามาถึงตรงประตูแล้ว” พล.ต. กนกเล่า

เมื่อผมกลับไปที่ลานหิน มองลอดลวดหนามไปยังบริเวณทางขึ้นบันไดปราสาท ก็พบว่ามีชาวกัมพูชามาอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เมื่อกลับไปที่ผามออีแดงแล้วมองจากจุดที่ตั้งธงชาติไทยปัจจุบันย้อนไปทางทิศใต้ ก็พบว่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวปราสาทนั้นเป็นที่ตั้งของวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ทั้งยังมีถนนลูกรังตัดมาจากบ้านโกมุย อำเภอจอมกระสาน จังหวัดพระวิหาร จนถึงตัวปราสาท

สิ่งก่อสร้างทั้งหมดที่เห็นนี้ ทหารพรานในพื้นที่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ซึ่งถ้ายึดตามบันทึกความเข้าใจระหว่างคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Boundary Committee-JBC) ที่รัฐบาลทั้งสองประเทศลงนามร่วมกันในปี ๒๕๔๓ เพื่อสำรวจและทำหลักเขตแดนและแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยตรง กำหนดว่า “ไม่ให้มีการก่อสร้างใดๆ ในบริเวณชายแดนที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติของเส้นเขตแดน” ในพื้นที่ที่ยังตกลงกันไม่ได้ กิจกรรมข้างต้นก็ถือเป็นการละเมิดอย่างชัดเจน

ดังนั้น เมื่อปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไทยจึงวิตกว่าอาจกระทบถึงการปักปันเขตแดนและสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อน ด้วยมติข้อ ๑๔ ของคณะกรรมการมรดกโลกสากลกำหนดให้กัมพูชา “จัดประชุมคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อให้ความคุ้มครองและพัฒนาทรัพย์สินนี้
(ปราสาทพระวิหาร) ไม่เนิ่นช้าเกินกว่า เดือนกุมภาพันธ์ ๒๐๐๙ ให้ผู้ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประกอบด้วยรัฐบาลไทยและหุ้นส่วนระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เหมาะสมอีกไม่เกิน ๗ ชาติ” เพื่อ “ทำหน้าที่ตรวจสอบสารัตถะเชิงนโยบายทั่วไป ในอันที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์คุณค่าสากลอันโดดเด่นของทรัพย์สินนี้”

ในข้อ ๑๕ ยังเรียกเอกสารและแผนที่ของทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งข้อย่อยบางข้อในมติข้อนี้กล่าวถึง “พื้นที่เขตกันชนที่บ่งชี้ไว้ตามอาร์จีพีพี” ที่ไม่แน่ชัดว่ามีขอบเขตอย่างไร กินเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อนที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิหรือไม่

อย่างไรก็ตาม พล.ต. กนกกล่าวถึงสถานการณ์ตรงหน้า ซึ่งขณะนี้ (กรกฎาคม ๒๕๕๑) กำลังมีความพยายามแก้ปัญหาในระดับรัฐบาลว่า “ยังปรกติ เรายังใช้กำลังกึ่งทหาร (ทหารพราน) ดูแล เรื่องม็อบคือความขัดแย้งทางความคิด เกิดขึ้นเพราะความรักชาติ เราเพียงชี้แจงว่าคุณจะทำอะไร จะมีผลกระทบไหม จะทำให้เราเสียเปรียบเหมือนเมื่อปี ๒๕๐๕ หรือไม่ และดูแลให้เกิดความสงบ”

แน่นอน สถานการณ์อันเกิดจากกรณีปราสาทพระวิหารนี้ไม่ได้ส่งผลต่อทหารเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงคนตัวเล็กๆ ที่ทำมาหากินอยู่แถบชายแดนด้วย

ถัดจากฐานปฏิบัติการทหารพรานตรงผามออีแดงไม่ไกล ที่ตลาดขายสินค้าที่ระลึกของอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เจ้าของร้านครัวน้องแอนเล่าว่า ตั้งแต่เปิดร้านวันนี้ผมเป็นลูกค้ารายที่ ๒ สภาพดังกล่าวนี้ไม่ต่างกับบรรดาแม่ค้าในตลาดเดียวกันซึ่งทั้งหมดเป็นคนบ้านภูมิซรอล อ. กันทรลักษ์
จังหวัดศรีสะเกษ

“ไม่นับพ่อค้าแม่ค้าหลายสิบรายที่ค้าส่งของไปฝั่งกัมพูชาซึ่งปรกติแล้วต้องส่งของตอนเช้าแล้วรับเงินตอนเย็น วันที่กัมพูชาปิดด่านวันแรกโดยไม่บอก พวกนี้เสียเงินฟรีหลายหมื่นบาทเพราะส่งของไม่ได้ บางคนเก็บเงินค่าสินค้าไม่ได้เพราะลูกค้าชาวกัมพูชาลงมาฝั่งไทยไม่ได้”

เธอเล่าต่อว่ารายได้ของครอบครัวขึ้นอยู่กับประตูบานเล็กที่ห้วยอะมาเรีย ถ้าเปิดก็หมายถึงรายได้จากบรรดาคณะทัวร์และนักท่องเที่ยวที่จะมาในช่วงสุดสัปดาห์จำนวนมาก

“ม็อบเคยมากินข้าวร้านพี่ ถามเราว่ารักชาติไหม ก็ตอบว่ารัก แต่ก่อนมาเขาน่าจะถามก่อนว่าที่นี่เขาอยู่ยังไง ใช้ชีวิตกันยังไง เราบอกว่าไปทำแบบนี้ที่ชายแดน เขมรไม่ฟังหรอก เผลอๆ มียิงกันยุ่งอีก และอีกอย่าง คนฝั่งเรากับคนฝั่งเขาบางคนก็แต่งงาน เป็นพี่น้องกันก็มี”

เช่นเดียวกับ บังอร บูระพา เจ้าของร้านบูระพาโภชนา ที่มองว่าน่าจะมีวิธีที่ดีกว่าตะโกนว่ากันในพื้นที่อ่อนไหว ซึ่งนอกจากไม่ได้อะไรแล้วยังทำให้รายได้ของคนจำนวนมากที่ต้องใช้เลี้ยงครอบครัวหายไปเกือบหมด

“ตอนนี้เหลือตกวันละประมาณ ๖๐๐ บาท จากเดิม ๗,๐๐๐-๘,๐๐๐ บาท ต่อไปคงต้องเปิดร้านบ้างไม่เปิดบ้าง ปิดเลยไม่ได้ ต้องรักษาสิทธิ์การขายของเอาไว้ ตอนนี้หลายคนก็กลับไปทำไร่ทำนา พี่เองก็ไม่รู้จะทำยังไงเพราะเงินกู้ทั้งหมดลงไว้ที่นี่ ลูกก็ไม่รู้ว่าจะได้เรียนต่อหรือเปล่า”

สถานการณ์นี้ยังเริ่มกระทบถึงคนพิการที่ทำมาหากินอยู่บนจุดชมวิวผามออีแดง อย่างลุงแนม จีนอบ ซึ่งยึดอาชีพบริการให้เช่ากล้องส่องทางไกลสำหรับมองปราสาทที่อยู่บนยอดผาเป้ยตาดี

“คนก็น้อยลง แต่ก็ยังมีอยู่ในช่วงสุดสัปดาห์ ตอนนี้ไม่กระทบมาก แต่ถ้ามันแรงขึ้นถึงขั้นปิดอุทยานฯ ผมคงทำมาหากินยาก”

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ คนจากเมืองหลวงและเมืองใหญ่อาจบอกว่าคนพวกนี้ “ไม่รักชาติ” ห่วงแต่รายได้ของตนเอง

ทว่า อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ กลับมองอีกมุมหนึ่ง ว่านี่คือความขัดแย้งในจินตนาการเกี่ยวกับ “รัฐชาติ” ระหว่างคนชั้นกลางกับคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับพื้นที่จริงๆ

“ผมไม่คิดว่าชาวบ้านที่ภูมิซรอล (หมู่บ้านใกล้เชิงเขาพระวิหารซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้จุดผ่านแดนนี้ทำมาหากิน) ขาดความรักชาติ แต่ชาติที่เขารักเป็นชาติที่ผดุงชีวิตของเขาให้ดำเนินไปตามวิถีทางที่เขาสามารถจัดการได้ ชาติลอยๆ ที่สูงส่งและการเรียกร้องเสียสละจนเลือดหยดสุดท้ายของพลเมืองนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชีวิตของเขาเลย”

ซึ่งตรงกันข้ามกับชาติของชนชั้นกลางในเมืองที่ “เดือดเนื้อร้อนใจเพราะชาติที่สูงส่งและเรียกร้องการเสียสละอย่างสุดตัวนั้นกำลังสูญเสียอธิปไตยบนพื้นที่ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นของชาติไป ฉะนั้น แม้ไม่กระทบชีวิตของเขาโดยตรง แต่ก็กระทบต่อจินตนากรรมความเป็นชาติของพวกเขาอย่างร้ายแรง”

preahvihearnew22

หลังปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก คณะธรรมยาตราฯ เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตำรวจ และทหารพรานซึ่งป้องกันไม่ให้พวกเขาไปประท้วงขับไล่ชาวกัมพูชาที่มาตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ทับซ้อนเป็นระยะ (ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์)

preahvihear23

ในห้วงเวลาเดียวกันที่กรุงพนมเปญ ลูกเสือและเนตรนารีกัมพูชาออกมาเฉลิมฉลองในโอกาสที่ปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (ภาพ : เอเอฟพี)

-๖-

๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑ หลังทีม สารคดี ถอนตัวจากพื้นที่เขาพระวิหารได้ครึ่งเดือนพอดิบพอดี

สิบห้าวันที่ผ่านมาผมพบว่า สถานการณ์บริเวณชายแดนเขาพระวิหารกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ และยกระดับถึงขั้นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษต้องสั่งปิดอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารโดยไม่มีกำหนด

ขณะที่ผมเขียนสารคดีเรื่องนี้ ทหารทั้งสองฝ่ายไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ นายพร้อมอาวุธหนักเข้าตรึงพื้นที่

บนหน้าหนังสือพิมพ์และเว็บบอร์ด คนทั้งสองชาติเขียนโจมตีกันอย่างรุนแรง

ในระดับนานาชาติ กัมพูชาเดินเกมรุกทางการทูต โดยพยายามยื่นเรื่องไปที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขณะที่ไทยพยายามหาทางออกด้วยการเจรจาระดับทวิภาคี นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ที่เพิ่งรับตำแหน่งสดๆ ร้อนๆ แทนที่รัฐมนตรีคนก่อนที่สังคมตั้งข้อสงสัย

นอกเขาพระวิหารสคนไทยส่วนมากกำลังวิตกว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่ทับซ้อนรอบปราสาทที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปแล้ว ส่วนคนไทยและกัมพูชาในพื้นที่กำลังเจอผลกระทบจากการปิดชายแดน

สำนวนที่หายไปเมื่อหลายสิบปีก่อน อาทิ “เขมรคบไม่ได้” “ขอมไม่ใช่เขมร” “สีอะไรที่คนไทยเกลียด-สีหนุ” “พวกลูกหลานพระยาละแวก” ฯลฯ อันมีที่มาจากประวัติศาสตร์ชาตินิยมซึ่งบิดเบือนและมองคนกัมพูชาในแง่ร้าย กลับมาให้เห็นอีกครั้งบนโลกอินเทอร์เน็ต ซ้ำร้ายหนังสือพิมพ์ของทั้งสองชาติหลายฉบับยังเขียนข่าวปลุกกระแสชาตินิยมอย่างเต็มที่โดยไม่สนใจผลกระทบที่จะตามมา

ฝั่งกัมพูชาก็ไม่แพ้กัน การใช้คำประเภท “ไทยกง” ที่แปลงมาจากความรังเกียจคนเวียด(เวียดกง)”พวกขี้แพ้ชวนตี” หรือประโยคที่ว่า “ไทยคือสุนัขจิ้งจอกที่หิวดินแดนกัมพูชา” ก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป

คำถามคือ เราควรแก้ปัญหานี้อย่างไร ในฐานะประเทศในอุษาคเนย์เหมือนกัน ท่ามกลางเพื่อนบ้านที่เผชิญชะตากรรมเดียวกันมาในยุคล่าอาณานิคม และในประวัติศาสตร์ก็ไม่มีใครเสียค่าโง่ให้แก่กันหรือเสียค่าโง่ให้ฝรั่ง เพราะแต่ละประเทศต่างก็มีวิธีเผชิญปัญหาของยุคสมัยในแบบของตน ไทยกับ
กัมพูชาคงยกแผ่นดินหนีออกจากกันไม่ได้ และต้องอยู่ร่วมกันไปอีกนานแสนนานท่ามกลางปัญหาพรมแดนที่รอวันระเบิดอีกหลายจุด

เนื้อข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยบางฉบับที่ใช้ถ้อยคำเหยียดชาวกัมพูชา และภาพการเผชิญหน้าของทหารสองฝ่ายบนเขาพระวิหารสทำเอาผมนึกถึงบรรยากาศปราสาทพระวิหารกลางสายหมอกเมื่อรุ่งอรุณของวันกลางปี ๒๕๔๓

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ทรงสถาปนาที่แห่งนี้เป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” เพื่อบูชาเทพ

พระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ ทรงสถาปนา “ศรีศิขเรศวร” เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจผู้คน

พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ทรงบัญชาให้นิรมิตมหาปราสาทอันงดงามจนสำเร็จ เพื่อบูชาเทพเจ้า

แม้ว่ามหาปราสาทที่สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของกษัตริย์ ๓ พระองค์ จะปฏิเสธไม่ได้ว่าแลกมาด้วยเลือดและน้ำตาของผู้คนมหาศาล หากสิ่งหนึ่งซึ่งหลงเหลือมาถึงทุกวันนี้คือโบราณสถานอันทรงความหมายทางโบราณคดีและมรดกของมวลมนุษยชาติ

ทว่า ซากของมหาปราสสาทแห่งนี้กำลังจะทำให้คนในชาตที่เป็นเครือญาติกันไม่อยากเจรจากัน และต่างเตรียมพร้อมที่จะยุรัฐบาลของตนให้ทำสงคราม อีกทั้งพร้อมที่จะนำซากปราสาทนี้ไปทำลายคู่แข่งทางการเมืองของตน

ครั้งหนึ่ง ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสของไทย กล่าวไว้ว่า “นักรัฐศาสตร์ นักการทูต นักการทหาร ย่อมรู้ก่อนที่จะก่อสถานะสงครามขึ้นแล้วว่า การทำสงครามนั้นมิใช่กีฬาธรรมดาสหากเอาชาติเป็นเดิมพันในการนั้น ถ้าชนะสงครามก็ได้ประโยชน์เฉพาะหน้าบางประการ ถ้าหากแพ้สงครามก็ทำให้ชาติเสียหายหลายประการ แม้ไม่ต้องเสียดินแดนให้ฝ่ายชนะสงคราม แต่ก็ต้องชำระค่าเสียหายสงครามซึ่งเรียกตามกฎหมายระหว่างประเทศว่า ‘ค่าปฏิกรรมสงคราม’ ”

วันนี้ คงไม่มีใครอยากเห็นประเทศเข้าสู่สงคราม เพราะสงครามไม่เคยให้อะไรกับมนุษย์ นอกจากเลือดและน้ำตา รวมทั้งความเสียหายเหลือคณานับ

ทั้งคนไทยและคนกัมพูชา ต่างก็ผ่านบทเรียนแห่งกาลเวลาเกี่ยวกับเรื่องนี้มามิใช่หรือ

เอกสารประกอบการเขียน :
กองหอสมุดแห่งชาติ. จารึกในประเทศไทย เล่ม ๓-๔ อักษรขอมพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๒๙.
ขุนบริบาลบุรีภัณฑ์. จดหมายเหตุการเสด็จตรวจโบราณวัตถุสถาน มณฑลนครราชสีมา ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ. ๒๔๗๒. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จฯสกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา, ๒๕๓๑.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. “ข้ามเขมรขึ้นเขาพระวิหาร.” สารคดี ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๑ มกราคม ๒๕๓๔.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ปราสาทเขาพระวิหาร : กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง-ลัทธิชาตินิยม. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๑.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ. รัชกาลที่ ๕ : สยามกับอุษาคเนย์และชมพูทวีป. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๗.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ. สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, ๒๕๓๕.
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. แฉเอกสาร “ลับที่สุด” ปราสาทพระวิหาร พ.ศ.๒๕๐๕-๒๕๕๑. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๑.
พีรพล สงนุ้ย, พันตรี. กรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส ร.ศ. ๑๑๒ ตามหลักฐานฝรั่งเศส . กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๕.
ธิดา สาระยา. เขาพระวิหาร. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ,ส๒๕๓๕.
ธีรภาพ โลหิตกุล. ชายชรากับบ่วงกรรมและคำสาป นครวัด นครธม. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, ๒๕๔๖.
วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๔๙.
วินัย ศิริเสรีวรรณ. “ขอบฟ้าเขา (พระ) วิหาร คดีชิงดินแดน เขมร-ไทย.” สารคดี ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๘ กันยายน ๒๕๒๘.
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ. กระทรวงการต่างประเทศ แปล. รายงานคำพิพากษา คำปรึกษา และคำสั่ง คดีปราสาทพระวิหาร (ระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทย). กรุงเทพฯ : สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, ๒๕๐๕.
ศิลป พีระศรี. ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปล. ปราสาทพระวิหารในแง่ศิลป. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๐๓.

ขอขอบคุณ :
อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อาจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, คุณธีรภาพ โลหิตกุล,อาจารย์สมปอง สุจริตกุล,อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม,คุณศรัณย์ ทองปาน,คุณกฤช เหลือลมัย, คุณเสนีย์ จิตต์เกษม, พล.ต.กนก เนตระคเวสนะ,พ.อ.ธัญญา เกียรติสาร, พ.ท.วิชิต มักการุณ, คุณสุทธาสินี จิตรกรรมไทย, คุณสุริยาพร โสกันต์, คุณบังอร บูระพา,คุณแนม จีนอบ

องค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ, กองกำลังสุรนารี ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จังหวัดสุรินทร์, กรมทหารพรานที่ ๒๓ ค่ายพิทักษ์อุทุมพรเขต จังหวัดศรีสะเกษ, สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หอสมุดดำรงราชานุภาพ, หนังสือพิมพ์ข่าวสด,จังหวัดศรีสะเกษ, ครัวน้องแอน, อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร