สุชาดา ลิมป์ : รายงาน
พิศาล พูนศักดิ์สร้อย : ถ่ายภาพ

 

ecolibrary01

Eco Library
ห้องสมุดเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ตั้งอยู่ในสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

วันจันทร์-ศุกร์ เปิดเวลา ๐๘.๐๐-๒๐.๐๐ น.
วันเสาร์-อาทิตย์ เปิดเวลา ๑๑.๐๐-๑๙.๐๐ น.
โทรศัพท์ ๐-๒๙๔๒-๘๖๑๖ ต่อ ๑๒๕, ๑๒๗

ecolibrary03

 

แค่สร้างอะไรขึ้นมาสักอย่าง เราต่างก็ทำลายธรรมชาติแล้ว

แต่ “ห้องสมุดเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม(Eco Library)” ภายในสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สวนทางความคิดนั้น เพราะลดขยะโดยนำวัสดุเหลือใช้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ สวยและใช้งานจริงมา ๓ ปี

“เฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างในห้องนี้รีไซเคิลจากเศษวัสดุ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์”

ศสิญา เสือดี ผู้จัดการห้องสมุด นำชมพื้นที่สร้างสรรค์ซึ่งตกแต่งภายในด้วยวัสดุใช้แล้วตั้งแต่ทางเข้า

“ตู้ลิ้นชักไม้เก็บบัตรรายการเป็นของเก่าที่หอสมุดเคยใช้ แต่ปัจจุบันใช้ระบบคอมพิวเตอร์จัดเก็บทะเบียนหนังสือและทำระบบสืบค้นข้อมูลหมดแล้ว ของพวกนี้จึงหมดประโยชน์ใช้งาน จะทิ้งก็เสียดายจึงเก็บไว้ก่อน กระทั่งอธิการบดีจะสร้างห้องสมุดนี้ ผู้อำนวยการหอสมุดจึงนำมาเป็นฉากกั้นแทนผนังและใช้ติดป้ายชื่อห้องสมุด”

ใครที่เกิดทันยุคเชื่องช้า ใช้บัตรรายการขนาด ๓x๕ นิ้วบันทึกเลขเรียกหนังสือและข้อมูลทางบรรณานุกรมเป็นเครื่องมือช่วยค้นหา มาเห็นตู้เก็บบัตรรายการขนาดใหญ่สูงติดเพดานและยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์คงอดไม่ได้ที่จะยิ้มให้บรรยากาศน่ารักของห้องสมุดสมัยใหม่ที่อุตส่าห์เชื่อมโยงวิถีคนยุคก่อนไว้

แรกก้าวเท้าสู่ภายใน ราวสายตาถูกสะกดให้สะดุดชั้นวางหนังสือทรงกลมแนวตั้งคล้ายต้นไม้ใหญ่

ศสิญาเล่าว่าชั้นวางนั้นทำจากเศษไม้เหลือจากโรงงานตัดไปผลิตเฟอร์นิเจอร์ บ้างคือเศษไม้คุณภาพไม่ถึงเกณฑ์ของบริษัทโมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ จึงยกให้ ผศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต ผู้ร่วมก่อตั้งห้องสมุดช่วยออกแบบให้ชิ้นไม้ต่างขนาดหลายชิ้นได้ประกอบเป็นชั้นหนังสือ

บางขณะที่เลือกหาหนังสืออ่านตามชั้น อาจมีใครรู้สึกคล้ายตัวเองเป็นหนอนกำลังค้นความรู้จากต้นไม้ใหญ่

ขนาดพื้นที่ใช้สอยในห้อง ๒๕๐ ตารางเมตรสว่างด้วยแสงจากธรรมชาติที่รับพลังงานบริสุทธิ์ผ่านกระจกใสบานใหญ่เป็นหลัก มองออกนอกกระจกจะพบสวนหย่อมซึ่งสถาปนิกออกแบบให้ร่มรื่น บางมุมจำเป็นต้องปิดม่านก็ทดแทนความสว่างด้วยหลอดประหยัดไฟ ให้แสงนวลตาเสมือนอ่านหนังสืออยู่บ้าน และเมื่อภายในห้องใช้พลังงานความร้อนน้อยก็ย่อมผ่อนการทำงานของเครื่องปรับอากาศอีกทาง

“โคมไฟนั่นอาจารย์สิงห์และนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ร่วมกันออกแบบใช้เศษด้ายที่ใช้ทำตุ้มผ้าม่านซึ่งเหลือค้างสต๊อกโรงงานจำนวนมาก ส่วนผ้าหุ้มโซฟานี้ทำจากสูทที่ไม่ใช้แล้วของพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์”

บรรณารักษ์สาววัย ๓๐ ปีชวนให้แหงนดูโคมไฟหลากสีบนเพดาน ก่อนชี้ให้ก้มสังเกตโซฟาสีม่วงบนพื้น

ลูกเล่นบนเฟอร์นิเจอร์สะท้อนไอเดียซุกซนของนักออกแบบซึ่งจงใจให้มีกระเป๋าเสื้อติดด้วย เมื่อใช้งานจะให้อารมณ์คล้ายนั่งทับเสื้อสูทที่พาดบนโซฟา

เธอนำชมมุมอ่านหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าใช้บริการ เวลานี้เต็มไปด้วยนิสิตตัวโตนั่งกึ่งนอนเอกเขนกทับเบาะมะเฟืองผ่าซีกที่เย็บด้วยเศษผ้าเหลือจากการตัดเย็บม่าน  บางคนพิงชั้นวางหนังสือที่ด้านในรีไซเคิลขึ้นรูปใหม่อวดลายบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มใช้แล้วอย่างกล่องนม กล่องน้ำผลไม้

การตกแต่งภายในของ Eco Library ล้วนมีแต่วัสดุถูกทอดทิ้งก่อนนำมาชุบชีวิตจนมีสีสัน อาจไม่ได้ช่วยลดปริมาณขยะที่มนุษย์สร้างขึ้นแต่ละวันเท่าไรนัก

แต่หากใครมาห้องสมุดที่เปรียบเสมือนบ้านชั้นเดียวหลังนี้แล้วสนใจว่าสิ่งต่าง ๆ ในห้องมีที่มาจากอะไร หรือได้แรงบันดาลใจอยากกลับไปสร้างสรรค์วัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านตัวเองบ้าง นั่นถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของ Eco Library

“เรายอมรับว่าการทำเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุรีไซเคิลมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าซื้อเฟอร์นิเจอร์สำเร็จทั่วไป แต่อยากปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมให้แก่นิสิตของเราและผู้เข้ามาใช้บริการ”

ศสิญาบอกว่าความโดดเด่นของ Eco Library ไม่เพียงลดการซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ ทว่ายังลดการซื้อเทคโนโลยีด้วย

“ปรกติเราต้องซื้อระบบห้องสมุดอัตโน-มัติจากต่างประเทศปีละหลายสิบล้านบาท แต่ตอนนี้หันมาส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง โดยสำนักหอสมุดทำวิจัยพัฒนาระบบสืบค้นหนังสือจนได้โปรแกรม ‘จินดามณี’ แบบเปิดเผยรหัส (open source) ซึ่งใช้งานได้เหมือนระบบที่ต้องซื้อเลย ในอนาคตอาจพัฒนาให้ใช้กับหอสมุด KU ด้วย”

สิ่งที่ผู้ใช้บริการจะได้รับจากห้องสมุดแห่งนี้จึงมิใช่เพียงความรู้ทั่วไปจากการอ่าน หากยังได้ซึมซับแนวคิดประหยัดสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตประจำวันผ่านการสัมผัสผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง

ไม่แน่ว่าอีกหน่อย Eco Library อาจเป็นที่นิยมจนได้รับการยกระดับจากห้องสมุดต้นแบบด้านแนวคิดสิ่งแวดล้อม สู่ศูนย์เรียนรู้ด้านอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับคนทุกวัยก็เป็นได้

“จากสถิติพบว่าเดือนหนึ่งมีผู้ใช้บริการหอสมุดส่วนกลางทั้งหมดราว ๒๐ ล้านคน ซึ่งแม้ Eco Library จะมีพื้นที่จุคนได้น้อยกว่า ก็มีบันทึกสถิติผู้ใช้บริการมากถึงเดือนละ ๖-๗ หมื่นคน”

ผู้จัดการห้องสมุด Eco Library กล่าวว่าเธอพยายามคัดหนังสืออ่านสบายเข้าห้องสมุดนี้ ทั้งนิยาย เรื่องสั้น วรรณกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ โดยเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พลังงาน การพัฒนาคุณภาพชีวิต และพยายามจัดกิจกรรมสร้างสรรค์กระตุ้นความคิดด้านการออกแบบทรัพยากรรอบตัวอย่างคุ้มค่า

ให้บุคคลภายใน-ภายนอกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ร่วมสนุก เพื่อขยายความเข้าใจสู่วงกว้างว่าการมีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องง่าย และใคร ๆ ก็สร้างสิ่งสวยงามจากวัสดุเหลือทิ้งได้เพียงเห็นคุณค่า

เพราะไม่มีเครื่องคัดแยกขยะที่ไหนในโลกสมบูรณ์แบบเท่ากับหนึ่งสมอง-สองมือของเราเอง

ecolibrary02