สุเจน กรรพฤทธิ์ : เรื่อง
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช  : ภาพ

ปลายเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ บ้านมยองเพียง (Myaung paing) ตำบลมยิตตา (Myitta) จังหวัดทวาย, สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

ผมตกตะลึงเมื่อผู้อาวุโสวัย ๖๗ ปีชี้ให้ดูที่ราบโล่งกว้างใหญ่เต็มไปด้วยโคลนแล้วบอกว่า “นี่แม่น้ำมยองเพียง” และชี้ไปที่เนินดินเล็ก ๆ บนยอดมีเจดีย์แบบพม่า เชิงเนินมีร่องรอยบันไดเล็ก ๆ “ตรงนั้นเคยเป็นตลิ่งริมน้ำ”

เขาบอกว่าแม่น้ำสายนี้ “เคยกว้าง ๑๐๐ เมตร ลึก ๙ เมตร แต่หลังมีเหมืองตะกั่ว ทั้งหมดก็กลายเป็นอดีต”

สี่วันที่ผมสัญจรในแถบชนบททวาย โศกนาฏกรรมลักษณะนี้ได้รับการบอกเล่านับครั้งไม่ถ้วน

ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ “ทวาย” อยู่เกือบใต้สุดของพม่า คนไทยรุ่นใหม่มีความรับรู้เกี่ยวกับเมืองนี้น้อยมาก  ประวัติศาสตร์บอกว่านี่คือเมือง “สองฝ่ายฟ้า” เมืองท่าสำคัญที่ “คนทวาย” ซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมของตนเองอาศัยอยู่ สยามกับพม่ายื้อแย่งทวายมาอยู่ใต้อำนาจยาวนานก่อนทวายจะเป็นของพม่าในที่สุด

คนไทยรุ่นหลังได้ยินชื่อ “ทวาย” บ่อยครั้งขึ้นเมื่อรัฐบาลไทย-พม่าสนใจพัฒนาเมืองหลวงของเขตตะนาวศรีผ่านเมกะโปรเจกต์ “ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย” ซึ่งตามแผนตั้งต้น “โครงการทวาย” จะใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (จังหวัดระยอง) ๑๐ เท่าและมีอุตสาหกรรมครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

โครงการนี้มีพื้นฐานจากการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank - ADB) และเป็นรูปเป็นร่างเมื่อรัฐบาลไทยและพม่าตกลงทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องการพัฒนาโครงการและเชื่อมเส้นทางคมนาคมระหว่างทวาย-กรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑

หลังจากนั้น ๑ เดือนรัฐบาลพม่าลงนามกับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อน ITD จะลงนามกับการท่าเรือพม่า รับสิทธิ์ดำเนินโครงการดังกล่าวในช่วงปลายปี ๒๕๕๓  ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยยกระดับเป็นโครงการรัฐต่อรัฐ (G to G) ช่วงปลายปี ๒๕๕๕ ซึ่งลดบทบาทของ ITD ลงเหลือเพียงหนึ่งในผู้ลงทุนพัฒนาโครงการ

หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยทุกชุด นักวิชาการ นักธุรกิจ และนายธนาคารใหญ่ของไทยจำนวนมากต่างบอกว่าถ้าโครงการทวายเกิด ไทยจะเป็น “ศูนย์กลางอาเซียน” ด้วยถนนจากท่าเรือทวายจะเชื่อม “ระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้” อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Southern Economic Corridor) การขนส่งสินค้าผ่านถนนสี่ประเทศ คือ พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม จะมีความรวดเร็ว ย่นระยะเวลาจากมหาสมุทรอินเดียสู่ทะเลจีนใต้เหลือ ๖ วัน (หากผ่านทางช่องแคบมะละกา ๑๖-๑๘ วัน) ยังไม่รวมการได้พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ

ทว่าที่อีกฟากของเทือกเขาตะนาวศรี เรื่องเล่าจาก “คนทวาย” กลับเป็นหนังคนละม้วน

แม้ล่าสุดโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมฯ ต้องหยุดชะงักเนื่องจากไทยมีปัญหาการเมืองภายในและกลุ่มทุนญี่ปุ่นยังไม่เข้าไปลงทุน แต่คนทวายก็ระบุว่าหลัง “นับ ๑” ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ตอนนี้ “ทวายเปลี่ยนไปแล้ว”

ต้นปี ๒๕๕๗ สารคดี เดินทางข้ามชายแดนตะวันตกผ่านเทือกเขาตะนาวศรีไปสำรวจ “เขตตะนาวศรี” ฟังเสียง “คนทวาย” และนำ “ความจริงจากพื้นที่” มานำเสนอต่อสังคมไทย

 

dawei01ถนนสู่ทวาย ๒๕๕๗

ผู้อาวุโสชาวทวายบอกผมว่า ทวายเป็น “ดินแดนแห่งความหวานและรอยยิ้ม”

ทว่าปัจจุบันสองข้างทางลูกรังจากเขตแดนไทยซึ่งเริ่มต้นที่ “จุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน” ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มุ่งตรงไปทางทิศตะวันตกจนถึงตัวเมืองทวายระยะทาง ๑๓๒ กิโลเมตร รูปธรรมแรกของโครงการท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมเริ่มปรากฏ คนในพื้นที่เล่าแต่เรื่องการก่อสร้าง โครงการยักษ์ใหญ่ อนาคตที่ไม่แน่นอน ตำนานแห่งความหอมหวานและรอยยิ้มแทบไม่มีใครพูดถึง

เมื่อเข้าสู่ดินแดนพม่าผ่านด่านทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (The Karen National Union - KNU) ด่านตรวจคนเข้าเมืองทหารพม่า ทางเข้าพื้นที่ (access road) ที่ ITD ปรับปรุงจากถนนท้องถิ่นลูกรังเดิมก็นำผมไปทางทิศตะวันตก

กว่าร้อยละ ๖๐ ของถนนลูกรังสายนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง ภาพชินตาที่พบตลอดทางคือคนงานทุบอิฐเป็นก้อนเล็ก ๆ แล้วเรียงทีละก้อน ๆ ก่อนรถบดอัดจะวิ่งเหยียบทับท่ามกลางเปลวแดด

ถนนบางช่วงตัดลงยังลำธารโดยตรง ดินลูกรังจำนวนมากถูกดุนลงแม่น้ำที่ไหลขนาบถนนจนน้ำกลายเป็นสีโคลน  ตามคุ้งน้ำเต็มไปด้วยหินที่น่าจะถล่มลงไปจากการระเบิดเพิงผา  คนนำทางบอกว่าถนนดังกล่าวทำเพื่อให้ “พอใช้งานได้” เท่านั้น

อย่างไรก็ตามเส้นทางช่วงที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างก็ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้ สวนหมาก สวนผลไม้ สวนมะม่วงหิมพานต์ขึ้นแน่นขนัด

กล่าวโดยย่อ “ถนนพุน้ำร้อน-ทวาย” เป็นหนึ่งในสามปัจจัย (ที่เหลือคือเขื่อนและนิคมอุตสาหกรรม) ที่จะทำให้ “โครงการทวาย” ประสบความสำเร็จ  เอกสารเผยแพร่บนเว็บไซต์บริษัททวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (Dawei Development Company Limited - DDC) ที่ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (Italian-Thai Development Public Company Limited - ITD) ถือหุ้น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเข้าพื้นที่ในฐานะผู้รับสัมปทานตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๔ ระบุว่าตามแผนจะสร้างถนนแบบเดียวกับมอเตอร์เวย์ คือเป็นระบบปิด (ห้ามข้ามถนน ไม่มีสี่แยก มีรั้วล้อม) ทั้งสาย แนวถนนกว้าง ๒๐๐ เมตร แบ่งเป็นที่ตั้งเสาไฟฟ้า ฝังท่อก๊าซและท่อน้ำมันรวม ๖๐ เมตร  ถนนสำหรับรถวิ่ง ๔ เลน กว้าง ๔๐ เมตร และเป็นพื้นที่วางรางรถไฟกว้าง ๒๕ เมตร ตามลำดับ

สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association - DDA) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนักกิจกรรมในทวาย ก่อนหน้าทำกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชนในพื้นที่ ได้หันมาให้ข้อมูลและเคลื่อนไหวปกป้องทรัพยากรตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ เมื่อโครงการทวายเริ่มส่งผลเสียต่อชาวบ้าน  สมาคมฯ เผยว่าหากมีการสร้างถนนสายนี้เต็มรูปแบบ จะต้องอพยพประชาชนราว ๕ หมื่นคน สวนหมาก สวนผลไม้จำนวนมากจะถูกทำลาย

ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากถนนมากที่สุดคือชุมชนกะเหรี่ยง ๑๒ ชุมชนในเขตกามองต่วย (Kamaung Thwe) ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับชายแดนไทย-พม่า

ซออูโค (Saw U Kho) ชาวชุมชนตะบิวชอง (๑ ใน ๑๒ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ) และคณะกรรมการชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Community Sustainable Livelihood Development
Committee) เขตกามองต่วย เล่าว่า “การบุกรุกของเครื่องจักร” แบบไม่ทันตั้งตัวเกิดขึ้นในเดือนกันยายน ๒๕๕๓ หลัง KNU ทำข้อตกลง “หยุดยิงชั่วคราว” กับรัฐบาลพม่า และต่อมามีการจัดตั้ง DDC ของ ITD เพื่อเข้าพัฒนาพื้นที่

“ตอนนั้นเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโครงการทวายเลย จู่ ๆ รถไถก็เข้ามาไถพื้นที่สวน” ซออูโค เล่า  เขาบอกว่าเมื่อถูกต่อต้าน (คนในพื้นที่รับรู้ว่า DDC เป็นบริษัทของ ITD เพราะเครื่องจักรและแคมป์คนงานหลายแห่งมีตรา ITD ชัดเจน  พวกเขาจึงเรียก ITD แม้จะมาในนาม DDC) ITD ก็เปลี่ยนบริเวณทำถนนไปเรื่อย ๆ ทำลายสวนอีกหลายแห่ง

คนตะบิวชองมองว่า ITD ไม่มีแผนการตัดถนนที่ชัดเจน การกระทำดังกล่าวยังทำลายลำธารเล็ก ๆ จำนวนมากจนคนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค

“ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์เนเธอร์แลนด์เข้ามาเก็บตัวอย่างน้ำ พบว่าหลายจุดมีสารโลหะหนักปนเปื้อน” ซออูโค อธิบายว่าตามมาด้วยเรื่องการกว้านซื้อที่ดินของนายทุนเพื่อทำป่าไม้และเหมืองแร่ ส่งผลให้ปัญหาซับซ้อนขึ้น เนื่องจากในกามองต่วยการจัดสรรทรัพยากรและรังวัดที่ดินระหว่าง KNU กับรัฐบาลพม่ายังไม่เรียบร้อย

ITD ยังลัดขั้นตอนการทำงานโดยจ้างสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาทำประชาพิจารณ์ทั้งที่การก่อสร้างดำเนินการแล้ว  เรื่องที่ชาวบ้านรู้สึกแย่คือ “ทำแบบสอบถามเป็นภาษาไทยซึ่งพวกเราอ่านไม่ออก คนในพื้นที่จึงต่อต้านกิจกรรมดังกล่าว”

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าทีมจากสถาบันวิจัยฯ จุฬาฯ มาที่หมู่บ้านตะบิวชองสี่ครั้ง ครั้งตึงเครียดที่สุดคือเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕  ที่ ดร. กัลยา สุนทรวงศ์สกุล และทีมงาน มาฟังความคิดเห็นด้วยพาหนะของ ITD จนคนท้องถิ่นแคลงใจในความเป็นกลาง ทั้งยังตอบไม่ได้ว่าทำไมการสำรวจเกิดขึ้นหลังการบุกรุกพื้นที่  นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องค่าเสียหายจนวงประชาพิจารณ์ล่ม ซึ่งเรื่องนี้ ดร. กัลยาปฏิเสธให้สัมภาษณ์ ให้ข้อมูลเพียงว่าสัญญาที่สถาบันฯ มีกับ ITD จบลงเมื่อโครงการนี้กลายเป็นโครงการระหว่างรัฐบาล

ซออูโค บอกว่า “ที่กามองต่วยมีชุมชนกะเหรี่ยงได้รับผลกระทบโดยตรงห้าชุมชน โดยอ้อมเจ็ดชุมชน  เราพยายามส่งเรื่องไป KNU เพื่อขอให้ช่วยปกป้องและบอก ITD ให้ยุติการบุกรุกและทำเหมืองประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าเหมืองแร่หรือเหมืองหิน  การทำประชาพิจารณ์ครั้งที่มีปัญหา เข้าใจว่าเพราะมีนักข่าวโทรทัศน์ช่องหนึ่งของไทยบันทึกภาพอยู่ด้วย จึงส่งผลให้ ITD ตัดสินใจจ่ายค่าชดเชยบางส่วน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมผู้เสียหายทั้งหมด”

อย่างไรก็ตามเขาระบุว่าเรื่องประหลาดคือ “ITD ตั้งราคาชดเชยสำหรับเขตกามองต่วยสูงกว่าที่อื่นสามเท่า เช่น ต้นยางเสียหาย จ่ายต้นละ ๓ แสนจัต (๙,๙๕๖ บาท) ขณะต้นยางกลางพื้นที่ที่นิคมอุตสาหกรรมจะได้ค่าชดเชยกรณีเดียวกันเพียงต้นละ ๑ แสนจัต (๓,๓๑๙.๒๕ บาท)”  เขาเชื่อว่าคนกามองต่วยโชคดีกว่าคนในพื้นที่ที่รัฐบาลพม่ามีอำนาจเต็มที่ ด้วยพวกเขามีกองกำลัง KNU ทำให้ต่อรองได้บ้าง

“ถึงแม้ตอนนี้โครงการจะหยุดชะงัก แต่เราก็เฝ้าระวังตลอดเวลา”

dawei02

การต่อต้านที่ “บ้านกาโลดท่า”

ห่างจากกามองต่วยไม่มาก ที่บ้านกาโลดท่า (Ka Loat Htar Village) หมู่บ้านในหุบเขาตะนาวศรีซึ่งมีประชากร ๑๙๔ หลังคาเรือน ยึดอาชีพทำสวนหมากและสวนผลไม้ ก็พบเจอเหตุการณ์คล้ายกัน

กาโลดท่าถูก ITD กำหนดเป็นพื้นที่หัวงานสร้าง “เขื่อนกาโลดท่า” กั้นแม่น้ำตะลายยาร์ (หนึ่งในสี่แม่น้ำสาขาที่ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำตะนาวศรี) ตามแผนเขื่อนจะมีความจุ ๔๐๑.๕ ล้านลูกบาศก์เมตร ทำหน้าที่ส่งน้ำดิบสำหรับทำน้ำประปาและระบบบำบัดน้ำเสียให้เขตนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ห่างไปทางทิศตะวันตก

ตามแผนโครงการทวายจะมีเขื่อนแบบเดียวกับกาโลดท่าอีกสี่แห่ง คือ เขื่อนพะเยงบิว (Pa YainByu Reservoir) ความจุ ๗.๗ ล้านลูกบาศก์เมตร  เขื่อนเอกานีตะวันตก (Ekani West Storage Pond) ความจุ ๗.๑ ล้านลูกบาศก์เมตร  เขื่อนเวตอ(Dwe Taw Reservoir) ความจุ ๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนไอเช (Ai Shey Reservoir) จุ ๓๑.๖ ล้านลูกบาศก์เมตร

กาโลดท่าเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุด ITD มีแผนสร้างและเปิดใช้งานในปี ๒๕๖๓ ซึ่งจะก่อให้เกิดทะเลสาบขนาดใหญ่เหนือเขื่อนไม่ต่างจากเขื่อนศรีนครินทร์ โดยเอกสาร ITD คาดการณ์ความต้องการน้ำของจังหวัดทวายที่มีท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมครบวงจรในปี ๒๕๖๓ อยู่ที่ ๔๘๒ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งถ้าเขื่อนทั้งห้าแล้วเสร็จจะมีปริมาณน้ำสำรอง ๔๙๗.๙ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ขณะนี้สร้างเสร็จแล้วเขื่อนหนึ่งคือเขื่อนพะเยงบิว

เมื่อการสร้างเขื่อนเริ่มขึ้นต้องย้ายประชาชนกาโลดท่า ๑,๐๐๐ คนออกจากพื้นที่

หลวงพ่ออูปินยาหวุ่นตา (U Pyinna Wonta) เจ้าอาวาสวัดธรรมรักขิตา (Dama Rakheta Temple) แกนนำชุมชนวัย ๔๙ ปี เล่าว่า ITD ส่งคนมาสำรวจหมู่บ้านตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ อ้างว่าจะทำถนนและที่พักนักท่องเที่ยว โดยไม่พูดถึงการสร้างเขื่อน ก่อนจะแจ้งว่าคนกาโลดท่าต้องย้ายเนื่องจากหมู่บ้านจะถูกน้ำท่วมหากมีการสร้างเขื่อน

หลวงพ่อไม่พอใจที่ “ITD นำภาพถ่ายขณะทีมประชาสัมพันธ์และ CSR อธิบายแผนงานแก่หลวงพ่อไปเผยแพร่ในนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการ ประหนึ่งว่าคนพื้นที่ให้การยอมรับเป็นอย่างดี”

ท่านเผยว่าเหตุการณ์นี้ทำให้หมู่บ้านแตกเป็นสองฝ่าย ๑๘๒ ครัวเรือนคัดค้าน ๑๒ ครัวเรือนเห็นด้วย  ส่วนกรรมการหมู่บ้านมีทีท่าให้ความร่วมมือกับ ITD ขณะคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการย้าย

การเจรจาต่อรองกับ ITD จึงเกิดขึ้น ผลคือ ITD ให้ชาวกาโลดท่าที่คัดค้านนำเสนอ “พื้นที่ที่เหมาะสมกว่า” เพื่อให้น้ำท่วมหมู่บ้านลดลง  หลวงพ่ออธิบายว่าที่ชาวกาโลดท่ายอมทำเนื่องจาก “เราไม่อยากย้าย และไม่รู้ว่าเขื่อนจะทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป น้ำจะนิ่ง สวนผลไม้จะหายไป อยู่ต่อก็อดตาย  ด้วยความไม่รู้เราเลยหานักภูมิศาสตร์มาดูและเสนอพื้นที่ที่อยู่เหนือจากจุดเดิมขึ้นไปทางต้นน้ำ”

ทว่า ITD ไม่ยอมรับข้อเสนอใหม่ กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้ชาวกาโลดท่าคัดค้านเต็มตัวโดยจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ อาทิ ปล่อยโคมลอยขนาดใหญ่มีอักษร “NO DAM” หรือเขียนคำเดียวกันนี้ไว้ที่ริมหน้าผาปากทางเข้าหมู่บ้านสองแห่งเพื่อแสดงจุดยืน

ในปี ๒๕๕๓ และ ๒๕๕๔ สถานการณ์ค่อนข้างตึงเครียด หลวงพ่อและแกนนำชุมชนใช้วัดเป็นศูนย์กลางต่อต้าน ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการทุกระดับ  กรรมการหมู่บ้านฝ่ายสนับสนุนเขื่อนถึงกับแจ้งตำรวจว่าชาวกาโลดท่าบางคนคุกคามเจ้าหน้าที่ ITD ที่เข้าสำรวจพื้นที่

อูฮานเท (U Han Htay) ผู้อาวุโสหมู่บ้านบอกเหตุผลการต่อต้านว่า “เราได้รับข้อมูลเพิ่มว่าโครงการแบบนี้ต้องมีการประเมินผลกระทบ จึงมองออกว่าเขากำลังจะทำอะไร” ขณะที่อูหละเชง(U Hla Shen) ผู้อาวุโสอีกท่านบอกว่าที่ผ่านมา ITD พยายามให้คนในพื้นที่เซ็นยินยอมเอกสารให้สร้างเขื่อน ซึ่งมีข้อความว่า “พวกเราเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย เพื่อต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม…”  ยังไม่นับท่าทีทีมสำรวจที่ “สั่งคนท้องถิ่นคล้ายตัวเองเป็นเจ้าของที่ บางทีให้เจ้าของสวนถือป้ายถ่ายรูปหน้าสวน  เจ้าของสวนนึกว่าเป็นกระบวนการสำรวจก็ทำ แต่กลายเป็นว่าถูกนำไปใช้งานในวัตถุประสงค์อื่น”

นอกจากชาวกาโลดท่าจะทำสัญญาประชาคมในหมู่บ้านว่าจะไม่ขายที่ดิน ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ คณะกรรมการหมู่บ้านชุดเดิมก็หมดวาระและถูกแทนที่โดยกรรมการชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง อันเป็นผลโดยตรงจากการที่พม่าบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๑ (ค.ศ. ๒๐๐๘) ซึ่งแน่นอนว่ากรรมการชุดใหม่มีแนวทางคัดค้านเขื่อน

หลวงพ่ออูปินยาหวุ่นตาชี้ว่าตอนนี้คนกาโลดท่ากับ ITD คือเส้นขนาน “ระหว่างปี ๒๕๕๕-๒๕๕๖ ITD ไม่ยอมหยุดใช้วิธีต่าง ๆ ไม่ว่าซื้อที่ดิน ทำ EIA ทั้งที่ไม่มีแผนย้ายถิ่นฐานอย่างชัดเจน  หลังจากนี้เราจะทำงานกับเอ็นจีโอและสื่อมวลชน พัฒนาการศึกษาของคนในชุมชนเพื่อให้การต่อต้านเขื่อนในอนาคตทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

แม้ตอนนี้โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายจะถูกชะลอ (เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ประกอบกับรัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ให้ความสนใจส่งเสริมนักลงทุนมาลงทุน) โครงการเขื่อนยักษ์และเจ้าหน้าที่ ITD หายหน้าไป แต่ชาวกาโลดท่าก็ไม่ได้วางใจ

“คนกาโลดท่ารู้ว่าเขื่อนจะต้องมาอีกแน่ และเราจะต่อต้านจนถึงที่สุด” หลวงพ่อยืนยัน

dawei03

เสียงสะท้อนจากริมอ่าวเมาะตะมะ

รายงานการวิจัยเรื่องเศรษฐกิจการค้า การลงทุนในพม่า โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเน้นศึกษาโครงการในมิติการค้าการลงทุน ระบุว่า “ทวาย” เมืองหลวงเขตตะนาวศรี (Tenasserim) มีประชากร ๑๓๙,๙๐๐ คน ทั้งเขตมี ๑.๓ ล้านคน

เปิด Google Earth ดูสภาพภูมิศาสตร์ (ดูภาพถ่ายดาวเทียมประกอบ) จะพบว่าทวายตั้งอยู่ในเขตตะนาวศรีซึ่งอยู่บนคาบสมุทรที่ยื่นไปทางทิศใต้ของพม่า ทิศตะวันตกติดกับอ่าวเมาะตะมะ ทิศตะวันออกติดประเทศไทย ตัวเมืองตั้งอยู่กลางคาบสมุทร โดยตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำชื่อเดียวกัน

พื้นที่โครงการทวายอยู่ห่างตัวเมืองทวายไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ๓๐ กิโลเมตร ลักษณะเป็นที่ราบริมทะเลติดอ่าวเมาะตะมะ คนทวายเรียกเขตนี้ว่า “นะบูเล” (Nabule District)

ตามแผน ITD ล่าสุด (๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๖) เขตท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายมีพื้นที่ ๑๕๔ ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น “โซน A” ที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกสองแห่ง และอุตสาหกรรมหนัก (port and heavy industry) อาทิ โรงงานถลุงเหล็ก โรงไฟฟ้าถ่านหิน ๔,๐๐๐ เมกะวัตต์

“โซน B” ที่ตั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (oil and gas industry) ได้แก่ คลังน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน

“โซน C1 และ C2” เป็นที่ตั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้นน้ำ (up and down stream petrochemical complex) เช่น โรงแยกก๊าซ โรงกลั่นน้ำมัน

“โซน D” เขตอุตสาหกรรมขนาดกลาง (medium industry) เช่น สิ่งทอ ยานยนต์

“โซน E” เขตอุตสาหกรรมเบา (light industry) เช่นอาหาร

สุดท้ายคือ “โซน F” เป็นเขตเมืองใหม่ (township)

ตามแผนนี้จะมีหกหมู่บ้านโดนย้าย ได้แก่ มยินจี (Myin Gyi) พายาดัด (Payadat) เลชอง (Le Shaung) เทงจี (Htien Gyi) มูดุ (Mudu) และยองบินเซก (Nyaung Bin Seik) ราว ๑,๘๙๖ หลังคาเรือน (ตามข้อมูลจากบอร์ดนิทรรศการของ ITD ที่ทวาย) ซึ่งถือว่าลดลงจากแผนช่วงเริ่มโครงการที่มีหมู่บ้านถูกย้ายถึง ๒๑ หมู่บ้าน หรือ ๓,๙๗๗ ครัวเรือน ๓๒,๒๗๔ คน ด้วยแผนแรกนั้นกินพื้นที่ถึง ๒๕๐ ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่ามาบตาพุด ๑๐ เท่า

สิ่งที่ผมพบในนะบูเลคือบ้านเรือนและวัดที่อยู่ปะปนกับสวนหมาก สวนผลไม้ สวนมะม่วงหิมพานต์ โดยเฉพาะมะม่วงหิมพานต์นั้นส่งออกไปขายเมืองไทยอย่างเป็นล่ำเป็นสันผ่านโรงงานในพื้นที่ สร้างรายได้ให้คนทวายจำนวนมาก

ที่วัดเลชองตะเหง่จอง (Le Shaung Thangai kyaung) หมู่บ้านเลชอง ชาวทวายจากหกหมู่บ้านที่ในอนาคตต้องโยกย้ายเพราะอยู่ในเขตท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมมารวมตัวกันเพื่อคุยเรื่องนี้  วงสนทนาเครียดขึ้นเมื่อล่ามขอให้พวกเขาพูดถึงปัญหาของโครงการทวายที่กระทบต่อชีวิต

เอลิน (Aye Lin) จากบ้านเลชองซึ่งตามแผนมี ๖๑๐ หลังคาเรือนต้องย้าย เล่าว่าเจ้าหน้าที่ ITD มาแจ้งตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ แต่ไม่ได้บอกกรอบเวลาในการย้าย “มีคนไทยเข้ามา เหมือนฝันร้าย พวกเขาบอกมาพัฒนาทวาย รายได้จะเพิ่มขึ้น  พูดแต่ข้อดี แต่พวกเราไม่รู้อนาคตของตัวเองเลย” เอลิน บอกว่ามีเพียง ๒๐ กว่าครัวเรือนที่เห็นด้วย นอกนั้นคัดค้านทั้งหมดเพราะไม่ต้องการสูญเสียที่ทำกิน

ทุนหง่วย (Thun Ngwe) จากบ้านเทงจีซึ่งตามแผนต้องย้าย ๔๔๕ หลังคาเรือน เล่าว่าเจ้าหน้าที่ ITD มารังวัดสวนเพื่อเตรียมจ่ายค่าชดเชย แต่จนถึงตอนนี้ (มีนาคม ๒๕๕๗) ก็ยังไม่ได้รับ “เขาให้เราไปทวงถามกับจังหวัดทวาย ส่วนราชการก็เกี่ยงกันไปมา ทำให้ผมต้องไปติดตามหลายที่ เสียค่าเดินทางมาก”

ไม่ต่างจากคุณน้าเอติน (Aye Tin) หญิงวัยกลางคนจากบ้านพายาดัด เจ้าของสวนหมาก ๕๐ เอเคอร์ (๑๒๖.๔๖ ไร่) ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระเบิดหินทำถนน เป็นเหตุให้แหล่งน้ำในสวนปนเปื้อนและปลูกพืชไม่ได้ เธอเรียกร้องค่าเสียหาย ๕ ล้านจัต (๑๖๕,๕๙๖ บาท)  ITD ยินยอมจ่าย ทว่า “บอกเงินนี้รวมค่าชดเชยเรื่องที่ดินด้วยแล้ว จากนั้นก็มาล้อมรั้วสวน ทำให้ฉันเข้าไปในพื้นที่สวนตัวเองไม่ได้”

คุณน้าเอตินบอกว่าเธอทวงสวนคืนหลายครั้ง ยืนยันว่าการจ่ายเงินเป็นแค่การ “ชดใช้ค่าเสียหาย” ต่างจากหลายคนที่ยอมรับแล้วจะได้รับความยินยอมให้เข้าไปทำสวนอีกครั้งเป็นการชั่วคราว ผลที่คุณน้าเอตินได้รับคือ “ITD เปิดประตูให้ช่วง ๐๗.๐๐-๑๖.๐๐ น. ออกบัตรผ่านสามใบสำหรับครอบครัว” ทำให้เธอเป็นเจ้าของสวนที่ต้องรอผู้บุกรุกเปิดประตูสวนของตัวเองให้ทุกวัน

เรื่องชาวบ้านที่อยู่ในโซนโยกย้ายบอกตรงกันคือ พวกเขาร้องเรียนเรื่องนี้ต่อทางราชการ แต่ก็โดนบ่ายเบี่ยง  การจ่ายค่าชดเชยมีหลายมาตรฐานและไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าจะได้  เรื่องที่คนในเขตนะบูเลกังวลมากคือนิคมอุตสาหกรรมนั้นคุกคาม “รอยพระพุทธบาทด้านซ้ายแห่งนะบูเล” (Nabule Cha Daw Yar) ซึ่งในพม่าปรากฏเพียงสองแห่ง (ที่เหลือเป็นรอยพระพุทธบาทขวา)

จากวัดเลชองฯ ผมเดินทางไปหาดมยินจี (Myin Gyi Beach) ริมอ่าวเมาะตะมะ ระหว่างทางหยุดแวะวัดสองวัด วัดแรกคือวัดมยินจี วัดเก่าแก่ของนะบูเลซึ่งในแผนล่าสุดตัววัดถูกกันออกจากเขตนิคมฯ แบบฉิวเฉียด  อย่างไรก็ตามหลวงพ่อออบาธา (Awbatha) เจ้าอาวาสกล่าวว่าแม้ไม่ถูกไล่ที่แต่ความกังวลใหม่คือวัดจะถูกล้อมด้วยโรงงานจำนวนมากและไม่อาจประเมินผลกระทบด้านมลภาวะได้  หลวงพ่อยังเล่าว่าก่อนโครงการทวายมา ชุมชนที่นี่อยู่อย่างสงบ “พอ ITD ทำ CSR เรื่องโครงการทวาย ก็มีการสนับสนุนทุนให้พระรูปหนึ่งจากวัดนี้ไปสร้างวัดใหม่คือ “มยินจีเตา” (Myin Gyi Tao) ที่ริมหาดซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งพระธาตุเจดีย์เก่าแก่ ซ้ำทำลายพระธาตุเดิมแล้วสร้างพระธาตุองค์ใหม่ขึ้น”

เมื่อถึงวัดมยินจีเตาผมพบว่าวัดตั้งอยู่บนเนินเขาริมทะเลด้านเหนือสุดของเขตนิคมฯ ที่หน้าผามีศาลพระภูมิซึ่งมีร่องรอยถูกทำลาย  คนท้องถิ่นบอกว่าศาลพระภูมิแห่งนี้สร้างโดยคนไทยที่มาทำงานในทวายด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าขัดต่อความเชื่อของชาวพุทธในพม่าที่นับถือ “นัต” (ผีบรรพบุรุษ) มากกว่า ศาลพระภูมิจึงเป็นสิ่งแปลกปลอม

จากวัดมยินจีเตาเลียบหาดลงไปทางใต้จนเข้าเขตก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมทวาย สิ่งที่เห็นคือชายหาดมยินจีสงบงามกว้างไกลสุดสายตา ถัดจากชายหาดคือที่ราบกว้างใหญ่ เทือกเขาสูงทะมึนทางทิศตะวันออก มีหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ตั้งอยู่กระจัดกระจาย

พื้นที่ราบกว้างใหญ่ติดหาดแห่งนี้ถูกกำหนดให้เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ  ที่มุมหนึ่งของหาด อาคารนิทรรศการ สำนักงาน และเรือนพักรับรอง ITD ตั้งอย่างโดดเด่น ธงชาติพม่า ธง DDC และธง ITD ปลิวไสว  ห่างจากสำนักงานไม่ไกล คือที่ตั้งหลักกิโลเมตรขนาดยักษ์ “ต้นทาง” แนวถนนสู่ชายแดนไทยซึ่งเปรียบได้กับเส้นเลือดใหญ่ของระบบขนส่งแห่งระเบียงด้านใต้ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

เยลินมยิ้น (Ye Lin Myint) หนึ่งในผู้ปฏิบัติงานเครือข่ายสมาคมพัฒนาทวาย (DDA) บอกว่า ITD มักนำนักลงทุน เจ้าหน้าที่รัฐ และแขกต่างประเทศมาดูงานและพักผ่อนที่นี่  เขาพาไปดูส่วนอาคารนิทรรศการที่ ITD เสนอข้อมูลโครงการทวายด้านต่าง ๆ อย่างละเอียด โดยมีการแสดงผลงาน CSR กับชุมชนหลายแห่งที่เราเพิ่งไปเยือนมา

ที่น่าสังเกตคือ สภาพภายในอาคารมีฝุ่นจับและน่าจะไม่มีใครมาเยือนสักพักใหญ่แล้ว

เยลินมยิ้น ชี้บอร์ดที่แสดงแผนแรกของโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมฯ ซึ่งกินพื้นที่ ๒๕๐ ตารางกิโลเมตร โดยอธิบายว่าแผนนี้ถูกลดขนาดเพราะปัญหาเงินลงทุน จนต้องปรับเป็นแบบปัจจุบันซึ่งมีพื้นที่ ๑๕๔ ตารางกิโลเมตร ตัดหมู่บ้านบางแห่งออกเพื่อลดปัญหาการโยกย้าย  อย่างไรก็ตามมีความพยายามขยายเขตอุตสาหกรรมขึ้นไปทางเหนือแทน ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันโครงการก็ยังไม่เดินหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากแก้ปัญหาเดิมและจูงใจนักลงทุนต่างชาติไม่สำเร็จ  แม้ช่วงปลายปี ๒๕๕๕ มีการยกระดับความร่วมมือในโครงการให้เป็นระหว่างรัฐต่อรัฐ (G to G) และปรับบทบาท ITD จากผู้รับสัมปทานหลักเป็นเพียงผู้ลงทุนหลักรายหนึ่งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างชาติ

เยลินมยิ้น บอกว่าปัญหาที่ถูกทิ้งไว้คือ “เมื่อ ITD เปลี่ยนบทบาท ใครจะรับผิดชอบค่าชดเชยสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการทวาย ซึ่งตอนนี้กว่าร้อยละ ๙๐ ยังไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ  ใครจะสร้างที่อยู่ใหม่ให้คนที่ต้องอพยพหากโครงการยังเดินหน้าต่อไป” ด้วยคณะทำงาน Supporting Working Committee Party อันประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าจากส่วนงานต่าง ๆ ช่วงแรก และผู้ทำหน้าที่ต่อรองและจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ได้รับผลกระทบนั้นสิ้นสภาพไปโดยปริยาย

 

“ความเงียบ” ที่ “บะหว้ะ”

ปัญหาเรื่องการจ่ายค่าชดเชยและบังคับย้ายถิ่นฐานที่ปรากฏเป็นรูปธรรมที่สุดที่บะหว้ะ (Bawa Village) หมู่บ้านซึ่งอยู่ทางเหนือของพื้นที่โครงการทวาย

บะหว้ะอยู่บนที่ราบเชิงเขาเตี้ย ๆ ริมอ่าวเมาะตะมะ ในพื้นที่เต็มไปด้วยสวนมะม่วงหิมพานต์และสวนหมากลึกเข้าไปในแผ่นดิน  ITD เลือกบะหว้ะเป็นหนึ่งในสถานที่รองรับการโยกย้ายถิ่นฐาน (relocation area) โดยนำที่ดินทำกินส่วนหนึ่งของคนในหมู่บ้านที่อยู่แต่เดิมมารองรับผู้อพยพ

เมื่อไปถึงพื้นที่รองรับผู้อพยพ สิ่งที่พบคือบ้านทุกหลังมีหน้าตาคล้ายกัน เป็นบ้านสองชั้น มีสามขนาดคือ เล็ก (s) กลาง (m) ใหญ่ (l) ๔๘๐ หลัง นอกนั้นคือ วัด โรงเรียน และคลินิกชุมชนที่สร้างขึ้นอย่างละแห่ง

จากการสำรวจ บ้านขนาดเล็กมีที่ดิน ๑๒๘ ตารางเมตร มีสองห้องนอน หนึ่งห้องรับแขก (family room) หนึ่งห้องครัว หนึ่งห้องสุขา และหนึ่งห้องอาบน้ำ  บ้านขนาดกลางและใหญ่ ห้องรับแขกจะใหญ่กว่าและมีที่ดินมากกว่า คือ ๑๖๐ และ ๑๙๒ ตารางเมตร  ทั้งนี้บ้านสามขนาดมีมูลค่า ๑๕ ล้านจัต (๔๙๖,๘๗๔ บาท), ๑๘ ล้านจัต (๕๙๖,๒๔๙ บาท) และ ๒๐ ล้านจัต (๖๖๒,๔๙๘ บาท) ตามลำดับ

โญ (Nyo) (นามสมมุติ) ชาวบะหว้ะวัย ๓๕ ปี บอกว่าคนบะหว้ะดั้งเดิมหลายคนเสียที่ดินเพื่อก่อสร้างบ้านให้ผู้มาใหม่ ซึ่งในทัศนะของเขาค่าชดเชยที่ได้ไม่คุ้มค่า “ผมเสียที่ดิน ๓ เอเคอร์ (๗.๕๙ ไร่) ได้รับค่าชดเชย ๘.๕ ล้านจัต (๒๘๒,๑๓๗ บาท) ขณะราคาโดยเฉลี่ยของท้องตลาด ๑ เอเคอร์ (๒.๕๓ ไร่) ขาย ๗ ล้านจัต (๒๓๒,๓๔๘ บาท) แต่ก็ต้องรับเพราะถูกยื่นคำขาดว่าจะเอาหรือไม่เอา”

โญมีพี่น้องห้าคน พี่ชายกับพี่สาวของเขากรีดยางพาราอยู่ที่ระนอง ส่งเงินกลับบ้านปีละ ๕ แสนจัต (๑๖,๕๙๖ บาท)  โญบอกว่าสูญเสียสวนผลไม้และ “หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง”  หลายคนที่อยู่ในสภาพเดียวกับเขากลายเป็นแรงงานต้องทำงานหนักในอุตสาหกรรมประมงไทย

ผมไม่พบคนที่มาอยู่ใหม่ โญบอกว่าเคยมีคนย้ายมาอยู่แล้วปรับตัวไม่ได้เนื่องจากสภาพต่างจากที่เดิมที่จากมา “บางคนเคยทำสวน พอย้ายมาไม่มีที่ดินทำเกษตร ต้องหาพื้นที่ เดินทางไปทำนอกบ้านไกล ๆ  บางคนก็ได้แต่บ้านไม่ได้ชดเชยเรื่องที่ดิน คนที่จะย้ายมาเมื่อเจอแบบนี้ก็ไม่มีใครอยากย้าย”

คุณน้าเอตินจากบ้านพายาดัดซึ่งยังมีปัญหาเรื่องค่าชดเชยที่ดินทำกินกับ ITD (ดูเรื่องของเธอในบท “เสียงสะท้อนจากริมอ่าวเมาะตะมะ”) บอกว่ารู้เรื่องดังกล่าวมาบ้าง แต่เธอแทบหมดกำลังใจสู้ “ที่ที่จะให้ย้ายไปแย่กว่าที่เก่า ไม่มีใครอยากไป  ตอนนี้หมดแรง ผิดหวัง เสียใจ จะเอาที่ดินก็เอาไป แต่ต้องจ่ายค่าชดเชย โดยส่วนตัวต่อให้ได้ค่าชดเชยแล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอาชีพอะไรต่อในอนาคต”

อ่องบา (Aung Ba) ผู้อาวุโสวัย ๖๖ ปีจากบ้านเลชอง อีกชุมชนที่จะถูกย้าย บอกว่า “ชีวิตเรากับที่ดินผูกติดกัน ไม่มีที่ดินก็ไม่มีชีวิต พวกเราเลือกตายที่บ้านเดิมมากกว่า”

ปัจจุบันบ้านรองรับผู้อพยพที่บะหว้ะถูกทิ้งร้าง  โญบอกว่าสมัย ITD ยังมีฐานะเป็นผู้รับสัมปทานโครงการ ที่นี่มีไฟฟ้า มีการสูบน้ำจากทะเลสาบมาทำน้ำประปา ทว่าหลังบทบาท ITD เปลี่ยนไปก็มีการถอนคนงาน ระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดหยุดทำงาน เหลือทิ้งไว้แต่แคมป์ก่อสร้างร้างและเครื่องจักรสกรีนโลโก้ ITD

เยลินมยิ้น ระบุว่า ตามข้อมูลของ DDA ขณะนี้มีครัวเรือนที่จะโดนอพยพตามขอบเขตนิคมฯ ล่าสุดราว ๒,๐๐๐ ครัวเรือน ซึ่งน่าสงสัยว่าหากต้องโยกย้ายจริง บะหว้ะจะรองรับได้ทั้งหมดหรือไม่

 

เรื่องเล่าจากมองมะกัน

จากบะหว้ะผมเดินทางต่อมาที่หาดมองมะกัน (Maungmagan Beach) ซึ่งอยู่ติดกันทางใต้

มองมะกันเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนท้องถิ่นที่มักมารับประทานอาหารและออกกำลังกายริมทะเล เมื่อพระอาทิตย์ตกดินหาดแห่งนี้จะกลับสู่ความสงบและเต็มไปด้วยดาวนับหมื่นบนท้องฟ้า

เยลินมยิ้น ว่าหากโครงการทวายเกิดขึ้นจริง ภาพตรงหน้าจะกลายเป็นอดีต

ข้อมูลจากการคำนวณผลกระทบเรื่องมลภาวะจากขนาดภาคอุตสาหกรรมในโครงการทวายซึ่งทำบนฐานผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดย ดร. เดชรัต สุขกำเนิด ในเอกสาร มองให้รอบด้านผ่าน HIA ในการลงทุนข้ามพรมแดน กรณีศึกษาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า ของมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ระบุว่า ในกรณีแผนแรกซึ่งมีท่าเรือและนิคมฯ ขนาด ๒๕๐ ตารางกิโลเมตร ด้านมลภาวะทางอากาศคำนวณว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก ๔๓ ล้านตันต่อปี มลภาวะอันตรายที่อาจทำให้เกิดฝนกรดคือซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ๑,๒๑๓ ตันต่อวัน ๔๔๒,๕๖๓ ตันต่อปี ไนโตรเจนออกไซด์ ๙๗๐ ตันต่อวัน ๓๕๔,๐๕๐ ตัน/ปี  ยังมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก ๒๔๓ ตันต่อวัน ๘๘,๕๑๓ ตันต่อปี  การคำนวณนี้ไม่รวมคาร์บอนไดออกไซด์ ๓๐ ล้านตันต่อปีจากโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด ๔,๐๐๐ เมกะวัตต์ (เทียบกับพม่าทั้งประเทศที่ปล่อย ๑๒ ล้านตันต่อปี) โดย ๓,๖๐๐ เมกะวัตต์ส่งขายไทย (www.prachatam.com/detail.htm?code=n4_02032012_01, ๒ มีนาคม ๒๕๕๕)

พื้นที่ท่าเรือและนิคมฯ ต้องการใช้น้ำ ๕.๙ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือ ๒,๑๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ปล่อยน้ำเสีย ๑.๕ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือ ๕๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และเกิดขยะ ๒,๐๗๔ ตันต่อวัน ๗๕๖,๙๕๙ ตันต่อปี

จอเทต (Kyaw Thet) ประธานสมาคมประมงชายฝั่งทวาย (Dawei Inshore Fishing Association) ระบุว่า ทุกวันนี้พวกเขามีปลาทะเลให้จับอย่างอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อมีโครงการทวาย เรื่องกังวลที่สุดคือผลที่จะเกิดแก่สัตว์น้ำในอ่าวเมาะตะมะจากการปล่อยน้ำเสีย

เราเห็นสิ่งที่ จอเทต เล่าที่ตลาดเช้าเมืองทวาย ด้วยมีปลาทะเลหลายชนิดให้เลือกซื้อจำนวนมาก ขนาดใหญ่กว่าแขนผู้ใหญ่และขายราคาถูก  ปลาเหล่านี้พวกเขาจับและส่งขายได้ทุกวัน

ยังมีข้อมูลจาก วีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ที่ระบุว่า ความเสี่ยงเรื่องมลพิษมีลักษณะ “ข้ามเขตแดน” ด้วยหากดูกระแสลม  ถ้ามีฝนกรดและมลภาวะในทวายอาจกระทบต่อผืนป่าตะวันตกของไทย ไม่นับส่วนงานก่อสร้างอื่นที่เกี่ยวข้องกับโครงการ อาทิ มอเตอร์เวย์จากนนทบุรีไปกาญจนบุรี การวางท่อก๊าซ การสร้างทางรถไฟ ฯลฯ ที่ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตสถานการณ์จะซ้ำรอยกับกรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ยังแก้ไม่ตกหรือไม่

dawei04

“มยองเพียง” แม่นํ้าที่หายไป

เทียบกับชุมชนอื่นในทวายที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนที่เจอหนักที่สุดคือบ้านมยองเพียงซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปในเขตเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งมีราว ๑๐๐ หลังคาเรือน

ตามประวัติมยองเพียงเป็นหมู่บ้านแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมก่อนมีโครงการทวาย ด้วยที่นี่มีสายแร่ตะกั่วทำให้นายทุนอังกฤษมาทำเหมืองตั้งแต่สมัยพม่ายังเป็นอาณานิคม เหมืองที่นี่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “เหมืองเฮ็นดา” (Henda Mining) เปิดดำเนินการมานานจนถึงยุครัฐบาลเผด็จการทหาร

พอพม่าเปิดให้ต่างชาติเข้ารับสัมปทานขุดหาทรัพยากรในทศวรรษ ๒๕๔๐ บริษัทเมียนมาร์พงษ์พิพัฒน์ จำกัด (Myanmar Pongpipat Co., Ltd.) บริษัทเอกชนสัญชาติไทยก็ร่วมทุนกับกรมกิจการเหมืองแร่หมายเลข ๒ สังกัดกระทรวงเหมืองแร่พม่า ทำเหมืองนี้ต่อตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ โดยแบ่งรายได้ให้รัฐร้อยละ ๓๕

กิจกรรมเหมืองเฮ็นดายุคใหม่ส่งผลกระทบต่อหมู่บ้านมากกว่าเดิม มีการใช้เครื่องจักรขุดหน้าดินขึ้นมากองขวางทางน้ำ ทิ้งตะกอนดินหลังแต่งแร่ลงแม่น้ำ  ผู้อาวุโสบ้านมยองเพียงบอกว่าความต่างคือ สมัยอังกฤษทำเหมือง “ไม่มีขุดหน้าดิน ไม่มีการเอาดินมากองปิดกั้นทางไหลของแม่น้ำเหมือนที่บริษัทไทยทำ”

ฤดูฝนปี ๒๕๕๕ ก็เกิดเหตุการณ์ดินถล่ม น้ำท่วม คนมยอง-เพียงบอกว่าระดับน้ำสูงถึงคอนาน ๑๑ วัน เหตุการณ์นี้ยังเกิดซ้ำอีกในฤดูฝนปีถัดมา  พวกเขาพบว่าน้ำในแม่น้ำเหม็น มีตะกอน ไม่สามารถบริโภคได้  เมื่อขุดบ่อน้ำก็พบว่าน้ำมีสีและกลิ่นประหลาด คนจำนวนหนึ่งมีอาการแปลก ๆ จากการบริโภคน้ำ อย่างมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง

ปี ๒๕๕๗ แม่น้ำมยองเพียงก็หยุดไหล กลายสภาพเป็นบึงโคลนขนาดใหญ่

วันที่ผมไปถึง วาวา (Wawa) หญิงชาวมยองเพียงวัย ๒๗ ปีที่พูดภาษาไทยได้เพราะเคยทำงานที่สมุทรสาคร บอกว่า คนที่นี่ไม่กล้าร้องเรียนเนื่องจากหมู่บ้านของพวกเขาอยู่ในเขตประทานบัตรทำเหมือง จึง “แทบไม่มีสิทธิ์พูด” อย่างไรก็ตามเพื่อฟ้องโลก พวกเขานำป้ายประธานาธิบดีเต็งเส่งพร้อม “บัญญัติสี่ประการ” เกี่ยวกับการลงทุนของต่างชาติที่ท่านกล่าวระหว่างประชุมนักธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียนที่กัมพูชาเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๕
ว่าการลงทุนต้อง “๑. ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนพม่า ๒. ปกป้องศักดิ์ศรีแห่งรัฐ ๓. ปกป้องอธิปไตยของชาติ ๔. เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” มาติดไว้ที่ทางเข้าหมู่บ้าน  ชาวมยองเพียงบางคนเอ่ยติดตลกว่าป้ายนี้ให้ผลดีกว่าการต่อต้านแบบอื่น เพราะเจ้าหน้าที่ไม่กล้าปลดป้ายที่มีรูปประธานาธิบดี

วาวา ยังแนะนำให้รู้จักเพื่อนวัย ๒๓ ปี (ขอสงวนนาม) ของเธอซึ่งมีผื่นขึ้นน่อง แล้วเล่าว่าอาการแต่ละคนต่างกัน มีทั้งเวียนศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย  เรื่องมลภาวะในน้ำนี้เคยทดสอบโดย “ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจก่อนจะกลับมาเตือนว่าให้หลีกเลี่ยงการกินน้ำและลงเล่นน้ำ”

ผู้อาวุโสของหมู่บ้านอีกท่านยังพาผมไปดู “แม่น้ำที่หายไป” ซึ่งเหลือเพียงลานดินโล่งยาวไปตามแนวน้ำไหล เมื่อเดินย้อนไปต้นน้ำก็พบกองดินขนาดใหญ่และที่ระบายน้ำเหมือง บรรยากาศรอบ ๆ คล้ายฉากในภาพยนตร์ทำลายล้าง พื้นดินเต็มไปด้วยรอยแตก มีควันลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า  ท่านเล่าว่าสมัยก่อนเรือกลไฟอังกฤษสามารถแล่นเข้ามาได้ถึงจุดที่เรายืนอยู่ นั่นแสดงว่าแม่น้ำสายนี้ต้องเคยลึกและกว้างพอควร

วาวา เล่าว่าคนที่นี่เคยเรียกร้องให้บริษัทเมียนมาร์ฯ ชดเชยความเสียหายก่อนจะได้มา ๕ ล้านจัต (๑๖๖,๖๖๗ บาท)  สำหรับบ้าน ๒๗ หลังที่ถูกน้ำท่วมในปี ๒๕๕๕ มีการขุดร่องระบายน้ำให้ อย่างไรก็ตามทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยไม่มีมาตรการระยะยาว ไม่ต้องพูดถึงการตรวจสุขภาพคนมยองเพียงที่ไม่เคยเกิดขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว

เรื่องน่าสนใจคือ คนมยองเพียงส่วนหนึ่งทำงานให้ ITD ในโครงการทวาย หลายคนเคยทำงานในโรงงานที่จังหวัดสมุทรสาคร พวกเขาบอกว่าถนนในหมู่บ้านที่เห็นส่วนหนึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือจาก ITD ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้  สำหรับคนที่ทำงานกับ ITD เมื่อโครงการทวายหยุดชะงัก พวกเขาก็ตกงานเป็นจำนวนมาก

ล่าสุด ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ กลุ่มนักกฎหมายทวาย (Dawei Lawyer Group - DLG) และชาวบ้านเก้าคนได้ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียจากบริษัทเมียนมาร์ฯ ต่อศาลจังหวัดทวาย  ศาลรับฟ้องคดีดังกล่าวและเริ่มเข้าสู่กระบวนการสืบพยานหลักฐาน และหากพวกเขาชนะ นี่จะกลายเป็นคดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกในพม่าที่จะจารึกในประวัติศาสตร์ว่าภาคประชาชนประสบความสำเร็จในการต่อสู้

ความเปลี่ยนแปลงที่เลือกไม่ได้ ?

ข่าวล่าสุดเกี่ยวกับโครงการทวายเท่าที่เราทราบคือ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๗  นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรี ยังยืนยันว่าโครงการทวายจะเดินหน้าต่อ โดยคณะทำงานระหว่างรัฐบาลไทย-พม่าและนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle - SPV) ที่ตั้งขึ้นดูแลโครงการ คือ บริษัททวายเอสอีแซด ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (Dawei SEZ Development Co., Ltd.) จะทำงานเพื่อให้โครงการระยะที่ ๑ (๒๕๕๔-๒๕๕๘) คือ ถนน ท่าเรือ ระบบสาธารณูปโภค เสร็จตามกำหนดในปี ๒๕๕๘ (ประชาชาติธุรกิจ, ๑๑ เมษายน ๒๕๕๗)

ย้อนไป ๒ เดือนก่อนหน้า เสียงจากคนทวายหลายคนถูกบันทึกลงสมุดบันทึกของนักข่าวไทยที่ร่วมกันลงไปดูของจริงในพื้นที่

จอเทต ประธานสมาคมผู้ทำประมงชายฝั่งทวายซึ่งแวะมาคุยที่ร้านน้ำชากลางเมืองท่ามกลางบรรยากาศตึกเก่าสมัยอาณานิคม บอกว่าเขาและคนทวายไม่ปฏิเสธ “การพัฒนา” แต่อย่างใด

“พวกเรามองว่านี่คือโอกาส อยากให้มีการลงทุนในอุตสาห-กรรมที่เหมาะสม ไม่เอาเปรียบคนท้องถิ่น  ทุกวันนี้ค่าไฟฟ้าในทวายแพงมากเมื่อเทียบกับไทย ทั้งที่เรามีก๊าซธรรมชาติในทะเลแต่ส่วนมากส่งไปขายไทย คนในพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากทรัพยากรเหล่านั้น”

ผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยงจากบ้านตะบิวชองบอกว่าพวกเขาเพิ่งมีสันติภาพได้ไม่นานหลังรบกันมาหลายสิบปี เขาหวังว่าสันติภาพนั้นจะนำมาซึ่งชีวิตที่ “ปลอดภัยและมีความสุข  ที่ผ่านมาเราสูญเสียไปมากแล้ว อยากให้ลูกหลานมีอนาคตที่ดี และส่งต่อผืนแผ่นดินอุดมสมบูรณ์ให้คนรุ่นหลัง”

เยลินมยิ้น มาส่งผมถึงจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน ถนนเปลี่ยนจากลูกรังที่คุ้นชินมาหลายวันเป็นลาดยาง

“ยินดีต้อนรับกลับสู่ความสะดวกสบาย” เยลินมยิ้น พูดติดตลกเมื่อรถยนต์วิ่งเข้าสู่ถนนลาดยางราบเรียบ

ที่ด่าน ตม. ไทย เราจับมือร่ำลากัน  เยลินมยิ้น มุ่งหน้ากลับไปยังถนนลูกรังสู่ “ทวาย” บ้านเกิดที่เขาต้องปกป้อง  ผมกลับบ้านที่แม้จะเต็มไปด้วยปัญหา แต่ก็ “น้ำไหล ไฟสว่าง หนทางดี” มาหลายสิบปี

ธงสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศปลิวไสวอยู่หน้าด่าน เมื่อเล่นเฟซบุ๊กได้อีกครั้ง นอกจากข่าวการเมืองอันวุ่นวายในกรุงเทพฯ ข่าวการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ยังล้น feed นี่กระมังสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่พัดกระหน่ำทวาย

จนเราแทบไม่ได้ยินเสียงที่แท้จริงของพวกเขา

กว่าจะเป็นเมกะโปรเจกต์ “ทวาย”

dawei05

๒๕๕๑
๑๙ พฤษภาคม รัฐบาลไทย (ชุด สมัคร สุนทรเวช)และพม่า(รัฐบาลทหาร) ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและถนนเชื่อมต่อสู่กรุงเทพฯ

๑๙ มิถุนายน

รัฐบาลลงนามกับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)(ITD) โดยให้ ITD ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทวาย
๒๕๕๓
ช่วงต้นปี คนทวายบางพื้นที่เริ่มเห็นการก่อสร้าง บางรายอ้างว่าโดนบุกรุกที่ดิน
กันยายน แถลงข่าวการจัดตั้ง Dawei Development Company Limited

๒ พฤศจิกายน

ITD ลงนามในบันทึกกรอบความร่วมมือกับการท่าเรือพม่า(Myanmar Port Authority-MPA)ได้รับสิทธิ์พัฒนาโครงการประเภท build-operate-transfer(BOT)
๒๕๕๔
๒๗ มกราคม รัฐบาลพม่าประกาศกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (DSEZ)
๑๙ กรกฎาคม KNU ระงับการก่อสร้างถนนของ ITD โดยระบุว่ามีประชาชนร้องเรียนว่าถูกบุกรุกที่ดินและไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ
กันยายน ITD จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท Dawei Development Company Limited (DDC)ในพม่า

ธันวาคม

สมาคมพัฒนาทวาย (DDA) จัดแถลงข่าวที่ย่างกุ้ง แสดงความวิตกต่อโครงการทวาย
๒๕๕๕
๔ มกราคม DDA จัดกิจกรรมต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในโครงการทวาย เรียกร้องการ “พัฒนาสีเขียว”
๗ มกราคม DDA ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ระหว่างการประชุมทวิภาคีที่เมืองทวาย แสดงความกังวลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และเรียกร้องให้ดำเนินโครงการโดยโปร่งใส และจริงใจต่อคนในพื้นที่
๙ มกราคม U Khin Maung Soe รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไฟฟ้าคนที่ ๒ แถลงว่าจะไม่ให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด ๔,๐๐๐ เมกะวัตต์ในทวาย
๒๓ กรกฎาคม รัฐบาลไทย (ชุด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และพม่าลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาที่ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้องแบบรัฐต่อรัฐ
กันยายน ประชาชนในพื้นที่จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านโครงการทวาย
ตุลาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย เปิดเผยว่าหารือร่วมกับผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (JETRO) โดยยืนยันว่าญี่ปุ่นสนับสนุนและจะร่วมทุนโครงการนี้

ธันวาคม

- ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ไทยเยือนพม่า ตรวจดูพื้นที่ก่อสร้างโครงการ- พม่าขอลดพื้นที่สัมปทานเหลือ ๑๕๔ ตาราง กิโลเมตร กันออก ๕๐ ตารางกิโลเมตร เพื่อวิสาหกิจขนาดย่อมในประเทศ  ขอเปลี่ยนคู่สัญญาจาก ITD เป็นการจัดตั้งวิสาหกิจร่วมกับรัฐบาลไทย ทำให้โครงการทวายกลายเป็นโครงการที่ผูกพันระดับรัฐต่อรัฐเนื่องจากมองว่าเอกชนรายเดียวไม่มีศักยภาพมากพอจะผลักดันโครงการ
๒๕๕๖
มกราคม ชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางเยือนไทย และแสดงความสนใจโครงการทวาย
มีนาคม สมาคมพัฒนาทวายและตัวแทนประชาชนในพื้นที่เข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย
พฤษภาคม นายกฯ ญี่ปุ่นเยือนพม่า  DDA ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐบาลและหน่วยงานของญี่ปุ่น
พฤศจิกายน - คณะกรรมการร่วมของรัฐบาลไทยและพม่าลงนามใน MOU สามฉบับ ตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) เพื่อบริหารโครงการทวาย  ยุติบทบาท ITD ในฐานะผู้รับสัมปทานหลักโดย SPV จะรับผิดชอบต่อ- เกิดเหตุการณ์ชาวทวายปิดถนนจากบ้านพุน้ำร้อน-ทวาย หลักกิโลเมตรที่ ๓๗-๓๘ และยึดยานพาหนะ ITD สามคัน เพื่อแสดงความไม่พอใจเรื่องการชดเชยค่าเสียหาย

ธันวาคม

โครงการทวายถูกระงับชั่วคราว รมช. สวัสดิการสังคมและความมั่นคงการบรรเทาทุกข์และการโยกย้ายถิ่นฐานของพม่า ระบุว่าชาวบ้านหกหมู่บ้านยังไม่ได้รับค่าชดเชยและไม่ทราบว่าใครต้องรับผิดชอบเรื่องนี้
๒๕๕๗
๒๓ มกราคม รัฐบาลพม่าประกาศกฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ Law) จัดตั้งและกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดทวาย
เมษายน รัฐบาลไทยยืนยันว่าโครงการทวายยังคงเดินหน้าต่อ

พฤษภาคม

เกิดรัฐประหารในประเทศไทย

เอกสารประกอบการเขียน

  • มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ : โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง. จากมาบตาพุดสู่ทวาย การพัฒนาหรือทำลายข้ามพรมแดน. กรุงเทพฯ : โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, ๒๕๕๖.
  • วริศรา ภานุวัฒน์. เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย. กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๕๖.
  • วีรวัธน์ ธีรประสาธน์. โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย : มองให้ไกลกว่าผลประโยชน์. กรุงเทพฯ : โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง, ๒๕๕๖.
  • www.daweidevelopment.com

ขอขอบคุณ
– โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
– สมาคมพัฒนาทวาย (DDA)
– ดร. ลลิตา หาญวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม