Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ
ท วี ป เ ลื่ อ น - แ ผ่ น ดิ น ไ ห ว
ภัยที่ไม่อาจพยากรณ์
เรื่อง : ยุทธวงษ์ วงษ์ทอง / ภาพประกอบ : วิชาญ เจริญศิลป์
      "ภัยพิบัติทางธรรมชาติจะเริ่มโจมตีเราอีกครั้ง เมื่อความหวาดกลัวครั้งสุดท้ายได้เลือนหายไป"      ภาษิตญี่ปุ่นกล่าวไว้เช่นนั้น
    สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว ภัยธรรมชาติอาจเป็นเหมือนส่วนหนึ่งในชีวิต ที่ต้องทำใจยอมรับ และต้องเตรียมพร้อมที่จะตั้งรับ
    ตลอดเวลาอันยาวนาน มหันตภัยทางธรรมชาติ ตีคู่ขับเคี่ยว กับความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ ราวกับจะทดสอบ ความอดทนพากเพียร ตลอดจนความดื้อรั้นที่จะเอาชนะ
    ไม่เพียงญี่ปุ่น แต่ทั่วทุกมุมโลกที่ถูกภัยทางธรรมชาติถล่มทำลาย เทคโนโลยีการป้องกัน- เตือนภัยที่ทันสมัย แนวคิดทางสถาปัตยกรรมใหม่ ๆ มากมายได้ถูกค้นคิดขึ้น เพื่อรับมือกับมหันตภัยเหล่านี้ แต่ก็ดูจะได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
    และในบรรดาภัยพิบัติจากธรรมชาติ ดูเหมือนไม่มีอะไรที่ร้ายแรง และยากจะรับมือได้เท่า แผ่นดินไหวŽ
    โลกเกิดแผ่นดินไหวทุกวัน และแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกสองถึงสามเดือน ตลอดแนวแผ่นดินไหวในที่ต่างๆ ของโลก
    ปี ๒๕๓๘ ที่โกเบ ประเทศญี่ปุ่น แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวขนาด ๗.๒ ริคเตอร์ ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนถล่มทลาย และมีผู้เสียชีวิตกว่า ๖,๐๐๐ คน
    และเฉพาะปี ๒๕๔๒ เพียงปีเดียว ก็มีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เกิดขึ้นแล้ว อย่างน้อยสามครั้ง ทั้งที่ตุรกี โคลัมเบีย และไต้หวัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตร่วม ๒ หมื่นราย
    เราอาจอยู่ห่างไกลจากแนวแผ่นดินไหว จนเกินจะตื่นตระหนกกับปรากฏการณ์นี้ แต่คงไม่ไกลจนไร้ประโยชน์ ที่จะทำความรู้จักกับมัน

  ทฤษฎีทวีปเลื่อน กับการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก
แผนที่เปลือกโลกใต้สมุทร (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)     แผ่นดินไหวเกิดจากอะไร ?
    เราคงไม่อาจตอบคำถามนี้ได้หากปริศนาเกี่ยวกับผืนทวีปยังไม่คลี่คลาย
    ก่อนหน้าปี ค.ศ. ๑๙๑๒ ผืนทวีปที่เราอาศัยอยู่ ยังคงเป็นที่มาของคำถามมากมาย นักโบราณชีววิทยาผู้ศึกษาเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ ของสิ่งมีชีวิตโบราณ สงสัยว่าสิ่งมีชีวิตพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร เหตุใดสิ่งมีชีวิตหลายชนิดบนพื้นที่ต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกลคนละซีกโลก จึงมีความคล้ายคลึงกัน และทำไมซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์บก ซึ่งไม่สามารถว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรไปได้ จึงมีปรากฏอยู่ตามทวีปต่าง ๆ เหมือน ๆ กัน นักธรณีวิทยามีคำถามว่า เหตุใดในประเทศอินเดียซึ่งอยู่ในเขตร้อน จึงพบหลักฐานยืนยันว่า สภาพพื้นที่หลายแห่งเคยถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง และเกาะกรีนแลนด์ซึ่งอยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือ กลับพบซากหินปะการัง อันเกิดแต่เฉพาะในน่านน้ำเขตร้อนเท่านั้น ส่วนนักภูมิศาสตร์ก็ยังต้องการคำตอบว่า เหตุใดแนวขอบชายฝั่งตะวันออก ของทวีปอเมริกาใต้ และชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ที่อยู่ห่างกันถึง ๕,๐๐๐ กิโลเมตร จึงมีรูปร่างที่ดูเหมือนว่าจะสามารถนำมาต่อเข้ากันได้สนิท ราวกับแผ่นดินทั้งสองเคยเป็นผืนเดียวกัน ฯลฯ
    ทฤษฎีต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเวลานั้น อาจตอบคำถามเหล่านี้ได้เพียงบางข้อ โลกเพิ่งได้รับคำตอบที่คลี่คลายข้อสงสัยที่กล่าวมาทั้งหมดได้ ก็เมื่อ อัลเฟรด เวเกเนอร์ นำเสนอทฤษฎีใหม่ของเขา ที่รู้จักกันในเวลาต่อมาในชื่อ "ทฤษฎีทวีปเลื่อน" (Continental Drift)
    อัลเฟรด เวเกเนอร์ (Alfred Wegener ค.ศ. ๑๘๘๐-๑๙๓๐) นักอุตุนิยมวิทยาชาวเยอรมัน มีคำถามอยู่ในใจเช่นเดียวกับนักภูมิศาสตร์ เกี่ยวกับแนวขอบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ของทวีปอเมริกาใต้ และแอฟริกาที่ดูจะต่อเข้ากันได้สนิท คล้ายชิ้นส่วนของภาพต่อจิกซอว์ เขาตั้งสมมุติฐานว่า การต่อเข้ากันได้สนิท อาจหมายความว่าทวีปทั้งสอง เคยเป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน ก่อนที่จะแยกออกจากกันอย่างที่เห็นในปัจจุบัน และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็แสดงว่าผืนทวีปขนาดยักษ์มีการเคลื่อนที่
    เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานนี้ เวเกเนอร์จึงได้ศึกษาวิชาแขนงอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ธรณีวิทยา และสิ่งมีชีวิตโบราณ และได้พบว่าไม่เพียงแต่รูปร่าง ของชายฝั่งมหาสมุทรทั้งสองทวีปจะสอดคล้องกันเท่านั้น แต่ลักษณะทางธรณีวิทยา และซากสิ่งมีชีวิตโบราณที่พบก็คล้ายคลึงกันด้วย แสดงว่าทวีปได้แยกจากกันหลังจากที่สัตว์ และพืชตายลง และฝังอยู่ในชั้นหิน
แผนที่เปลือกโลกที่สำคัญ Major Plates (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)     ในปี ค.ศ. ๑๙๑๒ เวเกเนอร์ได้ประกาศทฤษฎี การเคลื่อนที่ของทวีปเป็นครั้งแรก ทฤษฎีนี้ได้แพร่หลายในปี ค.ศ. ๑๙๑๕ พร้อม ๆ กับหนังสือของเขาที่ชื่อ ที่มาของทวีปและมหาสมุทร (The Origin of Continents and Ocean) เวเกเนอร์ได้อธิบายว่า แผ่นดินทุกทวีปมีร่องรอย อันอาจประกบเข้าให้กลายเป็นทวีปมหึมาทวีปเดียวได้ และได้ให้นามผืนทวีปนี้ว่า "พังเกีย" (Pangaea) เขาเชื่อว่าในสมัยแรกที่มีแผ่นดินนั้น มหาทวีปพังเกีย อยู่แถบซีกโลกทางใต้ และเพิ่งจะแตกแยกออก ในราวยุคไดโนเสาร์ คือเมื่อประมาณ ๑๘๐ ล้านปีมานี้ จนกลายมาเป็นทวีปต่าง ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
    แต่เนื่องจากนักวิชาการส่วนใหญ่ในสมัยนั้น ยังไม่เชื่อว่า ในโลกนี้จะมีแรงอะไรที่มีพลังมากพอ ที่จะผลักดันให้ผืนทวีปเลื่อนออกจากกันได้ และทฤษฎีทวีปเลื่อน ของเวเกเนอร์เองก็ไม่อาจตอบคำถามสำคัญข้อนี้ ดังนั้นจึงมีผู้โต้แย้งทฤษฎีของเวเกเนอร์ โดยอ้างว่าความคล้ายคลึงกันของพืช ที่เวเกเนอร์กล่าวถึง อาจจะมาจากเมล็ด และละอองเกสรที่ปลิวมาตามลม ส่วนความคล้ายคลึงกันของสัตว์ที่อยู่ต่างทวีป ก็อาจเกิดจากสัตว์ขนาดใหญ่เดินข้ามมหาสมุทร ในบริเวณที่มีสะพานเชื่อมต่อกัน เช่นบริเวณอะแลสกา- ไซบีเรีย แต่สะพานนี้ได้ยุบหายไปในทะเล ในบางช่วงเวลา แนวคิดโต้แย้งเหล่านี้ ได้ทำให้ทฤษฎีทวีปเลื่อนถูกละทิ้งไปจากวงการศึกษา ไปจนตลอดชีวิตของเวเกเนอร์
    จนมาถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีการพัฒนาเทคโนโลยี และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้มีผู้คิดหาคำตอบในคำถามสำคัญ ที่ยังคงค้างไว้ในทฤษฎีทวีปเลื่อน ของเวเกเนอร์จนเป็นผลสำเร็จ ผู้ที่ให้คำตอบนี้เป็นนักธรณีวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา ชื่อ แฮรี เฮส (Harry Hammond Hess ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๖๙) เฮสเชื่อในทฤษฎีทวีปเลื่อน ของเวเกเนอร์มาตั้งแต่ต้น และยังได้ศึกษาเพิ่มเติมในแนวคิดของ อาร์เทอร์ โฮล์มส์ (Arthur Holmes) นักธรณีวิทยาชาวอังกฤษช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ จนในที่สุดเมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๙ เฮสก็ได้ประกาศแนวคิด เกี่ยวกับการแยกตัวกันของพื้นมหาสมุทรแอตแลนติก และได้ตีพิมพ์เผยแพร่แนวคิดนี้ ลงในหนังสือชื่อ History of Ocean Basins ในปี ค.ศ. ๑๙๖๒ แนวคิดดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญ ในการพัฒนาไปสู่ ทฤษฎีทวีปเลื่อนยุคใหม่ เฮสกล่าวว่าท้องมหาสมุทรแอตแลนติก มีสันเขาอยู่ใต้น้ำ ผ่ากลางมหาสมุทรตั้งแต่เหนือจรดใต้ สันเขาใต้น้ำนี้ เกิดจากแมกม่า หรือหินละลายภายใต้เปลือกโลกที่ดันตัวขึ้นมา ตรงรอยแยกของแผ่นทวีป ทำให้เกิดพื้นมหาสมุทรใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พื้นมหาสมุทรที่เกิดใหม่นี้ จะดันพื้นมหาสมุทรเดิมให้ค่อย ๆ ขยับห่างออกจากกันทีละน้อย เป็นเวลาติดต่อกันหลายร้อยล้านปี ด้วยเหตุนี้ทวีปอเมริกาจึงค่อย ๆ เคลื่อนจากทวีปแอฟริกาทีละน้อย ๆ และแยกจากกันเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
      ความรู้ใหม่นี้ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นในเวลานั้น จึงได้มีการค้นคว้ากันอย่างกว้างขวางเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม เฮสได้ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์แห่งรัฐนาวีอเมริกัน ชื่อ โรเบิร์ต ดิเอซ (Robert S. Dietz) พิสูจน์ความจริงนี้ ให้เห็นด้วยการสำรวจพื้นมหาสมุทรแอตแลนติก จนเป็นผลสำเร็จโดยอาศัยหลักการสะท้อนคลื่นเสียงใต้น้ำ นักทำแผนที่ในยุคนั้น ได้เดินทางทิ้งระเบิดจากเรือสำรวจ เพื่อตรวจจับเสียงสะท้อนใต้ท้องทะเล เป็นระยะทางนับพันกิโลเมตร ในที่สุดก็สามารถจัดทำแผนที่พื้นมหาสมุทรทั่วโลก ทีมสำรวจได้พบสันเขาใต้น้ำเพิ่มขึ้น ในมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นแนวยาว เชื่อมติดต่อกันกับสันเขาใต้น้ำ ในมหาสมุทรแอตแลนติก ภาพของโลกที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ดูเหมือนลูกเบสบอล ที่เต็มไปด้วยรอยตะเข็บ
    เฟรเดอริก ไวน์ (Frederick Vine) และ ดรัมมอนด์ แมททิวส์(Drammond Matthews) สองนักธรณีวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร ได้พยายามอธิบายเรื่องทวีปเลื่อน โดยใช้ความรู้เกี่ยวกับสนามแม่เหล็กโลก และคุณสมบัติของหินละลาย ซึ่งมีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ เมื่อหินละลายพุ่งขึ้นมาสู่เปลือกโลก สารแม่เหล็กที่มากับหินละลาย จะวางตัวตามแนวแม่เหล็กโลกในทิศเหนือใต้ในขณะนั้น เมื่อสนามแม่เหล็กโลกเปลี่ยนแปลงไป ก็จะทำให้แนวงอกของทวีปเปลี่ยนตาม และทำให้ทวีปเลื่อนอย่างเปลี่ยนทิศทาง
ทางด่วนฮันชินที่พังลงมาในเมืองโกเบ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)     จอห์น ทูโซ วิลสัน (John Tuzo Wilson ค.ศ. ๑๙๐๘-๑๙๙๓) นักภูมิฟิสิกส์ชาวแคนาดา เป็นอีกผู้หนึ่งที่เสนอแนวความคิดสำคัญ ที่ช่วยให้ทฤษฎีทวีปเลื่อนยุคใหม่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในวัยหนุ่มวิลสันเข้าศึกษาระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ซึ่งในขณะนั้น แฮรี เฮส มาเป็นอาจารย์ผู้บรรยาย ที่มีอายุมากกว่าเพียงสองปี วิลสันสนใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ฮาวายและหมู่เกาะภูเขาไฟใกล้เคียง โดยได้ตั้งสมมุติฐานว่า หมู่เกาะเหล่านี้อาจถือกำเนิดมาจาก Hot Spot อันเป็นพลังงานความร้อนมหาศาล ของหินละลายที่พวยพุ่งขึ้นมา จากส่วนลึกของชั้นแมนเทิล (mantle) ใต้เปลือกโลก สมมุติฐานเรื่อง Hot Spot ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๓ ใน The Canadian Journal of Physics
    อีกสองปีถัดมา วิลสันได้ให้ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น บริเวณรอยเลื่อนซานอันเดรส (San Andreas) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ว่า มีลักษณะไม่เหมือนกับขอบของแผ่นเปลือกโลกที่อื่น ๆ นั่นคือ ไม่ได้จัดอยู่ในลักษณะการแยกออกจากกัน หรือเคลื่อนที่เข้าหากันแล้วมุดซ้อนกัน แต่น่าจะแบ่งได้เป็นแบบที่ ๓ นั่นก็คือ การเคลื่อนที่สวนทางกันในลักษณะเฉือนกัน โดยมิได้ส่งผลกระทบต่อลักษณะภูมิประเทศ เท่าสองแบบข้างต้น
    ตลอดทศวรรษ ๑๙๖๐-๑๙๗๐ ยังมีความรู้ และการค้นพบใหม่ ๆ ของนักวิทยาศาสตร์อีกหลายกลุ่ม ที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องราว เกี่ยวกับทวีปเลื่อนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ความรู้ความคิดใหม่ ๆ เหล่านี้ได้พัฒนาขึ้นมาสู่ทฤษฎีทวีปเลื่อนยุคใหม่ ที่นอกจากจะอธิบายการเคลื่อนที่ และการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแผ่นเปลือกโลกแล้ว ยังทำให้เราได้เรียนรู้ถึงพลังงานมหาศาล ภายใต้เปลือกโลก พลังที่แยกผืนทวีปมหึมาออกจากกัน ยกแผ่นดินที่ราบขึ้นเป็นเทือกเขา พลังที่สำแดงอำนาจทำลายล้าง ในรูปของภูเขาไฟที่ก้าวร้าวดุดัน หรือคลื่นแผ่นดินไหวที่ถล่มอาคารบ้านเรือนจนพังทลาย บิดรางรถไฟเหล็กกล้าให้คดงอ รวมถึงพลังที่แปรเปลี่ยนกระแสน้ำในทะเล ให้กลายเป็นคลื่นยักษ์ เข้าถาโถมทำลายเมืองชายฝั่งจนราบเป็นหน้ากลอง
    ทฤษฎีนี้รู้จักกันในชื่อ "เพลตเทคโทนิก" (Plate Tectonics)

  เพลตเทคโทนิก--การเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลก
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงรอยเลื่อนที่เจดีย์สามองค์ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)     บางทีภูผาหินที่แข็งแกร่งหรือผืนดินอันมั่นคงที่เราได้เห็น และสัมผัสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อาจเป็นภาพลวงตา เพราะแท้จริงแล้วผืนแผ่นดิน ที่เราอาศัยอยู่นี้ก็เป็นเพียงชั้นเปลือกโลก (crust) ที่เปราะบาง และแตกร้าว ล่องลอยไปมาเหมือนแพหินขนาดใหญ่ บนมหาสมุทรของหินละลาย หรือแมกม่า (magma)    
    เปลือกโลกแตกออกเป็นแผ่นหินใหญ่หลายชิ้น ชิ้นส่วนของเปลือกโลกเหล่านี้ เราเรียกว่า "แผ่นเปลือกโลก" หรืออาจเรียกทับศัพท์ว่า "เพลต" (plate) โดยมีเพลตอยู่ ๑๖ ชิ้นที่ประกอบกันเข้าเป็นเปลือกโลก แบ่งเป็นแผ่นทวีปและแผ่นมหาสมุทร อย่างไรก็ตามขอบของแผ่นเปลือกโลกแต่ละแผ่นไม่ได้ประกบกันเข้าอย่างแผ่นภาพต่อ แผ่นเปลือกโลกบางแผ่น เคลื่อนที่ในลักษณะเลื่อนตัวแยกออกจากกัน (spreading) ดังนั้นบริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกจึงเคลื่อนตัวออกจากกัน (diverging boundary) บางแผ่นก็เลื่อนเข้าไปชนกัน (collision) จนเกิดการเกยกัน ระหว่างแผ่นเปลือกโลกสองแผ่น (converging boundary) หรือเปลือกโลกแผ่นใดแผ่นหนึ่ง อาจจะมุดลอดอยู่ใต้เปลือกโลกอีกแผ่นหนึ่ง (subduction) สิ่งสำคัญที่ทำให้โลกของเรา ต่างจากแผ่นภาพต่อโดยสิ้นเชิง ก็คือ แผ่นเปลือกโลกทั้ง ๑๖ แผ่นที่ประกอบกันเข้าเป็นเปลือกโลกนั้น มีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา บางทีก็เคลื่อนที่ผ่านกัน และเฉียดกันในทิศทางที่สวนกัน จนเกิดเป็นรอยเลื่อนด้านข้างขนาดใหญ่ (transform fault) อัตราการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกแต่ละแผ่นนั้น นับว่าช้ามาก ๆ โดยเฉลี่ยแล้วเพียงแค่ ๒.๕ ซม. ต่อปี หรือเทียบง่าย ๆ ว่าพอ ๆ กับเล็บมือของเราที่งอกออกมาในแต่ละปี
    การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกแต่ละแผ่น ซึ่งมีทิศทางที่แตกต่างกัน ได้สร้างให้เกิดภูมิประเทศแบบต่าง ๆ ขึ้นในโลก ในขณะเดียวกับที่ดวงอาทิตย์ ก็ทำหน้าที่สลักเสลา กัดกร่อนภูมิประเทศที่โลกสร้างขึ้นมาด้วยแสงแดด ลม และน้ำ งานของโลกในการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเปลือกโลก ได้เริ่มขึ้นเมื่อแผ่นเปลือกโลกสองแผ่นเคลื่อนที่เข้ามาชนกัน เทือกเขาหิมาลัย เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่ง ของลักษณะภูมิประเทศ ที่เกิดจากการเคลื่อนตัวเข้าชนกันของแผ่นเปลือกโลก
    เทือกเขาหิมาลัยเป็นเทือกเขาที่สูงที่สุดในโลก ยอดเขาเอเวอร์เรสต์บนเทือกเขาหิมาลัยมีความสูงถึง ๘,๘๔๘ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง คงยากที่ใครจะนึกว่า ดินแดนหลังคาโลกนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นทะเลมาก่อน อย่างไรก็ตามระลอกคลื่น ที่ปรากฏบนพื้นผิวของหน้าผา และซากดึกดำบรรพ์ของแอมโมไนต์ ที่พบในบริเวณแม่น้ำลำธารบนเทือกเขา ก็เป็นหลักฐานยืนยันได้ดี ถึงความอัศจรรย์ของธรรมชาติ     
      แอมโมไนต์มีรูปร่างหน้าตาคล้ายปลาหมึก แต่มีเปลือกคล้ายเปลือกหอยห่อหุ้มร่างกาย แอมโมไนต์ว่ายไปมาเมื่อประมาณ ๒๐๐-๖๕ ล้านปีก่อน ในมหายุคเมโซโซอิก (mezozoic) ในยุคนั้นไดโนเสาร์ครอบครองพื้นทวีป ขณะที่แอมโมไนต์ครองพื้นทะเล แต่หลังจากที่มหายุคเมโซโซอิกปิดฉากลงอย่างกะทันหัน ด้วยสาเหตุบางอย่าง ทั้งแอมโมไนต์และไดโนเสาร์ต่างก็สาบสูญไปพร้อม ๆ กัน ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงก่อนหน้าที่แผ่นเปลือกโลกอินเดีย จะแยกมาจากแผ่นดินใหญ่กอนด์วานา (gondwanaland) ในซีกโลกตอนใต้ และเคลื่อนตัวมาทางทิศเหนือ ผ่านเส้นศูนย์สูตรมาชนกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียน
    เมื่อแผ่นเปลือกโลกอินเดียเคลื่อนที่มาใกล้แผ่นเปลือกโลกยูเรเชียน พื้นที่เปลือกโลกบริเวณรอยต่อ ระหว่างแผ่นดินทั้งสอง ก็ถูกแรงดันจนโค้งงอ ในที่สุดก็โผล่พ้นทะเล เกิดเป็นเกาะขึ้นหลายเกาะ และกลายเป็นทะเลตื้น ๆ ในเวลาต่อมาเมื่อแผ่นเปลือกโลกทั้งสองเคลื่อนที่เข้าชนกันแล้ว แผ่นเปลือกโลกอินเดีย ได้มุดซ้อนเข้าไปใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเชียน ซากสิ่งมีชีวิตที่ทับถมอยู่ในทะเล จึงถูกดันให้ยกตัวสูงขึ้นเป็นเทือกเขาหิมาลัย และในขณะเดียวกัน ก็เกิดที่ราบสูงทิเบตกว้างใหญ่ขึ้น คลื่นกระทบจากการชนกันทำให้เกิดรอยย่นบนเปลือกโลกเป็นบริเวณกว้าง กลายเป็นแนวเทือกเขาทอดยาวมากกว่า ๓,๐๐๐ กิโลเมตร และยาวติดต่อกันมาถึงภาคเหนือของประเทศไทย ในปัจจุบันเทือกเขาหิมาลัยยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตราเฉลี่ย ๑ เมตรในเวลา ๕,๐๐๐ ปี เนื่องมาจากแผ่นเปลือกโลกทั้งสองยังคงเคลื่อนที่อยู่
    การเคลื่อนที่เข้าชนกันของแผ่นเปลือกโลกสองแผ่น ในลักษณะที่แผ่นหนึ่งมุดลอดลงไปใต้อีกแผ่นหนึ่ง (มักจะเกิดจากการที่แผ่นมหาสมุทร ซึ่งมีความหนาแน่นกว่ามุดลอดลงไปใต้แผ่นทวีป) นอกจากจะทำให้เกิดการดันตัวขึ้นเป็นเทือกเขาแล้ว บางกรณียังทำให้เกิดร่องลึก (trench) ในพื้นมหาสมุทรด้วย กล่าวคือขณะที่แผ่นเปลือกโลกที่อยู่ข้างใต้งัดให้แผ่นเปลือกโลกแผ่นบนสูงขึ้น จนเกิดเป็นเทือกเขา ตัวมันเองก็จะจมลึกลงไปเรื่อย ๆ ยิ่งลึกลงไปใต้เปลือกโลกเท่าไร อุณหภูมิก็จะยิ่งสูงขึ้น พร้อมกับความดันภายใต้พื้นผิวโลกก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และเมื่อลงไปสู่ความลึกประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตรจากพื้นผิวโลก แผ่นเปลือกโลกที่เป็นหินแข็งก็จะอ่อนตัวลง กลายเป็นหินละลายหรือแมกม่า ในที่สุดหินละลายก็จะถูกดันกลับขึ้นสู่เปลือกโลกเบื้องบน ตามรอยต่อหรือรอยแตกร้าวของแผ่นเปลือกโลก ทำให้เทือกเขาที่เกิดขึ้นมีการปะทุของแมกม่า กลายเป็นภูเขาไฟที่มีพลัง ตัวอย่างของกรณีนี้ได้แก่ เทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้ เทือกเขาในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น
สภาพเมืองซานฟรานซิสโก หลังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)     การแยกตัวออกจากกันของแผ่นเปลือกโลกได้ก่อให้เกิดเปลือกโลกขึ้นมาใหม่ เพราะตลอดแนวที่เปลือกโลก แยกออกจากกันจะมีการปะทุของแมกม่า จนกลายเป็นแนวร่องภูเขาไฟ แมกม่าเมื่อดันตัวสู่ผิวโลกจะกลายเป็นลาวา และเมื่อลาวาเย็นตัวลง ก็จะกลายเป็นเปลือกโลกแผ่นใหม่ ซึ่งจะดันแผ่นเปลือกโลกเก่าให้เคลื่อนที่ไป เมื่อมีแผ่นเปลือกโลกใหม่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง แผ่นเปลือกโลกใหม่ก็จะดันให้แผ่นเปลือกโลกเก่าเคลื่อนที่ต่อไปอีก กระบวนการนี้จะค่อย ๆ เป็นไปอย่างช้า ๆ ทีละน้อย ๆ แต่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันนับแสนนับล้านปี กระบวนการเช่นนี้เป็นกระบวนการเดียวกับ ที่ร่องลึกกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งสร้างเปลือกโลกใหม่ตลอดเวลา ดันให้ทวีปแอฟริกา เคลื่อนห่างออกจากทวีปอเมริกาไปทีละน้อย จนทำให้ผืนทวีปแอฟริกา และอเมริกาแยกออกจากกันในที่สุด ส่วนตัวอย่างเปลือกโลกบริเวณที่กำลังเริ่มแยกตัวออกจากกัน ก็ได้แก่ บริเวณที่เรียกว่า East African Vallay จากการศึกษาพบว่าแผ่นเปลือกโลกโซมาเลียน กำลังค่อย ๆ เคลื่อนที่ออกจากแผ่นเปลือกโลกแอฟริกัน ด้วยความเร็ว ๒ ซม. ต่อปี โดยในราวล้านปีข้างหน้า รอยแยกนี้จะกว้างถึง ๒๐ กม. มีการคาดหมายกันว่า กระบวนการเช่นนี้จะทำให้แผ่นดินแอฟริกาตะวันออก ในส่วนที่เป็นประเทศเคนยา แทนซาเนีย เอธิโอเปีย ยูกันดา ฯลฯ กลายเป็นเกาะ แยกตัวออกจากทวีปแอฟริกาในอีก ๕๐ ล้านปีข้างหน้า ปรากฏการณ์เช่นนี้ ได้เคยเกิดขึ้นกับทะเลแดงมาแล้วในอดีตเช่นกัน กล่าวคือแผ่นดินแอฟริกา และแผ่นดินที่เป็นคาบสมุทรอาระเบียในอดีต เคยเชื่อมติดเป็นแผ่นดินผืนเดียวกันมาก่อน แล้วเกิดการเลื่อนตัวออกจากกันอย่างช้า ๆ กินเวลานับล้านปี จนทำให้แนวที่เปลือกโลกแยกตัว มีระดับต่ำกว่าน้ำทะเล และเมื่อรอยแยกนี้ ได้ขยายออกจนไปจรดท้องทะเล ก็ทำให้น้ำทะเลไหลทะลักเข้ามาอย่างช้า ๆ ในที่สุดบริเวณดังกล่าวก็กลายเป็นทะเลแดง แบ่งแยกคาบสมุทรอาระเบีย ออกจากทวีปแอฟริกาเช่นในปัจจุบัน
    และในกรณีที่แผ่นเปลือกโลกสองแผ่น ไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าหากันตรง ๆ แต่เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่สวนทางกัน หรือเคลื่อนที่แบบเฉียดกัน ก็จะทำให้เปลือกโลกเกิดเป็นร่องแนวรอยเลื่อนที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน จากทางอากาศ ตัวอย่างของกรณีนี้ ได้แก่รอยเลื่อนซานอันเดรสในสหรัฐอเมริกา ที่เห็นเป็นแนวรอยเลื่อนยาวติดต่อกันนับพันกิโลเมตร
    การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกแม้จะเป็นไปอย่างช้า ๆ เพราะกว่าที่รอยแยกบนเปลือกโลกจะผลักดันให้ผืนทวีปแยกออกจากกัน หรือกว่าที่แผ่นดินจะยกตัวสูงขึ้นเป็นเทือกเขา ก็ต้องใช้เวลานับล้าน ๆ ปี แต่ถึงกระนั้นผลกระทบจากแรงดันมหาศาล จากการที่เปลือกโลกเคลื่อนตัวเข้าหากัน ก็ก่อให้เกิดภัยพิบัติร้ายแรง มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน หินละลายที่ดันตัวขึ้นสู่เบื้องบนตามรอยต่อ หรือรอยแตกร้าวของเปลือกโลก ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ภูเขาไฟระเบิด ที่ถล่มทลายเมืองทั้งเมืองให้ย่อยยับ แรงดันมหาศาลจากการเกยกันของแผ่นเปลือกโลก จนทำให้แผ่นเปลือกโลกสองแผ่น ไถลเลื่อนออกจากกัน ก็ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากต่อมาก และหากการเคลื่อนตัวนี้เกิดขึ้นในมหาสมุทร ก็จะก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ "สึนะมิ" ที่ถล่มทำลายเมืองชายฝั่งจนราบมาแล้วหลายครั้ง
    โดยเฉพาะในกรณีของแผ่นดินไหวนั้น สิ่งที่น่าหวาดหวั่นที่สุดก็คือ เราแทบไม่มีโอกาสรู้ล่วงหน้าได้เลยว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อใด

  แผ่นดินไหว ภัยที่ไม่อาจพยากรณ์
      ในสมัยโบราณ หลายประเทศในโลก มีตำนานที่ใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์แผ่นดินไหว นิยายปรัมปราของชาวฮินดูบอกว่า มีช้างแปดเชือกหนุนผืนแผ่นดินอยู่ เมื่อมันสะบัดหัว ก็จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น ชาวมองโกเลียเชื่อว่ามีกบยักษ์นอนหลับหนุนโลก หากมันตื่นขึ้น และขยับตัวเมื่อไร ก็จะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อนั้น ไทยเรามีปลาอานนท์ ส่วนญี่ปุ่นก็มีปลาดุกยักษ์นามาสุ ที่ถูกเทพเจ้าสั่งให้ทำหน้าที่หนุนผืนแผ่นดินไว้
    ปัจจุบันเรามีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับแผ่นดินไหว ที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ชัดเจน โดยไม่ต้องอาศัยเพียงจินตนาการเช่นคนยุคก่อน เรารู้สาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว รู้ถึงระดับแรงสั่นสะเทือนของมัน รวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ อีกมาก แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังไม่อาจหาคำตอบที่สำคัญที่สุด เกี่ยวกับแผ่นดินไหว
    ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกคุกคามทั้งจากแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และคลื่นยักษ์สึนะมิ เนื่องจากทำเลที่ตั้งนอกจากจะเป็นเกาะแล้ว ยังตั้งอยู่บนสามแยกอันตราย สามแยกที่ว่านี้ก็คือรอยต่อของเปลือกโลกสามแผ่น อันได้แก่ แผ่นทวีปยูเรเชียน แผ่นมหาสมุทรฟิลิปปินส์ และแผ่นมหาสมุทรแปซิฟิก รอยต่อระหว่างแผ่นเป็นลักษณะมุดตัวซ้อนกัน โดยแผ่นมหาสมุทรที่มีความหนาแน่นมากกว่า มุดเข้าไปใต้แผ่นทวีป ทำให้พื้นที่ประเทศญี่ปุ่นมีพร้อมทั้งแนวภูเขาไฟที่มีพลัง และรอยแตกรอยเลื่อนหลายแห่ง จากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผ่นดินไหว
    ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับแผ่นดินไหว และได้ลงทุนศึกษาค้นคว้า เรื่องแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าความรู้ที่ได้จะช่วยทำนาย และเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ทั้งนี้เพราะถึงแม้การเกิดแผ่นดินไหวทุกครั้ง จะมีศูนย์กลางของการเกิด ซึ่งเรียกว่า "ศูนย์กลางแผ่นดินไหว" และมีรอบของการเกิดแผ่นดินไหวที่เรียกว่า "คาบอุบัติซ้ำ" ที่น่าจะทำให้สามารถพยากรณ์ การเกิดแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ แต่เนื่องจากรอยเลื่อนตัวหนึ่ง จะก่อให้เกิดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ตลอดแนวรอยเลื่อน ทั้งยังเกิดในเวลาที่ต่างกัน การพยากรณ์โดยยึดศูนย์กลางของการเกิด และคาบอุบัติซ้ำจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ โดยทั่วไปแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ซึ่งมีรอบการเกิดสั้นจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วโลก ขณะที่การเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ซึ่งรอบการเกิดยาวนานกว่า (อาจนับเป็นร้อยหรือพัน ๆ ปี) จะเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง ทว่าแต่ละครั้งก็จะก่อความเสียหายอย่างรุนแรง
      อย่างไรก็ตาม ความพยายามของมนุษย์ก็ไม่จบสิ้นลงง่าย ๆ ปัจจุบันยังมีการศึกษาวิจัย ในแนวทางอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การวัดค่าความเครียดความเค้นของเปลือกโลก วัดก๊าซเรคอน วัดการเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กโลก รวมถึงการบันทึกประวัติการเลื่อนตัว ของรอยเลื่อนต่าง ๆ ตามความยาวทั้งหมดจากการมีตะกอนทับถม และแผ่นดินไหวที่เกิดต่อเนื่อง แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก
    ด้วยเหตุนี้การศึกษาแผ่นดินไหว จึงมุ่งไปสู่การวางแผนรับมือ เมื่อเกิดอุบัติภัยมากกว่าการพยากรณ์ล่วงหน้า ที่ญี่ปุ่นมีการออกแบบอาคารสำนักงาน ที่ลดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวลงได้ถึงร้อยละ ๖๕ ตัวอาคารจะมีการถ่ายน้ำหนัก จากระบบไฮโดรลิก โดยปรับตำแหน่ง และควบคุมการถ่ายน้ำหนักด้วยคอมพิวเตอร์ ในลักษณะที่คล้ายกับการผ่อนคลายกล้ามเนื้อของคน ที่ยืนโหนอยู่บนรถเมล์
    ส่วนที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ก็มีการออกแบบสร้างอาคารโรงพยาบาล ที่ลดแรงสั่นสะเทือน มีการวางระบบท่อไฟฟ้า และท่อแก๊สที่ยืดหยุ่น เพื่อให้โรงพยาบาลยังคงเหลือรอดอยู่ เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว
    นอกจากนี้ยังมีการค้นคิดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่จะช่วยประเมินความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องคอย การรายงานผลสำรวจความเสียหาย ตามขั้นตอนอย่างเป็นทางการ และสามารถดำเนินการช่วยเหลือ ผู้ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างทันท่วงที โปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้ ชื่อ EPEDAT (Early Post Earthquake Damage Assessment Tool) มันจะคำนวณความเสียหายตามขนาดแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น โดยจะประเมินและแสดงตำแหน่งอาคาร ที่อาจจะถล่มลงมา รวมทั้งจุดที่อาจจะมีผู้บาดเจ็บจากอาคารถล่ม
    เวลา ๒๔ ชั่วโมงหลังเกิดแผ่นดินไหว เป็นชั่วโมงทองที่จะช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เพราะผู้เคราะห์ร้ายจะมีโอกาสรอดชีวิตสูง การกู้ภัยสากลของอังกฤษ ได้ทดลองนำอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงมาใช้ในการกู้ภัย เช่น นำกล้องไฟเบอร์ออปติกขนาดเล็ก ที่ใช้ในทางการแพทย์หย่อนลงไป ตามซอกหลืบของอาคาร เพื่อส่องหาผู้รอดชีวิต หรือใช้เครื่องวัดเสียงอัลตราโซนิก ที่ช่วยให้ได้ยิน แม้กระทั่งเสียงที่เบาที่สุดอย่างเสียงเคาะเบา ๆ ในระยะห่างไปหลายเมตร เสียงเหล่านี้สำคัญมาก เพราะในการช่วยเหลือ มักได้ยินเสียงก่อนจะมองเห็นตัว อุปกรณ์ดังกล่าวนี้ได้นำไปใช้กู้ภัยที่โกเบด้วย
      คนญี่ปุ่นเรียนรู้ และพยายามหาวิธีปรับตัว เพื่ออยู่ร่วมกับภัยธรรมชาติได้อย่างน่าทึ่ง ชาวเมืองชายฝั่งทะเลบางเมือง ที่เคยถูกคลื่นยักษ์ซึนามิ ซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเลเข้าโถมซัดทำลาย ได้ร่วมกันสร้างกำแพง และประตูยักษ์ไว้รอรับมือกับสึนะมิลูกต่อไป โดยในเวลาปรกติ ประตูจะเปิดเป็นทางสัญจรเหมือนประตูเมืองสมัยโบราณ แต่ในยามฉุกเฉินประตูเมืองจะปิด เพื่อป้องกันกองทัพน้ำที่จะเข้าทำลายเมือง
    เมืองที่อยู่ใกล้ภูเขาไฟ ก็มีการสร้างลำรางขนาดใหญ่ ที่ดูคล้ายคลองชลประทานยักษ์ คลองนี้สร้างขึ้นมา เพื่อรองรับหินละลาย หรือลาวาจากภูเขาไฟ เป็นการเบี่ยงเบนให้สายธารลาวาระบายลงสู่ทะเล จะเรียกเป็นถนนซูเปอร์ไฮเวย์ สำหรับลาวาก็ว่าได้ ช่วงเวลาที่ภูเขาไฟเกรี้ยวกราด ก็จะมีการอพยพชาวเมืองไปอยู่ที่อื่น เป็นการชั่วคราว พอเหตุการณ์สงบก็กลับมาเสี่ยงภัยกันใหม่ เรื่องย้ายหนีอย่างถาวรนั้น แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะว่าที่ดินที่ญี่ปุ่นนั้นมีราคาแพงมาก ในวันครบรอบปี ของการเกิดภัยพิบัติในแต่ละเมืองที่กล่าวมา ชาวเมืองก็จะมาร่วมรำลึกถึงผู้จากไป และซักซ้อมแผนอพยพร่วมกัน
    ส่วนในเมืองใหญ่ก็มีการติดตั้งสื่อเตือนภัย มีการให้ความรู้ เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหว มีการซักซ้อมแผนอพยพ ตั้งแต่ระดับนักเรียนอนุบาล จนถึงผู้ใหญ่วัยทำงาน โดยทั่วไปก่อนการเกิดแผ่นดินไหว มักจะมีการไหวเตือน (fore shock) โดยเราสามารถตรวจจับแรงสั่นสะเทือนระลอกแรกนี้ ได้ก่อนที่แรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงจะเข้าโจมตี การเดินทางมาถึงของคลื่นทั้งสองระลอก มีระยะห่างกันโดยเฉลี่ยประมาณ ๕-๒๐ วินาที ดังนั้นจากการมีเครือข่ายเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ดี ชาวญี่ปุ่นจึงได้อาศัยช่วงเวลาที่แตกต่างนี้ มาใช้ประโยชน์ในการทำสื่อเตือนภัย โดยเครื่องตรวจวัดแรงสั่นสะเทือน จะถูกเชื่อมกับสื่อเตือนภัยที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เมื่อแรงสั่นสะเทือนคลื่นแรกมาถึง สัญญาณเตือนภัยจะดังขึ้น ประชาชนก็จะหลบเข้าสู่ที่ปลอดภัยโดยทันที เช่น หลบอยู่ใต้โต๊ะหรืออยู่ห่างจากตู้ใบใหญ่ ฯลฯ และเมื่อผ่านเหตุการณ์เฉพาะหน้าไปแล้ว ทุกคนจะรู้หน้าที่ว่า จะต้องเดินออกจากตัวอาคาร เพื่อไปยังสถานที่ที่ปลอดภัยที่กำหนดไว้ ถ้าเป็นเด็กอนุบาล เด็ก ๆ จะเดินจูงมือกันเป็นขบวนอย่างสงบ เพื่อจะได้ไม่พลัดหลงในระหว่างทาง นอกจากนี้ยังมีการฝึกซ้อมพิเศษ สำหรับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เรื่องการจ่ายก๊าซหุงต้มทางท่อไปตามบ้าน เพื่อจะได้รีบตัดก๊าซได้ทันท่วงที ป้องกันการเกิดไฟไหม้ใหญ่ เช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วที่โกเบ
      ที่ญี่ปุ่นยังมีพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว ภายในพิพิธภัณฑ์   จะมีบ้านจำลองที่จำลองสถานการณ์แผ่นดินไหวขนาดต่าง ๆ ไว้ เป็นการสร้างประสบการณ์ ในการเผชิญหน้ากับแผ่นดินไหว ให้แก่ผู้สนใจ โดยมีรายละเอียดสำหรับการเตรียมตัว ในสถานการณ์ต่าง ๆ ไว้อย่างครบครัน อาทิ ถ้าอยู่ในห้องรับแขก จะต้องทำอย่างไร ถ้าอยู่ในครัวจะต้องทำอย่างไร ทั้งยังมีห้องรมควัน ที่จะช่วยให้รู้ว่าหากก๊าซหุงต้มรั่วกระจายไปทั่วบ้านจะมีวิธีเอาตัวรอดอย่างไร คนญี่ปุ่นมีโอกาสได้ฝึกซ้อมในสถานการณ์จำลองข้างต้น เพราะรัฐบาลของเขาให้ความสำคัญ ต่อการเตรียมพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวอย่างจริงจัง
    แม้ว่าปรากฏการณ์แผ่นดินไหวจะดูห่างไกลกับชีวิตคนไทยมาก เมื่อเทียบกับคนในประเทศที่ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อน อย่างญี่ปุ่น จนทำให้หลายคนคิดว่า การเตรียมตัวเพื่อตั้งรับกับภัยธรรมชาติประเภทนี้ ดูจะกลายเป็นเรื่องเกินความจำเป็นสำหรับเรา ความคิดเช่นนี้ถึงจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ก็เป็นความคิดที่มองข้ามความจริงบางอย่างไป เพราะที่จริงแล้ว ใช่ว่าคนไทยจะไม่เคยพบเจอกับปรากฏการณ์แผ่นดินไหว

  คนไทยกับแผ่นดินไหวในเมืองไทย
 
    เดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๑๘ แผ่นดินไหวทั่วภาคกลาง ได้สร้างความตื่นเต้นในหมู่คนไทย ซึ่งไม่ค่อยได้พบเจอกับปรากฏการณ์เช่นนี้ การเกิดแผ่นดินไหวครั้งนั้น ก่อให้เกิดกระแสความเชื่อที่ว่า "อีกห้าปีโลกจะแตก" ถึงขนาดมีผู้นำมาแต่งเป็นเพลงลูกทุ่ง ร้องกันจนฮิตไปพักหนึ่ง ความเชื่อเรื่องโลกแตกจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ฮือฮาอยู่พักใหญ่ก่อนจะลืมเลือนกันไปเมื่อเวลาผ่าน
    แผ่นดินไหวครั้งนั้น ไม่ได้ส่งผลสะเทือนแก่คนไทยมากมายนัก นอกจากจะทำให้ผู้คนรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน และเกิดความเสียหายเล็กน้อย ต่างกันอย่างมากกับแผ่นดินไหวที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ในเดือนกันยายน ปี ๒๕๓๗ ความรุนแรงขนาด ๕.๑ ริคเตอร์ ได้ก่อความเสียหายแก่โรงพยาบาล รวมทั้งวัด และโรงเรียนต่าง ๆ หลายแห่ง เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้คนไทย ได้กฎกระทรวงมหาดไทยเบื้องต้นฉบับหนึ่ง (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี ๒๕๔๐) ที่ระบุให้อาคารในพื้นที่เสี่ยงภัย ต้องออกแบบก่อสร้าง ให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้อย่างเหมาะสม กฎหมายฉบับนี้ อาจนับเป็นก้าวย่างสำคัญของเรา ในการตั้งรับกับปรากฏการณ์แผ่นดินไหว
    ถ้ายึดถือโครงร่างแผ่นเปลือกโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเอเชียตะวันออก ในช่วงอายุทางธรณีกาลล่าสุด (Late Cenozoic) เป็นเกณฑ์ จะพบว่าส่วนของประเทศไทย และประเทศใกล้เคียงเป็นส่วนใต้สุดของแผ่นเปลือกโลก ชนิดแผ่นทวีปที่เรียกว่า แผ่นทวีปยูเรเชียน (Eurasian Plate) ซึ่งล้อมรอบด้วยแผ่นเปลือกโลก ชนิดแผ่นมหาสมุทรอีกสองแผ่น คือ แผ่นอินเดีย (Indian Plate เป็นส่วนหนึ่งของ Indian- Australian Plate) ซึ่งมีเขตรอยต่อเปลือกโลก ตั้งแต่ตะวันตกของประเทศไทย อ้อมหมู่เกาะอันดามัน และเกาะนิโคบาร์ไปตามแนวตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านด้านนอกของหมู่เกาะสุมาตรา และหมู่เกาะชวา และแผ่นมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Plate) โดยมีรอยต่อระหว่างแผ่น อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย แผ่นเปลือกโลกทั้งสองแผ่นนี้ ยังคงเคลื่อนตัวอยู่ โดยมีลักษณะทั้งชน และมุดซ้อนกัน เป็นผลให้ชั้นหินแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียน ที่รวมถึงประเทศไทย เกิดรอยย่น คดโค้ง โก่งตัวเป็นเทือกเขา และมีรอยเลื่อน (fault) รอยแตก รอยแยก ที่เป็นเหตุแห่งการเกิดแผ่นดินไหวอยู่ในหลายพื้นที่ ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าแผ่นดินไหวในประเทศไทย อาจเกิดขึ้นได้จาก
      ๑. แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่มีแหล่งกำเนิดจากภายนอกประเทศ ส่งแรงสั่นสะเทือนมายังประเทศไทย โดยมีแหล่งกำเนิดบริเวณตอนใต้ของประเทศจีน พม่า ลาว ทะเลอันดามัน ตอนเหนือของเกาะสุมาตรา โดยบริเวณที่จะรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนได้แก่ บริเวณภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพฯ
    ๒. แผ่นดินไหวที่เกิดจากแนวรอยเลื่อนภายในประเทศที่ยังสามารถเคลื่อนตัว หรือที่เรียกว่า รอยเลื่อนมีพลัง ซึ่งมีอยู่ราวเก้าแห่ง ส่วนใหญ่แนวรอยเลื่อนเหล่านี้จะอยู่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ รอยเลื่อนทั้งหมดเกิดจากสาเหตุการชนกันของแผ่นทวีปอินเดียกับยูเรเชียน
    ข้อมูลเหล่านี้คงทำให้เราไม่อาจปฏิเสธ การเกิดขึ้นและมีอยู่ของปรากฏการณ์แผ่นดินไหว ในประเทศไทยได้อีกต่อไป แต่สิ่งที่น่าคิด และน่าติดตามก็คือ นับจากกฎกระทรวงฉบับปี ๒๕๔๐ ก้าวย่างต่อไปของเรา ในการรับมือกับแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นจะเป็นเช่นไร    
    เป็นไปได้แค่ไหนที่ในสถานการณ์ปรกติ การปลูกสร้างอาคารใหม่ในพื้นที่เสี่ยง จะถูกควบคุมดูแลให้เป็นไปตามระเบียบอย่างเคร่งครัด เป็นไปได้ไหม ที่จะมีการเผยแพร่ความรู้ และข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหวให้แก่ประชาชน ที่อาศัยในจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว รวมถึงผู้อยู่อาศัยในอาคารสูง หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรงได้รับทราบ เป็นไปได้แค่ไหน ที่เราจะมีแผนรับมือกับแผ่นดินไหวเอาไว้ล่วงหน้า มีระบบสาธารณูปโภค และโรงพยาบาลที่มั่นคงพอจะเหลือให้ใช้ ได้ในยามฉุกเฉิน เป็นไปได้แค่ไหน ที่จะมีการจัดสร้างระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว ตลอดจนการฝึกฝนหน่วยกู้ภัย ให้รู้จักวิธีช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้าย จากซากปรักหักพังอย่างถูกวิธี ฯลฯ        
    ช่วงปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวครั้งร้ายแรง ที่เกิดขึ้นในที่ต่าง ๆ ของโลก ดูจะกระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจ เรื่องราวเกี่ยวกับแผ่นดินไหวอีกครั้ง อาจฟังดูเป็นเรื่องดีถ้าความตื่นตัวครั้งนั้น จะไม่มาพร้อมกับกระแสโลกแตก น้ำท่วมโลก ตลอดจนภัยพิบัติร้ายแรง ที่เชื่อกันว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ ๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๐ เมื่อดาวนพเคราะห์เรียงตัวกันเป็นรูปไม้กางเขน
    น่าเสียดายที่ความตื่นตระหนกของเรา มักอยู่ห่างไกลจากพื้นฐานความเป็นจริง ขาดความตระหนักรู้ ทั้งยังสามารถลืมเลือนความรู้สึก ตลอดจนเหตุการณ์ร้ายแรงใด ๆ ไปได้ง่าย เพียงเมื่อเวลาผ่านไป อีกไม่นานเรื่องโลกแตก น้ำท่วมโลก คงหายไปจากความคิด และแผ่นดินไหว ก็คงถูกนับเป็นเรื่องไกลตัวเช่นที่ผ่านมา จริงอยู่ที่ประเทศไทยตั้งอยู่บนผืนแผ่นดินที่มั่นคง และห่างจากขอบของแผ่นเปลือกโลกพอสมควร จนยากที่จะพบกับหายนะ จากแผ่นดินไหว แต่เราอาจลืมไปว่า ความประมาท ก็เป็นที่มาของหายนะเช่นกัน
    ถึงวันนี้ตึกถล่ม โป๊ะล่ม รถบรรทุกก๊าซคว่ำ ไฟไหม้โรงแรม หรือโรงงานที่ไม่มีทางหนีไฟ ฯลฯ อาจเริ่มเลือนหายไปจากสมองของเรา เราวางเฉย แม้ว่าประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตั้งอยู่บนขอบเปลือกโลกอันเปราะบาง และอยู่ไม่ไกลจากเรา จะประกาศแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไว้ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจไม่นาน-- อาจเพราะเราเองก็มีท่อก๊าซ   และเขื่อนกักเก็บน้ำจำนวนมหาศาล พาดทับอยู่บนรอยเลื่อนเช่นกัน
    คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่เราจะได้ตระหนักว่า ความเสี่ยงเหล่านี้ แอบแฝงอยู่กับเราตลอดเวลา และอาจเรียกร้องค่าตอบแทนราคาแพง ในวันใดวันหนึ่ง

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
โครงการขุดคอคอดกระ ฝันดีหรือฝันร้ายของนักลงทุน

การุณยฆาต : ฆ่าด้วยความกรุณา
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | การมาถึงของ "นักรบสายรุ้ง" : จากตำนานสู่ความเป็นจริง | ทวีปเลื่อน-แผ่นดินไหว ภัยที่ไม่อาจพยากรณ์ | กำเนิดตึกระฟ้า | ปีท่องเที่ยวกับเจ้า (ลาว) | ผู้หญิงสิงคโปร์ | ทาเคชิ คิตาโน หนังยากูซ่าสายพันธุ์ใหม่ | เฮโลสาระพา

Arrival of the Rainbow Warrior: From Legend to Reality | Continental Drift, Earthquake: Unpredictable Dangers
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail