Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ
การมาถึงของ "นักรบสายรุ้ง" : จากตำนานสู่ความเป็นจริง
เรื่อง : กุลธิดา สามะพุทธิ
ภาพ : ชัยชนะ จารุวรรณากร
  คุยกับกัปตันเรือนักรบสายรุ้ง : ปีเตอร์ วิลค็อกซ์
ปีเตอร์ วิลค็อกซ์ กับตันเรือ Rainbow Warrior (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
สารคดี : ได้ยินมาว่านี่เป็นครั้งแรกในรอบแปดปีที่คุณกลับมาเป็นกัปตันเรือ RW (Rainbow Warrior)
ปีเตอร์ : ใช่ครับ แปดปีที่ผ่านมาผมหมุนเวียนไปเป็นกัปตันเรือลำอื่น ๆ ของกรีนพีซเสียจนครบหมดทุกลำ
สารคดี : คุณชอบเรือลำไหนมากที่สุด
ปีเตอร์ : เรนโบว์วอริเออร์
สารคดี : เพราะอะไรคะ
ปีเตอร์ : ผมชอบเรือใบ ผมใช้เวลาตั้งสามปีกว่าจะทำให้กรีนพีซ ยอมติดใบให้เรือลำนี้ ผมบอกพวกผู้บริหารว่า เราเป็นกลุ่มคนที่ทำงาน ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม   เราจึงควรทำทุกวิถีทางให้เรือของเราประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
สารคดี : รู้สึกอย่างไรที่ได้กลับมาอีกครั้ง
ปีเตอร์ : ทุกอย่างยังเหมือนเดิม เหมือนเมื่อครั้งที่ ผมเป็นกัปตันในช่วงสามปีแรกที่กรีนพีซได้เรือลำนี้มา
Peter/ สกอตแลนด์/ ผู้ช่วยกับตันคนที่ ๑ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
สารคดี : RW ลำแรกกับลำนี้แตกต่างกันอย่างไร, คุณชอบลำไหนมากกว่ากัน
ปีเตอร์ : ผมชอบลำแรกมากกว่า กรีนพีซไม่น่าจะจมมันทิ้งเลย ผมคิดว่ายังน่าจะซ่อมแซมได้ ถ้าเปรียบเทียบกับลำแรก ลำนี้จะใหญ่กว่านิดหน่อย กลไกซับซ้อนและทันสมัยกว่า แล่นได้เร็วกว่า บรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่า แต่ถึงอย่างไรผมก็ชอบลำแรกมากกว่า บอกไม่ได้เหมือนกันว่าทำไม
สารคดี : เป็นไปได้ไหมว่ามันจะถูกลอบวางระเบิดเหมือนกับ RW ลำแรก
ปีเตอร์ : อาจจะเป็นไปได้ก็ได้นะ เพราะกรีนพีซประท้วงคัดค้านอะไรต่อมิอะไรมากเหลือเกิน แต่ผมไม่สนหรอก
สารคดี : คิดว่าเหตุการณ์ลอบวางระเบิด RW เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๕ ส่งผลดีต่อขบวนการหรือเปล่า ตรงที่มันช่วยให้คนรู้จักกรีนพีซ และให้ความสนใจในสิ่งที่พวกคุณพยายามสื่อสารมากขึ้น
ปีเตอร์ : จะมองอย่างนั้นก็ได้ครับ แต่อย่าลืมว่าเหตุการณ์นั้นทำให้เราสูญเสียเพื่อนของเราไปคนหนึ่ง ถ้าไม่มีใครเสียชีวิต ผมคงรู้สึกดีกว่านี้ แต่มันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่า ทำไมรัฐบาลของประเทศมหาอำนาจ อย่างฝรั่งเศสถึงได้กลัวเรือใบลำเล็ก ๆ ลำนี้นัก ใครจะไปคิด ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะกลัวเรา ถึงขนาดลงทุนนับล้านเหรียญ เพื่อลอบวางระเบิดเรา
    อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นั้นทำให้กรีนพีซเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผู้สนับสนุนด้านการเงิน เป็นจำนวนมหาศาล กลายเป็นองค์กรที่ใหญ่ มีงบประมาณนับล้านเหรียญ แต่การขยายขนาดองค์กรอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานั้น ได้ทำให้เราละเลยเป้าหมายที่แท้จริง ในการทำงานของเราไปบ้างเหมือนกัน
Matias/ อาร์เจนตินา/ ผู้ช่วยกับตันที่ ๒ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
สารคดี : ได้ข่าวว่าจำนวนผู้สนับสนุนกรีนพีซลดลงในช่วงที่ผ่านมา
ปีเตอร์ : จำนวนผู้สนับสนุนของเราก็ขึ้น ๆ ลง ๆ เช่นนี้เป็นปรกติ ผมไม่ได้หมายความว่า ประเด็นนี้ไม่น่าสนใจ   แต่ผมให้ความเห็นอะไรไม่ได้มากนัก เพราะไม่รู้ข้อมูลที่แน่ชัด ผมพอรู้มาบ้างว่ากรีนพีซ กำลังตกที่นั่งลำบากในยุโรป และอเมริกา ผมคิดว่าคงเป็นเพราะ ชาวยุโรปคุ้นเคยกับกรีนพีซมาก เสียจนเริ่มรู้สึกเบื่อ ปฏิบัติการใด ๆ ก็ตามของกรีนพีซ ไม่สามารถสร้างความประทับใจ ให้พวกเขาได้เท่าเดิมแล้ว ผู้คนเริ่มเดาออกว่า พวกกรีนพีซจะทำอะไรบ้าง เช่น แล่นเรือยางเข้าขวางเรือ ที่กำลังขนกากนิวเคลียร์ไปทิ้ง ล่ามโซ่ตัวเองหรือทำอะไรเสี่ยง ๆ ที่คนเริ่มชินชา จนไม่รู้สึกว่ามันน่าสนใจอีกต่อไป
สารคดี : เมื่อกรีนพีซเสื่อมความนิยม ในอเมริกา และยุโรป มันจะไปเติบโตหรือโด่งดังที่ไหนอีกหรือไม่
ปีเตอร์ : อาจจะเป็นที่เอเชียนี่ก็ได้ ผมปลื้มมาก ตอนที่เรือเดินทางไปถึงบ้านกรูด (อ. บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์) แล้วชาวบ้านชูป้ายที่เขียนว่า "เราเชื่อมันในกรีนพีซ" (In Greenpeace, We Trust.) แต่ขณะเดียวกัน มันก็ทำให้ผมวิตกกังวล เพราะกลัวว่าเราจะทำอะไรบางอย่างผิดพลาด และทำลายความรู้สึกดี ๆ ที่ชาวบ้านมีต่อเราลง ถ้ามีคนมาบอกว่าเขาเชื่อมั่นในตัวคุณ คุณก็ไม่อยากจะทำลายความเชื่อมั่นนั้น มันจึงเป็นภาระอันใหญ่หลวงที่ต้องแบกไว้
Hettie/ ฮอลแลนด์/ ผู้ช่วยกับตันคนที่ ๓ (คลิกดูภาพใหญ่)
สารคดี : การมาเยือนเมืองไทยในครั้งนี้ คุณต้องการจะบอกอะไรกับพวกเรา
ปีเตอร์ : นอกจากจะเป็นการแนะนำตัวกรีนพีซ ให้ชาวเอเชียได้รู้จักแล้ว เราพยายามชี้ให้คนไทย เห็นถึงภัยจากสารพิษที่กำลังจะเกิดขึ้น เราไม่อยากให้ประเทศไทยทำผิดพลาด เหมือนกับประเทศตะวันตก อเมริกาหรือญี่ปุ่น ผมคิดว่าพวกคุณคงเริ่มตระหนักแล้วว่า การสร้างโรงงานเผาขยะนั้น เป็นการสร้างปัญหา ไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะนอกจากการเผาขยะจะไม่สามารถทำให้ขยะหายไปได้จริง ๆ แล้ว ยังทำให้ขยะมีความเป็นพิษมากขึ้นไปอีก เราจึงควรใช้วิธีการลดปริมาณขยะและรีไซเคิลแทน
สารคดี : ทำไมเลือกประเด็นอันตรายของสารพิษ ขึ้นมารณรงค์ เพราะดูเหมือนว่ามันยังไม่เป็นปัญหามากนักในแถบนี้
ปีเตอร์ : นั่นยิ่งเป็นเหตุผลที่ดีที่เราหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดถึง ผมคิดว่าโครงการรณรงค์เพื่อเอเชียปลอดมลพิษเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมมาก โดยเฉพาะเมื่อเราพบว่าประเทศไทยเพิ่งมีโรงงานเผาขยะเพียงสองแห่งเท่านั้น คือที่ภูเก็ตและเกาะสมุย โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ประจวบคีรีขันธ์ก็ยังไม่เกิดขึ้นบนชายทะเลที่งดงามแห่งนั้น จึงเป็นการดีที่เราพูดเรื่องนี้เสียแต่เนิ่น ๆ เพราะการปกป้องธรรมชาติที่สะอาดบริสุทธิ์ไว้ ย่อมง่ายกว่าการตามล้างตามเช็ด สิ่งโสโครกและสารพิษออกในภายหลัง
    ผมได้ยินเรื่องสารพิษในแม่น้ำมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๗๓ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ผม หันมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แต่จนถึงทุกวันนี้แม่น้ำสายนั้น ก็ยังปนเปื้อนสารพิษอยู่ และสภาพปัญหาก็เลวร้ายลงทุกที สิ่งที่น่ากลัวก็คือ การแพร่กระจายของสารพิษในอเมริกา ย่อมส่งผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย ในทางกลับกัน ถ้าคนไทยปล่อยสารพิษ ให้แพร่กระจายในสิ่งแวดล้อม ผู้คนในนิวยอร์กก็จะได้รับอันตรายไปด้วย เพราะสารอันตรายเหล่านี้ ได้เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร สะสมอยู่ในพืช และสัตว์ที่เราทุกคนกิน
    เราจึงเรียกร้องให้เจ้าของอุตสาหกรรม ใช้กระบวนการผลิตที่สะอาด และรับผิดชอบกับสภาพแวดล้อม ที่ถูกทำลายจากสารพิษที่เขาก่อขึ้น ถ้าทำไม่ได้ประชาชนก็มีสิทธิ์ไล่พวกนี้ออกไป การต่อสู้เพื่อรักษาบ้านเกิดของชาวบ้านกรูด ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ผมประทับใจมาก ที่ได้เห็นเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของพวกเขา
Thom/ สหรัฐอเมริกา/ เจ้าหน้าที่วิทยุสื่อสาร (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
สารคดี : อะไรคือตัววัดความสำเร็จของการรณรงค์ในครั้งนี้
ปีเตอร์ : ถ้าพวกเขาไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่สร้างโรงงานเผาขยะเพิ่มขึ้นอีก ปิดโรงงานเผาขยะ บนเกาะที่งดงามสองแห่งนั้นเสีย แล้วหันมาเอาจริงเอาจังกับการรีไซเคิล ถ้าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจะวิเศษมาก แต่ผมคงรู้สึกแย่ ถ้ารัฐบาลยังยินยอมให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือคนไทยยังปล่อยให้โรงงานเผาขยะ บนเกาะสมุยปล่อยสารไดออกซิน และโลหะหนักชนิดอื่น ๆ ออกมาอย่างนี้
สารคดี : คิดว่าการมาเยือนทวีปเอเชียของกรีนพีซ ในครั้งนี้ เป็นเหมือนกับการที่ประเทศโลกตะวันตก มาสั่งประเทศโลกที่สาม ว่าต้องทำหรือไม่ทำอะไรหรือเปล่า
ปีเตอร์ : พวกเราไม่ได้มีแต่ชาวตะวันตกเท่านั้น การเดินทางครั้งนี้มีลูกเรือชาวเอเชียอยู่ด้วย เรามีพ่อครัวคนไทย อาสาสมัครชาวอินเดีย และอินโดนีเซีย ส่วนลูกเรือคนอื่น ๆ ก็ไม่ได้เป็นพวกฝรั่งจิตใจคับแคบ พวกเรามาในนามของ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซ เดินทางมาเพื่อส่งสารของกรีนพีซ ถึงชาวเอเชีย ผมจึงไม่คิดว่ามันเป็นอย่างที่คุณพูด จริงอยู่ที่ว่าเราทำงานในซีกโลกตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ แต่ทุกวันนี้ เรากำลังพยายามอย่างสุดความสามารถ ที่จะทำให้กรีนพีซเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ระดับนานาชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นองค์กรของชาวตะวันตกเท่านั้น เราตั้งสำนักงานขึ้นในญี่ปุ่น มีคนญี่ปุ่นเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ แล้วเราก็เกาะติด ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในฟิลิปปินส์ ร่วมกับองค์กรท้องถิ่นมานานนับสิบปี
Tom/ สหรัฐอเมริกา/ สรั่งเรือ (หัวหน้าลูกเรือ) (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
สารคดี : เห็นด้วยหรือไม่กับการที่กรีนพีซ หันมาเน้นวิธีขึ้นโต๊ะเจรจา มากกว่าจะทำกิจกรรมประท้วง (hard action) เหมือนเมื่อก่อน
ปีเตอร์ : เจ้าหน้าที่กรีนพีซที่ทำงานในยุโรป ก็ถกเรื่องนี้กันอยู่เหมือนกัน ผมเข้าใจว่าเหตุที่ hard action ทำงานไม่ได้ผลเหมือนเมื่อก่อน ก็เพราะผู้คนเริ่มชินชากับมันแล้ว การหันมาใช้วิธีขึ้นโต๊ะเจรจา จึงเท่ากับเพิ่มแขนขาของกรีนพีซ ให้ทำงานได้มากขึ้น เป็นการขยายยุทธวิธีการทำงานของเรา ไม่ให้จำกัดตัวเองอยู่เพียงแค่การทำ hard action เท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี การทำงานในยุคแรก ๆ ของกรีนพีซ พวกเราคิดเพียงแค่ว่าหน้าที่ของเรา คือประท้วง และคัดค้านสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล เราไม่มีหน้าท และไม่มีปัญญาคอยหาทางแก้ไขให้แก่ทุกปัญหา เพราะเราเป็นแค่คนหนุ่มสาวกลุ่มเล็ก ๆ แต่ตอนนี้เราเป็นองค์กร ที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว มันเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องเสนอทางออกของปัญหา และเผยแพร่หนทางที่เห็นว่าถูกต้องสู่สังคม แนวทางการเคลื่อนไหวของกรีนพีซ จึงเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า องค์กรของเราชักจะมีเหตุมีผล และสุขุมรอบคอบมากขึ้นแล้ว อาจเป็นการดี ที่เราจะเพลา ๆ การทำ hard action ลงบ้าง แต่เราก็ไม่ได้เลิกทำเสียทีเดียว เพราะถึงอย่างไรมันก็เป็นยุทธวิธี ที่ทรงประสิทธิภาพและมีพลังมาก เราเพียงแต่อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยน ไปสู่ความเป็นองค์กรที่มีเหตุผล และรอบคอบมากขึ้นเท่านั้นเอง
Sabine/ เยอรมณี/ ช่างซ่อมเรือยาง (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
สารคดี : คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำงานกับกรีนพีซ
ปีเตอร์ : ตลอดระยะเวลา ๒๗ ปีที่ทำงานกับกรีนพีซ ผมสรุปบทเรียนไว้ได้ในประโยคเดียวเลยว่า เงินมันกินไม่ได้หรอกครับ ถ้าพวกเราเอาแต่หาเงินโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ก็มีแต่จะตายกันหมดเท่านั้น ผมสะเทือนใจมาก กับการที่หลายประเทศ ประกาศห้ามลูกดื่มน้ำนมจากอกแม่ เนื่องจากร่างกายของผู้เป็นแม่ มีสารพิษสะสมอยู่มากเกินไป และสารพิษนั้น ก็อาจถ่ายทอดจากตัวแม่ไปสู่ลูกได้ทางน้ำนม นี่เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก สำหรับมนุษยชาติ จริงอยู่ที่บางปัญหาอาจเกิดขึ้น จากความไม่รู้ของเราในอดีต แต่ทุกวันนี้เรารู้แล้วว่ามันอันตรายอย่างไร ไม่มีข้อแก้ตัวใด ๆ อีกต่อไปแล้ว แต่เราก็ยังทำกันอยู่ นั่นเป็นเพราะเราเห็นแก่เงิน รัฐบาลญี่ปุ่นรู้ทั้งรู้ว่าโรงงานเผาขยะนั้น ก่อสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ของชาวญี่ปุ่นมากมายแค่ไหน แต่พวกเขาก็ยังปล่อย ให้มีการขายเทคโนโลยีชนิดนี้ ให้แก่ประเทศไทย เพื่อสร้างความร่ำรวย ให้แก่คนบางกลุ่ม เช่นเดียวกับกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ประจวบคีรีขันธ์ ทำไมบริษัทยูเนียนพาวเวอร์ และกัลฟ์อิเล็กทริก ยังดึงดันจะสร้างมัน ทำไมออสเตรเลียจึงยอมขายถ่านหิน ให้ไทยทั้ง ๆ ที่รู้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะทำลายแนวปะการัง ควันพิษจากการเผาถ่านหิน จะทำลายสวนมะพร้าว ที่สำคัญที่สุดก็คือ ชาวบ้านยืนยันว่าไม่ต้องการโรงไฟฟ้า ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีความหมายอะไรกับพวกเขาเลยอย่างนั้นหรือ มีแต่เงินเท่านั้นเอง ที่พวกเขาคิดถึง ...สำหรับผม สิ่งสำคัญเพียงสิ่งเดียวที่ผมได้เรียนรู้ จากการเป็นกัปตันเรือนักรบสายรุ้ง และการทำงานกับกรีนพีซตลอด ๒๗ ปีที่ผ่านมาก็คือ เงินมันกินไม่ได้
Emily/ ออสเตรเลีย/ กะลาสี (คลิกเพื่อดุภาพใหญ่)
สารคดี : สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการเป็นกัปตันเรือ RW
ปีเตอร์ : สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผมในตอนนี้ ก็คือการต้องจากบ้าน และครอบครัวเป็นเวลานาน ๆ ผมคิดถึงลูกสาวทั้งสองคน คนโตอายุแปดขวบ คนเล็กสี่ขวบแล้ว ภรรยากับลูก ๆ ก็ไม่ชอบให้ผมจากมานาน ๆ เหมือนกัน การเดินทางหนนี้กินเวลาถึงหกเดือนครึ่ง ผมสัญญากับพวกเขาว่า จะไม่จากมานานขนาดนี้อีกแล้ว ความคิดถึงครอบครัว เป็นเรื่องที่ยากที่สุดที่ต้องเผชิญ ระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่บนเรือ ผมอยากทำงานรณรงค์ระยะสั้นกว่านี้ และจะดีมากเลยถ้าพาภรรยากับลูก ๆ มาด้วยได้ ผมไม่ได้หวังจะให้ลูกสาววัยแปดขวบของผม มาทำงานเป็นลูกเรือหรอก แต่อย่างน้อยเธอชอบที่จะนั่งเรือใบ
สารคดี : คุณทำงานอยู่บนเรือตลอดแม้แต่ตอนที่ลูก ๆ ยังเล็ก
ปีเตอร์ : ใช่ครับ แต่ช่วงสามปีแรกที่ผมเป็นกัปตันเรือลำนี้ ภรรยากับลูกสาวคนโตอยู่บนเรือกับผมด้วย ภรรยาของผมเป็นหมอประจำเรือ RW ลำแรก เราเจอกันเป็นครั้งแรกที่นั่น
Butch/ สหรัฐอเมริกา/ พยาบาล (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
สารคดี : ลูกเรือ RW ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
ปีเตอร์ : นอกจากทักษะขั้นพื้นฐาน ที่ลูกเรือควรจะมีแล้ว เราต้องการคนที่มีความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่มีปัญหากับการจากบ้านเป็นเวลานาน ๆ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในพื้นที่อันจำกัดได้ นอกจากนี้เรายังต้องการลูกเรือที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อย่างคนขับเรือ (mate), ช่างไฟฟ้า ผู้ส่งวิทยุสื่อสาร และวิศวกรประจำเรือ ผมพูดกับพวกอาสาสมัครเด็ก ๆ เสมอว่าถ้าเธออยากทำตัวให้เป็นประโยชน์กับเราจริง ๆ ละก็ ไปเข้าโรงเรียนนายเรือสักสองสามปีก่อนแล้วค่อยกลับมา
    ความจริงผมไม่สนนักหรอก ว่าคนหนุ่มสาวจะอยากอุทิศตนให้แก่การทำงาน กับกรีนพีซหรือไม่ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า ก็คือการที่เขา และเธอรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ ในที่ที่พวกเขาอยู่ จะเข้าร่วมกับองค์กรไหนหรือไม่ก็ได้ ทำงานกับกลุ่มลูกเสือเล็ก ๆ หรือองค์กรพัฒนาเอกชนในหมู่บ้าน จะมาเป็นอาสาสมัครกรีนพีซ หรือไม่ก็ไม่สำคัญ ก้าวแรกก็คือ คุณต้องเอาใจใส่ และลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องโลกของเรา
สารคดี : คนหนุ่มสาวที่เข้ามาเป็นอาสาสมัคร มีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังหรือเปล่า
ปีเตอร์ : ผมพูดได้เลยว่าอาสาสมัครของกรีนพีซ ล้วนแต่มีความห่วงใย ในเรื่องสิ่งแวดล้อม และศรัทธาในสารที่กรีนพีซ ต้องการจะสื่อกับผู้คน
สารคดี : คุณรู้สึกอย่างไร เวลาที่ผู้คนยกย่องสรรเสริญ อย่างกับว่าชาวกรีนพีซเป็นอัศวินพิทักษ์โลก
ปีเตอร์ : ผมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ เวลาผู้คนต้อนรับพวกเราอย่างนั้น แต่มันก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร ผมเพียงแต่รู้สึกว่าตัวเองโชคดี ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกรีนพีซ มันทำให้ชีวิตผมมีเป้าหมาย มีทิศทางที่แน่นอน เป็นสิ่งที่ผมทำแล้วมีความสุข
สารคดี : คุณคิดว่าคนที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นศัตรูหรือเปล่า
ปีเตอร์ : ถ้าคำว่า "ศัตรู" ของคุณหมายถึง คนที่เราเกลียด ผมก็ต้องตอบว่าไม่ ผมคิดว่าความเกลียด เป็นพลังแห่งการทำลายล้าง แล้วผมก็เชื่อในสิ่งที่ ดะไลลามะกล่าวไว้ว่า เราควรรักศัตรู เหมือนกับที่เรารักมิตรสหาย คนที่ทำลายสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นฝ่ายตรงข้ามของผมก็จริง แต่ผมไม่ได้เกลียดชังพวกเขา
Betty/  สหรัฐอเมริกา/ แม่ครัว (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
สารคดี : กรีนพีซมีคนที่ทำหน้าที่กัปตันทั้งหมดกี่คน
ปีเตอร์ : แปดคน สามคนในนี้ เป็นกัปตันเรือกรีนพีซ มากว่า ๒๐ ปีแล้ว
สารคดี : คุณจะเป็นกัปตันเรือ RW ต่อไปเรื่อย ๆ
ปีเตอร์ : แน่นอนครับ ผมสนุกกับงานนี้มาก
สารคดี : เคยรู้สึกเบื่อบ้างไหม
ปีเตอร์ : เคยสิครับ ผมเซ็งสุด ๆ ถ้าต้องเจอสถานการณ์ เหมือนกับตอนที่ถูกจับในเปรู การติดคุก เพื่อรอขึ้นศาลนั้นน่าเบื่อสิ้นดี เราได้แต่คอยบอกกับตัวเอง ว่าเรากำลังปกป้องปลาวาฬ ถึงอย่างนั้นเราก็ยังกลัว แล้วก็เบื่ออยู่ดี ไม่มีใครอยากติดคุกหรอก แต่ในที่สุดศาลก็ตัดสินยกฟ้อง โล่งอกไปที
สารคดี : เรือลำนี้จะทำงานให้กรีนพีซไปได้อีกนานสักเท่าไหร่
ปีเตอร์ : มันทำงานให้กรีนพีซมา ๑๐ ปีแล้ว คงทำต่อไปได้อีก ๑๐ ปีเห็นจะได้ อย่าลืมว่าตอนนี้เรืออายุปาเข้าไป ๔๐ ปีแล้ว นับว่าเป็นเรือที่อายุมากทีเดียว
สารคดี : ที่โปรดของคุณบนเรืออยู่ตรงไหน
ปีเตอร์ : บนดาดฟ้าเรือ ตรงที่เรานั่งคุยกันอยู่นี่ละ ผมชอบดูเวลาที่เรือกางใบ

  Rainbow Warrior
Mehdi/ ตูนิเซีย/ ช่างซ่อมเรือยาง (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)Sasha/ รัสเซีย/ หัวหน้าวิศวกร (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)Luis/ โคลัมเบีย/ ผู้ช่วยวิศวกร (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
ประวัติการต่อเรือ พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่ประเทศอังกฤษ แต่เดิมเป็นเรือประมงใช้พลังงานไอน้ำ ภายหลังถูกดัดแปลง เป็นเครื่องยนต์ดีเซลในปี ๒๕๐๙
ชื่อเดิม Grampian Fame
กรีนพีซซื้อมาเมื่อ ปี ๒๕๒๐ จดทะเบียนที่ ประเทศเนเธอร์แลนด์   ใช้ธงประเทศ เนเธอร์แลนด์
การปล่อยครั้งที่ ๒ โดยกรีนพีซ ในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๒ (สองปีหลังการดัดแปลง) ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี
ความยาว ๕๕.๒๐ เมตร
ความกว้าง ๘.๕๔ เมตร
ระวางขับน้ำ ๕๕๕ ตันกรอส
กินน้ำลึก ๔.๓๕ เมตร
ความเร็วปรกต ๗ นอต (ประมาณ ๑๓ กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
ความเร็วสูงสุด ๑๑ นอต (ประมาณ ๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
พิสัยทำการสูงสุด ๓๐ วัน
ลูกเรือ สูงสุด ๔๒ คน
เครื่องยนต์หลัก สองเครื่องยนต์ ๑,๐๐๐ แรงม้า
การจัดประเภทในปัจจุบัน เรือใบสามเสาติดเครื่องยนต์

  กรีนพีซมีการดัดแปลงเรือที่น่าสนใจดังนี้
Samir/ อินเดีย/ อาสาสมัคร (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
ติดตั้งถึงเก็บเชื้อเพลิงที่ออกแบบพิเศษ ระบบขับเคลื่อนที่ใช้ได้ทั้งแรงลม และเครื่องยนต์
ติดตั้งเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทำน้ำร้อน
ติดตั้งระบบทำความร้อน โดยใช้ความร้อนที่เกิดจากเครื่องยนต์
ดัดแปลงท้องเรือเป็นห้องสำหรับดูวิดีโอ และสไลด์   และเป็นพื้นที่เก็บอุปกรณ์สำหรับกิจกรรมรณรงค์
ติดตั้งระบบทำน้ำเค็ม ให้เป็นน้ำจืด เพื่อผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล
ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย
ติดตั้งอุปกรณ์ดาวเทียมสื่อสาร และอุปกรณ์นำร่อง
เพิ่มเรือยางห้าลำ ด้วยแรงม้าเครื่องยนต์ที่ต่างกัน

  กรีนพีซไม่ได้มีแต่เรือนักรบสายรุ้งเท่านั้น
Toby/ ออสเตรเลีย/ อาสาสมัคร (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)     กิจกรรมของกลุ่มกรีนพีซเกือบทั้งหมด ที่ปรากฏกับเราทางสื่อมักไม่ค่อยจะห่างจากทะเล เราอาจเห็นพวกเขาไต่ขึ้นไป บนปล่องควันสูงชะลูดของโรงงาน ปีนป่ายตึกสูงเสียดฟ้า เพื่อแขวนป้ายผ้าประท้วง หรือปล่อยบอลลูนที่มีข้อความเรียกร้อง ให้ปกป้องชั้นบรรยากาศบ้าง แต่ก็ไม่บ่อยเท่าที่เราเห็นภาพเรือยางลำน้อย กับคนกลุ่มหนึ่งปฏิบัติภารกิจ อย่างแคล่วคล่องในท้องทะเล เผชิญหน้ากับเรือล่าปลาวาฬ แล่นเข้าขัดขวางเรือบรรทุกกากนิวเคลียร์ และขยะมีพิษหรือบุกเข้าทำลายอวนลอยขนาดใหญ่ ของเรือประมงแบบพาณิชย์ ซึ่งล้างผลาญสิ่งมีชีวิตในทะเล มากเกินความจำเป็น
    กรีนพีซเกิดมาจากทะเล โลกเริ่มรู้จักพวกเขาจากการเดินเรือ มุ่งสู่ตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งสหรัฐอเมริกา เลือกใช้เป็นพื้นที่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ (ปี ๒๕๑๔) ตามด้วยการแล่นเรือ เข้ายับยั้งการล่าแมวน้ำ และปลาวาฬอีกนับครั้งไม่ถ้วน กรีนพีซบอกว่าความกว้างใหญ่ ล้ำลึก และยากต่อการเดินทางไปถึง ของท้องทะเลทำให้ไม่มีใครล่วงรู้ถึงความเลวร้าย ที่มีผู้ลักลอบกระทำกับมัน
    ทะเลเป็นของทุกคน แต่ไม่มีใครสักคนเป็นเจ้าของ     
    ทะเลและสิ่งมีชีวิตในทะเล ไม่มีเพื่อนบ้านคอยช่วยสอดส่องดูแล ไม่มีพยานรู้เห็นถึงการถูกกระทำชำเรา ไม่มีใครยืนหยัด เป็นปากเสียงประท้วงถึงความไม่เป็นธรรม ที่เกิดขึ้นกับมัน พวกเขาจึงขออุทิศตัว เป็นเพื่อนบ้าน และประจักษ์พยานให้ทะเล
    ด้วยเหตุนี้ "เรือ" จึงกลายเป็นดารานำ ของกรีนพีซที่ปรากฏตัวอยู่ในทะเลใดทะเลหนึ่งเสมอ
    นอกจาก เรนโบว์วอริเออร์ แล้ว กรีนพีซมีเรืออีกสี่ลำที่หมุนเวียนกันปฏิบัติภารกิจในท้องทะเลทั่วโลกอยู่ทุกวันนี้
เรือ Sirius ๑. Sirius
    กองทัพเรือดัตช์ต่อเรือลำนี้ขึ้นที่เนเธอร์แลนด์ในปี ๒๔๙๓ เมื่อเลิกใช้งาน มันจึงถูกพามาที่อัมสเตอร์ดัม จากนั้นอาสาสมัครกรีนพีซจากหลายประเทศ ก็เดินทางมาช่วยกันแปลงโฉมให้เรือลำนี้ เหมาะกับภารกิจของกรีนพีซ ทาสีเสียใหม่ให้เป็นสีเขียว วาดรุ้งกับนกพิราบสีขาวคาบช่อมะกอก อันเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพไว้ตรงหัวเรือ สร้างที่เก็บเรือยาง ติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารผ่านดาวเทียม ห้องพักผ่อนด้านหน้าถูกดัดแปลงให้เป็นสำนักงานและที่เก็บอุปกรณ์สำหรับการรณรงค์ แล้วเรียกมันว่า ซิริอุส ซึ่งเป็นชื่อของดวงดาวที่สุกสว่างที่สุดในท้องฟ้า คนโบราณเชื่อว่าเป็นดาวที่มีพลังในทางสร้างสรรค์ ตั้งแต่เริ่มงานกับกรีนพีซในปี ๒๕๒๔ ซิริอุส ทำหน้าที่เป็นยาม คอยดูแลทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอย่างต่อเนื่อง มีบทบาททั้งในการประท้วงและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ซิริอุส มีชื่อเสียงโด่งดังมากโดยเฉพาะในแถบประเทศไอซ์แลนด์เรื่อยไปจนถึงอิตาลี
เรือ MV Greenpeace ๒. MV Greenpeace
    กรีนพีซซื้อเรือลำนี้มาในปี ๒๕๒๘ เพื่องานรณรงค์ในทวีปแอนตาร์กติกาโดยเฉพาะ จนถึงวันนี้ เอ็มวีกรีนพีซ เดินทางไปต่อต้านการล่าปลาวาฬที่นั่นมาแล้วถึงหกครั้ง มันเป็นเรือที่ทำงานหนักมากที่สุดลำหนึ่งในบรรดาเรือทั้งหมดของกรีนพีซ เรือลำนี้มีบทบาทมากมาตั้งแต่การประท้วงการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่หมู่เกาะมูรูรัวในปี ๒๕๒๘ (ทันทีที่กรีนพีซซื้อมันมา) เอ็มวีกรีนพีซ เป็นเรือที่เข้าปฏิบัติการแทนที่เรือ เรนโบว์วอริเออร์ (ลำแรก) ที่ถูกสายลับของฝรั่งเศสลอบวางระเบิดระหว่างเดินทางไปที่นั่น เอ็มวีกรีนพีซ เดินทางรอบโลกหลายเที่ยวแล้ว ทั้งประท้วงการทิ้งกากนิวเคลียร์ของประเทศรัสเซียในทะเลญี่ปุ่น, เปิดโปงเรื่องการคุกคามลุ่มน้ำอะเมซอน, ต่อต้านการล่าปลาวาฬของบริษัทเอกชนสัญชาติญี่ปุ่นในแถบขั้วโลกใต้ นอกจากนี้ยังทำงานด้านการวิจัย เช่น สำรวจทะเลในตะวันออกกลางภายหลังสงครามอ่าว และเก็บข้อมูลด้านการประมงและพฤติกรรมของปลาวาฬ เป็นต้น
เรือ Arctic Sunrise ๓. Arctic Sunrise
    เป็นเรือลำล่าสุดของกรีนพีซ อาร์กติกซันไรส์ ใช้ชีวิตอยู่ในแถบขั้วโลกมาโดยตลอด ภารกิจแรกในฐานะเรือของกรีนพีซ คือการเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องมลพิษที่เกิดจากฐานขุดน้ำมัน จากนั้นมุ่งหน้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เยี่ยมเยียนประเทศในแถบนั้น โดยให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นเป็นหลัก ปลายปี ๒๕๓๙ อาร์กติกซันไรส์ เดินทางไปทวีปแอนตาร์กติกา ชูประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกโดยหยิบยกรูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น การที่ฝนตกลงมาเป็นครั้งแรกในทวีปนี้, การแตกของแผ่นน้ำแข็งโบราณอายุหลายร้อยปีและการละลายของน้ำแข็งบนยอดเขา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้คืบคลานมาถึงแล้ว
เรือ Moby Dick ๔. Moby Dick
    ก่อนที่กรีนพีซจะซื้อมันมาเมื่อปี ๒๕๒๙ เรือลำนี้ใช้ชีวิตเยี่ยงเรือหาปลามาเป็นเวลา ๒๗ ปี ภายในเวลาเพียงสองอาทิตย์ กรีนพีซก็แปลงโฉมเรือลำนี้เสร็จเช่นเดียวกับที่เคยทำมาแล้วกับเรือลำอื่น ๆ อวนถูกปลดทิ้งไป ติดตั้งที่เก็บเรือยาง อุปกรณ์สื่อสาร ดัดแปลงห้องเก็บปลาให้เป็นที่เก็บของสำหรับการทำกิจกรรม ทาเรือสีเรือด้วยสีเขียว ระบายสีรุ้งและวาดรูปปลาวาฬสีขาวไว้ที่หัวเรือ โมบีดิก ทำงานเคลื่อนไหวอยู่ในทะเลเหนือและทะเลบอลติกเป็นหลัก แต่บางครั้งก็แวะไปช่วยรณรงค์ในแถบอเมริกาและอ่าวเม็กซิโกด้วย

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
โครงการขุดคอคอดกระ ฝันดีหรือฝันร้ายของนักลงทุน

การุณยฆาต : ฆ่าด้วยความกรุณา
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | การมาถึงของ "นักรบสายรุ้ง" : จากตำนานสู่ความเป็นจริง | ทวีปเลื่อน-แผ่นดินไหว ภัยที่ไม่อาจพยากรณ์ | กำเนิดตึกระฟ้า | ปีท่องเที่ยวกับเจ้า (ลาว) | ผู้หญิงสิงคโปร์ | ทาเคชิ คิตาโน หนังยากูซ่าสายพันธุ์ใหม่ | เฮโลสาระพา

Arrival of the Rainbow Warrior: From Legend to Reality | Continental Drift, Earthquake: Unpredictable Dangerstd>
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail