Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ
ช้างป่าและชาวไร่กุยบุรี (ต่อ)
การเผชิญหน้าที่ยังไม่ยุติ 
เรื่อง : จักรพันธ์ กังวาฬ / ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
      หุบตาเวียนมิได้เป็นย่านเดียวที่มีปัญหาเรื่องช้าง เช้าวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๓ สารคดี มีโอกาสติดตามหน่วยสายตรวจของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ไปยังไร่สับปะรดย่านวังมอญ เพราะเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าช้างลงกินสับปะรดในไร่พวกเขา ในช่วงหลายคืนที่ผ่านมา
    วังมอญอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ไปทางทิศเหนือประมาณ ๓๐ กิโลเมตร อาณาบริเวณกว้างใหญ่ประกอบไปด้วย ที่ราบและลอนเนิน ล้วนปกคลุมไปด้วยแนวไร่สับปะรดสุดลูกหูลูกตา ไม่ผิดจากหุบตาเวียนเท่าใดนัก
    รถของหน่วยสายตรวจอุทยานฯ จอดตรงบริเวณไร่สับปะรด ที่อยู่ลึกเกือบติดชายเขา พื้นที่ข้างหน้ามีร่องรอยช้างย่ำกอสับปะรดระเนระนาด คะเนด้วยสายตา ความเสียหายไม่ต่ำกว่า ๕ ไร
 (คลิกดูภาพใหญ่) ่    เฉลิม วงษา อายุ ๔๓ ปี คนรับจ้างเฝ้าไร่ชาวอีสาน เป็นคนมาตอบข้อซักถามของเจ้าหน้าที่
    "ที่เห็นเยิน ๆ นี่เพราะช้างลงกินมาสองสามคืนแล้ว มาครั้งละประมาณ ๑๐ ตัว ตัวใหญ่นะ ตัวเล็กไม่นับ กินสับปะรด ขนุน มะม่วง อ้อย ขนุนนี่ชอบ กินใบกินเปลือกลำต้น สับปะรดมันกินหมดไร่แล้ว เจ้าของต้องรอปีหน้า ไร่นี้มีคนเฝ้าแค่สองคน บางทีก็ไล่ไม่ทัน
    "ช้างลงไร่วังมอญมาตั้งแต่ปี ๔๐ แต่ไม่ค่อยมาก มาลงหนักช่วงปีกลายกับปีนี้ เดือนเมษาที่ผ่านมาก็ลงบ่อย บางทีลง ๑๐ ตัว บางที ๕-๖ ตัว อย่างช่วงสงกรานต์ลงทุกวัน ทีละสองตัวสามตัว"
    เมื่อเจ้าหน้าที่สายตรวจ ใช้เครื่องมือจับพิกัดด้วยดาวเทียม (GPS) วัดขนาดพื้นที่ไร่ที่เสียหายทั้งหมด ของย่านวังมอญ ปรากฏว่ามีจำนวน ๑๕ ไร่ 
 

    หนึ่งเดือนต่อมา คือช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ สารคดี กลับมาที่อำเภอกุยบุรีอีกครั้ง เพื่อตระเวนเก็บข้อมูลจากชาวไร่สับปะรด ต่อไปนี้คือคำบอกเล่าของชาวไร่บางราย ที่เราได้พูดคุยด้วย
    ชด แย้มเปลี่ยน อายุ ๕๐ ปี เจ้าของไร่สับปะรดย่านพุบอน "ตอนนี้ผมลงมาเช่าที่คนอื่นทำไร่แล้ว อยู่ใกล้ ๆ ตัวอำเภอ เลิกทำไร่ที่พุบอนเมื่อเดือนเมษานี่แหละ ทำไม่ไหวเพราะช้างลงบ่อย ปลูกลงทุนไปแล้ว ยังไม่ทันได้เก็บเลย เอาแล้ว กินไปแล้ว ปีหนึ่งช้างมากินสามครั้งก็แย่แล้ว ช้างลงหนักที่สุดเมื่อสองเดือนที่แล้ว มากันสิบกว่าตัว กินแบบว่าบางล็อกเก็บสับปะรดไม่ได้เลย ผมมีที่ดินแถบพุบอน ๓๐ ไร่ ตอนนี้ปล่อยรกเลย ที่ตรงนั้นเจ้าของปล่อยทิ้งหลายเจ้า พวกที่เหลืออยู่ก็ต้องระวัง ต้องเฝ้าดู"
    สมมาศ สุนทร อายุ ๒๕ ปี เจ้าของไร่บริเวณปากหุบตาแป๊ะ เขตหมู่บ้านรวมไทย เป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังจะทิ้งไร่หนีช้าง
    "ผมมีที่อยู่ตรงชายเขา ๑๐ ไร่ พอช้างลงบ่อยก็ทำอะไรไม่ได้ ชาวไร่ก็ไม่ไหว บางทีมันมาคืนหนึ่งแล้วเว้นไปสองคืนสามคืน เราจะเฝ้าอยู่ที่เดียวก็ไม่ได้ กลางวันเราทำงาน กลางคืนเฝ้าช้าง บางทีเราเฝ้าตอนหัวค่ำมันไม่ลง ลงมาตอนดึก แล้วมันจะลงทางไหนเราก็ไม่รู้ 
    "ช่วงนี้ช้างยิ่งลงบ่อย ตั้งแต่ปีใหม่มาเลย แต่ไม่ลงทุกคืน ลงคืนหนึ่งเว้นไปสองสามคืน วานซืนก็ลงมาสี่ตัว ไล่ไม่ไป ของผมโดนไปเยอะเหมือนกันแหละ ลูกสับปะรดหกเจ็ดตัน เหลือหกเจ็ดร้อยโลเอง ไม่ต้องพูดเลยดีกว่าเรื่องขาดทุนไม่ขาดทุนเนี่ย ขาดทุนเห็น ๆ อยู่แล้ว เราก็แย่ ทำกินไม่ได้แล้ว นี่กำลังจะย้ายหน่อสับปะรดไปเช่าที่เขาทำข้างล่าง ที่ข้างบนนี้ทำไม่ไหวต้องปล่อยทิ้ง
    "อยากให้หน่วยงานรัฐกั้นแนวเขตให้แน่นอน ไม่ให้ช้างออกมารบกวนชาวบ้าน ไม่งั้นไม่ไหว ต่อไปพอเลิกทำไร่ชายเขา ช้างก็ต้องลงไปเรื่อย ๆ ตอนช่วงปีใหม่ช้างเข้าถึงหมู่บ้านเลย (หมู่บ้านรวมไทย) หากินอยู่ตัวเดียวไปถึงซอย ๖"
    จากนั้นเราตระเวนไปเก็บข้อมูลที่ไร่สับปะรดบ้านย่านซื่อ อีกพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาเรื่องช้าง
    วิราศ ทับเนี่ยม อายุ ๕๑ ปี คนรับจ้างเฝ้าไร่แถบนี้เล่าให้ฟังว่า
    "ผมเฝ้าไร่ให้ตาแอ๊ด แกมีที่ ๑๕ ไร่ แถบนี้ก็มีไร่ของลุงหว่าง ไอ้ติ ไอ้เชษฐ์ สามคน ๓๐ ไร่ แล้วก็ของไอ้ตี๋ ๔๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ด่านแรกที่ช้างจะเข้า เพราะอยู่ติดชายเขา

 (คลิกดูภาพใหญ่)     "ปีนี้มันลงมาตั้งแต่เดือนมกรา ลงทุกคืน เว้นคืนสองคืนแล้วก็มาอีก เรื่องกินมันกินหมดแหละมันถึงจะไป ไล่มันไม่ไปแล้ว บางทีโขลงนึงก็ ๕-๖ ตัว โขลงใหญ่มาก็ ๙-๑๐ ตัว ปลายปีที่แล้วมา ๑๙ ตัว กินหมดไร่เลยแหละ"
    "ไร่ที่ผมเฝ้าล้อมรั้วไฟฟ้า รอบไร่ก็ประมาณ ๓ กิโลเมตร ใช้ไฟหม้อแบตเตอรี่ ๒๐ โวลต์ แต่ช้างก็เข้าได้ บางตัวมันรู้ เราขึงสายลวดไว้ มันก็ถอนต้นสับปะรดฟาดก่อน พอลวดขาดแล้วมันก็เข้ามาตัวหนึ่ง มาเหยียบหลักรั้วให้ล้ม แล้วพรรคพวกมันก็เข้าตาม เราก็ตะเพิดบ้าง จุดประทัดไล่บ้าง บางตัวก็ไปบางตัวก็ไม่ไป มันไม่ไปเราก็ไปเอง ปล่อยให้มันกินอิ่ม มันก็ไป"
    นอกจากปากคำของชาวบ้าน บันทึกรายงานไล่ช้างของสายตรวจอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๔๓ ก็ช่วยยืนยันสถานการณ์ช้างป่าลงกินไร่สับปะรดด้วยเช่นกัน
    - วันที่ ๕-๑๒ เมษายน ช้างลงไร่วังมอญทุกวัน มารู้เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ลงมาคืนละประมาณ ๕-๑๒ ตัว เสียหายรวมทั้งหมด ๙๓ ไร่, เจ้าของ ๙ ราย
    - วันที่ ๒๑ เมษายน ช้างลงบริเวณโรงตาน้อย ๒๐ ตัว เสียหายเล็กน้อย, เจ้าของ ๒ ราย
    - วันที่ ๒๕ เมษายน ช้างลงไร่วังมอญ เสียหาย ๑๕ ไร่, เจ้าของ ๓ ราย
    - วันที่ ๖ พฤษภาคม ช้างลงหุบตาเวียน ๕ ตัว ไล่ออกไปได้
    - วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ช้างลงด่านตรวจ ลงหุบตาแป๊ะ
    - วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ช้างลงบริเวณด่านตรวจอ่างหิน ๒๐ ตัว
    - วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ช้างลงหุบตาแป๊ะ ๖ ตัว เสียหาย ๒ ไร่
    - วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ช้างลงด่านตรวจอ่างหิน ๘-๙ ตัว ลงหุบตาเวียน
      ข้อมูลข้างต้นคงพอจะบอกกับเราได้ว่า ทุกวันนี้ช้างป่ายังคงลงกินสับปะรดในไร่ของชาวบ้านอยู่เสมอ ซ้ำยังมีแนวโน้มว่าช้างยิ่งเดินไปไกลขึ้น และเข้าไร่บ่อยยิ่งขึ้น สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์จากรายงาน "การศึกษานิเวศวิทยาช้างป่า และการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้าง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์" โดยมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ ซึ่งมี อลงกต ชูแก้ว เป็นหัวหน้าโครงการ
    นักวิชาการด้านสัตว์ป่าผู้นี้ ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลด้านพฤติกรรม และนิเวศวิทยาของช้างในอำเภอกุยบุรีอยู่เป็นเวลานาน การศึกษาของเขา จะช่วยให้เรารู้จักธรรมชาติของช้างป่ากุยบุรีดียิ่งขึ้น
 (คลิกดูภาพใหญ่) ๕.

    ย้อนไปเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๓ สารคดี ได้เข้าร่วมสำรวจช้างป่ากับคณะของ อลงกต ชูแก้ว และหน่วยสายตรวจอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ในบริเวณไร่สับปะรดเก่า ที่ถูกเวนคืนเป็นพื้นที่โครงการพระราชดำริ
    คณะของเราเริ่มออกสำรวจเมื่อเวลาบ่ายสามโมงครึ่ง ก่อนหน้านี้ฝนตกหนัก อากาศยามนี้จึงฉ่ำชื่น ไอเมฆหมอกขาวขังอยู่ตามซอกหลืบของภูเขา พื้นที่โครงการพระราชดำริเป็นที่ราบโล่ง ทุกด้านโอบล้อมด้วยแนวเขา และผืนป่าของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โขลงช้างจะนอนพักในป่าตอนกลางวัน เวลาเย็นจึงเคลื่อนย้ายจากป่าออกมาหากินในไร่สับปะรดร้าง
    พวกเราเฝ้าสังเกตการณ์ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำหมายเลข ๓ อยู่นาน อลงกตและคนอื่น ๆ เอาสองมือป้องหูเป็นระยะ แต่ในป่าเบื้องหน้าไม่มีเสียงใด ๆ ให้ได้ยิน ไม่ว่าเสียงช้างร้อง เสียงไม้หัก ต่อมามีเสียงช้างร้องดังมาไกล ๆ ทางทิศเหนือ คณะของเราจึงตัดสินใจเคลื่อนย้าย ิไปยังบริเวณที่เรียกว่าหุบไอ้เลาเน่า อันเป็นที่มาของเสียง
    รถขับเคลื่อนสี่ล้อของหน่วยสายตรวจวิ่งมาไกลพอสมควร ต่อจากนั้นพวกเราต้องเดินฝ่าดงหญ้าคาสูงท่วมหัว เพื่อตามโขลงช้าง ทางเดินเริ่มสูงชันขึ้นเรื่อย ๆ พักใหญ่ สมบุญ เขาคำ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิคุ้มครองฯ ที่เดินล่วงหน้าไปก่อนก็ย้อนกลับมา บอกพวกเราให้เดินเงียบ ๆ เพราะเจอโขลงช้างอยู่ข้างหน้าแล้ว
    พวกเราซุ่มอยู่บนเนิน ไกลออกไปราว ๘๐ เมตรในหุบเขาเบื้องหน้า ช้างป่าห้าถึงหกตัวกระจายกันอยู่ในราวป่า ขณะนั้นเวลาล่วงผ่านห้าโมงเย็นมาแล้ว อากาศค่อนข้างขมุกขมัว ลำตัวสีเทาหม่นของช้าง จึงดูกลืนไปกับสีเขียวทึบของพรรณพืช ช้างบางตัวกำลังใช้งวงริดใบไม้เข้าปาก บางตัวชูงวงขึ้นจับกลิ่นในอากาศ มีทั้งช้างตัวใหญ่ ช้างรุ่น ๆ และลูกช้างตัวน้อยคลอเคลียใกล้แม่ แต่ต่อมาลมเกิดเปลี่ยนทิศ พัดจากเนินที่เราอยู่ลงไปในหุบ ช้างส่งเสียงร้องแปร๋นดังสนั่น ไม่นานพวกมันก็พากันเดินหายเข้าป่าไป
    อีกหลายวันต่อมาในการร่วมสำรวจช้างกับอลงกต ทำให้เรารู้จักพื้นที่แห่งนี้ดียิ่งขึ้น โครงการพระราชดำริแม้กว้างใหญ่ และรกเรื้อด้วยพงไม้ แต่ก็มีแนวถนนดิน ที่เจ้าของไร่เก่าตัดไว้วกเวียนไปทั่ว สะดวกอย่างยิ่งสำหรับการสำรวจโดยใช้รถยนต์

 (คลิกดูภาพใหญ่)     "ปรกติการสำรวจช้างในป่าเป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่ที่กุยบุรีช้างจะออกมาปรากฏตัวนอกพื้นที่ป่า หรือชายป่าตามจุดต่าง ๆ ในโครงการพระราชดำริ ซึ่งมีทางรถยนต์ไปถึง ในหนึ่งวันเราจึงสามารถไปได้หลาย ๆ จุด ตรงนี้คือจุดเด่นของพื้นที่ ที่มีส่วนช่วยให้เราทำการสำรวจแบบไดเร็กเคาท์ได้"
    อลงกตอธิบายว่า การสำรวจแบบ Direct Count Method คือการแจงนับจำนวนช้าง จากการพบเห็นโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีการสำรวจประชากรสัตว์ป่า ที่ทำให้ได้ข้อมูลเที่ยงตรง และสอดรับกับความจริง มากกว่าการใช้เทคนิคการสำรวจโดยอ้อม เช่นการศึกษาประชากรจากการวิเคราะห์กองมูล
    อลงกตและคณะของเขาเข้ามาศึกษาช้างป่ากุยบุรี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๑ โดยอาศัยโรงเรือนเฝ้าไร่สับปะรดเก่า ในพื้นที่โครงการพระราชดำริเป็นแคมป์พักแรม ทุกวันจะออกไปสำรวจช้างสองรอบ คือตอนเช้าตรู่ก่อนที่ช้างกลับเข้าสู่ป่า และตอนเย็นขณะที่ช้างเคลื่อนย้ายออกจากป่า
    อลงกตติดตามสำรวจโขลงช้างมาเป็นเวลานาน เฝ้าสังเกตพฤติกรรมและลักษณะเด่นของช้างแต่ละตัว ผ่านกล้องขยายกำลังสูง บันทึกทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ กระทั่งสามารถจำแนกความแตกต่างของช้างแต่ละกลุ่มครอบครัว และรายตัว แล้วนำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลทะเบียนประวัติช้างป่า 
    เขาพบว่าช้างป่ากุยบุรีมีประชากรทั้งหมด ๘๙ ตัว สามารถจำแนกเป็นกลุ่มตามพฤติกรรมการรวมกลุ่ม เคลื่อนย้ายหากินโดยมีอาณาเขตที่ชัดเจนได้สองกลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มใหญ่หรือกลุ่ม A มีพื้นที่เคลื่อนย้ายหากิน บริเวณด้านเหนือของที่ทำการอุทยานฯ มีประชากรจำนวน ๗๙ ตัว แบ่งเป็นกลุ่มครอบครัวที่มีสมาชิกตั้งแต่ ๕-๘ ตัว จำนวน ๙ ครอบครัว และช้างที่หากินโดดเดี่ยว ส่วนมากเป็นช้างตัวผู้คือช้างพลาย (ช้างงา) และช้างสีดอ (ช้างพลายงาสั้น) แต่เคลื่อนย้ายเดินทางพร้อมกลุ่มอีก ๑๖ ตัว ส่วนช้างกลุ่ม B มีประชากร ๑๐ ตัว ประกอบด้วยช้าง ๑ ครอบครัว จำนวน ๙ ตัว และช้างพลายที่วนเวียนใกล้กลุ่มอีก ๑ ตัว
    "โดยปรกติในโขลงช้างจะประกอบด้วยตัวนำ ส่วนใหญ่เป็นช้างเพศเมียที่มีอาวุโส มีประสบการณ์ รู้จักแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร แหล่งดินโป่ง แหล่งที่ปลอดภัย ตัวนี้จะเป็นผู้นำโขลง เรียกว่า แม่แปรก ในโขลงยังมีแม่ช้าง มีลูกช้าง แล้วก็จะมีช้างพี่เลี้ยง คืออาจเป็นช้างเพศเมียหรือลูกช้างตัวโตที่สุด เป็นตัวคอยช่วยดูแลลูกช้างที่ยังเล็ก ส่วนช้างตัวผู้ ทั้งช้างพลาย ช้างสีดอ เมื่อโตเต็มที่ก็จะแยกไปจากโขลง
      "นอกจากนี้ช้างยังมีลักษณะรวมกลุ่มจากหลาย ๆ หน่วยครอบครัว ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่นเวลาเคลื่อนย้ายหากินไปยังแหล่งอาหารใหม่ จะมีการรวมกลุ่มใหญ่เพื่อความปลอดภัย ตัวที่มีประสบการณ์มากที่สุดซึ่งต้องเป็นช้างเพศเมีย จะได้รับการยอมรับให้มาเป็นผู้นำโขลง
    "สำหรับพฤติกรรมการหากินของช้างที่นี่ ที่ผ่านมาเราพบว่าช้างจะใช้เวลาหากินนอกพื้นที่ป่า มากกว่าในพื้นที่ป่า คือตั้งแต่บ่ายสามโมงถึงสี่โมงเย็นเป็นต้นไป ช้างจะเริ่มเคลื่อนย้ายออกมาจากป่า ที่เป็นเขตอุทยานฯ คือหุบเขาต่าง ๆ ที่มันเข้าไปนอน จากนั้นก็จะเคลื่อนย้ายหากินอยู่ในทุ่งโล่งที่เป็นไร่สับปะรดร้าง หลายครั้งเราพบว่าช้างพยายามเข้าไปควานหาเหง้าสับปะรดเก่า ๆ ต้นสับปะรดเก่า ๆ เพื่อชักยอดกิน เพราะไม่มีลูกแล้ว จะกินเหง้า กินใบ ช่วงพลบค่ำและเวลากลางคืน จะเป็นช่วงที่ช้างมักเดินออกมากินสับปะรดในไร่ชาวบ้าน พอเช้าสักประมาณเจ็ดโมงจึงกลับเข้าป่า เข้าไปนอนช่วงสั้น ๆ ราวสามสี่ชั่วโมง แล้วก็เคลื่อนย้ายอยู่ในป่า พออีกสองชั่วโมงก็ออกมานอกป่าเหมือนเดิม
    "ระยะที่ผ่านมาเราพบว่าช้างจะใช้เวลาหากินนอกพื้นที่ป่ามากกว่าในพื้นที่ป่า ที่พูดอย่างนี้เพราะเราพบว่าช้างเพิ่มจำนวนเวลาอยู่นอกพื้นที่ป่า คือพื้นที่ทุ่งโล่ง ไร่ร้าง แล้วก็พื้นที่ที่ติดกับไร่ชาวบ้าน มากขึ้นเรื่อย ๆ"
    ผลการศึกษาของอลงกตระบุว่า ปี ๒๕๔๐ ช้างออกมาเคลื่อนย้ายหากินนอกพื้นที่ป่า เป็นเวลา ๒ เดือน, ปี ๒๕๔๑ เป็นเวลา ๖ เดือน, และปี ๒๕๔๒ เพิ่มระยะเวลามากขึ้นเป็น ๙ เดือน และเมื่อพิจารณาจำนวนชั่วโมงในการหากินในแต่ละวัน ก็พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน คือในปี ๒๕๔๐ ช้างออกมาเคลื่อนย้ายหากินนอกพื้นที่ป่าประมาณ ๒ ชั่วโมงต่อวัน, ปี ๒๕๔๑ ประมาณ ๖ ชั่วโมง กระทั่งปี ๒๕๔๒ เพิ่มเป็น ๑๔ ชั่วโมงต่อวัน จากเวลาที่ช้างหากินทั้งหมด ๑๘ ชั่วโมงต่อวัน
    "ตอนนี้ช้างเริ่มเดินไกลขึ้น จากเดิมที่หากินบริเวณไร่ริมป่า ก็เริ่มขยับออกไปเรื่อย ๆ ปีที่แล้วไปถึงปากซอย ๖ หมู่บ้านรวมไทย ซึ่งอยู่ไกลจากป่ามาก  แล้วก็เริ่มเปลี่ยนไปกินพืชอื่นด้วย จากเดิมหาสับปะรดอย่างเดียว เดี๋ยวนี้กินขนุน กินมะม่วงแล้ว
    "ที่ผ่านมาเราพบว่าชาวบ้านพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ แต่ความที่ช้างฉลาด มันจึงสามารถเรียนรู้ และปรับตัวได้ตลอด เริ่มจากใช้คนเฝ้า พอช้างได้กลิ่นคนก็จะหนีไป แต่ตอนหลังช้างก็ไม่กลัว ต่อมาชาวบ้านใช้วิธีจุดไฟตะเกียง เผายางรถยนต์ ช้างกลัวอยู่พักหนึ่งแล้วก็ไม่กลัวอีก ต่อมาเอาสปอร์ตไลท์ฉาย กลัวอยู่พักหนึ่งก็หายกลัว หลังจากนั้นก็ใช้วิธีจุดประทัด จุดพลุ ใช้ปืนยิงไล่ ก็กลัวอยู่พักหนึ่งแต่ในที่สุดก็เลิกกลัว ตอนนี้รั้วไฟฟ้าเป็นที่พึ่งหนึ่งของชาวบ้าน แต่ก็มีแนวโน้มว่าในอนาคตข้างหน้าอาจใช้ไม่ได้ ที่เราเห็นมาแล้วคือช้างหักต้นไม้ แบกมาไกล ๆ มาฟาดรั้ว บางทีต้นไม้อยู่ใกล้ ๆ รั้วไฟฟ้า ช้างก็โค่นต้นไม้ลงใส่รั้ว บางทีก็เหยียบเสารั้วตรงนั้นให้ล้มแล้วข้ามเข้าไปกิน
      "ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ปัญหาการเผชิญหน้า และความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ผลกระทบที่เกิดกับชาวไร่จะมีมากขึ้น การสูญเสียทางเศรษฐกิจของชาวบ้านจะมากยิ่งขึ้น แรงกดดันที่มีต่อชาวบ้านจะยิ่งมากขึ้น ความรู้สึกเสี่ยงต่อการทำพืชไร่มีมากขึ้น ความรู้สึกมั่นคงต่อถิ่นฐานของชุมชนที่นี่จะน้อยลง ถึงวันนั้นเราก็ไม่รู้ว่าทางออกของชาวบ้านจะเป็นอย่างไร"
    อลงกตบอกกับเราว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ช้างรุ่นที่เกิดใหม่ ๆ ซึ่งหากินในไร่สับปะรดอยู่เป็นประจำ อาจไม่สามารถปรับตัวกลับไปใช้ชีวิตในป่าได้อีก
    "หากเหตุการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไปอีกเพียงห้าถึงเจ็ดปี ลูกช้างที่เกิดในช่วงนี้จะไม่ถูกสอน ไม่มีสัญชาตญาณในการระวังตัวจากเสือ จากสัตว์ผู้ล่าในป่า ไม่มีความทรงจำ ที่จะใช้เส้นทางด่านในป่า ไม่รู้จักแหล่งอาหาร แหล่งอาหารพิเศษ แหล่งดินโป่ง แหล่งน้ำ รวมถึงช่วงเวลาในการเคลื่อนย้ายไปหาอาหาร ตามแหล่งต่าง ๆ เมื่อช้างรุ่นใหม่ ๆ ไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ โอกาสที่พวกมันจะกลับเข้าไปหากินในป่า ย่อมเป็นไปได้ยาก ยิ่งถ้าช้างตัวที่มีประสบการณ์ที่สุดคือตัวแม่แปรกตายลง ตัวที่จะมานำฝูงเคลื่อนย้ายหากินในป่า ก็จะลดลงเรื่อย ๆ นี่เป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง"
    ด้วยเหตุนี้อลงกตจึงเห็นว่า การแก้ไขปัญหาช้างป่ากุยบุรี ควรให้ความสำคัญกับข้อมูลทางวิชาการ และนำมาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดกิจกรรมการแก้ปัญหา ที่ตรงกับเหตุและปัจจัยอย่างแท้จริง
 (คลิกดูภาพใหญ่) ๖.

    เพื่อที่จะเข้าใจกระบวนการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กุยบุรีขณะนี้ บางทีเราอาจต้องย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของปัญหากันอีกครั้ง
    อลงกตกล่าวถึงสาเหตุ ที่ช้างออกจากป่ามากินสับปะรดในไร่เกษตรกรว่า "เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมไร่สับปะรดของชาวบ้าน เคยเป็นพื้นที่ของช้างมาก่อน เป็นจุดหนึ่งในวงรอบการหากินของช้างในหนึ่งปี ซึ่งช้างจะเคลื่อนย้ายผ่านในระยะสั้น ๆ จากเขาลูกหนึ่งผ่านพื้นที่ตรงนี้ เพื่อไปยังแหล่งอาหารพิเศษ คือดงไผ่ผากขนาดใหญ่ แล้วก็เคลื่อนย้ายสู่ฝั่งพม่า ช่วงปี ๒๕๒๓ ถึง ๒๕๒๘ ชาวบ้านเริ่มเข้ามาบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า เข้ามาปลูกสับปะรด เมื่อช้างเคลื่อนย้ายมาตามปรกติ พบว่ามีกลิ่นแปลกปลอม กลิ่นของคน เสียงของเครื่องจักร ช้างก็เลือกที่จะเลี่ยงไปใช้เส้นทางเลาะชายป่า ยังไม่ปรากฏตัวให้เห็น แต่หลังจากปี ๒๕๒๘ สับปะรดราคาตก ชาวไร่ทิ้งไร่เพราะไม่คุ้ม ช้างก็มาเหมือนเดิม พอเห็นบริเวณไร่ไม่มีคน เดินผ่านได้ก็ผ่านไป บางตัวก็เริ่มที่จะทดลองกินสับปะรดที่ชาวไร่ปลูกทิ้งไว้ หลังจากนั้นในปี ๒๕๓๐ ชาวไร่กลับมาอีกครั้ง ช้างก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมอีก เดินเลี่ยงไร่เลาะชายป่า เพื่อไปยังดงไผ่ผากตามฤดูกาล  ช่วงนั้นมีช้างลงกินสับปะรดในไร่อยู่บ้าง แต่ไม่หนักหนาอะไร 
    "ปัญหาอยู่ที่ว่าช่วงปี ๒๕๓๘-๒๕๓๙ เป็นช่วงที่เกิดภาวะสงครามทางฝั่งพม่า กองกำลังทหารกะเหรี่ยงสู้รบกับกองทหารพม่า บริเวณแนวชายแดน ชาวบ้านบอกว่าในปีนั้น มีการขุดหลุมดักลูกช้างอย่างหนักในพื้นที่ฝั่งพม่า เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ช้างตกใจ และเคลื่อนย้ายกลับมาฝั่งไทยก่อนเวลา เมื่อช้างจำนวนมาก หากินในพื้นที่ติดไร่สับปะรดเป็นเวลานาน ก็เริ่มคุ้นชิน ปี ๒๕๔๐ จึงเป็นปีที่ช้างเริ่มลงมาหากินในไร่ของชาวบ้าน จากทดลองกิน ก็เริ่มติดใจ จนกระทั่งยกมาเป็นโขลง"

      ส่วน บุญลือ พูลนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี กล่าวถึงเหตุการณ์เดียวกันว่า
    "ในปี ๒๕๓๙ เกิดอุทกภัย แหล่งน้ำบนเขาในป่าถูกหิน และตะกอนดินกลบจนแห้งหมด พอถึงหน้าแล้งปี ๒๕๔๐ ช้างก็ลงมาในพื้นที่ที่มีไร่สับปะรดอยู่ เพราะในพื้นที่มีบ่อน้ำที่ขุดไว้สำหรับรดสับปะรด ช้างก็ลงมาเล่นน้ำ มากินน้ำในบ่อ แล้วก็เริ่มกินสับปะรด พอกินมาก ๆ เข้าช้างก็เริ่มติดใจ ลงมากินสับปะรดทุกวัน"
    ในปี ๒๕๔๐ หลังจากเหตุการณ์ช้างสองตัวได้รับสารพิษตายในไร่สับปะรด กระทั่งมีการเวนคืนที่ดินจัดเป็นพื้นที่โครงการพระราชดำริ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ก็ได้สนับสนุนให้ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนหนึ่งจัดตั้ง "ชมรมคนรักช้างกุยบุรี" ขึ้น งานของชมรมฯ ในระยะแรกคือการระดมเงินบริจาคมาซื้ออาหารเลี้ยงช้าง
    ร.ต. สุ่น หมวกเมือง ประธานชมรมคนรักช้างกุยบุรีเล่าว่า 
    "เริ่มให้อาหารช้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ เราซื้อแต่อ้อย เปลือกขนุนเราขอจากตลาด ฝรั่งขอลูกคัดทิ้งจากโรงงาน บรรทุกรถไปทิ้งไว้ชายป่าตรงทางเข้าหุบมะกรูดกับห้วยลึก"
    ชมรมคนรักช้างกุยบุรีดำเนินการให้อาหารช้างตลอดปี ๒๕๔๐-๒๕๔๑ กระทั่งปี ๒๕๔๒ ก็เริ่มมีกระแสต่อต้านกิจกรรมนี้ 
    "ชาวบ้านบางกลุ่มต่อต้านว่า เราให้อาหารช้างอย่างนี้ ช้างจะเคยชิน ไม่ยอมเข้าป่าไปหากินเอง  และอาจยิ่งพากันมากินสับปะรดในไร่มากกว่าเดิม ซึ่งก็มีส่วนจริง สมัยก่อนช่วงที่ให้อาหารช้างบ่อย ๆ ผมเคยไปดูบริเวณที่ให้อาหารช้าง ห้าโมงเย็น เปลือกขนุนยังมาไม่ถึงเลย ช้างมายืนรอกันแล้ว"
    แนวความคิดในการให้อาหารช้าง อาจมาจากสมมุติฐานที่ว่า ช้างมีอาหารไม่พอกิน ทว่าจากการสำรวจอุทยานแห่งชาติกุยบุรีหลายครั้งที่ผ่านมา อลงกตพบว่า พื้นที่ป่าแห่งนี้อุดมด้วยพืชพรรณอาหารช้างกระจายอยู่อย่างหนาแน่น
 (คลิกดูภาพใหญ่)     "ช่วงเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมา เราได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน พรานในพื้นที่ หน่วยทหาร โดยอาศัยเส้นทางด่านช้างในป่า ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางที่เป็นสันเขา และเส้นทางลัดเลาะห้วยน้ำ เพราะปรกติช้างจะหากินอยู่ริมด่านนั่นเอง เรายืนยันได้ว่าในบริเวณพื้นที่ที่ช้างเคลื่อนย้ายหากิน มีพืชที่เป็นอาหารช้าง กระจายอยู่อย่างหนาแน่น ไม่ต่ำกว่า ๘๙ ชนิดพันธ์ สังเกตจากร่องรอยที่ช้างหากิน เศษซากพืชที่ช้างกินทิ้งเอาไว้ หรือที่พบในกองมูลช้าง เราพบว่าบางแห่ง เป็นแหล่งอาหารพิเศษด้วยซ้ำไป เช่น เป็นดงไผ่ผาก ดงซ่าน ดงเถาวัลย์ต่าง ๆ เถาวัลย์แพน เถาวัลย์เปรียง พิสูจน์ได้ว่าในป่านี้มีอาหารสมบูรณ์"
    ตัวอย่างของพันธ์พืชอาหารช้างที่อลงกตกล่าวถึง มีทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้เถา หญ้าชนิดต่าง ๆ เช่น กระชิด เหรียง ขี้เหล็กป่า ไทรย้อย มะยมป่า กระไดลิง อ้อยช้าง เต่าร้าง หญ้าคา แขม และอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน
    "นอกจากนี้เรายังสำรวจพบว่ามีแหล่งดินโป่งอยู่ด้วยกัน ๓๐ แหล่ง กระจายอยู่ทั่วอุทยานแห่งชาติกุยบุรี หลายแหล่งเป็นแหล่งดินโป่งขนาดใหญ่ รองรับการลงกินของช้างจำนวนมากได้อย่างสบาย โป่งประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นดินโป่งที่เกิดจากหน้าดินริมห้วยพังทลายในหน้าน้ำหลาก ซึ่งเป็นดินที่มีธาตุอาหารที่ช้างต้องการ ไม่ว่าแคลเซียมหรือแมกนีเซียม
    "เราพบว่าแหล่งดินโป่งบางแหล่งช้างไม่ได้เข้าไปใช้นานแล้ว โดยเฉพาะแหล่งที่อยู่ในป่าลึก ๆ เส้นทางด่านก็เหมือนกัน ทางบนสันเขาในป่าลึกช้างก็ไม่ได้ใช้ กลายเป็นด่านร้าง ไม่มีร่องรอยการเข้าไปหากินอย่างน้อยหนึ่งถึงสองปี ขณะที่พรานก็ยืนยันว่าช้างเคยใช้เส้นทางนี้เป็นด่านมาแต่เดิม ก็เลยมาสัมพันธ์กับผลการวิจัย ที่เราพบว่าช้างออกมาหากินนอกพื้นที่ป่ามากขึ้น เลยไม่ได้กลับเข้าไปข้างใน"
    ส่วนหัวหน้าบุญลือกล่าวถึงสภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรีว่า 
    "ป่าในเขตอุทยานฯ มีความสมบูรณ์ประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะป่ากุยบุรีเคยได้รับสัมปทานทำไม้ไปแล้ว ไม้ใหญ่จึงถูกตัดไป แต่ความหนาแน่นของไม้ยังค่อนข้างสูง ทางตอนบนของอุทยานฯ มีสภาพเป็นป่าดิบชื้น เรื่องอาหารช้างผมคิดว่าน่าจะพอ ดูจากลักษณะตัวช้างที่ค่อนข้างอ้วน แล้วที่เราเดินเข้าไปดูในป่าก็พบว่ามีไผ่ผาก มีพืชอื่น ๆ ที่เป็นอาหารช้างจำนวนมาก เพียงแต่ช้างไม่ไปกินเท่านั้นเอง ช้างมันออกมาหาสับปะรดกิน ไม่กลับเข้าไปหาอาหารในป่า"
      จากข้อมูลข้างต้นอาจกล่าวได้ว่า ที่ช้างลงกินสับปะรดในไร่เกษตรกร ก็เพราะมันเกิด "ติดใจ" รสชาติสับปะรด ทั้งยังหากินง่าย ปลอดภัย จึงทำให้พฤติกรรมของช้างเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมกลับเข้าป่าหากินตามปรกติ ในฐานะนักวิชาการด้านสัตว์ป่า อลงกตเห็นว่าในการแก้ปัญหาช้างป่ากุยบุรี สิ่งสำคัญก็คือ ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมช้างให้กลับไปใช้ชีวิตในป่าให้ได้
    "ผมยืนยันว่าการแก้ปัญหามีสองประเด็น หนึ่ง ต้องควบคุมพฤติกรรมช้าง ไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากกว่านี้ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างในพื้นที่ สอง หาวิธีเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ให้ช้างกลับไปใช้ชีวิตในป่า โดยตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าว คือระยะเวลา หากเราสามารถควบคุมพฤติกรรมช้างได้สำเร็จ ระยะเวลาที่ช้างออกมาหากินนอกพื้นที่ป่าต้องมีแนวโน้มที่ลดลง จำนวนเดือนที่ช้างออกมานอกป่าจะต้องลดลง"
    ขณะที่หัวหน้าบุญลือกล่าวถึงการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมว่า "วิธีเปลี่ยนพฤติกรรมของช้างคือตั้งด่านสกัด ไม่ให้ช้างลงไร่สับปะรด เมื่อช้างไม่ได้กินสับปะรดนานเข้า ต่อไปก็ต้องกลับเข้าไปหาอาหารในป่าเอง เพราะในความเป็นจริงสับปะรดไม่ใช่อาหารหลักของช้าง และในป่าก็ไม่มีสับปะรด เพียงแต่ว่าขณะนี้ช้างเกิดความชอบ ติดใจในรสชาติของสับปะรดเท่านั้น ข้อสำคัญก็คือ ในรุ่นลูกช้างที่เกิดใหม่ หากติดสับปะรดเสียแล้ว การเปลี่ยนพฤติกรรมให้กลับไปกินอาหารป่า ก็ค่อนข้างทำได้ยาก ต้องใช้ระยะเวลา ต้องใช้การควบคุมที่ดี
    "ในส่วนของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เราจะมีเจ้าหน้าที่ด่านตรวจ ที่โครงการพระราชดำริจัดไว้เป็นสองชุด ชุดละสี่คน คอยติดตามความเคลื่อนไหวของช้างป่าตลอด ว่าขณะนี้ช้างอยู่ที่ไหน ลงพื้นที่ตรงไหนบ้าง หรือเมื่อได้รับแจ้งจากชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ด่านตรวจก็จะวิทยุแจ้งมาที่สำนักงาน เราก็จะจัดเจ้าหน้าที่หน่วยสายตรวจออกไปไล่ช้างให้กลับเข้าพื้นที่ป่า หน่วยสายตรวจมีสองชุด ผลัดกันทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง
    "แต่มีปัญหาอยู่ก็คือ ทางทิศตะวันออก พื้นที่ป่าจะจรดพื้นที่ชาวบ้าน ช้างสามารถลงได้ตลอดแนวซึ่งกินระยะทางนับสิบ ๆ กิโลเมตร แล้วขณะนี้จุดที่เราเคยสกัดอยู่ช้างก็ไม่ลงแล้ว ไปลงจุดที่มันไม่เคยไป เร็ว ๆ นี้ก็ที่หุบตาพร้อมและวังมอญ เป็นพื้นที่ใหม่ที่ช้างเริ่มรู้ว่ามีสับปะรด" หัวหน้าบุญลือกล่าว
      ดำเนิน หนูภูเขา หัวหน้าหน่วยสายตรวจอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีประสบการณ์ตระเวนไล่ช้าง มาเป็นระยะเวลายาวนาน จนรู้รายละเอียดเส้นทางหากิน และจุดต่าง ๆ ที่ช้างลงไร่ชาวบ้านเป็นอย่างดี เขากางแผนที่ ๑ : ๕๐,๐๐๐ ลงบนโต๊ะให้เราดูประกอบคำอธิบาย
    จากในแผนที่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ทอดตัวยาวตามแนวเหนือ-ใต้ ด้านตะวันตก จรดพรมแดนประเทศพม่าตลอดแนว แนวเขตอุทยานฯ ด้านตะวันออกช่วงกลางค่อนข้างแหว่งเว้า ด้วยพื้นที่โครงการพระราชดำริ และพื้นที่เกษตรกรรมกินลึกเข้ามาในพื้นที่ป่า จะเห็นว่าพื้นที่โครงการพระราชดำริ ถูกโอบรอบด้วยแนวป่าของอุทยานฯ ทั้งสามด้าน ทั้งตะวันตก เหนือ และตะวันออก เป็นพื้นที่ด่านแรกที่ช้างออกจากป่า ก่อนเคลื่อนย้ายไปสู่ไร่ชาวบ้าน
    ดำเนินบอกเราว่า ช้างป่ากุยบุรีมีอยู่สองโขลงใหญ่ ทั้งสองโขลงแบ่งพื้นที่หากินชัดเจน ไม่มารวมกัน โขลงแรกหากินในพื้นที่ส่วนบน โขลงหลังหากินในพื้นที่ส่วนล่าง จุดเริ่มต้นเส้นแบ่งเขตพื้นที่หากินของทั้งสองโขลงอยู่ตรงบริเวณที่เรียกว่าห้วยลึก ใกล้ ๆ กันนั้นคือที่ตั้งของด่านตรวจหน้าโครงการพระราชดำริ
    เส้นทางหากิน และเส้นทางลงไร่สับปะรดของช้างโขลงล่าง เริ่มจากบริเวณหน้าหุบเฉลาทางด้านใต้ของห้วยลึก ช้างจะเดินลัดเลาะชายขอบป่าของอุทยานฯ มาทางทิศใต้ ระหว่างทางมีจุดที่ช้างออกมาหากินนอกพื้นที่ป่า ได้แก่ บริเวณคลองหนึ่ง, คลองสาม, บริเวณหนองตาลด, ไร่สับปะรดที่พุไอ้แดง จากนั้นเส้นทางด่านช้างจะวกขึ้นเหนือ แล้วค่อย ๆ เบี่ยงไปสู่ทิศตะวันออก พื้นที่เกษตรกรรมติดชายป่าตลอดแนวนี้ ก็คือไร่สับปะรดหมู่บ้านย่าน ซื่อต่อกับไร่สับปะรดของหมู่บ้านพุบอน ช้างจะเดินต่อไปกระทั่งถึงไร่สับปะรดที่โกรกกือ จากนั้นจะเดินวกกลับเส้นทางเดิม ดำเนินบอกว่า ปัจจุบันมีช้างบางส่วนเดินทะลุพื้นที่ป่าลงไปทางใต้ต่อไปอีก สู่ไร่สับปะรดที่เข็ดกา
    ส่วนช้างโขลงบน เส้นทางหากินเริ่มจากบริเวณห้วยลึก ช้างจะเดินลัดเลาะชายขอบป่า ที่ต่อกับพื้นที่โครงการพระราชดำริด้านตะวันตก ขึ้นไปทางทิศเหนือ จุดที่ช้างออกมานอกพื้นที่ป่าระหว่างทาง ได้แก่ บริเวณหุบตาอู๋ หุบมะกรูด หุบตาวิทย์ โรงตาคำ ทั้งหมดล้วนอยู่ในพื้นที่โครงการพระราชดำริ จุดต่อมาคือบริเวณหลังป้ายโครงการพระราชดำริ ช้างยังคงเดินขึ้นไปทางทิศเหนือ บางส่วนเดินไปออกยังบริเวณที่เรียกว่าโรงตาน้อย  แต่ดำเนินบอกว่านาน ๆ ครั้งช้างจึงออกบริเวณนี้ ส่วนใหญ่ช้างจะเดินตัดพื้นที่โครงการพระราชดำริ ไปทางทิศตะวันออกสู่หุบไอ้เลาเน่า ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของพื้นที่โครงการพระราชดำริ จากหุบไอ้เลาเน่า ช้างจะเดินออกมาหากินที่บริเวณหน้าป่ายาง จากนั้นมีเส้นทางเดินต่อไปหุบตากรและหุบกระชัง
 (คลิกดูภาพใหญ่)     "ถ้าช้างเข้าหุบกระชังก็จะต้องระวัง เพราะมีเส้นทางลงไร่ชาวบ้านหลายจุด ช้างสามารถเดินทะลุมาที่ไทรเอน แล้วมาทางด่านอ่างหิน ไปยังหุบตาน้อย ไร่สำโรง แล้วก็หุบตาเวียน หุบตาพร้อม จากหุบตาพร้อมช้างสามารถเดินทะลุไปถึงย่านวังเต็น วังมอญ หนองเสือได้ เพราะมีด่านเป็นสันเขาเตี้ย ๆ แล้วก็จากหุบกระชัง มีเส้นทางตัดสันเขาเตี้ย ๆ ไปหุบตาเวียนได้เลย ไม่ต้องผ่านด่านอ่างหิน แต่ถ้าช้างไม่ลงหุบตาเวียน ก็จะลงมาทางไทรเอน ด่านตรวจอ่างหิน ก่อนจะกลับไปนอนที่เขาตาเพ็งซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่โครงการพระราชดำริ
    "ถ้าช้างนอนเขาตาเพ็งก็มีโอกาสสูงที่ช้างจะลงกินไร่สับปะรด บริเวณด้านหน้าโครงการพระราชดำริ ซึ่งเป็นไร่ของชาวบ้านหมู่บ้านรวมไทย"
    ดำเนินกล่าวถึงการตั้งด่านสกัดช้างว่า "ขณะนี้เรามีสองด่านแล้ว คือด่านตรวจหน้าโครงการพระราชดำริ กับด่านอ่างหิน แต่ถ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ก็ต้องไปปิดด่านที่ไทรเอน- หุบตาแป๊ะ หุบตาน้อย หุบตาเวียน หุบตาพร้อม วังเต็น วังมอญ หนองเสือ คือต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจประมาณ ๑๐ แห่ง"
    ส่วนหัวหน้าบุญลือกล่าวว่า "ทางอุทยานฯ ได้ของบประมาณ กปร. ในปี ๒๕๔๓ เพื่อตั้งเป็นจุดสกัดสักสี่จุดสกัด ให้มีเจ้าหน้าที่ประจำจุดสกัดละประมาณแปดคน คอยควบคุมช้าง ออกจากป่าปุ๊บเราจะไล่ทันที จุดสกัดจะอยู่ในพื้นที่ล่อแหลม ที่ช้างจะลงไร่ชาวบ้าน ที่ด่านตรวจสองด่าน คือด่านตรงทางเข้าโครงการพระราชดำริ ด่านอ่างหิน แล้วก็หุบตาเวียนและเขาตาเพ็ง โครงการนี้เราได้เสนอไปแล้ว แต่กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณา
    "คือขณะนี้เรามีปัญหาเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ถ้าเราได้งบประมาณเพิ่มเติม ก็จะนำไปจ้างชาวบ้านในพื้นที่มาประจำอยู่จุดสกัด ชาวบ้านก็มีรายได้ ไร่สับปะรดก็ปลอดภัย ช้างเองก็จะปลอดภัยไม่ถูกทำร้าย"
    ปัญหาเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอดูจะสวนทางกับภาวะปัจจุบัน ที่โขลงช้างกำลังขยายพันธ์เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว
    "ข้อมูลของคุณอลงกตที่ว่าช้างโขลงบนมีจำนวน ๗๙ ตัว และโขลงล่างจำนวน ๑๐ ตัว เป็นข้อมูลเก่าแล้ว" ดำเนินบอก "เพราะระยะที่ผ่านมามีช้างเกิดใหม่จำนวนมาก ทุกครั้งที่พบโขลงช้าง จะเห็นว่ามีลูกช้างตัวเล็กอยู่ในโขลงด้วยเสมอ คาดว่าขณะนี้ช้างโขลงบนมีจำนวนร้อยกว่าตัวแล้ว ส่วนโขลงล่างคาดว่ามีจำนวนประมาณ ๔๕ ตัว"
    ดำเนินพูดถึงอนาคตว่า "หากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ไม่รู้ว่าอีกสักห้าปีที่นี่จะเป็นอย่างไร"
      ตลอดช่วงระยะเวลาที่ สารคดี ลงพื้นที่เก็บข้อมูล เรื่องช้างป่าลงกินไร่สับปะรดที่อำเภอกุยบุรี พบว่าปัญหานี้มีทั้งความซับซ้อน และละเอียดอ่อน เพราะมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งคู่กรณีคือช้างป่าและชาวไร่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงหน่วยงานอีกหลาย ๆ ฝ่ายที่เข้ามาร่วมแก้ปัญหา ส่งผลให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นเวทีอันพลุกพล่าน เต็มไปด้วยหลากหลายสมมุติฐาน หลากหลายแนวความคิด  และหลายมาตรการแก้ไข แนวความคิดบางอย่างก็สอดคล้องต้องกัน บางอย่างก็ขัดแย้งกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงเลือกจะทำหน้าที่ เป็นสื่อกลางนำเสนอเรื่องราว และเสียงสะท้อนจากทุกฝ่าย ด้วยเชื่อมั่นว่าในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนเช่นนี้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือข้อมูลที่ละเอียด และครบถ้วนรอบด้าน
    ดังเช่นที่อาจารย์สุรพล ดวงแข รักษาการเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ เขียนไว้ในบทนำของรายงาน การศึกษานิเวศวิทยาช้างป่า และการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้าง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตอนหนึ่งว่า
    "การจะคลี่คลายความขัดแย้งกรณีช้างป่ากับชาวไร่ได้ องค์ประกอบสำคัญเบื้องต้น คือการที่จะต้องศึกษาหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด ก่อนที่จะนำกิจกรรมต่าง ๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กิจกรรมการแก้ปัญหาดังกล่าว กลายเป็นเงื่อนไขที่เพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น"
 

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
"โพล" (การเมือง) : เครื่องมืออันตราย ?

ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | รำลึก ๑๐ ปีการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร | เคียงข้างนักปั่นขาเดียว | ช้างป่าและชาวไร่กุยบุรี การเผชิญหน้าที่ยังไม่ยุติ | ที่ปรึกษาหัวขโมย | จินตนาการในวัยชรา | จอห์นวูกับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๒) ความยืดหยุ่นยุคหลังฟอร์ด | ครัวสมัยหิน

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail