Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ "โพล" (การเมือง) : เครื่องมืออันตราย ?
คั ด ค้ า น

ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ นักหนังสือพิมมพ์, คอลัมนิสต์อิสระ
ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์
นักหนังสือพิมมพ์, คอลัมนิสต์อิสระ
  • โพลไม่ได้เป็นความคิดเห็น ที่แท้จริงของคนในสังคม เนื่องจากกระบวนการทำ มีส่วนบิดเบือนความคิดเห็น

  • เสียงส่วนใหญ่ของโพล ไม่ใช่ตัวแทนของคนทั้งสังคม เป็นเพียงเสียงของกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มเล็กๆ เท่านั้น

  • สังคมไม่ควรตัดสิน ความดีความชั่ว จากการฟังเสียง ของคนส่วนใหญ่ 

  • โพลไม่จำเป็น ต่อระบบประชาธิปไตย และการเลือกตั้ง มีช่องทางอื่นอีกมาก ที่ประชาชน จะแสดงความคิดเห็น และวิจารณ์ การทำงานของรัฐบาลได้ 

    "โพลส่วนใหญ่ที่ทำออกมาในปัจจุบันมักจะขาดมาตรฐาน ความน่าเชื่อถือ และแสดงให้เห็นว่ามีผลประโยชน์ทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง บางครั้งโพลก็เป็นตัวป่วนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะโพลของบางสำนักที่แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ เช่น ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชน เราก็พอรู้บ้างว่าขณะนี้สภาพบ้านเมืองและเศรษฐกิจก็แย่แค่ไหน แต่ผลของโพลก็ยังออกมาบอกว่า ชวน หลีกภัย ได้รับความนิยมอยู่ตลอด ซึ่งฟังดูไม่ค่อยเข้าท่านัก
    "ถ้าโพลได้มาตรฐานจริง ๆ ก็คิดว่ายอมรับได้ แต่ปัญหาก็คือ โพลไม่ใช่สิ่งที่เป็นความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีเทคนิคหรือวิธีการนานาชนิด ที่จะทำให้คำตอบเป็นไปตามที่ผู้ทำโพลต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนแบบสอบถาม การตั้งคำถาม เทคนิคการสุ่มตัวอย่าง จำนวนผู้สำรวจ ฯลฯ ยิ่งถ้าโพลมีลักษณะที่พยายามชี้นำ ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะโดยหลักการโพล น่าจะเป็นแค่ตัวสะท้อนความรู้สึกของคน ไม่ใช่ชี้นำคน ถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้ทำโพลคิดว่าโพลนั้นชี้นำได ้ก็แสดงว่าผู้ทำไม่มีเจตนาบริสุทธิ์แล้ว 
    "คนที่ทำโพลมักจะอ้างว่า ผลของโพลเป็นตัวแทนความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ แต่ความจริงเป็นแค่เสียงของคนที่เขาไปสำรวจ และเขียนออกมาเป็นตัวเลขเท่านั้น ถ้าไปสำรวจคน ๑ หมื่นคน ก็เป็นเสียงของคนแค่ ๑ หมื่นคนนั้น บางครั้งตั้งประเด็นสำรวจความคิดเห็นขึ้นมาโดยใช้กลุ่มเป้าหมายแค่ ๑๐๐ คนเท่านั้นซึ่งบอกอะไรไม่ได้มากมายนัก แต่ผู้ที่ทำโพลถือว่าคนจำนวนพันคน หรือหมื่นคนนั้น สามารถสะท้อนภาพและแนวโน้มของสังคมโดยรวมได้ ซึ่งอาจจะผิดหรือถูกก็ได้ ไม่ได้มีมาตรฐานว่าจะต้องเป็นไปตามโพล ไม่ว่าในประเทศไทยหรือตะวันตกก็ตาม 
    "โพลที่พอจะเชื่อถือได้บ้าง ต้องทำโดยหน่วยงานที่ไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย กับสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น ๆ เช่น โพลที่ทำโดยสื่อมวลชน เนื่องจากสื่อมวลชนมีผลประโยชน์ผูกพันอยู่กับรัฐบาล หรือพรรคการเมืองต่างๆ น้อยกว่าสถาบันอื่น ส่วนโพลที่ทำโดยสถาบันการศึกษานั้น ถ้าทำด้วยเจตนาดี ก็ถือว่าเหมาะสมในแง่ที่ว่าเป็นการนำเอาเทคนิคใหม่ ๆ ของตะวันตกมาใช้ ถ้าใช้โพลเป็นเครื่องมือเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่างก็ย่อมไม่ดีอย่างแน่นอน แต่โพลของสถาบันการศึกษานั้นไม่ค่อยน่าเชื่อถือนัก เพราะสถาบันเหล่านี้ ก็เป็นหน่วยงานที่อยู่ในมือของอำนาจทางการเมืองเช่นกัน 
    "โพลไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต่อระบบประชาธิปไตย และการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีโพลบ้านเมืองไม่พังพินาศหรอก สมัยก่อนเราก็อยู่ได้โดยไม่ต้องมีโพล อาจเป็นไปได้เหมือนกันที่ว่า โพลเป็นช่องทางให้รัฐบาลได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกสำรวจความคิดเห็นในเรื่องไหน ซึ่งเท่าที่ดูสำนักทำโพลในเมืองไทยในปัจจุบันค่อนข้างห่วยแตก ทั้งประเด็นที่สำรวจ วิธีการและทัศนคติในการทำโพล นอกจากนี้ หนทางที่ประชาชนจะแสดงความคิดเห็นนั้น ก็มีอยู่ตั้งหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องอาศัยโพล ทั้งเขียนจดหมายผ่านสื่อมวลชน ยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ เดินขบวน ตั้งพรรคการเมือง ชุมนุม ฯลฯ 
    "ส่วนประเด็นที่ว่า โพลทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องของการพนัน และทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของการเลือกตั้ง คือ จับคู่เอาเฉพาะผู้สมัครที่มีโอกาสชนะหรือพรรคการเมืองใหญ่ ๆ มาแข่งขันกัน ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้สมัครและพรรคการเมืองที่เหลือนั้น ผมคิดว่าเป็นเพียงผลที่ตามมาภายหลัง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ถ้าการเมืองเลวเสียอย่าง ไม่ว่าจะนำเทคนิคอะไร ดีแค่ไหนมาใช้ก็จะถูกนำไปสู่ความเลวหมด เพราะพื้นฐานการเมืองมันเลว เปรียบได้กับการที่เราเอาเทคนิคต่าง ๆ ของตะวันตกมาใช้ ก็ไม่สามารถทำให้เรากลายเป็นสังคมตะวันตกไปได้ เพราะพื้นฐานของเราไม่ใช่ตะวันตก ในทำนองเดียวกัน ถ้าสังคมการเมืองเลว ต่อให้ใช้เทคนิควิธีการของคนดีมาใช้ ก็จะถูกใช้ไปในทางที่เลว เราจึงไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์อะไรจากโพลได้บ้าง
    "เหตุที่สังคมไทยนิยมทำโพล และให้ความสำคัญกับการสำรวจความคิดเห็นมากขึ้น นั้นเป็นเพราะว่าสื่อมวลชนไม่มีข่าว จึงเอาผลโพลมาลงตีพิมพ์ ถึงแม้ว่าในระยะหลังสื่อมวลชนส่วนใหญ่เริ่มรู้แล้วว่า โพลของสำนักไหนมีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะไม่มีข่าวขาย นอกจากนี้ ความนิยมในโพลยังเป็นเพียงการทำตามฝรั่ง ฝรั่งเขานิยมทำกันเราก็ทำ โพลจึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าแฟชั่นธรรมดา ๆ เหมือนกับแฟชั่นเสื้อสายเดี่ยว แต่ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ หน่วยงานต่างๆ มีสิทธิจะทำโพลเช่นเดียวกับการที่ทุกคนมีสิทธิจะสวมเสื้อสายเดี่ยว แต่ประชาชนต้องตระหนักว่า ผลของโพลที่ออกมานั้นไม่ใช่ตัววัดความดีความชั่ว หรือนำมาเป็นแนวทางของสังคมได้เสมอไป และสังคมก็ไม่ควรตัดสินความดีความชั่ว จากเสียงส่วนใหญ่ในโพล เพราะสิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าดี สิ่งนั้นอาจจะชั่วก็ได้ และสิ่งไหนที่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าชั่ว อาจเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ 
    "โพลไม่ได้มีอันตรายโดยตัวของมันเอง ผู้ทำก็อาจจะมีเจตนาดี ถ้าประชาชนในสังคมนั้น ๆ เป็นคนที่มีคุณภาพเพียงพอ รู้จักแยกแยะข้อมูลข่าวสาร รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ไม่ปล่อยให้อะไรมาโน้มน้าวใจได้ง่าย ๆ ผลของโพลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นปัญหา โพลก็คงทำอันตรายสังคมไม่ได้นอกจากเป็นเพียงข้อมูลธรรมดา ๆ ชิ้นหนึ่ง แต่ว่าถ้าประชาชนเป็นประเภทชอบตามกระแส ชักจูงได้ง่าย ขาดสติ ประกอบกับการที่โพลเอง ก็มุ่งหมายที่จะใช้ความไม่มีสติของสังคมนี้ ให้เป็นประโยชน์กับตัวโพลเอง สังคมก็จะแย่ โพลจะกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้โน้มน้าวความรู้สึก และความคิดเห็นของผู้คนได้สำเร็จ ซึ่งสังคมไทยก็ส่อว่ากำลังเป็นเช่นนั้น เห็นได้จากที่ผ่านมาเราเกิดอาการ "ฟีเวอร์" อะไรหลาย ๆ อย่างขึ้นมา เห็น ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ว่าดีก็เกิดอาการ "ปุ๋ยฟีเวอร์", กรณี "สมพงษ์ เลือดทหาร" เรื่อยมาจนกระทั่งล่าสุดก็เกิดอาการ "สมัครฟีเวอร์" "สังคมที่ดีจะมีหลักยึดของสังคมนั้น ๆ อยู่แล้ว สังคมไทยก็มีอะไรหลายอย่างที่ดีงามกว่าแนวทางของโพลเยอะ เช่น ศาสนา ธรรมะ และแนวทางที่ดียึดถือกันมา ถ้าสังคมใดมีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วก็จะไม่กังวลใจเลยว่าคนอื่น ๆ จะคิดอย่างไรกัน เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่ดีเป็นอย่างไรและเชื่อมั่นในแนวทางนั้น แทนที่จะไปยึดอยู่กับว่าคนส่วนใหญ่คิดอย่างไร 
    "สมมุติว่าถ้าคนส่วนหนึ่งในสังคมเชื่อว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นดี แต่โพลออกมาบอกว่าผู้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าธรรมะเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าไม่มีจริง ผู้คนจึงพากันเปลี่ยนไปเชื่อตามคนส่วนใหญ่ ก็แสดงว่าสังคมนั้นไม่ดี ไร้แก่นสาร ไร้สาระ หรือผลของโพลที่ทำการสำรวจประชาชนทั้ง ๖๐ ล้านคน แล้วพบว่า ๕๐ ล้านคน เห็นว่าความกตัญญูต่อพ่อแม่เป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว อีก ๑๐ ล้านคนที่เหลือ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเห็นคล้อยตาม สามารถที่จะลุกขึ้นมายืนยันความคิดของตัวเองได้ 
    "ประชาชนไม่ควรไปจริงจังกับโพล อย่าไปเชื่อโพล ฟังพอสนุก ๆ ไป เราต้องเชื่อตัวเรา ถ้าเราตัดสินใจด้วยสติ การศึกษาข้อมูลข่าวสารรอบด้าน ใช้มโนธรรมในการตัดสินใจแล้ว คนส่วนใหญ่จะคิดอย่างไรก็ไม่มีความหมาย ถึงแม้โพลจะบอกว่ากระบวนการทำนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ สามารถเชื่อถือได้ แต่ผลของมันก็ไม่มีความหมายอะไรถ้าเรามีความเชื่อในบางสิ่งบางอย่างอยู่อย่างหนักแน่น" 
  อ่านฝ่ายสนับสนุน คลิกที่นี่
ผศ. สุขุม เฉลยทรัพย์
ประธานดำเนินงาน "สวนดุสิตโพล"

click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*

 


 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
"โพล" (การเมือง) : เครื่องมืออันตราย ?

ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | รำลึก ๑๐ ปีการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร | เคียงข้างนักปั่นขาเดียว | ช้างป่าและชาวไร่กุยบุรี การเผชิญหน้าที่ยังไม่ยุติ | ที่ปรึกษาหัวขโมย | จินตนาการในวัยชรา | จอห์นวูกับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๒) ความยืดหยุ่นยุคหลังฟอร์ด | ครัวสมัยหิน

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail