Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ
ลิ ต เ ทิ ล อิ น เ ดี ย
ิกำยาน มาซาลา และภารตวิถีในตรอกพาหุรัด
เรื่อง : กฤษกร วงค์กรวุฒิ, จิรา บุญประสพ 
ภาพ : กฤษกร วงค์กรวุฒิ

 

    ความจอแจ พลุกพล่าน บนถนนจักรเพชร ไม่สามารถอำพรางกลิ่นอายพิเศษบางอย่าง ที่ลอดออกมาจากตรอกเล็ก ๆ ติดกับห้างเอทีเอ็มย่านพาหุรัดได้
    ชายวัยกลางคนในชุดผ้าโจงกระเบนป่านสีขาว สะพายย่าม เจิมหน้าผากด้วยแต้มสีแดงแบบพราหมณ์ ข้ามถนนมาหยุดบ้วนน้ำหมาก ตรงหัวมุมตึกก่อนจะเดินเคี้ยวหมากหยับ ๆ หายลับเข้าไปด้านใน สวนกับชายแต่งกายภูมิฐาน โพกผ้าสีดำ หน้าตาคมเข้ม หนวดเคราเรียบเป็นมัน ที่เดินออกมาอย่างรีบเร่ง
(คลิกดูภาพใหญ่)

    บรรยากาศคักคึกด้านนอกดึงดูดให้เราก้าวตามเข้าไปภายใน เพื่อที่จะพบว่าตรอกแคบ ๆ ที่เชื่อมต่อระหว่างถนนจักรเพชร กับตลาดพาหุรัดแห่งนี้ เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา ถนนทั้งสายอันแสนจอแจหายวับไป กลายเป็นย่านบาซาร์ ตลาดการค้าที่ไหนสักแห่งในอนุทวีป 
    ห้องแถวชั้นเดียวหันหน้าเข้าหากัน ตลอดแนวยาวประมาณ ๓๐๐ เมตร มีทางเดินแคบ ๆ คั่นกลาง ทั้งสองฟากเปิดเป็นแผงขายสินค้า ซึ่งมีของกินของใช้ทั้งสดและแห้ง สินค้าเกือบทุกอย่างล้วนนำเข้ามาจากอินเดีย ไม่เว้นแม้แต่ขนมและของขบเคี้ยว กระทั่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่เจ้าของร้านบอกว่าแตกต่างจากบะหมี่ไทย ที่เครื่องปรุงในซอง จะมีเครื่องเทศฉุนเฉียวผสมลงไปตามรสนิยม 
    ที่ร้านขายรูปเคารพตรงหัวมุมตรอก อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมเอียน ... กลิ่นชนิดนี้เองที่ฟุ้งกระจายไปจนถึงปากตรอก หญิงวัยกลางคนที่ยังไม่ทิ้งเค้าความงาม ในชุดส่าหรีสีฟ้าลายดอกไม้สดใส กำลังจุดแท่งสีดำ ๆ ขนาดเท่าปลายก้อย วางไว้บนหิ้งบูชาหน้ารูปพระกฤษณะ ในร้านของเธอแบ่งส่วนหนึ่งสำหรับส่าหรี และข้าวของเบ็ดเตล็ด จำพวกเครื่องบูชาเทพเจ้า ธูปหอมจากอินเดีย โถทองเหลืองสำหรับเผากำยาน กำไลสีที่สตรีในตรอกนิยมสวมข้อแขนไว้คนละหลาย ๆ อัน 

(คลิกดูภาพใหญ่)     "กำยานเปียก ติดไฟดี แต่หอมสู้กำยานแห้งไม่ได้" สุนันทา หญิงเจ้าของร้าน ชี้ให้ดูแท่งสีดำที่กำลังไหม้ไฟ กลิ่นหอมนั้นมาจากส่วนประกอบสำคัญ คือไม้จันทน์หอม เธอยังหยิบกำยานแห้งแท่งเล็ก เท่าปลายนิ้ว ปั้นเป็นรูปกรวย หลากกลิ่นและสีออกมาให้ดูเปรียบเทียบ กำยานเป็นสัญลักษณ์สำคัญประการหนึ่ง ในชีวิตของชาวอินเดีย กลิ่นที่ขจรขจายออกไปเสมือนว่า ได้เชื่อมโยงเขากับดินแดนแห่งเทพเจ้า 
    ร่วมร้อยปีมาแล้ว นับแต่บรรพบุรุษรุ่นแรก อพยพจากอินเดียมา ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ย่านถนนบ้านหม้อเป็นแห่งแรก และขยับขยายจนกระทั่งย่านพาหุรัดทั้งย่าน กลายเป็นอาณาจักรของชาวอินเดียทั้งสิกข์  และฮินดู แต่ในที่สุดปัจจุบันนี้ ร้านค้าของชาวจีนได้รุกคืบเข้ามา ชาวอินเดียได้ย้ายครอบครัวออกไปจากย่านนี้ จนเกือบหมดในช่วงหลายสิบปีหลัง ที่ยังปักหลักอยู่เป็นครอบครัวแทบจะนับรายได้ พาหุรัดกลายเป็นย่านที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ที่น่าสนใจที่สุดของกรุงเทพฯ แต่ถึงกระนั้นสภาพความเป็นอยู่แบบอินเดียแท้ ๆ ก็มิได้สูญหายไปไหน อย่างน้อยก็ยังคงดำรงอยู่ในตรอกแคบ ๆ แห่งนี้ 
(คลิกดูภาพใหญ่)
ีสัญลักษณ์แต้มสีแดง บนหน้าผาก ประกาศว่า สาวตาคมคนนี้มีคู่แล้ว
    ยิ่งเดินลึกเข้าไปก็ยิ่งพบว่า ที่นี่คือโฉมหน้าอันแท้จริงของอินเดีย ที่ไม่อาจผสมผสานให้เจือจางลงไปได้ ยังคงเป็นเหมือนเมื่อสองสามชั่วอายุคนที่ผ่านมา แม้ว่าสภาพโดยรอบจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใดก็ตาม 
    สุนันทาก้มลงมองส่าหรีที่ตัวเองห่มอยู่ เมื่อบอกว่าเธอเป็นคนรุ่นที่ ๒ พ่อแม่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทย เมื่อ ๖๐-๗๐ ปีก่อน เธอเกิดที่พาหุรัด เรียนหนังสือไทย พูดไทย แต่ยังคงความเป็นอินเดียไว้อย่างครบถ้วน ไม่เพียงรูปร่างหน้าตา หากแต่ทั้งการแต่งกาย ค่านิยม จารีตประเพณี 
    ตรอกเอทีเอ็ม เป็นชื่อที่ใช้เรียกย่าน "ลิตเติลอินเดีย" แหล่งพบปะของชาวอินเดียในประเทศไทย ที่หลงเหลือ ชื่อ เอทีเอ็ม มาจากชื่อห้างสรรพสินค้าเอทีเอ็ม ที่ตั้งอยู่ประชิดด้านปากตรอก ก่อนหน้าที่จะมีห้างนี้ ย่านนี้เรียกว่าประตูเหล็ก เป็นที่อาศัยของชาวอินเดีย ซึ่งยึดอาชีพค้าผ้า จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่คนไทยว่า แขกขายผ้าอยู่พาหุรัด
    ชาวอินเดียรุ่นแรก ๆ เดินทางเข้ามาลงหลักปักฐานในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ก็ใช้เวลานานชั่วรุ่นอายุคน กว่าจะก่อเกิดเป็นย่านพาหุรัด ที่มีบรรดานายห้างชาวสิกข์เป็นเจ้าของ ชุมชนที่เหนียวแน่นเกิดขึ้นต่อมา เมื่อมีการสร้างคุรุทวาร หรือ "วัดสิกข์" ขึ้น กระทั่งสงครามมหาเอเชียบูรพาอุบัติขึ้น โรงไฟฟ้าวัดเลียบที่ตั้งประชิดกับย่านชาวอินเดีย และสะพานพุทธฯ เป็นเป้าหมายสำคัญของเครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตร 
(คลิกดูภาพใหญ่)     "ระเบิดลงหลายครั้ง เกิดไฟไหม้เป็นพื้นที่กว้าง บ้านเรือนเสียหายหมด พวกเราที่อาศัยอยู่ละแวกนี้ ต้องอพยพไปหาที่อยู่ใหม่ กระจายออกไปตามชานกรุงเทพฯ เหลืออยู่แต่วัดสิกข์ที่ลูกระเบิดขนาด ๕๐๐ ปอนด์สองลูกตกใส่ แต่ระเบิดด้าน" คุณลุงบุญเลิศ กิตติบุญมา หรือ "ยักยัด ซิงห์ มันจันดา" วัย ๖๗ ปี เล่าความหลัง 
    รุ่นพ่อแม่ของลุงบุญเลิศเป็นชาวสิกข์รุ่นแรก ๆ ที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ในย่านพาหุรัด โดยยึดอาชีพขายผ้า เปิดชั้นล่างเป็นร้านค้าผ้า ชั้นบนเป็นที่พักอาศัย ลุงบุญเลิศเอง เกิดและเติบโตที่นี่ ภาพของวันวาน จนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวันนี้ จึงแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำ 
    ย่านพาหุรัดเมื่อร่วม ๗๐ ปีก่อนนั้น เป็นห้องแถวไม้เรียงรายไปตามถนนพาหุรัด ถัดไปด้านหลังถนนเป็นคุรุทวาร และบริเวณที่เรียกว่าประตูเหล็กใหญ่ และประตูเหล็กเล็ก 
    "เราเช่าเขาอยู่ เดือนละไม่กี่สตางค์ เจ้าของที่ดินคือเจ้าพระยารามฯ จำได้ว่าบ้านเลขที่ ๒๙๙ พอผมอายุสัก ๑๔-๑๕ ที่ตรงนี้ก็ขายให้ธนาคารกรุงเทพ เอามาจัดสรรขายพร้อมที่ดิน หลังละ ๓๓,๐๐๐ บาท พร้อมที่ดิน" ลุงเล่า 
    เจ้าพระยารามที่ถูกอ้างถึง คือเจ้าพระยารามราฆพ ต้นตระกูลพึ่งบุญ ณ อยุธยา เจ้าของที่ดินในละแวกพาหุรัดนั่นเอง 
(คลิกดูภาพใหญ่)     ถึงวันนี้ บริเวณที่เป็นประตูเหล็กใหญ่ ทางเข้าอยู่ทางด้านถนนจักรเพชร ได้สูญหายไปหมดแล้ว นายห้างชาวสิกข์ ชื่อโก เปาด์ ซิงห์ ได้สร้างห้างเอทีเอ็มให้เป็นศูนย์กลางการค้าผ้า ในลักษณะห้างแทนร้านรวง เมื่อปี ๒๕๓๔ ห้างแห่งนี้ขนาบด้วยตรอกเล็ก ๆ ด้านขวามือ อันเป็นทางเข้าคุรุทวาร ส่วนด้านซ้ายก็คือ ตรอกอินเดีย ศูนย์กลางของชาวอินเดียในประเทศไทยนั่นเอง 
    แสงแดดสายอาบไล้ยอดโดมทองของวัดสิกข์เป็นประกาย แม้จะอยู่ในแวดล้อมของตึกแถวเก่าแก่ และย่านการค้าที่ยุ่งเหยิง  แต่ก็ยังคงดูขรึมขลัง น่าศรัทธา สตรีในชุดส่าหรีสีสดใสกลุ่มใหญ่ เดินออกมาจากตัวอาคาร ทั้งกลุ่มดูอ่อนหวานในชุดผ้าบางเบา ที่มีทั้งชุดลายดอกไม้เล็ก ๆ ชุดผ้าลูกไม้ และผ้าไหมอย่างดี ที่ทิ้งตัวพลิ้วไปตามจังหวะการเคลื่อนไหว เสียงกำไลทองบนข้อมือ กระทบกันดังกรุ๋งกริ๋ง 
    สตรีสาวในชุดสีน้ำทะเลนวยนาดเข้ามาใกล้ เห็นกุหลาบเลื้อยดอกงาม เกี่ยวกระหวัดก้านใบ อวดลายวิจิตรอยู่บนต้นแขนสีน้ำผึ้งเรียวงาม ที่โผล่พ้นส่าหรีออกมา สตรีสาวผู้นี้ใช้เฮนน่าเขียนลายบนผิวหนัง เฉกเดียวกับที่สตรีอินเดียรุ่นก่อน ๆ นิยมกัน 
    "ผู้หญิงอินเดียรักสวยรักงามมาก การใช้เฮนน่าเขียนลายบนผิวหนังนี่ เราทำกันมาตั้งแต่รุ่นคุณทวดแล้ว มันเกิดขึ้นก่อนการสักลายถาวรบนเนื้อเสียอีก" สาวิตรี เจ้าของร้านอรุณ ร้านขายเครื่องประทินโฉมจากอินเดียร้านใหญ่ที่สุดในตรอก ว่าพลางกรีดเล็บที่ตกแต่งไว้อย่างบรรจงของเธอ เหมือนจะเป็นการอวดกลาย ๆ 
(คลิกดูภาพใหญ่)     เธอหยิบผงเฮนน่าทั้งที่บรรจุซอง และชนิดเป็นขวดออกมาให้ชม และอธิบายว่า เฮนน่าคือพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่สตรีอินเดียตั้งแต่บุร่ำบุราณรู้จักเป็นอย่างดี เธอเล่าว่าสมัยก่อนบรรดาผู้หญิงจะเก็บใบของพืชชนิดนี้ มาตากแห้ง ก่อนจะนำมาบดเป็นผงละเอียด เก็บใส่โถไว้ เวลาจะใช้ก็ผสมกับน้ำมันหอมหรือน้ำ ใช้ไม้ปลายแหลมจุมเฮนน่า แล้วมาวาดเป็นลวดลายต่าง ๆ อย่างวิจิตรบรรจงลงบนหลังมือ หลังเท้า หรือส่วนอื่น ๆ ที่โผล่พ้นส่าหรีออกมา 
    ในยุคแรก ๆ การเพนต์เฮนน่าจะทำเฉพาะเวลาที่มีงานมงคลหรือโอกาสพิเศษ เช่น งานแต่งงาน งานหมั้นเท่านั้น ก่อนที่จะค่อย ๆ พัฒนามาเป็นแฟชั่นบนผิวหนังของสตรีอินเดียในยุคต่อ ๆ มา 
    "มาสมัยนี้ถึงไม่มีฝีมือ วาดลายไม่เป็น แต่อยากสวยก็ทำได้" เจ้าของร้านเครื่องประทินผิวจากอินเดีย เอื้อมไปหยิบถุงมือยางบาง ๆ ที่วาดลวดลายสวยงามทั่วทั้งรูปมือมาให้ดู พร้อมกับขวด
    เฮนน่าชนิดน้ำ วิธีการใช้ก็แสนง่าย แค่เอามือใส่ลงไปในถุง แล้วป้ายเฮนน่าไปตามรูปมือ ก็จะได้ลายที่สลักเสลาอย่างสวยงาม 
    ทั้งถุงมือและเฮนน่าชนิดน้ำ กำลังเป็นที่นิยมในหมู่สาวไทยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นช่วงที่เทรนด์แฟชั่นแบบตะวันออกกำลังมาแรง ่ 
    "แต่ถ้าเป็นผู้หญิงอินเดีย แบบนี้เราไม่นิยม ต้องจุ่มแล้ววาดเอง ถึงจะภูมิใจ" เจ้าของร้านกรายมือ ที่สลักเสลาอย่างสวยงามให้ดูอีกครั้ง 

(คลิกดูภาพใหญ่)
นักเรียนตัวน้อย ของโรงเรียนศรีคุรุสิงห์สภา นอกจากเรียนหนังสือ ตามหลักสูตรปรกติ ของนักเรียนไทยแล้ว หนู ๆ พวกนี้ยังต้องเรียนรู้ภาษาฮินดู และวัฒนธรรม ของบรรพบุรุษด้วย 
    "วันนี้รับผักอะไรดีครับ"
    ทันยิต ฮาฮีร์ พ่อค้าผักแผงหัวมุม ส่งเสียงหวานทักทาย ภาษาไทยของพ่อค้าฮินดีวัย ๔๓ ชัดถ้อยชัดคำ แม้ว่ารูปร่างหน้าตากับจมูกโด่งเป็นสัน บ่งบอกความเป็นชาวอินเดียแท้ทุกกระเบียดนิ้ว 
    "ผมเป็นคนไทย เกิดที่ทุ่งพระโขนง ซอยอ่อนนุชนี่เอง"
    เขาเล่าถึงที่มาของตนเอง พลางชี้ไปที่กลุ่มหนุ่ม ๆ และคนรุ่นราวคราวเดียวกับเขา ที่เดินขวักไขว่อยู่ในตรอกว่า ส่วนใหญ่เกิดในเมืองไทยทั้งนั้น เพียงแต่มีเลือดอินเดียทั้งจากพ่อและแม่ 
    ทันยิตเล่าถึงเรื่องราวของตนเอง ขณะที่ตรงหน้า วิถีอินเดียกำลังดำเนินไปโดยที่ชีวิตแบบกรุงเทพฯ ไม่อาจกล้ำกลายเข้ามา เขาบอกว่าพ่อแม่ของเขาเป็นฮินดู มาจากเมืองยูปี ซึ่งเป็นเมืองทางตอนเหนือของอินเดีย ติดกับรัฐปัญจาบ หนีภัยสงคราม และความยากจนเข้ามาเมืองไทย ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เข้ามาอยู่ในซอยอ่อนนุช พระโขนง ซึ่งเคยเป็นทุ่งเลี้ยงวัวของชาวฮินดูเกือบทั้งหมด ต่อมาเมื่อมีคนอพยพเข้ามามากขึ้น บ้านเรือนหนาแน่นขึ้น คนไทยที่อยู่ในละแวกนั้น ก็ร้องเรียนว่าพวกแขกทำสกปรก รัฐบาลจึงกดดันให้ชาวฮินดู ย้ายออกจากบริเวณนั้น 
(คลิกดูภาพใหญ่)     "ก็ขายที่ขายทางกันหมด บางครอบครัวก็ย้ายกลับอินเดีย บ้างก็ย้ายไปอยู่สี่แยกบ้านแขก ย้ายไปท่าพระ บางคนก็ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดที่เป็นชุมชนของคนที่มาจากอินเดียด้วยกัน ส่วนครอบครัวผมย้ายไปอยู่คลองเตย" 
    แผงเล็ก ๆ ของทันยิตเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่ง ของสังคมชาวอินเดียในเมืองไทย ร้านของเขาคือแหล่งซื้อหาผักสด และเครื่องเทศที่มีลักษณะเฉพาะ สำหรับปรุงอาหารอินเดีย สินค้าบนแผงคล้ายกับร้านค้าอื่น ๆ ในย่านนั้น แต่ก็ไม่มีร้านค้าใด ๆ ในย่านอื่นของเมืองไทยที่จะมีสินค้าเหมือนของเขา เขาขายชาดีจากอินเดีย ชาประเภทนี้มีวางขายกันเกือบทุกร้านในตรอก เครื่องเทศร้อนประเภทพริกไทยดำ รากผักชี อบเชย พริกชี้ฟ้า กระชาย กระวาน โชฟ เครื่องเทศเหล่านี้คือ รสชาติของอินเดีย และที่ทุกร้านต้องมี และขาดไม่ได้เด็ดขาดก็คือ เครื่องเทศสำเร็จรูปที่เรียกว่า มาซาลา เป็นผงแกงสำเร็จรูปขายเป็นซอง 
    "อาหารอินเดียเกือบทุกอย่างต้องใส่มาซาลา สำคัญมาก ขาดไม่ได้ ถ้าไม่ใส่ก็เหมือนคนไทยแกงแล้วไม่ใส่เครื่องแกง หรือกะปิอย่างนั้นล่ะ" เขาย้ำ พลางชี้ไปที่ขมิ้น หอมแดง เครื่องเทศต่าง ๆ 
    "ของอย่างนี้ไปหาซื้อตามตลาดอื่นไม่ได้ ต้องมาที่นี่ถึงจะได้ครบ"
    และเป็นเพราะพลังขับเคลื่อนภายในชุมชนละแวกนี้ มาจากชาวสิกข์ และชาวสิกข์จำนวนมาก ที่ถือเคร่งจะเป็นมังสวิรัติ ในย่านนี้จึงเป็นย่านมังสวิรัติ ฉะนั้นจึงไม่แปลกอะไร ที่จะเห็นทุกร้านต้องขายถั่ว ทั้งถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง เนื่องจากใช้เป็นอาหารโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ นอกจากถั่ว ยังมีมะเขือเทศลูกโต มันฝรั่ง หอมใหญ่ หอมแดง หัวไชเท้า แตงร้านสด ๆ เรียงรายอยู่บนแผงขายกับข้าวเกือบทุกแผง 
    ถึงแม้ย่านพาหุรัดจะไม่ใช่บ้านของชาวอินเดียอีกต่อไปแล้ว แต่ที่นี่ก็ยังคงมีความสำคัญต่อชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ชาวสิกข์ที่มีฐานะย้ายออกไปอาศัยอยู่ย่านสี่แยกบ้านแขก ต้นถนนจรัญสนิทวงศ์ ซอยนานา ถนนสุขุมวิท พวกฮินดูอาจอยู่ไกลออกไป แต่จะต้องแวะเวียนมาที่นี่อย่างน้อยที่สุด สัปดาห์ละสองครั้ง 
(คลิกดูภาพใหญ่)
ใบปิดหนัง ของคู่พระนางยอดนิยม ที่กำลังสุดฮ็อตในอินเดีย ภาพยนตร์จากอินเดีย มักมีโปรแกรมเข้าฉาย ในโรงหนังเฉลิมกรุง ใกล้ย่านพาหุรัด วิถีเก่ากับวิถีใหม่ ของชาวภารตะ ไม่ได้ตกหล่น หายไปไหนบนแผ่นดินไทย 
    นอกจากยืนพูดคุยทักทายกันตามร้านค้าในตรอกแล้ว ร้านอาหารว่างก็เป็นที่แวะพัก พบปะพูดคุยกันจนเป็นธรรมเนียม มันยัต ซิงห์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังสบายอยู่กับชาแบบอินเดีย และ "ปูริ โชเลต์" ในแวดล้อมของคนที่มีรากเหง้าเดียวกัน ที่ทยอยเข้า ๆ ออก ๆ จนร้านสามคูหานี้แทบไม่มีที่จะยืน
    "เป็นอย่างนี้ทุกวัน คึกคักเป็นพิเศษในวันอาทิตย์ ที่จะพากันยกครอบครัวมา" มันยัต ซิงห์ เล่า 
    "ที่คุณเห็นโพกหัวนั้นเป็นแขกสิกข์ ส่วนใหญ่บรรพบุรุษมาจากรัฐปัญจาบ ภาษาที่คุณได้ยินเขาพูด เรียกภาษาปัญจาบี ส่วนพวกหนุ่ม ๆ ไม่โพกหัวกลุ่มที่นั่งอยู่มุมห้อง พวกนั้นเป็นฮินดู ใช้ภาษาฮินดี พวกนี้มักจะถูกเรียกว่า บาบู" 
    เป็นกิจวัตรประจำวันของนายห้างชาวสิกข์ ต้องมาสวดมนต์ในช่วงเช้าที่วัดสิกข์ ซึ่งมีอยู่เพียงแห่งเดียวในกรุงเทพฯ เมื่อเสร็จพิธีก็จะแวะดื่มชา กินของว่าง พบปะเพื่อนฝูง แลกเปลี่ยนข่าวสารกัน ก่อนจะแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพ 
    กลิ่นชาร้อนเข้มข้นด้วยนมหอมกรุ่น ลอยออกมาจากห้องครัวเล็ก ๆ ของร้านปัญจาบสวีท มองลอดเข้าไปข้างในนั้น ชาครูต บาสซาส พ่อครัวชาวอินเดีย กำลังตักนมใส่ลงในหม้อต้มมีด้าม ที่เขลอะไปด้วยคราบชา เร่งไฟจนนมเดือดพล่าน ตักชาผงจากดาร์จีลิงลงไป กลิ่นหอมกระจายไปทั่วครัว ชาครูตยกหม้อชาขึ้นเทผ่านเครื่องกรองกาก น้ำชาไหลลงไปในแก้วสเตนเลสทรงสูง เขาหยิบขวดพริกไทยดำเหยาะลงไป ก่อนที่ลูกจ้างชาวไทยอีสานจะยกออกไปเสิร์ฟ 
(คลิกดูภาพใหญ่)
หนุ่มฮินดู ที่ใช้ตรอกลิตเทิลอินเดีย เป็นจุดนัดพบเพื่อนฝูง และจับจ่ายซื้อของ ที่มีลักษณะเฉพาะ ตามรสนิยม อาทิตย์ละสองสามครั้ง
    "ปูริ โชเลต์ สอง ซัมมะโร วารา หนึ่ง" ดีปา ภรรยาเจ้าของร้านปัญจาบสวีตในชุดส่าหรีสีแดงเลือดนก เดินเข้ามาสั่งอาหารในครัว เธอยิ้มแย้มอย่างเป็นมิตรกับคนแปลกหน้าที่เข้ามาเกะกะอยู่ในครัว ชาครูตหันไปหยิบแป้งก้อนกลม ๆ คล้ายแป้งโรตีที่หมักไว้มานวดอีกครั้ง คลี่ออกให้เป็นแผ่น ก่อนจะหย่อนลงไปในกระทะน้ำมันร้อนจัด แป้งก้อนนั้นฟูขยายขึ้นมา เกือบเท่าถาดใบย่อม ๆ เป็นสีเหลืองทอง เกรียมกรอบน่ากิน 
    "อันนี้เรียก ปูริ เป็นแป้งสาลีผสมกับแป้งข้าวเจ้า" ดีปาบอก พลางมือก็หยิบเจ้าแป้งทอดที่ว่าใส่ถาด จากนั้นเปิดฝาหม้อสีขาวใบใหญ่ ใช้ทัพพีคนแกงในหม้อแล้วตักแกงราดลงบนปูริ กลิ่นเครื่องเทศโชยกรุ่นขึ้นมา ขยับเข้าไปดูใกล้ ๆ เห็นถั่วลิสงเม็ดใหญ่ ๆ ผสมกับมันฝรั่งที่ต้มจนเละ สีสันคล้ายแกงพะแนง ซึ่งดีปาบอกว่า มาจากสีของเครื่องเทศสำเร็จรูปของอินเดีย ที่เรียกว่า มาซาลา 
    "คนอินเดียเรียกแกงโชเลต์ คนไทยเรียกแกงถั่ว นี่เป็นอาหารหลักของคนอินเดียเลย กินกับ โรตี ปูริ กินกับข้าว หรือวาราก็ได้" ว่าแล้วก็หันไปหยิบ "วารา" ที่ทำจากแป้งถั่วเหลือง ปั้นเป็นแผ่นกลม ๆ มีรูตรงกลางเหมือนขนมโดนัท ใส่ลงไปในชามใบย่อม ตัก "ซัมมะโร" หรือแกงผสม ที่มีทั้งถั่ว มันฝรั่ง มะเขือเทศ บดเละ ๆ ผสมกับเครื่องเทศราดลงไปบนวารา เป็นอันว่า ซัมมะโร วารา ที่ลูกค้าสั่งก็พร้อมเสิร์ฟ 
(คลิกดูภาพใหญ่)
สาวไทยเชื้อสายอินเดีย ที่ยังคงภารตวิถี ไว้ในชีวิตของเธอ อย่างครบถ้วน ด้วยชุดส่าหรีไหม พิมพ์ดอกไม้อ่อนหวาน กับลวดลายเฮนน่าเล็ก ๆ บนข้อมือ
    ไม่เพียงแต่อาหารคาว อันเป็นมื้อที่ชาวอินเดียรับประทานกันทั่วไป ร้านของดีปายังมีขนมหวานแบบอินเดียหลากชนิด ทำจากแป้ง นม เนย ละลานตาด้วยสีสันเรียงรายในถาดเงินเต็มตู้กระจก หน้าขนมสีขาวนวลแต้มด้วยสีเงิน สีทอง เครื่องเทศ ผลไม้ แม้กระทั่งดอกไม้ 
    "กุหลาบยะมุน" ขนมชื่อสวย ทำจากแป้งสาลี น้ำตาล ผสมน้ำกุหลาบ ปั้นเป็นก้อนกลมสีน้ำผึ้ง รสชาติหวานหอม ลูกค้าชอบสั่งไปกินกับน้ำชา แต่สำหรับลิ้นคนไทย คงไม่มีอะไรเทียบได้กับ "ราสมาลัย" ขนมนมกับแป้งสีขาวนวล แช่มาในนมปรุงรส รสของมันช่างหอม หวานละมุน ไม่น่าแปลกใจอะไรเลย ถ้าสตรีชาวอินเดียจะมีรูปร่างท้วมไปสักนิด เมื่อล่วงเข้าวัยกลางคน ก็ในเมื่อลิ้มรสแต่ของว่างที่หวานหอมเช่นนี้
    สายมากแล้ว บรรดานายห้างทยอยกลับไปประกอบธุรกิจ แต่ตรอก "ลิตเทิลอินเดีย" ยังคงคึกคัก พวกหนึ่งไป พวกหนึ่งก็เปลี่ยนเวียนเข้ามาแทน บรรดาบาบูหนุ่ม ๆ จับกลุ่มกันตามหัวมุมตรอก บ้างก็ยืนพิงฝาผนังร้านรวงแถวนั้น ส่งภาษากันอย่างออกรสออกชาติ เสียงพูดคุยเป็นภาษาปัญจาบี และภาษาฮินดี ผสานกับกลิ่นอายที่มีลักษณะเฉพาะ ครอบคลุมไปทั่วบริเวณ 
    "อย่างน้อยอาทิตย์หนึ่งต้องมาสองถึงสามครั้ง มาที่นี่สะดวกสบาย เป็นเหมือนจุดนัดพบ อย่างน้อยต้องเจอเพื่อน มาหาซื้อของ ถ้าไปซื้อตามตลาด มันก็มีแต่ผัก พวกเครื่องเทศ หรือบางอย่างมันก็ไม่มี" บาบูวัย ๓๕ กับเพื่อนสองคน บอกถึงเหตุผลที่เขาต้องเดินทางจากที่พัก ย่านบางบอนมาตรอกนี้ทุกอาทิตย์ 
(คลิกดูภาพใหญ่)     นอกจากมาจับจ่าย พูดคุยธุรกิจแล้ว หลายคนมาที่นี่ทุกวัน พบเจอจนคุ้นหน้า หลายคนเป็นนายห้างปล่อยเงินกู้ หลังจากตระเวนเก็บดอกเบี้ยรายวันแล้ว ไม่มีที่ไปก็ต้องแวะมานั่งพักที่นี่เสียก่อน 
    นอกจากร้านของหวาน เช่น ปันจาบสวีท แล้ว ร้านขายหมากก็เป็นอีกจุด ที่ชาวอินเดียโดยเฉพาะบรรดาบาบู จะต้องแวะ โต๊ะเล็ก ๆ ขายหมากที่จัดวางเป็นคำ ๆ มีร่วมสิบร้านในตรอกเล็ก ๆ นี้ 
    บนโต๊ะสี่เหลี่ยม กันช่า ลามา กำลังซอยหมากละเอียดกองไว้มุมหนึ่ง พลูใบใหญ่สีเขียวอ่อน แช่น้ำไว้อีกมุมหนึ่ง โต๊ะหมากของเขามีรายละเอียดมากกว่า เชี่ยนหมากของคุณยายที่คนไทยคุ้นเคย 
    กระปุกทรงกลมสีขาวเล็ก ๆ มีอักษรอินเดียกำกับไว้ควบคู่กับภาษาอังกฤษว่า "Chaman Bahar" กันช่าเทผงละเอียดสีน้ำตาลในกระปุกนั้นออกมาให้ลองแตะปลายลิ้น รสของมันหวานปะแล่ม หอมติดจมูก เขาอธิบายว่ามันเป็นผงไม้จันทน์ผสมกับสมุนไพร ช่วยให้ปากหอมสดชื่น 
    นอกจาก "ชามัน บาฮาร์" แล้ว เครื่องประกอบหมาก ยังมีมะพร้าวขูดใส่น้ำกุหลาบสีแดงเยิ้ม รสหวาน กับเม็ดอบเชย ยี่หร่า กานพลู โชฟ เม็ดสีเขียวเท่าเมล็ดข้าวรสชาติเผ็ดร้อน สีเสียดผง ปูนขาว ปูนแดง ของพวกนี้กันช่าหาซื้อได้จากร้านค้าในตรอกนั่นเอง โดยมีเจ้าของร้านค้าส่ง เป็นผู้สั่งตรงมาจากอินเดีย 
    "กินแล้วปากหอมดี" เจ้าของโต๊ะหมากว่า 
(คลิกดูภาพใหญ่)     เมื่อถามว่า ทำไมคนละแวกนี้จึงชอบกินหมาก เขาห่อพลูเป็นรูปสามเหลี่ยม และใช้ก้านกานพลูกลัดติดกันไว้ยื่นส่งมาให้ หมากคำละ ๓ บาทของเขามีลูกค้าทั้งคนหนุ่มคนแก่ ซื้อเคี้ยวกันเพลินเหมือนเป็นของกินเล่น บางครั้งก็มีคนทรงเจ้าชาวไทย มาสั่งไปบูชาเทพครั้งละ ๒๐ คำ 
    สำหรับกันช่า เขาแตกต่างไปจากคนอื่นในละแวกนี้เพราะไม่ใช่ชาวอินเดีย แต่เป็นชาวทิเบตที่อพยพผ่านเนปาลไปอยู่ในอินเดีย ในที่สุดก็อพยพมาอยู่ในเมืองไทยพร้อมกับญาติ เมื่อร่วม ๔๐ ปีก่อน แต่ไม่ว่าอย่างไร เขาก็เป็นส่วนผสมที่กลมกลืนในตรอกแห่งนี้ กันช่าเล่าว่า ตลอดเวลากว่า ๓๐ ปี ไม่เคยออกไปไหนไกลเกินจากที่นี่
    นอกจากร้านขายผัก เครื่องเทศ ที่มีอยู่มากที่สุดแล้ว สินค้าเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ก็หาซื้อได้เช่นกัน น้ำมันบำรุงผมและหนวด เครื่องประทินผิว เครื่องประดับ เทวรูปทองเหลือง ที่วางระเกะระกะ รวมไปถึงส่าหรีสีแดงชาด ซึ่งอย่างหลังนี้มีไว้เพื่อจำหน่ายให้แก่ คนทรงเจ้าชาวไทยมากกว่า ส่วนสตรีเชื้อสายอินเดียแท้ ๆ นั้น มักเลือกผ้าเนื้อดีที่สั่งตรงมาจากอินเดีย ซึ่งมีอยู่สามสี่เจ้าในตรอกนั้น มาตัดห่มมากกว่าจะซื้อเป็นชุดสำเร็จ

      "ใส่แล้วผมดกดำ เป็นเงางาม ป้องกันหงอก" เจ้าของร้านอธิบายอย่างใจดี ถึงเจ้าน้ำมันในกล่องพิมพ์ลาย คล้ายกับยาสตรียี่ห้อหนึ่งในบ้านเรา ผิดกันแต่เพียงรูปหน้าสตรีในขวดยา กลายเป็นใบหน้าเฟิ้มหนวดของชาวภารตะ 
    เกศา คือสัญลักษณ์ประการแรกในห้าประการของชาวสิกข์ นั่นคือ ไม่ตัดหรือโกนผมหรือหนวดเด็ดขาด แต่จะต้องบำรุงรักษาให้สะอาดสมบูรณ์ ฉะนั้นเครื่องประทิน และบำรุงผมและหนวด จึงเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ที่ต้องซื้อหากันประจำ เช่นเดียวกับกำยานและเครื่องเทศ และวิถีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างมั่นคง ในชุมชนที่เหลือเพียงตรอกแคบ ไม่ต้องมีสิ่งปลูกสร้างใหญ่โต เพื่อบ่งบอกถึงอารยธรรมอันรุ่งเรืองเก่าแก่ หากแต่เพียงวิถีชีวิตปรกติที่ดำเนินไป ก็บอกได้ถึงความมั่งคั่ง สมบูรณ์พูนสุขแห่งอารยธรรม ที่สืบทอดกันมาเนิ่นนานอย่างมั่นคง แม้แต่บนแผ่นดินที่ห่างไกลจากแหล่งกำเนิดไกลแสนไกล 
    เสียงดนตรีเนิบช้าดังมาจากที่ใดที่หนึ่งในตรอกเล็ก ๆ แห่งนี้ เย็นย่ำแล้ว บรรยากาศที่คึกคักมาตลอดทั้งวัน เริ่มซึมเซาลง พ่อค้าบาเยียปากตรอก หย่อนแป้งขนมชุดสุดท้ายลงกระทะ กลิ่นน้ำมันผสมเครื่องเทศอบอวลไปกับอากาศร้อนอ้าว คละเคล้ากับกลิ่นแปลก ๆ ของกำยานและน้ำมันหอม กลายเป็นกลิ่นพิเศษบางอย่าง 
    ...กลิ่นพิเศษ อันหมายถึงความเป็นไปของชีวิต ที่ยังคงอวลอยู่ ไม่ใช่เพียงเวลาที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อร่วมร้อยปีก่อนที่นี่ หากแต่หมายถึงหลายพันปีก่อนหน้านั้น 

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
ท้าทายความเชื่อเรื่อง "เจดีย์ยุทธหัตถี"
"โพล" (การเมือง) : เครื่องมืออันตราย ?
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | สงครามส้วม | โรงเรียนกาแฟ | ทอมัส ฮอบส์ ผู้ค้นคิดทฤษฎีสัญญาประชาคม | ลิตเทิลอินเดีย กำยาน มาซาลา และภารตวิถีในตรอกพาหุรัด | เจ็ดวันในอาร์เจนไทน์ปาตาโกเนีย | โอลิมปิกสีเขียว แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมจาก Sydney 2000 | คำพูดและความเงียบใน ฟ้าบ่กั้น | เมื่อคนสองคนรักกัน ที่อินโดนีเซีย | ซองคำถาม | เฮโลสาระพา

Little India | Seven Days in Argentine Patagonia | Nature's Secret Treasures
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail