กลับไปหน้า สารบัญ
ลู ก คิ ด กั บ ค อ ม พิ ว เ ต อ ร์
วันชัย ตัน / ภาพประกอบ : DIN-HIN
    ๑๒ หาร ๓ เป็นเท่าไร เชื่อว่าหลายคนคงคิดในใจหาคำตอบได้
    แต่ ๙๙๒.๕๘๗๓๑๘ หาร ๕,๖๔๗.๗๒๓ คำตอบคืออะไร ? 
ลูกคิดกับคอมพิวเตอร์
   ในการแข่งขันประลองความเป็นหนึ่ง ของเซียนจินตคณิต ในประเทศญี่ปุ่น ฮิโรเอกิ ทะซูชิยา ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที หาคำตอบได้เป็นคนแรก โดยไม่ใช้เครื่องคิดเลขใด ๆ 
   คำตอบคือ ๐.๑๗๕๗๕๐๐๐๐๑๓๒๗๙๖๘๘๑๑๕๐๑๕๕๕๕๘๒๖๖๕๘ 
   เปล่าครับ สมองของเด็กชายทะซูชิยา วัย ๑๓ ปี ไม่ได้มีชิปคอมพิวเตอร์ช่วยคิดเลข แต่เขาใช้ลูกคิดช่วยในการคำนวณ เหมือนกับพ่อค้าในอดีต และที่น่าสนใจก็คือ ทะซูชิยาไม่ได้ใช้นิ้วมือดีดลูกคิด คำนวณตัวเลขจริง ๆ แต่คำนวณโดยการสร้างภาพรางลูกคิดขึ้นในใจ  ซึ่งวิธีนี้คนในเอเชียหลายชนชาติ ใช้กันมานานหลายศตวรรษแล้ว
   จินตคณิตคือเทคนิคการพัฒนาสติปัญญา เสริมสร้างสมาธิ เพื่อดึงอัจฉริยภาพในตัวเด็กออกมาให้ปรากฏ โดยใช้ลูกคิดเป็นสื่อสำคัญในการฝึก ซึ่งเมื่อฝึกถึงขั้นสูง เด็กจะมีจินตภาพ สามารถสร้างภาพลูกคิดขึ้นในใจ เพื่อช่วยในการคิดเลขได้เอง ครูสอนจินตคณิตกล่าวว่า คนส่วนใหญ่สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญจินตคณิตได้ หากเริ่มฝึกตั้งแต่ยังเด็ก แต่จะต้องใช้เวลาในการฝึกฝนนาน ทั้งยังต้องควบคุมจิตใจ และทุ่มเทพลังสมาธิอย่างมหาศาล
     "ถ้าสติคุณไม่อยู่กับตัวเมื่อไหร่ คุณก็แพ้เมื่อนั้น" ทะซูชิยา ผู้ครองแชมป์การแข่งขันจินตคณิตแห่งเกียวโตรายล่าสุด และมีอายุน้อยที่สุด กล่าว
   ลูกคิดเป็นเครื่องคำนวณเลขของจีน แพร่เข้ามาในญี่ปุ่นช่วงคริสตศตวรรษที่ ๑๕๐๐ การใช้ลูกคิดเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด ในการคำนวณตัวเลขจำนวนมาก อุปกรณ์รูปทรงสี่เหลี่ยมทำด้วยไม้นี้ มีลูกกลมขนาดใหญ่หลายตัว ทำหน้าที่เป็นตัวนับ โดยการใช้นิ้วมือเขี่ยให้เลื่อนไปมาบนแกนเหล็ก เพื่อหาคำตอบทั้งบวก ลบ คูณ หาร หรือแม้กระทั่งถอดรากที่สาม แต่ไม่นานนัก ปรมาจารย์ลูกคิดทั้งหลายต่างเห็นพ้องว่า การคำนวณโดยใช้จินตภาพว่ามีลูกคิดนั้น สามารถคิดเลขได้ง่ายกว่ามาก และคนที่เป็นเซียนจินตคณิต ก็สามารถคำนวณได้เร็วกว่าแคชเชียร์ ที่ใช้เครื่องคิดเลขด้วยซ้ำ
   โคจิ ซูซูกิ ครูสอนจินตคณิตในโตเกียว แง้มเทคนิคสั้น ๆ ว่า "แทนที่เราจะคิดถึงตัวเลข ๑ ก็ให้จินตนาการถึงผลแอ๊ปเปิ้ลหนึ่งใบในกระเป๋าเสื้อคุณแทน ซึ่งมันมีรูปทรง และจับต้องได้ ในการคำนวณแบบจินตคณิต เราพยายามจะมองให้เห็นภาพลูกคิดเหล่านั้น" 
   อาการของเด็ก ขณะที่กำลังแก้ปัญหาตัวเลขในการแข่งขันจินตคณิต จะต่างกันไป บางคนทำท่าขยับนิ้วไปมาบนลูกคิดล่องหน ที่อยู่บนโต๊ะ บางคนโยกตัวอยู่บนเก้าอี้ และเคลื่อนไหวเหมือนคนไร้สติ ตามจังหวะการดีดลูกคิดในจินตนาการ ดูไปคล้ายๆ ผีลูกคิดเข้าสิง
   บรรดาครูจินตคณิตกล่าวว่า การเล่นกายกรรมสมองแบบนี้ ไม่ได้ช่วยแค่การประหยัดเงินซื้อแบตเตอรี่เครื่องคิดเลข แต่ยังให้ประโยชน์ด้านอื่นด้วย
   "คุณต้องคำนวณอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ถ้าคุณเอาแต่กดเครื่องคิดเลขอยู่ตลอดเวลา สมองของคุณก็จะเฉื่อยลงเรื่อย ๆ" อาจารย์อีกคนกล่าว
   เด็กนักเรียนที่เก่งจินตคณิตยืนยันว่ามันไม่เพียงช่วยให้พวกเขาเก่งวิชาคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่ช่วยให้พวกเขาเรียนวิชาอื่นได้ดีขึ้นด้วย 
     คิมิโกะ คาวาโน นักวิทยาศาสตร์แห่งโรงเรียนแพทย์นิปปอน ซึ่งวิเคราะห์การทำงานของสมอง ในหมู่เซียนจินตคณิต ให้ข้อมูลว่าการฝึกฝนทักษะแบบนี้ ไม่มีผลในการเร่งรัด หรือพัฒนาการเจริญเติบโตของสมอง แต่เทคนิคการใช้สมาธิ และจินตภาพซึ่งจำเป็นสำหรับจินตคณิต จะช่วยบริหารสมองส่วนขวา ซึ่งควบคุมด้านจิตใจ อารมณ์ มากกว่าสมองส่วนซ้าย ที่ทำงานด้านการวิเคราะห์ หรือการคำนวณขึ้นพื้นฐาน การบริหารสมองส่วนขวา จะเป็นประโยชน์ในสถานการณ์ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของคณิตศาสตร์ คือจะช่วยให้คนที่เรียนจินตคณิต สามารถเรียนรู้เรื่องอื่น ๆได้เร็วกว่าคนที่ไม่ได้เรียน
    แต่ปัจจุบัน เด็กญี่ปุ่นก็เหมือนเด็กเอเชียส่วนใหญ่ คือเลิกใช้ลูกคิดแล้ว ทั้งยังใช้วิธีคำนวณในหัวสมองน้อยลง เวลาคิดเลขก็จิ้มไปที่เครื่องคิดเลข หรือเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างเดียว 
    มิน่าเล่า สมองของเด็กรุ่นใหม่ จึงเหมือนคอมพิวเตอร์ คิดเองไม่ค่อยเป็น
    สงสัยเด็กรุ่นใหม่ต้องหันไปหาลูกคิด เพื่อฝึกให้สมองมีจินตนาการมั่งแล้ว