กลับไปหน้า สารบัญ
คอนราด วาคสมานน์
กับบ้านชนบทของไอน์สไตน์
ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์
    เป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. ๑๙๒๙ ที่มีข่าวว่ารัฐบาลเยอรมัน ตัดสินใจจะสร้างบ้านชนบทให้แก่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เนื่องในโอกาสที่นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลผู้นี้ มีอายุครบ ๕๐ ปี เป็นที่แน่นอนว่าสถาปนิกชาวเยอรมันทั้งหลาย ที่มีสำนักงานออกแบบอยู่ในเบอร์ลิน ย่อมต้องสนใจที่จะได้แสดงฝีมือในการออกแบบบ้านหลังนี้ เพราะมันย่อมทำให้งานอื่น ๆ ไหลมาเทมาเป็นแน่ ไม่ว่าจะเป็น วอลเตอร์ โกรเปียส หนึ่งในผู้ก่อตั้งสถาบันบาวเฮาส์ สำนักศึกษาวิชาออกแบบ ที่พยายามผนวกศิลปะ กับการผลิตแบบอุตสาหกรรมเข้าไว้ด้วยกันเป็นแห่งแรก มีส วาน เดอโรห์ กับหลักการว่าด้วยที่ว่างกับโครงสร้างต้องเป็นเนื้อหาเดียว ซึ่งเป็นหนึ่งในสดมภ์หลัก ของพวกสมัยใหม่นิยม (modernism) นอกจากนี้ก็ยังมีสถาปนิกเยอรมันอีกหลายท่าน รวมทั้งมีข่าวว่าเลอ คอร์บูซิเอร์ กับไอเดียเลอเลิศของเขาก็ถึงกับอาจจะข้ามมาจากปารีส เพื่อมารับโครงการออกแบบบ้าน สำหรับบุคคลผู้ซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดในศตวรรษที่ ๒๐ เลยทีเดียว
คลิกดูภาพใหญ่
คอนราด วาคส์มานน์ กับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่บ้านชนบทในปี ค.ศ. ๑๙๒๙
    สุดท้ายแล้วโครงการออกแบบบ้านนี้ กลับไปอยู่ในความรับผิดชอบของ คอนราด วาคส์มานน์ (Konrad Wachsmann) สถาปนิกซึ่งแม้จะมีชื่อเสียงอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่มีแม้แต่สำนักงานออกแบบของตัวเอง ไม่ต้องพูดว่ายังเทียบกับครูช่างสถาปัตยกรรมทั้งสาม ที่กล่าวนามมาแล้วไม่ได้ บ้านหลังนี้ถูกออกแบบ และสร้างเสร็จเรียบร้อยในเวลาไม่นานนัก และเมื่อเข้าไปอาศัยอยู่จริง ๆ แล้ว ไอน์สไตน์ก็เป็นปลื้มกับบ้านหลังนี้มาก น่าสนใจว่าบ้านลักษณะใด ที่สามารถทำให้นักฟิสิกส์เอกคนนี้มีความสุข และสถาปนิกแบบไหน ที่ออกแบบบ้านลักษณะนี้ออกมาได้ 
    วาคส์มานน์เกิดเมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๑ ที่ประเทศเยอรมนี ในครอบครัวเภสัชกรชาวยิว การเสียชีวิตของบิดาตั้งแต่วาคส์มานน์ยังมีอายุเยาว์ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นเด็กมีปม หรือจะเรียกว่าเป็นเด็กมีปัญหาก็ได้ เขาเรียนตกซ้ำชั้นอยู่เนือง ๆ จนกระทั่งทำให้ต้องเปลี่ยนความฝันสมัยยังเยาว์ว่า จะเป็นสถาปนิก กลายไปเป็นลูกศิษย์ของช่างไม้ทำโลงศพ สำหรับทหารเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ตอนอายุได้ ๑๗ ปี
    แม้ว่าในเวลาต่อมาวาคส์มานน์ จะสนใจศึกษาในโรงเรียนบาวเฮาส์ แต่ทางบ้านก็ไม่เห็นด้วยกับหลักสูตรแบบหัวก้าวหน้า ของโรงเรียนนี้ ก็เลยผลักดันให้เขาไปเรียนต่อที่ School of Art and Crafts ที่เบอร์ลิน เมืองที่ช่างไม้หนุ่มน้อยได้ค้นพบตัวเองเป็นครั้งแรก แต่ไม่ใช่ที่โรงเรียน กลับเป็นที่คาเฟ่ชื่อ Romanische และชีวิตกลางคืนของเมืองนั้น วาคส์มานน์เรียกคาเฟ่นี้ว่าเป็น "มหาวิทยาลัย" ที่สำคัญที่สุดในชีวิต เพราะที่นี่เขาได้พบกับนักเขียน ศิลปิน สถาปนิก นักคิดที่นับว่าเป็นแนวหน้า ของพวกหัวปฏิวัติในขณะนั้น ซึ่งก็รวมถึงพวกดาดา แต่ทางบ้านก็รู้ข่าวคราวนี้ในเวลาไม่นานนัก  และบังคับให้เขาย้ายไปอยู่ที่เมืองเดรสเดน หลังจากที่อยู่เบอร์ลินได้เพียงปีเดียว ที่เดรสเดน วาคส์มานน์เริ่มต้นการเรียนรู้อีกครั้งหนึ่ง ในรูปแบบของการทำงานกับสถาปนิก ที่มีชื่อเสียงของเยอรมนียุคนั้น คือ ไฮน์ริค เทสส์นาว (Heinrich Tessenow) 
คลิกดูภาพใหญ่
รูปตัดชั้นหนึ่ง และชั้นสองของบ้านชนบท เป็นลักษณะรายละเอียด โครงสร้างไม้ ที่วาคส์มานน์ถนัด 
    วาคส์มานน์ทนอยู่กับเทสส์นาวได้ไม่นานตามเคย ทั้งนี้เพราะแนวทางการใช้วัสดุของสถาปนิกผู้นี้ เป็นการยอมรับการใช้ไม้ ในแบบประเพณี คือยอมรับในเทคนิคแบบที่สืบทอดกันมา ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัด ในด้านรูปทรงของสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมาก ในขณะที่วาคส์มานน์เองนั้น เริ่มเห็นแนวทางที่จะปฏิวัติ เกี่ยวกับการใช้วัสดุในงานออกแบบสถาปัตยกรรมแล้ว อย่างไรก็ดีก่อนจะจากกัน เขาได้เอกสารจากสถาปนิกผู้นี้ ซึ่งช่วยให้เขาได้ไปทำงานในสำนักงานสถาปนิกผู้หนึ่งในเบอร์ลิน
    วาคส์มานน์เล่าตอนหลังว่า ที่สำนักงานนี้เขาได้ทำหน้าที่ "หัวหน้าแผนกเหลาดินสอ" แม้ว่าจะฟังแล้ว ชวนให้รู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ขมขื่น แต่เขาบอกว่าการทำงานนี้ ทำให้พัฒนาตัวเอง ในด้านเทคนิคการเขียนแบบจนสมบูรณ์ เพราะงานที่รับผิดชอบ จะต้องวนเวียนอยู่กับความแตกต่างของเส้นดินสอ 6B กับ 6H เป็นที่แน่ชัดว่า วาคส์มานน์ได้หนึ่งในประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตสถาปนิกของเขา ซึ่งก็คือสำนึกอันเฉียบคมของงานออกแบบ อันกลายมาเป็นฐานในการทำงานจนตลอดชีวิต
    วาคส์มานน์เปลี่ยนสำนักงานอีกครั้ง ไปอยู่กับ ฮันส์ โปลซิก (Hans Poelzig) ด้วยความที่โปลซิกเองก็เป็นคนกว้างขวาง จึงเป็นโอกาสให้สถาปนิกหนุ่ม ได้พบกับบรรดาผู้นำในวงการศิลปะ- ออกแบบทั้งหลายของเยอรมนี ไม่ว่าจะเป็น ปีเตอร์ เบอร์เรน, วอลเตอร์ โกรเปียส, มีส วาน เดอโรห์ และเมื่อเดินทางไปชมนิทรรศการของบาวเฮาส์ครั้งแรก ที่ไวมาร์ วาคส์มานน์ ก็มีโอกาสได้พบกับ ซิกฟรีด กีเดียน (Sigfried Giedion) นักวิชาการ/นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ผู้ซึ่งต่อมาจะเขียนหนังสือโปรโมต กลุ่มสมัยใหม่นิยมอันเลื่องชื่อคือ ที่ว่าง เวลา และสถาปัตยกรรม (Space Time and Architecture) ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การได้พบปะกับบรรดาจอมยุทธ์ทั้งหลาย ได้ช่วยฝนความคิดของเขาจนแหลมคม เช่นเดียวกับที่เขาเองก็เคยฝนดินสอเขียนแบบมาแล้ว
คลิกดูภาพใหญ่
บ้านชนบทของไอนสไตน์ ที่เมืองคาปุท กับบรรยากาศสบาย ภายใต้แสงแดด ที่ไอน์สไตน์ และภรรยาปรารถนา
    วาคส์มานน์เล่าความทรงจำช่วงนี้ว่า ความสนใจของเขาไปอยู่ที่ความคิด ในการปฏิบัติการให้สถาปัตยกรรม กลายเป็นระบบภายใต้มาตรฐานแบบอุตสาหกรรม เพื่อผลิตองค์ประกอบของงานสถาปัตยกรรมทีละเป็นจำนวนมาก มากกว่าจะเป็นแนวสถาปัตยกรรม- ศิลปะแบบโปลซิก ที่ผลิตงานทีละชิ้นแบบศิลปะ ดังนั้นวาคส์มานน์จึงออกเดินทางอีกครั้ง การเดินทางแสวงโชค เพื่อค้นหาตัวเองครั้งนี้ ไกลไปถึงสำนักงานสถาปนิกคนหนึ่งในฮอลแลนด์ ตามมาด้วยการไปของานทำ ที่สำนักงานของ เลอ คอร์บูซิเอร์ ที่ปารีส ซึ่งแม้ทั้งสองสำนักงานจะยินดีต้อนรับ แต่ภายใต้เงื่อนไขว่า ทำงานฟรีไม่มีเงินเดือน วาคส์มานน์ผู้กระเป๋าแห้ง และหิวโหยจึงต้องเดินทางกลับเบอร์ลิน โดยเงินค่าตั๋วรถไฟที่น้องสาวส่งมาให้ 
    ด้วยความช่วยเหลือของโปลซิกอีกครั้ง วาคส์มานน์ได้เดินทางไปทำงานในโรงงานไม้ ที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปตอนนั้นคือ Christoph & Unmack ที่เมืองเนียสกี้ (Niesky) เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องจักร เทคโนโลยี การก่อสร้างอาคาร และศักยภาพของการผลิตแบบมวล ของระบบอุตสาหกรรมที่สนใจมานาน เมื่ออยู่ถูกที่ถูกเวลาเช่นนี้ วาคส์มานน์ก็ได้แสดงความสามารถออกมาให้ประจักษ์ การค้นคว้าอย่างไม่สิ้นสุด ความคิดสร้างสรรค์ในเชิงวิศวกรรม และการใช้ไม้อย่างชาญฉลาด ส่งผลให้เขากลายเป็นหัวหน้าสถาปนิก ของโรงงานไปอย่างรวดเร็ว และนับจากนั้นเป็นต้นมา ผลงานของวาคส์มานน์ในแนวทางของการผลิตไม้จากโรงงาน มีทัศนคติแบบสมัยใหม่อันเรียบง่าย กลายเป็นผลงานก่อสร้างจำนวนมหาศาล ทั้งบ้าน โรงแรม สะพาน และสถานีรถไฟ
 คลิกดูภาพใหญ่
บันไดทางขึ้นนอกบ้าน สู่ระเบียงที่คลุมพื้นที่บางส่วน ของชั้นล่างไว้ 
    และก็เป็นความสดใสของฤดูใบไม้ผลิในปี ๑๙๒๙ ที่ทำให้วาคส์มานน์ ได้อ่านช่องโฆษณาเล็ก ๆ ในหนังสือพิมพ์ว่า เมืองเบอร์ลินจะสร้างบ้านชนบทให้ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ณ ที่ดินที่เมืองคาปุท (caputh) ที่น่าตื่นเต้นก็คือ ในข่าวมีข้อความสั้น ๆ ระบุว่า ไอน์สไตน์ต้องการบ้านไม้ นั่นเป็นเหตุให้หัวหน้าสถาปนิกแห่งโรงงาน Christoph & Unmack เดินทางไปเบอร์ลินทันที 
    อัลเบิร์ตไม่ได้ออกมาพบสถาปนิกหนุ่มด้วยตัวเอง หากแต่เป็นเอลซ่าผู้ภรรยา ที่ออกมาต้อนรับ และเป็นผู้สรุปความคิดเกี่ยวกับบ้านในฝันของสามี ให้สถาปนิกผู้นี้ฟัง วาคส์มานน์รำลึกเกี่ยวกับการสนทนาครั้งนี้ ในอีกหลายสิบปีให้หลังว่า ความรู้สึกของเขาตอนนั้นคือ ไม่แน่ใจว่าไอเดียของบ้าน ที่พูดคุยกันนั้นเป็นของสามี หรือภรรยากันแน่ อย่างไรก็ดี มันก็เป็นไอเดียเกี่ยวกับบ้านไม้สีน้ำตาล ที่มีหน้าต่างแบบฝรั่งเศสขนาดเล็กสีขาว หลังคาปีกกว้างมุงกระเบื้องแดง ห้องภายในขอให้มีขนาดเล็กหมด ยกเว้นเพียงห้องนั่งเล่นที่มีเตาผิง ที่สำคัญที่สุดคือ ห้องนอนและห้องทำงาน จะต้องเงียบอย่างที่สุด เพราะไอน์สไตน์เกลียดเสียงดัง และต้องการความสงบในเวลาทำงาน นอกจากนี้ยังต้องมีระเบียงจำนวนมาก เพื่อที่คู่สามีภรรยา จะได้ใช้เวลาอยู่ภายนอกอาคารให้มากที่สุด
    การพูดคุยกันเกี่ยวกับความสามารถของเขา ไม่ได้ทำให้เอลซ่าประทับใจเท่าใดนัก แต่กลับเป็นภาพพจน์ของบริษัท ที่ติดไปกับรถของ Christoph & Unmack ที่ไปส่งวาคส์มานน์ ที่ทำให้เธอมั่นใจว่าสถาปนิกผู้นี้จะต้องทำงานออกมาได้ดี 
    ซึ่งก็เป็นดังที่คาดการณ์ วาคส์มานน์ทำงานอย่างสุดฝีมือ เสนอไอเดียดี ๆ จำนวนมากให้เจ้าของบ้าน รวมทั้งต่อรอง และประนีประนอม จนกระทั่งบ้านหลังนี้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย เจ้าของบ้านได้หน้าต่างฝรั่งเศส ห้องนอนและห้องทำงานที่สงบเงียบสันโดษ รวมทั้งหลังคากระเบื้องแดง ส่วนสถาปนิกได้ทำไอเดียของตัวเอง ในบริเวณระเบียงห้องนั่งเล่น ที่โล่งกว้างเปิดสู่ภายนอกบริเวณชาน
 คลิกดูภาพใหญ่
มุมมองจากห้องนั่งเล่น ออกไปยังระเบียงเปิด และสวน บานประตูเชื่อม ออกแบบให้เปิดโล่งตลอดได้ เชื่อมต่อที่ว่างภายใน และภายนอกเข้าด้วยกัน อันเป็นทัศนคติแบบสมัยใหม่ ในช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๐ 
    ไอน์สไตน์พอใจมากจนกระทั่งลงมือเขียนจดหมาย ไปหาวาคส์มานน์ความว่า "ผมบอกได้ว่าไม่มีที่ไหน หรือบ้านหลังใดที่ผมรู้สึกอบอุ่นเท่าบ้านที่นี่ คนมาเยี่ยม ซึ่งรู้เรื่องสถาปัตยกรรมดีกว่าผม ก็มักจะชมเชยบ้านที่ประสบความสำเร็จหลังนี้เสมอ" บ้านหลังนี้ก็ได้รับความสนใจ จากบรรดาสื่อมวลชน และผู้อยากรู้อยากเห็น ตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จดีนัก ว่าบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกอยู่อย่างไร หนังสือพิมพ์พากันมาทำข่าว แขกพยายามมาเยี่ยม แต่ก็ถูกกัน ๆ เอาไว้ด้วยเกรงว่า จะทำให้ไอน์สไตน์เสียสมาธิ แต่หนึ่งในบรรดาแขกที่เป็นที่รับเชิญ สำหรับบ้านชนบทหลังนี้เสมอ ก็คือตัวสถาปนิกเอง
    หลังจากนั้นวาคส์มานน์ก็มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมไม้ และได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้าน เทคนิคในการก่อสร้างด้วยไม้ การผลิตอาคารในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นทันทีโดยสำนักพิมพ์ในเบอร์ลิน
    วิถีชีวิตของวาคส์มานน์ มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เศรษฐกิจของเยอรมนีไม่สู้ดี ทำให้สำนักงานของเขาที่เปิดขึ้นในเบอร์ลิน เริ่มประสบปัญหาการมีงานทำไม่เพียงพอ วาคส์มานน์ต้องย้ายไปทำงานที่โรมตอนปลายปี ก่อนจะเดินทางออกจากเยอรมนี วาคส์มานน์ไปบอกลาไอน์สไตน์ที่บ้านชนบท ทั้งสองสนทนากันโดยไม่รู้เลยว่า นี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้พบกันที่คาปุท
      เมื่อพรรคนาซีนำโดยฮิตเลอร์ขึ้นเรืองอำนาจ นโยบายรุนแรงของจอมเผด็จการคนนี้ ทำให้เกิดปัญหาตามมาทุกหย่อมหญ้า ประมาณกลางปี ค.ศ. ๑๙๓๓ สถานการณ์จวนสุกงอม วาคส์มานน์ต้องหาทางอพยพไปอเมริกา บรรดาเพื่อนของวาคส์มานน์ ที่อพยพไปก่อนหน้านี้แล้ว รวมทั้งไอน์สไตน์ พยายามหาทางช่วยให้สถาปนิกผู้นี้ ได้อพยพไปยังอเมริกา แต่ประเทศเสรีนิยมนี้สร้างกรอบจำกัดขึ้นมาว่า นายแพทย์ ทนาย นักบัญชี และสถาปนิก ไม่อยู่ในรายการบุคคลที่อเมริกาปรารถนาจะให้มาอาศัยแผ่นดินอยู่ โชคดีที่ไอน์สไตน์และเพื่อนบางคน จำได้ว่าวาคส์มานน์เคยตีพิมพ์หนังสือ จึงทำเรื่องขอให้วาคส์มานน์นักเขียน ได้อพยพหนีห้องแก๊ส แทนวาคส์มานน์สถาปนิก การเดินทางเกิดขึ้นอย่างเฉียดฉิว ทันเส้นยาแดง โชคร้ายที่มารดา น้องสาว และหลานของเขาไม่มีจังหวะที่ดีเช่นนี้ ด้วยเชื้อสายยิว ทำให้เขาและเธอต้องจบชีวิตลงในค่ายกักกันของนาซี 
    เมื่อมาถึงอเมริกา วาคส์มานน์ยังคงอาชีพออกแบบ ด้วยการร่วมมือกับ วอลเตอร์ โกรเปียส อดีตผู้ก่อตั้งสถาบันบาวเฮาส์ สร้างบริษัททำงานก่อสร้างสถาปัตยกรรม รวมทั้งไปรับตำแหน่งอาจารย์ที่ Chicago Institute of Design และมีบทบาทกับประเทศใหม่ ในฐานะผู้บุกเบิกการก่อสร้างโครงสร้างไม้แบบอุตสาหกรรม รวมทั้งได้สร้างสถาปัตยกรรมเอาไว้จำนวนหนึ่ง
คลิกดูภาพใหญ่
มุมใต้ชายคาระเบียงชั้นบน มองเข้าไปเห็นห้องนั่งเล่น
    เมื่อสถานการณ์สงครามโลกสงบลง วาคส์มานน์ก็ยังคงอาศัยอยู่ในอเมริกา และเดินทางกลับไปยุโรปบ้าง แต่ไม่มีโอกาสไปที่คาปุทเลย จนกระทั่งก่อนจะวายชนม์ใน ค.ศ. ๑๙๘๐ เขาจึงได้มีโอกาสกลับไปบ้านชนบทอีกครั้ง บ้านซึ่งทรุดโทรมอย่างมาก ในช่วงที่ผ่านมาได้รับการบูรณะ และปรับปรุงให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ สถาปนิกผู้นี้ได้ฟื้นความทรงจำอันแสนสุข ในการสนทนากับปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ในสถานที่ที่ตัวเองออกแบบก่อสร้างมากับมือ บ้านหลังนี้ นอกจากจะทำให้วาคส์มานน์ได้แจ้งเกิดในวงการออกแบบแล้ว ยังทำให้เขาได้กลายเป็นเพื่อนกับบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ ในทางวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์อีกด้วย การมาเยี่ยมครั้งสุดท้าย ช่วยทำให้ความทรงจำเก่า ๆ หวนกลับคืนมา เป็นการอำลาทั้งตัวบ้าน และอดีตเกี่ยวกับเจ้าของบ้าน
    บทความนี้จำเป็นต้องจบ ด้วยการรายงานเรื่องน่าเศร้าที่ว่า ปัจจุบันต้องมีการวางกำลังรักษาการณ์บ้านชนบท ที่คาปุทหลังนี้เอาไว้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อป้องกันสมาชิกของพวกนาซีใหม่ ที่คอยจะมาลอบวางเพลิง ในอันที่จะจุดประกายอุดมการณ์ อันน่าสะพรึงกลัวขึ้นมาอีกครั้ง

  หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงจากบทนำของหนังสือ BUILDING THE WOODEN HOUSE: TECHNIQUE AND DESIGN โดย Konrad Wachsmann ฉบับที่นำต้นฉบับเดิมของวาคส์มานน์มาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้ง โดยสำนักพิมพ์ Birkhauser Verlag เมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๕