กลับไปหน้า สารบัญ
Hollow Man
ผู้ชายล่องหน: ตัวตนกับถ้ำมอง
ประชา สุวีรานนท์
    แม้จะไม่ได้ให้เครดิตไว้ในภาพยนตร์ แต่เป็นที่รู้กันว่าหนังเรื่อง Hollow Man มีเค้าโครงมาจาก The Invisible Man นิยายวิทยาศาสตร์เรื่องดัง ของนักเขียนชาวอังกฤษที่ชื่อเอช.จี.เวลส์
Hollow Man ผู้ชายล่องหน: ตัวตนกับถ้ำมอง
    ในนิยายเรื่องนี้ มนุษย์ล่องหนคือคนนอกหรือปัจเจกชนที่ถูก"มองข้าม" โดยสังคมและเมินเฉยจากคนรอบข้าง ดังนั้น แม้จะมีเค้าโครงเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ แต่จุดเด่นของนิยาย กลับอยู่ที่การบรรยายสภาวะอัน "ว่างเปล่า" ทางจิตใจของตัวเอก และสะท้อนปัญหาสภาวะแปลกแยก (alienation) ที่เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะในยุคต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ส่วนในหนังสือชื่อเดียวกันของของราล์ฟ เอลิสัน ปมนี้ก็ยังถูกรักษาไว้ครบครัน มนุษย์ล่องหนในเรื่องหลังคือคนดำ ที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคมอเมริกันที่คนขาวเป็นใหญ่ 
    หากว่าร่างกายหมายถึงตัวตน ตัวตนในที่นี้ก็คือตัวตนเชิงสังคม ส่วนคนที่กลายเป็นมนุษย์ล่องหน ก็คือคนที่สูญเสียการยอมรับจากผู้อื่น
    ใน Hollow Man คนดูจะได้พบกับเควิน เบคอน ในบทเซบาสเตียน เคน นักวิทยาศาสตร์ผู้กำลังค้นคว้า หาตัวยาที่ทำให้คนหายตัวได้ เมื่อถูกนายทุน หรือเพนตากอนขู่ว่าจะล้มโครงการ เซบาสเตียนตัดสินใจรีบทดลองยานั้นด้วยตนเอง การทดลองประสบความสำเร็จ แต่มนุษย์ล่องหนคนแรกของโลก ไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้ ด้วยความผิดหวัง นักวิทยาศาสตร์หนุ่มเริ่มแสดงพฤติกรรมคุกคามลูกทีม ซึ่งรวมถึงแฟนเก่า ที่ชื่อลินดา (เอลิซาเบท ชู) และผู้ชายคนใหม่ของเธอด้วย
    ไม่นานหลังจากนั้น ตัวเอกของเราก็กลายเป็นฆาตกร และนักข่มขืนที่แสนน่ากลัว เพราะนอกจากจะสามารถก่อกรรมทำเข็ญ กับผู้คนได้โดยไม่มีทางสู้ หรือป้องกันตัวแล้ว เขายังกลายเป็นสัตว์ร้ายที่แข็งแกร่งเกินมนุษย์ และในท้ายที่สุด ตามครรลองของนิยายวิทยาศาสตร์ มนุษย์ผู้เล่นกับ "ไฟ" หรือการฝืนกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ ก็ต้องแพ้ภัยตัวเอง
      ความน่าสนใจของ Hollow Man อยู่ที่เป็นการเอานิยายเรื่อง The Invisible Man มาตีความใหม่ มนุษย์ล่องหนในหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่คนที่สูญเสียความเป็นมนุษย์ อีกทั้งไม่ใช่ "เหยื่อ" ของความแปลกแยก หรืออคติทางสังคมดังที่นิยายเคยวาดภาพไว้ เขากลายเป็นอิด (id) หรือพลัง "ใฝ่ต่ำ" และมีสภาพเหมือนสัตว์ร้ายที่น่าสะพรึงกลัว
    ในเชิงจิตวิเคราะห์ ซิกมุนด์ฟรอยด์ ได้เสนอไว้ว่าประสบการณ์ทางจิตของคนเรา แบ่งออกได้เป็นสามสภาวะ คือ อิด, อีโก้ และซุปเปอร์อีโก้ (id, ego และ super-ego) ตัวตนหรืออีโก้ของเรานั้นไม่ได้อยู่ในสภาวะที่คงที่ แต่จะถูกฉุดรั้งไปมาระหว่างพลังสองชนิด นั่นคือพลังใฝ่ต่ำที่เรียกว่าอิด และพลังใฝ่สูงที่เรียกว่าซุปเปอร์อีโก้ ยามใดที่เราเริ่มเอนเอียงจากสำนึกใฝ่ดี พลังใฝ่ต่ำก็จะเข้าครอบงำตัวตนของเรา
    สำหรับ Hollow Man ร่างกายจึงหมายถึงซุปเปอร์อีโก้ หรือตัวตนด้านที่ใฝ่สูง รูปลักษณ์ที่แลเห็นได้ของมนุษย์ คือสำนึกที่คอยควบคุมไม่ให้คนเราทำความชั่ว 
    พลันที่ร่างกายเลือนหายไป เซบาสเตียนก็เหมือนถูกปลดเปลื้องตัวเอง ออกจากความผิดชอบชั่วดี ปราศจากร่างกาย เขาหลุดพ้นจากทั้งกฏเกณฑ์ทางสังคม และมโนธรรมของตนเอง กลายเป็นสันดานดิบที่เดินได้ หรือดังที่กล่าวไว้ในหนังว่าเขากลายเป็นคนที่  "..ไม่ต้องมองตัวเองในกระจกอีกต่อไป"
      เป็นที่รู้กันว่าจุดเด่นของหนังเรื่องนี้ คือ สเปเชี่ยลเอฟเฟกท์ กระบวนการที่ร่างกายค่อยๆ เลือนหายไปจากสายตาเรา ถูกแสดงให้เห็นอย่าง "เหมือนจริง" จนน่าตกใจ ต่างจากหนังมนุษย์ล่องหนฉบับก่อนๆ ขั้นตอนแปรสภาพจากคนเป็นมนุษย์ล่องหน ไม่ใช่ไม่เพียงเลือนหายไปเฉยๆ แต่ถูกจารนัยให้เห็นว่ามีสภาพคล้ายกับร่างกาย ที่ถูกแล่เนื้อเถือหนังออกไปทีละชั้น
    ในการคืนสภาพมาสู่ปกติก็เช่นกัน แต่ละชั้นของร่างกายจะปรากฏขึ้นมาอย่างช้าๆ เหมือนเปิดตำรากายวิภาคทีละหน้า หลังจากที่ตัวยาซึมซ่านไปทั่วตัว เราจะได้เห็นชั้นแรก ที่มีแต่เส้นเลือดถักทอกันทั่วร่างกาย ชั้นที่สองกลายเป็นโครงกระดูก และพวงเครื่องในที่เดินได้ ชั้นต่อไปเหมือนคนที่มีกล้ามเนื้อครบถ้วน แต่ถูกถลกหนังออกไปทั้งร่าง ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ลิงกอริลลากลับคืนมาสู่สภาพที่มองเห็นได้ หรือฉากที่เซบาสเตียนค่อยๆ เลือนหายไป สเปเชี่ยลเอฟเฟกท์ให้ทั้งความตื่นตา และน่าสยดสยอง
    การมองว่าร่างกายหรือรูปลักษณ์ที่แลเห็นได้จากภายนอก คือซุปเปอร์อีโก้ ทำให้สเปเชี่ยลเอฟเฟกท์ในส่วนนี้ มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะเป็นผลงานทางเทคนิค ที่น่าตื่นตาตื่นใจแล้ว ยังตอกย้ำความคิดที่ว่าคุณธรรม และความอดกลั้นของคนเรานั้น เป็นเพียงเปลือกนอกที่บางเบา ขุดลึกลงไปเพียงนิดเดียวก็จะพบความอัปลักษณ์ และวิปริตผิดธรรมดาปรากฏอยู่
    ยิ่งไปกว่านั้น มองในแง่ที่ว่าอาการล่องหนหายตัวได้ คือสภาวะทางจิตที่ไร้การควบคุม สเเชี่ยลเอฟเฟกท์นี้ก็สร้างผลที่เข้ากันได้ดีกับการตีความ ความน่าสยดสยองของภาพ "เครื่องใน" มนุษย์เปรียบได้กับความน่ากลัวของอิดบริสุทธิ์ พูดอีกอย่างหนึ่ง ความน่าเกลียดของมัดกล้ามและเนื้อดิบๆ ที่เดินได้เป็นตัวแทนของ "สันดานดิบ" หรือสิ่งที่ฝังลึกอยู่ใต้จิตสำนึกของคนเราเป็นอย่างดี

      อย่างไรก็ตาม ถ้าติดตามงานของพอล เวอร์โฮเวนมาพอสมควร คงรู้กันว่าลำพังเนื้อหาของหนัง ไม่เพียงพอที่จะอธิบายความหมายที่แท้จริงของผู้กำกับคนนี้ได้ เรื่องราวและคติธรรม ไม่ว่าจะเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ผู้ทะเยอทะยาน หรือการเลือนหายไปของซุปเปอร์อีโก้ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในหนังของเวอร์โฮเวน 
    สำหรับผู้กำกับซึ่งโด่งดังมาจากเนเธอร์แลนด์ และมาดังในสหรัฐฯ ด้วยหนังเรื่อง Robocop, Total Recall และ Basic Instinct นอกเหนือจากความเป็นเจ้าสเปเชี่ยลเอฟเฟกท์ และชอบทำงานกับนักแสดงเกรด "บี" แล้ว จุดเด่นที่สุดของเขา คือเนื้อหาสาระที่กำกวม บวกกับเซ็กส์ และความรุนแรง ในระดับที่เกินพอดี 
    คล้ายคลึงกับหนังสือพิมพ์ที่ชอบลงภาพที่เกี่ยวกับเซ็กส์ และความรุนแรง ฉากการร่วมเพศ ข่มขืนหรือฆ่ากันในหนังของเวอร์โฮเวนมักเจอข้อหา "ปากว่า ตาขยิบ" ทางศีลธรรม กล่าวคือ ชอบปรนเปรอผู้ชมด้วยภาพ และเรื่องราวอันต่ำช้า แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เสแสร้งทำเป็นก่นด่าสิ่งเหล่านั้น ด้านหนึ่ง ฉวยโอกาสขายความ "มัน" ของฉากเหล่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำเป็นต่อต้านความหื่นกระหายที่ตัวเองเป็นฝ่ายปรนเปรอให้กับผู้ชม
    และในที่สุด ทั้งหนังและหนังสือพิมพ์ประเภทนั้น จะเอาตัวรอดจากข้อหาใฝ่ต่ำไปได้ ก็ด้วยการอ้างว่าทำไปเพื่อชี้ให้เราเห็นปัญหา และเปิดหูเปิดตาเราให้เข้าถึงความเป็นจริง
      พอล เวอร์โฮเวนเป็นคนทำหนังที่ได้รับข้อหาดังกล่าวอยู่เสมอ สำหรับสองเรื่องที่แล้ว ข้อถกเถียงคือว่า Showgirl เป็นหนังโป๊ชั้นเลว หรือหนังที่วิพากษ์วิจารณ์วงการบันเทิงอย่างถึงแก่น ส่วน Starship Troopers นั้น คำถามคือมันเป็นหนังแอกชั่นที่บ้าระห่ำ หรือต่อต้านนิสัยคลั่งสงครามของชาวอเมริกัน 
    โดยเฉพาะใน Starship Troopers พร้อมๆ ไปกับการเสียดสีระบบสังคมแบบเผด็จการฟาสซิสต์ หนังจะยั่วยุให้คนดูอยากลิ้มรสความวิปริตของสังคมนั้น ด้วยท่าที และลีลาแบบ "ปากว่า ตาขยิบ" จุดเด่นคือสไตล์ หรือรูปแบบที่เขาใช้ในการเล่าเรื่อง บทพูดที่เป็นสูตร และการแสดงที่แข็งทื่อ ซึ่งเขาถือว่าเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์อุดมการณ์ ของวัฒนธรรมฮอลลีวู้ด 
    เรื่องราวที่สดุดีจิตวิญญาณแบบอเมริกันถูก "รื้อสร้าง" หรือบิดผันให้กลายเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ความบ้าคลั่งในลัทธิฟาสซิสม์ เสียดสีเยาะเย้ยลัทธินาซี และที่สำคัญกว่านั้นก็คือเปรียบเทียบของแนวหนังสองแนว ได้แก่หนังโฆษณาชวนเชื่อแบบนาซี กับหนังน้ำเน่าแบบฮอลลีวู้ด (บางคนสรุปว่าหนังเรื่องนี้คือ Melrose Place ที่สร้างโดยเลนี ไลเฟนสตาล ผู้กำกับภาพยนตร์คนโปรดของฮิตเลอร์) ให้เห็นรากเหง้าและจิตวิญญาณที่คล้ายคลึงกัน
    สำหรับ Hollow Man ฉากที่มีความเป็น "เวอร์โฮเวน" อย่างมาก ได้แก่ ฉากที่เกิดขึ้นหลังจากที่ตัวเอกทดลองยาล่องหนกับตัวเอง เราจะพบว่าในทันทีที่ล่องหนได้ สิ่งแรกที่เซบาสเตียนทำก็คือ จับนมสัตว์แพทย์สาว และเข้าไปในห้องน้ำผู้หญิง เพื่อแอบดูผู้ช่วยนั่งทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ
      มองในแง่หนึ่ง ฉากนี้เป็นตลกถ่อยๆ คล้ายกับเวอร์โฮเวนหันมาบอกคนดู (ไม่เฉพาะผู้ชาย) อย่าง "รู้กัน" ว่าโครงการของรัฐบาลที่จะใช้มนุษย์ล่องหนเป็นอาวุธมหาประลัยนั้น เป็นเรื่องเหลวไหล การหายตัวเป็นสิ่งที่สนใจ เพราะมันทำให้เราสามารถแอบดูคนอื่น หรือล่วงเกินเพศตรงข้ามได้ โดยไม่มีใครเห็น 
    พูดอย่างง่ายๆ เขากำลังบอกว่า เสน่ห์ของมนุษย์ล่องหนในภาพยนตร์ และวรรณกรรม อยู่ตรงที่สามารถสนองตอบต่อแฟนตาซีแบบใฝ่ต่ำของคนดู และด้วยเหตุนี้เอง ฉากนี้จึงแลดูกระโชกโฮกฮากอย่างสุดประมาณ จากจุดนี้เอง มนุษย์ล่องหนจึงเปลี่ยนบท จากพระเอกกลายเป็นผู้ร้าย ส่วนคุณสมบัติการ "ไม่มีใครมองเห็น" ซึ่งเคยเป็นปมด้อยในนิยาย กลับกลายเป็นเครื่องมือแสวงหาอำนาจ และประกอบกรรมทำชั่ว
    แต่มองอีกแง่หนึ่ง ฉากนี้บอกเราว่าความได้เปรียบของการ "ล่องหน" คือสามารถมองเห็นคนอื่นได้โดยไม่ถูกมอง (seeing without being seen) และถือได้ว่าเป็นการเอานิยายฉบับเดิม มาตีความได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ มนุษย์ล่องหนหมายถึงคนที่เป็น "นักถ้ำมอง" ในสันดาน หรือถ้ามองลึกลงไปอีก เซบาสเตียนเป็นตัวแทนของสันดานดิบแบบผู้ชาย เขาจะทวีสภาพของสัตว์ตัวผู้ ที่หื่นกระหายจะทำร้ายตัวเมีย ไปจนถึงจุดจบของเรื่อง 
    เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า การมองเห็นคนอื่นได้โดยไม่ถูกมอง หรือ "ถ้ำมอง" ถือเป็นสุดยอดของอำนาจในการมอง ในความเชื่อของไทย เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่ ผู้น้อยจะต้องคอย "ก้มประณมกร" ไม่มีสิทธิที่จะเงยหน้าขึ้นสบตาผู้ใหญ่ ส่วนเรื่องจะไปโต้เถียงก็ยิ่งแล้ว เพราะไม่มีทางที่จะมีสิทธิทำเลย นอกจากนั้น อำนาจในการ"สอดส่องดูแล" ในทางสังคมก็เช่นกัน ถูกถือเป็นอำนาจที่เราจะยอมมอบให้ ก็แต่กับผู้ที่ยิ่งใหญ่ และสูงส่งกว่าคนทั่วไปเสมอ 
      ส่วนในทางจิตวิเคราะห์นั้น การแอบมองถือว่าเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ที่น่าสนใจมาก ทำไมเราจึงมีความต้องการอันนี้ และทำไมมันจึงให้ความสุขแก่เราได้ เป็นคำถามที่ต้องการคำอธิบายที่ลึกล้ำไม่น้อย
    ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ได้ชี้ไว้ว่าความพึงพอใจอันเกิดจากการมอง โดยไม่ถูกมองเป็นความ "ผิดปรกติ" ที่เกี่ยวพันกับเรื่องเพศ ในบทความเรื่อง Essays on Sexuality เขาชี้ว่าการได้รับความสุข และพึงพอใจในการมองนั้น โดยทั่วไปก็เป็นความลุ่มหลงชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในสัญชาติญาณของมนุษย์ เขาตั้งชื่อมันว่า scopophilia หรือปมอยากมอง คล้ายกับการสัมผัสที่ erotogenic zone หรือความต้องการทางเพศ ที่มีจุดกระตุ้นอยู่บนร่างกาย scopophilia คือปมกระหายการมองเห็น แตกต่างกันตรงที่มีจุดกำเนิดที่อยู่ในจิตใจ 
    ฟรอยด์เชื่อว่าความสุขอันเกิดจากการจ้องมอง เป็นเครื่องหมายสะท้อนถึงความต้องการจะมีอำนาจ เพราะถึงที่สุดแล้ว มันคือการมองเห็นคนเป็นสิ่งของ อีกทั้งคือความปรารถนาที่จะควบคุมบังคับเอาไว้ด้วยสายตา ปมนี้อาจพัฒนาไปเป็นพฤติกรรมอันวิปริต เช่นชอบถ้ำมอง หรือ voyeurism ซึ่งหมายถึงคนที่บรรลุความสุขทางเพศ ได้โดยการเฝ้ามองผู้คนกิจกรรมบางอย่างก็ได้
    คงจำกันได้ว่า ก่อนหน้าที่เซบาสเตียน จะตัดสินใจฉีดยาล่องหนให้ตนเอง เขากำลังกลายเป็นคนที่ไร้ความหมาย ในสายตาของเพศตรงข้าม (ลินดาพูดกับเขาว่า ในขณะร่วมรักกันเขา ก็เหมือนมนุษย์ล่องหนสำหรับคู่นอนอยู่แล้ว) ดังนั้น ความต้องการจะไม่ให้ใครมองเห็นของเซบาสเตียน นอกจากจะเพื่อสำแดงศักดาข่มผู้ชายที่แย่งแฟนเขาแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนอำนาจในการมอง แบบนักถ้ำมองขึ้นมาด้วย การทดลองยา จึงหมายถึงการไขว่คว้าหาอำนาจการมองกลับคืนมา
      หรือหากย้อนกลับไปในตอนต้นเรื่อง ก็จะพบว่าตั้งแต่ก่อนจะกลายเป็นมนุษย์ล่องหน เซบาสเตียนได้แสดงพฤติกรรมของนักถ้ำมองอยู่แล้ว หนังจะบอกเราว่า หลังจากไม่สามารถหว่านล้อมให้แฟนเก่ากลับมาคืนดี เขาแปรความสูญเสียนั้น เป็นความลุ่มหลงในการแอบมองผู้หญิง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในบ้านฝั่งตรงข้าม
    ส่วนการใช้กล้องแทนสายตาของเซบาสเตียน ในขณะที่เป็นมนุษย์ล่องหนก็เป็นสิ่งน่าสนใจ เพราะในขณะนั้น เท่ากับคนดูได้กลายเป็นคนที่ไม่มีใคร (ในภาพยนตร์) เห็น การสวมมุมมองของกล้องภาพยนตร์ ทำให้เราถูกผูกพันเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับตัวละคร หรือจอมวายร้ายในท้องเรื่องอย่างแนบแน่น
    ว่ากันว่าคนดูหนังมีสภาพคล้ายนักถ้ำมอง ภาพยนตร์ไม่ได้ตอบสนองปมอยากเห็นอย่างธรรมดา แต่บำบัดความกระหายจะมีสถานะเป็นผู้มองที่ไม่มีใคร (ในภาพยนตร์) เห็น ยิ่งไปกว่านั้น การที่คนดูทุกคนต้องนั่งอยู่ในความมืด ในห้องฉายภาพยนตร์ สภาพของเขาก็ยิ่งดูเหมือนนักถ้ำมอง ที่ซ่อนตัวอยู่ในความมืดมากยิ่งขึ้น
    นี่ก็คือความเป็น "เวอร์โฮเวน" อีกอย่างหนึ่ง กล่างคือไม่ยอมให้เรานั่งอยู่ห่างๆ หรือปล่อยให้มีช่องว่าง ระหว่างคนดูกับสิ่งที่เราต้องการวิพากษ์วิจารณ์ หนังไม่เพียงถ่ายทอดพฤติกรรมอันน่าประณาม แต่จะกระชากคนดูเข้าไปร่วมสังฆกรรมกับมันด้วย

      อย่างไรก็ตาม แม้จะดูในแง่ที่เป็นหนัง "เวอร์โฮเวน"  Hollow Man ก็ยังขาดความโดดเด่น เพราะไม่ได้เล่นกับประเด็นที่เขาตั้งเอาไว้เท่าที่ควร ความรุนแรงนั้น แม้จะมีอยู่เกินพอ (ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้คือ ฉากฆ่าสัตว์เลี้ยงในห้องแล็ป มีความน่ากลัวกว่าฉากฆ่าคน) แต่เนื่องจากหนังเร่งความเร็ว ในช่วงปลายมากเกินไป ความตื่นเต้นจึงเกือบกลายเป็นเรื่องตลก 
    ในบั้นปลาย สเปเชี่ยลเอฟเฟกท์กลายเป็นพระเอก เช่นในหนังแอกชั่นเรื่องอื่นๆ การวิ่งหนีความวิบัติที่มาในรูปลูกไฟยักษ์ เป็นสูตรที่ถูกนำมาใช่อีกครั้ง สิ่งที่เวอร์โฮเวนพลิกแพลงออกไป เป็นเพียงเปลี่ยนลูกไฟยักษ์ให้พุ่งขึ้นบน แทนที่จะวิ่งไปตามแนวราบ
    ที่สำคัญที่สุดก็คือการแสดงของดารานำเช่น เควิน เบคอน ไม่ได้ก้าวไปถึงขั้นที่ ทำให้เราเข้าข้างนักวิทยาศาสตร์ผู้โอหังคนนี้ ไม่ว่าจะในยามที่เป็นคนธรรมดา หรือมนุษย์ล่องหน ส่วนเอลิซาเบธ ชู ก็ไม่สามารถทำให้เรารู้สึกเข้าข้างลินดา ไม่ว่าจะในฐานะเหยื่อ หรือตัวเอกที่แท้จริง
    จุดอ่อนเหล่านี้ทำให้ Hollow Man มี "ความกำกวม" น้อยกว่า Starship Troopers หนังไม่สามารถก้าวจากความวิปริตผิดศีลธรรม หรือ "มือถือสาก ปากถือศีล" ไปสู่ความแหลมคมลึกซึ้ง จนหยั่งถึงได้ยาก เปรียบเทียบกันแล้ว หนังเรื่องนี้ไม่ถึงกับ "กลวง" ในเนื้อหาสาระ แต่มีชั้นเชิงไม่มากพอ ที่จะเรียกได้ว่าเป็นงานศิลปะ ไม่น่าแปลกใจอะไรที่ผลงานชิ้นนี้ จะเป็นอีกเรื่องที่ทำให้เวอร์โฮเวนได้รับข้อหา "ปากว่า ตาขยิบ" อีก