สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕ " ๑๐ ตัวพิมพ์กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย "
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕  

ปฏิบัติการเพื่อพลังงานสะอาดของเรืออาร์กติก ซันไรซ์

เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย : รายงาน

(คลิกดูภาพใหญ่)

      "ในศตวรรษที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น ๐.๖ องศาเซลเซียส คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) รายงานว่าหากอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเดิม อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอีก ๑.๔-๕.๘ องศาเซลเซียสในร้อยปีข้างหน้า ก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงมากมาย"
      "ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๐ ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ๑๐-๒๐ ซม. ธารน้ำแข็งตอนในของพื้นทวีปลดลงถึงร้อยละ ๕๐ ความหนาของน้ำแข็งในทะเลอาร์กติก กำลังลดลงในฤดูร้อน หากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเป็น ๑ เมตร จะมีประชากรที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ๑๑๘ ล้านคน"
      "การประเมินของ IPCC ใน ค.ศ. ๒๐๐๑ ระบุว่าเกาะขนาดเล็ก และที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมเดลต้า เสี่ยงต่อระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ๑ เมตร และหากไม่มีปฏิบัติการบรรเทาในเรื่องนี้ เช่น การสร้างกำแพงทะเล อียิปต์อาจสูญเสียพื้นที่ร้อยละ ๑, เนเธอร์แลนด์ร้อยละ ๖ ประเทศเกาะขนาดเล็กที่มีพื้นที่ต่ำอาจสูญหายไปทั้งประเทศ" 
      ...นี่เป็นข้อมูลสถิติจากหลายแหล่ง เมื่อมีการเอ่ยถึงสาเหต ุและผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก 
      อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทีละน้อย หรือผลกระทบที่เริ่มแสดงตัวออกมาอย่างชัดเจน อาจไม่ได้ทำให้ชาวโลกรู้สึกรู้สากับโลกที่กำลังระอุใบนี้ กิจกรรมที่ส่งเสริมสภาวะโลกร้อน ยังคงดำเนินต่อไป กลุ่มอุตสาหกรรมด้านเชื้อเพลิงหลายกลุ่มแย้งว่า ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น เป็นตัวการที่ทำให้สิ่งแวดล้อมบนโลกวิปริต
      อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าเวทีความร่วมมือระดับโลก ให้ความสำคัญกับเรื่อง "โลกร้อน" จนต้องมีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในการประชุมสุดยอดของโลก ว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WSSD-World Summit on Sustainable Development / Rio+10) ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ ๒๖ สิงหาคม-๔ กันยายน ที่ผ่านมา ณ กรุงโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ 
      แล้วปัญหาโลกร้อนในประเทศไทยอยู่ในระดับไหน เพราะเราไม่มีธารน้ำแข็งละลายให้เห็น ไม่มีประชากรหมีขั้วโลกให้นับว่าเหลือน้อยแค่ไหน ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนโดยตรง รู้แค่ว่าหลายปีมานี้อากาศร้อน และแดดแรงแบบไม่ปรานี อารมณ์ของฤดูกาลแปรปรวนเหมือนคนบ้า 
      การมาเยือนของเรืออาร์กติก ซันไรซ์ เป็นครั้งแรกในประเทศไทยในโครงการ "เส้นทางสู่พลังงานสะอาด" จึงเป็นเสมือนโอกาสอันดีในการสร้างความรับรู้ถึงปัญหาดังกล่าว ให้กับคนไทยอย่างจริงจังมากขึ้น 

(คลิกดูภาพใหญ่)       อาร์กติก ซันไรซ์ (MV Arctic Sunrise) เป็นเรือปฏิบัติการรณรงค์แบบสันติวิธีลำที่สองของกรีนพีซ ที่เดินทางมายังประเทศไทย หลังจากที่เรือเรนโบว์วอริเออร์เคยมาเมื่อสองปีก่อน 
      การมาเทียบท่าในประเทศไทยระหว่างวันที่ ๑๕ สิงหาคมถึง ๑ กันยายนที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล และส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานสะอาด โดยก่อนหน้านี้ ประสบความสำเร็จในการรณรงค์ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อรัฐบาลประกาศอย่างชัดเจนว่า จะหยุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เมืองพูลูปันดัน บนเกาะเนกรอส 
      นอกจากกิจกรรมรณรงค์ด้านพลังงานสะอาด และการเปิดให้ประชาชนเข้าชมเรือ และพบปะลูกเรือขณะเทียบท่าอยู่ที่ท่าเรือกรุงเทพ คลองเตยแล้ว ในวันที่ ๒๗-๓๑ สิงหาคม เรือได้เดินทางไปยังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรณรงค์ยุติโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่บ่อนอกและบ้านกรูดด้วย 
      "ประเทศไทยควรประกาศจุดยืนต่อประเทศที่พัฒนาแล้วว่า เราไม่ต้องการเป็นสุสานของพลังงานจากถ่านหิน สร้างปัญหาต่อชั้นบรรยากาศของโลก เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน" เพ็ญรพี นพรัมภา เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวถึงเหตุผล ที่เรียกร้องให้ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่ง 
      ในบรรดาเชื้อเพลิงฟอสซิลอันได้แก่ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหินจัดเป็นเชื้อเพลิงที่สกปรกที่สุด การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญที่สุดออกมาสะสมในชั้นบรรยากาศ ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก คือก๊าซดังกล่าวจะเป็นเหมือนผ้าที่ห่มโลกไว้ ไม่ให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์สะท้อนจากโลก กลับออกสู่บรรยากาศ ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
      ในประเทศไทย ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้เกิดการรุกของน้ำเค็มก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชายฝั่งยุบตัว ป่าชายเลนจะถูกแทนที่ด้วยหาดเลน
      อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลต่อรูปแบบของฤดูกาลหรือการตกของฝน ฝนตกแบบกระจุกตัวจนเกิดน้ำท่วมรุนแรง เกิดพายุไต้ฝุ่นบ่อยขึ้น ในขณะที่บางพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างหนัก อัตราการแพร่กระจายของเชื้อโรคเพิ่มมากขึ้น การเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน จะส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ
      มีการคาดการณ์ว่าในร้อยปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลของประเทศไทยอาจสูงขึ้นอีก ๙๐ เซนติเมตร ซึ่งจะก่อความเสียหายให้มากมาย โดยเฉพาะบริเวณกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเพียง ๑ เมตร
      สเวน เทสเก เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านพลังงานหมุนเวียน กรีนพีซเยอรมนี ซึ่งทำงานร่วมกับกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเป็นเวลากว่า ๖ ปี กล่าวถึงสถานการณ์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกว่า "ขณะนี้ในเยอรมนีฝนตกหนัก จนเกิดอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นครั้งที่สองแล้วในรอบสิบปีที่ผ่านมา ขณะที่ในอดีตเกิดเพียงครั้งเดียวในรอบร้อยปี ส่วนในออสเตรเลียและแคนาดา ฝนไม่ตกหลายเดือนแล้ว จนเกิดภาวะภัยแล้ง"
      "สภาวะอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรง เกิดขึ้นทั่วโลก และบ่อยครั้งขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ในเยอรมนีกล่าวว่า สัญญาณที่ชัดเจนที่จะทำให้ทุกคนยอมรับว่า โลกกำลังประสบกับปัญหาภาวะโลกร้อน ได้เริ่มขึ้นในต้นศตวรรษที่ ๒๑ หลายปีก่อน กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลยังโต้แย้งว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องปรกติ แต่ตอนนี้บริษัทเหล่านั้นจะพูดอย่างนั้นไม่ได้แล้ว"
(คลิกดูภาพใหญ่)       "ผมคิดว่าปัญหานี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังขาดความสามารถในการรับมือกับปัญหา เหมือนประเทศในยุโรป"
      การรณรงค์ครั้งนี้ของกรีนพีซ เกิดขึ้นเพื่อผลักดันให้มีการใช้พลังงานทางเลือกให้มากขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาจากภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาดได้แก่ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังน้ำ พลังงานความร้อนใต้พิภพ
      กรีนพีซยังได้นำเสนอรายงานทางเลือกพลังงานเพื่ออนาคต ซึ่งจัดทำร่วมกับเครือข่ายพลังงานยั่งยืนแห่งประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนาพลังงานฉบับปัจจุบัน และพิจารณาถึงทางเลือกของพลังงานแบบยั่งยืน บทสรุปที่สำคัญของรายงานฉบับนี้คือ การท้าทายแผนพัฒนาพลังงานของประเทศไทยโดยตรง มีการตรวจสอบแผนพลังงานฉบับปัจจุบัน วิเคราะห์สถานะด้านไฟฟ้าของประเทศ เปรียบเทียบผลกระทบจากโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของพลังงานหมุนเวียน แจกแจงประสิทธิภาพด้านต้นทุน ให้รายละเอียดว่า รัฐบาลสามารถเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างไร
      เดชรัต สุขกำเนิด จากเครือข่ายพลังงานยั่งยืนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "หลายคนอาจคิดว่าทางเลือกของพลังงานในอนาคตที่กรีนพีซนำเสนอ เป็นแนวความคิดของกรีนพีซเพียงองค์กรเดียว แต่จริง ๆ แล้ว ในรายละเอียดมีความใกล้เคียงกันมาก กับแผนยุทธศาสตร์การอนุรักษ์พลังงานของประเทศ ในช่วงปี ๒๕๔๕-๒๕๕๔ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ 
      "การนำเสนอทางเลือกนี้ จะมีผลปฏิบัติได้จริงก็ต่อเมื่อ มีการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ควบคู่ไปกับอนุรักษ์พลังงาน และต้องเอาจริงเอาจังในการวิจัยและพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้ต้นทุนของการผลิตลดลง นอกจากนี้รัฐบาลต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในกระบวนการตัดสินใจ เพื่อดำเนินการด้านพลังงานทางเลือกด้วย
      "ในเดือนตุลาคมนี้เราจะมีกระทรวงใหม่ คือกระทรวงพลังงาน คำถามคือ นโยบายของกระทรวงจะดำเนินไปตามแผนใด รายงานที่กรีนพีซทำ คือข้อถกเถียงที่สำคัญ ซึ่งเราน่าจะไปยื่นเมื่อมีการเปิดกระทรวง และขอให้ประกาศออกมาว่า กระทรวงจะตั้งต้นแผนพลังงานไปในแนวทางใด"
      สเวน เทสเก กล่าวทิ้งท้ายว่า "ขณะนี้ประเทศไทยพึ่งพาเชื้อเพลิงพวกถ่านหินมากขึ้น ในขณะที่เราไม่มีถ่านหินในประเทศไทย นอกจากลิกไนต์เพียงเล็กน้อย ในอนาคตเมื่อปริมาณถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติในประเทศลดลง มันจะลงท้ายที่ว่าเราต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าทั้งหมด ถึงตอนนั้นก็แทบจะไม่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีก" 
        เรืออาร์กติก ซันไรซ์ ใช้เวลาส่วนใหญ่ล่องอยู่ในทะเลน้ำแข็งแถบขั้วโลก เริ่มงานครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๓๙ โดยรณรงค์ต่อต้านการทิ้งแท่นขุดเจาะน้ำมันเก่าที่ทะเลเหนือ ปลายปีเดียวกันก็ออกเดินทางไปยังแอนตาร์กติก เพื่อเริ่มสังเกตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกเช่น สำรวจการพังทลายของก้อนน้ำแข็ง การเพิ่มขึ้นของประชากรแมลงปีกแข็งที่กัดกินต้นสน การอพยพย้ายถิ่น และการลดจำนวนประชากรวอลรัสและหมีขั้วโลก 

      * อ่านเรื่องราวของเรือเรนโบว์ วอริเออร์ ได้ใน "การมาถึงของนักรบสายรุ้ง : จากตำนานสู่ความเป็นจริง" ในนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๑๘๓ 
      * อ่านเรื่องปรากฏการณ์ปะการังฟอกสีได้ใน "ปรากฏการณ์แนวปะการังฟองขาว สิ่งวดล้อมโลกที่แปลเปลี่ยน" ในนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๑๖๘