นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๘ เดือนเมษายน ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๘ เดือนเมษายน ๒๕๔๖ "๔๘ พรรษา  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๘ เดือนเมษายน ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

พระปิยราชกุมารีสิรินธร

  เรื่อง : ศรีศักร วัลลิโภดม
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ถาโถมเข้ามาในสังคมไทย จนก่อให้เกิดความขัดแย้งและความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในหมู่คนรุ่นใหม่ของประเทศ สิ่งสำคัญที่ยังธำรงความมีอารยะของไทยอย่างหนึ่ง ก็คือสถาบันกษัตริย์ ที่ยังมีความหมายในเรื่องบูรณาการทางวัฒนธรรมและความมั่นคงทางสังคมอย่างมากมาย ซึ่งหากเป็นที่อื่นแล้ว การดำรงอยู่ของสถาบันนี้ก็เป็นแต่เพียงในนามเท่านั้น 
      สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นสถาบันของพระสมมุติราชในคติทางพุทธศาสนาเถรวาท ที่สืบเนื่องมาเนิ่นนานนับพันปี ตามโบราณราชประเพณี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นทั้ง "ผู้ชนะโลก" (World Conqueror) และ "ผู้สละโลก" (World Renouncer) 
      อย่างแรกก็คือการเป็นนักรบที่สามารถปราบปรามยุคเข็ญให้แก่อาณาประชาราษฎร์ 
      ส่วนอย่างหลังก็คือการเป็นปราชญ์ที่รอบรู้และเสียสละเพื่อผู้คนในแผ่นดิน
      ปัจจุบัน ความเป็นนักรบคงหมดความสำคัญไป เพราะมีพวกนักรบและพวกอยากรบกันเต็มบ้านเต็มเมือง แต่ความเป็นปราชญ์ที่ทำอะไรอย่างเสียสละนั้นกลับหายากในแผ่นดิน
      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นปราชญ์ที่ว่านี้ เพราะทรงเจริญรอยตามสมเด็จพระปิยมหาราช พระบรมอัยกาธิราช ในเรื่องการให้ความใกล้ชิดและเห็นความทุกข์ยากของประชาชน
 (คลิกดูภาพใหญ่)       อันพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องนี้ นับเป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งเหลือจะพรรณนาได้ แต่ในสำนึกของประชาราษฎร์ เมื่อนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็มักจะนึกถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร พร้อม ๆ กันไปด้วย
      ความเป็นปราชญ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นั้น เป็นพระนิสัยมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เพราะทรงรักที่จะเรียนรู้ด้วยพระองค์เอง ทั้งจากการเรียน การอ่าน และประสบการณ์ อย่างนักศึกษาที่เป็นสามัญชนทั้งหลาย แต่ความยิ่งใหญ่ของพระองค์อยู่ที่สำนึกทางมนุษยธรรม ที่ทำให้ทรงสนพระทัยศึกษาในวิชาทางมนุษยศาสตร์ มากกว่าอย่างอื่น ๆ ในขณะเดียวกันก็เอาพระทัยใส่ในศิลปวัฒนธรรมเป็นพิเศษ ถึงขนาดทรงดนตรี และทรงขับร้องเพลงไทยเดิมได้เป็นอย่างดี 
      แต่ดูเหมือนสิ่งสนพระทัยสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้ทรงเรียนรู้และรับรู้อะไรต่าง ๆ ทางสังคมและวัฒนธรรม ก็คือเรื่องภาษา ทั้งภาษาโบราณ และภาษาของชนชาติต่าง ๆ ในปัจจุบัน
      สำหรับภาษาโบราณนั้นได้ทรงพระราชนิพนธ์วิทยานิพนธ์ปริญญาโท ในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เกี่ยวกับจารึกซึ่งพบที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ผลการวิจัยทำให้ได้ทราบเรื่องราวของราชวงศ์พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ผู้สร้างปราสาทนครวัด ว่าเป็นกษัตริย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
      ในขณะที่ความสนพระทัยในภาษาของชาติต่าง ๆ ในปัจจุบัน ได้ทำให้ทรงเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ของบ้านเมืองและผู้คนในต่างประเทศ ที่ทรงได้รับเชิญให้เสด็จไปเยือนอย่างกว้างขวาง
      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นนักศึกษาที่แท้จริง เมื่อไปที่ใดก็จะทรงจดบันทึกตลอดเวลา และสิ่งเหล่านั้นก็หาได้นิ่งอยู่แต่ในสมุดโน้ตเท่านั้นไม่ หากได้ทรงนำมาทบทวนปะติดปะต่อ และทรงเขียนขึ้นเป็นหนังสือเล่าเรื่องราวของกลุ่มชน และบ้านเมืองเหล่านั้นอย่างง่าย ๆ โดยไม่ทรงอวดรูปแบบในการวิเคราะห์ ตามแนวคิดทฤษฎีอย่างที่บรรดานักวิชาการทั้งหลายชอบทำกัน ซึ่งทำให้ผู้อ่านที่เป็นคนธรรมดาทั่วไปเข้าใจได้โดยไม่ยาก และทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบ้านเมือง และผู้คนในสมัยปัจจุบันอย่างกว้างขวาง นับว่าเป็นการเติมเต็มความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้าน และเพื่อนร่วมโลก ที่คนไทยมักรู้แต่เฉพาะเรื่องในอดีต ให้เท่าทันกับปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างยิ่ง
(คลิกดูภาพใหญ่)       จากประสบการณ์ที่ได้ศึกษาและเรียนรู้มนุษย์อย่างกว้างขวาง จนทำให้ทรงเห็นอะไรต่ออะไรอย่างเชื่อมโยงนั้น ทำให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นครูที่จะให้แนวคิด และทิศทางที่ดีแก่คนทั้งหลาย ในเรื่องทางสังคมวัฒนธรรมและมนุษยธรรม อย่างเช่นโดยตำแหน่งและหน้าที่ทางราชการ ทรงเป็นพระอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อย จปร. ที่ทรงสอนและอบรมวิชาประวัติศาสตร์ให้แก่นักเรียนนายร้อย แต่แทนที่จะทรงสอนไปตามแบบเดิม ๆ กลับทรงริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ให้เป็นประโยชน์และทันสมัย เช่น การทรงนำนักเรียนนายร้อยออกไปศึกษาดูงานนอกสถานที่ เพื่อให้มีความรู้ในเรื่องภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อม ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อย่างมีประสบการณ์ 
      ในขณะเดียวกันก็สนพระทัยที่จะเสด็จไปร่วมการสัมมนาทางวิชาการ กับบรรดานักวิชาการตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ความรู้และความเข้าใจที่ได้จากการสังสรรค์ดังกล่าวนี้ ทำให้ทรงคิดอะไรที่เป็นสิ่งริเริ่มที่ดี ที่แนะนำแก่องค์กรทางราชการและสถาบันการศึกษาได้อย่างเหมาะสม 
      พระบารมีในเรื่องนี้ทำให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ คือมิ่งขวัญของบรรดาปัญญาชนทั้งหลาย ในสถาบันทางราชการและการศึกษาทั้งประเทศ 
      ความยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในฐานะทรงเป็นอาจารย์และนักวิชาการก็คือ การที่ทรงแลเห็นความสำคัญในเรื่องภูมิศาสตร์ และทรงผลักดันให้เกิดความสนใจขึ้นในบรรดาครู อาจารย์ และนักศึกษานักเรียนทั้งหลายอย่างได้ผลดี 
      แต่ก่อนเรื่องภูมิศาสตร์มักเรียนกันจากการดูแผนที่ อ่านตำรา สอน และอธิบายกันอยู่ตามห้องเรียนและชั้นเรียน หาได้ออกมาแลเห็นจากสภาพความเป็นจริงในธรรมชาติไม่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นับว่าเป็นเจ้านายพระองค์แรก ที่ทรงชี้แนะและผลักดันให้มีการออกไปศึกษาตามสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ในท้องถิ่นต่าง ๆ ของประเทศ และทรงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสภาพแวดล้อม ในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ความเข้าพระทัยในเรื่องนี้นั้นมาจากประสบการณ์ของพระองค์ ที่ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยือน และช่วยเหลือราษฎรในเรื่องการสร้างแหล่งน้ำ และแหล่งทำกินทางเกษตรกรรม ยิ่งกว่านั้น ยังได้ทรงสดับตรับฟัง เรียนรู้ และสังเกตเห็นว่ามีความก้าวหน้าทางความรู้ และเทคโนโลยี อะไรที่อาจนำมาสอนและมาใช้เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ให้แก่คนที่สนใจทั่วไปในประเทศได้ อย่างเช่น ทรงแลเห็นความสำคัญของภาพถ่ายดาวเทียม ที่จะนำมาใช้เป็นประโยชน์ ทั้งในด้านการศึกษา และการปฏิบัติการทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ นิเวศวิทยาทางวัฒนธรรม รวมไปถึงการพัฒนาชุมชน การจัดสรร และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในถิ่นต่าง ๆ
      เฉกเช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเข้าพระทัยในความเป็นสุวรรณภูมิ ที่มีความมั่งคั่ง และหลากหลายทางชีวภาพของดินแดนประเทศไทย จึงมักโปรดที่จะเดินทางไปทรงเยี่ยม และศึกษาแหล่งธรรมชาติในที่ต่าง ๆ ของประเทศ และทรงกระตุ้นให้หน่วยราชการ และผู้คนในท้องถิ่นเห็นความสำคัญของบรรดาพันธุ์พืชและสัตว์ เพื่อจะได้มีการอนุรักษ์ และพัฒนาให้เกิดผลดีแก่ผู้คนประชาชนทั่วไป 
      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเจริญรอยตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องเศรษฐกิจแบบพอเพียงในลักษณะที่เป็นรูปธรรม นั่นก็คือทรงแสดงให้เห็นว่า การอยู่รอดของประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศชาตินั้น เกษตรกรรมจะต้องเป็นหลัก และเป็นสิ่งที่เข้ากันกับความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละท้องถิ่น จึงจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้ และการปรับตัวของผู้คนในท้องถิ่น กับการเพาะปลูกพืชพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ก็ทำให้เกิดวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมที่หลากหลายไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ ของประเทศ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ถ้ามองเผิน ๆ จากสื่อต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็คือสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ในเรื่องศิลปวัฒนธรรม เพราะมักเสด็จไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานแสดงงานอยู่แทบทุกวัน
      แต่ในความเป็นจริงแล้ว พระองค์คือนักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ในเรื่องชีวิตวัฒนธรรมของผู้คน ทรงมีโครงการต่าง ๆ ทั้งในส่วนพระองค์และส่วนที่เป็นเครือข่ายทางราชการและเอกชน ในการพัฒนาท้องถิ่นแบบยั่งยืน เช่นการจัดตั้งโรงเรียนแก่เยาวชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ทรงแนะนำและสนับสนุนอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมให้แก่ชาวบ้าน ตลอดจนทรงช่วยเหลือดูแลในเรื่องอาหารและปัจจัยสี่อื่น ๆ ให้แก่เยาวชนและราษฎรผู้ยากไร้ พระราชกรณียกิจดังกล่าวนี้ ทรงทำขึ้นจากความคิด ความเข้าใจ และความริเริ่มในส่วนพระองค์ อันเป็นผลมาจากประสบการณ์ในการเป็นนักศึกษา และนักปราชญ์ของพระองค์ทั้งสิ้น 
      ในส่วนพระราชกรณียกิจที่ทรงทำให้แก่ประเทศชาติอย่างสำคัญในขณะนี้ก็คือ ทรงเป็นทูตสันถวไมตรีทางวัฒนธรรม ที่ได้รับการเชื้อเชิญจากนานาชาติให้เสด็จไปเยือน ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่การเยือนของพระองค์แต่ละครั้ง นับเป็นที่ประทับใจแก่ผู้คนทั้งหลาย เพราะหาได้เคยทรงแสดงพระองค์ในฐานะเจ้านาย ที่มีพระอิสริยยศสูงไม่ หากทรงถ่อมพระองค์ด้วยการแต่งตัวอย่างเรียบง่าย ในลักษณะเป็นนักศึกษาไปแสวงหาความรู้ ยิ่งกว่านั้น การเสด็จไปแต่ละครั้ง ก็มีโอกาสไปทอดพระเนตร และศึกษาบรรดาแหล่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติที่สำคัญของประเทศเหล่านั้น ซึ่งเมื่อมีการนำมาแพร่ภาพออกอากาศในวิทยุโทรทัศน์แล้ว ก็ทำให้คนอื่นในเมืองไทยได้รับความรู้ความเข้าใจอีกด้วย 
      แต่ในบางประเทศเช่นลาว และเขมรที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับประเทศไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นยิ่งกว่าทูตทางวัฒนธรรม หากทรงมีบทบาทในการช่วยพัฒนาทั้งในด้านการศึกษา สังคม และวัฒนธรรมด้วย มักเสด็จไปเยือนบ่อย ๆ ด้วยโครงการส่วนพระองค์ ทรงสนับสนุนการสร้างโรงเรียน และพัฒนาแหล่งการเกษตร และกิจกรรมที่เกี่ยวกับอาชีพให้แก่ประชาชน จนเป็นที่ยกย่องและเคารพของผู้คนในประเทศนั้น ๆ อย่างกว้างขวาง 
(คลิกดูภาพใหญ่)       โดยเฉพาะที่ประเทศกัมพูชา ดูเหมือนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นคนไทยพระองค์เดียว ที่ชาวเขมรถวายความเคารพอย่างจริงใจในขณะนี้
      ท่ามกลางประชาราษฎร์ในหมู่ชนชาวไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชจริยวัตรที่เป็นกันเองกับทุก ๆ คน ทรงพบปะและสนทนาด้วยในลักษณะที่เป็นคนธรรมดา อีกทั้งยามเสด็จไปไหนก็ดูไม่มีอะไรที่ต้องระวัง ในเรื่องความปลอดภัย ทรงพระราชดำเนินไปอย่างปราศจากช่องว่างทางสังคม ระหว่างเจ้ากับข้าอย่างที่ควรเป็น ในบรรดาผู้คนที่ยากไร้ การเสด็จไปทรงช่วยเหลือนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้บรรเทาความทุกข์ ความต้องการทางร่างกาย หากเป็นสิ่งที่ช่วยชโลมจิตใจให้อิ่มเอิบด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่าทรงเป็นเจ้านายที่พระราชทานความมั่นใจ และความสุขใจให้แก่ประชาราษฎร์อย่างทั่วถึง

"พระคุณนี้จะสถิตสนิทใน 
ดวงหทัยทวยราษฎรไม่คลาดเอย"