นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๔ เดือนตุลาคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๔ เดือนตุลาคม ๒๕๔๖ "จากโลกสีครามสู่ตู้ปลา"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๔ เดือนตุลาคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

จากบรรณาธิการ

 

 (คลิกดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า
Unseen แห่งแม่น้ำโขง

     ในบรรดาไม้ที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ ไม้สักจัดว่าเป็นไม้ยอดนิยมเกรดหนึ่ง
     ไม้สักเป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีลายสวย เสี้ยนตรง ความแข็งปานกลาง น้ำหนักค่อนข้างเบา เป็นไม้ที่ทนทานต่อการผุพังที่สุดในโลก ปลวกราไม่ขึ้น และทนทานต่อสภาพอากาศไม่ว่าร้อนจัด หนาวจัด
     เรือบรรทุกเครื่องบินทั่วโลกนิยมปูพื้นดาดฟ้าด้วยไม้สัก ด้วยคุณสมบัติที่ทนต่อความเค็มและการยืดหดตัวน้อย
     ขณะที่มีไม้สักอายุ ๒,๐๐๐ กว่าปีที่ใช้สร้างวิหารในอินเดีย และคานไม้สักตรงประตูทางเข้าวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อายุ ๕๐๐ กว่าปี ก็ยังอยู่ในสภาพดีไม่มีร่องรอยผุพัง
     กล่าวกันว่า เมื่อพระเจ้าสร้างโลก ได้ประทานของขวัญล้ำค่าคือไม้สักให้แก่ชาวโลก เพียงสามประเทศ คือ พม่า อินเดีย และไทย 
     อินเดียมีไม้สักน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ดังนั้นเจ้าแห่งไม้สักในโลกนี้จึงมีเพียงไทยและพม่าเท่านั้น
     แต่หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนไม่ต่ำกว่า ๓๐ แห่ง เข้าไปตัดไม้สักในป่า เอาเงินมาทำสงครามกับชนกลุ่มน้อยในประเทศ จนป่าสักเกือบจะเหี้ยนแผ่นดินหงสาวดี
     ไทยจึงเป็นประเทศเดียวในโลก ที่พูดได้ว่าเป็นแผ่นดินแห่งไม้สัก
     และในจำนวนไม้สักที่มีอยู่ห้าชนิด คือ สักหิน สักหยวก สักขี้ควาย สักไข และสักทองนั้น สักทองคือไม้สักราคาแพงอันดับหนึ่ง ด้วยเนื้อไม้สีเหลืองทองงดงาม อย่างที่เรียกกันว่า "กระพี้สีเหลืองอ่อน แก่นสีเหลืองทอง"
     พื้นที่ป่าสักทองส่วนใหญ่จะอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ และไม้สักเป็นไม้ที่นิยมขึ้นไม่ไกลจากลำน้ำไปจนถึงตีนเขา 
     สมัยก่อนบริเวณลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน เป็นบริเวณที่มีไม้สักสวยงามขึ้นมากที่สุด แต่ปัจจุบันป่าถูกทำลายไปเกือบหมด เหลือแต่ลุ่มน้ำยมที่ยังมีไม้สักทองเป็นป่าผืนใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่เรียกว่า "ดงสักงาม" ในอุทยานแห่งชาติแม่ยม จังหวัดแพร่ พื้นที่ประมาณ ๔ หมื่นไร่ 
     ผมไปเดินป่าดงสักงามมาหลายครั้งแล้ว จึงเข้าใจธรรมชาติของไม้สักทองว่า มันจะขึ้นได้ดีในบางพื้นที่เท่านั้น คือต้องเป็นภูมิอากาศแบบทางเหนือ อยู่ไม่ไกลลำน้ำ และพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๐๐-๗๐๐ เมตร 
     ดังนั้นอย่าได้แปลกใจ ถ้าเอาสักทองไปปลูกแถวเมืองกาญจน์ พอโตขึ้นจะกลายเป็นสักขี้ควาย
     หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ป่าสักทองขนาดใหญ่ที่สุดผืนสุดท้ายของประเทศ ก็จะจมน้ำมิดกลายเป็นส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำ

       และจะทำให้พันธุกรรมของไม้ชนิดนี้ต้องสูญหายไปจากป่าธรรมชาติ
     ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์น้ำท่วม หรือฝนแล้ง ข่าวการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นก็ดังกระหึ่มขึ้นมาทันที
     ขณะที่เมื่อเริ่มต้นโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน ก็อ้างว่าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก ไม่มีเรื่องการป้องกันน้ำท่วม หรือภัยแล้ง ต่อมาจึงเปลี่ยนวัตถุประสงค์มาเป็นเพื่อการชลประทาน ล่าสุดก็เปลี่ยนแคมเปญใหม่ว่า เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม 
     เขื่อนแก่งเสือเต้นดูจะเป็นยาสามัญประจำบ้านของพี่น้องเมืองสุโขทัยและเมืองแพร่ ที่โฆษณากันว่าสามารถป้องกันน้ำท่วม ฝนแล้ง ได้ชะงัดนัก
     ทั้ง ๆ ที่ตัวเขื่อนแห่งนี้สร้างอยู่ในป่าแม่ยม ห่างจากตัวเมืองแพร่นับร้อยกิโลเมตร และมีรายงานว่า เขื่อนนี้รองรับน้ำได้แค่ ๙ เปอร์เซ็นต์ของน้ำในลุ่มน้ำยมทั้งหมด และหากฝนตกใต้เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนก็ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองแพร่ได้
     งานวิจัยล่าสุดจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ชี้ชัดว่า โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมูลค่าเกือบหมื่นล้านบาทนั้น ไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ไม่นับรวมประโยชน์ของป่าสักแห่งนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา ๕๐ ปี คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ ล้านบาท
หรือพูดง่าย ๆ คือ ป่าสักแม่ยมมูลค่า ๖,๐๐๐ ล้านบาทจะหายวับไปทันที เมื่อมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เงินภาษีของคนไทยนับหมื่นล้านบาทจะถูกละลายไปกับการสร้างเขื่อนแห่งนี้ ทั้งที่รู้ว่าป้องกันน้ำท่วมคนเมืองแพร่ได้ไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์
     เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หรือปลายเหตุกันแน่
     ทำไมกรมชลประทานไม่ลองตั้งโจทย์ใหม่ เลิกคิดจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นไปเลย แล้วหันมาระดมสติปัญญาหาทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง ซึ่งน่าจะมีหลายแนวทาง ไม่ว่าการขุดลอกแม่น้ำยมที่ตื้นเขิน การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ปัญหาการตัดถนนที่เป็นอุปสรรคในการไหลของแม่น้ำยม ฯลฯ
     ผมเชื่อว่าข้าราชการไทยมีภูมิปัญญาที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้ โดยไม่ต้องไปแลกกับการทำลายธรรมชาติ
     ปล่อยให้ป่าแม่ยม ป่าสักทองผืนสุดท้าย มีชีวิตอยู่รอดไปเถิดครับ

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com