นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๖ เดือนธันวาคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๖ เดือนธันวาคม ๒๕๔๖ "เสด็จเตี่ย"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๖ เดือนธันวาคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

หิ่งห้อย แสงสว่างกลางพงไพร

  เรื่องและภาพ :ศุภสรณ์  เจริญวัฒนา
(คลิกดูภาพใหญ่)       เย็นวันหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ผมยืนอยู่กับแม่บนสะพานไม้หลังวัดศรีเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ฟ้าก่อนพระอาทิตย์ตกสวยกว่าทุกวัน ด้วยอากาศที่ร้อนพาไอน้ำลอยขึ้นไปจับตัวเป็นเมฆหนา สะท้อนแสงอาทิตย์สีส้มไม่กี่นาทีก่อนที่จะลับลงกลางแม่น้ำท่าจีน ฟ้าค่อยๆเปลี่ยนจากสีส้มเป็นสีแดงและเป็นสีม่วง ในที่สุดก็มืดสนิท
      ในช่วงที่ฟ้าผลัดสีมืดลงนี้เอง มีแสงอีกชนิดหนึ่งที่กลับค่อยๆสว่างขึ้น มันเป็นจุดแสงสีเหลืองอมเขียว ลอยสูงจากใบหญ้าเหนือน้ำอุ่นๆ ที่โดนแดดเผามาตลอดทั้งวัน ขึ้นมาหยุดอยู่บนต้นไม้ จำนวนของมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเต็มต้น แสงนั้นเริ่มเห็นชัดและกะพริบเป็นจังหวะ ดึงความสนใจของผมไว้ได้หมด พอละสายตามองรอบๆตัว ผมจึงพบว่าตัวเองกำลังอยู่ในความมืด เพ่งมองแมลงชนิดเดียวที่สามารถเปล่งแสงได้ ซึ่งเรารู้จักมันในชื่อว่าหิ่งห้อย
      ผมจำได้ว่าผมอยู่ ป.2 ตอนที่พ่อของผมจับหิ่งห้อยมาให้ดูในช่วงหัวค่ำของฤดูร้อนต่อฤดูฝน มันเป็นการหลงไหลอะไรแบบเด็กๆ เห็นปุ๊บชอบปั๊บ พอชอบแล้วก็อยากเป็นเจ้าของ คืนนั้นผมนอนกับหิ่งห้อยสองตัวที่ใส่ไว้ในกล่องกระดาษเจาะรู และคอยตื่นมาดูมันเรื่อยๆด้วยกลัวว่าของชอบจะหายไปสำหรับผมแล้วหิ่งห้อยเป็นของแปลก เป็นสิ่งมหัศจรรย์ และน่าจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ผมกับแม่มายืนอยู่บนสะพานแห่งนี้ รำลึกถึงช่วงเวลาเก่าๆในฤดูร้อน ความประทับใจในคืนนั้น กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นในวัยเด็กของผม ให้กลายเป็นความสนใจอยากเรียนรู้ในวัยนี้ขึ้นมา คำถามแรกที่คนมักจะถามผมและผมก็มักจะถามตัวเองตลอดมาเมื่อนึกถึงหิ่งห้อยคือ มันกะพริบแสงได้อย่างไร แล้วมันกะพริบทำไม
 

กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร

(คลิกดูภาพใหญ่)       เพื่อตอบคำถามพื้นๆ ที่น้อยคนจะตอบได้เหล่านี้ ผมจึงต้องหาผู้เชียวชาญเรื่องหิ่งห้อยสักคน ชื่อของอาจารย์สมหมาย ชื่นราม ผุดขึ้นมาในหัวของผมทันที เพราะผมจำได้ว่าผมเคยเห็นอาจารย์ออกรายการโทรทัศน์ อาจารย์พูดถึงการอนุรักษ์หิ่งห้อยและธรรมชาติของมัน ในฐานะที่เป็นหัวหน้ากลุ่มงานอนุกรมวิธานแมลง กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร 
      ผมโทรศัพท์ไปหาอาจารย์ที่กองกีฏและสัตววิทยา หลังจากที่สายของผมถูกโอนไปโอนมาอยู่พักใหญ่ ในที่สุดผมก็ได้เรียนสายอาจารย์ สมหมาย
      "คุณอยากทราบเรื่องอะไรล่ะคะ อาจารย์จะได้เตรียมไว้ไห้" อาจารย์ถามผมหลังจากผมแนะนำตัวเสร็จด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน และเป็นกันเอง
      ถึงแม้วันนั้นอาจารย์จะติดประชุมตลอดทั้งวัน แต่อาจารย์ก็กรุณาถ่ายเอกสารผลงานวิจัยที่อาจารย์ทำร่วมกับอาจารย์องุ่น ลิ่ววานิช ไว้ให้ผมอ่าน อาจารย์บอกผมว่า ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นหนังสือนั้นยังมีน้อย เพราะไม่ค่อยมีคนสนใจศึกษาเรื่องนี้
      คืนนั้นผมกลับไปอ่านผลงานวิจัยของอาจารย์ทั้งสองอย่างตั้งใจได้ความว่า หิ่งห้อยนั้นมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า "Firefly" หรือ "Lightening bug"
      บางครั้งมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "Glowworm" หรือ หนอนเรืองแสง เพราะตัวเมียบางชนิดไม่มีปีก มีลักษณะคล้ายหนอน
      หิ่งห้อยเป็นแมลงปีกแข็ง อยู่ในอันดับ Coleoptera วงศ์ Lampyridae ที่ให้แสงสวยงามในเวลากลางคืน ทั่วโลกมีหิ่งห้อยประมาณ 2,000 ชนิด ลำพังในประเทศไทยมีอยู่มากกว่า 100 ชนิด แต่มีเพียง 10 ชนิดเท่านั้นที่ได้รับการจำแนกชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง เนื่องจากหิ่งห้อยแต่ละชนิดมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก ทำให้ยากต่อการแยกชนิด 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ขนาดของหิ่งห้อยที่เล็กที่สุดที่พบในเมืองไทย ยาวเพียงประมาณ 2 มม. ในขณะที่ขนาดใหญ่ที่สุด ยาวถึงประมาณ 10 ซม. หิ่งห้อยตัวผู้มีปีก และมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ส่วนตัวเมียมีรูปร่างหลายแบบ มีทั้งชนิดที่มีปีกสมบูรณ์ บางชนิดมีปีกสั้น บางชนิดไม่มีปีกแต่มีรูปร่างเหมือนหนอน ถิ่นที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อยนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของมัน บางชนิดอาศัยอยู่บริเวณน้ำจืด บางชนิดอาศัยอยู่บริเวณน้ำกร่อย และบางชนิดอยู่บนดิน 
      หิ่งห้อยมีการเจริญเติบโตแบบสมบูรณ์ คือมีระยะไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย จากการศึกษาวงจรชีวิตของหิ่งห้อย Luciola brahmina Bourgeois พบว่า วงจรชีวิตของหิ่งห้อยนั้นจะช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อุณหภูมิ ความเข็มของแสง ความชื้นสัมพัทธ์ ความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร และชนิดของหิ่งห้อย อย่างในช่วงฤดูฝน หิ่งห้อยมีวงจรชีวิตเพียง 3 เดือนเท่านั้น ในขณะที่ช่วงฤดูแล้งต้องใช้เวลาถึง 5 เดือน และ 84% ของช่วงเวลา 3-5 เดือนนี้ หิ่งห้อยจะอยู่ในระยะหนอน หิ่งห้อยตัวเต็มวัยที่เราเห็นบินไปบินมานั้นไม่กินอาหาร กินแต่น้ำ มีชีวิตเพียง 1-2 สัปดาห์ เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ 
      ในเรื่องของการกะพริบแสงที่ผมอยากรู้นั้น อาจารย์อธิบายไว้ว่า หิ่งห้อยเป็นแมลงประเภทที่ผลิตแสงได้ (Light-producing insects) อันเป็นแสงทางชีวภาพ (bioluminescence) ที่เป็นแสงเย็น แสงของหิ่งห้อยเกิดจากปฎิกริยาทางเคมีของสารที่ชื่อว่า Luciferin ซึ่งอยู่ในอวัยวะผลิตแสง ทำปฏิกริยากับออกซีเจนในหลอดลมโดยมีเอนไซม์ Luciferase เป็นตัวกระตุ้น และมีสาร Adenosine triphosphate (ATP) เป็นตัวให้พลังงาน แสงของหิ่งห้อยที่เราเห็นมีความสว่างตั้งแต่ 1/50 ถึง 1/400 แรงเทียน ซึ่งถ้านำมารวมกันมากๆก็สามารถใช้อ่านหนังสือในคืนเดือนมืดได้ทีเดียว 
      หิ่งห้อยกะพริบแสงเพื่อเป็นสัญญานของการหาคู่ ซึ่งสัญญาณของหิ่งห้อยแต่ละชนิดก็จะแตกต่างกันไป เช่น บางชนิดเมื่อตัวผู้กะพริบแสง ตัวเมียตอบรับ ตัวผู้ก็รู้ว่าเป็นชนิดเดียวกัน บางชนิดตัวเมียเป็นฝ่ายกะพริบก่อนแล้วตัวผู้เป็นฝ่ายตอบรับ หิ่งห้อยตัวผู้นั้นจะให้แสงจ้ากว่าตัวเมีย เนื่องจากตัวผู้มีปล้องให้แสง 2 ปล้อง คือปล้องที่ 5 และ 6 ส่วนตัวเมียมีเพียงปล้องเดียวคือปล้องที่ 5 
      หิ่งห้อยในวงจรชีวิตระยะต่างๆนั้นสามารถเปล่งแสงได้ ยกเว้นระยะไข่ซึ่งบางชนิดมีแสงบางชนิดไม่มีแสง เราจึงสามารถพบหนอนและตัวเต็มวัยของหิ่งห้อยเปล่งแสงได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินจนถึงรุ่งเช้า โดยจะเริ่มเปล่งแสงทันทีเมื่อเริ่มมืด และจะมากที่สุดตอนหัวค่ำ หลังจากนั้นจำนวนหิ่งห้อยจะค่อยๆลดลง ตัวเต็มวัยนั้นไวต่อแสงมาก เมื่อมีแสงมากระทบจะหยุดกะพริบแสงหรือกะพริบน้อยลง แต่ตัวหนอนนั้นแม้จะมีแสงสาดส่องหรือถูกลมพัด ก็ยังคงเปล่งแสงได้
 

โครงการพระราชดำริ

(คลิกดูภาพใหญ่)       หลายวันต่อมา ผมไปหาอาจารย์สมหมายอีกครั้งเมื่อใกล้เวลาเลิกงาน เพื่อสอบถามเรื่องโครงการศึกษาหิ่งห้อยที่อาจารย์รับผิดชอบอยู่ ผมอยากรู้ว่าอะไรเป็นแรงผลักดันให้กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร ซึ่งน่าจะเน้นเรื่องของแมลงศัตรูพืชเพื่อการเกษตร แต่กลับมาสนใจศึกษาวงจรชีวิตของหิ่งห้อยอย่างจริงจังขนาดนี้ ความรู้ที่น่าทึ่งเหล่านี้ไม่ได้ได้มาจากการอ่านเพียงอย่างเดียวแน่ หากแต่ต้องอาศัยการทดลอง การสังเกตอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงความอดทนรอคอย และแน่นอน อดทนต่อยุงตามป่าที่แสนดุเวลาออก
      "อยากรู้ว่าทำไมถึงมาทำเรื่องหิ่งห้อย ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันไม่น่าจะต้องทำใช่ไหม" อาจารย์สมหมายถามนำในสิ่งที่ผมอยากรู้ได้อย่างแม่นยำ ทันทีที่เริ่มบทสนทนา
      เพื่อจะทราบที่มาของโครงการนั้น ต้องท้าวความไปถึงอดีต เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2539 ในการเสด็จฯเยือนสวนพฤกษศาสตร์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระทัยในเรื่องหิ่งห้อย จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ กับ ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ประธานคณะกรรมการโครงการสวนพฤกษศาสตร์ในขณะนั้น ให้ทดลองศึกษาถึงความสัมพันธ์ของพันธุ์ไม้ป่ากับหิ่งห้อย ดังนั้นโครงการหิ่งห้อยในพระราชดำริจึงเกิดขึ้น
      เนื่องจากการศึกษานั้นครอบคลุมพื้นที่กว้างมาก จึงมีการแบ่งหน้าที่กันเป็นภาคๆ ไป โดยภาคเหนือมี อาจารย์ มนัส ทิตย์วรรณ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้รับผิดชอบ 
      ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอาจารย์ ยุพา หาญบุญทรง ภาควิชากีฎวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
      ภาคกลางและภาคตะวันออกมีอาจารย์ สมหมาย ชื่นราม และอาจารย์ องุ่น ลิ่ววานิช กองกีฎและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร
      และภาคใต้มี ดร. บรรพต ณ ป้อมเพชร แห่งศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืช โดยชีวินทรีย์แห่งชาติ
      "ปัจจุบันโครงการมีความก้าวหน้าไปมาก เมื่อเทียบกับเมื่อก่อน" อาจารย์อธิบายพลางนึกถึงอดีตเมื่อผมถามถึงโครงการในปัจจุบัน
      "เดิมทีนั้นพูดได้เลยว่าไม่มีใครศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีข้อมูลน้อยมาก เราต้องศึกษาอยู่หลายปี จากที่รู้แค่ว่าหิ่งห้อยมีแสง"
      หลังการวิจัยระยะหนึ่ง ความรู้ก็เริ่มผลิดอกออกผล การค้นพบใหม่ๆ เช่นว่าในเมืองไทยมีหิ่งห้อยเป็นร้อยชนิด แต่ละชนิดมีความแตกต่างกันมาก เรื่องความหลากหลายของที่อยู่อาศัยและอาหาร หรือ ความรู้ที่ว่าหิ่งห้อยระยะหนอนนั้นเป็นตัวห้ำ ทำลายหอยที่เป็นโฮสต์กึ่งกลาง (Intermediate host) ของพยาธิที่เป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในคน โฮสต์กึ่งกลางของพยาธิที่ทำให้เกิดโรคเลือดในสัตว์ และโฮสต์กึ่งกลางของพยาธิใบไม้ในลำไส้ของคน
      ความรู้ที่เพิ่งถูกเปิดเผยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เพิ่มความน่าสนใจให้กับการศึกษาหิ่งห้อย นักชีววิทยาปัจจุบันมีความคิดที่จะใช้หิ่งห้อยระยะหนอนเป็นศัตรูธรรมชาติของสัตว์ที่เป็นศัตรูพืช และที่สำคัญใช้เป็นตัวห้ำทำลายหอยชนิดที่เป็นพาหะของพยาธิที่นำโรคมาสู่คนและสัตว์ รวมไปถึงทำลายหอยเชอรี่ที่เป็นศัตรูของต้นข้าวด้วย
      ในอเมริกามีการค้นคว้าถึงขั้นนำสาร Luciferin ที่มีอยู่ในหิ่งห้อยไปตรวจหาแบคทีเรียในเนื้อสัตว์ ยิ่งไปกว่านั้นคือนำไปใช้ตรวจเซลล์มะเร็ง และติดตามการเติบโตของมันในร่างกาย โดยที่ไม่ต้องอาศัยการผ่าตรวจ เช่นในอดีต
(คลิกดูภาพใหญ่)       อุปสรรคของโครงการตอนนี้ก็มีเรื่องของการศึกษาด้านอนุกรมวิธาน หรือการจำแนกชนิด เพราะว่าหิ่งห้อยแต่ละตัวมีความคล้ายคลึงกันมาก การจะจำแนกได้อย่างถูกต้องนั้นต้องอาศัยความชำนาญ ซึ่งอาจารย์และทีมงานกำลังเน้นเรื่องนี้กันอยู่
      "คือเราอยากรู้ว่า หิ่งห้อยร้อยกว่าชนิดที่พบนั้น มีชื่อว่าอะไรบ้าง มีความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างไร" อาจารย์กล่าวเสริม
      ในส่วนของเป้าหมายของโครงการในอนาคตนั้น อาจารย์สมหมายมองไปถึงความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์เป็นจำนวนมากๆ ถึงขั้นปล่อยออกไปในธรรมชาติ เพราะตอนนี้อาจารย์บอกผมว่าเรายังทำไม่ได้ถึงขั้นนั้น ยังไม่สามารถเพาะขยายพันธุ์ในห้องทดลองได้ ทุกอย่างยังต้องพึ่งธรรมชาติ ถึงแม้ว่าเราจะรู้อะไรขึ้นมากกว่าแต่ก่อนจากการทดลองก็ตาม
      หลังจาก "โครงการหิ่งห้อยในพระราชดำริ" ได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง ความรู้ความเข้าใจในวงจรชีวิตของหิ่งห้อย ก็ได้ปลุกกระแสการอนุรักษ์หิ่งห้อยเพื่อการท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น เอกชนเริ่มให้ความสนใจเข้ามาขอคำปรึกษาจากกรมวิชาการเกษตร ในรื่องของการจัดระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อหิ่งห้อยในการขยายพันธุ์ แม้กระนั้นก็ตามอาจารย์ก็ยังเห็นว่าหิ่งห้อยกับการท่องเที่ยวนั้นเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะว่าหิ่งห้อยนั้นไม่ได้มีทุกเดือน เดือนไหนที่สภาพอากาศไม่เหมาะสม ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล ความชื้นไม่พอ หิ่งห้อยก็ไม่มี แล้วจะทิ้งพื้นที่ไว้เฉยๆหรือ คงไม่ใช่แน่ ชาวบ้านต้องทำมาหากิน
      ส่วนเรื่องการอนุรักษ์หิ่งห้อยอย่างเดียวนั้นยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ปัจจุบันมีปัจจัยหลายสิ่งหลายอย่างที่กำลังคุกคามการอยู่รอดของหิ่งห้อย ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลภาวะต่างๆจากชุมชนเมือง ทำลายความสมดุลทางธรรมชาติของหิ่งห้อย หรือจะเป็นปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในเขตหวงห้าม ไม่ต้องพูดถึงเขตพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน น้อยคนที่จะปล่อยพื้นที่ให้รกร้างว่างเปล่าเพื่อการอนุรักษ์หิ่งห้อย
      "พูดไปแล้วบ้านเราปากท้องเราสำคัญกว่า เรียกว่าคนเหลือกินเหลือใช้เท่านั้นแหละจะมาสนใจตรงนี้ ชาวบ้านเขาตัดลำพูทุกปี แล้วปลูกต้นจาก เพื่อที่จะได้มีลูกจากไปขายกิน เขาไม่สนหรอกว่ามีหิ่งห้อยหรือไม่ มีไปทำไม เขาอดตาย" อาจารย์อธิบายให้เห็นถึงมุมมองของชาวบ้านได้อย่างชัดเจน
      วันนั้นผมลาอาจารย์กลับด้วยความเป็นห่วงชะตากรรมของหิ่งห้อยในอนาคต ในเมื่อหิ่งห้อยยังไม่ใช่แมลงเศรษฐกิจที่ชาวบ้านสนใจ
 

สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

(คลิกดูภาพใหญ่)       หลังจากวันนั้น ผมเทียวไปเทียวมาอยู่แถวกรมวิชาการเกษตรบ่อยครั้ง รอว่าวันใหนคุณ ณัฐวัฒน์ แย้มยิ้ม เจ้าพนักงานเกษตร 5 และเจ้าหน้าที่คนอื่น ซึ่งทำงานช่วยอาจารย์ สมหมาย อยู่นั้น เขาจะออกไปจับหิ่งห้อยกัน ผมจะได้ไปด้วย เผื่อจะมีโอกาสได้เห็นหิ่งห้อยพันธุ์แปลกๆกับเขาบ้าง
      จนวันหนึ่ง โอกาสของผมก็มาถึง เมื่อคุณ ณัฐวัฒน์ แนะนำให้ผมรู้จักกับคุณ สุระ พิมพะสาลี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มงานอนุกรมวิธานแมลง ของกองกีฎและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร และที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือเขาเป็นนักวิจัยในโครงการหิ่งห้อยของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เรียกว่าเป็นสมองของโครงการเลยเชียวละ
      "สวนสัตว์เปิดเขาเขียวมีโครงการเพาะพันธุ์หิ่งห้อยด้วยหรือ" ผมถามตัวเองในใจหลังจากรู้จักกับคุณ สุระ
      คุณสุระนั้นมีความสนใจในหิ่งห้อยมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว ซึ่งในอดีตได้มีโอกาสช่วยอาจารย์ ยุพา หาญบุญทรง ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นศึกษาหิ่งห้อยในเขตของภาคอีสาน ต่อมาพอมาอยู่กรมวิชาการเกษตรก็ได้มาช่วยอาจารย์ องุ่น ลิ่ววานิช ในเรื่องของอนุกรมวิธาน ประกอบกับปัจจุบันได้มาเป็นส่วนหนึ่งในคณะปฏิบัติการวิทยาการ ของโครงการอนุรักษ์พันธุ์พืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ประสบการณ์ที่สั่งสมมามากมายนี้ ถูกนำมาใช้อีกครั้งเมื่อได้มาร่วมงานกับสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ความท้าทายของโครงการนี้อยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถเพาะขยายพันธุ์หิ่งห้อยได้ตลอดปี เพี่อที่จะใช้ในการท่องเที่ยว
      "ผมต้องทำให้มันผิดฤดูกาล" คุณสุระกล่าวขณะที่ผมทำหน้างงๆ
"คือในช่วงหนึ่งปี เนี่ย ฤดูแล้งจะมีหิ่งห้อยน้อย เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้มันมีเยอะ เราก็ต้องมาศึกษาว่าสภาพที่มันชอบในช่วงที่มันมีเยอะเป็นอย่างไร มันก็ต้องมีความชื้น เราก็ต้องปรับสภาพให้มันชื้น ให้มันมีได้ทุกวัน
      คนที่เขามาชมไนท์ซาฟารีทุกวันต้องได้เห็น" คุณสุระอธิบายเสริม
      "ช่วงชีวิตของหิ่งห้อยนั้นต้องใช้เวลาราวๆ 4 เดือน และเป็นตัวเต็มวัยอยู่เพียงประมาณ 1-2 อาทิตย์ แปลว่าในช่วง 1-2 อาทิตย์นี้ เราต้องมีหิ่งห้อยรุ่นใหม่ซึ่งเริ่มเลี้ยงเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว ออกมาเปลี่ยนกัน มันไม่ใช่หมูที่ตั้งท้องไม่กี่เดือน ออกลูกมาอยู่ได้นานเป็นปีๆ"
      "มันต้องเป็นการจัดการแบบมโหราฬมาก" คุณสุระวาดภาพความซับซ้อนของโครงการในหัวของผมได้อย่างชัดเจน
      โครงการนี้เพิ่งจะเริ่มจริงๆเมื่อเดือนตุลาคม 2545 หากไม่นับการวิจัยนอกรอบที่ทำมาก่อนหน้านี้ คาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีในการศึกษา และอีก 2 ปีในการพัฒนาพื้นที่ รวมแล้วก็ 5 ปี ไม่ใช่ธรรมดาเลย 
      ผมไปเขาเขียวทันทีที่มีโอกาส และได้พบกับผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว คุณ ธนภัทร พงษ์ภมร ผู้วางเป้าหมายหลักๆให้กับการดำเนินการโครงการหิ่งห้อย
      "ผมว่าหิ่งห้อยก็เป็นเหมือนราชินีของกลางคืนนะ" เป็นคำกล่าวเปรียบเทียบความสวย ของหิ่งห้อยจากท่านผู้อำนวยการ
(คลิกดูภาพใหญ่)       ท่านผอ. เล่าให้ผมฟังถึงวัตถุประสงค์ของโครงการว่า ทางสวนสัตว์มุ่งเน้นให้มีการเลี้ยงหิ่งห้อยเพื่อ จัดแสดงให้ผู้คนชม พร้อมกับแผยแพร่ความรู้ควบคู่กันไป โดยเป้าหมายในอนาคตตั้งไว้ที่การปล่อยสู่ธรรมชาติ ซึ่งตอนนี้คุณ สุระ เป็นผู้ดูแลในรายละเอียด
      หลังจากท่านผอ.อธิบายให้ผมฟังเสร็จ คุณ อภิเดช สิงหเสนี ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ก็เข้ามารับหน้าที่ต่อ พาผมเดินลัดเลาะผ่านกรงสัตว์ต่างๆ เข้าไปยังพิพิธภัณฑ์เด็ก ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการ แนะนำให้ผมรู้จักพี่ๆเจ้าหน้าที่ทุกคนที่กำลังง่วนอยู่กับงาน แต่ก็เงยหน้ามายิ้มให้ เริ่มจากพี่สมร ที่กำลังออกแบบการวางตู้เพาะหิ่งห้อย ถัดมาพี่สมศักดิ์ นั่งยุ่งอยู่กับกองเอกสารเบิกจ่ายอุปกรณ์ สุดท้ายพี่สมาน กำลังปีนจัดต้นไม้ในตู้เพาะ ส่วนคุณสุระนั้นวันนี้ไม่อยู่ จะมาได้ก็ช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ ดังนั้นพี่ๆสามคนที่นี่ก็ต้องดูแลกันเองไปก่อน คอยจดบันทึกการทดลอง และความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในตู้เพาะทุกระยะ
      ผมเดินดูรอบห้องทดลองช้าๆ สายตาจ้องดูขวดดองหิ่งห้อยที่ตัดกับแสงสว่างจากหน้าต่าง ทีละขวด ทีละขวด จนในที่สุดมาหยุดอยู่ตรงขวดที่มีหนอนตัวใหญ่สีขาวซีด ขนาดเท่านิ้วก้อย นอนไร้ชีวิตอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ในสารแอลกอฮอล์ที่ใช้ดองแมลง
      "นั่นหิ่งห้อยตัวเมียพันธุ์ Lamprigera sp." พี่สมรบอกผมในขณะที่เดินไปหยิบกล่องพลาสติกขนาดประมาณกระดาษ A4 มาให้ดู
      "ดูตัวเป็นๆดีกว่า..... ระวังหน่อยนะ ตัวนี้กำลังออกไข่" พี่สมรเตือน
      ผมชะงักเล็กน้อย ก่อนจะเข้าไปมองดูใกล้ๆ ภายในกล่องมีหนอนชนิดเดียวกันแต่สีนวลกว่า มีหลังเป็นเกล็ดแข็งคล้ายกี้งกือ กำลังนอนอยู่บนกองไข่สีเหลืองขนาดเท่าเม็ดปู๋ยประมาณ 50 ใบ ไม่มีอะไรบ่งบอกว่ามันเป็นหิ่งห้อยเลย ยกเว้นแสงไฟสีเขียวอมเหลืองที่ก้น ซึ่งสว่างกว่าแสงหิ่งห้อยทั่วไปที่ผมเคยเห็นหลายเท่านัก หิ่งห้อยพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตนานนับปี
      ตัวถัดมา ถูกเลี้ยงไว้ในกล่องพลาสติกขนาดเล็กกว่า ภายในมีเปลือกไม้หนึ่งชิ้นให้หิ่งห้อยหลบแสง หิ้งห้อยตัวนี้เป็นพันธุ์ Luciola ovalis Hope มีลวดลายคล้ายเปลือกไม้ที่มันซ่อนอยู่ ไม่มีปีก
      คืนนั้นผมโชคดี พี่สมร และพี่สมานจะออกไปจับหิ่งห้อยในระแวกนั้น เพื่อเอามาศึกษาสายพันธุ์ท้องถิ่นกันอยู่แล้ว ผมจึงขอติดสอยห้อยตามไปด้วย จุดหมายคืออ่างเก็บน้ำบางพระ
      พี่สมรเตรียมรองเท้าบูทยาง สูงเกือบถึงหัวเข่าสองคู่ นอกจากกันเปียกแล้ว ยังลดความเสี่ยงจากการถูกงูกัดได้อีกด้วย ที่ขาดไม่ได้คือสวิงจับแมลง หากใครที่เคยจับหิ่งห้อยจะทราบดีว่า การจับพวกมันในที่มืดขณะที่มันบินพร้อมกะพริบแสงนั้นไม่ไช่เรื่องง่าย ช่วงที่มันกระกริบนั้นเหมือนมันกำลังล่องหน ต้องเดาว่ามันจะเปิดแแสงอีกทีตรงไหน
(คลิกดูภาพใหญ่)       เราไปถึงอ่างเก็บน้ำบางพระตอนใกล้ค่ำ ตรงนั่นเป็นหนองน้ำย่อยๆที่แยกมาจากอ่างใหญ่ มีผักตบชวาขึ้นคลุมหมด ริมฝั่งเต็มไปด้วยหญ้าขึ้นรกตลอดแนว ผมถอยลงมาเดินรั้งท้าย ให้พี่ๆกับรองเท้าบูทครึ่งขาเดินนำหน้า เพราะว่าผมเริ่มนึกกลัวงูขึ้นมา จากการที่ครั้งหนึ่งเคยไปวิ่งไล่จับหิ่งห้อยแล้ว เกือบเหยียบเอางูจงอางริมน้ำเข้า ดีที่เพื่อนเตือนให้เอาไฟฉายไปด้วย ไม่งั้นคงมองไม่เห็นงูตัวนั้นแน่
      ไม่นานหลังพระอาทิตย์ตกดิน หิ่งห้อยก็ตื่นจากการหลับไหลมาตลอดทั้งวัน เริ่มยืดเส้นยืดสายและไต่จากที่ซ่อนตัวตามโพรงหญ้า ขึ้นมาเกาะบนยอดใบ เมื่อตั้งหลักได้ก็กางปีกแข็งทั้งสองข้างออกทันที พร้อมกับกระพือปีกอ่อนชั้นในเร่งเครื่องทยานสู่อากาศอย่างรวดเร็ว เปิดไฟแว็บๆเหมือนเครื่องบินยังไงยั่งงั้นเลย จำนวนของ "เครื่องบินหิ่งห้อย" เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป จุดหมายของเที่ยวบินนี้คือการตามหาคู่
      "ฟลึบ ฟลึบ....ฟลึบ ฟลึบ" เสียงตาข่ายแหวกอากาศไปทางซ้ายที ขวาที
      ก้นตาข่ายเต็มไปด้วย "เครื่องบินหิ่งห้อย" ซึ่งกะพริบแสงถี่ขึ้นกว่าจังหวะปรกติ ราวจะบอกภาคพื้นดินว่าผมเจอเหตุฉุกเฉินเข้าแล้ว
      พี่สมรนำหิ่งห้อยทั้งตัวผู้ตัวเมียที่จับได้ซึ่งโดยมากเป็นพันธุ์ Luciola brahmina Bourgeois ใส่ถุงพลาสติกไว้ด้วยกัน ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อว่าช่วงเวลาเพียงแป็บเดียวที่เจอกันในถุง หิ่งห้อยก็เริ่มผสมพันธุ์กันแล้ว นั่นแปลว่าอีกประมาณ 3 วันจากนี้ หิ่งห้อยตัวเมียก็จะเริ่มวางไข่ซึ่งจะฟักเป็นหนอนในอีก 8-11 วัน
      พระจันทร์ดวงโตของคืนเดือนหงาย โผล่พ้นขอบฟ้าตอนประมาณสองทุ่ม แสงจันทร์สะท้อนใบหญ้าและผักตบชวาดูเหมือนหิ่งห้อยมาก การจับหิ่งห้อยเป็นไปได้ยากขึ้น หลังจากโดนหลอกให้จับแสงจันทร์ตามใบหญ้ากันไปคนละหลายครั้ง กิจกรรมการจับหิ่งห้อยจำต้องหยุดลงแต่เพียงเท่านี้
      เรากลับมายังห้องทดลองอีกครั้งกลางดึก เพื่อนำหิ่งห้อยมาเก็บใส่ตู้ ในความมืดตอนที่เดินเข้าห้องนั้นเอง หิ่งห้อยทั้งตัวอ่อนตัวแก่ที่กลางวันมักมองไม่ค่อยเห็น ต่างเปล่งแสงแข่งกันระยิบระยับอยู่ในตู้ ทำให้ผมพอจะจินตนาการได้ถึงห้องมืด ที่จะแสดงหิ่งห้อยในอนาคต ซึ่งผู้ชมสามารถชมได้แม้ในเวลากลางวัน
      พี่ทั้งสองช่วยกันนำหิ่งห้อยที่จับมาใส่ตู้แยกไว้ สำหรับที่จะศึกษาถึงชนิดที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆสวนสัตว์ ซึ่งจะเป็นตัวบอกว่าพันธุ์ใหนที่สามารถปล่อยกลับสู่ธรรมชาติได้ ได้โดยไม่มีผลกระทบต่อแมลงท้องถิ่น เพราะว่าหากเราปล่อยหิ่งห้อยที่ไม่ได้มีพื้นเพมาจากที่นั่นออกสู่ธรรมชาติโดยไม่ศึกษาให้ดีแล้ว มันอาจจะไปรบกวนหรือขัดขวางการขยายพันธุ์ของหิ่งห้อยเจ้าถิ่นก็ได้
      คืนนั้นผมกลับจากเขาเขียวทันทีที่เก็บหิ่งห้อยเสร็จ ระหว่างทางกลับเหล่าหิ่งห้อยหน้าตาแปลกๆที่ผมเห็นมาตลอดเวลาที่อยู่ที่เขาเขียว ก็เริ่มลอยออกมาบินอยู่ในจินตนาการของผม เป็นเพื่อนเดินทางตลอดทางกลับกรุงเทพฯ
 

หมู่บ้านแสมชาย จังหวัดเพชรบุรี

(คลิกดูภาพใหญ่)       พอกลับมาจากเขาเขียว ผมออกเดินทางอีกครั้งทันที จุดหมายคราวนี้ไม่ใช่องค์กรใหญ่ๆ ที่มีโครงการอนุรักษ์หิ่งห้อย แต่เป็นเพียงการไปพบเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งของโรงเรียนวชิรธรรมโศภิต ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ที่มีการสืบทอดการอนุรักษ์หิ่งห้อย จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง
      "ดูๆๆๆๆ ....นกกระเต็นอกขาว"
      "เอ้า...เบรคคคค.....นั่น..นกกระเต็นหัวดำ"
      "โน่น......กระเต็นน้อยธรรมดา" เสียงมรรค เพื่อนนักดูนกตัวยงของผมที่เดินทางไปด้วยคอยชี้ให้ดูนกตัวโน้นตัวนี้มาตลอดทาง จะเป็น "นกกระเต็นอกดำหัวขาว" หรือ "อกขาวหัวดำ" ผมจำไม่ได้แน่ แต่ชื่อ"นกกระเต็นน้อยธรรมดา" ช่างสะดุดหูผมเหลือเกิน
      "นกอะไรช่างโชคร้าย ถูกคนพ่วงคำว่า "ธรรมดา" ตามหลังชื่อ แค่ได้ยินชื่อก็ไม่น่าสนใจแล้ว" ผมนึกในใจ
      รถวิ่งๆหยุดๆบ่อยขึ้นเมื่อเข้าเขตอำเภอบ้านแหลม นั่นอาจเป็นเพราะนกพันธุ์แปลกๆ ที่อพยพมาเฉพาะช่วงฤดูหนาวบินผ่านหน้ารถอวดโฉมให้มรรคเห็น หรือไม่ก็หลุมขนาดใหญ่บนถนน ที่มีเยอะพอๆกับนก
      สองข้างทางเต็มไปด้วยนากุ้ง บางที่ยังมีน้ำขังอยู่ บางที่กุ้งถูกจับขายหมดแล้ว เหลือแต่ผิวดินที่แห้งแตกระแหง สะท้อนไอร้อนจากดวงอาทิตย์กลับขึ้นมา สายไฟฟ้าที่ขนานไปกับถนน เป็นที่พักอย่างดีให้กับพวกนกกินปลาชนิดต่างๆที่เฝ้ามองสัตว์น้ำในนากุ้ง จึงไม่แปลกอะไรที่จะเห็นนกเหล่านี้อย่างง่ายดาย
      ผมมาถึงโรงเรียนวชิรธรรมโสภิตตอนบ่ายแก่ๆของวันศุกร์ เด็กนักเรียนเดินกันขวักไขว่ เพราะเป็นเวลาใกล้เลิกเรียน
      "นั่นนะครับ............อยู่ตรงนั้นนะครับ ....คนที่นั่งผมยาวอยู่นั่นละครับ" ภารโรงคนหนึ่งของโรงเรียนชี้ให้ผมไปหาอาจารย์ สุวรรณชัย คัลธมาต เมื่อผมพูดถึงหิ่งห้อย
      ผมเข้าไปทำความรู้จักกับอาจารย์ และนั่งคุยอยู่ครู่ใหญ่ อาจารย์บอกว่า โดยปรกติแล้วอาจารย์สอนวิชาพละศึกษา (แม้ว่าอาจารย์อาจจะดูเหมือนครูสอนศิลปะมากกว่าเนื่องจากผมที่ยาวปรกไหล่คล้ายศิลปิน) พอนอกเวลาสอนอาจารย์ก็จะมาจัดกิจกรรมให้เด็กนักเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วม เด็กแต่ละคนนั้นจะมีความสนใจไม่เหมือนกัน อาจารย์จึงมีกิจกรรมหลายอย่างให้เด็กๆได้เลือก โดยสมาชิกในแต่กลุ่มนั้นอาจจะเป็นนักเรียนชั้นใหนก็ได้ที่สมัครใจ สำหรับกิจกรรมในการอนุรักษ์หิ่งห้อยนั้นมีชื่อว่า โครงการกลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ มีสมาชิก 13 คน โดยมีตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ถึงปีที่ 6 คละเคล้ากันไป
      กิจกรรมที่อาจารย์ส่งเสริมให้นักเรียนทำ คือการปลูกต้นไม้ตามป่าชายเลน ทดแทนต้นที่ถูกตัดไปทำฟืน ดูแลเรื่องขยะในบริเวณป่าชายเลน และพยายามประชาสัมพันธ์ให้โรงเรียนอื่นเห็นเป็นตัวอย่าง โดยมีการร่วมมือกันในบางกิจกรรม สิ่งต่างๆเหล่านี้ อาจารย์จะเน้นให้เริ่มจากที่บ้านของเด็กเอง เพราะเด็กนักเรียนในกลุ่มส่วนใหญ่จะมีบ้านอยู่ติดแม่น้ำอยู่แล้ว ดังนั้นแต่ละคนก็จะมีหน้าที่เฝ้าระวังเรื่องของมลภาวะ และสังเกตสิ่งแปลกปลอมจากรอบๆบ้านตนเอง ว่ามีอะไรที่น่าจะทำอันตรายหิ่งห้อยได้บ้าง ในทั้งทางตรงและทางอ้อม
(คลิกดูภาพใหญ่)       อาจารย์อาสาพาเราไปดูหิ่งห้อยที่หมู่บ้านแสมชาย ที่ซึ่งเด็กๆสมาชิกส่วนใหญ่อาศัยอยู่ ก่อนแยกย้ายกันไป อาจารย์นัดเด็กๆให้พบกันที่บ้านของน้องสุชาดา วงษ์ทองดี หรือว่าน้องสุ ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่ม
      เราไปถึงจุดนัดหมายตอนใกล้ค่ำ น้องสุออกมาต้อนรับพวกเราด้วยหน้าตาที่ยิ้มแย้มทันทีที่ไปถึง เธอใส่เสื้อยืดสีเขียวขี้ม้า ตรงหน้าอกมีตัวหนังสือสีเหลืองแก่เขียนว่า "นักศึกษาวิชาทหาร"
      "สุกำลังเรียน ร.ด. อยู่ค่ะ กะว่าจะเรียนให้จบปี 5 ถ้าไม่สอบเอ็นทรานส์ ติดซะก่อน" เธอตอบเพื่อนของผมที่สงสัยเรื่องที่มาของเสื้อยืดตัวนั้น
      เธอบอกว่าเธออยากเป็นทหาร ในขณะเดียวกันเธอก็จะพยายามสอบเข้าเรียนนิติศาสตร์หรือไม่ก็รัฐศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย
      ตอนที่เธอเข้าร่วมกลุ่มอนุรักษ์หิ่งห้อยครั้งแรกนั้น เธออยู่ชั้น ม.4ปัจจุบันเธออยู่ชั้น ม.5 และขึ้นมาเป็นหัวหน้ากลุ่ม หลังจากหัวหน้ารุ่นพี่ เรียนจบจากโรงเรียนไป 
      เสียงเจี๊ยวจ๊าวดังมาจากทางหน้าบ้านของน้องสุ ผมหันมองตามเสียงเห็นเด็กๆเดินหยอกล้อกันมาหัวเราะคิกคัก คิกคัก น้องๆเดินมาบอกเราว่าอาจารย์รออยู่ที่ท่าเรือของหมู่บ้านแล้ว 
      ระหว่างทางเดินจากบ้านไปท่าเรือ ผมเห็นน้องสุทักทายเพื่อนบ้านทีละหลัง ทีละหลังอย่างสนิทสนม ทำให้ผมนึกเปรียบเทียบการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของคนในชนบทกันคนเมือง เพราะหากเป็นกรุงเทพฯหรือเมืองใหญ่ๆละก็ บ้านติดกันอาจจะไม่รู้จักกันด้วยซ้ำไป ที่นี่ทำให้ผมรู้สึกอบอุ่นจริงๆ
      "เอ้า..........ต้อม เอาเรือเข้ามาเทียบฝั่งซิ....จะได้ไปกัน.....นี่พระอาทิตย์จะตกแล้ว"
      "เดี๋ยวพี่เขาจะไปเรือลำเดียวกับเธอด้วยนะ"
      "แล้วมรรคมากับครูแล้วกัน" อาจารย์ซึ่งพร้อมอยู่บนฝั่งสั่งการเด็กๆอย่างหนักแน่น ราวกับกำลังจะออกไปทำการใหญ่
      มรรคนั้นชอบพายเรือจึงขอพายให้อาจารย์นั่ง ผมกับน้องสุนั่งลำเดียวกันและมีน้องต้อมเป็นฝีพาย น้องๆผู้ชายอีกสองกลุ่มเอาเรือจากบ้านมาร่วมด้วย เราเลยมีกันทั้งหมดสี่ลำ
      สองฝั่งเต็มไปด้วยต้นลำพูกับแสม แผ่กิ่งยื่นลงมาถึงน้ำ รากอากาศแหลมๆนับร้อยของต้นลำพู โผล่ขึ้นมารอบๆต้นดูน่าหวาดเสียว เหมือนกับเป็นกับดักรอเด็กซนๆที่ขึ้นไปปีนต้นไม้ พอเรือผ่านเข้าไปใกล้ฝั่ง ผมเอื้อมมือไปจับดูความแข็งของราก แต่แล้วก็โล่งใจไปได้เปราะหนึ่งเมื่อพบว่ามันไม่ได้แข็งอย่างที่คิด 
      ที่จริงแล้วรากอากาศเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการอยู่รอดของต้นลำพูเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันผ่านการวิวัฒนาการให้สามารถทำหน้าที่แลกเปลียนอากาศกับโลกภายนอก เพื่อปรับสมดุลระหว่างความกดดันภายในกับภายนอกลำต้น นอกจากนี้มันยังมีหน้าที่รับก๊าซออกซิเจนจากอากาศเพื่อใช้ในกระบวนการหายใจ ทำให้มันสามารถอาศัยอยู่ในที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานได้
(คลิกดูภาพใหญ่)       พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว แต่ท้องฟ้ายังคงเป็นสีแดงอมม่วง แสงหิ่งห้อยที่ซ่อนอยู่ตามใบไม้ก็ค่อยๆสุกสว่างระยิบระยับขึ้น เหมือนฉากเปิดของละครเวที สอดรับกับนิทานความรักสามเส้าที่น้องสุกำลังเล่าให้ผมฟัง
      "ต้นโกงกางเนี่ยเขาเป็นผู้หญิง แล้วเขามาหลงรักต้นลำพูซึ่งเป็นผู้ชาย แต่ต้นลำพูเนี่ยเขามีคนรักอยู่ก่อนแล้วคือหิ่งห้อย เขาก็เลยไม่สนใจโกงกาง
      พอลำพูจะตามหิ่งห้อยไป โกงกางก็แผ่รากยึดลำพูไว้ด้วยความอาลัยรัก ซึ่งนั่นก็เป็นสาเหตุว่าทำไมต้นโกงกางจึงมีรากเยอะ และทำไมหิ่งห้อยจึงชอบอยู่กับต้นลำพูจนถึงทุกวันนี้"
      ถึงแม้ว่าอันที่จริงแล้ว หิ่งห้อยจะเกาะต้นไม้อื่นๆ เช่น ต้นแสมดำ ต้นขาเปี๋ย ด้วยก็ตาม แต่เมื่อเวลาที่ใครพูดถึงหิ่งห้อย ก็มักจะนึกถึงต้นลำพูเป็นอันดับแรก
      ขณะที่เราจับกลุ่มพายเรือคุยกันมาอย่างเพลิดเพลิน ผ่านความมืดของค่ำคืน ที่ประดับประดาไปด้วยแสงดาวและแสงหิ่งห้อย ทันใดนั้นแสงไฟนีออนสีขาวจ้า ก็ส่องมาปะทะเรือของเราทันที่ที่เรือลอยผ่านกลุ่มต้นลำพูหนาทึบ
      "เออ....ตรงนั่นเป็นร้านอาหารของนายทุนที่เพิ่งเข้ามานะครับ" เสียงอาจารย์พูดอย่างค่อยไม่พอใจ
      ร้านอาหารดังกล่าวมีลักษณะเหมือนร้านอาหารริมน้ำทั่วไป คือมีลานโต๊ะอาหารยื่นลงมาติดชายน้ำ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ก่อนที่ร้านอาหารจะมาตั้งนั้น บริเวณนี้เคยมีต้นโกงกางและลำพูขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น
      แสงไฟสีขาวจากร้านอาหารนั้น สว่างจนกลบแสงหิ่งห้อยสนิท ราวกับจะปลุกเราให้ตื่นจากฝันมารับรู้ความจริงประการหนึ่งว่า ซักวันหนึ่งความสวยงามเหล่านี้จะต้องพ่ายแพ้ต่อความเจริญของชุมชน หากเราไม่รีบหาทางแก้ไข
      ผมทำตาหยีอยู่พักหนึ่ง ระหว่างที่เราทยอยกันหันหัวเรือกลับ สักครู่ตาผมก็เริ่มปรับตัวมองเห็นความสวยงามชัดเจนอีกครั้ง เมื่อเราหันหลังให้กับแสงสว่างที่เสมือนหนึ่งเป็นตัวแทนของความเจริญ และมุ่งหน้ากลับสู่หมูบ้านในความมืด
      "ถ้าแสงสว่างเมื่อตะกี้นี้เป็นเหมือนความเจริญ มันก็ได้บดบังตาผมไม่ให้เห็นความสวยของหิ่งห้อยไปแล้วชั่วขณะหนึ่ง"
      "ถ้าอย่างนั้น.... อีกหน่อยความเจริญก็คงบดบังตาชาวบ้านด้วยเช่นกัน แล้วหิ่งห้อยก็คงจะต้องหมดไป" ผมนึกเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้น
      ระหว่างพายเรือกลับ อาจารย์พูดถึงจุดยืนของตนเอง ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง ที่กำลังเกิดขึ้นกับหมู่บ้านแสมชาย อย่างเช่น การสร้างสะพานคอนกรีท ซึ่งอาจารย์กลัวว่าจะทำให้มีรถเข้ามาวิ่งกันมากขึ้น แล้วถ้ามีการสร้างถนนขึ้น แนวต้นลำพูอาจจะต้องหายไป เช่นเดียวกับการทำนากุ้งที่เริ่มทำกันอย่างแพร่หลาย ทำให้ต้นไม้จำนวนมากถูกตัดทิ้งไป พื้นที่ถูกไถกลบทำเป็นนา เปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศวิทยาไปโดยสิ้นเชิง
(คลิกดูภาพใหญ่)       คืนนั้นผมกลับไปนอนคิดดู แล้วก็มองเห็นถึงความคิดที่สวนทางกันของ กลุ่มอนุรักษ์กับกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งก็ดูจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นคู่กันมาตลอดทุกที่ กลุ่มอนุรักษ์อยากจะปกป้องทรัพยากร ขณะที่กลุ่มชาวบ้านต้องกินต้องใช้เพื่อปากท้อง โดยเฉพาะถ้าท้องนั้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆตามอิทธิพลของความเจริญ ที่แพร่เข้ามาจากสังคมภายนอก การที่จะกินให้อิ่มด้วยทรัพยากรที่จำกัดย่อมเป็นไปได้ยาก
      เอ่....ดังนั้น เราจะทำยังไงจึงจะสามารถทำให้คนอิ่มด้วยการอนุรักษ์ อันนี้ก็ยิ่งยากเข้าไปอีก...ฮ่า .ฮ่า.. แต่ถ้าทำได้ละก็....มันจะอยู่อย่าง ถาวร เราคงจะต้องระดมสมองจากทุกๆฝ่าย วิเคราะห์ปัญหาที่พันกันยุ่งอยู่ทั้งระบบ แล้วก็ค่อยๆแก้อย่างเป็นระบบมั๊ง
      เช้าวันรุ่งขึ้นก่อนที่ผมจะกลับ ผมแวะมาที่หมู่บ้านอีกครั้ง เพื่อมาดูวิถีชีวิตของชาวบ้านยามเช้า โดยเดินตามถนนลูกรังที่ตัดผ่านหมู่บ้านขนานไปกับแม่น้ำเพชร มองไปทางซ้ายเห็นพื้นที่โล่งเตียนซึ่งเป็นนากุ้ง มองมาทางขวาเห็นกลุ่มควันสีขาวกระจายตัวไปทั้วบริเวณ
      "อ๋อ....เขากำลังเผาถ่านจากไม้ลำพู" ผมตอบตัวเองในใจ
      คนเผาถ่านเงยหน้ามามองผมด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแต่อาบด้วยน้ำตาที่ไหลพรากๆ เพราะควันไฟจากลมซึ่งเปลี่ยนทิศทางอยู่ตลอด
      ผมเดินต่อมาสักพักฝั่งซ้ายก็เปลี่ยนเป็นดงต้นจาก เริ่มมีบ้านยกพื้นเข้ามาสลับกับต้นไม้ ขณะที่น้ำกำลังขึ้น ชาวบ้านฉวยโอกาสนี้ทยอยกันพายเรือออกไปตัดใบจากในสวนเพื่อมาเย็บขาย และพวกเขาต้องกลับมาก่อนน้ำลงไม่เช่นนั้นแล้วท้องเรือจะติดและพายกลับมาไม่ได้ 
      ความคิดของผมล่องลอยไปเรื่อยๆระหว่างที่เดิน จินตนาการถึงความเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับหมู่บ้าน และหิ่งห้อย ทันใดนั้นเอง ด้วยความชอบส่วนตัว ผมสังเกตเห็นแมวสีน้ำตาลอ่อนตัวโต จมูก หู เท้าและหางดำ ลักษณะคล้ายแมววิเชียรมาศ นอนอยู่หน้าบ้านหลังหนึ่ง
      "เหมี๊ย.ย..ว.. เหมี๊ย.ย..ว... " ผมพยายามเลียนเสียงแมวให้เหมือนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะที่เขยือบเข้าใกล้มันที่ละก้าวๆ
      จนในที่สุดผมอยู่หน้าบ้าน และอยู่ห่างจากเจ้าแมวตัวนั้นประมาณสองเมตร
      "แคร๊ก..........แอ๊....ด...ด..ด.ด.." เสียงประตูบ้านเปิด
      ผมและแมวสะดุ้งพร้อมกัน เจ้าแมวชิงวิ่งหนีทันทันทีที่มีโอกาส ทิ้งผมให้เผชิญหน้ากับเจ้าของบ้านตามลำพัง
ผมมองไปที่ประตูเห็นคุณยายผมขาว อายุประมาณแปดสิบเห็นจะได้ แกออกมายืนมองผม (อาจจะเห็นว่าผมเสียงเหมือนแมวก็ได้) ผมยิ้มเจื่อนๆ แล้วรีบอธิบายให้แกฟัง
(คลิกดูภาพใหญ่)       "มาดูแมวน่ะ ยาย" ผมพูดพรางชี้ไปทางที่มันเดินหนีไป
      "ไม่ได้... ไม่ได้.... เจ้าของเขารักมัน" ยายทำหน้าสงสัย แต่ก็รีบตอบทันควัน
      ผมเริ่มงงในคำตอบของยาย (แค่ดูจะไม่ได้เชียวหรือ)
      "แค่ขอดูเฉยๆนะยาย" ผมย้ำให้ยายฟังอีกครั้ง เพราะดูแกก็งงๆเหมือนกัน
      "พูดอะไรน่ะ...ไม่ค่อยได้ยิน... มาพูดใกล้ๆหน่อย...หูมันไม่ดี" ยายตอบขณะที่กวักมือเรียกให้เดินเข้าไปใกล้ ว่าแล้วก็เอามือโน้มคอผมเหมือนจะตีเข่าตาม จากนั้นก็เอียงหูให้ผม 
      ผมยิ้มแล้วอธิบายซ้ำข้างหูแกอย่างดัง ว่าแค่มาดูแมวเฉยๆ ไม่ได้มาขอแมวอย่างที่แกเข้าใจ
      หลังจากคุยกับแกสารพัดเรื่องด้วยความยากลำบาก ผมก็นึกขึ้นได้ว่าก่อนเจอแมวผมกำลังจินตนาการค้างถึงอนาคตของหิ่งห้อยอยู่ เลยเอ่ยถ่ามแกถึงปริมาณหิ่งห้อยในอดีตเทียบกับปัจจุบัน
      "ยาย.... ตอนยายเด็กๆเห็นหิ่งห้อยเยอะไหม"
      "แต่ก่อนนะโกงกางเขารักลำพู แต่ลำพูเขาไปรักหิ่งห้อย โกงกาง ....ก็เลย....." ??..ยายทำหน้าเหมือนได้ยินไม่ค่อยถนัด แล้วก็ตอบผม
      ผมอมยิ้มพร้อมกับพยักหน้าให้แก เหมือนว่าเข้าใจในสิ่งที่แกพูด แล้วก็ไม่ได้ถามอะไรแกอีก 
      ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้คำตอบที่ตรงนัก แต่นิทานเรื่องเดียวกันกับของน้องสุที่แกเล่าให้ฟังนั้น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของคนแต่ละยุค ที่มีการถ่ายทอดความประทับใจในหิ่งห้อยออกมาในรูปของนิทาน ซึ่งแปลว่าหิ่งห้อยจะยังคงอยู่ในใจของชาวบ้านมาจนถึงคนรุ่นหลัง แล้วอย่างน้อยถ้าวันหนึ่งมันหายไปพวกเขาจะรู้
      การเดินทางเพื่อทำความรู้จักหิ่งห้อยของผมจบลง ผมอดนึกย้อนกลับไปถึงคนต่างๆที่ผมผ่านพบเจอมาในแต่ละที่ไม่ได้ คนที่น่าทึ่งเหล่านี้ทำงานหนักเพื่อการอนุรักษ์หิ่งห้อย โดยมีเหตุผลส่วนตัวคือความหลงไหล และสิ่งที่ผมสังเกตเห็น คือความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถแยกออกได้ ระหว่างกลุ่มคนที่หลงไหลเหล่านี้กับกลุ่มคนอื่นๆในสังคม เพราะมันเป็นความสมดุลกันทางธรรมชาติ เมื่อไหร่ที่สังคมขาดกลุ่มคนที่มีจิตสำนึกในเรื่องนี้ไป ก็คงจะเหมือนกับช่วงเวลาที่วันหนึ่งหิ่งห้อยจะหมดไปจากธรรมชาติ วันที่ดรรชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดกำลังแจ้งเราถึงตัวเลขในแดนลบ และวันนั้นแหละจะเป็นวันที่ทุกอย่างมันแย่เกินกว่าจะแก้ไขแล้ว
 

ขอขอบคุณ

        -กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร, อ.สมหมาย ชื่นราม และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน
      -สวนสัตว์เปิดเขาเขียว, คุณ ธนภัทร พงษ์ภมร, คุณ สุระ พิมพะสาลี, และนักวิจัยทุกท่าน
      -โรงเรียนวชิรธรรมโศภิต, ชาวหมู่บ้านแสมชาย จังหวัดเพชรบุรี, อ.สุวรรณชัย คัลธมาต, น้องสุชาดา วงษ์ทองดี และน้องๆนักเรียนในโครงการกลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ทุกคน