นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๖ เดือนธันวาคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๖ เดือนธันวาคม ๒๕๔๖ "เสด็จเตี่ย"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๖ เดือนธันวาคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

ความ (มีอัน) เป็นไปของมะละกอ จากฮาวายถึงไทยแลนด์

  นิรมล มูนจินดา : เรื่อง / วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ
          ๑. ที่โคนา เกาะใหญ่ (Big Island) รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา จอน บิลูน เป็นฝรั่งชาวไร่ ทำเกษตรอินทรีย์ แต่พอมาเมืองไทย เขาเป็นแขก  
(คลิกดูภาพใหญ่)       วงสนทนารอบขันโตกฉบับชาวบ้านค่ำวันนั้นเฮฮาครึกครื้น ถูกใจทั้งผู้เหย้าและผู้เยือน
      ไม่น่าเชื่อว่าคนสองคนที่ไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน อยู่ห่างไกลกันบนแผ่นดินซึ่งเวลาต่างกัน ๗ ชั่วโมง และไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย จะคุยถูกคอจนนับกันเป็นพี่น้องเมื่อร่วมวงข้าวกันเพียงมื้อสองมื้อ
      คนหนึ่งเป็นชาวนาลูกแม่ทา กิ่ง อ. แม่ออน จ. เชียงใหม่ ผู้ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศไทยไปไหนเลย อีกคนหนึ่งเป็นชาวไร่จากฮาวาย ทริป "เมืองนอก" ครั้งแรกก็คือการมาเมืองไทยครั้งนี้ ส่วนแม่บ้านของคนแรกเป็นผู้รับชมรับฟัง โดยมีนักเขียน สารคดี ทำหน้าที่เป็นล่ามจำเป็น
      พ่อสมศักดิ์ สิงห์ทองแท้ รินเหล้าพื้นบ้าน "ของทำเอง" ยิ้มภาคภูมิใจส่งให้ ลุงจอนรับมาดื่มชิมไม่มีบิดพลิ้ว ยิ้มกว้างชมว่า Great! Great! พลางจกข้าวเหนียวจากกระติ๊บจิ้มกินกับผัดยอดมะระอ่อน มีคนบอกแม่นวลสีแล้วว่าฝรั่งคนนี้เป็นมังสวิรัติ อาหารบนโตกจึงประกอบด้วยผักผัดเอาใจแขกสองจาน ไข่เจียว และแกงจืดตำลึงใส่หมูสับ
      เหยียบเมืองไทยเป็นครั้งแรกนี้ ลุงจอนได้ "โฮมสเตย์" ที่บ้านพ่อสมศักดิ์ผู้นับได้ว่าเป็นดาราในหมู่ชาวไร่ชาวนาแม่ทาที่ทำเกษตรอินทรีย์ บ้านและสวนพืชผักหลายชนิดของชาวไร่คนนี้เป็นความภาคภูมิใจของชุมชน หากจะมีใครมาเยี่ยมชมสวนเกษตรอินทรีย์ปลอดยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีแล้วละก็ สวนของพ่อสมศักดิ์ "ประธานสถาบันพัฒนาทรัพยากรเกษตรยั่งยืนแม่ทา" ย่อมเป็นหนึ่งในรายการต้องแวะชมชนิดที่พลาดไม่ได้เด็ด ๆ โดยเฉพาะผักหวานป่าที่ปลูกได้ยากเย็นนั้น ทั้งตำบลก็มีแต่พ่อสมศักดิ์กับใครอีกคนเท่านั้นที่ปลูกได้สำเร็จ
(คลิกดูภาพใหญ่)       พื้นกระดานที่ถูกเช็ดถูอย่างดีของบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูงหลังนี้ต้อนรับการมาของคนมาพักมาดูงานมิได้ขาด ฝรั่งนักศึกษาบางคนที่เคยมาพักเคยบอกกับแม่นวลสีว่า ชอบเสียงเอี๊ยดอาดของพื้นไม้ที่ดังยามเดิน เพราะที่บ้านเขาเดินแล้วไม่ดัง ลุงจอนเองคงจะเพิ่งได้นอนกับพื้นและเข้าห้องน้ำส้วมซึมฝาสังกะสีอย่างนี้เป็นครั้งแรก ความผิดแผกกันของวิถีชีวิตที่แตกต่างเช่นนี้หาได้เป็นช่องว่างระหว่างชาวไร่ต่างเชื้อชาติทั้งสองไม่
      สำหรับเกษตรกรทั้งสอง ความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของการเป็นคนทำเกษตรยั่งยืน และมีพืชพรรณหลากหลายอยู่ในไร่สวนเรือกนาอยู่ที่การ "ไม่ต้องไปซื้อหาของจากตลาดมากนัก" ทั้งคู่มีน้ำเสียงบลั๊ฟกันเล็กน้อยว่า ของกี่อย่างกันที่อีกฝ่ายต้องไปหาซื้อจากตลาด (ลุงจอน : กระเทียม หอมใหญ่ ข้าว และเกลือ ส่วนพ่อสมศักดิ์ : เกลือและเนื้อสัตว์)
      ลุงจอนและพ่อสมศักดิ์แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดและประสบการณ์ ว่าตั้งแต่เรื่องปรัชญาการเลี้ยงลูก ชนิดของปุ๋ยและวิธีใส่ปุ๋ย วิธีหมักขยะเปียกในครัวเรือน วิธีทำน้ำปุ๋ยหมัก และจิปาถะ จนพ่อสมศักดิ์กล่าวสรุปในที่สุดว่า ชาวไร่อย่างเราไม่หวังรวย เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นผู้ทำนุบำรุงรักษาธรรมชาติไว้ แล้วธรรมชาติก็จะตอบแทนเอง คำพูดของพ่อสมศักดิ์ถูกใจลุงจอนยิ่งนัก เขาบอกกับพ่อสมศักดิ์ว่า ตัวเขาเองก็เป็น "servant of Mother Nature" เหมือนกัน พ่อสมศักดิ์ไม่เคยได้ยินคำเรียกอย่างไพเราะเช่นนี้ จึงหยุดคิดชั่วขณะ ก่อนจะยิ้มกว้างพยักหน้าเห็นด้วยกับลุงจอนเต็มที่
      ทั้งคู่หัวเราะดังลั่น ยืนยันว่าชาวไร่อย่างพวกเราเป็นผู้รับใช้ธรรมชาติจริง ๆ ต่างฝ่ายต่างเอ่ยนับถือกันเป็นพี่น้อง และผู้เยือนเชิญผู้เหย้าให้ไปเยี่ยมบ้านที่ฮาวายบ้าง
      คุณผู้อ่านคิดว่า เหตุผลกลใดที่จะมีน้ำหนักพอที่จะพาให้ชาวไร่ธรรมดา ๆ อย่าง จอน บิลูน นึกอยากจะเดินทางจากโคนาข้ามน้ำข้ามทะเลเกือบ ๗,๐๐๐ ไมล์ มายังประเทศย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะว่าไปก็มีรูปร่างหน้าตาอากาศไม่ต่างจากถิ่นฐานที่บ้านตัวเองเลยกันเล่า
      ลุงจอนเตรียมจะบอกอยู่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้แล้ว
      อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า งานเสวนาของกลุ่มสมาชิกเครือข่ายผู้ผลิตพืชผักปลอดสารพิษจะเริ่มต้นขึ้น ลุงจอนจึงดื่มเพียงเล็กน้อย เพราะเขาเป็นคนหนึ่งที่ต้องพูด
          ๒. ที่เพื่อนสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์แม่ทาตั้ง ๑๕ คนมาร่วมวงเสวนาในคืนนี้ก็เพราะมันเป็นเรื่องของบะก้วยเต้ดจีเอ็มโอ
(คลิกดูภาพใหญ่)       แม้ว่าวันนี้ตำบลแม่ทาจะยังไม่มีใครปลูกพืชจีเอ็มโอ แต่คนที่นี่ก็เคยได้ยินข่าวเรื่องพืชแปลกประหลาดที่ว่ากันมาแล้ว ทั้งฝ้ายบีทีและถั่วเหลืองจีเอ็มโอ
      ส่วน "มะละกอจีเอ็มโอ" นี่เป็นอย่างไร ก็ยังไม่เคยมีใครได้ยินมาก่อน
      ค่ำนี้แหละที่สมาชิกสหกรณ์เกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทาจำกัดมานั่งล้อมรอบโต๊ะประชุม (ที่มีจานมะละกอของชาวบ้านกับของลุงจอนวางอยู่) เพื่อฟังข่าวสารจากฝรั่งตัวใหญ่สองคนนี้
      การมานั่งเสวนากับชาวบ้านของเมลานีและลุงจอนอย่างค่ำวันนี้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญในการมาเมืองไทยของคนทั้งคู่ เมลานีกับลุงจอนได้ข่าวว่า กิจกรรมเกี่ยวกับมะละกอจีเอ็มโอในประเทศไทยกำลังดำเนินไปอย่างคึกคักภายใต้ความเงียบ 
      ทั้งสองคนไม่เพียงแต่รู้จักมะละกอจีเอ็มโอ แต่ยังรู้ซึ้งถึงความมหาภัยของมันดีด้วยประสบการณ์ของตนในฐานะที่เป็นคนฮาวาย
      เมลานี บอนเดอรา อายุ ๓๕ ปี ก่อนหน้าที่เธอจะมาลงหลักปักฐานทำเกษตรยั่งยืนอยู่ที่ฮาวายกับสามีและลูก ๆ เมลานีเป็นที่ปรึกษาให้แก่องค์กรด้านการเกษตรและเดินทางมาแล้วทั่วโลก ไร่ของเธออยู่ไม่ไกลจากไร่ของลุงจอนนัก
      นอกจากงานในไร่กาแฟ เมลานียังเป็นสมาชิกเครือข่ายรณรงค์ต่อต้านจีเอ็มโอแห่งฮาวาย (HI-GENE Hawaii Genetic Engineering Action Network) ซึ่งรณรงค์ต่อต้านและรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และงานวิจัยเกี่ยวกับบรรดาพืชจีเอ็มโอในฮาวาย เมื่อกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชวนเธอให้มาบอกเล่าถึงสถานการณ์ของพืชจีเอ็มโอที่เกิดขึ้น เมลานีตอบตกลงและชวนลุงจอนมาสมทบด้วยอีกแรงหนึ่ง
      เรื่องที่เมลานีกับลุงจอนพบเจอกับตัวเองมานั้น อาจเริ่มต้นได้ว่า :
      กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว บนเกาะใหญ่แห่งหมู่เกาะฮาวาย ยังมีชาวไร่อย่างเมลานีและลุงจอนปลูกกาแฟ กล้วย สับปะรด ส้ม อะโวคาโด ถั่วแมคคาเดเมีย ตะไคร้ เผือก ส้ม ไผ่ ช็อกโกแลต มะพร้าว มังคุด และมะละกอ เพื่อเป็นอาหารและเลี้ยงชีพชอบเช่นเดียวกับชาวไร่ชาวนาคนอื่น ๆ (มีทั้งที่ทำเกษตรยั่งยืนและที่ยังใช้สารเคมี) ...
      อยู่มาวันหนึ่ง มหาวิทยาลัยแห่งฮาวายได้เปิดตัวมะละกอดัดแปรพันธุกรรม หรือมะละกอจีเอ็มโอพันธุ์เรนโบว์และพันธุ์ซันอัป โฆษณาอย่างดิบดีว่า พืชดังกล่าวจะต้านทานโรคไวรัสจุดด่างวงแหวน (PRSV-Papaya Ring Spot Virus) ได้
      ความที่ชาวไร่มะละกอในฮาวายประสบปัญหาแก้ไม่ตกในเรื่องนี้เป็นทุนเดิม เพราะโรคไวรัสจุดด่างวงแหวนเป็นแล้วตายไม่มีทางรักษาหาย ต้องตัดต้นทิ้งเท่านั้น ทำให้ชาวสวนจำนวนมากเชื่อและหันมาปลูกมะละกอจีเอ็มโอ โดยเฉพาะคนที่เคยพึ่งพาสารเคมีมาตลอดและต้องการให้พืชผลในไร่ของตนปลอดโรคอย่างสิ้นเชิง
(คลิกดูภาพใหญ่)       "แต่เราเป็นชาวไร่นะ" เมลานีว่า "ชาวไร่ก็ต้องเจอกับแมลง วัชพืช โรคพืช สภาพฝนฟ้าอยู่แล้ว เป็นเรื่องท้าทายออก"
      "ชาวนาส่วนใหญ่มองไม่เห็นว่า ศัตรูพืชแต่ละอย่างทำให้เกิดโรคที่ไม่เหมือนกัน พวกนั้นเหมาเอาแต่ว่าต้นไม้ของตัวเองเป็นโรค" ลุงจอนตั้งข้อสังเกต "แล้วมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้บอกให้ชัดเจนด้วยว่า มะละกอจีเอ็มโอแก้ปัญหาโรคจุดด่างไวรัสได้อย่างเดียวเท่านั้น ชาวไร่ส่วนใหญ่จึงเชื่อว่ามะละกอจีเอ็มโอแก้โรคได้ทุกโรค เป็นซูเปอร์มะละกอที่จะโตขึ้นอย่างมีสุขภาพสมบูรณ์โดยไม่เป็นอะไรเลย"
      ในสวนสาธิตของเมลานีเองก็มีพืชที่เป็นโรคและมีศัตรูพืชอื่น ๆ อยู่บ้างเหมือนกัน แต่หลายโรคก็สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ปุ๋ยธรรมชาติและการชลประทานที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ส่วนลุงจอนก็มีวิธีจัดการกับโรคไวรัสจุดด่างวงแหวนโดยไม่ต้องอาศัยสารเคมีหรือพึ่งการดัดแปรพันธุกรรมด้วยซ้ำ
      หลังจากที่มหาวิทยาลัยแนะนำมะละกอพันธุ์เรนโบว์กับพันธุ์ซันอัปออกสู่ตลาดแล้ว ผลพวงอันไม่พึงปรารถนาอันเกิดแต่มะละกอทั้งสองพันธุ์เป็นที่ประจักษ์ชัดเจน
      ความสูญเสียใหญ่หลวงอย่างแรกที่เกิดขึ้นคือ ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกมะละกอสำคัญของฮาวาย ปฏิเสธไม่รับซื้อมะละกอดัดแปรพันธุกรรม เพราะผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นไม่รับประทานผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ แถมผลมะละกอที่ได้ออกมาก็กลับมีเนื้อเละ เกษตรกรต้องขายมะละกอจีเอ็มโอในราคาถูก คือ ๑๓-๑๗ เซ็นต์ต่อปอนด์ (เมื่อเทียบกับมะละกอธรรมชาติ ๔๕-๘๕ เซ็นต์) และต้องจ่ายค่าต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเป็นค่าจดทะเบียน ค่าธรรมเนียม และยาปราบศัตรูพืช ทั้งยังไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในปีต่อไปได้ตามข้อกำหนดของบริษัท นั่นยังแย่ไม่พอ ต้นมะละกอเหล่านี้กลับติดโรคใหม่ ๆ เช่น โรคเชื้อราจุดด่าง และมีรากที่อ่อนแอกว่าเดิมด้วย ชาวไร่จึงต้องกระหน่ำพ่นยาปราบศัตรูพืชทุก ๆ ๑๐ วัน ดูไปแล้วอนาคตของชาวไร่มะละกอจีเอ็มโอจึงไม่ค่อยสดใสเหมือนชื่อพันธุ์ Sunup และ Rainbow เลย 
      เท่าที่เมลานีเล่ามานี้ เป็นข่าวร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวไร่ผู้ปลูกมะละกอจีเอ็มโอที่เกิดให้เห็นแล้วเท่านั้น แต่เรื่องกินมะละกอเข้าไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ยังไม่มีใครรู้ได้
      "เราชาวฮาวายกินมะละกอเป็นอาหาร เป็นสลัด เป็นผัก เราทำน้ำสลัดเมล็ดมะละกอ กินมะละกอแห้งเป็นขนม ทำน้ำเชื่อมมะละกอ แต่สำหรับคนอเมริกันกระแสหลัก มะละกอเป็นอาหารชั้นสูง ราคาแพง และอาหารที่ทำจากมะละกอก็เสิร์ฟแต่ในโรงแรม" เมลานีเล่า
      "ผมเห็นคนไทยเกือบทุกคนกินมะละกอ ในตลาดมีมะละกอขายอยู่มากมาย และคนที่นี่ก็กินมะละกอทั้งดิบทั้งสุกเหมือนกับคนฮาวาย" ลุงจอนจึงตระหนักดีว่า ต้นไม้ธรรมดาอย่างมะละกอในเมืองไทยเป็นผักผลไม้ยอดนิยมไม่แพ้ในฮาวายเลย
      สำหรับสมาชิกชาวสวนเกษตรอินทรีย์แห่งแม่ทาแล้ว ข่าวสารที่ลุงจอนและเมลานีเล่าสู่กันฟังนี้ ย่อมเป็นเรื่องน่าขบคิดเป็นอย่างยิ่ง คิ้วหลายคู่บนหลายหน้าผากขมวดเข้าหากันบ่งบอกถึงความกังวล อ้ายบางคนพยักหน้าเห็นด้วยตอนที่ลุงจอนพูดว่า ชาวไร่ฮาวายรู้สึกเหมือนถูกมหาวิทยาลัยหักหลัง
          ๓. ไม่ใช่แค่ชาวไร่ที่ปลูกมะละกอจีเอ็มโอเท่านั้นที่รู้สึกว่าถูกหักหลัง ลุงจอนและชาวไร่ที่ทำเกษตรอินทรีย์คนอื่นก็รู้สึกอย่างเดียวกัน
(คลิกดูภาพใหญ่)       ใครกันจะคิดมาก่อนว่า มะละกอสองพันธุ์นี้จะแพร่พันธุ์และปนเปื้อนไปทั่วเกาะขนาดนี้
      ลุงจอนเคยเป็นชาวไร่ที่ภาคภูมิใจหนักหนาว่า ตัวเองปลูกมะละกอออร์กานิกปลอดโรคไวรัสจุดด่างวงแหวนได้ แถมมะละกอของลุงจอนยังอยู่มาได้จนอายุ ๑๒ หลักฐานต้นมะละกอสูงปรี๊ดเป็น ๆ ของลุงจอนหักล้างคำอ้างของแผนกขยายผลของมหาวิทยาลัยแห่งฮาวายที่ว่า มะละกอเป็นพืชอมโรค ปลูกที่ไหนได้ไม่เกิน ๔ ปี 
      ห้าปีก่อนการเปิดตัวมะละกอจีเอ็มโอ ในบรรยากาศที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวกำลังบูมในฮาวาย ลุงจอนทวนกระแสจัดเวิร์กชอปเพื่อเสนอแนวคิดและวิธีปลูกมะละกอให้แข็งแรง และปลอดโรคไวรัสจุดด่างด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ งานนี้แกเชิญคนจากหน่วยขยายผลของมหาวิทยาลัยแห่งฮาวายให้มาเข้าร่วมเวิร์กชอปด้วย ตอนนั้นลุงจอนไม่ได้ระแคะระคายเลยว่าทางนั้นกำลังพัฒนามะละกอจีเอ็มโออยู่ แกจึงไม่เข้าใจว่า ทำไมคนจากมหาวิทยาลัยจึงทำท่าไม่สนใจวิธีการของลุงในฐานะที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการปราบโรคไวรัสจุดด่างเลย เขามองไม่เห็นกันเลยว่า สวนที่มีมะละกอน้อยใหญ่ต่างขนาดต่างอายุที่ลุงจอนภาคภูมิใจ จะเป็นของที่น่าชื่นชมไปได้อย่างไร
      นั่นอาจเป็นสัญญาณบอกถึงเรื่องร้ายที่จะเกิดตามมา โดยที่ลุงจอนไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน
      สามปีถัดมา ลุงจอนลงมือทำแปลงทดลอง ๒ เอเคอร์ปลูกมะละกอแบบเกษตรอินทรีย์อีก ครั้งนี้มีบริษัทรับซื้อมะละกอส่งออกไปญี่ปุ่นมาร่วมตรวจสอบมะละกอจากแปลงสาธิตด้วย งานนี้ลุงจอน "ภูมิใจเสนอ" นี้เต็มร้อย
      ผลปรากฏว่า มะละกอร้อยละ ๙๐ ในแปลงทดลองกลับกลายเป็นมะละกอจีเอ็มโอ โดยไม่มีใครรู้ว่าเป็นเช่นนั้นไปได้อย่างไร เนื่องจากเวลานั้นยังไม่มีมะละกอจีเอ็มโอออกสู่ท้องตลาดเลย
      "มะละกอจีเอ็มโอขายไม่ได้ พวกเราเองก็ไม่มีใครกิน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผมรอกินมะละกอจากต้น เพื่อนชาวไร่ของผมก็รอจะขายมะละกอปลอดสารพิษ พวกเราล้มเหลวกันทั้งหมด และมันยากมากที่จะแยกว่าต้นไหนเป็นจีเอ็มโอ ต้นไหนเป็นมะละกอธรรมชาติ มะละกอเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างที่ผมเคยเห็นต้นไม้ของผมโต ตอนนั้นผมยังไม่เคยรู้มาก่อนด้วยซ้ำว่ามะละกอจีเอ็มโอเป็นอย่างไร
(คลิกดูภาพใหญ่)       "เพื่อนชาวไร่หาว่าผมเป็นตัวป่วนสร้างปัญหา พวกผู้ส่งออกญี่ปุ่นที่กำลังจะซื้อมะละกอของผม หรือจ้างผมเป็นที่ปรึกษา ยกเลิกการรับซื้อ แล้วยังบอกว่า นี่เป็นสวนมะละกอจีเอ็มโอที่ดูอุดมสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา" พอลุงจอนหยอดมุขตลกร้าย ชาวสวนแม่ทาก็อดขำกันไม่ได้
      "ผมเสียเครดิตในธุรกิจการเกษตร ทั้ง ๆ ที่ผมทำเกษตรกรรมยั่งยืน ปลอดทั้งโรค ปลอดทั้งจีเอ็มโอมาตลอด ๑๒ ปี ถึงคนจากมหาวิทยาลัยจะบอกกับชาวบ้านว่า ไม่สามารถปลูกมะละกอที่ไหนได้นานเกิน ๔ ปีก็ตาม"
      "ไม่น่าเชื่อว่าเมล็ดพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอจะมาปนอยู่ในแปลงสาธิตมะละกออินทรีย์" เมลานีว่า "เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอคงเล็ดรอดออกสู่ท้องตลาดก่อนที่ทางมหาวิทยาลัยจะเปิดตัวเสียอีก"
      ผลการวิจัยชนิดหนึ่งที่ทำในฮาวายระบุว่า มะละกอจีเอ็มโอสามารถผสมข้ามพันธุ์กับมะละกอธรรมชาติที่ขึ้นห่างกัน ๒๖ เมตรได้ และทำให้เมล็ดพันธุ์ที่เกิดใหม่เป็นจีเอ็มโอไปด้วย พ้นไปจากการปนเปื้อนด้วยน้ำมือของมนุษย์แล้ว ลม นก ผึ้ง ยังเป็นตัวแพร่กระจายมะละกอจีเอ็มโอไปทั่วและป้องกันไม่ได้ด้วย
      จนเวลาล่วงเข้ามาป่านนี้แล้ว น่าสงสัยไหมว่า เมล็ดพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอจะปนเปื้อนไปถึงไหนต่อไหนบ้าง
      แต่ใครจะใส่ใจ ?
        "ทางมหาวิทยาลัยไม่เคยมีแผนงานสำรวจการปนเปื้อนทางพันธุกรรม (genetic contamination) มาก่อนเลย ชาวไร่และกลุ่มไฮจีนต่างหากที่ต้องดิ้นรนหาชุดเครื่องมือทดสอบและตรวจสอบการปนเปื้อนกันเอาเอง" เมลานีตอบ
      ไม่นานมานี้ กลุ่มไฮจีนจึงจัดเวิร์กชอปเพื่อตรวจสอบหามะละกอจีเอ็มโอที่อาจขึ้นปนอยู่ในไร่ของเกษตรกร ผลปรากฏว่ามะละกอร้อยละ ๑๕ เป็นมะละกอปนเปื้อน เจฟ เทอร์เนอร์ เกษตรกรคนหนึ่งพบต้นอ่อนมะละกอจีเอ็มโอขึ้นอยู่ในหลุมปุ๋ยหมักของตัวเอง เขานึกได้ว่า อาจจะเป็นเมล็ดมะละกอที่โยนทิ้งหลังจากกินเนื้อแล้ว เขาซื้อมะละกอลูกนั้นมาจากซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วน จอห์น คาเวอรี ชาวไร่เกษตรอินทรีย์อีกคนหนึ่งก็พบว่า มะละกอที่เขานำมาเลี้ยงเพื่อน ๆ ชาวไร่ในงานนี้เป็นมะละกอจีเอ็มโอ เขารู้สึกเสียหน้ามากเพราะคิดว่าเป็นมะละกอธรรมชาติที่ซื้อเมล็ดพันธุ์มาจากตลาด
      ไกลเลยออกมาจากสวนชาวไร่ กลุ่มไฮจีนออกตรวจสอบมะละกอที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ และพบมะละกอจีเอ็มโอห้าในหกต้น แม้กระทั่งในหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวฮาวายถือว่าเป็นที่อยู่ของบรรพบุรุษ และยากแก่การเข้าถึงก็ยังมีผู้พบมะละกอจีเอ็มโอ
      ห้าปีที่ผ่านมา การปนเปื้อนทางพันธุกรรมของมะละกอได้เกิดขึ้นทั่วเกาะใหญ่ของฮาวายแล้ว หน่วยงานที่เป็นผู้ออกใบรับรองผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ไม่กล้าออกใบรับรองพืชผลเป็นผลิตภัณฑ์ออร์กานิกให้แก่ชาวไร่ฮาวายอีกต่อไป ไม่มีใครรู้เลยว่าผลผลิตของตนจะถูกปนเปื้อนเมื่อไร ขนาดที่มีผู้เชื่อว่า เป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่จะทำเกษตรกรรมธรรมชาติในฮาวาย และที่โหดไปกว่านั้น ชาวสวนที่พืชผลของตัวเองเป็นฝ่ายถูกปนเปื้อนกลับถูกทางมหาวิทยาลัยฟ้องร้อง ทั้ง ๆ ที่เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเหล่านั้นหลุดรอดเข้ามาในไร่สวนของเขาเอง
...
      เมื่อกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ติดต่อเชิญเมลานีมาบอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นให้คนไทยฟัง เมลานีได้ชักชวนชาวไร่ที่ปลูกมะละกอจีเอ็มโอให้มาด้วยกัน ชาวไร่หลายคนสนใจและอยากเดินทางมาประเทศไทยมาก แต่กลับไม่มีใครกล้าตอบรับคำเชิญเพราะ "พวกเขาถูกข่มขู่และแบล็กเมล์" นอกจากนี้ วันที่เมลานีและเพื่อน ๆ ถ่ายวิดีโอไร่มะละกอจีเอ็มโอเพื่อนำมาฉายที่เมืองไทย ก็ถูกคนเฝ้าไร่ที่ถือปืนขู่ให้ออกไปจากที่นั่นโดยทันที
          ๔. "ไม่หรอก ผมเป็นเด็กเมือง แต่ย้ายมาลงหลักปักฐานในฮาวายเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน"
(คลิกดูภาพใหญ่)       "ผมเคยร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมตอนอยู่แผ่นดินใหญ่ (สหรัฐอเมริกาในทวีปอเมริกาเหนือ) และตระหนักได้ว่า ผมไม่อาจสู้กับระบบได้ ผมเลือกฮาวายเพราะมันเป็นเกาะภูเขาไฟและมีสภาพ 'สุดขั้ว' เมื่อ ๓๐ ปีก่อน ผมโดดเดี่ยวตัวเองจากวัฒนธรรมโดยเชื่อว่าจะไม่เป็นโรคติดต่อจากวัฒนธรรมอเมริกันอีก ผมจะได้เรียนรู้การปลูกอาหารกินเอง ผมถือเป็นความรับผิดชอบอย่างแรก ที่คนเราต้องปลูกอาหารเองโดยไม่ใช้ความรุนแรงกับผืนดิน อยู่อย่างมีผลกระทบและสร้างขยะให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผมพบคนน่าสนใจและครูดี ๆ ที่ฮาวาย เรามีจุดประสงค์เดียวกันในการมีชีวิตรอด คือการสร้างพันธมิตรที่ไม่แข่งขันกันด้วยความปรารถนาให้ทุกคน มีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพดี และเคารพโลกนี้ให้มาก ๆ
      "แต่มันก็เหมือนเป็นเรื่องน่าเยาะเย้ย เพราะผมกำลังอยู่ในท่ามกลางพืชพันธุ์ที่เป็นจีเอ็มโอ"
      ฮาวายในขณะนี้กลายเป็นเมืองหลวงจีเอ็มโอของโลกไปเสียแล้ว ค่าที่มันเป็นหมู่เกาะที่อยู่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ ฮาวายจึงเป็นแหล่งทดลองพืชจีเอ็มโอนานาชนิด ปัจจุบันมีพืชจีเอ็มโออย่างน้อย ๙๒ ชนิดในฮาวาย รวมทั้งมะละกอและเผือก
      สำหรับลุงจอน มะละกอจีเอ็มโอทำให้เกิดความกินแหนงแคลงใจกัน ในหมู่เพื่อนชาวไร่ที่ทำเกษตรอินทรีย์ด้วยกัน และทำลายความร่วมแรงร่วมใจกันในที่สุด
      นอกจากนี้ การที่เกษตรกรต้องจ่ายเงินซื้อเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ และยาปราบศัตรูพืชทุกปี ยังเป็นแนวคิดที่ตรงข้ามกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไร่ฮาวายอีกด้วย 
      "แต่ก่อนนี้เราเคยมีวัฒนธรรมธนาคารเมล็ดพันธุ์ ชาวนารายย่อยจะเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุดของตน แบ่งปัน และสอนวิธีปลูกเมล็ดพันธุ์นั้นให้แก่กันและกัน เช่น ผมให้มะละกอที่วิเศษสุดของผมแก่คุณ คุณก็จะได้เมล็ดพันธุ์จากมะละกอนี้ไว้ปลูก 
(คลิกดูภาพใหญ่)       "แต่ตอนนี้มันไม่มีอย่างนั้นอีกแล้ว เพราะไม่มีใครเชื่ออีกแล้วว่า เมล็ดพันธุ์ของตัวเองเป็นเมล็ดพันธุ์ธรรมชาติจริง ๆ นอกจากจะต้องพิสูจน์ หรือถึงแม้ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ธรรมชาติที่ดีที่สุด ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า มะละกอนั้นจะไม่ถูกปนเปื้อนในอนาคต
      "เมืองไทยมีมะละกอจีเอ็มโอแล้ว มันจะดูน่าเชื่อถือมาก ๆ และจะได้รับการสนับสนุนให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการดัดแปรพันธุกรรมต่อไปอีกมาก ผมคิดว่า เป็นหน้าที่ของผมที่จะช่วยคนอื่น ๆ ด้วยการเดินทางมาบอกข่าวเรื่องนี้ โลกนี้เป็นโลกของเรา -- ในจักรวาลอันใหญ่โตมโหฬารนี้ เราล่องลอยอยู่รอบ ๆ แสงสเปกตรัมของของดวงอาทิตย์ มันไม่มีที่ไหนให้เราไปอีกแล้ว ถ้าหากเราลงทุนลงแรงไปแทบตายกับการดัดแปรพันธุกรรม โดยไม่ได้หาวิธีอื่น ๆ เพื่อดูแลสังคมของเราให้ยั่งยืนแล้ว มันจะเหลวไหลสิ้นดี
      "ผมรู้สึกจริง ๆ ว่า เราได้มาถึงจุดที่การทำเกษตรกรรมแบบธรรมชาติที่ยั่งยืนคือหนทางของการมีชีวิตอยู่รอด เรากินพืชผลที่โตขึ้นมาด้วยสารเคมีไม่ได้ เราไม่สามารถยอมให้เด็ก ๆ ของเรากินสารเคมี เราหลีกเลี่ยงยาปราบศัตรูพืชได้ เราใช้ปุ๋ยธรรมชาติบำรุงเลี้ยงพืชผลของเราได้ และเราก็มีพลังอย่างมากที่จะทำอย่างนั้น
      "พวกเราพยายามปลูกพืชหลากหลายไว้กินเองและแบ่งปันคนอื่น มีวิถีชีวิตที่ดี มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เราก็พอใจที่มันเป็นอย่างนั้น และผมก็ไม่คิดว่าจะมีชาวนาไทยคนไหนที่ต้องการอะไรมากกว่าการมีเงินพอเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวให้มีความสุข มีผลผลิตที่ดีในปีต่อไป และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขบนโลกใบนี้"
      ลุงจอนคิดว่า ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่มะละกอจีเอ็มโอ แต่เป็นเรื่องของการผูกขาดการผลิตเมล็ดพันธุ์และการผลิตอาหารของโลกต่างหาก
      "เป็นเรื่องที่ใครก็ตามที่อยากขายมะละกอในตลาด แล้วคิดกลวิธีต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรต้องจ่ายเปอร์เซ็นต์ของพืชผลทั้งหมด ประเทศไทยเป็นครัวแห่งหนึ่งของโลกที่กำลังเดินตามหลังฮาวายมาติด ๆ หลังจากที่เรากลายเป็นที่ที่แรกของการถูกควบคุมจัดการทางพันธุกรรม ถ้าผมเป็นมอนซานโต ประเทศไทยน่าจะเป็นที่ต่อไปที่ผมอยากควบคุม"
          ๕. จะว่าไป ลุงจอนกับเมลานีก็มาเมืองไทยเพื่อเตือนเรื่องมะละกอจีเอ็มโอล้วน ๆ เพราะนอกจากสำนักงานกรีนพีซฯ ที่ซอยสายลม กับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ทั้งคู่ไม่ได้ไปพักผ่อนหรือเที่ยวเล่นที่ไหนอีกเลย
(คลิกดูภาพใหญ่)       ผู้เข้าฟังงานแถลงข่าวที่คณะวิทยาศาสตร์วันนั้นได้แก่ ชาวไร่ชาวนาเครือข่ายเกษตรทางเลือก นักวิชาการอุตสาหกรรมอาหาร ผู้เชี่ยวชาญการทำอาหาร และสื่อมวลชน ในจำนวนคนเหล่านี้ มีทั้งคนที่รู้และยังไม่รู้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอแล้วในระดับไร่นา แถมยังมีการชักชวนให้เกษตรกรที่สนใจทดลองปลูกด้วย
      ในเรื่องมะละกอจีเอ็มโอ สิ่งที่กำลังเกิดในบ้านเราเคยเกิดกับฮาวายเหมือนฉากต่อฉาก ตั้งแต่การยกโรคไวรัสจุดด่างในมะละกอกล่าวอ้างเพื่อเป็นเหตุผลที่ชอบธรรมในการพัฒนามะละกอจีเอ็มโอ ทั้งที่ชาวไร่ชาวสวนมืออาชีพไม่เคยพบเคยเห็นโรคนี้หรือถือว่าเป็นปัญหาอย่างจริง ๆ จัง ๆ มาก่อน
      แปดปีก่อน กรมวิชาการเกษตรส่งนักวิชาการเกษตรสองคน ไปพัฒนามะละกอดัดแปรพันธุกรรม ที่ห้องปฏิบัติการมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา โดยใช้มะละกอพันธุ์แขกนวลและแขกดำ กับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ไทยจากจังหวัดขอนแก่นในการทดลอง (ทั้งนี้โรคไวรัสจุดด่างในมะละกอมีหลายสายพันธุ์) ภายใต้การกำกับดูแลของ ดร. เดนนิส กอนซัลเวส : ผู้พัฒนามะละกอจีเอ็มโอในฮาวาย หลังจากนั้นคณะนักวิจัยได้นำมะละกอดัดแปรพันธุกรรมดังกล่าวกลับมาทดลองปลูกต่อที่สถานีทดลองพืชสวน จ. ขอนแก่น เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่ต้านทานโรคไวรัสจุดด่างวงแหวน และตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา ประเทศไทยได้ชื่อว่า "คิดค้นมะละกอจีเอ็มโอสำเร็จเป็นลำดับสองต่อจากประเทศสหรัฐอเมริกา" ปัจจุบันหน่วยงานที่กำลังดำเนินการพัฒนามะละกอจีเอ็มโอในประเทศไทยได้แก่ ๑. กรมวิชาการเกษตร มีแปลงทดลองขนาดใหญ่ที่สถานีวิจัยพืชสวนท่าพระ จ. ขอนแก่น และสถานีวิจัยอื่น ๆ อีกหลายจังหวัด ๒. ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ทดลองปลูกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ. นครปฐม และ ๓. สถาบันอณูชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแปลงทดลองขนาดเล็กเพื่อใช้ในการเรียนการสอนที่ศาลายา จ. นครปฐม
      ถึงวันนี้ เกษตรกร จ. ตากที่ได้รับแจกแบบสอบถามชักชวนให้ขอรับเมล็ดพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอแล้ว แบบสอบถามดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันว่า มะละกอดังกล่าวกำลังถูกแจกจ่ายสู่ท้องตลาด โดยยังไม่ได้มีการศึกษาถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคและต่อสิ่งแวดล้อม
      ความไม่รู้ถึงผลพวงในอนาคตนี่เองที่เป็นที่มาของความเป็นห่วง และคำเตือนให้หยุดคิดใคร่ครวญถึงคำว่า "ปลอดภัยไว้ก่อน" จึงเป็นเรื่องที่น่ารับฟัง
(คลิกดูภาพใหญ่)       ดร. เจเน็ต คอทเทอร์ นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเอ็กซีเทอร์ ประเทศอังกฤษ ยืนยันว่า มะละกอจีเอ็มโออาจทำให้เกิดผลกระทบที่ทำนายไม่ได้มากมาย ความเป็นห่วงของ ดร. คอทเทอร์ไม่ได้เกิดจากการนึกเดาเอาเอง แต่มาจากประวัติศาสตร์ว่าด้วยผลพวงของพืชพันธุ์จีเอ็มโอ เช่น ถั่วเหลืองที่มีคุณค่าทางอาหารลดลง ปลาที่โตเร็วผิดปรกติ ครีบเปลี่ยนรูปร่าง กะโหลกหัวบิดเบี้ยวผิดรูป เกิดเนื้องอก และพฤติกรรมการกินอาหารที่เปลี่ยนไป
      ดร. คอทเทอร์รายงานผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงของมะละกอจีเอ็มโอในประเทศไทยจากพื้นฐานงานวิจัยเรื่อง "ความเสี่ยงทางระบบนิเวศของพืชต้านทานไวรัสดัดแปรพันธุกรรม" ของสถาบันนิเวศวิทยาศาสตร์ประยุกต์ แห่งเยอรมนีว่า ถึงแม้มะละกอจะต้านทานไวรัสจุดด่างวงแหวนได้ก็จริง แต่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เนื่องจากกระบวนการทำมะละกอธรรมชาติกลายเป็นมะละกอจีเอ็มโอ เกิดจากการใช้ปืนพิเศษสุ่มยิงยีนของไวรัสเข้าไปในเซลล์ของมะละกอ เป็นพันเป็นหมื่นครั้งโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่ายีนที่ยิงเข้าไปจะอยู่ที่ใด เทคโนโลยีการดัดแปรพันธุกรรมจึงได้ชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้ถูกกลั่นกรองอย่างดีก่อน
      ไม่มีใครกล้ายืนยันว่า การดัดแปรพันธุกรรมในมะละกอ จะไม่ทำให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อาจมีความรุนแรงขึ้น ไม่ทำให้เกิดโรคกับสิ่งมชีวิตชนิดอื่นที่ไม่เคยติดโรคนี้มาก่อน หรือจะไม่มีพาหะนำโรคเพิ่มขึ้น
      ไม่มีใครยืนยันถึงความปลอดภัยในการกินมะละกอจีเอ็มโอ ที่มียีนแปลกปลอมของไวรัสจุดด่างวงแหวน และยีนเครื่องหมาย (maker gene - ยีนที่เป็นตัวแสดงว่าพืชดังกล่าวเป็นพืชดัดแปรพันธุกรรม) ซึ่งเป็นยีนที่ต้านทานยาปฏิชีวนะ* 
      และในกรณีของฮาวาย ไม่มีใครสามารถย้อนเวลาไม่ให้การปนเปื้อนเกิดขึ้นได้อีก
          ๖. เมลานีกำลังเป็นกังวล
(คลิกดูภาพใหญ่)       ความที่มะละกอถือเป็นอาหารแสนหรูในสหรัฐอเมริกา จึงไม่มีใครใส่ใจที่มะละกอจะกลายเป็นจีเอ็มโอ
      "ความจริงคนอเมริกันไม่รู้มากกว่า เพราะไม่มีกฎหมายติดฉลากในอเมริกา อาหารแปรรูปที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตร้อยละ ๗๕ เป็นจีเอ็มโอ ไม่มีใครรู้เลยว่าตัวเองกำลังกินอะไรเข้าไป คนอเมริกันและแม้แต่คนฮาวายเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า อเมริกามีแปลงทดลองพืชจีเอ็มโอที่ใหญ่ที่สุดในฮาวาย เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางพืชดัดแปรพันธุกรรม"
      เมลานีเชื่อว่า ถ้าหากมีฉลากติดที่อาหาร คนอเมริกันจะปฏิเสธอาหารจีเอ็มโอ
      "มีงานวิจัยที่บอกว่า ผู้บริโภคอเมริกัน ๙๓ เปอร์เซ็นต์ต้องการให้มีการติดฉลาก และ ๖๐ เปอร์เซ็นต์จะปฏิเสธไม่ซื้ออาหารถ้ารู้ว่าอาหารนั้นเป็นจีเอ็มโอ
      "ประเทศอื่น ๆ ในโลกก็ล้วนแต่ปฏิเสธอาหารจีเอ็มโอ ญี่ปุ่นและยุโรปคอยดูอยู่ว่าการทดลองของอเมริกาจะเป็นยอ่างไร แต่ถึงอย่างนั้น องค์การบริหารอาหารและยา (FDA - Food and Drug Administration) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐยังตัดสินให้อาหารจีเอ็มโอ "เหมือนกันอย่างยิ่ง" กับอาหารธรรมดา
      "ฉันคิดว่าประเด็นที่แท้จริงของเรื่องนี้คือการเเข้าครอบครอง" เมลานีพูดขึ้น "ถ้าคุณมองดูตัวละครสำคัญอย่างมอนซานโตกับซินเจนตาล้วนแต่เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์และสารเคมี และเป็นบริษัทผู้ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการพัฒนาจีเอ็มโอ ฉันคิดว่าเราต้องหยุดการพยายามมีอิทธิพลของบริษัทเหล่านั้นในประเทศไทย ด้วยการบอกเล่าเรื่องเหล่านี้แก่ชาวไร่ชาวนา
      "มันไม่ใช่เป็นแต่เรื่องมะละกอเท่านั้น แต่มันหมายถึงการสูญเสีย 'เอกราช' ในฐานะมนุษย์ที่มีเสรีภาพที่จะเลือกว่าจะกินอาหารแบบไหน มันเป็นเรื่องการตัดทางเลือกที่หลากหลายด้านอาหารที่มีอยู่ตอนนี้เพื่อขายสินค้าของตนเอง" เมลานีพูดขึ้นในฐานะที่เป็นผู้บริโภค
      แต่ในฐานะที่เธอเป็นชาวไร่ คดีคลาสสิกของ เพอร์ซี ชไมเซอร์ ชาวนาแคนาเดียน เป็นสิ่งที่เมลานีวิตกกังวลมากที่สุด ชไมเซอร์ถูกบริษัทมอนซานโตฟ้องร้อง ข้อหาปลูกเมล็ดพันธุ์คาโนลาจีเอ็มโออย่างผิดกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่เมล็ดพืชจีเอ็มโอของเพื่อนบ้าน ปลิวเข้ามาในไร่ของเขาเอง ชไมเซอร์แพ้คดีในศาลชั้นต้น
      เธอเรียกการมาของมะละกอจีเอ็มโอในประเทศไทยว่าเป็น "การล่าอาณานิคมด้านทรัพยากร" (Colonising the Resources)
          ๗ "สวนของผมไม่มีอะไรเลย นี่ต่างหากที่เป็นของจริง" ลุงจอนพูดเมื่อได้เดินท่อม ๆ และพักชิมมะม่วงมะละกอจากสวนอันรกครึ้มด้วยพืชพันธุ์พื้นเมืองหลากชนิดของอ้ายประพัฒน์ อภัยมูล
(คลิกดูภาพใหญ่)       อ้ายประพัฒน์เป็น "ดารา" อีกคนหนึ่งของแม่ทา สวนของอ้ายประพัฒน์ดูเหมือนป่าทึบ และความอุดมสมบูรณ์ของสวนแห่งนี้ทำให้ลุงจอนอดชมไม่ได้ว่า "เหมือนฮาวายเมื่อ ๓๐ ปีก่อน" ทั้งที่ตอนแรกลุงจอนคุยอวดสวนตัวเองหนักหนา
      วันนี้สวนของอ้ายประพัฒน์ยังปลอดจากจีเอ็มโอ ลุงจอนจึงขอเก็บเมล็ดพันธุ์มะละกอลูกใหญ่เนื้อในสีแดงน่าอร่อยจากอ้ายประพัฒน์ไปด้วย แม้จะไม่แน่ใจนักว่า จะยังมีพื้นที่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนของจีเอ็มโอในฮาวายอีกหรือไม่ ไม่มีใครแน่ใจกระทั่งว่าป่าฝนเขตร้อนของฮาวายจะมีมะละกอจีเอ็มโอไปขึ้นแล้วหรือยังด้วยซ้ำ
          ๘. ถ้ามีมะละกอสดสีแดงน่ารับประทานปอกใส่จานเรียบร้อย จานหนึ่งเป็นมะละกอจีเอ็มโอ อีกจานหนึ่งเป็นมะละกอธรรมชาติ ท่านจะเลือกรับประทานมะละกอจานใด ?
 

      ?

          ข่าวล่าสุดจากลุงจอนและเมลานี  
        ๑. เมลานีได้รับการติดต่อจาก ดร. เดนนิส กอนซัลเวส ผู้พัฒนามะละกอจีเอ็มโอแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนลและเจ้าของผลงานมะละกอจีเอ็มโอที่ฮาวายเพื่อ "ให้ความรู้เกี่ยวกับมะละกอของเขา" ทั้งที่ก่อนหน้านี้เมลานีได้พยายามติดต่อขอพูดคุยกับ ดร. กอนซัลเวลหลายครั้ง แต่ถูกปฏิเสธมาตลอด ดร. กอนซัลเวสกล่าวกับเมลานีว่า "มะละกอจีเอ็มโอไม่ได้เห็นแสงของวันใหม่ก็เพราะการกระทำของเมลานี"
      ๒. สื่อมวลชนที่ฮาวายตีข่าวเรื่องการเดินทางของทั้งสองคนเพื่อมาเตือนชาวนาไทยเรื่องภัยมะละกอจีเอ็มโอ ข่าวนี้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก
 

ขอขอบคุณ

        จอน บิลูน เมลานี บอนเดอรา พ่อสมศักดิ์-แม่นวลสี สิงห์ทองแท้ พ่อประพัฒน์ อภัยมูล อ้ายดาวเรือง พี่สุพรรณ ชาวเกษตรอินทรีย์ตำบลแม่ทา เชียงใหม่ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วรุณวาร สว่างโสภากุล เจอราร์ด กรีนฟิลด์ นิคม ไชยวรรณ
      * ยุโรปออกกฎห้ามใช้สารต้านทานยาปฏิชีวนะเป็นมาร์กเกอร์ยีนแล้ว และองค์การอาหารโลกและองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ควรเลิกใช้ยีนแประเภทนี้เป็นยีนมาร์เกเกอร์