Home

 
 

รู้หรือ (ไม่) รู้
ทะเลหมอกเกิดขึ้นได้อย่างไร

หมอกก็เป็นไอน้ำในอากาศรูปแบบหนึ่ง ที่เราสามารถมองเห็นได้ และมีกระบวนการเกิดแบบเดียวกับเมฆ 

รู้หรือ (ไม่) รู้ -  ทะเลหมอกเกิดขึ้นได้อย่างไร (คลิกดูภาพใหญ่)
ปรกติอากาศรอบตัวเรา จะมีน้ำอยู่ไม่มากก็น้อย แต่มักมองไม่เห็นเนื่องจากอยู่ในรูปของไอน้ำ และอากาศสามารถอุ้มไอน้ำได้ในปริมาณจำกัด ซึ่งผันแปรไปตามอุณหภูมิ อากาศอุ่นจะอุ้มไอน้ำได้มากกว่าอากาศเย็น อุณหภูมิของอากาศยิ่งสูงขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งอุ้มไอน้ำได้มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเมื่ออากาศเย็นลงจนไม่สามารถอุ้มไอน้ำไว้ได้ต่อไปอีก ไอน้ำก็จะกลั่นตัวเป็นน้ำค้างจับตัวบนต้นไม้ใบหญ้า และถ้าในบรรยากาศมีฝุ่นละอองมาก ไอน้ำบางส่วนก็กลั่นตัวเป็นหยดน้ำขนาดจิ๋วเกาะตามฝุ่นละอองเหล่านั้น จนเกิดเป็นหมอกปกคลุมทั่วไป
หมอกมักเกิดขึ้นในช่วงกลางคืนที่ฟ้าใส ความร้อนที่สะสมตลอดช่วงกลางวัน จะแผ่จากผิวโลกขึ้นสู่ท้องฟ้า อากาศชื้นที่อยู่ใกล้ผิวดิน จึงกลั่นตัวจับกับฝุ่นละอองในอากาศ จนเกิดเป็นหมอกปกคลุมทั่วไป (ขณะที่เมฆจะเกิดและลอยตัวอยู่ในระดับสูง) และยังคงอยู่จนรุ่งสาง เมื่อแสงแดดส่องทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น หมอกจึงสลายตัวหายไป
หมอกจะปกคลุมเฉพาะใกล้ผิวโลก ความหนาของหมอกเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ ๑ เมตรขึ้นไปจนถึง ๓๐๐ เมตรแล้วแต่ชั้นบรรยากาศของความชื้น ดังนั้นเมื่อเราขึ้นไปยืนอยู่บนยอดเขาในระดับสูง จึงมองเห็นสายหมอกหนาที่ปกคลุมอยู่ตามหุบเขาในระดับต่ำขาวโพลนแน่นทึบ เป็นบริเวณกว้างคล้ายกับพื้นผิวของน้ำทะเล ยิ่งในพื้นที่หุบเขา ที่มีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ ทะเลหมอกจะยิ่งแผ่ปกคลุมกว้างไกล และงดงามนัก
Home