Home

 
 


นายรอบรู้ชวนเที่ยว.. อลังการแห่งปราสาทหินพิมาย

ในสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างนี้ ถ้าใครคิดจะ "ไปเห็นนครวัด แล้วไม่เสียดายชีวิต" เหมือนอย่างที่ อองรี มูโอต์ นักบุกเบิก นักสำรวจชาวฝรั่งเศสว่าไว้ "นายรอบรู้" ขอบอกว่าอย่าเพ่อเอาเงินไทยไปแลกดอลลาร์ แล้วไปเสียให้ต่างประเทศเลย เก็บไว้เที่ยวเมืองไทยดีกว่า ด้วยการไปชมปราสาทหินพิมาย อ. พิมาย จ. นครราชสีมา ที่นักวิชาการอ้างว่า เป็นต้นแบบของนครวัดกันเสียก่อน

อลังการแห่งปราสาทหินพิมาย (คลิกดูภาพใหญ่)
นักโบราณคดีเชื่อว่า เมืองพิมายเดิมเป็นเมืองโบราณ ซึ่งมีการอ้างถึงในหลักฐานต่าง ๆ ที่พบในประเทศกัมพูชาและในไทย ในจารึกของพระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๑๕๙-๑๑๗๘) แห่งอาณาจักรเจนละ กล่าวถึงคำว่า ภีมะปุระ หรือในจารึกปราสาทพระขรรค์ในเขมร กล่าวถึงเมือง วิมายะปุระ ตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมที่สำคัญ ในภาคอีสาน สามารถติดต่อไปทางเหนือถึงประเทศลาว ทางใต้ถึงอาณาจักรขอม กว้าง ๕๖๕ ม. ยาว ๑,๐๓๐ ม. มีคูเมืองและกำแพงเมืองล้อมรอบ
ปราสาทหินพิมาย สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พุทธศตวรรษที่ ๑๖) เพื่อเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนามหายาน รวมถึงมีการสร้างอาคารต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกในยุคต่อมา จนกลายเป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อิทธิพลของขอมเสื่อมอำนาจลง ปราสาทแห่งนี้จึงถูกทิ้งร้างไป
ปรางค์ประธานปราสาทหินพิมาย ที่เชื่อกันว่าเป็นต้นแบบของนครวัด (คลิกดูภาพใหญ่)หน้าบันสลักเรื่องการสู้รบในเรื่องรามายณะ ส่วนทับหลังจะเป็นการจองถนนไปกรุงลงกา (คลิกดูภาพใหญ่)
อองรี มูโอต์ เคยมาชมเมืองนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ หลังจากนั้นในปี ๒๕๐๕ กรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจและทำการบูรณะ โดยนำวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) มาใช้เป็นแห่งแรก โดยการถ่ายรูปและทำผังอย่างละเอียด ทำเครื่องหมายบนหินทุกก้อน แล้วรื้อหินออก เสริมฐานใหม่ให้มั่นคง แล้วประกอบกลับเข้าไปในจุดเดิม กระทั่งในปี ๒๕๒๔ ได้มีการจัดทำโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พิมายขึ้น หลังจากขุดแต่ง บูรณะ ปรับปรุงส่วนต่าง ๆ จนเสร็จสมบูรณ์จึงเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี ๒๕๓๒ เป็นต้นมา
นี่เป็นประวัติอย่างย่อ ถ้าอยากรู้เรื่องราวและรายละเอียดมากกว่านี้ ควรไปชม "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย" ที่ ถ. ท่าสงกรานต์ ริมแม่น้ำมูล ห่างจากปราสาทเพียง ๓๐๐ ม. ด้วย ชั้นล่างจัดแสดงเรื่องโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของพิมาย ตั้งแต่กำเนิดของเมือง การสร้างปราสาท หลักฐานความเจริญต่าง ๆ เช่น ศาสนา เศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น ชั้นบนจัดแสดงพัฒนาการของสังคมอีสาน รวมถึงประติมากรรม เทวรูป ทับหลัง ศิลปะแบบทวารวดีและแบบเขมร ซึ่งจะได้ซึมซับทั้งความงาม และเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้มากขึ้น
ได้ความรู้พื้นฐานกันพอแล้ว ก็ควรเข้าไปชมตัวปราสาทหินกันเสียที บริเวณทางเข้าจะมีสะพานนาค เป็นรูปกากบาท มีสิงห์อยู่ด้านหน้าสองตัว ราวสะพานเป็นลำตัวนาคเจ็ดเศียร มีรัศมีแบบศิลปะนครวัด ทำจากหินทรายขาว สะพานนี้เปรียบเสมือนสะพานที่ทอดสู่เขาพระสุเมรุ  อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า บนสะพานจะมองเห็นซุ้มประตูชั้นนอก มีทับหลังนางรำที่งดงามน่าชม
ปรางค์พรหมทัต สร้างด้วยศิลาแลง ภายในมีรูปสลักจำลองพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (คลิกดูภาพใหญ่)ทับหลังเหนือประตูทิศเหนือ สลักภาพพระนารายณ์สี่กร ทรงจักร สังข์ คทา และดอกบัว (คลิกดูภาพใหญ่)
จากนั้นผ่านเข้ามาด้านในจะมองเห็นปรางค์สามหลัง ด้านซ้ายคือปรางค์หินแดง ก่อด้วยหินทรายแดง สร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (พุทธศตวรรษที่ ๑๗) ด้านขวามือคือปรางค์พรหมทัต ก่อด้วยศิลาแลง สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พุทธศตวรรษที่ ๑๘) มีทับหลังที่กรอบประตูด้านในทิศใต้ แกะสลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าแสดงธรรม  ตรงกลางคือองค์ประธานของปราสาทหินพิมาย ก่อสร้างด้วยหินทรายสีขาวล้วน โดยมีมณฑปอยู่ด้านหน้าองค์ปรางค์
ถึงตรงนี้แล้วควรจะชมสถาปัตยกรรม และหน้าบันภายนอกเสียก่อน ด้วยวิธีง่าย ๆ คือเดินวนขวาจากมณฑป บริเวณหน้าบัน และทับหลังของปราสาท จะมีภาพแกะสลักเรื่องรามเกียรติ์และกฤษณาวตาร ที่เด่น ๆ คือบริเวณหน้าบันด้านทิศใต้ จะเป็นรูปศิวะนาฏราช หน้าบันและทับหลังของมณฑป บนมุขด้านทิศตะวันตก แสดงเรื่องศึกอินทรชิต พระราม-พระลักษมณ์ต้องศรนาคบาศ หน้าบันมุขด้านทิศตะวันตกและทับหลัง สลักภาพพระกฤษณะกำลังยกภูเขาโควรรธนะ ทับหลังเหนือประตูด้านทิศเหนือขององค์ปรางค์ เป็นภาพพระนารายณ์สี่กร ทรงถือจักร สังข์ คทา และดอกบัว หน้าบันและทับหลังเรือนธาตุทิศตะวันออก แสดงรูปท้าวมาลีวราชว่าความ ทับหลังบ้างว่าเป็นรูปพระรามกำลังฆ่ายักษ์วิราธ บ้างว่าเป็นพระกฤษณะฆ่าพญากงส์ กรมศิลปากรคงต้องสอบทานกันต่อไปว่าเป็นเรื่องใดแน่
นอกจากนี้รอบ ๆ ฐานของปรางค์ประธาน ยังสลักลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายประจำยาม ลายกลีบบัว เป็นต้น ที่ส่วนยอดหรือหลังคาพุ่มเหนือเรือนธาตุ จะมีครุฑแบกอยู่สี่ทิศ กลีบขนุนปรางค์สลักเป็นรูปเทพประจำทิศต่าง ๆ ส่วนบนสุดเป็นรูปดอกบัว กล่าวกันว่าหลังคาปราสาทนี้ เป็นแบบอย่างให้แก่ปราสาทนครวัดในสมัยต่อมา
ทับหลังเรื่องพระกฤษณาวตาร จัดแสดงอยู่กลางแจ้งที่ไทรงาม (คลิกดูภาพใหญ่)
จากนั้นค่อยเข้าไปในเรือนธาตุ อาคารสี่เหลี่ยมจัตุรัสใต้องค์ปรางค์ ภายในมีห้องเรียกว่า "ห้องครรภคฤหะ" สำหรับประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุดของพุทธสถานนี้ ซึ่งเดิมมีพระพุทธรูปปางนาคปรกอยู่หลายองค์ ที่เห็นในปัจจุบันเป็นองค์จำลอง ที่ทับหลังเหนือประตูชั้นในรอบห้องนี้ประกอบไปด้วยภาพสลักทางพุทธศาสนา คือทิศใต้ เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ทิศตะวันตก แสดงเรื่องพระพุทธองค์ทรงเทศนาแก่พญามาร ทิศเหนือแสดงรูปพระวัชรสัตว์ห้าพระองค์ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ประจำองค์พระอาทิพุทธเจ้า ในพุทธศาสนามหายาน ทิศตะวันออก ด้านบนเป็นรูปพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ ตรงกลางเป็นรูปพระโพธิสัตว์โลกยวิชัยทรงฟ้อนรำ มีเทพธิดาฟ้อนรำอยู่แถวล่าง 
ชมงานศิลปกรรมมาก ๆ อาจจะพาลหิวจนตาลาย ไม่อยากเดินทางไกลก็เดินเข้าร้าน ใบเตย ภายในตกแต่งด้วยศิลาแลงรับกับบรรยากาศเมืองปราสาทหิน หรือไปที่ร้าน ทิวไผ่ ติดกับโรงพยาบาลพิมาย สองร้านนี้มีเป็ดย่างพิมาย ที่ย่างเป็ดจนแห้ง อร่อย กับผัดหมี่พิมาย ให้ชิมกัน แต่ถ้าอยากได้บรรยากาศริมน้ำ ต้องไปที่ร้าน ริมมูล ที่นี่เขาชวนชิม ตำถั่วฝักยาวหมูกรอบ กินกับไข่ต้มยางมะตูม มีบริการล่องเรือชมทิวทัศน์ริมแม่น้ำด้วย หรือจะไปชิมส้มตำ หมี่พิมาย ไก่ย่าง พร้อมกับชมไทรงามต้นใหญ่ อายุกว่า ๓๕๐ ปี แผ่กิ่งก้านกว้างใหญ่ ร่มรื่น สวยงาม ก็ได้บรรยากาศไปอีกแบบ
ร้านอาหาร
ทิวไผ่ โทร. ๐-๔๔๔๗-๑๙๘๓
ใบเตย โทร. ๐-๔๔๔๗-๑๗๒๕
ริมมูล โทร. ๐-๔๔๔๗-๑๒๓๒, ๐-๔๔๔๗-๑๖๙๒ 
อุทยานประวัติศาสตร์ พิมาย เปิดทุกวัน เวลา ๗.๓๐-๑๘.๐๐ น.
ค่าเข้าชม คนไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๔๐ บาท 
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย เปิดทุกวัน เวลา ๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. 
ค่าเข้าชม คนไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท
Home