home
Contact Uscontact@sarakadee.com
สาระเพื่อนักเดินทาง และการท่องเที่ยว อย่างเข้าใจและรอบรู้
www.Thaitraveler.com
เที่ยวทั้วไทยกับ "นายรอบรู้" เดือนพฤศจิกายน

ขึ้นดอย ไปไหว้ธาตุ

พอลมหนาวมาเยือน ชีพจรเท้าของนักเดินทางส่วนใหญ่มักมุ่งสู่ภูดอยเมืองเหนือ เพราะอยากไปสัมผัสหนาว ชมทะเลหมอก แต่ "นายรอบรู้" อยากเชิญชวนขึ้นดอยไปไหว้ธาตุกันเสียก่อนที่จะไปแอ่ว หรือทำกิจกรรมใด ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มาเยือนเวียงเชียงใหม่
"ดอย" และ "ธาตุ" นั้น ก็คือ พระธาตุดอยสุเทพ อันถือเป็น "ขวัญ" ของเมือง และเป็นประดุจหัวใจซีกหนึ่งของนคร เพราะภูดอยแห่งนี้ปกคลุมด้วยผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นธารที่หล่อเลี้ยงผู้คนในเวียงมาแต่โบราณกาล และเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ ที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันจะนำมาซึ่งความรุ่งเรือง ร่มเย็น แก่ชีวิตของผู้มีศรัทธา
แผนที่ (คลิกดูภาพใหญ่)
ตามประวัติกล่าวว่า หลังจากพญามังรายได้เลือกดอยสุเทพ ที่มีทำเลอันเป็นคุณในการสร้างเวียงเชียงใหม่แล้ว ใน พ.ศ. ๑๙๖๒ พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ ๖ แห่งราชวงศ์มังราย ก็โปรดให้นำพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระสุมนเถระจากสุโขทัยติดตัวมา ไปประดิษฐานลง ณ ยอดดอยสุเทพ พร้อมกับสร้างพระเจดีย์ทับลงบนที่ประดิษฐานพระบรมธาตุนั้น 
ในระยะแรกพระธาตุดอยสุเทพยังไม่มีภิกษุจำพรรษา จนกระทั่งพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์องค์ที่ ๑๔ ได้อาราธนาพระญาณมงคลโพธิเถระ จากลำพูนมาจำพรรษา วัดพระธาตุดอยสุเทพจึงถือกำเนิดขึ้น พระญาณมงคลฯ ได้สร้างพระวิหารและสร้างบันไดนาค จากฐานขึ้นไปยังองค์พระบรมธาตุ เพื่อให้ผู้มานมัสการสามารถขึ้นลงได้โดยสะดวก และต่อมาครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ก็ได้ร่วมแรงร่วมใจกับประชาชนชาวล้านนา สร้างถนนจากเชิงดอยขึ้นไปสู่วัดพระธาตุ เป็นระยะทาง ๑๔ กม. ถนนนี้ก็คือ ถนนศรีวิชัยในปัจจุบันนั่นเอง 
การสร้างถนนครั้งนั้น ครูบาศรีวิชัยได้นำเอาสัญลักษณ์แห่งการบำเพ็ญเพียรไปสู่ธรรมชั้นสูง โยงเข้ากับภูเขาศักดิ์สิทธิ์ โดยสร้างวัดเรียงจากชั้นล่างขึ้นไปจนถึงวัดพระธาตุ แล้วตั้งชื่อให้ตรงตามชั้นของอริยบุคคลทั้งสี่ ได้แก่ โสดา สกิทาคา และอนาคา เพื่อให้วัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นตัวแทนของอรหันตผล "นายรอบรู้" จะขอนำท่านจาริกไปตามหนทางแห่งถนนศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย บริเวณแยกถนนห้วยแก้ว เพื่อน้อมนมัสการพระดี ที่ชาวล้านนาต่างเลื่อมใสยกย่องให้เป็น "ตนบุญ" แล้วแวะวัดศรีโสดา ซึ่งเป็นเพียงวัดเดียวในสามวัด ที่ยังคงอยู่ตามเจตนารมณ์การสร้างของครูบาศรีวิชัย ขณะที่วัดสกิทาคา และอนาคา เหลือเพียงร่องรอยของเศษซากอิฐปูนเท่านั้น วัดศรีโสดาปัจจุบันเป็นศูนย์อบรมพระพุทธศาสนา แก่พระภิกษุสามเณรชาวเขาทุกเผ่าที่ใหญ่ที่สุด 
พระบรมธาตุดอยสุเทพตระหง่านอยู่บนดอยสูงเหนือเมืองเชียงใหม่ เป็น "ขวัญ" ของนคร (คลิกดูภาพใหญ่)อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยที่เชิงดอย (คลิกดูภาพใหญ่)
จากนั้นไต่รถขึ้นไปตามถนนศรีวิชัย จะผ่านวัดผาลาด ซึ่งในอดีตเป็นจุดพักระหว่างทาง ของผู้ที่ใช้เส้นทางลัดขึ้นสู่พระธาตุ อันเป็นเส้นทางโบราณที่อยู่ด้านใต้ของขุนเขา ไม่จำเป็นต้องจอดแวะ ให้ผ่านเลยขึ้นไปหยุดพักชมวิวเมืองเชียงใหม่ ณ จุดชมทิวทัศน์ข้างทางตรง กม. ที่ ๑๐ ซึ่งจะเห็นเมืองเชียงใหม่ บนที่ราบลุ่มน้ำปิงอันกว้างใหญ่ไพศาล ภายใต้เมฆหมอก นั่งรถต่อขึ้นไปเพียงไม่นาน ก็เข้าสู่ลานจอดรถของวัดพระธาตุดอยสุเทพ ที่เป็นตีนบันไดทางขึ้นสู่พระธาตุ
บันไดนาคแห่งนี้มีขั้นบันไดทั้งหมด ๑๘๕ ขั้น ซึ่งแต่ละขั้นความสูง เป็นเสมือนบททดสอบถึงความเพียรของผู้จาริก ที่ต้องมีมานะอดทนก่อนจะบรรลุมรรคผล ได้สรงน้ำ นบไหว้พระธาตุ ฟังเทศน์ฟังธรรม และเวียนเทียน อันก่อเกิดเป็นบุญกุศลแก่ตน ทว่านัยความหมายนี้เห็นทีจะลางเลือนจากหัวใจคนปัจจุบัน เพราะมีน้อยคนที่ยังคงเดินขึ้นทางบันไดนาค ด้วยคนส่วนใหญ่ หันไปใช้บริการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นสู่พระธาตุแทน เมื่อผ่านกำแพงแก้วเข้าสู่ลานพระธาตุเจดีย์ พระเจดีย์เชียงแสงสีทองอร่ามทั้งองค์ จะปรากฏแก่สายตา นี่คือพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ ซึ่งทุกคนต่างมุ่งมานบบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตน สำหรับชาวเชียงใหม่แล้ว ทุกเพ็ญเดือนแปดของทางเหนือ หรือเดือนหกในวันวิสาขบูชาของภาคกลาง จะมีประเพณีเดินขึ้นดอยนมัสการพระธาตุ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังปฏิบัติกันอยู่
ทุกวันพระ พระธาตุดอยสุเทพจะเนืองแน่นด้วยพุทธศาสนิกที่มาเวียนเทียน รักษาศีล ฟังธรรม (คลิกดูภาพใหญ่)จุดแวะพักของผู้จาริกระหว่างเดินขึ้นดอยไปไหว้ธาตุ ที่วัดผาลาด (คลิกดูภาพใหญ่)
หลังจากไหว้พระธาตุ จิตใจผ่องแผ้วแล้ว บริเวณรอบองค์เจดีย์ยังมีสิ่งน่าชมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์รูปฤาษีวาสุเทพ ซึ่งนามของท่านเป็นที่มาของชื่อดอยแห่งนี้ รูปปั้นช้างเผือกที่เชิญพระบรมธาตุขึ้นมาสู่ยอดดอย หรือแม้แต่พระวิหารทิศทั้งสี่ ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปแบบล้านนาที่ควรชม โดยเฉพาะวิหารทิศหลังแรกที่อยู่ข้างทางเข้าลานพระธาตุ นอกจากความงามขององค์พระปฏิมาแล้ว ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบล้านนา ที่เขียนสะท้อนสภาพแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวล้านนาได้อย่างลึกซึ้ง เป็นฝีมือวาดของพ่อบุญปั๋น พงษ์ประดิษฐ์ ศิลปินวาดภาพแห่งล้านนา ผู้ได้รับฉายาว่า "จิตรกรฝาเบียร์" เพราะท่านใช้ฝาเบียร์ผสมสีแทนจานสี 
เมื่อเที่ยวชมสิ่งละอันพันละน้อยในวัดพระธาตุจนเอมใจแล้ว ลงไปหาของกินให้อิ่มท้องกันได้ตลอดเส้นถนนห้วยแก้ว ไปจนถึงถนนนิมมานเหมินท์ ที่เลี้ยวขวามือตรงโรมแรมอมารีรินคำ มีหลากร้านหลายบรรยากาศ ทั้งอาหารไทยและนานาชาติ ที่แนะนำคือร้านห้องแถว เป็นร้านอาหารไทยรสชาติดี หรือฝั่งตรงข้ามเป็นร้านอาหารเวียดนาม ชื่อร้านก๋วยเตี๋ยวหนองคาย รับประกันความอร่อยด้วยจำนวนคนที่แน่นร้าน และหากอยากหากาแฟตบท้ายมื้อ ให้ไปที่ร้านกาแฟวาวีว หอมอร่อยเบียดกาแฟยี่ห้อนอกตกขอบไปเลย ทั้งสามร้านนี้อยู่บนถนนนิมมานเหมินท์ ซึ่งเมื่ออิ่มท้องแล้วสามารถเดินชอปปิงของพื้นเมือง ที่มีอยู่หลายร้านได้บนถนนสายนี้ เช่น ร้านนันทขว้าง สบันงา สิบสองปันนา ฯลฯ
บันไดนาคบททดสอบแห่งการบำเพ็ญเพียรของผู้จาริก (คลิกดูภาพใหญ่)
การเดินทาง
- รถยนต์ส่วนตัว จากหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปตามถนนห้วยแก้วขึ้นสู่ยอดดอย ถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพเลย
- รถรับจ้าง มีคิวรถสองแถวขึ้นดอยที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และหน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ บนถนนห้วยแก้ว รถเริ่มวิ่งตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๑๗.๐๐ น. ทั้งขาขึ้นและลง ค่าโดยสาร ขึ้น ๓๐ บาท ลง ๓๐ บาท ต่อคน หากเหมาไปกลับ ๓๐๐ บาท
Home