เกษร สิทธิหนิ้ว : รายงาน / บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ


vote nationalpark

นอกจากงบประมาณหลายร้อยล้านบาทที่กรมป่าไม้ทุ่มให้แก่แผนงานส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวแล้ว โครงการนำร่องให้เอกชนบริหารบ้านพักอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ก็เป็นอีกหนึ่งรูปธรรมที่ยืนยันว่า กรมป่าไม้กำลังเตรียมพัฒนาอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เพื่อรองรับธุรกิจท่องเที่ยว–สินค้าตัวใหม่ ที่คาดว่าจะนำรายได้เข้าประเทศได้จำนวนมหาศาล”คอมเพล็กซ์ธรรมชาติ” คือชื่ออันทันสมัย อธิบายง่าย ๆ ว่าคือการจัดการอุทยานให้มีองค์ประกอบครบถ้วนทั้งในด้านสิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก มีกิจกรรมการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบเท่าที่พื้นที่นั้น ๆ จะมีศักยภาพ มีการจัดการระบบคมนาคมให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ที่สำคัญที่สุดคือเน้นคุณภาพด้านการบริการและดำเนินการโดยมืออาชีพที่มีประสบการณ์และความชำนาญเท่านั้น

นายวิชิต วัฒนโกสัย เปิดเผยในขณะยังปฏิบัติราชการทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า กรมป่าไม้มีแผนพัฒนาอุทยานแห่งชาติครั้งใหญ่ นอกจากเน้นเรื่องการป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าและการพัฒนาด้านวิชาการแล้ว แผนงานที่สำคัญก็คือการพัฒนาอุทยานฯ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ปรับปรุงบ้านพักและระบบสุขาภิบาลให้ได้มาตรฐาน

“ต่อไปจะไม่เห็นห้องน้ำสกปรกแบบเดิม ๆ อีก” นายวิชิตกล่าว

กรมป่าไม้วางแผนดำเนินการต่อเนื่องคือ การพัฒนาบ้านพัก และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในปี ๒๕๔๕ ได้รับงบกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน ๓๓๕ ล้านบาท สำหรับพัฒนาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, อุทยานแห่งชาติเอราวัณ, อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, อุทยานแห่งชาติเขาสก, อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง, อุทยานแห่งชาติหาดวนกร, อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด, หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี (หลายแห่งได้รับการพัฒนามาบ้างแล้วแต่ได้รับงบเพิ่มในปีนี้) ส่วนแผนในปี ๒๕๔๖ จะพัฒนาต่อเนื่องในอีกเก้าพื้นที่ ใช้งบประมาณ ๑๔๕ ล้านบาท รวมเม็ดเงินที่ใช้ดำเนินการทั้งหมด ๔๘๐ ล้านบาท (กรุงเทพธุรกิจ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๕)

สิ่งที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งก็คือ แผนงานที่จะเปิดทางให้เอกชนเข้ามาร่วมบริหารบ้านพักของกรมป่าไม้ในอุทยานฯ ในแผนงานมีแนวทางจะเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารในสามระยะคือ ระยะที่ ๑ ให้เอกชนเข้ามาบริหารในส่วนบ้านพักและร้านค้า ระยะที่ ๒ ให้เอกชนเข้ามาดำเนินกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว และระยะที่ ๓ ให้เอกชนเข้ามาลงทุนด้านการก่อสร้าง ดำเนินการ และกำกับดูแล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดมาตรฐานและเงื่อนไขของเอกชนที่สนใจ

“เรากำลังลองทำที่เขาใหญ่เพื่อดูว่าจะเปิดให้ที่อื่นได้ไหม” นายปลอดประสพ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว

เมื่อปลายปี ๒๕๔๒ กรมป่าไม้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอันจะนำรายได้เข้าสู่ประเทศ โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้ยืมและจัดสรรงบประมาณจากรัฐมาให้

“แผนพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว” ถูกแปรมาเป็น การขยายถนนสายปากช่อง-ปราจีนบุรี (๒๐๙๐) ที่ผ่ากลางเขาใหญ่ให้กว้างขึ้น บริเวณจุดชมวิวและชมสัตว์ป่าได้รับการพัฒนาให้สวยงามขึ้น อาคารบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติที่ประกอบด้วยร้านค้าสวัสดิการ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สำนักงานอุทยาน ถูกรื้อถอนและปรับพื้นที่ โดยมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่ครบครันและทันสมัยมาแทน ฝั่งตรงข้ามที่ทำการอุทยานแห่งชาติเดิม เป็นที่ตั้งร้านอาหารที่มีบริการนวดตัวและจำหน่ายของที่ระลึกพร้อมสรรพในตัว

บริเวณมอสิงโตซึ่งเดิมเป็นหอส่องสัตว์ มอสิงโตที่นักท่องเที่ยวนิยมมาส่องสัตว์เนื่องจากเป็นแหล่งพบเห็นสัตว์ป่าได้ง่าย ถูกเปิดพื้นที่เพื่อก่อสร้างที่ทำการอุทยานแห่งชาติแห่งใหม่ จากที่ทำการอุทยานแห่งชาตินี้ เลยลงไปด้านหลังซึ่งเคยเป็นที่ตั้งค่ายเยาวชน ขณะนี้มีศูนย์ฝึกอบรมแห่งใหม่มาแทนที่ ประกอบด้วยอาคารฝึกอบรม อาคารที่พัก ระบบสาธารณูปโภคครบครัน รองรับผู้เข้ารับการอบรมได้มากถึง ๒๐๐ คน และให้ชื่ออาคารนี้ว่า “สุรัสวดี” ตามชื่อสกุลของอธิบดีกรมป่าไม้คนปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ อีกเช่น แคมป์ลำตะคองบริเวณผากล้วยไม้ ที่ประกอบไปด้วยลานกางเต็นท์ ห้องน้ำ ร้านอาหาร ลานกิจกรรม และเวทีกิจกรรมกลางแจ้ง ล่าสุดมีโครงการจัดทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเป็นเรื่อง ๆ เช่น เส้นทางเดินศึกษากล้วยไม้ เส้นทางเดินศึกษาเฟิน เป็นต้น

“การพัฒนาด้านสิ่งสร้างเสร็จไปแล้ว แต่การจัดการยังบริหารโดยเจ้าหน้าของกรมป่าไม้อยู่ ขณะนี้กำลังมองหาว่าจะจ้างใครมาทดลองบริหารดี ถ้าประเมินแล้วพบว่ามันดีจริง จึงจะขยายไปยังอุทยานฯ อื่น ๆ” อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว

สิ่งที่เกิดขึ้นกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานฯ โครงการนำร่องเหล่านี้ เป็นเพียงตุ๊กตาที่ “ทดลอง” ทำขึ้นมาก่อนจะ “เอาจริง” กับที่อื่น ๆ ในระยะ ๕ ปี กรมป่าไม้มีการวางแนวทางพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยวไว้สามรูปแบบคือ

๑. การพัฒนาเต็มรูปแบบ ครอบคลุมทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริการที่พักแรม การบริการการท่องเที่ยวและนันทนาการ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทั้งแบบไปกลับและแบบพักค้างคืน โดยเฉพาะแบบพักค้างคืนสามารถรับได้ไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ คน
๒. การพัฒนากึ่งเต็มรูปแบบ มีลักษณะคล้ายแบบที่ ๑ แต่ลดขนาดการรองรับนักท่องเที่ยวเหลือไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ คน
๓. การพัฒนารองรับการบริการพื้นฐาน มีลักษณะคล้ายกันแต่สามารถบริการนักท่องเที่ยวเฉพาะแบบไปกลับเท่านั้น

แม้ว่าบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุย “อย่างเป็นทางการ” ถึง “แผน” ที่คาดว่าจะออกมาเป็นระเบียบชัดเจนในอีกไม่กี่เดือนนี้ ด้วยเหตุผลว่ายังไม่มีระเบียบชัดเจนจึงไม่สามารถพูดได้ / ต้องรอดูโครงสร้างองค์กรหลังปฏิรูประบบราชการก่อน / เป็นเรื่องของนโยบายต้องให้ท่านอธิบดีพูดเท่านั้น ฯลฯ และตบท้ายเอาไว้ว่า “รอให้มีแผนออกมาให้แน่นอนก่อนแล้วค่อยมาพูดกัน”

แต่เราจะไม่พูดถึงและตรวจสอบจนกว่าจะถึงวันที่ “ทุกอย่างกำหนดเอาไว้หมดแล้ว” ได้หรือ ?

…………………………

vote 01ปลอดประสพ สุรัสวดี
อธิบดีกรมป่าไม้

“อุทยานแห่งชาติในประเทศที่พัฒนาแล้วมีไว้ทั้งเพื่ออนุรักษ์และนันทนาการ อุทยานแห่งชาติของเมืองไทยก็เช่นกัน กรมป่าไม้มีนโยบายที่จะพัฒนาอุทยานฯ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนไทยได้เห็นความสวยงามตามสภาพธรรมชาติอย่างแท้จริง เมื่อได้เห็นได้รู้ก็จะเกิดความรักความหวงแหน ผมไม่เห็นว่ามันจะผิดอะไรเลย

“โครงการนำร่องที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขณะนี้ได้ทำในส่วนการก่อสร้างอาคารบ้านพัก สิ่งอำนวยความสะดวกเรียบร้อยแล้ว และเปิดให้บริการแต่ยังบริหารโดยกรมป่าไม้อยู่ ก็ได้เงินทุกวัน ทุกคนก็ชอบ แต่เรากำลังตั้งคำถามว่าถ้าคนอื่นทำจะดีกว่าเราไหม หน้าที่ของเราไม่ควรจะไปเสิร์ฟน้ำ ปูผ้าปูที่นอน หรือคอยปลุกนักท่องเที่ยวตอนเช้า ขณะนี้เรากำลังจะทดลองให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการบางจุดในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเราเพียงแต่จ้างให้เอกชนเข้ามาบริหารแทนกรมป่าไม้เท่านั้น เพื่อจะดูว่าเป็นอย่างไร จะเกิดผลดีกับเราไหม เรากำลังคิดจะจ้างโรงแรมแถว ๆ นั้นมาบริหาร เอาบุคลากรของเขามาทั้งทีมเลย แต่ไม่ใช่การให้สัมปทาน เราจ้างเขาเพียงบางจุดเท่านั้น แล้วมาดูว่านักท่องเที่ยวจะพึงพอใจมากกว่าที่บริหารโดยกรมป่าไม้ไหม อาหารจะอร่อยกว่าไหม สะอาดกว่าเก่าไหม เห็นบ่นกันนักว่าเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้พูดจาไม่ดี กระโชกโฮกฮาก หน้าตาก็ไม่หล่อ ขอน้ำกินก็เสิร์ฟช้า แต่ขณะนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะให้ใครมาบริหาร เพราะยังหาเอกชนที่ถูกใจไม่ได้ วงเงินเท่าไรก็ยังไม่รู้

“แม้ว่าจะมีที่พักของเอกชนอยู่นอกอุทยานฯ เขาใหญ่ แต่ที่พักของเราอยู่บนเขาใหญ่ยังไงก็ดีกว่า สวยกว่ามาก มีอยู่ห้องหนึ่งจอมพลสฤษดิ์เคยมาพัก เราซ่อมแซมปรับปรุงอย่างดีราคาคืนละ ๑ หมื่นบาท ไม่ได้ดีเด่ ไม่ได้สวยอะไร แต่มันมีประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง ใครอยากนอนก็มานอน ไม่อยากนอนก็ไม่ต้องนอน ไม่ต้องมาบ่นว่าแพง อุทยานฯ ไม่ใช่มีแค่ต้นไม้ หรือแค่สัตว์ป่าเท่านั้น แต่มันมีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมประเพณีด้วย

“บางคนบอกว่าทำไมไปทำใหญ่โต แต่คุณเห็นสภาพปัจจุบันกับสมัยก่อนไหม ก่อนหน้านั้นที่เป็นศูนย์ฝึกเยาวชน ลูกหลานพวกคุณไปนอน ถูกงูกัด ถูกตะขาบกัด เราจึงปรับปรุงใหม่ สร้างใหม่ในที่เดิมนั่นแหละ ให้มันดีกว่าเดิม เป็นเตียงสองชั้น ไม่ได้หรูหราอะไร ทุกวันนี้ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีเยาวชนมาต่อคิวยาวเหยียดขอใช้สถานที่ไม่เคยว่างเว้น เพราะที่นี่มีความพร้อม น่าไปเที่ยว เหมาะสมที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

“ถ้าเราประเมินแล้วพบว่าดี เราก็จะขยายไปที่อื่นอีก เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะได้ไปทำงานอื่น ไปดูแลรักษาป่าไม้และสัตว์ป่า ดูแลความปลอดภัยของประชาชน ไม่ใช่มาเสิร์ฟน้ำ เสิร์ฟอาหาร หรือคอยปูผ้าปูที่นอน

“เรื่องการพัฒนาอุทยานแห่งชาติเพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยแบ่งเป็นระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศ จะให้ใครมาทำอะไรยังไง ก็แล้วแต่ท่านผู้อำนวยการอภิวัฒน์ ผมเป็นแค่คนกำหนดนโยบาย ท่านผู้อำนวยการอภิวัฒน์จะวางแผนอะไรยังไงผมไม่ทราบ ท่านก็อาจจะแบ่งเป็นหลายระดับ มีการบริหารจัดการหลายรูปแบบถ้าท่านเห็นว่าเป็นประโยชน์”

…………………………

สนับสนุน

อภิวัฒน์ เศรษฐรักษ์
ผู้อำนวยการ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้

 

vote support

“การพัฒนาอุทยานแห่งชาติได้กำหนดแนวทางไว้สามระดับ ระดับแรกคือ การพัฒนาเพื่อรองรับคนท้องถิ่น ระดับที่ ๒ คือ การพัฒนาเพื่อรองรับคนทั้งประเทศ และระดับที่ ๓ พัฒนาเพื่อคนไทยทั่วประเทศและชาวต่างชาติด้วย นี่คือสามระดับที่กรมป่าไม้ทำควบคู่กันไป การกำหนดว่าอุทยานแห่งชาติแห่งใดจะพัฒนารองรับการท่องเที่ยวระดับไหน ต้องพิจารณาจากศักยภาพของอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งว่า มีจุดเด่นและทรัพยากรอะไรที่น่าสนใจ มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหรือไม่ จะเดินทางไปอย่างไร ฯลฯ

“โครงการนำร่องการมีส่วนร่วมการจัดการอุทยานแห่งชาติ ได้เลือกพื้นที่ดำเนินการหกแห่ง คือ พื้นที่ที่มีปัญหาค่อนข้างน้อยสามแห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์หรือถ้ำธารลอด จังหวัดกาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติแหลมสน จังหวัดระนอง อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จังหวัดสตูล และพื้นที่มีปัญหามากสามแห่ง คือ อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน และอุทยานแห่งชาติออบหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งดำเนินการมาได้หนึ่งปีเศษแล้ว โดยมีหลักการสำคัญคือ การคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ ให้อยู่ได้โดยประชาชนได้รับผลประโยชน์ด้วย โดยเพิ่มพูนความแข็งแกร่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ในลักษณะเศรษฐกิจพอเพียง และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“จากการที่เราทดลองทำในหกพื้นที่ โดยยึดนโยบายให้ชุมชนมีส่วนร่วม ในการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ และได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว จากการประเมินผลในเบื้องต้น มีผู้นำชุมชนเกิดขึ้นใหม่ ๓๒๔ คน มีการอบรมให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ๒๗ หมู่บ้าน คนในชุมชนมีการสร้างหลักเกณฑ์กติกาว่า จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร มีการวางแผนจัดทำโครงการ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม รวมทั้งโฮมสเตย์ ชาวบ้านเองอยากจะมีรายได้จากการท่องเที่ยว เราส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวมากขึ้น ให้มีส่วนร่วมทั้งในเรื่องการนำเที่ยว และการให้บริการต่าง ๆ เราคิดว่าจะส่งเสริมชาวบ้านตรงจุดนี้ เพราะกรมป่าไม้ กำลังดำเนินการด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ช่วยกันทำไปในทิศทางที่จะเป็นประโยชน์กับท้องถิ่น และต่อประเทศชาติ

“ขณะนี้จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า โครงการนำร่องในส่วนที่กรมป่าไม้ดำเนินการ ได้รับความสำเร็จในระดับหนึ่ง เรากำลังประเมินว่าภาพรวมจะออกมาอย่างไร และขั้นตอนต่อไปคิดว่าน่าจะนำผลความสำเร็จไปใช้ในที่อื่น ๆ ด้วย ซึ่งต้องรอผลการประเมินอย่างละเอียดก่อน

“ส่วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้น เป็นคนละส่วนกับโครงการนำร่องที่กล่าวมา เพราะขนาดต่างกัน เราจะยังไม่พูดถึงตรงนั้น”

คัดค้าน

สุรเชษฎ์ เชษฐมาส
คณะวนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
.
vote object

“เป้าหมายหลักของการจัดการอุทยานฯ คือการคุ้มครองรักษาระบบนิเวศให้คงอยู่ เพื่อให้คนรุ่นหลังมีโอกาสได้ใช้อย่างยั่งยืน อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ทั้งด้านนันทนาการ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาเรียนรู้ของเยาวชน เพราะพื้นที่อุทยานฯ เป็นห้องเรียนธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด การใช้ประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวก็สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์ป่า

“การใช้ประโยชน์ของอุทยานแห่งชาติเพื่อการท่องเที่ยว จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์หรือการจัดโซนนิ่งตามหลักวิชาการ เพราะในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งหมด มีความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ หรือในการอนุรักษ์แตกต่างกัน พื้นที่บางส่วนหรือส่วนใหญ่จะต้องเก็บรักษาไว้เพื่อคุ้มครองระบบนิเวศ เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งถือว่ามีความสำคัญยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เราต้องรักษาป่าไว้ให้เป็นที่ขยายพันธุ์หรือเพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงการป้องกันการพังทลายของดินและควบคุมสภาพภูมิอากาศด้วย เพราะฉะนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานฯ ที่แบ่งโซนไว้เพื่อการอนุรักษ์จะไม่มีการแตะต้องเลย ส่วนบริเวณที่อนุญาตให้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวได้ ก็ต้องจัดการให้เหมาะสมว่าส่วนไหนอนุญาตให้พัฒนาเป็นเขตบริการท่องเที่ยว ส่วนไหนเป็นเขตให้จัดกิจกรรมนันทนาได้ ถ้าหากแบ่งโซนไว้ถูกต้องเช่นนี้ ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการรบกวนสัตว์ป่า

“เมื่อมีการแบ่งโซนแล้ว ต้องพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ทั้งในด้านการพักแรมและการศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ แต่ต้องให้เหมาะสมกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ไม่เป็นตัวเร่งหรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ หรือถ้าจะเกิดก็จะต้องให้น้อยที่สุด โดยมีการศึกษาว่าปริมาณเท่าไรจึงจะเหมาะสม ขีดความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่มีมากน้อยแค่ไหน การศึกษาขีดความสามารถการรับได้ จะเป็นเครื่องมือที่จะบอกว่าพื้นที่ไหนรับได้เท่าไร และจะไม่กระทบต่อระบบนิเวศ

“การให้เอกชนเข้ามาลงทุนเรียกว่าเป็นดาบสองคม มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ หนึ่ง ภาคเอกชนมีเงินลงทุน เท่ากับเข้ามาผ่อนปรนภาระการเงิน ในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแทนรัฐ รัฐจะได้นำงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ไปใช้ฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ไม่ควรนำงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดไปลงทุนเรื่องการท่องเที่ยวอีก สอง ต้องยอมรับว่าภาคเอกชนมีทักษะในด้านการให้บริการมากกว่าภาครัฐ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายมากกว่า

“แต่ข้อเสียที่น่าเป็นห่วงคือ เอกชนที่เข้ามาลงทุนมักจะละเมิดสิทธิ ในการดำเนินงานเกินขอบเขตที่กำหนดไว้ เช่น ต่อเติมสิ่งปลูกสร้างเกินกว่าที่ราชการกำหนด บุกรุกและเปิดพื้นที่ ตัดต้นไม้ออกมากไปกว่าที่ควรจะเป็น สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อธรรมชาติหรือรบกวนสัตว์ป่า โดยที่ทางฝ่ายราชการไม่สามารถดำเนินการจัดการได้อย่างเต็มที่ สอง ต้องยอมรับว่าเรามีบทเรียนเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสระหว่างภาครัฐกับเอกชน ภาคเอกชนมักจะมีเครือข่าย มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ กับนักการเมือง ทำให้ต่อรองหรือล็อบบี้ผู้ที่มีอำนาจหรือนักการเมืองได้ สายสัมพันธ์เชิงอำนาจในลักษณะนี้อาจนำไปสู่การกระทำที่ไม่ถูกไม่ควรได้ และก็เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งนั้น ภาคเอกชนมักจะใช้อำนาจหรืออิทธิพลที่มีอยู่เพื่อสร้างโอกาสที่ไม่โปร่งใสให้ตัวเอง โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ มันเป็นเรื่องอึดอัดใจของคนที่ทำงานในพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างไม่สบายใจและมีปัญหาตามมา

“เคยมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นที่ตะรุเตา รัฐเปิดให้เอกชนเช่าอาคารพาณิชย์ ร้านอาหาร แต่เอกชนได้ต่อเติมบ้านพักออกไป และข้อตกลงที่ว่าจะเปิดบริการร้านอาหารแค่สี่ทุ่มห้าทุ่ม ก็กลับเปิดยาวไปถึงตีสองตีสาม เมื่อเจ้าหน้าที่ไปว่ากล่าวตักเตือนก็ไม่ฟัง จนกระทั่งทางอุทยานฯ ต้องไปฟ้องร้องต่อศาล แต่กว่าศาลจะตัดสินก็ใช้เวลาสามสี่ปี ระหว่างที่คดีความอยู่ในศาลจนถึงวันตัดสินนั้น ผลเสียหายก็ตกอยู่กับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำ อากาศ ขยะ และทัศนียภาพ เกินกว่าจะแก้ไขได้แล้ว

“ข้อเสียอีกประการคือ การให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ เท่ากับว่ามีการผูกขาดเกิดขึ้น การจัดการอุทยานฯ ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม ทั้งคนที่อยู่ในเมืองและคนที่อยู่ใกล้อุทยานฯ ดังนั้นคนท้องถิ่นน่าจะได้เข้ามามีส่วนร่วมจัดการด้วย ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายกระจายรายได้สู่ชนบท สู่คนท้องถิ่น ถ้าหากว่าให้เอกชนเพียงรายใดรายหนึ่งมาจัดการ แล้วประชาชนที่อยู่รอบ ๆ จะทำอย่างไร นี่คือคำถามที่เปิดกว้างให้คนทั่วไปได้คิดด้วย ถ้าหากรัฐบาลมีนโยบายจะพัฒนารายได้และคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่นให้ดีขึ้นจริง ก็น่าจะเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ จะเป็นรูปแบบไหนก็แล้วแต่ความเหมาะสม นอกจากนี้ยังอาจมีผลเสียที่ตามมาอีกก็คือ ค่าบริการของผู้ประกอบการภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร อาจจะไม่ตั้งราคาตามที่ตกลงกันไว้ก็ได้ อาจจะขึ้นราคาตามอำเภอใจ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มีรายได้น้อยก็จะไม่มีโอกาสเข้าไปใช้

“เมื่อประเมินข้อดีข้อเสียแล้ว ถามว่าควรจะให้เอกชนเข้ามาทำหรือไม่ ผมคงตอบแบบขาวหรือดำไม่ได้ แต่อยากให้ข้อมูลสำหรับเป็นแง่คิดไว้ว่า การให้เอกชนเข้ามาลงทุนด้านการบริการ ต้องชี้ชัดว่าให้บริการเรื่องอะไร เรื่องที่พัก ร้านอาหาร หรือร้านขายของที่ระลึก ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน หากไม่มีความชัดเจนคงยากที่จะให้สังคมสนับสนุน ดังนั้นต้องตั้งคำถามในทุก ๆ ด้านให้มีความชัดเจนว่า การให้เอกชนเข้ามาลงทุนนั้น ลงทุนเรื่องอะไร เงินลงทุนเบื้องต้นสำหรับสิ่งก่อสร้าง อาคารที่พัก ใครเป็นคนลงทุน

“ผมเคยเสนอในที่ประชุมนโยบายป่าไม้แห่งชาติว่า น่าจะมีพื้นที่นำร่องภาคละหนึ่งแห่ง ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ อีสาน ภาคกลาง เพื่อทดลองและติดตามประเมินผล ว่าเอกชนเข้ามาลงทุนแล้วสร้างผลกระทบให้แก่สิ่งแวดล้อมหรือไม่ ช่วยปลดเปลื้องภาระของภาคราชการได้จริงหรือ สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับทางราชการไหม เช่น ละเมิดข้อตกลงต่าง ๆ แล้วต้องถามนักท่องเที่ยวด้วยว่าพอใจกับการบริการของภาคเอกชนไหม สุดท้ายนำประเด็นหลัก ๆ เหล่านี้มาหาข้อสรุปว่าควรขยายผลให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานต่อไปในที่อื่น ๆ หรือไม่

“ในต่างประเทศเช่นออสเตรเลีย ไม่อนุญาตให้เอกชนเข้าไปบริหารจัดการอุทยานฯ เลย เขาอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปในอุทยานฯ เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น รัฐบาลออสเตรเลียจึงไม่มีภาระที่จะต้องจัดการดูแลนักท่องเที่ยวในตอนกลางคืน รัฐก็ดูแลเรื่องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมให้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ เน้นไปที่การจัดการเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยว คนที่เข้าไปก็พึงพอใจเพราะได้ความรู้และได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ส่วนสหรัฐอเมริกาและแคนาดาก็เหมือนกัน มีเฉพาะอุทยานฯ เก่า ๆ เท่านั้นที่มีเอกชนเข้าไปสัมปทาน อุทยานฯ ที่เกิดขึ้นเมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ให้เอกชนเข้าไปบริหารจัดการ ไม่มีโรงแรมหรือรีสอร์ตให้เข้าไปพักแรมได้ แต่อนุญาตให้ไปกางเต็นท์นอนได้ เพราะเขาเน้นให้นักท่องเที่ยวเข้าไปพักค้างแรมเพื่อศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ ดังนั้นก็จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการกางเต็นท์เท่านั้น ไม่มีโรงแรมใหญ่โต หรือห้องสัมมนาอย่างที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

“ประเด็นเรื่องการหารายได้เข้าประเทศผมไม่มีข้อโต้แย้งหรือคัดค้าน แต่การเปิดอุทยานฯ ให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการนั้นผมเป็นห่วงพอสมควร เพราะยังไม่มีความชัดเจน ยังไม่มีแผนมีกลยุทธ์ ไม่มีระเบียบว่าด้วยการเข้ามาร่วมจัดการที่ดีพอ การหารายได้จะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของระบบนิเวศด้วย ต้องระมัดระวังไม่ให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวหารายได้ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่จะตามมา เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ก็เท่ากับว่าเรามุ้งเน้นแต่เศรษฐกิจหรือตัวเงินอย่างเดียว ไม่มองในเรื่องการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เท่ากับเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง เพราะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้น รายได้ที่เกิดขึ้น ก็จะได้ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืนต่าง