เรื่อง : นันทวัน เอื้อวงศ์กูล, ผศ.ดร.ศักดา ดาดวง
ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

scorpions 01

มีใครบ้างไม่กลัวแมงป่อง ?
รู้กันอยู่ว่าหากถูกเข็มเหล็กไนเข้าที่ใด พิษร้ายจะทำให้บริเวณนั้นปวดบวมขึ้นทันตา อีกทั้งรูปลักษณ์อันน่าสะพรึงกลัว เปลือกแข็งสีเข้มมันวาวต่อกันเป็นปล้องคลุมทั่วตัว ดูราวสวมเกราะโลหะ ก้ามใหญ่โตเมื่อเทียบกับขนาดของลำตัว หางที่ชูโค้งขึ้นอย่างแข็งกร้าว เหล็กไนปลายแหลมชี้พุ่งเข้าหาศัตรู และพฤติกรรมลึกลับยากเข้าใจ ทำให้แทบทุกคนหวาดหวั่นและอยากหลีกไกลจากแมงป่อง
ทว่าภายใต้โครงการศึกษาพิษของแมลงของเรา แมงป่องช้างจำนวนหนึ่งจากธรรมชาติได้ถูกนำมาสู่ห้องปฏิบัติการของภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอบข่ายงานวิจัยนี้ทำการศึกษาแมงป่องช้างทั้งในแง่ลักษณะนิสัย ลักษณะทางชีววิทยา สรีรวิทยา และการศึกษาพิษของแมงป่องทางชีวเคมีในเชิงลึก โดยงานที่สำคัญชิ้นหนึ่งก็คือ การวิจัยหาสมุนไพรที่สามารถลดหรือต้านพิษของแมงป่องได้
ตลอดเวลาที่เราต้องคลุกคลี ให้น้ำ อาหาร รีดพิษ และดูแลแมงป่องทุกวันราวกับเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรัก ทำให้รับรู้ว่า แมงป่องช้างไม่เพียงมีแต่ความน่ากลัวเช่นคนทั่วไปรับรู้ แต่มันยังมีเรื่องราวอันน่ารัก น่าสนใจ และน่าประทับใจซ่อนเร้นอยู่มากมาย


รู้จักแมงป่อง

scorpions 02

จากการจำแนกทางชีววิทยา แมงป่องเป็นสัตว์ที่จัดอยู่ในไฟลัม Arthropoda คลาส Scorpionida เป็นสัตว์พิษที่มีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ยืนยันได้จากการค้นพบฟอสซิลของแมงป่องที่มีอายุถึง ๔๔๐ ล้านปี เช่น Archaeobuthus estephani หรือ Protoischnurus axelrodorum เป็นต้น

ปัจจุบันทั่วโลกมีแมงป่องประมาณ ๑,๒๐๐ ชนิด (species) อยู่กระจัดกระจายเกือบทั่วไป ไม่ว่าเป็นเขตทะเลทราย (desert) เขตร้อนชื้น (tropic) หรือแม้แต่แถบชายฝั่งทะเล ยกเว้นเพียงเขตขั้วโลกเหนือ (Arctic) และขั้วโลกใต้ (Antarctica) เท่านั้นที่ไม่พบแมงป่อง และพบชนิดที่มีพิษร้ายแรง ๕๐ ชนิด บางชนิดมีพิษรุนแรงมาก เช่น แมงป่องในสกุล Centruroides ที่รัฐอริโซน่า สหรัฐอเมริกา พิษของมันสามารถทำให้เด็กและผู้สูงอายุที่ถูกต่อยเสียชีวิตได้ แมงป่องที่มีพิษรุนแรงสกุลอื่น พบในบราซิล เม็กซิโก และทะเลทรายซาฮาร่า
ส่วนในประเทศไทย ที่พบบ่อยมากที่สุด คือ แมงป่องในอันดับ Scorpiones (หรือ Scorpionida) วงศ์ Scorpionidae สกุล Heterometrus ได้แก่ H. longimanus และ H. laoticus พบ H. laoticus มากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย แมงป่องในสกุลนี้เป็นแมงป่องที่มีขนาดใหญ่สกุลหนึ่งของโลก ทั้งสองชนิดมีสีดำสนิท ขนาด ๙-๑๒ เซนติเมตร น้ำหนักตัว ๑๐-๑๒ กรัม มีอายุราว ๓-๕ ปี และจำแนกจากกันได้ยาก จึงเรียกกันทั่วไปว่า Giant scorpion หรือ Asian forest scorpion หรือ Black scorpion หรือ “แมงป่องช้าง” ในภาษาไทย หรือ “แมงเงา” ในภาษาอีสาน นอกจากนี้ยังมีแมงป่องที่อยู่ในวงศ์ Buthidae สกุล Isometrus พบตามบ้านเรือน มักมีสีน้ำตาลอ่อน แล้วมีลายดำหรือน้ำตาลคาด จึงเรียกว่า Striped scorpion ขนาดไม่เกิน ๕ เซนติเมตร เรียกทั่วไปว่า”แมงป่อง” หรือ”แมงงอด” ในภาษาอีสาน

พฤติกรรมส่วนหนึ่งที่ทำให้แมงป่องดูลึกลับ ก็เพราะมันเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบแสงสว่าง มักจะหลบซ่อนตัวอยู่ตามสถานที่มืดและชื้น เช่น ใต้ก้อนหิน ใต้กองไม้ ใต้ใบไม้ หรือขุดโพรงหรือรูอยู่ตามป่าละเมาะ และออกหากินในเวลากลางคืน จนบางคนตั้งสมญามันว่า “เพชฌฆาตยามราตรี”


ร่างกายแมงป่องช้าง

scorpions 03

แมงป่องช้างเป็นสัตว์มีเปลือกแข็งหุ้ม ลำตัวเรียว มีขาจำนวน ๔ คู่ อวัยวะที่โดดเด่น คือ “ก้ามใหญ่” (pedipalps) ๑ คู่ที่ดูทรงพลัง มันมีส่วนหัวและหน้าอกอยู่รวมกัน เรียกว่า”โปรโซมา” (prosoma) แมงป่องช้างมีตาบนหัวหนึ่งคู่ และตาข้างอีก ๓ คู่ ตรงปากมี”ก้ามเล็ก” (chelicera) ๑ คู่ ส่วนถัดมาเรียกว่า”มีโซโซมา” (mesosoma) ประกอบด้วยปล้อง ๗ ปล้อง ด้านหน้าท้องมีอวัยวะสำคัญคือ”ช่องสืบพันธุ์” (genital operculum) และมีอวัยวะที่เรียกว่า”เพคไทน์” (pectines) หรือ”เพคเท็น” (pectens) ๑ คู่ มีรูปร่างคล้ายหวี ทำหน้าที่รับความรู้สึกจากการสั่นของพื้นดิน ส่วนสุดท้ายคือหางเรียวยาว เรียกว่า”เมตาโซมา” (metasoma) ประกอบด้วยปล้อง ๕ ปล้องกับปล้องสุดท้าย คือ”ปล้องพิษ” มีลักษณะพองกลมปลายเรียวแหลม คล้ายรูปหยดน้ำกลับหัว บรรจุต่อมพิษ มีเข็มที่ใช้ต่อย เรียกว่า”เหล็กไน” (sting apparatus) เสมือนเป็นเข็มเพชฌฆาต ฉีดพิษเพื่อคร่าชีวิตเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย

แม้ว่าแมงป่องมีตาหลายคู่ แต่มีประสิทธิภาพการมองเห็นต่ำมาก และไม่ไวพอจะรับแสงกระพริบได้ เช่น แสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูป และต้องใช้เวลานานในการปรับตาให้ตอบสนองต่อแสง สังเกตได้เมื่อมันถูกนำออกจากที่มืด ต้องใช้เวลานับนาทีจึงจะเริ่มเคลื่อนไหว

ข้อด้อยเรื่องสายตาได้ถูกทดแทนด้วยสิ่งอื่น หากสังเกตให้ดีจะพบว่าทั่วตัวแมงป่องปกคลุมด้วยเส้นขนนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะบริเวณปล้องเพชฌฆาต ขนเหล่านี้รับความรู้สึกจากการเคลื่อนไหวของอากาศ ทำให้แมงป่องไวต่อเสียงมาก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่แมงป่องจะชูหางขึ้นทันทีที่มีเสียง หรือมีการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ รอบตัว เมื่อมีเหยื่อหรือศัตรูเข้ามาใกล้ และสามารถมอบความตายให้กับเหยื่อได้อย่างแม่นยำ


เสน่ห์ที่แฝงอยู่

คนทั่วไปมักพบเห็นแมงป่องช้างภายใต้เปลือกสีดำทะมึน น้อยคนที่จะรู้ว่าในความน่ากลัวนั้นมีความงามซุกซ่อนอยู่ หากนำแมงป่องช้างไปไว้ภายใต้แสงอุลตราไวโอเล็ต เปลือกสีดำจะกลายเป็นสีเขียวเรื่อเรืองเปล่งประกาย ยิ่งหากมองดูพร้อมกันหลายตัว ก็ยิ่งเห็นเป็นสีเขียวเลื่อมพรายสวยงามมาก

ลักษณะพิเศษของแมงป่อง (ไม่เฉพาะแมงป่องช้าง) ที่ต่างไปจากสัตว์มีเปลือกแข็งชนิดอื่นๆ เกิดจากสารชนิดหนึ่งซึ่งยังไม่ทราบแน่นอน ฝังตัวอยู่เป็นชั้นบางๆ ในเปลือกของแมงป่อง สารชนิดนี้ทำให้เปลือกแมงป่องเรืองแสงสีเขียวภายใต้แสงอุลตราไวโอเล็ต ถึงแม้แมงป่องตายไปแล้วเป็นเวลานาน คุณสมบัติเรืองแสงนี้ก็ยังคงอยู่ จากฟอสซิลแมงป่องอายุหลายร้อยปีพบว่า แม้ว่าเปลือกจะไม่คงรูปร่างแล้ว แต่สารเรืองแสงยังคงฝังตัวติดกับหินฟอสซิล นอกจากนี้ ตัวอย่างดอง หรือแม้กระทั่งแมงป่องทอดที่มีขายทั่วไปในภาคอีสาน ยังคงมีการเรืองแสงอยู่แทบไม่แตกต่างจากแมงป่องที่มีชีวิตแม้แต่น้อย

กระทั่งปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่า แมงป่องมีคุณสมบัติการเรืองแสงแปลกประหลาดนี้ไปเพื่อประโยชน์อันใด


เพชฌฆาตยามราตรี

scorpions 04

หลังตะวันตกดิน เมื่อความมืดมาเยือน เหล่าแมงป่องช้างจะออกจากที่ซ่อนตามโพรงดิน ซอกหลืบก้อนหิน ใต้ขอนไม้ หรือใต้กองใบไม้ลึกเร้น เพื่อรอคอยเหยื่อซึ่งมักเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดต่างๆ เช่น ตั๊กแตน, จิ้งหรีด, หนอน, ลูกจิ้งจก เป็นต้น

ทุกย่างก้าวของเหยื่อเคราะห์ร้ายผู้มาถึงลานประหาร ไม่อาจรอดพ้นจากการรับรู้ของขนเล็กๆ ทั่วตัวแมงป่องไปได้เลย เมื่อเหยื่อเข้ามาในระยะใกล้พอ ก้ามใหญ่สีดำทรงพลังก็หนีบฉับที่ตัวเหยื่ออย่างรวดเร็ว หากเหยื่อยังขัดขืน เหล็กไนปลายหางเพชฌฆาตก็จะทิ่มแทงเข้าที่ตัวเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนแน่นิ่ง

แมงป่องต่อยและปล่อยน้ำพิษออกมาเพื่อทำให้เหยื่อตายหรือเป็นอัมพาต แล้วจึงเริ่มฉากการกินอาหาร ซึ่งดูสุภาพ เชื่องช้า แต่น่ากลัว เหยื่อที่ติดในก้ามใหญ่ถูกฉีกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยด้วยก้ามเล็ก แล้วถูกส่งเข้าปาก อาหารจะถูกอมไว้เป็นเวลานานก่อนจะถูกกลืนหายเข้าไป ระยะเวลาที่แมงป่อง”ละเลียด”อาหารแต่ละมื้อนานมาก อาจถึง ๑ ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น
หลังอิ่มเอมจากแต่ละมื้อ แมงป่องจะไม่สนใจอาหารใด ๆ แม้จะมีเหยื่ออันโอชะมาวางอยู่ตรงหน้า และมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่กินเป็นเวลานาน อาจถึง ๑ หรือ ๒ สัปดาห์ เพราะแมงป่องเป็นสัตว์เลือดเย็นและมีอัตราเมแทบอลิซึมต่ำ นอกจากนี้ยังต้องการน้ำน้อยมาก บางครั้งเพียงน้ำจากอาหารที่กินเข้าไปก็พอต่อการดำรงชีวิต


ระบำแห่งความรักและความตาย

ฉากรักหรือพฤติกรรมการสืบพันธุ์ของแมงป่องนั้นแปลกและน่าสนใจมาก เรียกกันว่า “ระบำแห่งความตาย” หรือ “Dance of Death”

ฤดูผสมพันธุ์ของแมงป่องอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ในการจับคู่ แมงป่องหนุ่มจะใช้ก้ามใหญ่หนีบกับก้ามใหญ่ของแมงป่องสาว ทั้งสองจะเดินเป็นจังหวะไปข้างหน้าและถอยหลัง หรือวนเป็นวงกลมไปรอบๆ ราวกับกำลังจับคู่เต้นลีลาศบนฟลอร์ ช่วงเวลาสำคัญที่สุดมาถึงเมื่อแมงป่องหนุ่มวางถุงน้ำเชื้อของตนลงบนพื้น แล้วหมุนและกดตัวแมงป่องสาวให้คร่อมเก็บถุงน้ำเชื้อ อสุจิจะผ่านช่องสืบพันธุ์ (genital operculum) ของแมงป่องสาว เพื่อผสมกับไข่ในท้อง

เมื่อแมงป่องสาวเก็บถุงน้ำเชื้อเข้าไปในตัว ระบำรักก็เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความตาย แมงป่องสาวจะจับแมงป่องหนุ่มกินเป็นอาหารทันที หรือบางครั้ง ตัวผู้ก็อาจกินตัวเมียที่มีขนาดเล็กกว่า ธรรมเนียมการฆ่าหลังการผสมพันธุ์ อาจมาจากสัญชาตญาณของแมงป่อง ที่เป็นสัตว์ประเภทกินพวกเดียวกันเอง ตัวผู้จึงกลายเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของตัวเมีย เพื่อประโยชน์ของลูกน้อยที่จะเกิดมา


แม่ผู้อดทน

scorpions 05

หลังการผสมพันธุ์ แมงป่องช้างสาวจะตั้งท้อง สังเกตได้จากการขยายตัวของกล้ามเนื้อที่ยึดระหว่างปล้องที่ ๓ ถึงปล้องที่ ๗ แม่แมงป่องช้างจะตั้งท้องนานประมาณ ๗ เดือนถึง ๑ ปี มันไม่วางไข่เช่นเดียวกับแมงหรือแมลงอื่นๆ แต่จะคลอดลูกเป็นตัวออกมาจากช่องสืบพันธุ์ ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ช่วงฤดูฝนที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์

คณะของเราได้แมงป่องช้างจากภายนอก ๒ ครั้ง ครั้งแรกได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท สวนเสือศรีราชา จำกัด จำนวน ๒๐ ตัว ครั้งที่ 2 รับซื้อจากชาวบ้านอีกประมาณ ๓๐ ตัว แมงป่องที่นำมารุ่นที่ ๒ ได้ตั้งท้อง แม้ไม่อาจยืนยันได้ว่าแมงป่องผสมพันธุ์กันระหว่างถูกเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ แต่เราก็ได้สังเกตพฤติกรรมการตกลูกของแม่แมงป่องอย่างใกล้ชิด

ก่อนตกลูก แม่แมงป่องจะซ่อนตัวในที่ปลอดภัย ลูกอ่อนคลอดโดยเอาก้นออกมาก่อน หลังคลอดจะคลานไปมาบริเวณใต้ท้องแม่ ส่วนแม่แมงป่องจะงอขาคู่แรกรองรับลูกบางตัวเอาไว้ และกางหวีหรือเพคไทน์ออกเต็มที่เพื่อให้ช่องสืบพันธุ์อยู่พ้นจากพื้นดินให้มากที่สุด หากเพคไทน์สัมผัสพื้นจะไม่ยอมคลอด เพราะลูกอาจมีอันตราย

แมงป่องช้างตกลูกครั้งละประมาณ ๗ ถึง ๒๘ ตัว ด้วยอัตราประมาณ ๑ ตัว ต่อ ๑ ชั่วโมง ดังนั้นแม่แมงป่องจึงใช้เวลาตกลูกแต่ละครอกนานมาก ตั้งแต่ ๑๒ ถึง ๒๔ ชั่วโมง หลังคลอดจากท้องแม่แล้ว ลูกๆ จะรวบรวมกำลังปีนขึ้นไปอยู่บนหลังแม่ด้วยตนเอง ภาพพจน์อันร้ายกาจของแมงป่องในความคิดหลายคนอาจลบเลือนไป หากใครก็ตามได้มาเห็นช่วงเวลาที่แม่แมงป่องดูแลลูกน้อยของมัน ลูกอ่อนที่เกาะกลุ่มเป็นก้อนสีขาวยั้วเยี้ยบนหลังแม่แมงป่องเป็นภาพที่แปลกตา ทว่าสำหรับแม่แมงป่องเอง นี่คือภาระอันหนักหน่วง ลองคิดดูว่า ลูกอ่อน ๑ ตัวหนัก ๐.๒ กรัม หากมีลูก ๒๐ ตัวจะหนัก ๔ กรัม ส่วนแม่หนักราว ๑๐ กรัม เปรียบได้กับแม่(คน)ที่มีน้ำหนัก ๖๐ กิโลกรัม ต้องอุ้มลูกหนัก ๑.๒ กิโลกรัม ถึง ๒๐ คน! แม่แมงป่องจึงดูอุ้ยอ้าย เดินซวนเซและส่ายหางไปมา เพราะขาทั้งแปดต้องรับน้ำหนักมาก จึงแทบไม่เคลื่อนย้ายไปไหนหากไม่จำเป็น ระยะนี้ คาดว่าแม่แมงป่องจะกินอาหารและน้ำน้อยมาก และไม่พักผ่อนเลย เพราะต้องใช้เวลาทั้งหมดเฝ้าคอยระแวดระวังภัยที่อาจกล้ำกรายสู่ลูก ส่วนแมงป่องตัวน้อยเหล่านี้จะอยู่บนหลังแม่นานถึงสองสัปดาห์โดยไม่กินน้ำและอาหารเลย

อย่างไรก็ตาม อาณาเขตอันปลอดภัยของลูกๆ จำกัดอยู่เฉพาะบนหลังแม่แมงป่องเท่านั้น หากลูกอ่อนตัวใดมีอันพลัดตกจากหลังแม่ก็บอกลาโลกได้เลย เพราะแม่จะไม่ช่วยมันกลับขึ้นไปบนหลัง มันจึงอาจตกเป็นอาหารของสัตว์อื่น หนำซ้ำอาจถูกแม่ของตัวเองจับกิน! เพื่อมิให้ลูกน้อยที่อ่อนแอเป็นเสมือนเหยื่อที่จะชักนำให้ศัตรูเข้ามาใกล้


พัฒนาการของเพชฌฆาตน้อย

scorpions 06

ลูกแมงป่องช้างแรกคลอดมีสีขาวล้วน ยกเว้นตาที่เป็นจุดดำสองจุด ตามลำตัวอาจมีตำหนิเป็นจุดสีดำหรือน้ำตาล ตัวอ่อนนุ่มนิ่ม อ้วนกลมเป็นปล้องๆ คล้ายข้าวต้มมัด หางสั้นคล้ายหางหมู ลำตัวยาวราว ๑.๓ ซ.ม.เมื่อยืดหางออกเต็มที่ และหนัก ๐.๒ กรัม ในสามวันแรกลักษณะภายนอกของมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด ส่วนใหญ่ลูกแมงป่องจะเกาะกลุ่มกันอยู่นิ่ง ๆ กระทั่งหลังวันที่ ๕ จะพบว่าสีของลูกแมงป่องช้างจะเข้มขึ้น จากสีขาวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน อายุ ๗ วัน ลูกแมงป่องช้างมีขนาดราว ๑.๗ ซ.ม. หนัก ๐.๑๘ กรัม เคลื่อนไหวมากขึ้น และอาจไต่ไปมาบนหลังแม่

ในช่วงที่อยู่บนหลังแม่นี้ ลูกแมงป่องช้างได้พลังงานและน้ำจากการสลายไขมันที่สะสมอยู่ในลำตัวที่อ้วนกลม จึงทำให้น้ำหนักตัวลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่แรกเกิดกระทั่งถึงระยะนี้ ไม่พบการเรืองแสงภายใต้แสงอุลตร้าไวโอเล็ต

ลูกแมงป่องช้างจะลอกคราบครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ ๑๑ วัน หลังลอกคราบลักษณะภายนอกของมันจะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน จากลำตัวอวบอ้วนสีขาวเปลี่ยนเป็นลำตัวผอมเพรียวสีน้ำตาลเข้ม ขนาดราว ๒.๖ ซ.ม. และหนัก ๐.๑๕ กรัม เริ่มซุกซน เคลื่อนไหวรวดเร็ว ลูกแมงป่องบางตัวจะขึ้นๆ ลงๆ จากหลังแม่ และเริ่มสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ยังคงไม่กินอะไรทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดคือเริ่มมีการเรืองแสงตามก้ามและขา ยกเว้นส่วนหลังและท้อง กระทั่งเข้าสู่วันที่ ๑๔ แม้สีของลูกแมงป่องไม่ต่างจากตอนลอกคราบใหม่ๆ นัก แต่กลับพบว่ามีการเรืองแสงเพิ่มมากขึ้น เมื่อลูกแมงป่องมีอายุประมาณ ๑๕ วัน จะลงจากหลังแม่จนหมด และมีการเรืองแสงทั่วทั้งตัว ลำตัวยาว ๒.๗ ซ.ม. น้ำหนัก ๐.๑๔ กรัม พร้อมแสดงสัญชาติญาณเพชฌฆาตของเผ่าพันธุ์ ถึงแม้ยังตัวเล็กเท่าปลายนิ้วก้อย แต่มันกลับเรียนรู้วิธีการต่อยจากสายพันธุกรรมที่สืบทอดมา ท่าทางการยกหางชูชันอวดอ้างไม่ผิดเพี้ยนจากผู้เป็นแม่ ต่างเพียงปลายหางเรียวแหลมยังคงเล็กและไม่คมกริบพอจะมอบความเจ็บปวดให้กับศัตรู

หลังจากนี้เป็นต้นไป สีผิวของลูกแมงป่องจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น มันจะเคลื่อนไหวรวดเร็ว และชอบซุกตัวอยู่ตามซอกหิน ใต้ใบไม้ ลูกๆ ที่เป็นอิสระจากแม่แล้วจะยังคงอาศัยอยู่ร่วมกันกับแม่ เนื่องจากยังล่าเหยื่อไม่ได้ก็จะคอยกินเศษอาหารที่เหลือจากแม่ จนกว่าจะสามารถล่าเหยื่อเองได้จึงจะแยกไปอยู่ตามลำพัง ลูกแมงป่องช้างเจริญเติบโตช้ามาก อายุ ๑ เดือนมีขนาดราว ๓.๓ ซ.ม. หนัก ๐.๓๒ กรัม อายุ ๑ ปีมีขนาดราว ๖ ซ.ม. และหนักราว ๒ กรัม ต้องใช้เวลาอีกนานนับปีและลอกคราบอีกหลายครั้งจึงจะโตเป็นตัวเต็มวัย โดยทั่วไปแมงป่องช้างจะมีอายุราว ๓-๕ ปี


งานวิจัยพิษแมงป่องช้าง

scorpions 07

พิษของแมงป่องช้างถูกปล่อยออกมาจากเหล็กไน ภายใต้การควบคุมของกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณต่อมพิษ ลักษณะเป็นของเหลวข้นสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนม ประกอบด้วยโปรตีนหลายชนิด โปรตีนที่เป็นตัวการสำคัญทำให้เหยื่อตายหรือเป็นอัมพาต คือ ท๊อกซิน (toxin) คนหรือสัตว์ที่ถูกแมงป่องต่อยจะมีอาการตอบสนองต่อพิษแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและสุขภาพ
สำหรับผู้ได้รับพิษแมงป่องช้าง จะมีอาการปวด บวม แดง และอักเสบในบริเวณที่ได้รับพิษ อาจเจ็บปวดเพียงบริเวณที่ถูกต่อย และคงอยู่ไม่กี่ชั่วโมง หรืออาจปวดร้าวไปทั่ว แล้วเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงเป็นเวลาหลายวัน

ดังที่กล่าวแล้วว่า งานสำคัญในการศึกษาแมงป่องช้างครั้งนี้ คือ การวิจัยหาสมุนไพรที่มีความสามารถลดหรือต้านพิษของแมงป่อง จากตำราสมุนไพรต่างๆ พบว่า มีสมุนไพรแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อยนับร้อยชนิด สมุนไพรเหล่านี้ปลูกได้ตามบ้านเรือนทั่วไป ใช้และเก็บรักษาง่าย แต่เป็นการใช้ตามที่บอกกล่าวต่อๆ กันมา ไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ และเกือบไม่มีการตรวจสอบถึงฤทธิ์ของสารในสมุนไพรว่าสามารถต้านพิษได้แท้จริงเพียงไร

ฝูงแมงป่องช้างที่นำมา ถูกเลี้ยงอยู่ในห้องเลี้ยงสัตว์ทดลอง ที่ปรับอากาศด้วยแอร์คอนดิชั่นตลอด ๒๔ ชั่วโมง ได้น้ำและอาหารตามเวลา ไม่มีอดอยาก หน้าที่ของพวกมันมีเพียงถูกนำไปรีดพิษ โดยให้ต่อยแล้วปล่อยน้ำพิษไว้บนแผ่นพาราฟิล์มที่สามารถยืดหยุ่นได้คล้ายผิวหนัง แมงป่องช้างให้หยดน้ำพิษขนาดประมาณปลายเข็มหมุดปริมาตร ๑๐-๒๐ ไมโครลิตรต่อการรีดหนึ่งครั้ง

พิษแมงป่องจะถูกนำไปทดสอบกับเซลล์ของเอ็มบริโอไก่ที่เลี้ยงในเพลท ตามปรกติเซลล์ที่ได้รับพิษจะถูกทำลายหมดทั้งเพลทภายในเวลา ๑๕ นาที เช่นเดียวกับเมื่อคนเราถูกแมงป่องต่อยแล้วเกิดอาการปวด บวม แดง ก็เพราะพิษทำลายเซลล์บริเวณนั้น กรรมวิธีในการทดสอบสมุนไพรก็คือ นำสมุนไพรที่สนใจผสมกับพิษก่อนแล้วนำลงใส่ในเพลทที่มีเซลล์อยู่ หากสมุนไพรยับยั้งพิษต่างๆ ได้ เซลล์ก็ไม่ถูกทำลาย

ในการศึกษาครั้งนี้ หากสามารถตรวจหาสมุนไพรแก้พิษและลดอาการต่างๆ ได้ ก็จะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป


ปริศนาของแมงป่องช้าง

scorpions 08

คำกล่าวที่ว่าแมงป่องช้างเป็นสัตว์เร้นลับคงไม่เกินเลยไปนัก ในเมื่อทั้งพฤติกรรมและลักษณะหลายประการของมันยังคงเป็นปริศนาที่รอการเปิดเผย

ดังเช่นคุณสมบัติการเรืองแสงภายใต้แสงอุลตราไวโอเล็ตของแมงป่องช้าง ที่ยังไม่มีใครทราบว่ามีขึ้นเพื่ออะไร เมื่อผนวกกับเรื่องดวงตาที่มีประสิทธิภาพการมองเห็นต่ำ ก็ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งที่น่าสงสัย

ปริศนาข้อต่อมาก็คือ ขณะที่แมลงอื่นๆ ออกลูกเป็นไข่ แต่แมงป่องคลอดลูกออกมาเป็นตัวจากช่องสืบพันธุ์ พัฒนาการของลูกอ่อนในช่องท้องแม่แมงป่องยังไม่มีใครศึกษา

นอกจากนั้น อวัยวะภายในของแมงป่องช้างยังแปลกประหลาด เราเคยผ่าซากแมงป่องช้างที่ตายใหม่ ๆ พบก้อนเล็ก ๆ สีน้ำตาลมากมาย และเส้นเล็กเรียวสีขาว เชื่อมต่อกันคล้ายเป็นตาข่าย ไม่อาจระบุได้ว่าส่วนไหนเป็นอวัยวะอะไรบ้าง เมื่อลองค้นจากเว็บไซต์ทั้งในและต่างประเทศ ก็พบรายงานเพียงชิ้นเดียวที่มีการศึกษาอวัยวะภายใน แต่เป็นของแมงป่องชนิดอื่นซึ่งแตกต่างไปจากของแมงป่องช้างที่เห็นจริงอย่างสิ้นเชิง

ยิ่งเราได้ศึกษาแมงป่องช้างอย่างจริงจัง ก็พบเรื่องราวแปลกประหลาดน่าสนใจน่าศึกษาเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทำให้แมงป่องช้างยังคงเป็นสิ่งมีชีวิตที่เร้นลับไม่สิ้นสุด กล่าวได้ว่าขณะนี้เราได้ก้าวเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับแมงป่องช้างมากขึ้น และหวังว่าเราจะได้รู้จักพวกมันมากยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งความรู้ความเข้าใจดังกล่าว อาจนำมาประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ รวมทั้งอาจสามารถส่งเสริมให้มีการเลี้ยง การขยายพันธุ์ และอนุรักษ์แมงป่องช้างให้เป็นสัตว์ที่อยู่คู่ประเทศไทย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตลอดไป