นักสร้างกระดาษให้มีชีวิต
เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย : เรื่อง
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ

paper sculpture1 พรรณทิพา ฤกษ์สุรนันท์ และอุบล หล่อพัฒนาพรชัย เป็นเพื่อนคู่หูซึ่งทำงานเป็น “วิศวกรกระดาษ” มากว่าสิบปี ทั้งสองไม่ได้มีดีกรีด้านวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตแต่อย่างใด อาศัยเพียงความรู้จากการเรียนออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาลัยครูสวนดุสิต บวกกับนิสัยชอบเรียนรู้ อดทน และมีใจรักในงานอย่างแท้จริง

(ภาพซ้ายมือ: พรรณทิพา (ซ้าย) และอุบล กับหนังสือสามมิติเรื่อง สมบติชาละวัน และ เสือใหญ่มีลาย ช้างพลายตาหยี ที่ประกอบเป็นเล่มแล้ว)

อาชีพ “วิศวกรกระดาษ” ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างนัก หลายคนสงสัยว่า…เฮ้ย มีอาชีพนี้อยู่ในโลกด้วยเหรอ ?… แต่จริงๆ แล้ว งานของวิศวกรกระดาษไม่ได้อยู่ไกลตัวเราเลย เราต่างเคยสัมผัสมันมาแล้วตั้งแต่เด็ก เพียงแต่ไม่เคยค้นไปให้ลึกถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังผลงานเหล่านั้นต่างหาก

วิศวกรกระดาษคือนักออกแบบสร้างสรรค์งานที่ทำด้วยกระดาษทุกรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการออกแบบภาพสามมิติหรือป็อบ-อัพ ซึ่งหมายถึงภาพที่มีส่วนลึกให้เห็นเป็นมิติเข้าไปมากกว่าภาพถ่ายปกติ เทคนิคป็อบ-อัพสามารถเนรมิตให้กระดาษกลายเป็นรูปทรงต่างๆ ที่เคลื่อนไหวได้ เปลี่ยนจากรูปหนึ่งเป็นอีกรูปหนึ่ง ศิลปะภาพสามมิติมักใช้ในการผลิตหนังสือสำหรับเด็ก อย่างหนังสือสามมิติหรือหนังสือภาพเลื่อน เพื่อสร้างเสน่ห์ให้หนังสือมีลักษณะเหมือนของเล่น อันเป็นกลวิธีสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็ก ๆ

“เริ่มเรียนรู้การทำหนังสือสามมิติตอนมาฝึกงานที่สำนักพิมพ์ชมรมเด็กนี้ ก็มีอาจารย์วิริยะ สิริสิงห (บรรณาธิการสำนักพิมพ์ชมรมเด็ก) คอยให้คำปรึกษา และศึกษาด้วยตัวเองจากหนังสือของต่างประเทศ ลองทำมาเรื่อยๆ โดยเอาความรู้ด้านการออกแบบโฆษณา ออกแบบผลิตภัณฑ์มาประยุกต์ใช้ จากนั้นก็ทำงานที่นี่มาตลอด”

paper sculpture2
ประติมากรรมลอยตัว อีกรูปแบบหนึ่งของงานกระดาษมีชีวิต

แม้โลกยุคนี้จะมีคอมพิวเตอร์กับเครื่องจักรเป็นผู้ช่วยสำคัญ แต่งานหนังสือสามมิติก็ยังต้องอาศัยสองมือมนุษย์อยู่วันยังค่ำ เมื่อจะเริ่มต้นทำหนังสือ วิศวกรกระดาษจะจับเอาตัวละครเด่นของเรื่องมาร่างลายเส้น เลือกดูว่าจะให้ส่วนใดของตัวละครยื่นออกมา หรือขยับได้ ตัดมาทดลองประกอบจนลงตัว นำแบบร่างสแกนเข้าไปแต่งลายเส้นในคอมพิวเตอร์ ลงสี ปริ๊นท์ออกมาลองอีกที แล้วจึงทำเส้นไดคัทส่งโรงพิมพ์ ตัดปรู๊ฟมาลองประกอบใหม่ หากไม่มีอะไรผิดพลาด ก็สั่งพิมพ์จริง โรงพิมพ์จะไดคัทมาเป็นชิ้นส่วน ขั้นตอนนี้จะต้องระดมแรงงานประมาณ ๒๐ ชีวิตในสำนักพิมพ์ชมรมเด็กมาช่วยกันพับ สอด ทากาว แล้วประกอบเป็นเล่มโดยใช้มือล้วนๆ เพราะยังไงซะ เครื่องจักรก็ทำได้ไม่ละเอียดเท่ามือคน

“ป็อบ-อัพเป็นงานที่ต้องพิมพ์ออกมาตรงตำแหน่งที่เรามาร์กไว้เป๊ะๆ ถ้าพลาดแม้แต่องศาเดียว จะประกอบเป็นชิ้นไม่ได้เลย ต้องปรู๊ฟกันหลายหน กระบวนการผลิตทั้งหมดใช้เวลานาน ต้นทุนก็สูง ทำให้ราคาขายค่อนข้างแพง ธุรกิจนี้จึงไม่เป็นที่นิยมในเมืองไทยเท่าไหร่ ส่วนใหญ่มักเป็นงานที่ต่างประเทศออกแบบแล้วมาจ้างโรงงานในเมืองไทยประกอบ แต่ฝรั่งเขาชอบงานแฮนด์เมด เขาถือเป็นงานที่มีคุณค่า ถึงขายแพง แต่ก็มีคนซื้อ หนังสือของฝรั่งจะมีแบบแปลกๆ อย่างเรื่องแกะก็มีขนแกะให้ลูบ พอมีรูปบึงก็จะมีเสียงกบร้อง บางทีเป็นหนังสือที่ทำด้วยพลาสติกให้เด็กอ่านเล่นในน้ำได้ ที่อเมริกา ญี่ปุ่นหรืออังกฤษ ก็มีเปิดสอนสาขาวิชานี้โดยตรงถึงระดับปริญญาเอก บางแห่งเขาเรียกว่าสาขาการออกแบบต่อเนื่องและภาพประกอบ (Sequential Design & Illustration) แต่เมืองไทยยังไม่มีที่ไหนเปิดสอนโดยตรง

paper sculpture3
หนังสือภาพเลื่อน เรื่อง แม่ไก่สามตัว

“นอกจากทำหนังสือ เรายังเปิดอบรมผู้ที่สนใจ ส่วนใหญ่เป็นครูที่ต้องการเรียนรู้เทคนิคไปทำสื่อการสอน เราเดินสายไปอบรมมาเกือบร้อยครั้งทั่วประเทศ สอนทฤษฎีพื้นฐานเรื่องเทคนิคการออกแบบ การคำนวณ แล้วให้ลงมือทำหนังสือของตัวเองออกมา เขาสามารถนำความรู้ตรงนี้ไปพัฒนาด้วยไอเดียของเขาเองต่อไป เวลาที่เขาได้ทำหนังสือเองกับมือ เขาจะภูมิใจมาก บอกว่า…เดี๋ยวจะเอาไปอวดลูกว่าทำได้แล้ว ทุกคนที่เข้าอบรมเป็นผู้ใหญ่ แต่พอมองเข้าไปในห้อง เหมือนเด็กๆ เลย เขาจะนั่งรวมกลุ่ม ช่วยกันทำ มันทำให้เรามีความสุขที่ได้แนะแนวเขา”

paper sculpture6

กว่าจะเป็นวิศวกรกระดาษมืออาชีพได้ ต้องอาศัยคุณสมบัติ ทักษะ และความรู้หลายด้าน เป็นงานที่ผสานศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน เช่นการคำนวณสัดส่วนของกระดาษ ควรให้ตั้งขึ้นกี่องศาจึงจะสวย ต้องมีพื้นฐานด้านการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ ถ้าวาดรูปได้ดีจะยิ่งไปโลด และสมัยนี้ควรใช้คอมพิวเตอร์ได้ด้วย ซึ่งโปรแกรมที่พรรณทิพาและอุบลใช้ ส่วนใหญ่จะเป็น Photoshop กับ Illustrator นอกจากนี้จะต้องรู้คุณสมบัติของกระดาษและกาวที่ใช้ มีความรู้เรื่องสิ่งพิมพ์ เรียกว่าต้องคุยภาษาเดียวกับโรงพิมพ์ได้รู้เรื่อง

“ช่างสังเกต เรียนรู้อยู่เสมอ หัดสังเกตสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ เพราะการออกแบบภาพสามมิติต้องคำนึงถึงหลักความเป็นจริงด้วย เช่นจะสร้างเก้าอี้ ต้องดูว่ามันตั้งขึ้นมาได้ยังไง จากแกนไหน แล้วเลือกวิธีการป๊อบ-อัพให้เหมาะสม จะสร้างมด ก็ต้องรู้ว่าโครงสร้างขาเขาเป็นยังไง เราก็สังเกตจากรูปวาดหรือรูปถ่ายในหนังสือ เราจะชอบดูหนัง ดูการ์ตูน ชอบของเล่น สังเกตว่าของเล่นชิ้นนี้มีรูปร่างยังไง เคลื่อนไหวได้ยังไง นำสิ่งที่เห็นมาผสมผสานกับไอเดียของเรา คิดว่าส่วนไหนที่ดึงดูดคน ก็ทำให้มันเด้งขึ้นมา เวลาออกแบบต้องดูด้วยว่าเป็นหนังสือสำหรับเด็กวัยไหน เพราะเด็กแต่ละวัยชอบไม่เหมือนกัน ถ้าเด็กเล็ก เขาจะชอบรูปทรงง่าย ๆ สีสด ๆ ไม่ต้องละเอียดเหมือนจริงมาก

paper sculpture4

“ที่สำคัญคือต้องมีใจรัก ใจเย็น อดทน เพราะงานแต่ละชิ้นกว่าจะออกมา ต้องลองผิดลองถูกเป็นสิบ ๆ รอบ บางทีทำเสร็จ ลองประกอบเข้าไป กางออกมา…อ้าว ไม่ลงตัว…ต้องลองใหม่ ขยับตำแหน่งให้มันเข้าที่

“วิศวกรกระดาษที่เป็นมืออาชีพเหรอ…คงต้องรู้ว่าเวลามันออกมาไม่สมส่วน จะแก้ไขได้ยังไง ตรงจุดไหน ทำเรื่อย ๆ จนเกิดความชำนาญ ก็จะรู้เอง แต่จริงๆ ระดับความเป็นมืออาชีพมันวัดกันไม่ได้ เพราะเป็นงานที่ต้องทดลองอยู่ตลอดเวลา ถึงเรียนทฤษฎีมาเหมือนกัน แต่ชิ้นงานมีความยากง่ายต่างกัน พลิกแพลงไปได้เรื่อย ๆ ไม่เหมือนสูตรเลขคณิตที่ต้องจบด้วยคำตอบแบบนี้ สมมุติทำมดได้แล้ว จะเปลี่ยนไปทำตัวอื่น ก็ต้องเรียนรู้ใหม่

“เราชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก พอมาอยู่ตรงนี้มันก็สนุก ไม่จำเจอยู่กับรูปทรงเดิมตลอดเวลา มีความสุขเวลาเห็นของที่เราออกแบบเอง สำเร็จเป็นชิ้น เป็นรูปร่างอย่างที่เราคิด ความท้าทายมันอยู่ที่เราสามารถสร้างให้กระดาษแผ่นเรียบ ๆ ที่เป็นแค่สองมิติ มีชีวิตขึ้นมาได้ พอทำออกมาแล้วมีเด็กๆ สนใจ ก็ดีใจ ยิ่งเป็นหนังสือที่เราทำไว้เป็นของเราเอง เราจะรู้สึกว่ามันมีคุณค่า ภูมิใจว่าเราทำด้วยมือของเราเองและมีเล่มเดียวในโลก

“ถ้ามีทักษะทางด้านนี้ สามารถนำไปดัดแปลงทำเป็นพวกการ์ด กล่องของขวัญหรือกล่องใส่ของเก๋ๆ แล้วทำเป็นธุรกิจได้ คืออะไรก็ได้ในโลกนี้ที่ทำด้วยกระดาษ ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือเสมอไป”

paper sculpture5