elephantใครๆ ก็คงเคยได้ยินบทร้องกล่อมเด็กของเก่าที่ว่า จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกง ขอแหวนทองแดง ผูกมือน้องข้า  ขอช้างขอม้า ให้น้องข้าขี่  ขอเก้าอี้ ให้น้องข้านั่ง ขอเตียงตั่งให้น้องข้านอน ขอละครให้น้องข้าดู …

จันทร์เจ้าขา นี้มิได้เป็นเพียงการร้องเล่นๆ แบบกลอนพาไป  หากแต่ได้แฝงฝังความมุ่งมาดปรารถนาสูงสุดอย่างหนึ่งในชีวิตของคนไทยโบราณ ในอันที่จะเป็น “เจ้าคนนายคน”  เพราะการครอบครองช้าง ม้า เตียง ตั่ง เก้าอี้ และนางละคร คือสัญลักษณ์ของชนชั้นสูง  ดังนั้น พระภูมิเจ้าที่ เจ้าพ่อเจ้าแม่ และเทวดาอารักษ์ต่างๆ จึงต้องพลอยขี่ช้าง ขี่ม้า หรือชอบดูละครไปด้วย  ดังจะเห็นตุ๊กตาช้าง ม้า และนางรำอยู่ชุกชุมตามศาลต่างๆ

แต่ถ้าจะว่ากันตามคัมภีร์แล้ว เทพเจ้าแต่ละองค์ก็จะมีพาหนะเฉพาะตนต่างๆ กันไป  องค์ที่ขี่ช้างก็มีเช่น พระพุธ (เทวดาประจำวันพุธ)  พระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธมหายานบางองค์ก็ทรงช้าง  แต่ที่คนไทยคุ้นเคยกันดีที่สุดก็คงไม่มีอะไรเกินช้างเอราวัณ  เทพพาหนะของพระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ในคัมภีร์ไตรภูมิ เล่าถึงความมโหฬารของเอราวัณว่า มีถึง ๓๓ เศียร แต่ละเศียรมี ๗ งา  แต่ละงามีสระ ๗ สระ แต่ละสระมีดอกบัว ๗ กอ แต่ละกอมีบัว ๗ ดอก แต่ละดอกมี ๗ กลีบ แต่ละกลีบมีเทพธิดา ๗ องค์  และแต่ละองค์ยังมีนางฟ้าเป็นบริวารอีกองค์ละ ๗ นาง  ในตำราวิชาเลขแบบโบราณของไทย ก็เคยใช้คำพรรณนานี้เป็นโจทย์เลขคูณมาแล้ว  ใครจะลองคำนวณเล่นดูบ้างก็ได้ว่ามีนางฟ้ากี่องค์บนเอราวัณ

อันที่จริง เอราวัณมิได้เป็นช้าง เพราะบนสวรรค์ย่อมไม่ใช่ที่อยู่ของสัตว์เดรัจฉาน  หากแต่เอราวัณเป็นเทพบุตรองค์หนึ่ง ซึ่งเมื่อเวลาพระอินทร์จะไปไหนมาไหน  ท้าวเธอก็จะแปลงตนเป็นพาหนะบริการให้แก่องค์อินทราธิราช

ช้างเอราวัณจึงจะปรากฏตัวเคียงคู่กับพระอินทร์เสมอ  ในเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนหนึ่ง อินทรชิต โอรสของทศกัณฐ์ แปลงตนเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณเก๊ เสด็จมาพร้อมขบวนแห่นางฟ้าเทวดาร่ายรำ ล่อหลอกให้พระลักษมณ์และพลทหารลิงตะลึงดูจนเคลิ้ม แล้วอินทรชิตจึงแผลงศรพรหมาสตร์สังหารหมู่ทั้งกองทัพ  เหลือรอดแต่เพียงหนุมานผู้เดียวที่เหาะขึ้นไปต่อสู้ หักคอช้างเอราวัณปลอมจนขาด  แต่ก็ถูกอินทรชิตใช้คันศรตีจนตกลงมาสลบพับอยู่กับเศียรช้าง  เรื่องตอนนี้นิยมนำไปแสดงกันทั้งหนังใหญ่และโขน

ก่อนหน้า พ.ศ. ๒๕๐๐ ไม่นาน  รัฐบาลในสมัยนั้นมีดำริจะส่งเสริมการท่องเที่ยวแก่ฝรั่งอย่างเอาจริงเอาจัง จึงต้องมีการสร้างโรงแรมที่ได้ “มาตรฐาน” ให้เป็นที่พำนักของนักท่องเที่ยว  สถานที่สร้างโรงแรมที่เลือกกันคือที่สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็น “ชานเมือง” ของกรุงเทพฯ  และชื่อโรงแรมที่ตั้งกันไว้แต่แรกเริ่มก็คือ “เอราวัณ”

เล่ากันมาว่า การก่อสร้างโรงแรมแห่งใหม่นี้ประสบปัญหามากมาย  ทางผู้บริหารที่เป็นผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจึงติดต่อให้ พลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ (อั๋น สุวรรณภาณุ) อดีตนายแพทย์ใหญ่กองทัพเรือ ผู้มีความเชี่ยวชาญในทางฌาน มาช่วยตรวจสอบ   คุณหลวงแจ้งว่าการนำเอานาม “เอราวัณ” ซึ่งเป็นพาหนะของเทพมาใช้นั้นเป็นการไม่สมควร จึงให้ทำพิธีขออนุญาตและบนบานต่อท้าวมหาพรหม  เทพผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ ให้ขจัดปัดเป่าอุปสรรคทั้งปวง

จากนั้น การก่อสร้างก็ลุล่วงไปด้วยดี จนสามารถเปิดได้ทันตามกำหนดเวลา จึงมีการตั้งศาลประดิษฐานเทวรูปท่านท้าวมหาพรหมขึ้นที่มุมโรงแรมด้านสี่แยกราชประสงค์

จนบัดนี้ ที่ดินเปลี่ยนมือ ตึกโรงแรมเอราวัณเก่าถูกทุบทิ้งสร้างใหม่ไปนานแล้ว แต่เทวาลัยท้าวมหาพรหมก็ยังคงสถิตอยู่ เป็นที่เคารพสักการะของผู้คนทั้งหลาย ไม่ว่าจะในเมืองไทยหรือในต่างประเทศ

และเครื่องบูชายอดนิยมก็หนีไม่พ้นตุ๊กตาช้าง อันมีทุกขนาด ตั้งแต่เล็กจิ๋วจนใหญ่ยักษ์