เรื่องและภาพ : ณรงค์ สุวรรณรงค์

– สัตว์ตระกูลไพรเมตในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
– ค่างแว่นถิ่นเหนือ
– แด่…วิเชียร นาทองบ่อ

คนกับค่าง

กลางฤดูฝน

ทั้ง ๆ ที่ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าสดใสมาตั้งแต่เช้า จู่ ๆ กลุ่มเมฆดำทะมึนก็เคลื่อนตัวมาโอบคลุมไปทั่วทั้งผืนแผ่นฟ้า จากนั้นฝนก็เทลงมาชนิดไม่ลืมหูลืมตา ผมเอาเสื้อกันฝนออกมาคลี่คลุมตัวแล้วยืนคร่อมกระเป๋ากล้องเอาไว้ ถึงกระเป๋าจะเป็นชนิดที่กันน้ำได้ แต่ผมก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะเอาอุปกรณ์หากินมาเสี่ยงอีก ฝนลงเม็ดหนักสม่ำเสมอ ไม่มีความเกรี้ยวกราดของลมพายุ มันเป็นฝนที่เราเรียกกันว่า “ฝนงาม” ในยามที่ต้องออกมาตากฝนทำงานอยู่กลางป่า

พอฝนซาลงในชั่วโมงต่อมา ผมก็มานั่งขดตัวอยู่ติดกับวิเชียรที่ซุกตัวอยู่ใต้ผ้ายางผืนเล็ก ๆ ส่วนแกรม–หนุ่มอังกฤษ นั่งก้มหน้านิ่งอยู่บนขอนไม้ไม่ห่างจากผมนัก เหนือหัวของเราขึ้นไปราว ๒๐ เมตร ฝูงค่างแว่นถิ่นเหนือที่แยกย้ายกันหลบฝนอยู่ตามจุดที่มีใบไม้หนาทึบยังคงสงบนิ่ง บางตัวดูเหมือนยังหลับอยู่ ขณะที่บางตัวเริ่มเด็ดใบไม้กินโดยไม่สนใจสายฝน

เมื่อฝนหยุด ฟ้าสดใส และแสงแดดกลับมา ฝูงค่างก็เริ่มเคลื่อนไหว ก่อนจะทยอยกระโดดตามเรือนยอดไม้ไปหากินยังแหล่งอาหารอื่น เราออกติดตามฝูงค่างไปอีกครั้งพร้อมกับเสื้อผ้าที่ชุ่มชื้นไปด้วยน้ำฝน จนเย็นย่ำ เมื่อค่างเข้านอนแล้วนั่นแหละ เราจึงหันหลังกลับออกมาจากผืนป่า…

kang02

ถึงสัมภาระน้ำหนักราว ๑๕ กก. บนหลังและไหล่ของผมจะเท่าเดิมไม่ต่างจากทุกวัน แต่วันนี้ จะด้วยฝน ความเหนื่อยล้า หรืออะไรก็เหลือจะเดา ทำให้มันดูหนักกว่าวันที่ผ่าน ๆ มา ผมเดินช้าลงจนวิเชียรที่เดินอยู่ข้างหน้าทิ้งระยะห่างออกไปเรื่อย ๆ แกรมคงเห็นท่าทางอ่อนล้าของผมจึงเข้ามาอาสาช่วยแบกขาตั้งกล้องให้และเดินปิดท้ายขบวน

ตลอด ๔ วันที่ผ่านมา ถึงจะมีเวลาอยู่กับฝูงค่างวันละไม่น้อยกว่า ๑๒ ชั่วโมง แต่ผมแทบจะไม่ได้ถ่ายภาพเลย ยิ่งวันนี้ผมไม่ได้เปิดกระเป๋ากล้องด้วยซ้ำไป ๒-๓ เดือนมาแล้วที่ต้องเผชิญกับสภาพเช่นนี้ สำหรับปุถุชนคนหนึ่ง ผมต้องยอมรับว่ามันเหนื่อยและบางครั้งก็นึกท้อ… เวลาเช่นนี้ผมมักจะนึกถึงคำตอบสั้น ๆ ของผู้หญิงคนหนึ่ง เมื่อผมถามถึงงานของเธอ

“งานของฉันไม่ยากหรอก เพียงแต่ต้องใช้เวลา”

kang03

ต้นฤดูหนาวปี ๒๕๔๓ ผมพบกับ Dr. Carola Borries หญิงวัยกลางคนชาวเยอรมัน ที่บ้านพักในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวซึ่งจัดไว้สำหรับนักวิจัย เธอมาทำงานวิจัยสัตว์ในตระกูลไพรเมตที่หากินในเวลากลางวันในป่าภูเขียว โดยจะเริ่มต้นศึกษาเรื่องค่างแว่นถิ่นเหนือเป็นอันดับแรก ผมสนใจอยากเรียนรู้จึงเอ่ยปากขออนุญาตว่า ถ้าหากไม่เป็นการรบกวนการทำงานของเธอและคณะจนเกินไป ผมอยากจะขอติดตามเข้าไปศึกษาการทำงานและถ่ายภาพชีวิตของค่างแว่นถิ่นเหนือบ้าง เธอตอบรับด้วยความยินดี

Dr. Carola ทำงานวิจัยร่วมกับ Dr. Andreas Koenig สามีของเธอ โดยมีเล็กกับวิเชียร เจ้าหน้าที่จากฝ่ายจัดการทรัพยากรธรรมชาติของเขตฯ เป็นผู้ช่วยวิจัยในภาคสนาม นอกจากนั้นในแต่ละปีจะมีอาสาสมัครผู้ช่วยนักวิจัยจากโลกตะวันตกหลายประเทศผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาช่วยทำงาน เพื่อเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์

ช่วงแรกชุดวิจัยหมดเวลาไปหลายเดือนกับการสำรวจหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำงาน เมื่อได้พื้นที่และพบกลุ่มค่างแว่นถิ่นเหนือ เป้าหมายที่จะศึกษา จึงทำแปลงศึกษาพkang04ร้อมกับสร้างความคุ้นเคยกับฝูงค่างไปในเวลาเดียวกัน ทุกวันชุดวิจัยจะแบ่งกันออกไปทำงาน บางส่วนจะไปกวาดใบไม้ออกจากเส้นทางเดินในป่า เวลาเดินตาม

ค่างจะได้ไม่มีเสียง และบางส่วนก็ออกติดตามฝูงค่างตั้งแต่เช้าตรู่จนกระทั่งค่างเข้านอน ในตอนเริ่มต้น การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก แค่ฝูงค่างรู้ว่ามีคนเข้ามาในบริเวณที่มันอาศัย ทั้งฝูงก็จะหายตัวไปในทันที ทุกคนต้องทำงานกันอย่างอดทน เคร่งครัด ระมัดระวังทั้งการเคลื่อนไหว การใช้เสียง เพื่อให้ฝูงค่างค่อย ๆ คุ้นชินกับชุดวิจัย

๖ เดือนผ่านไป ฝูงค่างจึงค่อย ๆ เริ่มยอมรับว่า สิ่งมีชีวิตที่มีตัวตั้งฉากกับพื้นโลกกลุ่มนี้ดูไม่มีอันตราย แต่ทั้งฝูงก็ยังคงรักษาระยะห่างไว้เสมอ ชุดวิจัยเรียกค่างแว่นถิ่นเหนือฝูงนี้ว่า PA ( Phayre’s leaf monkey group A) เริ่มแรกทั้งฝูงมีสมาชิกทั้งหมด ๒๐ ตัว เป็นตัวผู้ที่โตเต็มวัย ๒ ตัว ชื่อ M1 และ M2 วัยหนุ่มที่ยังโตไม่เต็มที่นักชื่อ M3 ตัวเมียทั้งที่เพิ่งเป็นสาวและโตเต็มวัยแล้ว ๑๐ ตัว ชื่อ A1-A10 และลูกค่างวัยรุ่นรวมทั้งวัยเด็กอีก ๗ ตัว

ดาวประจำเมืองยังเจิดจรัสอยู่ที่ปลายขอบฟ้าตอนที่ผมขับรถมาถึงหน้าบ้านพักของเล็ก เราใช้เวลาเดินทางราว ๑๕ นาทีก็มาถึงปากทางเข้าแปลงศึกษา ครู่เดียว สเตฟาน อาสาสมัครผู้ช่วยนักวิจัยอีกคน ก็ขี่รถมอเตอร์ไซค์ตามมา

หลังจากบันทึกเวลาที่เริ่มเข้าสู่แปลงศึกษา เล็กก็ออกนำหน้าลัดเลาะไปตามผืนป่าอย่างคุ้นทาง เวลาเริ่มงานของเราในแต่ละวันจะขึ้นอยู่กับเวลาที่ค่างตื่นนอนซึ่งสัมพันธ์กับแสงแรกของดวงอาทิตย์ในแต่ละฤดู ถ้าช่วงที่กลางวันยาวนาน ดวงอาทิตย์ขึ้นเร็ว เราก็ต้องรีบตื่น แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาว ดวงอาทิตย์ขึ้นช้า เราก็ฝ่าลมหนาวออกทำงานกันช้าหน่อยประมาณตีห้าครึ่ง

kang05

เล็กเป็นผู้ช่วยภาคสนามที่รู้จัก PA ดีที่สุดคนหนึ่ง เขาจำสมาชิกในฝูงได้แทบทุกตัว และเป็นผู้อธิบายพฤติกรรมต่าง ๆ ของพวกมันให้ผมฟังเสมอเมื่อเกิดความสงสัย ส่วนสเตฟานหนุ่มอเมริกันนั้น หลังจบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ที่บ้านเกิด เขาก็ออกตระเวนหาประสบการณ์ในต่างแดนเช่นเดียวกับเด็กชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้ชีวิตแบบนี้ ก่อนที่จะมาเมืองไทย เขาก็เคยไปทำงานภาคสนามที่ออสเตรเลียและฮาวาย

พอฟ้าสาง เริ่มมองเห็นลายมือตัวเองลาง ๆ เราก็มาถึงจุดหมาย เล็กบอกผมว่าเมื่อวานค่างนอนแถวนี้ เราช่วยกันเดินหาต้นไม้ที่มีตัวเลขบอกตำแหน่งบริเวณแปลงที่เราอยู่เพื่อจดบันทึกและยืนยันความถูกต้องของตำแหน่ง ก่อนจะแยกย้ายกันไปหามุมสังเกตการณ์ คอยเวลาที่ PA จะตื่นนอน ผมเอนหลังพิงต้นไม้ คอยฟังเสียงความเคลื่อนไหวของ PA มันเป็นช่วงเวลาอันเงียบสงบช่วงสั้น ๆ ก่อนที่บทเพลงแห่งพฤกษ์ไพรจากบรรดาสรรพสัตว์น้อยใหญ่จะค่อยๆ บรรเลงบ่งบอกเวลาเริ่มต้นชีวิตในเช้าวันใหม่–เป็นโมงยามจุดเปลี่ยนเวลาที่ผมหลงใหล

กิ่งไม้เริ่มไหว เป็นสัญญาณบอกเราว่าฝูงค่างตื่นนอนแล้ว ความเคลื่อนไหวตามเรือนยอดมีมากขึ้นตามความแรงของแสงอาทิตย์ เสียงโครมครามจากการกระโดดดังมาเป็นระยะสลับกับเสียงน้ำตกกระทบใบไม้และพื้นดินเมื่อหลายตัวเริ่มทำธุระส่วนตัว โชคดีที่วันนี้เราไม่ได้อยู่ตรงจุดนั้น แต่ถึงอย่างไร การโดนละอองน้ำกลิ่นฉุน ๆ ก็ดูจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว

ในแต่ละวันนับตั้งแต่พบ PA ทุก ๆ ๓๐ นาทีเราจะบันทึกข้อมูลพฤติกรรมของแต่ละตัวที่พบเห็นในตอนนั้นไว้ ชุดวิจัยต้องจดจำค่างแต่ละตัวให้ได้ เพื่อจะบอกได้ว่าค่างที่พบชื่ออะไร กำลังทำอะไรอยู่ นอกจากนั้นยังต้องนับจำนวนที่พบทั้งหมดเพื่อตรวจสอบจำนวนประชากรของ PA ในแต่ละวัน และสุดท้ายต้องบันทึกพิกัดตำแหน่งที่อยู่ในเวลานั้น โดยอาจจะใช้เครื่องบอกพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GPS) หรือดูจากตัวเลขบอกตำแหน่งในแปลงศึกษา เพื่อใช้เป็นข้อมูลบอกขอบเขตการหากินในแต่ละวัน

kang06

พอตื่นนอนได้สักพัก PA จะเริ่มกินอาหารใกล้ ๆ กับจุดที่นอน จากนั้นจะเคลื่อนย้ายไปยังแหล่งอาหารอื่นเพื่อเปลี่ยนเมนู ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้กินใบไม้ แต่เราพบว่าอาหารโปรดของพวกมันคือเมล็ดพืช โดยเฉพาะเมล็ดมะค่า ส่วนใบไม้นั้นมันจะชอบกินยอดอ่อนมากกว่าใบแก่ นอกจากนี้ยังกินดอกไม้ หน่อไม้ ยอดอ่อนของไม้เลื้อย ผลไม้ และบางครั้งยังกินปลวกและแมลงด้วย นานๆ ครั้งมันจะลงมาจากต้นไม้เพื่อกินโป่งเพิ่มแร่ธาตุอาหารในส่วนที่ขาด และในช่วงฤดูร้อนก็อาจจะลงมากินน้ำตามลำธารหรือแอ่งน้ำที่ยังพอมีน้ำเหลืออยู่

ค่างมีระบบการย่อยอาหารคล้ายกับสัตว์เคี้ยวเอื้องพวกวัวควาย กระเพาะมีหลายส่วนและมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดของท้อง ทำให้กินอาหารได้ในปริมาณมาก อาหารจะถูกเก็บไว้ในกระเพาะส่วนหน้าที่มีแบคทีเรียช่วยย่อยเซลลูโลส ทำให้การย่อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระเพาะส่วนหน้าจะทำหน้าที่หมักอาหารที่กินเข้าไป ทำให้เกิดแก๊สในท้อง ค่างไม่สามารถขย้อนอาหารออกมาเคี้ยวได้เหมือนวัวควาย จึงต้องเรอและผายลมออกมาเพื่อช่วยลดแก๊สในท้อง ยิ่งตอนที่กินเมล็ดมะค่าเข้าไปมาก ๆ เราอดที่จะหัวเราะกันไม่ได้ เพราะถึงจะอยู่ไกลกันกว่า ๕๐ เมตร เราก็ยังได้ยินเสียงผายลมดังชัดเจนอยู่บ่อย ๆ อาหารที่กินเข้าไปเต็มที่รวมกับแก๊สที่เกิดขึ้น ทำให้ท้องของมันขยายใหญ่มาก ด้วยลักษณะเช่นนี้ ถึงเราจะรู้จักค่างแต่ละตัวดีแค่ไหน ก็ดูไม่ออกว่าค่างตัวเมียตัวไหนกำลังตั้งท้อง เพราะทุกตัวท้องใหญ่เหมือนกันหมด

PA จะกินไปหยุดพักไป เพื่อให้กระบวนการย่อยอาหารทำงาน ระหว่างพัก พวกเด็ก ๆ จะจับคู่เล่นกัน ส่วนหนุ่มสาวและรุ่นใหญ่จะทำความสะอาดร่างกายให้กัน พออาหารเริ่มย่อย มันก็จะเริ่มต้นกินอีกครั้ง สลับกับพักไปเรื่อย ๆ จนช่วงสาย ๆ ราวสิบโมงถึงสิบเอ็ดโมงเมื่ออิ่มได้ที่ ทั้งฝูงจึงจะมองหาที่นอน

kang07

PA จะเลือกนอนในทำเลที่มั่นใจว่าปลอดภัย สูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ ส่วนใหญ่จะเลือกบริเวณที่มีพุ่มไม้หนาทึบ มองเห็นตัวได้ยาก บางครั้งก็เลือกกิ่งไม้ขนาดใหญ่ในที่โปร่งใต้ร่มเงาของเรือนยอด ลักษณะการนอนจะขึ้นอยู่กับ “ที่นอน” ที่มันเลือก บางตัวเลือกกิ่งไม้ขนาดใหญ่แล้วนั่งงอตัวก้มหน้าหลับในแบบที่คนเรียกว่า “หลับนก” บางตัวก็เลือกกิ่งไม้ขนาดพอเหมาะแล้วนอนคร่อมทาบไปกับกิ่งไม้ ปล่อยแขนขาเป็นอิสระ บางตัวก็เลือกนั่งตามง่ามไม้ แล้วใช้มือจับกิ่งไม้เอาไว้กันพลาด ผมยังไม่เคยพบมันนอนหลับในท่านอนหงาย จะมีบ้างก็ตอนที่ทำความสะอาดร่างกายให้กันเท่านั้น ช่วงที่นอนหลับบางครั้งก็มียามขึ้นไปนั่งอยู่บนยอดไม้สูงคอยเตือนภัยให้ฝูง แต่บางครั้งก็หลับกันหมด

PA จะนอนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอาหารที่กินเข้าไป ถ้ากินน้อยจะตื่นเร็วเพื่อหาอาหารกินอีกครั้งก่อนที่จะไปนอนพักอีกช่วงหนึ่งในตอนบ่าย แต่ถ้ากินมากทั้งฝูงอาจไปตื่นเอาตอนบ่ายสามโมงเลยก็มี เวลาที่นอนหรือหยุดนิ่งอยู่เฉย ๆ จะเป็นช่วงที่มองหาตัวได้ยากมาก ถ้าไม่ได้เฝ้าตามมาตั้งแต่เช้า เราจะแทบไม่รู้เลยว่ามีฝูงค่างกลุ่มใหญ่อยู่เหนือหัวเราขึ้นไป เคยมีหลายครั้งที่ตามสังเกตพฤติกรรมอยู่ดี ๆ พอเผลอเข้า PA ก็อันตรธานไปอย่างไร้ร่องรอย

ใกล้เที่ยง เสียงวิเชียรก็ดังผ่านมาทางวิทยุสื่อสารสอบถามตำแหน่งที่พวกเราอยู่ วิเชียรจับคู่มากับแกรมเพื่อผลัดเปลี่ยนให้คู่ของเล็กกับสเตฟานกลับออกไปก่อน ช่วงที่ต้องการเก็บข้อมูลแบบเข้มข้น เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน ชุดวิจัยจะช่วยกันทำงานผลัดละครึ่งวัน การได้พักบ้างหลังจากอยู่ในป่าตั้งแต่ก่อนฟ้าสางจนพระอาทิตย์ตกดินติดกันหลาย ๆ วัน ถือเป็นรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับชุดวิจัย

kang08

วิเชียรเป็นคนที่มีความสามารถรอบตัวหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องกล้วยไม้ Dr. Carola ชมให้ผมฟังเสมอว่ารู้สึกยินดีมากที่ทางฝ่ายจัดการทรัพยากรฯ ให้คนดี ๆ มีความรับผิดชอบสูงอย่างเล็กและวิเชียรมาเป็นผู้ช่วยวิจัย วิเชียรรู้จักภูมิประเทศในแปลงศึกษาเป็นอย่างดี ทำให้ผมสามารถไปดักรอถ่ายภาพในตำแหน่งที่ดี ๆ เสมอ ๆ ลักษณะงานที่ทำให้ต้องทำตัวกลมกลืนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของป่า ทำให้วิเชียรได้พบเห็นพฤติกรรมสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิดชนิดที่น้อยคนนักจะมีโอกาส บางวันหมีหมาก็เดินผ่านหน้าไปในระยะประชิด หรือตอนที่นั่งดูค่างอยู่เงียบ ๆ แมวดาวก็คาบลูกเดินมาข้าง ๆ ตัว แถมหยุดมองหน้าก่อนผละจากไป และภาพที่น่าสนใจที่สุดก็คงเป็นตอนที่พบเสือลายเมฆมารอกินค่างอยู่บนต้นไม้ ส่วนแกรม หนุ่มอังกฤษที่พึ่งเป็นมหาบัณฑิตด้านป่าไม้มาหมาด ๆ นั้น ก่อนหน้าที่จะมาเรียนด้านนี้ เขาเรียนจบและทำงานทางด้านวิศวกรรมมาก่อน แต่พอรู้ว่าการงานไม่เหมาะกับตัวเองจึงเริ่มต้นกลับไปเรียนใหม่ แกรมเข้ามาช่วยทำงานพร้อมกับสเตฟาน เสร็จจากงานนี้เขาจะพยายามกลับไปเรียนต่อปริญญาเอกที่บ้านเกิด

เรารอถึงบ่ายสองโมง PA จึงตื่นนอนและออกหากินสลับกับพักไปเรื่อย ๆ เหมือนในช่วงเช้า จนฟ้าใกล้จะหมดแสงพวกมันจึงมุ่งหน้าไปหาที่นอน ยามค่ำคืน PA มักจะเลือกนอนในบริเวณที่เคยนอนมาก่อน ตำแหน่งที่นอนอาจจะอยู่ทั้งในจุดที่เป็นพุ่มไม้หนาทึบหรือในที่โปร่งที่พวกมันมั่นใจว่าปลอดภัย โดยทั้งฝูงจะกระจายกันนอนตามต้นไม้ใกล้ ๆ กัน เรารอจนไม่มีความเคลื่อนไหวจึงบันทึกตำแหน่งที่นอนของพวกมันไว้เพื่อพรุ่งนี้เช้าจะได้กลับมาใหม่ก่อนที่มันจะตื่น จากนั้นก็เดินกลับออกมาจากแปลงศึกษา ตอนมาถึงปากทางออก ดาวหมาใหญ่ ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า แจ่มกระจ่างอยู่เหนือปลายไม้ เราบันทึกเวลาออกจากป่าก่อนจะแยกย้ายกันขึ้นรถมุ่งหน้ากลับบ้านพัก เป็นอันสิ้นสุดชีวิตประจำวัน

kang09

เมื่อมีสมาชิกมาอาศัยอยู่ร่วมกันหลายตัวจนกลายเป็นฝูง ความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันในทางสังคมจึงเกิดขึ้น ในฝูง PA มีการปกครองแบบแบ่งชั้นวรรณะ แต่ละตัวในฝูงจะมีลำดับชั้นฐานะต่าง ๆ กัน โดยตัวผู้จ่าฝูงจะอยู่ในลำดับชั้นสูงที่สุด ที่เหลือจะลดหลั่นกันลงมาตามแต่อิทธิพลหรือความเด่นของแต่ละตัว ค่างตัวผู้ที่โตเต็มวัยจะตัวใหญ่และแข็งแรงกว่าค่างสาวที่โตเต็มวัย ทำให้มีฐานะสูงกว่า วิธีง่ายที่สุดที่จะดูว่าตัวใดมีฐานะสูงกว่าให้ดูเวลาหากิน เมื่อตัวที่ฐานะสูงกว่าเข้าไปหากินในจุดใดก็ตาม ตัวที่ฐานะต่ำกว่าจะกลัวและหลบออกไปจากตรงนั้นทันที อภิสิทธิ์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของตัวที่ฐานะสูงกว่า คือ โอกาสในการเลือกกินอาหารและผสมพันธุ์ แค่สองเรื่องนี้ก็ทำให้สมาชิกในฝูงพยายามจะถีบตัวเองให้มีฐานะสูงขึ้น ในฝูงจึงมีการเปลี่ยนแปลงลำดับชั้นอยู่เสมอ เมื่อรุ่นใหม่เริ่มมีอิทธิพลขึ้นมา รุ่นเก่าที่อายุมาก ๆ ก็จะเริ่มโรยราลดความสำคัญลงไป

ผมเข้ามาเรียนรู้พฤติกรรมของ PA ในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงจ่าฝูงพอดี เดิมที M1 ตัวผู้ที่อายุมากที่สุดและตัวใหญ่ที่สุดเป็นผู้ครอบครองตำแหน่งจ่าฝูง แต่หลังจากการต่อสู้ครั้งใหญ่กับ M3 ซึ่งแม้จะตัวเล็กกว่าแต่ก็เป็นหนุ่มฉกรรจ์ ตำแหน่งจ่าฝูงก็เปลี่ยนมือไป คราวนั้น M3 ได้บาดแผลมาหลายแห่งแลกกับการได้ตำแหน่งมาครอง

ในช่วงแรกเล็กยังไม่เชื่อว่า M3 จะได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นจ่าฝูง เพราะเชื่อว่าตัวที่ใหญ่กว่าย่อมแข็งแรงกว่าและน่าจะเป็นจ่าฝูง จนวันหนึ่งความคลางแคลงใจของเขาก็ยุติลงเมื่อได้เห็นกับตาว่า M1 กับ M3 ต่อสู้กัน ช่วงเวลานั้นเราดูไม่ทันว่าใครไล่ตามใคร ทั้งคู่หายไปในเรือนยอดไม้ไกลจากฝูงหลายร้อยเมตร ราวครึ่งชั่วโมงทั้งคู่จึงกลับมา M1 หลบไปเลียแผลที่ขาอยู่เงียบ ๆ ตัวเดียว ส่วน M3 ซึ่งดูเป็นปรกติดีเข้ามานั่งใกล้ ๆ กับกลุ่มตัวเมีย บ่งบอกถึงชัยชนะ จากนั้นมาความสัมพันธ์ของ M1 กับ M3 ก็ดูตึงเครียด ทั้งคู่ไม่ยอมอยู่ใกล้กันเลย และเห็นได้ชัดว่า M1 กลัว M3 แต่ระยะห่างระหว่างทั้งสองก็มาเปลี่ยนไปเมื่อ M2 หายไปจากฝูง

kang10

ในบรรดาตัวผู้รุ่นใหญ่ M2 จัดอยู่ในลำดับชั้นล่างสุด แถมยังดื้อและเกเรที่สุด แต่การหายตัวไปของ M2 ก็ทำให้เราแน่ใจว่าค่างแว่นถิ่นเหนือตัวผู้รุ่นใหญ่ก็มีพฤติกรรมสัมผัสร่างกายซึ่งกันและกัน เพราะค่างบางชนิด เช่น ค่างหนุมาน (Hanuman langur) ที่พบมากในประเทศเนปาลและอินเดีย ตัวผู้จะไม่สัมผัสร่างกายของกันและกันเลย ตลอดช่วงระยะเวลาที่ M2 ยังอยู่ในฝูง บ่อยครั้งที่เราเห็น M2 เข้าไปทำความสะอาดร่างกายให้ M1 และ M3 บางครั้งก็นอนหลับแนบชิดติดกับ M1 ในตอนกลางวัน แต่เราไม่เคยพบพฤติกรรมแบบนี้ระหว่างรุ่นใหญ่อย่าง M1 กับ M3 เลย จนกระทั่ง M2 หายไปจากฝูงโดยที่เราไม่รู้ชะตากรรม M1 กับ M3 จึงหันมาใกล้ชิดกันและแสดงพฤติกรรมในแบบเดียวกับที่ M2 เคยทำไว้แทบจะไม่มีความแตกต่าง

การมีชีวิตอยู่ในฐานะสูงสุดทำให้ M3 สามารถเลือกกินอาหารและเลือกผสมพันธุ์กับตัวเมียตัวใดในฝูงก็ได้ โดยทั่วไป ในช่วงที่ตัวเมียตัวใดก็ตามเป็นสัด มันจะมีโอกาสถูกตัวผู้ทุกตัวในฝูงผสมพันธุ์ แต่ M3 จะมีโอกาสมากที่สุด และบางทีก็ผูกขาดการผสมพันธุ์อยู่เพียงตัวเดียว ช่วงที่ A10 ค่างสาวรุ่นใหม่ที่พึ่งโตเป็นสาวเต็มตัวเป็นสัด ตัวผู้ตัวอื่นแทบจะไม่มีโอกาสได้เข้าใกล้เลย ธรรมชาติเป็นผู้สร้างวิถีแบบนี้มา พ่อที่แข็งแรง มีลักษณะเด่นที่สุด ควรเป็นผู้ถ่ายทอดยีนดี ๆ ส่งผ่านไปยังรุ่นต่อไป เพราะนั่นคือโอกาสความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์

แต่การเป็นจ่าฝูงก็ใช่ว่าจะหมายถึงการเสพสุขอย่างเดียว นอกจาก M3 จะต้องรักษาตำแหน่งเอาไว้ มันยังมีบทบาทหน้าที่อีกหลายอย่างที่ต้องแสดงออกให้สมกับตำแหน่งผู้นำ

kang11

อย่างแรกคือต้องคอยดูแลความสงบเรียบร้อยภายในฝูง คอยห้ามปรามไม่ให้มีการทะเลาะเบาะแว้งเกิดขึ้น เมื่อมีคู่ไหนตั้งท่าจะทะเลาะกันให้เห็น M3 จะส่งเสียงร้องขู่และกระโจนเข้าไปหา ส่งผลให้คู่กรณีสงบลงทันที การทะเลาะกันในฝูงเป็นเรื่องปรกติ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นระหว่างเพศเดียวกันโดยเฉพาะเพศเมีย น้อยครั้งที่ตัวผู้จะใช้อำนาจข่มเหงรังแกเพศเมีย ยกเว้นก็เฉพาะ M2 จอมเกเรที่ชอบก่อกวนตัวอื่นอยู่บ่อย ๆ มีครั้งหนึ่ง M2 เข้าไปรังแกตัวเมียรุ่นใหญ่ M3 เห็นเข้าจึงตรงเข้าไปหา แต่ก็ไม่ได้แสดงอาการก้าวร้าวหรือทำอะไรรุนแรงมากไปกว่าใช้มือสัมผัสที่หน้าอกของตัวก่อเหตุ แต่นั่นก็ทำให้ M2 รีบหลบออกไปจากบริเวณนั้นอย่างรวดเร็ว การที่ลูกฝูงยำเกรงจ่าฝูง ช่วยให้ภายในฝูงอยู่กันอย่างสันติมากขึ้น

หน้าที่ต่อมาคือ เป็นผู้นำในการปกป้องคุ้มภัยให้บริวาร ปรกติหน้าที่ในการระวังป้องกันภัยจะเป็นของทุกตัวที่โตพอ โดยตัวผู้ทั้งหมดจะแสดงบทผู้นำเมื่อมีสัตว์ผู้ล่าเข้ามาใกล้ๆ ฝูง แต่ตัวผู้รุ่นใหญ่โดยเฉพาะ M3 จะมีบทบาทชัดเจนที่สุด

เหยี่ยวรุ้งคือผู้ล่าที่มาป้วนเปี้ยนใกล้ ๆ ฝูงบ่อยที่สุด มันสามารถโฉบเอาลูกค่างอายุร่วม ๖ เดือนที่ขนเป็นสีเทาไปเป็นอาหารได้ เมื่อเหยี่ยวรุ้งมาบินวนเหนือที่อยู่ของฝูง ตัวผู้มักจะขึ้นไปบนยอดไม้ ส่งเสียงร้องเพื่อเตือนภัย พร้อมขย่มกิ่งไม้เพื่อข่มขู่และเบี่ยงเบนความสนใจ บางครั้งทั้งฝูงอาจจะนั่งนิ่ง ๆ ตัวผู้และตัวเมียรุ่นใหญ่จะเตือนภัยด้วยการส่งเสียงร้องเบา ๆ แต่ถ้าเมื่อใดเหยี่ยวรุ้งโฉบลงมาต่ำจนถึงขั้นบินลงมาใต้แนวไม้ ทั้งฝูงจะส่งเสียงร้องระงมอย่างตื่นตกใจ และความโกลาหลย่อย ๆ จะเกิดขึ้น เหมือนกับครั้งที่เผชิญหน้ากับเสือลายเมฆ

kang12

ครั้งนั้นเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางเคลื่อนย้ายพื้นที่หากิน มีกลุ่มหนึ่งเคลื่อนนำออกไปก่อน ส่วนที่เหลือกำลังทยอยตามไปในเส้นทางเดียวกัน แต่แล้วกลุ่มที่ตามมาก็หยุดชะงักและส่งเสียงร้องอย่างตื่นตกใจเมื่อมองเห็นเสือลายเมฆมาแอบอยู่บนต้นไม้ติดกับเส้นทางที่ต้องเคลื่อนผ่าน เมื่อรู้ตัวว่ามีนักล่าปรากฏกาย แทนที่จะรีบหนีไป ทั้งฝูงกลับหยุดกิจกรรมอื่นทั้งหมด แล้วหันมาให้ความสนใจอยู่กับนักล่าเพียงอย่างเดียว ตัวผู้รุ่นใหญ่ทุกตัวส่งเสียงร้องเพื่อเตือนภัย ทำให้หลายตัวที่เคลื่อนผ่านไปแล้ววกกลับมาดู วัยรุ่นที่อยากรู้อยากเห็นโผล่ก็เข้ามาดูด้วยความสงสัยก่อนจะหลบไปอยู่แนวหลัง ส่วนแม่ที่มีลูกอ่อนในอ้อมอกและค่างสาวดูกระวนกระวายมากที่สุด ค่างกลุ่มนี้จะเคลื่อนที่ไปมาระหว่างเสือกับกลุ่มใหญ่ พอเข้าไปใกล้ ๆ ในระยะที่เสือกระโจนถึง มันจะหยุดและร้องเหมือนเตือนภัยก่อนถอยกลับมา พวกมันทำแบบนี้หลายครั้งแต่เสือก็ยังนอนนิ่ง เหตุการณ์ผ่านไปกว่าครึ่งชั่วโมงจนเสือรู้ว่ามีคนอยู่ในบริเวณนั้นจึงไต่ลงมาจากต้นไม้หายตัวไปในป่าทึบ ฝูงค่างจึงสงบลงและรีบเคลื่อนย้ายออกไปจากบริเวณนั้นในทันที

kang13

บทบาทสำคัญลำดับสุดท้ายที่ M3 ต้องทำก็คือ การปกป้องอาณาเขต เมื่อมีค่างฝูงอื่นล่วงล้ำอาณาเขตเข้ามา ตัวผู้รุ่นใหญ่จะช่วยกันส่งเสียงร้องขู่เพื่อเตือนฝูงที่บุกรุกให้ออกไป ถ้าไม่ได้ผล M3 จะเข้าไปในฝูงผู้บุกรุกเพื่อขับไล่ฝ่ายตรงข้าม โดยมี M2 เป็นผู้ช่วย ส่วน M1 มักจะคอยอยู่แนวหลังเพื่อระวังภัยให้ตัวเมีย มีเหมือนกันที่ PA ล่วงล้ำเข้าไปในอาณาเขตของฝูงอื่น ผลคือถูกเจ้าถิ่นขับไล่ออกมาในลักษณะเดียวกัน โดยตัวผู้เจ้าถิ่นจะส่งเสียงร้องข่มขู่และมักจะตรงเข้าไปหากลุ่มแม่ที่มีลูกอ่อนซึ่งกระจายกันหากิน ทำให้ M1 และ M3 ต้องแยกกันไปปกป้อง ส่วน M2 จะตามไปเผชิญหน้ากับตัวผู้เจ้าถิ่น และบางครั้งการต่อสู้กันระหว่างตัวผู้ต่างฝูงก็เกิดขึ้น เท่าที่ผ่านมาเมื่อเกิดกรณี PA จะคอยให้สมาชิกที่กระจัดกระจายมารวมตัวกันจนครบจึงจะออกมาจากเขตแดนของผู้อื่น ส่วนเจ้าถิ่นก็จะคอยขับไล่จน PA พ้นอาณาเขตของตนเองถึงยอมเลิกรา แต่ถ้าเป็นสัตว์ชนิดอื่นที่เข้ามาหากินในบริเวณเดียวกัน เช่น ชะนีมือขาว พญากระรอกดำ นกชนิดต่าง ๆ ไม่เคยพบว่า PA จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวหรือเข้าไปขับไล่

บทบาทในการนำสมาชิกในฝูงกลับเข้ามารวมกันนั้นจะเป็นของตัวผู้รุ่นใหญ่ทุกตัว เป็นเรื่องปรกติที่ลูกฝูงจะจับกลุ่มแล้วแยกย้ายกันออกหากินเป็นวงกว้าง เมื่อจะเคลื่อนย้ายไปหากินในบริเวณอื่น แต่ไม่รู้ว่าแต่ละกลุ่มอยู่ตรงไหนกันบ้าง ตัวผู้ที่เสียงดังจะทำหน้าที่ส่งเสียงร้องสื่อสารเพื่อให้ลูกฝูงกลับมารวมตัวกัน เวลาออกเดินทางในแต่ละครั้ง PA อาจจะแยกเป็นกลุ่มย่อยแล้วไปคนละเส้นทาง แต่ก็มุ่งหน้าไปยังจุดหมายเดียวกัน มีบ้างเหมือนกันที่ผู้นำกลุ่มสื่อสารกับกลุ่มอื่นไม่ได้จนคลาดกัน แต่มันก็มีวิธีที่จะพาฝูงกลับมารวมกันได้อีกครั้ง

ช่วงนั้นเรามีสมาชิกใหม่ตัวน้อยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตัว เป็นลูกของ A5 ที่เพิ่งคลอดได้ไม่นาน ทุกครั้งที่เดินทางเคลื่อนย้ายแหล่งหากิน A5 ที่ต้องดูแลลูกอ่อนจึงเดินทางได้ไม่สะดวกนัก วันนั้นฝูงแยกกันออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มใหญ่มีแกรมคอยเฝ้าติดตาม ผมอยู่กับกลุ่มที่เหลือซึ่งมี M1 วัยรุ่นหนึ่งตัว และแม่ลูกอ่อนสองตัวที่อยู่ระหว่างให้นมลูก ส่วน A5 ซึ่งรั้งท้ายมาตัวเดียวมีวิเชียรคอยติดตาม ออกเดินทางได้ระยะหนึ่ง เมื่อวิเชียรเดินมาบอกว่า A5 กำลังตามมาอย่างช้า ๆ ผมจึงเดินตามไปดูกลุ่มใหญ่ แต่ปรากฏว่าทั้งคนทั้งค่างหายตัวไปไหนไม่รู้ M1 คงรู้ตัวว่ากำลังจะคลาดกับฝูงใหญ่ พอ A5 ตามมาสมทบ มันจึงส่งเสียงร้องเพื่อสื่อสารกับกลุ่มใหญ่แต่ก็ไม่มีเสียงตอบกลับ สักพัก M1 ก็นำกลุ่มที่เหลือออกเดินทางอีกครั้ง แต่กลับไปคนละทางกับที่กลุ่มใหญ่หายตัวไป !

kang14

M1 เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วไปตามเรือนยอดไม้ พาลูกฝูงพร้อมด้วยพวกเราตัดขึ้นเนินชันลูกแล้วลูกเล่า ระหว่างทางมันก็ส่งเสียงร้องติดต่อกับกลุ่มเป็นระยะ จนมาถึงเนินเขาที่น่าจะสูงสุดในบริเวณนั้น มันก็หยุดและส่งเสียงร้องอยู่นาน ผมกับวิเชียรพยายามเงี่ยหูฟังแต่เราก็ไม่ได้ยินเสียงตอบกลับ แต่ M1 ดูเหมือนจะได้ยิน จึงออกเดินทางตัดเขาลงมาพร้อมกับส่งเสียงร้องไปเป็นระยะ ไม่นานเราก็ได้ยินเสียงร้องแบบเดียวกันดังมาจากทิศทางที่กำลังมุ่งหน้าไป ในที่สุดเราก็ได้พบกับฝูงใหญ่ รวมทั้งแกรมที่กำลังง่วนอยู่กับการจดบันทึก

ค่างเพศเมียที่อาศัยอยู่ในแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์จะเติบโตเป็นสาวเต็มตัวพร้อมจะทำหน้าที่ขยายเผ่าพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุประมาณ ๓-๔ ปี แต่เราจะถือว่าพวกเธอโตเต็มวัยหลังจากที่ให้ลูกตัวแรก ซึ่งตอนนั้นจะมีอายุประมาณ ๕ ปี ส่วนตัวผู้ที่มีพัฒนาการช้ากว่า จะโตเต็มวัยเมื่อมีอายุประมาณ ๖ ปี ในระหว่างเพศเมียด้วยกัน ความสาวจะมีอิทธิพลต่อฝูงมากที่สุด เมื่อพ้นวัยสาว ยิ่งอายุมากขึ้น ถึงจะมีความสำคัญต่อฝูงอยู่บ้าง แต่อิทธิพลก็จะลดลง ดังนั้นค่างสาวรุ่นใหม่ในฝูงจึงมีฐานะสูงกว่าตัวเมียที่อายุมากกว่า ปัจจุบันตำแหน่งราชินีอยู่ในความครอบครองของ A10 ค่างสาวที่เพิ่งให้กำเนิดลูกตัวแรก

kang15

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เพศเมียที่อาวุโสสูงอายุมาก ๆ มักมีบทบาทเด่นที่สุดในการนำฝูงออกไปหากิน คงด้วยประสบการณ์อันยาวนานที่ทำให้รู้ว่าช่วงเวลาใดของปีจะมีแหล่งอาหารอยู่ที่ใด แต่สำหรับ PA ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะทุกครั้งที่พบกัน เราพยายามดูว่าเมื่อเคลื่อนย้ายไปยังแหล่งอาหาร ตัวใดจะเป็นตัวแรกที่ออกนำทาง คำตอบก็คือ มีตัวเมียหลายตัวผลัดกันออกนำทาง และในบางครั้งก็เป็นจ่าฝูง M3 ที่ออกนำ บางครั้งก็เป็น M1 อดีตจ่าฝูง นอกจากนี้วัยรุ่นอีกหลายตัวก็เคยออกนำฝูงไปยังแหล่งอาหารเช่นกัน ดูเหมือนว่าทุกตัวในฝูงที่โตพอ จะรู้ว่าที่ใดมีแหล่งอาหารในช่วงเวลาใด เว้นก็แต่เฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่น้ำมีน้อย ผมพบว่าหลายครั้งตัวเมียที่มีอาวุโสสูงจะเป็นผู้นำฝูงไปยังแหล่งน้ำ

บทบาทที่สำคัญที่สุดของเพศเมียยังคงเป็นการให้กำเนิดลูกน้อยเพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ การผสมพันธุ์จะเป็นไปได้ตลอดทั้งปี โดยช่วงเวลาที่พบมากที่สุดจะอยู่ในช่วงฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาว ช่วงแรกของการตั้งท้อง มันยังเคลื่อนที่กระโดดโลดโผนได้ไม่ต่างจากตัวอื่น ๆ จนท้องแก่จึงเคลื่อนที่ช้าลง และบางตัวถึงกับแยกตัวออกห่างจากฝูง ประมาณห้าเดือนครึ่งมันก็ให้กำเนิดลูกที่มีขนสีส้มทั้งตัว

ในช่วงฤดูกาลให้กำเนิด ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน มีแม่ค่าง ๕ ตัวให้กำเนิดลูก แม่ทุกตัวจะดูแลเอาใจใส่ลูกของตนเป็นอย่างดี แต่นิสัยส่วนตัวจะแตกต่างกันออกไป A4 เป็นแม่ตัวแรกที่มีลูก ช่วงนั้นตัวอื่น ๆ ในฝูงเห่อสมาชิกใหม่มาก โดยเฉพาะเด็ก ๆ รุ่นพี่และวัยรุ่นที่พยายามจะเข้ามาอุ้มน้องใหม่ตัวเล็ก แต่ A4 ดูจะหวงลูกมาก ไม่ยอมให้ใครอุ้มง่าย ๆ ยกเว้นเวลาที่ต้องหากินถึงยอมให้ตัวอื่นมาดูแลลูกแทนชั่วคราว ค่างสาวที่ยังไม่เคยมีลูกจะถือโอกาสนี้เรียนรู้ ทำหน้าที่ดูแลเจ้าตัวน้อย ก่อนที่จะให้กำเนิดลูกของตัวเองในอนาคต จนลูกอายุได้ ๓ เดือน A4 ถึงยอมปล่อยลูกออกจากอก ขณะที่ A1 ซึ่งตกลูกเป็นรายล่าสุด แค่เดือนแรกผ่านไป มันก็ปล่อยให้เจ้าตัวน้อยออกมาซ่าได้โดยไม่ต้องมีใครมาคอยดูแล ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะมีลูกของตัวอื่น ๆ ในวัยใกล้เคียงกันเป็นเพื่อนเล่น

kang16

ลูกค่างจะเริ่มต้นเรียนรู้การใช้ชีวิตจากแม่ จากช่วงแรกเกิดที่แม่ต้องคอยอุ้มลูกไว้ตลอดเวลาจนเคลื่อนที่ได้ลำบาก บทเรียนแรกที่ลูกค่างต้องเรียนรู้หลังจากกินนมเป็นก็คือ การเกาะตัวแม่ พอลูกเกาะแม่ได้จะทำให้แม่เคลื่อนที่ได้สะดวกขึ้น จากนั้นเมื่ออายุประมาณ ๑ เดือนครึ่ง สีส้มจะเริ่มจางลง ช่วงนี้แม่ส่วนใหญ่จะเริ่มปล่อยให้ลูกออกไปหัดห้อยโหนและเล่นกับเพื่อน พออายุได้ ๓ เดือน ขนที่บริเวณใบหน้า กลางกระหม่อม มือ ตีน และปลายหาง จะมีสีเทาชัดขึ้น เข้าเดือนที่ ๖ ลูกค่างจะมีขนสีเทาทั่วทั้งตัว ในวัยนี้ลูกค่างบางตัวจะเริ่มไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง แต่ถ้าตรงไหนช่องว่างระหว่างต้นไม้กว้างเกินไป เจ้าตัวเล็กจะส่งเสียงร้องโวยวายขอความช่วยเหลือ แม่หรือป้าน้าอาที่อยู่ใกล้ก็จะช่วยอุ้มข้ามไป ส่วนตัวผู้เราพบเฉพาะ M3 เท่านั้นที่เข้ามาอุ้มเด็ก ๆ จนอายุได้ ๙-๑๐ เดือนลูกค่างจะโตขึ้นมาก ถึงตอนนี้แม่จะไม่ยอมให้ลูกเกาะอีก พวกมันต้องไปไหนมาไหนเอง แต่ก็ยังต้องกลับมาสู่อ้อมอกแม่เสมอเพื่อกินนม แม่บางตัวจะให้นมลูกจนกระทั่งมันตั้งท้องใหม่ได้ราว ๒ เดือนจึงหยุดให้นม ลูกค่างจะหย่านมเมื่ออายุได้ประมาณ ๑ ปีครึ่งถึง ๒ ปี จากนั้นชีวิตก็จะเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น

หลังจากใช้ชีวิตส่วนใหญ่เรียนรู้และอยู่กับแม่มาตลอดช่วงวัยเด็ก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น มันจะค่อย ๆ เรียนรู้วิธีการดำรงชีวิตจากตัวอื่น ๆ ที่อาวุโสกว่า ทั้งการเลือกกินอาหาร การแบ่งแยกศัตรู การระวังภัยให้ฝูง การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับตัวอื่น การเล่นกับเพื่อนวัยไล่เลี่ยกันมาตั้งแต่เด็ก ทำให้แต่ละตัวเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์กันภายในฝูง และพัฒนาไปสู่การทำความรู้จักและยอมรับถึงฐานะของตัวอื่น ๆ เมื่อโตเป็นหนุ่มเป็นสาว มันจะเริ่มแยกตัวออกห่างจากรุ่นใหญ่ ยกเว้นเฉพาะแม่ของตัวเอง หนุ่ม ๆ มักชอบอยู่ตามลำพัง หรือแยกตัวออกจากฝูงเวลาเคลื่อนย้ายแหล่งหากินโดยเลือกเส้นทางเอง และในที่สุดก็จะมีหนุ่มน้อยบางตัวหายไปจากฝูง ตัวเมียที่เริ่มเป็นสาวในฝูงนี้มีสองตัว หนึ่งในนั้นเพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ใหม่ เราตั้งชื่อว่า A11 การอพยพเข้ามาในฝูงเช่นนี้เราพบเฉพาะตัวเมีย ส่วนที่หายไปจากฝูงมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย เป็นไปได้ว่าการออกจากฝูงของตัวผู้ก็เพื่อสร้างโอกาสในการมีฝูงเป็นของตัวเอง ส่วนตัวเมียอาจจะอพยพเพื่อหลีกหนีการบังคับจากตัวผู้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเป็นราชินีในฝูงใหม่ รวมทั้งเพื่อลดการแก่งแย่งอาหาร แต่เราก็ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก

kang17

ค่างสาวรุ่นใหม่จะใช้เวลาส่วนใหญ่หลังจากกินอาหารอยู่ใกล้ชิดกัน ในช่วงก่อนที่จะตั้งท้องลูกตัวแรก ค่างสาวต้องยกฐานะตัวเองให้สูงขึ้นมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งอาจหมายถึงตำแหน่งราชินี ค่างสาวทั้งคู่จึงพยายามสร้างการยอมรับและกระชับความสัมพันธ์กับค่างทุกเพศทุกวัยในฝูง โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีเข้าไปทำความสะอาดร่างกายให้

ปรกติค่างแต่ละตัวจะทำความสะอาดร่างกายด้วยตัวเองในบริเวณที่ทำได้ง่าย คือ ปลายแขน ขาอ่อน ขา และปลายหาง ส่วนบริเวณที่ทำเองได้ยาก คือ หัว ต้นแขน หลัง ท้อง และโคนหาง จึงต้องมีตัวอื่นมาช่วยทำให้ วิธีการทำความสะอาดอาจจะใช้ปากกัดหรือมือดึง แกะ เกา เอาปรสิตพวกเห็บ เหา สะเก็ดหนังที่ตาย รวมถึงเศษพืช ออกมาจากขน การทำความสะอาดร่างกายของค่างอาจเปรียบได้กับการที่คนเราไปนวดตัวให้รู้สึกผ่อนคลาย ค่างจะใช้วิธีนี้ลดความตึงเครียดระหว่างกันและกันภายในฝูง เพราะสังคมค่างจะมีการแก่งแย่งแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันสูง ตัวที่อยู่ในฐานะสูงสุดก็อาจจะเครียดเพราะกลัวว่าตัวอื่นจะมาแย่งตำแหน่ง ส่วนตัวที่ด้อยกว่าก็อาจจะเครียดเพราะถูกตัวที่เหนือกว่ารังแก โดยเฉพาะตัวเมีย เมื่อเกิดความเครียดมาก ๆ จะทำให้ฮอร์โมนในร่างกายทำงานผิดปรกติ และส่งผลต่อภาวะการเจริญพันธุ์ ทำให้มีลูกยาก

การใช้ชีวิตไม่ว่าจะอยู่ในสังคมไหนย่อมหนีไม่พ้นวัฏจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด อีกไม่นาน ค่างสาวรุ่นใหม่ก็จะก้าวขึ้นมาเป็นราชินี ส่วนตัวผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดก็จะผลัดเปลี่ยนขึ้นมาครอบครองตำแหน่งราชา งานการศึกษาชีวิตของค่างแว่นถิ่นเหนือเพิ่งจะเริ่มต้น ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ยังรอการค้นหาคำตอบ ทั้งเรื่องรูปแบบในการดำรงชีวิต การอพยพเข้า-ออกภายในฝูง เรื่องพืชอาหาร ความเกี่ยวพันทางสายเลือด ฯลฯ ทั้งยังต้องศึกษาชีวิตค่างกลุ่มอื่นในพื้นที่ข้างเคียงและในพื้นที่ที่มีลักษณะแตกต่างกันเพื่อใช้เปรียบเทียบ

โดยเฉพาะค่างรุ่นใหม่ที่ทีมวิจัยรู้ช่วงเวลาเกิดที่แน่นอน รู้จักแม่ของมัน และสามารถจะรู้ได้ว่ามันเกิดจากพ่อตัวไหนโดยการวิเคราะห์ DNA มันได้กลายเป็นความหวังของทีมวิจัยที่จะเกาะติดศึกษาพัฒนาการของมันไปจนสิ้นอายุขัยซึ่งอาจยาวนานกว่า ๒๐ ปี ถึงเวลานั้น ภาพชีวิตของค่างแว่นถิ่นเหนือคงชัดเจนสมบูรณ์ขึ้นกว่านี้มาก

…………………………

kang18

ปลายฤดูร้อน

แดดที่แผดกล้ามาทั้งวันเริ่มอ่อนแสงลง สุดท้ายก็จางหายไป ความมืดค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาครอบคลุม

ถึงวันนี้ผมจะไม่มีแกรมมาช่วยแบกขาตั้งกล้องให้เหมือนเมื่อวันเก่า แต่ผมก็เดินตัวปลิวตามหลังวิเชียรมาติด ๆ ผมมีช่วงเวลาดีๆ ๔-๕ นาทีให้กดชัตเตอร์ถ่ายภาพไปหลายสิบภาพ ในจำนวนนั้นคงมีภาพที่ทำให้ผมพอชื่นใจอยู่บ้าง ระยะหลังมานี้ในรอบ ๓ เดือน ถ้าไม่โชคร้ายจนเกินไป ผมมักจะมีโอกาสแบบนี้สักครั้งสองครั้ง

ตลอดช่วงเวลาหลายเดือนที่ร่วมงานกับชุดวิจัย มันทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเหน็ดเหนื่อยเสมอเมื่อออกทำงาน ถึงวันนี้ผมเข้าใจความหมายที่ Dr. Carola บอกเอาไว้อย่างแจ่มชัด …เมื่อเราทุ่มเทเอาจริงกับงาน ทำให้ทุกอย่างดูไม่ยาก เพียงแต่ต้องยอมรับความจริงเกี่ยวกับการทำงานในธรรมชาติว่า ต้องค่อย ๆ ใช้เวลาเรียนรู้ อดทน และรอคอย ทุกเรื่องราวมีจังหวะขั้นตอนอยู่ในตัวของมันเอง

เหลืออีกครึ่งทางกว่าจะถึงจุดหมาย วิเชียรหันกลับมาช่วยเอาขาตั้งกล้องไปแบก ก่อนจะพาผมตัดขึ้นทางชันมุ่งหน้าสู่สันเขาลูกสุดท้าย ภาระที่ลดลงช่วยให้ผมก้าวย่างไปตามทางชันได้อย่างมั่นคงและสม่ำเสมอ ระหว่างไต่ขึ้นไป ผมนึกถึงมือที่ตบไหล่และคำพูดของผู้ชายคนหนึ่ง

“ยอดเขามันอยู่สูง อย่ามองขึ้นไป เดี๋ยวมันจะท้อ ก้มหน้า ค่อย ๆ เดินไป…”

Special thanks to Dr. Andreas Koenig, Dr. Carola Borries, Wichian Nathongbo, Araya Yamee, Graham Preece, Stefan Kropidlowski, Eileen Larney.

ขอขอบคุณ : คุณจารุพล ปราบณศักดิ์, คุณกิตติ กรีติยุตานนทน์, คุณวรรณชนก สุวรรณกร, คุณชัยพร ทับทิมทอง, คุณมงคล คำสุข, ป้าทองและแม่ครัวทุกคน, เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช