ครั้งหนึ่ง “สารคดี” เคยถูกมองว่าเป็นข้อเขียนที่ “ไม่มีราคา” เมื่อเทียบกับงานเขียนประเภทอื่น ๆ และเป็นเพียง “เงาจาง ๆ” ตามหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ที่…มีก็ดี ไม่มีก็ได้ งานสารคดีแม้จะผลิตกันมานาน แต่ศาสตร์ของการเขียน-การทำสารคดีก็เพิ่งมีการเรียนการสอนอย่างจริงจังในระดับอุดมศึกษาเมื่อ ๒๐ ปีที่ผ่านมานี้เอง
แต่ถึงวันนี้ สารคดีเป็นการสื่อสารแขนงหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่าสำคัญ สร้างสรรค์ และมีพลัง… มันสามารถกลายเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” ได้ หากมีเนื้อหาและวิธีการนำเสนอที่ “โดนใจ” ผู้ชม ซึ่งเหล่าคนทำสารคดีต่างแข่งขันกันขบคิดและค้นหาวิธีนั้นอยู่
โลกของสารคดีในวันนี้จึงกว้างใหญ่น่าสนใจยิ่งนัก กองบรรณาธิการอาสาพาผู้อ่านไปรู้จักกับ ๒๑ คนทำสารคดีแห่งยุค ทั้งนักเขียนอิสระ คนทำนิตยสาร คอลัมนิสต์ เจ้าของรายการโทรทัศน์ โปรดิวเซอร์คนดัง และคนทำหนังสารคดี ที่จะมาให้นิยาม-ความหมายของคำว่า “สารคดี” บอกเล่าประสบการณ์การทำงาน พร้อมทั้งเปิดเผย “วิธีการเล่าเรื่อง” ที่ทำให้สารคดีของตนมีความเย้ายวนชวนติดตาม ไม่ซ้ำแบบใคร
“นำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า”
ปุจฉา-วิสัชนา กับ เอนก นาวิกมูล
เรื่อง : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
![]() | ![]() |
หากพูดถึงนักค้นคว้า นักเขียนสารคดี ผู้รู้เรื่องของเก่าและเรื่องราวในอดีตมากที่สุดคนหนึ่งในเมืองไทย คนแรกที่ต้องนึกถึงคือ เอนก นาวิกมูล
เขาให้คำจำกัดความงานของตัวเองว่า “นำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า”
เอนกทำงานสารคดีมานานถึง ๓๐ ปี เขียนหนังสือรวมเล่ม ๙๙ เล่ม ไม่รวมงานที่รอตีพิมพ์อีกหลายสิบเล่ม เก็บรวบรวมเทปสัมภาษณ์บุคคล ๑,๐๐๐ กว่าม้วน ภาพถ่ายที่เป็นฟิล์มขาวดำประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าม้วน สไลด์เกือบ ๔,๐๐๐ ม้วน ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้กล้องดิจิทัล ถ่ายภาพไว้ประมาณ ๓-๔ หมื่นรูป ไม่รวมวิดีโอที่เก็บบันทึกเรื่องราวของพ่อเพลงแม่เพลงไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ อีกหลายร้อยม้วน
เห็นผลงานขนาดนี้แล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่ชื่อ เอนก นาวิกมูล ได้กลายเป็นสถาบัน หรือแหล่งข้อมูลความรู้สำหรับผู้ต้องการค้นคว้าเรื่องราวในอดีต (อย่างไม่เป็นทางการ) ไปเสียแล้ว
ทำไมพี่เอนกจึงสนใจค้นคว้าเรื่องเก่า
เพราะว่า หนึ่ง สมัยเป็นเด็ก อ่านหนังสือแล้วเกิดข้อสงสัย เช่น เขาเขียนว่า น้ำแข็งเข้ามาเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ไม่ได้บอกว่ารู้มาได้อย่างไร พอเรามาค้นคว้าเองก็เริ่มรู้ว่าข้อมูลพวกนี้มีปัญหา คือเมื่อไปค้นย้อนกลับ เราไม่รู้ว่าข้อมูลตรงนั้นผู้เขียนได้มาจากไหน เพราะว่าสมัยก่อนเขาจะเขียนกันสบาย ๆ เช่นหนังสือเล่มหนึ่งกล่าวว่า ฝรั่งคนหนึ่งกล่าวว่า หรือว่าหนังสือ ๒ เล่มให้ข้อมูลไม่ตรงกันก็มี ต่างคนต่างเขียน ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด ก็เลยอยากจะมาค้นคว้าให้แน่ชัดขึ้น เหมือนเป็นการชำระอดีต เราสนใจของเก่า เรื่องเก่า เป็นห่วงศิลปวัฒนธรรมแบบเก่า พอมาจับเรื่องนี้ก็ทำให้รู้ว่ามีปัญหาและมีเรื่องให้ชำระมากมาย อย่างเรื่องเพลงพื้นบ้าน แต่เดิมเราก็ลอกหนังสือ ๓-๔ เล่ม แล้วก็มาเขียนต่อ ลอกจนจำได้ว่าอันนี้มาจากเล่มนี้ ๆ ซ้ำไปซ้ำมา ความรู้ก็ไม่งอกงาม เลยคิดว่าน่าจะค้นคว้าเรียบเรียงขึ้นใหม่ หรืออย่างเพลงพื้นบ้านมันก็เกี่ยวกับเสียง แต่ไม่มีใครคิดเก็บเทปเก็บแผ่นเสียงไว้เป็นกิจจะลักษณะ ไม่ไปหาพ่อเพลงแม่เพลงเพื่อรวบรวมข้อมูล ทำให้รู้สึกว่าต้องมีการนำเสนอข้อมูลใหม่และตรวจสอบข้อมูลเก่า ถ้าข้อมูลเก่าไม่ถูกต้อง เราก็ต้องบอกว่ามันไม่ถูกอย่างไร แปรเปลี่ยนอย่างไร
สอง ตั้งใจตั้งแต่เด็กแล้วว่าอาชีพที่ชอบที่สุดคือเขียนหนังสือ แต่รู้ตัวว่างานเรื่องสั้น งานกวี เราคงไม่ค่อยถนัดหรืออาจจะไม่ชอบ และเราก็รู้สึกว่างานสารคดีมันมีช่องว่างอยู่ คือมีสิ่งที่ควรจะชำระมากมาย เพราะฉะนั้นก็คิดว่าควรจะทำงานสารคดี
สารคดีในความหมายของพี่เอนกคืออะไร
สารคดีคือเรื่องที่ให้ข้อมูลความรู้ เน้นความรู้เป็นหลัก แต่ไม่ถึงกับเข้มแบบวิชาการ มันเป็นกึ่ง ๆ กันอยู่ มีการนำเสนอที่ง่ายกว่าตำรา งานวิชาการ เขียนให้อ่านเข้าใจได้สบาย ๆ แต่ก็มีหลายแบบ แล้วแต่ว่าเป็นสารคดีแบบไหน เอาเป็นว่า ความหนัก ความเข้ม งานสารคดีจะน้อยกว่างานวิชาการนิดหนึ่ง
มีวิธีการตรวจสอบข้อมูลอย่างไร
อ่าน ฟัง แล้วถ้าเห็นว่าไม่ตรงกัน ก็ไปอ่านไปฟังให้มากขึ้น เช็กข้อมูลให้มากขึ้น ไม่เชื่อทันที เมื่อได้ข้อมูลจากหลายแหล่งมาแล้ว ก็มาประมวลผล อย่างตอนที่ทำเรื่องแรกมีการถ่ายรูปในสยาม แต่เดิมก็ลอก ๆ กันมาว่า เริ่มมาจากสังฆราชปาเลอกัว ตอนหลังมาได้ข้อมูลใหม่ว่า นอกจากสังฆราชปาเลอกัวแล้ว ควรให้เครดิตบาทหลวงลาร์โนดีด้วย ในฐานะที่สังฆราชเขียนจดหมายสั่งให้บาทหลวงลาร์โนดีเอากล้องเข้ามา
หรืออย่างเรื่องแม่นากพระโขนง เราอยากจะรู้ว่ามันเกิดที่วัดมหาบุศย์จริงหรือเปล่า ก็ไปดูว่าชาวบ้านเชื่ออย่างไร มีอะไรเกี่ยวข้องกับแม่นากบ้าง กุฏิที่แม่นากเดินเอาตีนไต่เพดานยังมีเหลือไหม พอไปดูแล้วก็ได้รู้ว่ามีรูปปั้นแม่นาก ปั้นเมื่อช่วงสัก ๓๐-๔๐ ปีก่อน จากเดิมที่มีแต่คำเล่าลือ ก็ปั้นเป็นรูปขึ้นมา เ ราเขียนเผยแพร่เรื่องนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ หลังจากนั้นก็ได้ค้นพบข้อมูลอีกมากมาย อย่างประเด็นที่ว่าสมัยก่อนเรื่องแม่นากเคยมีคนเอามาทำเป็นละครวิทยุ คนฟังแล้วกลัวเลยถูกสั่งเลิก เราก็พยายามสืบเสาะว่ามีใครบ้างที่เคยร่วมงานกับคณะละครนี้ ก็ได้พบกับแม่ละม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา และได้เชิญท่านมาพูดคุยบนเวทีศูนย์สังคีตศิลป์ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรม
เรื่องเพลงพื้นบ้าน เพลงปรบไก่ มีแต่พูดถึงกัน แต่ไม่เคยได้ฟัง ไม่รู้ว่าจริง ๆ เป็นอย่างไร นิยมกันมาตั้งแต่ยุคอยุธยา แล้วมาหมดไปในยุครัชกาลที่ ๖-๗ ถามแม่เพลงบางคนก็ไม่รู้ จนกระทั่งอาจารย์เรไร สืบสุข แห่งราชภัฏเพชรบุรี บอกข่าวมาว่า ยังมีคนร้องเพลงปรบไก่กันอยู่ ให้ไปฟังที่บ้านลาดตอนวันเพ็ญเดือนหก ก็ไปฟังกัน ทำให้ได้รู้ว่าเพลงปรบไก่มันร้องแบบนี้ ที่ว่าหยาบนี้ มันหยาบอย่างไร
เรื่องส้วมโบราณ เรามองว่าคนก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่พอค้นเรื่องกระดาษชำระ อ่านในหนังสือของเสฐียรโกเศศว่า สมัยก่อนพอถึงวันเข้าพรรษาจะมีการเอาดอกไม้ธูปเทียนและแปรงสีฟัน (ข่อย) กับไม้ชำระก้นหรือไม้แก้งก้นไปถวายพระ (แก้ง-ขูด เช็ด) เราอ่านแล้วรู้สึกสะดุด ไม้แก้งก้นหน้าตาเป็นอย่างไร คนเฒ่าคนแก่เล่าว่าเหมือนไม้ไอติม มีกระดาษพันรอบ ๆ ก็ไม่เข้าใจ จนป่านนี้ยังไม่เคยเห็นของจริง จากนั้นก็มีคำถามขึ้นอีกว่า ทำไมไม่ใช้น้ำล้าง คำตอบก็คือ แต่ก่อนส้วมอยู่นอกบ้านและอยู่ห่างออกไป ขี้เกียจหิ้วน้ำ ถ้ามีไม้หักเป็นท่อนเล็ก ๆ อยู่แถวนั้น ก็เอามาปาดอึออก แล้วเวลาอาบน้ำค่อยชำระอีกที
อะไรคือแรงบันดาลใจในการค้นคว้า
ความไม่รู้และความเป็นห่วง ว่าถ้าเราไม่ชำระ มันก็จะถูกปล่อยเลยตามเลย เชื่อกันผิด ๆ ลอกกันผิด ๆ เรื่องศิลปวัฒนธรรมและภูมิความรู้ต่าง ๆ มันจะหายไปเสียเปล่า ๆ มรดกทางความรู้มันหายไปเยอะแล้ว ความรู้ที่อยู่ในหอสมุดแห่งชาติก็เยอะ แต่ถูกทำลายไปมาก เช่นหอสมุดจำหน่ายหนังสือทิ้ง หอสมุดอาจจะถ่ายไมโครฟิล์มไม่ครบ หนังสือเก่าสูญหายไปก็เยอะ โดนฉีกทิ้ง โดนทำลาย มันเป็นความรู้มหาศาล แต่ไม่มีการเอาความรู้เก่ามาบอกคนรุ่นปัจจุบัน ก็ต้องมานั่งนับหนึ่งใหม่กันอยู่เรื่อย แต่ถ้าเรานับไว้ให้บ้างแล้ว มันก็ไม่ต้องมานั่งเริ่มต้นใหม่
ที่ทำมาทั้งหมด มันเริ่มจากใจรัก และอยากให้คนในสังคมได้รับความรู้ที่ถูกต้อง ตอบคำถามให้ตัวเอง และตอบเผื่อคนอื่นด้วย ที่ไม่รู้ก็จะได้รู้ ที่รู้อยู่แล้วก็จะได้รู้มากขึ้น โดยใช้หนังสือเป็นสื่อในการเผยแพร่
ทราบมาว่าพี่เอนกเขียนไดอารีทุกวันตั้งแต่เด็ก ๆ จนทุกวันนี้ไดอารีกลายมาเป็นข้อมูลสำคัญในงานเขียน
ผมเขียนไดอารีทุกวันตั้งแต่ ป. ๖ ถึงบัดนี้ ไปเจออะไรมา มันเอามาอ้างอิงได้ สมมุติวันนี้ไปถ่ายรูปมา เราก็อาจจะทำเป็นเครื่องหมายพิเศษให้เห็นเด่นชัดว่าวันนี้มีการทำงานอย่างไร เพราะมันต้องเอาไปใช้ ลงเบอร์ฟิล์ม ลงซองฟิล์ม ใช้ในการอ้างอิง ระบุไว้ในคำบรรยายภาพ การลงวันเดือนปีที่ถ่ายภาพและรายละเอียดอื่น ๆ ไว้ในคำบรรยายมันก็มีประโยชน์สูง เพราะทำให้เรารู้ว่าในวันนั้น ศิลปินคนนี้ยังมีชีวิตอยู่ อายุประมาณเท่านั้นเท่านี้ ไม่ใช่ลงลอย ๆ ว่า ยายต่วน บุญล้น แม่เพลง แต่เราจะบอกว่า ถ่ายเมื่อไร ใครเป็นผู้ถ่าย นายเอนกถ่าย หรือไปก๊อบปี้ ขอใครเขามา ถ้าเป็นหนังสือที่ยืมมาจากห้องสมุด ก็จะได้รู้ว่ามาจากห้องสมุดไหน และจะบอกด้วยว่าหน้าปกสีอะไร เพราะถ้าเราพิมพ์รูปเป็นขาวดำ เวลาใครไปค้นจะได้ง่ายขึ้น เราเองไปค้นก็ง่ายสำหรับเรา ช่วงท้ายของไดอารี เราก็จะเขียนถึงเหตุการณ์ที่น่าสนใจของปีนี้ ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัวและที่เป็นเหตุการณ์สำคัญ อย่างซื้อคอมฯ เครื่องใหม่ ซื้อกล้องดิจิทัลตัวใหม่ หรือว่ามีขโมยมาขึ้นบ้านข้าง ๆ หรือเรื่องสึนามิ เป็นบันทึกช่วยจำอีกทางหนึ่ง
พี่เอนกสนใจค้นคว้าเรื่องเก่าทุกเรื่องหรือไม่
เรื่องที่ไม่สนใจก็ไม่ทำ เช่น พระเครื่อง หรือเครื่องถ้วยเครื่องลายคราม ช่วงเวลาในอดีตที่สนใจจะอยู่ประมาณ ๑๐๐ กว่าปี ถ้าเกินยุครัตนโกสินทร์ไปแล้ว ไม่เอาเลย ข้าวของเครื่องใช้สมัยกรุงธนบุรี อยุธยา สุโขทัย เราไม่สนใจ เราไม่ถนัด ถือว่าคนอื่นก็ทำกัน หลัก ๆ เราจะสนใจเรื่องภาพเก่าและข้าวของในชีวิตประจำวัน หนังสือที่เขียนออกมาส่วนใหญ่ก็จะชี้แจงก่อนว่า ทำไมถึงไปทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่น พูดถึงเรื่องสวนเอกชนแห่งแรกที่เปิดให้เข้าชมและเก็บค่าผ่านประตู ก็คือหิมพานต์ปาร์กและปาร์กสามเสน หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าปัจจุบันคือวชิรพยาบาล
มีหลักในการเขียนหนังสืออย่างไร
นำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า เริ่มจากการอ่านและตั้งข้อสงสัย เรื่องใดอ่านแล้วน่าสนใจ ชวนให้สงสัย ก็ไปหาคำตอบ ทั้งจากหนังสือที่มีอยู่แล้วและหนังสืออื่นที่เราบังเอิญไปอ่านพบ จากนั้นก็ต้องออกสำรวจ ออกไปเห็นด้วยตาตัวเอง และถ่ายภาพเองเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นการเดินทางก็มีความสำคัญ หลักอื่น ๆ ก็คือ ต้องให้เกียรติผู้ที่ให้ความรู้เรา มีการอ้างอิง แล้วก็เขียนหนังสือให้อ่านง่าย เพราะเราไม่ชอบอ่านเรื่องที่ง่ายแต่ทำให้อ่านยาก
สำรวจโลก (สารคดี) กับ โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ
บรรณาธิการบริหาร National Geographic ฉบับภาษาไทย
เรื่อง : เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
![]() | ![]() |
สหรัฐอเมริกา ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๘๘ นิตยสาร National Geographic ฉบับแรกของโลก ถือกำเนิดขึ้นโดยสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งนิยามตนเองว่าเป็น “องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษาที่ดำเนินการโดยไม่แสวงหาผลกำไร”
๑๑๓ ปีต่อมา ประเทศไทย สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ National Geographic ฉบับภาษาไทย ตีพิมพ์เป็นครั้งแรก โดยบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ภายใต้การนำของ ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ (๒๔๘๕-๒๕๔๕) ประธานกรรมการบริหารในเวลานั้น
ปฐมฤกษ์ของ National Geographic ฉบับภาษาไทย ซึ่งเป็นฉบับภาษาต่างประเทศภาษาที่ ๑๘ ไม่เพียงทำให้ความฝันของ ชูเกียรติ ที่มีมานานเป็นจริง–ความฝันที่จะเห็นนิตยสารที่เขารักและเก็บสะสมมานานปรากฏสู่สายตาผู้อ่านคนไทย ด้วยภาษาไทย หากยังทำให้ผู้ที่เคยได้เพียงตื่นตากับภาพถ่ายที่สวยงาม ได้มีโอกาสสำรวจโลกกว้างผ่านการอ่านโดยไม่ถูกขวางกั้นด้วยกำแพงแห่งภาษาอีกต่อไป
ปัจจุบันนิตยสารกรอบเหลืองเล่มนี้ (ซึ่งต่อจากนี้ขอเรียกอย่างย่อว่า NG) มีอายุเกือบ ๑๑๗ ปี ตีพิมพ์กว่า ๒๐ ภาษาใน ๒๖ ประเทศ เป็นหนึ่งในนิตยสารไม่กี่เล่มของโลกที่มีอายุเกิน ๑ ศตวรรษและยังคงมียอดพิมพ์สูงลิ่ว รวมทุกภาษากว่า ๑๕ ล้านเล่ม
ส่วนฉบับภาษาไทย กำลังย่างเข้าสู่ขวบปีที่ ๕ โดยการนำทีมของ โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ ซึ่งเขยิบขึ้นมารับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารได้เพียง ๔ เดือน และนี่เป็นการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนครั้งแรก
“การทำงานหนังสือเป็นความฝันแรก ๆ ของเด็กอักษรฯ พอเรียนจบก็มาสมัครที่อมรินทร์ฯ ได้ทำงานเลขานุการอยู่ที่โรงพิมพ์ ๘ เดือน จากนั้นออกไปค้นหาตัวเองอยู่สักพัก หลังเรียนจบจากอังกฤษก็กลับมาทำงานที่อมรินทร์ฯ อีกครั้งในตำแหน่งบรรณาธิการโรงพิมพ์ พอคุณชูเกียรติจะเปิด National Geographic เรารู้สึกว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้ความฝันเป็นจริง ก็ขอย้ายเข้ามาทำ เข้ามาแรก ๆ เป็น text editor คอยตรวจเนื้อหาและภาษา ถึงตอนนี้อยู่มา ๕ ปีแล้ว
“NG อยู่มาได้เป็นร้อยปีเพราะเนื้อหาที่หลากหลาย การไม่หยุดนิ่ง ปรับรูปแบบและเนื้อหาอยู่ตลอด และอาจเป็นเพราะคนอเมริกันรู้สึกว่า NG เป็นสถาบัน
“คนไทยอาจจะรู้สึกว่า geography คือภูมิศาสตร์ที่น่าเบื่อ แต่โดยจิตวิญญาณของ NG เขามองคำนี้ในหลายมิติ คำจำกัดความของเนื้อหาคือ “The World and everything in it” คือทุกอย่างในโลก ตั้งแต่ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี ผู้คน
“โดยเนื้อแท้เราเป็นหนังสือแปล จึงเป็นความท้าทายที่จะทำให้คนไทยอ่านแล้วไม่รู้สึกว่าเป็นหนังสือแปล ดังนั้นบทบาทของกอง บ.ก. จะทุ่มไปกับการถ่ายทอดเนื้อหามาเป็นภาษาไทย วิธีการที่เรียกว่า localization คือปรับสำนวนฝรั่งให้เข้ากับคนไทย เราทำกันอยู่ทุกวัน เช่นเขาพูดว่าเจดีย์ในทิเบตรูปทรงเหมือนไอศกรีมโคน เราก็ปรับมาเป็นรูปทรงคล้ายระฆังคว่ำ เพราะคนไทยคุ้นเคยกับมันมากกว่า
“ฉบับภาษาอังกฤษจะส่งแผนงานมาล่วงหน้าเป็นปี ว่าแต่ละเดือนมีเรื่องอะไรบ้าง มีเว็บไซต์กลางให้แต่ละประเทศดาวน์โหลด text และ layout ออกมาใช้ ส่วนภาพที่มีความละเอียดสูงจะส่งมาเป็นแผ่นซีดี
“ปีแรกเขาตรวจเราเข้ม เนื้อเรื่องที่เราแปล เขาต้องไปจ้างทีมคนไทยในอเมริกาตรวจ layout ทุกหน้าต้องส่งไป ทำอยู่ประมาณ ๑ ปีจนเขาเชื่อใจ ตอนหลังไม่ตรวจเนื้อเรื่องทุกเล่มแล้ว แต่ใช้สุ่มตรวจ ส่วน layout จะตรวจเฉพาะสารคดีไทยและปก
“การทำสารคดีไทยใน NG เราต้องเสนอโครงเรื่องไปก่อน เมื่อโครงเรื่องผ่านก็ทำเรื่องแล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษส่งไปให้ตรวจ จัด layout คร่าว ๆ ไปให้ดู พร้อมรูปส่วนที่เหลือ แล้วมาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เรื่อง “นักมวยเด็ก” เป็นสารคดีไทยเต็มรูปแบบเรื่องแรก ลงในฉบับธันวาคม ๒๕๔๗ ตอนแรกเราทำเป็นสารคดีขนาดเล็ก แต่พอเขาเห็นรูป ก็เสนอให้ทำเป็นสารคดีใหญ่ ซึ่งมันเกินความคาดหมายของเรา เราฝันอยากเห็นสารคดีไทยอยู่ใน NG มานานแล้ว อยากให้คนอ่านรู้สึกว่ามีเรื่องที่ใกล้ตัวเขาบ้าง ช่วงแรก ๆ ฝรั่งพูดแกมขู่ไว้ว่า ถ้าจะทำสารคดีไทยให้อยู่ใน NG อย่าให้คนอ่านเปิดดูแล้วรู้สึกสะดุดว่าเป็นของ local edition คือจะต้องไม่สะดุดในเชิงมุมมองของช่างภาพ รวมทั้งอารมณ์และคุณภาพของภาพ
“NG เป็นประเภท Photograph-driven Magazine คือมีจุดแข็งที่ภาพถ่าย เวลาคิดเรื่องเราจะนึกก่อนว่าภาพจะออกมาเป็นยังไง ช่างภาพที่จะลงภาคสนาม ไม่ได้ไปเหมือนกระดาษขาวแล้วก็ถ่าย ๆ ๆ แต่เขาจะมีกระบวนการทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องอยู่ในระดับหนึ่ง แล้วหลอมรวมเข้ากับสิ่งที่เขาเห็น ฉะนั้นภาพใน NG จะทำหน้าที่เล่าเรื่องได้
“เราไม่จำเป็นต้องทำเหมือนฉบับภาษาอังกฤษ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เรามีสิทธิ์เสนอแนะหรือขอปรับเปลี่ยนได้หากมันไม่กระทบกับแก่นเรื่อง หลายเรื่องเราเลือกที่จะไม่ลงเพราะเป็นอเมริกันมากเกินไป เราเข้าใจว่าฐานคนอ่าน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของฉบับภาษาอังกฤษเป็นอเมริกัน เขาก็ต้องทำเรื่องที่คนอเมริกันสนใจ แต่ก็ต้องแคร์ฉบับภาษาต่างประเทศ ๒๐ กว่าภาษาด้วย อย่างตอนเกิดเหตุการณ์ ๑๑ กันยายน ฉบับภาษาต่างประเทศรู้สึกพร้อมกันว่ามีอะไรบางอย่างแทรกอยู่ ถ้าเรารู้สึกว่าเนื้อหาตรงนั้นมากเกินไป เราจะขอลดทอนลงบ้าง เขาก็รับฟังและอนุญาตให้ทำได้
“เรื่อง layout ไม่จำเป็นต้องทำตามเป๊ะทุกอย่าง เพราะบางทีภาษาเรามีข้อจำกัดในการปรับรูปแบบตัวหนังสือให้เข้ากับ layout ฉบับภาษาอังกฤษ เราเพียงแต่รักษาอารมณ์ของเรื่องให้ได้ ส่วนการวางลำดับรูปต้องเหมือนกัน เรียกว่า copy fit คือเรามีจำนวนหน้าเท่ากับเขาเป๊ะ ๆ ทำยังไงก็ได้ให้เนื้อของเราไปลงได้พอดีกับ layout ของฝรั่ง
“ความหลากหลายทำให้เรามองว่า NG เป็นหนังสือที่มีกลุ่มผู้อ่านกว้าง เราเชื่อว่าในเมืองไทยมีความต้องการความรู้ตรงนี้อยู่ เราทำงานอย่างมีความสุขเพราะรู้ว่ามีแฟนประจำกลุ่มหนึ่งที่รักเรา แต่เราก็พยายามจะขยายออกไปให้ถึงผู้อ่านทุกกลุ่ม ทุกวัย ให้เป็นหนังสือของครอบครัวอย่างแท้จริง
“ตอนเข้ามา NG ใหม่ ๆ ยอมรับว่ามีบ้างที่รู้สึกว่า NG กับสารคดี เป็นคู่แข่งกัน แต่ยิ่งทำไปกลับรู้สึกว่าไม่ใช่ เพราะจุดยืนของสารคดี คือนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเมืองไทย และสามารถอุทิศพื้นที่ให้ได้อย่างเต็มที่ ในระดับคนทำงาน เราก็รู้จักกัน โทรถามเรื่องวิชาการกันเป็นปรกติ สารคดี มีคนรู้เรื่องนก เราก็โทรถาม…เอ๊ะ พี่ นกตัวนี้ชื่ออะไร ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคู่แข่งกัน แต่เหมือนเรา “ช่วยกันทำหน้าที่” มากกว่า
“เราอาจจะไม่ใช่คนทำสารคดีประเภทที่ได้ตื่นเต้นสนุกสนานกับการออกไปค้นคว้า ถ่ายรูป เขียนเรื่อง แต่ก็พยายามบอกทีมงานว่าให้เปิดใจรับว่าทุกเรื่องน่ารู้ รู้สึกโลดแล่นไปกับเรื่อง เราก็จะสนุกกับมันได้ เรามีความสุขที่ได้รู้เรื่องราวมากมายไม่ซ้ำกันซักเดือน อย่างที่เรียกว่า “armchair adventure” คือได้ไปเที่ยวขณะที่นั่งอยู่บนโซฟา
“งานสารคดีต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องจุดประกายจินตนาการได้ สารคดีใน NG ทำให้คนอ่านมีจินตนาการ ออกไปค้นหาต่อได้ ฝรั่งจะมีวัฒนธรรมในการตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ บางทีตอนจบเรื่อง เขาไม่สรุป แต่ทิ้งคำถามให้ไปคิดต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยไม่คุ้นเคย คนไทยจะรู้สึกว่าเรื่องมันไม่จบ เราหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไป คนไทยจะเริ่มคุ้นเคยกับวิธีการแบบนี้ คือไม่จำเป็นต้องให้คำตอบเสมอไป ความรู้เราให้กันได้ไม่มีวันสิ้นสุด เราให้แรงบันดาลใจในการไปหาความรู้ดีกว่า แต่ถ้าคุณไม่รู้สึกว่าอยากจะรู้ มันจบตั้งแต่ตรงนั้น
“ที่ผ่านมา เรายังหาข้อสรุปที่น่าพอใจไม่ได้สักทีว่าคนอ่านชอบเรื่องแนวไหนมากกว่ากัน เพราะบางเรื่องที่รู้สึกว่าไกลตัว เช่น ดาราศาสตร์ อารยธรรมอียิปต์ พอทำออกไปแล้วผลตอบรับกลับดีมาก เรื่องนอกโลกอย่าง “ภารกิจพลิกฟ้า ตามหาโลกใบใหม่” จะว่าไกลก็ไกล จะว่าใกล้ก็ใกล้ มันยังมีอะไรเกี่ยวข้องกับเรา เพราะถ้าโลกไม่สามารถรองรับมนุษย์ได้แล้ว สุดท้ายเราจะไปไหนล่ะ
“อย่างเหตุการณ์สึนามิ เราไม่เคยเห็น ไม่เคยคิดว่ามันจะมาถึงเรา นี่เป็นโอกาสที่จะชี้ให้คนอ่านเห็นว่าเรื่องพวกนี้ไม่ได้ไกลตัว ไม่เห็นวันนี้ วันพรุ่งนี้อาจจะเห็น ถ้าเราอยู่อย่างเข้าใจโลก เราก็สามารถป้องกันตัวเองเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้
“ยืนยันว่าที่สุดแล้วไม่มีเรื่องไหนไกลตัว ทุกเรื่องมันโยงใยเกี่ยวพันกันหมด”
น้ำหนักของสมองและหัวใจในสารคดีของ โตมร ศุขปรีชา
“เราต้องขยายนิยามของความเป็นสารคดีออกไปให้กว้างมากที่สุด”
เรื่อง : นิรมล มูนจินดา
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
![]() | ![]() |
นักอ่านและแฟน ๆ รู้ดีว่า งานของ โตมร ศุขปรีชา ไม่ใช่งานประเภท “ทั่วไป”
ตัวหนังสือในงานเขียนประเภทต่างๆ ของโตมรประกอบด้วยธาตุบางอย่างที่เมื่ออ่านแล้วก็ราวกับได้แลเห็นโลกและจักรวาล พวกมันรวบรวมข้อมูลความรู้มากพอ ๆ กับที่บรรทุกความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้อ่านหยั่งถึงร่องหยักของสมองและน้ำหนักของหัวใจโตมรได้เป็นอย่างดี
จบมัธยมปลายจากอัสสัมชัญ ลำปาง แล้วเรียนชีวเคมีต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนจะทำงานประจำในกองบรรณาธิการนิตยสาร Trendy Man ที่ซึ่งเขาได้เริ่มเขียนสารคดีสิ่งแวดล้อม ก่อนจะไปสู่สารคดีชีวิตสัตว์และชีวิตคนในกาละและเทศะต่อๆ มา
“ช่วงแรกที่ทำสารคดีสิ่งแวดล้อม จะเป็นทวิลักษณะ คือมีอยู่สองฝั่งตลอด เราพยายามจะเป็นกลาง แต่หลัง ๆ วิธีมองโลกของเรามันเปลี่ยน คือไม่ได้เห็นอะไรเป็นสองฝั่งแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว แต่จะเห็นว่าในฝั่งนี้ก็มีอะไรเหมือนกับอีกฝั่งหนึ่ง หรือในฝั่งนี้เองมันก็ไม่ได้เห็นเหมือนกันไปทั้งหมด หลาย ๆ กรณีถ้าคุยกับฝ่ายต่าง ๆ จริง ๆ แล้วก็ไม่มีฝั่งเลยด้วยซ้ำ เพราะว่ามันกลม
“เวลาที่เราเขียนออกไป มันไม่มีอะไรเป็นความจริงแท้สมบูรณ์ มันเป็นได้แค่ความจริงในสายตาของเรา-ในเวลานั้นอีกต่างหาก ถ้าเปลี่ยนสถานที่หรือเปลี่ยนเวลา ความจริงนั้นก็อาจจะไม่จริงอีกต่อไป สิ่งที่เราค้นคว้ามาแทบล้มประดาตาย ที่เราคิดว่ามันถูกต้องแน่นอน มันก็อาจจะไม่ใช่
“การเอาข้อมูลมาเล่าไปเรื่อย ๆ เป็นความพยายามบอกความจริงแบบหนึ่ง ซึ่งในยุคสมัยหนึ่งก็ถือว่ากว้างพอที่จะเป็นสารคดีได้แล้ว เช่น เราอาจนำเสนอเรื่องวัฒนธรรมไทยอย่างซื่อตรงที่สุดในแบบที่เราคิดว่ามันเป็น แต่ที่จริงมันอาจบิดเบือนไปแล้วทั้งหมดเลยก็เป็นได้ เพราะมันอาจจะเป็นวัฒนธรรมไทยในแบบที่ถูกจัดตั้งในยุคจอมพล ป. ถ้าเป็นอย่างนั้น สิ่งที่เราคิดว่าเป็นความจริงนั้นก็ไม่ใช่ทั้งหมด
“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าวิธีนำเสนอหรือการให้ข้อมูลแบบนี้ถูกหรือผิด แต่อยู่ที่ว่าคนที่มีอำนาจรัฐหรือคนทำสารคดีมักจะมองว่าสารคดีแบบนี้คือสารคดีที่ถูกต้อง ดีงาม เที่ยงธรรม แม่นยำที่สุดแล้ว ในขณะที่สารคดีแบบอื่น ๆ ที่อาจจะมีตัวตนและอารมณ์ของผู้เขียน ดูจะเป็นสารคดีที่ลำเอียง แต่ที่จริงความลำเอียงมีอยู่ในสารคดีทุกแบบ
“สำหรับผม สารคดีคืออะไรก็ได้ที่คนเขียนตั้งใจจะสื่อถึงความจริง ซึ่งความจริงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และบางทีการพยายามจะสื่อถึงความจริงก็มีข้อจำกัดบางอย่าง ทำให้เราเล่าความจริงนั้นอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ คนเขียนสารคดีหลายคนจึงเลือกเอากลวิธีแบบ fiction มาใช้ ระยะหลังนี้ก็มีงานก้ำกึ่งที่พูดไม่ได้ว่าเป็นสารคดี หรือบทความ หรือเรื่องแต่ง แต่มันอยู่ตรงกลาง เช่น กระทบไหล่เขา ของ ปราบดา หยุ่น ซึ่งผมว่าดีมาก จะส่งซีไรต์ในฐานะเรื่องสั้นก็ได้ หรือจะส่งประกวดแบบสารคดีก็ได้เหมือนกัน ผมคิดว่าเราต้องขยายนิยามของความเป็นสารคดีออกไปให้กว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
“บางคนบอกว่างานเขียนของผมมีลักษณะเฉพาะ คงเพราะผมเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ ได้รับการอบรมบ่มเพาะมาด้วยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ฟังดูอาจเป็นเรื่องธรรมดาตามแบบฉบับไปหน่อย แต่ว่าวิธีคิดแบบตรรกะ (logic) นี้ใช้ได้จริง ๆ เพราะสิ่งนี้เป็น สิ่งนี้จึงเป็น เป็นธรรมะใช่หรือเปล่า อันนี้เป็นเหตุผลของอันนี้ แล้วผลจะพาไปสู่อะไรได้อีก เวลาเรามอง เราก็จะมองแบบเชื่อมโยง บางทีการเชื่อมโยงของเราดูแล้วขัดเขิน ดูแล้วพยายามโยงเหลือเกินก็มี ซึ่งเป็นความล้มเหลว แต่บางทีมันก็ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาได้โดยที่เราเองก็คาดคิดไม่ถึง อีกอย่างที่วิทยาศาสตร์สอนมากคือการช่างสังเกต เราจะเห็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่วิทยาศาสตร์สอนให้สังเกตแบบประจักษนิยมหรือแบบภายนอก แต่เราก็เอามาใช้สังเกตสิ่งที่เป็นเรื่องภายในด้วย นอกจากนั้นผมไม่ค่อยเชื่ออะไรง่าย ๆ พอสงสัยหรือคิดวิพากษ์วิจารณ์ (skeptic) ก็เกิดคำถามใหม่ ๆ ขึ้นมา
“ศาสนาคริสต์ก็มีอิทธิพลค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งที่ผมมองเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ มันมหัศจรรย์มาก เป็นเพราะถูกปลูกฝังแต่เด็กว่าพระเจ้าสร้างสิ่งต่าง ๆ เวลาเห็นทะเลหรือภูเขา เราจะรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มาก แต่ว่าพระเจ้าสำหรับผมอาจจะไม่ใช่ตาแก่ผมยาว เวลาที่ผมอ่านงานของ แอนนี ดิลลาร์ด ซึ่งเป็นนักชีววิทยาที่เขียนความเรียงด้วย เขาเขียนถึงความมหัศจรรย์ขณะที่เขากอบดินขึ้นมาในกำมือ ในนั้นมันมีชีวิตอยู่มากมายมหาศาล ซึ่งเราเข้าใจได้ง่ายว่าเขากำลังพูดถึงสิ่งที่เราเรียกว่าพระเจ้า เป็นความรู้สึกที่ ดร. สรณรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์ บอกว่า ไม่อาจเล่าให้คนอื่นฟังได้โดยที่คนฟังไม่อ้วก
“ชอบเขียนเรื่องคน แบบที่เราเดินทางไปคนเดียวหรือไปกันน้อยคน คือเคยไปทำเรื่องแม่น้ำเมยกับเพื่อนช่างภาพ (ไทยรัฐ ลิ้ม) แล้วมีความทรงจำที่ดีจากการเดินทางแบบนั้น หลังจากนั้นไม่ว่าเราจะทำเรื่องอะไรที่เดินทางไปคนเดียว เราจะได้เรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่บังเอิญได้ และบังเอิญที่มีคนเข้ามาคุยด้วย แล้วเราก็ไม่ได้คุยอย่างที่เป็นนักข่าว ไม่ได้จด แต่เราจำคำพูดเขาได้หมดเลย ประโยคมันเหมือนดีดขึ้นมา จำบรรยากาศได้ จำภาพตอนนั้นได้ว่าเวลาที่เขาพูดแบบนั้นแล้วหน้าตาเขาเป็นอย่างไร
“ความเชื่อเรื่องคนสมัยนี้มีเวลาน้อยแล้วจะไม่อ่านอะไรยาว ๆ เป็นความเชื่อของนักการตลาด ฉะนั้นทุกอย่างในหน้านิตยสารจะถูกซอยให้สั้นลงมากที่สุด และก็เป็นนักการตลาดอีกนั่นแหละที่เชื่อว่า คนอ่านนิตยสารเพื่อความรื่นรมย์ เพราะฉะนั้นสารคดีจะเครียดไม่ได้ พูดถึงคนใต้สะพานไม่ได้ เดี๋ยวอ่านแล้วที่กำลังทาไวเทนนิ่งอยู่จะทาไม่ลง
“แต่ความเชื่ออย่างนั้นก็อาจจะจริงสำหรับคนส่วนใหญ่ที่เสพนิตยสาร คนที่ชอบอ่านยาว ๆ ก็จะอ่านพ็อกเกตบุ๊กแทน เราก็เลยไม่มีพื้นที่สำหรับนักเขียนสารคดีที่เขียนแบบยาว ๆ อิ่ม ๆ คิดเยอะ ๆ พอเราเขียนอะไรที่คิดเยอะ ๆ ก็ถูกว่าว่าอ่านไม่รู้เรื่อง คนอ่านต้องการสิ่งที่สำเร็จรูปมากขึ้น อ่านแล้วเหมือนชงน้ำร้อนกินได้เลย และต้องเป็นเรื่องใกล้ตัว
“สิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่คือเขียนเรื่องใกล้ตัวก็ได้ เขียนเรื่อง instant ก็ได้ แต่เราจะซ่อน “ยาพิษ” ของเราเข้าไป เพราะถ้าเรากระโดดออกมานั่งทำหนังสือทางเลือก อาจจะไม่มีคนอ่านก็ได้
“เช่นถ้าเราจะพูดถึงเรื่องชนชั้นหรือความไม่เท่าเทียม ไปเขียนตรง ๆ ก็อาจจะไม่มีคนอ่าน เราก็อาจหันมาทำเรื่องชุดชั้นในที่ออกแบบตามกระแส maximalism ที่ต้องปักเพชรใส่ ทั้งที่จริง ๆ แล้วก็ไม่มีใครเห็น แล้วเราก็วิพากษ์ย้อนไปว่า minimalism มันทำให้ตัวตนของเราแตกต่างจากคนอื่นได้ไม่มากพอ ตอนนี้โลกก็เลยเหวี่ยงไปหาความหรูหรา ทุกคนจะต้องเข้าคลับแบบจ่ายค่าสมาชิกส่วนตัวแพงมาก ในขณะที่คนอื่น ๆ ดาษดื่นธรรมดาจะเข้าไม่ได้ ต้อง “ไฮ” แท้ ๆ “ไฮ” จริง ๆ ถึงจะเข้าได้ ถ้าเราเขียนวิพากษ์สังคมตรง ๆ ก็จะไม่มีคนอ่าน
“แต่ถ้าถามว่าพื้นที่ของสารคดีโดยรวมลดลงหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่ แต่มันเป็นที่ต้องการมากขึ้น advertorial ก็เป็นสารคดีที่ “รับใช้” อย่างสุดขั้ว อย่างเต็มที่และเต็มตัว เช่น มีการสัมภาษณ์คน มีการพูดถึงตัวยาส่วนประกอบ แต่เป็นความรู้ที่บอกด้านเดียว
“คิดอยู่เสมอว่า เมื่องานเขียนออกไปสู่สาธารณะแล้วก็ไม่ใช่ของเราอีก แล้วแต่ใครจะตีความอย่างไร แต่เวลาที่เขาตีความโต้ตอบกลับมาได้ตรงใจเรา ใจเราก็ฟูขึ้นมาเชียว ถ้าเราได้จดหมายจากผู้อ่านที่เขียนมา ว่าเราทำอะไรให้เขาได้บ้าง เราก็ดีใจ
“เคยทำสารคดีเรื่องคนที่เป็น sadomasochism ปรากฏว่ามีผู้อ่านชายที่เป็นมาโซคิสม์เขียนมาขอบคุณว่า ชีวิตเขาเหมือนอยู่ในนรกเพราะว่าไม่มีคนเข้าใจ เพราะเขาต้องปิดบังตัวเอง สังคมทั้งหมดก็มองว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องวิปริต เป็นเซ็กซ์ที่ไม่ดี พอได้อ่านเรื่องนี้แล้วก็รู้สึกว่ามีคนเข้าใจเขาจริง ๆ
“สารคดีเป็นงานที่มีคุณค่ากับชีวิตมาก ได้เดินทาง ได้พบคน ได้คิด ได้เขียน ได้เผยแพร่ และมันหล่อหลอมความคิดให้เราด้วย ถ้าไม่ได้ทำสารคดีเรื่องแรกคือเหมืองแม่เมาะ เราก็คงไม่รู้ว่าลำปางที่เราอยู่มาตั้งแต่เล็ก ที่เข้าใจว่าสงบ ไม่เห็นมีอะไร ที่จริงแล้วมีเรื่องแบบนี้อยู่ เป็นอีกโลกหนึ่งเลย แล้วอย่างอื่น ๆ ที่ไกลออกไปล่ะ ก็ยิ่งไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดใหญ่
กร พิศาลบุตร
รายการ “Teentalk Inter” , “We’ re Za”, และ “backpacker”
“มันเป็นรายการที่เป็นธรรมชาติของนักท่องเที่ยว”
เรื่อง : นิรมล มูนจินดา
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
![]() | ![]() |
หกเจ็ดปีก่อน ยุคเศรษฐกิจเมืองไทยตกต่ำ กร พิศาลบุตร เสนอรายการท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยความคิดที่ว่า “ตอนนั้นคนไม่ค่อยมีสตางค์กัน แต่เราไป ๔-๕ คน แล้วเปิดหูเปิดตาให้คนที่ไม่มีโอกาสไปอีกหลายแสนคน”
เขาบอกทางโทรศัพท์ไว้ตั้งแต่แรกว่าคงไม่ตอบคำถามเราอย่าง “เป็นวิชาการ”
และถ้าจะให้เขาพูดถึงตัวเอง เขาก็คงไม่คิดว่าตัวเองเป็นนักทำสารคดีโทรทัศน์อย่างแน่นอน
แต่ถึงอย่างนั้น ในพื้นที่ของคนทำสารคดีก็น่าจะมีเขารวมอยู่ด้วย เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า รายการ “backpacker” ที่ออกอากาศตอนบ่ายแก่ ๆ ทางช่อง ๕ ซึ่งเป็นรายการที่สืบเนื่องและมีรูปแบบเดียวกับรายการ “Teentalk Inter” และ “We’ re Za” ในอดีต ก็มีเชื้อแถวของความเป็นสารคดีท่องเที่ยวอยู่ด้วยสักครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งที่เหลือเป็นความสนุกสนานซึ่งนำเสนอผ่านมาดกวน ๆ ขำ ๆ ของ เร แม็คโดนัลด์ และลูกเล่นของฝ่ายผลิตรายการ
“ฉีกตำราไปเลย ของเราไม่มีตำรา
“รายการของเราไม่ใช่สารคดีที่เป็นทางการนัก แต่เป็นสารคดีบวกกับความบันเทิง รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ด้วยตัวพิธีกรเอง ด้วยรูปแบบการตัดต่อ ด้วยการนำเสนอที่ไม่ได้เป็นทางการมากเกินไป คือมีหลายรายการที่ทำเรื่องท่องเที่ยวและเน้นการนำเสนอข้อมูล แต่ของเรามันเป็นรายการที่เป็นธรรมชาติของนักท่องเที่ยว
“เนื่องจากเรายังเป็นรายการของวัยรุ่น นอกจากเนื้อหาเชิงสารคดีแล้ว เราก็ต้องใส่ความสนุกเข้าไปด้วย ความสนุกคือมีทั้งหัวเราะ มีอมยิ้ม มีขำ มีทั้งสิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็น มีการกินการอยู่ บันเทิงให้ครบรส ครบรสคือให้ความรู้ ดูสนุก ดูแล้วเพลิน นี่คือมาตรฐานของรายการ
“เราต้องศึกษาก่อนว่า ประเทศที่เราจะไปนี้มีจุดเด่นอะไร ในเมืองหลวงมีอะไรน่าสนใจบ้าง คนที่นั่นเขาทำอะไรกัน ตอบโจทย์ what when where why how ให้ได้ นี่คือโครงคร่าว ๆ พอไปถึง เราก็พุ่งไปหาสิ่งที่เราต้องการ อย่างที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ เราก็จะไปดู โมนาลิซา อย่างเดียว เพราะฉะนั้นก็พุ่งไปเลย ไปอิตาลี ก็ต้องดูก้นเดวิดอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าเข้าไปหนึ่งพิพิธภัณฑ์แล้วดูหมดทุกรูป ให้อยู่ในลูฟวร์ทั้งวันก็ไม่ไหว อาจจะมีหลาย ๆ รายการที่ทำอย่างนี้อยู่แล้ว แต่คงไม่ค่อยมีใครทำรายการที่หลุด ๆ ออกมาบ้าง ด้วยลักษณะของตัวพิธีกรเอง ด้วยทีมงานเอง
“นอกเหนือจากตรงนั้นเราจะพบสิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น nightlife ผู้คน อาหารการกิน เหตุการณ์แปลก ๆ สิ่งเหล่านี้เราไม่ได้วางแผนไว้เลย แต่ละประเทศมีเสน่ห์ของตัวเอง เราจะได้ข้อมูลเมื่อเราไปถึง เราจะรู้ว่าเขากินอะไรกัน เขาเรียกรถแท็กซี่ว่าอะไร นั่นคือเรียนจากประสบการณ์เหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป ไม่ได้ศึกษาข้อมูลกันจน…
“แต่ละที่ที่เราไป ของแต่ละอย่างที่เรานำเสนอ จริง ๆ แล้วก็เป็นที่ที่เราอยากไป สิ่งที่เราอยากดู ใช้ตัวเองวัด เรามั่นใจว่า ถ้าเราอยากดูตรงนี้ คนอื่นก็คงอยากดูคล้ายกับเรา
“พอไปต่างประเทศแล้ว เราไม่ได้นึกถึงผู้ชม เพราะเราคือผู้ชม เราไปชมมาให้ ไปถ่ายมาให้ เราไม่ได้เซ็ตแต่ของดี ๆ เอามาให้ พอดูรายการแล้ว คนรุ่นใหม่ก็สามารถไปเที่ยวอย่างเราได้ และมันก็เกิดขึ้นจริง ๆ
“ไม่เคยชั่งน้ำหนักระหว่างความรู้กับความสนุกเลย มันเป็นไปตามธรรมชาติ แล้วแต่ว่าเราจะไปเจออะไร เราอาจเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่สำคัญหรือสิ่งที่ควรจะต้องนำเสนอในส่วนของสารคดีเอาไว้บ้าง แต่เรื่องความสนุกสนาน เราจะพบปะได้ในทุก ๆ ตัวคน ไปที่ไหนแล้วเจอเรื่องสนุก เราก็เก็บเอาไว้ออนแอร์ คนดูก็จะรู้สึกว่าได้ทั้งความสนุกด้วย ได้ทั้งความรู้ด้วย แต่ความรู้อาจจะไม่มากนัก
“ไม่มีการออกแบบรายการ ไม่มีแพตเทิร์น แต่ “น่าจะเป็นประมาณนี้” คือถ้าไป ๒ เมืองก็น่าจะได้สัก ๔ ตอน แล้วค่อยกำหนดว่าวันที่ ๑ มีอะไร วันที่ ๒ มีอะไร เราไม่ได้กำหนดว่าเบรก ๑ จะต้องเป็นแบบนี้ เบรก ๒ เป็นแบบนี้ แต่จะเลือกไฮไลต์ เช่น ตอนที่ ๑ ดูเรื่องวัฒนธรรมการกินอยู่ ตอนที่ ๒ ดูแลนด์มาร์ก สถาปัตยกรรม หรือให้เป็นช่วงของการผจญภัย จะมีโครงไว้หลวม ๆ เท่านี้
“ไม่ค่อยมีเซ็ตไฟ เซ็ตแสง ส่วนมากมันเป็น reality เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องถือไฟให้หน้าสว่าง เรก็ไม่ใช่พิธีกรที่เนี้ยบ เสื้อผ้าเขาเลือกของเขาเอง เราจะซื้อเสื้อห่านคู่กับเสื้อใต้สะพานพุทธที่ขายกอง ๆ ไว้ แล้วนาน ๆ ทีก็ให้ไปเลย ๒๐ ตัว ให้เขาไปทำให้มันยับก่อน ให้น้องใส่จนเยินแล้วถึงจะเอามาใส่ เพราะไม่เยินไม่ใส่จริง ๆ เขาเป็นตัวของเขาเองมาก นี่คือเสน่ห์ของเขา
“แฟนรายการส่วนมากเป็นคนรุ่นใหม่ ผู้ใหญ่ก็มี และไม่ใช่เฉพาะรายการของเรา แต่รวมถึงรายการท่องเที่ยวอื่น ๆ ด้วย เพราะมันคือความรู้อีกด้านหนึ่งที่คนดูสนใจ ดูแล้วก็เหมือนได้ไปเที่ยว คือได้ไปเที่ยวและได้ความรู้ อย่างรายการของ Lonely Planet คนก็อยากดูอยู่แล้ว เพราะมันให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นั้น ๆ แต่ถ้ารายการพาไปดูสถานที่อย่างเดียว มันจะไม่มีอีกอารมณ์หนึ่งของความสนุก อย่างพาไปดูโคลอสเซียม แค่เห็นมันอาจไม่สนุก ความสนุกมันอยู่ตรงไหน ความสนุกก็อยู่ที่การเดินทางไปโคลอสเซียมนั่นแหละ แต่การนำเสนอนั้นถ้าทำแล้ว fake มันก็ไม่สนุก ถ้าไม่ fake มันถึงจะสนุก เรเขาเป็นนักท่องเที่ยวจริง ๆ เป็นคนนำเราด้วยซ้ำ และเขาเป็นนักท่องเที่ยวที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่
“เราเซ็นเซอร์ตัวเอง อะไรที่มันดูไม่ดีกับพิธีกร เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เราก็เลี่ยงเสีย ซึ่งเป็นปรกติของทุกรายการอยู่แล้ว อาจจะเห็นพิธีกรไปนั่งในผับได้ แต่ไม่ให้เห็นยกแก้วขึ้นมาดื่ม คนก็ get อยู่แล้ว คงไม่มีใครคิดว่าเรเป็นคนเรียบร้อย ก็รู้กันว่าเขาเป็นคนกินเหล้าพอสมควร แต่ไม่ให้เห็น นอกจากนี้ก็ไม่ให้มีโป๊ เรื่องที่คิดว่าต้องเซ็นเซอร์ก็มีอยู่เท่านี้ บางครั้งเราอาจแทรกความคิดเห็นหรือบอกข้อควรระวังต่าง ๆ เวลาเดินทางไว้ด้วย อย่างเช่นบางประเทศแท็กซี่ขี้โกง เราก็ต้องเตือนเรื่องแท็กซี่ ซึ่งมันเป็นความจริง แต่เราก็ไม่ได้ไปว่าประเทศเขา
“สิ่งที่ทีมงานต้องระวังมากที่สุด ต้องรับผิดชอบมากที่สุด คือ เมื่อถ่ายออกมาแล้ว พอมีโอกาสจะต้องเช็กดูเทปทันทีว่าถ่ายติดหรือเปล่า เช็กเสียงว่าใช้ได้ไหม เพราะถ้ากลับมาแล้ว เราไม่สามารถย้อนไปแก้ได้ ไม่สามารถวิ่งออกไป insert ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีความรอบคอบ
“เรื่องการหาพื้นที่ในสื่อ บอกตามตรงว่าเนื้อยเหนื่อย เรื่องการแข่งขัน เรื่องการแย่งเวลา เส้นสายเยอะมาก ถ้าถามว่ารายการมั่นคงแค่ไหน เราคงตอบไม่ได้ บอกได้แต่ว่า แต่ก่อนระยะเวลาเซ็นสัญญาคือ ๖ เดือน เดี๋ยวนี้เหลือ ๓ เดือน
“สิ่งที่คุกคามรายการ คืออายุของคนทำ (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้เดินไม่ค่อยไหว และบางทีการใช้ชีวิตร่วมกันของคน ๓-๔ คนในต่างประเทศ การที่เราอยู่ด้วยกันเยอะมาก ก็เป็นปัญหา
“โลกมันกว้างใหญ่นะ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ตัน ขี้หมูขี้หมาอาเจะห์ไม่เคยไปก็ไปเสียหน่อย มัลดีฟส์ก็มีตั้งร้อยเกาะ อาจจะเคยไปแล้ว ๓ เกาะ แต่เกาะที่เหลือก็ยังไม่เคยไป ทุกคนถามว่าทำงานตรงนี้มาหลายปี คงเที่ยวมารอบโลกแล้ว แต่เราตอบว่า ไม่รอบหรอก ชาตินี้ก็คงไม่รอบ บางประเทศไปหลายรอบ อย่างมาเลเซียไปเป็น ๑๐ รอบ แต่หย่อมเล็ก ๆ ก็ยังไม่เคยไป บางประเทศค่าใช้จ่ายสูงมาก อันตรายมาก ก็ไปไม่ได้ ถึงอย่างไรคนก็ไม่มีทางเที่ยวทุกที่ในโลกได้อยู่แล้ว”
UpDATE ในปีที่ ๒๐
เมื่อความงามในโลกวิทยาศาสตร์
ไม่อาจต้านทานความจริงในโลกธุรกิจ
เรื่อง : เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) เคยให้สัมภาษณ์กับสารคดีไว้ตอนหนึ่งว่า
“วารสารด้านวิทยาศาสตร์ที่เราทำนั้นขาดทุนมาตลอด เพราะรายได้จากการขายและโฆษณาไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเราไม่ทำ มันก็ไม่มีใครทำอีกแล้ว และเด็กไทยจะไม่มีวารสารด้านนี้อ่านเลย มันจึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้เล่มนี้คงอยู่ต่อไปให้ได้”
ซีเอ็ดก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะ “ดำเนินธุรกิจที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษาหาความรู้ เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของคนไทยในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยเน้นด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการศึกษา” ปัจจุบันซีเอ็ดเป็นทั้งสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ผู้จัดจำหน่ายหนังสือรายใหญ่ที่สุด และมีร้านหนังสือเครือข่ายมากที่สุดในประเทศ
และนี่คือเหตุผลที่ UpDATE เดินทางมาได้ถึงปีที่ ๒๐ แม้จะไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากเอเจนซีโฆษณาและองค์กรภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนเลย
กว่าจะมาเป็น UpDATE นิตยสารเล่มนี้ผ่านการผสมผสาน ปรับเปลี่ยนมาหลายครั้ง หากย้อนกลับไปถึงต้นตระกูลก็ต้องว่ากันตั้งแต่ ๒๗ ปีที่แล้ว เมื่อซีเอ็ดออกวารสาร ทักษะฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปี ๒๕๒๑ และออกวารสาร มิติที่ ๔ ในปี ๒๕๒๒ ต่อมาในปี ๒๕๒๘ ซีเอ็ดรวมวารสาร ทักษะฯ และ มิติที่ ๔ เข้าด้วยกัน แล้วให้ชื่อใหม่ว่า รู้รอบตัว
จุมพล เหมะคีรินทร์ ซึ่งเป็นบรรณาธิการบริหาร UpDATE มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ ถึงปัจจุบัน กล่าวถึงเหตุผลในการรวมวารสารทั้ง ๒ เล่มเข้าด้วยกันว่า “เนื้อหาวิทยาศาสตร์ของ ๒ เล่มนี้เริ่มใกล้เคียงกัน ส่วนเรื่องลึกลับในมิติที่ ๔ ก็เริ่มตัน ไม่พ้นเรื่องยูเอฟโอ สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา สัตว์ลึกลับ รู้รอบตัว เป็นการนำเนื้อหาที่เป็นวิทยาศาสตร์ใกล้ตัวใน ทักษะฯ กับเนื้อหาแนวจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ใน มิติที่ ๔ มารวมกัน
“นานวันเข้า รู้รอบตัว ก็เริ่มตันอีก เพราะคนอ่านจำกัดอยู่ในกลุ่มนักเรียน หน้าตาของ รู้รอบตัว จะเป็นเด็ก แม้แต่ชื่อหนังสือยังมีคนอ่านเป็น “ความรู้รอบตัว” อยู่บ่อย ๆ พอถูกมองเป็นหนังสือเด็ก ก็หาโฆษณายาก ตอนนั้นคือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะอยู่หรือไป ในที่สุดเราเลือกที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ขยายขนาดหนังสือ พิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์ทั้งเล่ม เพิ่มรูปสี มีเนื้อหามากขึ้น วิธีการนำเสนอเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็นUpDATE แต่เนื่องจากเนื้อหายังสืบต่อมาจากรู้รอบตัว เลยใช้วิธีนับปีต่อเนื่องกัน ถึงปัจจุบันเป็นปีที่ ๒๐“
UpDATE เล่มแรกวางแผงเมื่อพฤศจิกายน ๒๕๓๕ โดยปรับราคาจาก ๒๕ บาท เป็น ๔๐ บาท และสโลแกน “สาระทันยุคเพื่อคนทันสมัย” ก็เริ่มใช้มาแต่บัดนั้น
“แก่นของ UpDATE คือความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ทันสมัยและแปลกใหม่ ครอบคลุมเรื่องวิทยาการ สิ่งประดิษฐ์ งานวิจัย ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในทุก ๆ ด้าน
“ทำไประยะหนึ่ง ลองประเมินดูก็พบว่ากลุ่มผู้อ่านยังไม่พ้นกลุ่มเด็กและเยาวชนอยู่ดี เลยคิดว่าถ้าหวังโฆษณาไม่ได้ เราก็จับกลุ่มเยาวชนให้ชัดไปเลยดีกว่า เราจึงไม่เปลี่ยน UpDATE ให้เป็นสี่สีทั้งเล่ม เพราะคิดว่าคงไม่ช่วยให้ได้โฆษณาเพิ่มขึ้น แถมจะทำให้ต้นทุนสูงจนไม่สามารถขายในราคาสำหรับเด็กได้
“ที่โฆษณาไม่มาลงเพราะเขาไม่รู้ว่า UpDATE จะเน้นกลุ่มผู้อ่านกลุ่มไหน เราก็คิดว่าแล้วเราต่างจาก สารคดี ยังไง แนวของ สารคดี ก็กว้างนะ แต่ยังมีโฆษณาเยอะแยะเลย หรือเนื้อหาแนววิทยาศาสตร์เป็นจุดตัดสิน พอเราบอกว่ากลุ่มเด็กน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้า คำตอบที่ได้รับคือ กลุ่มคนอ่านของเราเป็นเด็กฉลาด ไม่ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เขาไปลงในหนังสือวัยรุ่นที่เน้นเรื่องสวย ๆ งาม ๆ ดีกว่า
“ปัญหาเรื่องความอยู่รอดของนิตยสารแนววิทยาศาสตร์มันย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยคุณจันตรี ศิริบุญรอด ทำ วิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ เมื่อประมาณ ๕๐ ปีที่แล้ว แล้วก็มีเล่มอื่นต่อมา ไม่ว่าจะเป็น ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์, วิทยาศาสตร์ไทย, โลกวิทยาศาสตร์, โนวา, เปิดโลกเทคโนโลยี, มติชนวิทยาศาสตร์ และอีกหลายเล่ม ซึ่งล้วนแต่ไปไม่รอด สังคมไทยให้ความสนใจกับการเรียนรู้ของเยาวชนมากขึ้น และประเทศของเราก็พัฒนามาถึงระดับนี้แล้ว มันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีหรือหน้าตาของประเทศเหมือนกันนะ ถ้าบนแผงหนังสือไม่มีนิตยสารแนววิทยาศาสตร์ที่ให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปเลยสักเล่ม
“ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนไทยสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นน่าจะมาจากสองส่วน หนึ่ง ในระบบการศึกษา คือการสอนในโรงเรียนต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าการเรียนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้ ด้วยเหตุนี้ทีมงานเราก็เลยคิดว่าน่าจะลองมาทำค่ายวิทยาศาสตร์ดูเองบ้าง จึงเกิดค่าย ซีเอ็ดคิดดีแคมป์ ขึ้น ซึ่งเป็นการแปลงรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ผ่านตัวหนังสือออกมาเป็นกิจกรรมสำหรับเด็ก เราหวังว่าเมื่อพวกเขาได้มีโอกาสทดลองทำจริง ๆ ด้วยตัวเอง มันอาจจะช่วยจุดประกายให้พวกเขารักวิทยาศาสตร์ก็ได้
“สอง นอกระบบการศึกษา สื่อมวลชนเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้ประชาชนตื่นตัวเรื่องวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านมาสื่อมองวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องรอง เราเองก็ยอมรับว่าข่าววิทยาศาสตร์มันไม่ค่อยตื่นเต้น แต่มันขึ้นอยู่กับว่าสื่อจะนำหรือตามกระแส ถ้าบอกว่าชาวบ้านไม่สนใจเรื่องนี้ สื่อก็จะเสนอแต่เรื่องอาชญากรรม การเมือง หรือดารา มากกว่า
“UpDATE เองก็พยายามปรับวิธีการนำเสนอ เรามีวิธีคิดง่าย ๆ คือ คิดว่าให้เด็กและคนที่ไม่มีพื้นฐานวิทยาศาสตร์อ่าน ถ้าเอาวิทยาศาสตร์มาโยงกับชีวิตประจำวันได้ เขาจะรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลตัว เราพยายามใช้ภาษาให้ง่าย ลดระดับของศัพท์เทคนิค ไม่แตะเนื้อหาที่ลึกเกินไป ใช้เทคนิคการเปรียบเทียบหรือมีอารมณ์ขัน ซึ่งยากเหมือนกันสำหรับกอง บ.ก. ที่จบสายวิทยาศาสตร์แต่ไม่ได้เรียนด้านการสื่อสารมาด้วย
“แต่ยังไงการเอาคนที่จบวิทยาศาสตร์มาฝึกเรื่องการสื่อสารก็น่าจะง่ายกว่าเอาคนที่เรียนด้านสื่อสารมวลชนมาใส่ความรู้วิทยาศาสตร์ กอง บ.ก. UpDATE จึงรับเฉพาะคนที่จบสายวิทยาศาสตร์เท่านั้น จะสาขาไหนก็ได้แต่ขอให้มีพื้นฐานชอบอ่านชอบเขียนอยู่บ้าง ผมเองก็จบด้านวิทยาศาสตร์เคมี มาทำงานที่นี่ที่แรกเมื่อปี ๒๕๒๕ เริ่มจากเป็นผู้ช่วย บ.ก. มิติที่ ๔
“ผมคิดว่าสำหรับประชาชนทั่วไป ตัวองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ยังไม่สำคัญเท่ากระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ หรือ Scientific Thinking คือกระบวนการหาความจริงด้วยวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่การสังเกต ตั้งสมมุติฐาน ทดลอง ซึ่งในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการทดลองทางเคมี แต่เป็นกระบวนการหาคำตอบเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่จะแก้ปัญหาให้ได้
“Scientific Thinking ช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้หลายเรื่อง บ่อยครั้งที่เราโต้แย้งถกเถียงกันในบางเรื่องโดยใช้ความรู้สึก ไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานของข้อมูลความจริง จนทำให้เกิดความตื่นตระหนก เช่นเรื่องไข้หวัดนก ถ้าให้ข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ว่า ที่เลวร้ายที่สุดคืออะไร ไปจนถึงว่า จริง ๆ แล้วมันไม่น่ากลัวเพราะอะไร ประชาชนจะตัดสินใจได้เองว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร
“วิทยาศาสตร์สอนให้เราไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ เช่นถ้ารู้ทฤษฎีความน่าจะเป็น จะรู้ว่าการแทงหวยมีโอกาสถูกยากมาก ช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าควรจะทุ่มเงินลงไปแค่ไหน วิทยาศาสตร์มีความงดงามตรงที่ทำให้เราไม่มองอะไรแค่ผิวเผิน แต่มองลึกเข้าไปถึงแก่น เป็นประตูให้มนุษย์เข้าไปศึกษาและเข้าใจถึงกฎเกณฑ์ความเป็นไปของสรรพสิ่งในธรรมชาติ เมื่อเราซาบซึ้งถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ก็จะนำมาซึ่งความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักลดอัตตาของตัวเอง
“ความภูมิใจของเราเกิดจากเสียงสะท้อนของผู้อ่านที่ว่าหนังสือของเราจุดประกายให้เขารักการเรียนวิทยาศาสตร์ และเลือกอาชีพสายวิทยาศาสตร์ ส่วนคนที่ไม่ได้ทำงานสายนี้ อย่างน้อยที่สุดเขาได้วิธีคิดที่เราพยายามสอดแทรกเข้าไป รู้จักการเรียนรู้ด้วยเหตุและผล แค่เราได้เป็นส่วนเล็ก ๆ ในความสำเร็จของบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศ เราก็พอใจแล้ว
“เด็กบางคนเขียนจดหมายมาบอกว่าเขาตื่นเต้นมากที่ได้อ่าน UpDATE นั่นแสดงว่าหนังสือของเราตอบสนองเด็กในระดับหนึ่งได้ เราจึงฝันอยากให้ใครก็ได้ บริษัทเอกชน คนที่มีเงิน มาช่วยสมัครสมาชิกอุปถัมภ์เพื่อกระจายหนังสือให้แก่เด็กไทยที่ไม่มีโอกาสหรือไม่เคยรู้ว่ามีหนังสือเล่มนี้อยู่ในโลก ถ้าอุปถัมภ์เป็นกลุ่ม ๒๐ โรงเรียนขึ้นไป เราคิดครึ่งราคา เรายังมีโครงการสมาชิกกลุ่มสำหรับเด็กที่รวมกลุ่มมาสมัครตั้งแต่ ๒๐ คนขึ้นไปด้วย คิดครึ่งราคาเหมือนกัน มีโรงเรียนหนึ่งในจังหวัดลำพูนสมัครมา ๒๑๓ คน เราส่งไปเป็นลังเลย แต่การรวมกลุ่มกันเองของเด็กให้ได้ ๒๐ คนก็ไม่ได้ง่าย เราหวังว่าจะมีคนมาช่วยสานฝันตรงนี้ โดยเฉพาะภาครัฐซึ่งมีงบประมาณสนับสนุนได้ทันที
“เราเองก็พยายามจะอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง แต่ในภาวะที่เราไม่สามารถพึ่งโฆษณา เราก็หวังการอุ้มชูจากภาครัฐ ภาคเอกชน และคนอ่าน การที่หนังสือมียอดพิมพ์สูง นอกจากจะทำให้เราอยู่รอดได้แล้ว ยังทำให้ต้นทุนต่อเล่มลดลงและขายในราคาถูกได้
“คนอ่านคงเบื่อว่าทำไมพูดแต่เรื่องความอยู่รอด แต่นี่คือความจริง
“แต่ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงยังไง ขึ้นราคาเท่าไร คนอ่านก็ไม่เคยถอย เราก็เลยรู้สึกผูกพันกับคนอ่าน จนครั้งหนึ่งเคยเขียนไว้ในบท บ.ก. ว่า…คนอ่านคือกำแพงที่ให้เราพิง บริษัทคือมือที่ค้ำยันกำแพงไม่ให้ล้ม ถ้าสักวันหนึ่งกำแพงมันผุกร่อนหรือมือที่ค้ำยันอ่อนล้า ก็อาจจะต้องถึงเส้นทางยุติของเรา”