วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง : เรื่อง
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ภาพ

เขาตื่นเช้าขึ้นมาเพื่อจะทำงาน

เหมือนกับที่คนทั่วไปต้องล้างหน้าแปรงฟัน และสำหรับเขาบางที-บางเช้า เขาจับปากกาก่อนแปรงสีฟัน

จิบกาแฟก้นแก้วที่เหลือค้างจากคืนก่อน และเรียกขอให้ภรรยาชงมาเติมให้เป็นระยะตลอดวันอย่างน้อย ๔ แก้ว

job01 สูบบุหรี่ (วันละราว ๒ ซอง)

เปิดเพลง (จากแผ่นซีดี)

และเปิดโทรทัศน์ (ไม่เอาเสียง)

ตั้งแต่ ๖ โมงเช้าไปจนถึงหลังเที่ยงคืนของวันจันทร์ ถึง ศุกร์ (เสาร์-อาทิตย์หยุดทำงาน) เขาอยู่กับปัจจัย ๔ สิ่งนี้
ภายในห้องเขียนหนังสือสลับกับการพาหมาออกไปเดินเล่น พักผ่อน และออกกำลังกาย
ฉายภาพกิจวัตรประจำวันของชายวัย ๔๐ ต้นๆ คนหนึ่ง-คนนี้ หลายย่อหน้า

เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นว่าเขาก็มีวิถีชีวิตประจำวันเยี่ยงผู้คนธรรมดาทั่วไป

สิ่งที่เขาทำต่างหาก-ที่ไม่ธรรมดา !

เขาเขียนคอลัมน์ประจำในหนังสือ ๑๑ ฉบับ นับจำนวนชิ้นที่แน่นอน ๒๗ ชิ้นต่อเดือน (ไม่นับรวมงานจรที่ถูกขอให้เขียนอีกประปราย)

ในห้วงเวลานี้ เขาน่าจะเป็นนักเขียนอิสระที่มีคอลัมน์ตามหน้าหนังสือมากที่สุดในเมืองไทย

วิรัตน์ (อ้วน) โตอารีย์มิตร หรือ ญามิลา หรือ ปลาอ้วน หรือ วนาโศก และ ฯลฯ ดำรงวิถีในฐานะคอลัมนิสต์มานานเกือบทศวรรษ ผ่านช่วงเวลาของการสั่งสม ต่อสู้ ฝ่าฟัน และฝึกฝนตนเองมายาวนาน ทุกวันนี้เขามีรายได้ต่อเดือนเทียบเท่าผู้จัดการธนาคาร ซึ่งครั้งหนึ่งเตี่ยของเขาอยากให้เป็น

“เรียนจบเตี่ยจะให้ทำงานแบงก์ ไม่ต้องไปสมัครที่ไหนเลย เขาหาไว้ให้เรียบร้อย เราไม่เอา ไปเดินหางานหนังสือ”

อ้วนเล่าว่าเขาฝันอยากเป็นคนทำหนังสือตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ ช่วงที่เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ที่รามคำแหง เขาเริ่มหัดเขียนหนังสือในรูปของกวีร้อยแก้ว ใช้นามปากกา อ้วน เลนิน ตามชื่อของนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซีย ในเวลานั้นเขาสนใจเรื่องของฝ่าย “ซ้าย” อยู่ไม่น้อยตามประสานักศึกษามหาวิทยาลัยในยุคที่ป่ายังไม่แตก แต่ขณะเดียวกันก็มักไปนั่งร้านฟาสต์ฟูดแถวสยามเป็นประจำ และได้เพื่อนหลายคนจากที่นั่น

ในที่สุดอ้วนก็ได้งานสมใจ

“ปี ๒๕๓๐ ได้เริ่มงานที่นิตยสารฉบับหนึ่ง ทำทุกอย่าง ทำให้เราได้ในเรื่องวินัยการทำงาน ต่อมาเปลี่ยนมาทำที่ แพรวสุดสัปดาห์ เป็นคนคิดคอลัมน์ใน แพรวสุดฯ ด้วย และบางช่วงต้องทำเองถึง ๗ คอลัมน์ต่อสัปดาห์ ซึ่งส่งผลในระยะยาวเป็นอย่างมากต่อการทำอาชีพคอลัมนิสต์ของผม”

ถัดมา อ้วนขยับฐานะของตัวเองด้วยการออกมาเป็น บ.ก. หนังสืออีก ๒ เล่ม แต่ก็ล้มเลิกไปหมด

ในใจเขาอยากทำต่อ แต่ยังหาแหล่งทุนไม่ได้ ช่วงนี้เองที่เขาต้องหาเลี้ยงชีพด้วยงานเขียนคอลัมน์

“ในช่วงแรกๆ งานมันมาตามสายสัมพันธ์ อย่างที่ สีสัน นี่ผูกพันกันมาก เขียนมานานที่สุด ที่ ขวัญเรือน ก็เขียนมาเป็นสิบปี ตอนแรกไม่อยากเขียน คิดว่าเป็นหนังสือแม่บ้าน ตอนนี้รู้แล้วว่าถ้าไม่เขียนในตอนนั้นจะเสียใจ เพราะเป็นหนังสือที่มียอดพิมพ์เป็นแสนฉบับ คนอ่านมีทั้งหมอ คนเมือง คนชนบท คนอยู่ต่างประเทศ คนอ่านหลากหลายมาก แต่ทุกที่ผมไม่เคยเดินไปติดต่อขอเขียน เป็นกฎส่วนตัวตั้งแต่ต้นว่าเราจะไม่ทำอย่างนั้น การเสนองานคือการเขียนลงหนังสือ บ.ก. เห็นเขาก็จะเลือกเองว่างานเราเหมาะกับหนังสือเขาไหม เราคงคล้ายๆ หมอนวด ที่ บ.ก. จะมาชี้เลือกเอา ซึ่งตอนที่เราเป็น บ.ก. ก็เคยเป็นผู้เลือกคนอื่น”

เก้าปีมาแล้วที่อ้วนเขียนคอลัมน์เป็นอาชีพ เมื่อปี ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้น เขามีคอลัมน์ประจำในหนังสือต่าง ๆ ประมาณ ๔ ฉบับ เพิ่งมีงานชุกมากเมื่อราว ๓-๔ ปีที่ผ่านมา และในช่วงนั้นเขาก็ตัดสินใจเนรเทศตัวเองออกจากเมืองหลวงกลับไปปักหลักยังมาตุภูมิ ซื้อตึกแถวริมแม่น้ำสะแกกรัง ในตัวเมืองอุทัยธานี เป็นเรือนรังถาวร

ห้องทำงานของเขาอยู่บนชั้น ๒ ของบ้าน เก้าอี้กับโต๊ะเขียนหนังสือตัวเก่าคร่ำดำเด่นวางคู่กันอยู่กลางห้อง ทีวีวางเฉียงด้านหน้า เครื่องเล่นซีดีอยู่ข้างหลัง ชุดรับแขกเล็กๆ วางอยู่อีกมุม ผนังห้องสองด้านเต็มไปด้วยตลับเทปที่เรียงซ้อนกันเกือบถึงเพดาน-ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ในห้องนี้

อ้วนเป็นนักเขียนอีกคนที่ยังเขียนต้นฉบับด้วยมือ
job02“ผมยังใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็นเลย แต่การเขียนมันไม่ยาก ขอให้คิดประเด็นได้ มีประเด็นแล้วก็เริ่มเขียนด้วยปากกาลงกระดาษ ร่างแรกนี่เราอ่านออกคนเดียว ความสมบูรณ์ของเนื้อหาราว ๗๐ เปอร์เซ็นต์ แต่งเติมเพิ่มในร่างสองแล้วคัดลายมือส่งบรรณาธิการทางแฟกซ์

“งานคอลัมน์เป็นการแสดงความคิด ทัศนคติ ไม่ต้องมีความรู้ถึงร้อยก็เขียนได้ เพราะ “ข้อมูล” อาจไม่สำคัญเท่า “วิธีการนำเสนอ” สิ่งนี้น่าจะเป็นหัวใจของงานคอลัมน์ แต่ถ้ารู้มากก็จะยิ่งดี ที่สำคัญคือต้องมีเวลาพอ”–ความเห็นของคอลัมนิสต์มืออาชีพต่องานคอลัมน์ และต่อไปนี้เป็นเทคนิคส่วนตัวของเขา “ดึงดูดสายตาคนอ่านด้วยชื่อคอลัมน์และชื่อเรื่อง เนื้อหาต้องเขียนให้สอดคล้องกับกลุ่มคนอ่าน ส่วนเรื่องวิธีการก็เหมือนความเรียง ต้น-กลาง-จบ และเน้นว่างานคอลัมน์ต้องจบในตอน ต้องกระชับ ไม่ใช่ยาวเป็นนิยาย อาจไม่ต้องมีฉาก อ่านใน ๕ นาที ๑๐ นาที ต้องเอาคนอ่านให้อยู่ งานคอลัมน์ต้องกระจ่าง อ่านแล้วรู้เรื่องเลย ต้องมีไดนามิก มีพลังของการขับเคลื่อนไปข้างหน้า และงานต้องไม่เชย

“งานของผมยึดหลักว่าต้องให้ประโยชน์ ให้คนอ่านได้คิดต่อ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้เขารื่นรมย์ แต่ทุกครั้งที่ทำงานก็เหมือนลงสนามแข่งบอล คงไม่ชนะทุกครั้ง บางทีก็มีแพ้บ้าง บางช่วงเอาอยู่ แต่บางทีก็ไม่มั่นใจ บางทีรู้สึกไม่ค่อยชัวร์ ซึ่งตอนยังเด็ก อายุสัก ๒๐ กว่าๆ ปัญหานี้ไม่เกิด เหมือนกับว่าเขียนมานาน ความสดใหม่มันหายไป บางทีความชำนาญก็เป็นปัญหา แต่โดยเรื่องที่คิดว่าจะอยู่นาน ต้องเอาให้อยู่มือ ให้สำนักพิมพ์ทำรวมเล่ม ถือเป็นโบนัสของเรา แต่ถ้าพิมพ์เองได้ ผลตอบแทนก็ได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว เมื่อคิดจะยึดการเขียนหนังสือเป็นอาชีพ ต้องคิดเรื่องทำสำนักพิมพ์ด้วย

“หาเรื่องที่ไหนมาเขียนได้มากมาย ?”

“เราใช้วิธีเอาเรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่ความจริงเรื่องในคอลัมน์สมมุติได้นะ ถ้าเป็นเรื่องดนตรีก็มาจากการอ่าน ไม่ได้เรียน และเล่นไม่เป็น แต่ได้ความรู้จากการอ่านหนังสือดนตรี เรื่องชีวิต สังคม ได้จากการอ่านข่าว มองชาวบ้าน ฟังเขาพูดเขาเล่าอะไรกัน หาแง่มุม สนทนากับเพื่อน ดูหมาดูคนก็เอามาเขียนได้ เป็นมุมมองของเราต่อมนุษย์ ต่อโลก”

“คิดดูมันก็แปลก” เขาว่าถึงตัวต้นฉบับ “คุณลองนึกนะ ต้นฉบับลายมือเดินทางออกไปจากห้องนี้ ไปเปลี่ยนเป็นตัวพิมพ์ในกรุงเทพฯ จากนั้นถึงมันอาจจะแยกย้ายกันไปไหนต่อไหนก็ตาม แล้วมันจะเดินทางกลับมาหาเรา กลับมาสู่ที่เดิมของมัน ร้านหนังสือเอามส่งบ้าง หรือเราไปเปิดเอาที่ตู้ไปรษณีย์เองบ้าง ผมรู้สึกเหมือนรับต้นฉบับกลับบ้าน”

“แล้วส่วนที่เดินทางไปที่อื่น ไปก่อผลกระทบอะไรกลับมาบ้าง ?”

“อย่างชิ้นหนึ่งเขียนเรื่องความตายแล้วทำให้คนที่ประสบความสูญเสียสิ้นหวังในชีวิต อยากมีชีวิตอยู่ต่อ ถ้าประเมินค่าในฐานะของงานคอลัมน์ เราถือว่าคุ้มค่าแล้ว อีกครั้งไปวิจารณ์นักร้องซูเปอร์สตาร์ ทำให้โดนด่าหนักมาก ตอนเขียนแหย่เรื่องม็อบท่อก๊าซภาคใต้ก็มีทั้งคนชมคนโกรธ งานคอลัมน์สร้างกระแสได้ ถ้าคนเขียนต้องการ ผมถูกสถานการณ์บังคับให้มาเป็นคอลัมนิสต์ แต่มาเป็นแล้ว ไม่อยากกลับไปเป็นคนทำหนังสืออีกแล้ว เพราะจากประสบการณ์ผมได้คำตอบว่า ในนิตยสาร การจะแสดงตัวตนของคนทำ เราต้องใช้เนื้อที่ทั้งฉบับ แต่ในงานคอลัมน์ ต้องการแสดงอะไร ใช้พื้นที่คอลัมน์เดียวเท่านั้น”

“แต่อาจไม่ใช่พื้นที่อันถาวรมั่นคง ?”

“ใช่ เป็นธรรมชาติของคอลัมนิสต์ เขาจะไม่บอกว่าเลิกเมื่อไร บางครั้งเรารู้สึกแย่มาก ทำให้ต้องกลับมาคิด เราเขียนไม่ดีหรือ ? จึงถูกปลด บางทีเขามาชวนให้เขียน เตรียมเรียบร้อยหมดแล้ว เขาโทรมายกเลิก บางแห่งให้คิดคอลัมน์แล้วก็หายไปเลย”

“ตอนนี้เขียนกี่ที่ ?”

“มีคอลัมน์ประจำในหนังสือ ๑๑ ฉบับ ทั้งรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน รวมแล้วต้องทำงานเกือบ ๓๐ ชิ้นต่อเดือน ซึ่งเต็มที่แล้ว มากกว่านี้ไม่ไหวแล้ว”

“ได้ค่าตอบแทนอย่างไร ?”

“ได้เป็นชิ้น ตั้งแต่ ๑,๐๐๐ บาท ไปจนถึง ๓,๕๐๐ บาท ถ้าอยู่แบบประหยัดๆ ให้มีที่เขียนสัก ๔-๕ คอลัมน์ก็พออยู่ได้ ที่เคยรู้สึกไม่ดีมาก คือหนังสือใหญ่แต่จ่ายน้อย ค่าต้นฉบับงานคอลัมน์ควรจะเริ่มที่ ๒,๐๐๐ บาทเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้เมื่อก่อนบางแห่งต้องโทรตามกันเหนื่อยกว่าจะได้”

“ถามรายได้รวม-ได้ไหม ?”

“ก็เดือนละหลายหมื่นบาท แต่ที่มากกว่าได้เงินมาเลี้ยงชีพก็คือ งานเขียนมันเลี้ยงความรู้สึกเราด้วย ได้คำชื่นชม สมมุติได้เงินเป็นแสนแต่ไม่มีใครพูดถึงเลยก็คงไม่ดี ถ้าเป็นอาชีพทั่วๆ ไปอย่างพ่อค้าคงไม่เป็นไร แต่เราทำงานแนวนี้ซึ่งถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ก็ควรจะมีคนอ่านพูดถึงบ้าง”

“ทางสายนี้เปิดกว้างไหมสำหรับคนใหม่ๆ ที่เข้ามา ?”

“รับประกันไม่ได้ว่าถ้าเข้ามาแล้วจะมีงาน สมมุติถ้าใครสักคน มาจากไหนไม่รู้ ไม่มีใครรู้จัก เขาจะหางานได้อย่างไร คนรุ่นใหม่ ถ้าเอาจริงก็ขอให้เข้าวงการเพื่อสร้างชื่อ ไม่ต้องไปออกงาน ไม่ต้องปรากฏตัว แต่งานต้องปรากฏ เขียนงานดีจะถูกจำ คนจะจำได้ ต้องคิดตลอดเวลา ต้องฝึก วิธีการคืออ่าน ดูของคนอื่น หาสไตล์ของตัวเอง จนคนอ่านรู้ว่าใครเขียนโดยอาจไม่ต้องดูชื่อ เขาเรียกว่ามีลายเซ็น อยากเป็นก็ต้องเป็นให้ได้”

ส่วนตัวเขาเอง-อ้วนบอกว่า ปีนี้จะลองเขียนนิยาย ซึ่งถือเป็นเรื่องแรก เขาหวังว่าจะมีความสดใหม่ เนื้อเรื่องเป็นแนวบ้านๆ เกี่ยวกับเรื่องครอบครัว

แต่แฟนคอลัมน์ของเขาไม่ต้องตกใจ

เขาย้ำก่อนจบการสนทนา

“จะยึดการเขียนคอลัมน์เป็นอาชีพตลอดไป เรายังทำได้ ยังมีอะไรให้เขียนถึงอีกเยอะ”