พระไพศาล วิสาโล
ภาพประกอบ : อ้อย กาญจนะวณิชย์

morning

หลังจากใช้เวลา ๕ วันเต็มในการเยี่ยมเยือนราชธานีทั้งสี่ของศรีลังกา โดยตระเวนไล่ลงมาตามลำดับของประวัติศาสตร์ นับแต่อนุราธปุระ สีคิริยา โปโลนนารุวะ และแคนดี้ คณะของเราก็มาถึงเมืองนูวาระเอลิยะ ซึ่งเป็นเมืองพักตากอากาศของอังกฤษครั้งยังเป็นเจ้าอาณานิคมเมื่อ ๒ ศตวรรษที่แล้ว

เมืองนี้ตั้งอยู่บนเขาสูง แวดล้อมด้วยเทือกเขาที่ถูกถางเตียนเป็นไร่ชายาวเป็นพืดสุดสายตา พวกเรามาเมืองนี้ไม่ได้เพื่อพักตากอากาศ จุดหมายที่แท้จริงนั้นทั้งไกลและสูงกว่านั้น นั่นคือยอดเขาศรีปาทะ อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่นักจาริกแสวงบุญทั่วทั้งศรีลังกาใฝ่ฝันจะไปให้ถึงอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต

คงไม่มีสถานที่ใดเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทุกศาสนาในศรีลังกาได้มากเท่ากับศรีปาทะ ชาวพุทธเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับรอยพระบาทบนยอดเขาศรีปาทะ ส่วนชาวฮินดูก็เชื่อว่ารอยพระบาทของพระศิวะอยู่บนยอดเขานี้ แต่ถ้าถามชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ก็จะได้คำตอบว่า รอยเท้าบนยอดเขานี้เป็นของนักบุญโทมัส หนึ่งในอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ ทางด้านชาวมุสลิมเล่าก็เชื่อว่านะบีอดัมได้ประทับรอยเท้าไว้บนพื้นโลกเป็นครั้งแรกที่นี่หลังจากถูกขับจากสวรรค์

พวกเรามาตั้งหลักพักแรมที่เมืองนูวาระเอลิยะเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับการเดินทางครั้งสำคัญ ศรีปาทะคือสถานที่สุดท้ายในรายการจาริกของเราก่อนกลับกรุงโคลัมโบ ขณะเดียวกันก็เป็น “จุดสุดยอด” ของการเดินทางครั้งนี้ด้วย น้อยคนนักที่มาเที่ยวศรีลังกาแล้วจะได้ไปถึงยอดศรีปาทะ (ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักในนาม Adams Peak) สาเหตุก็เพราะศรีปาทะนั้นเป็นเขาสูงเกือบ ๒,๒๕๐ เมตร ต่ำกว่าดอยอินทนนท์แค่ ๓๒๐ เมตรเท่านั้น ที่สำคัญก็คือไม่มีถนนไปถึง ต้องเดินด้วยเท้าเท่านั้นจึงจะขึ้นไปถึงยอดได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยทั้งกำลังกายและกำลังใจอย่างยิ่งยวด สำหรับคณะของเรา นี้คือจุดหมายที่ท้าทายอย่างยิ่ง

หลังจากประชุมและให้กำลังใจกันเกือบชั่วโมง พวกเราเกือบ ๒๐ ชีวิตก็ตกลงกันว่าจะพร้อมใจระดมความเพียรขึ้นไปให้ถึงยอดกันทุกคน แม้ว่าอายุเฉลี่ยของพวกเราจะเกิน ๕๐ อีกทั้งหลายท่านได้ผ่านแซยิดมาแล้วหลายปี คืนนั้นพวกเรานอนเอาแรงแต่หัวค่ำท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นเกือบ ๑๐ องศา

เราออกเดินทางตั้งแต่ตีห้า เลี้ยวลดไปตามแนวเขาและเลียบหน้าผาตลอดเส้นทาง เช้าก็ถึงหมู่บ้านเชิงเขาศรีปาทะ มองจากร้านอาหารที่เราแวะพัก เห็นภูเขาศรีปาทะอยู่ไกล ๆ โดดเด่นเป็นสง่า ยอดสูงเสียดฟ้า นับเป็นภูเขาที่สวยงามได้รูป ด้านทั้งสองสอบเข้าหากันและมาบรรจบที่ยอดอันเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ลักษณะคล้ายสามเหลี่ยมด้านเท่าหรือพีระมิด สมแล้วที่สามารถสะกดใจและบันดาลศรัทธาให้แก่ผู้คนมานานกว่าพันปี

แต่ชื่นชมได้ไม่นาน ความรู้สึกครั่นคร้ามและหนักใจก็มาแทนที่ เมื่อระลึกได้ว่ายอดเสียดฟ้านั้นคือจุดหมายที่เราต้องเดินไปให้ถึงในอีกไม่กี่ชั่วโมงนี้ มองด้วยตาเปล่าก็เห็นได้ว่านอกจากยอดเขาจะอยู่สูงและไกลแล้ว ยังชันอีกด้วย ความลาดเอียงไม่น้อยกว่า ๔๐ องศา ยิ่งสูงก็ยิ่งชัน อาจถึง ๕๐ องศาด้วยซ้ำ ดูแล้วยังนึกไม่ออกว่าจะขึ้นไปถึงและกลับลงมาภายใน ๑ วันได้อย่างไร แม้ว่าจะเคยเดินขึ้นเดินลงภูกระดึงได้ภายในวันเดียว แต่นั่นก็ ๓๐ ปีมาแล้ว

ชาวศรีลังกานั้นนิยมมาถึงเชิงเขาตั้งแต่ค่ำ และออกเดินประมาณเที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง เพื่อจะได้ไปรับอรุณบนยอดเขา แต่กำหนดการของคณะเราไม่อำนวย จึงมาถึงตอนเช้าและเริ่มออกเดินราว ๆ สิบโมง ระหว่างทางก็สวนกับชาวศรีลังกาที่ทยอยเดินลงมา มีทั้งผู้ใหญ่และวัยรุ่นนับร้อย ท่าทางไม่ค่อยกระฉับกระเฉงเท่าไรนัก

สองข้างทางช่วงแรก ๆ เป็นร้านค้าซึ่งขายสินค้านานาชนิดรวมทั้งเนื้อมังสวอรัติที่ทำจากถั่วเหลือง นอกจากนั้นก็เป็นวัดเล็ก ๆ และที่พักแรมตั้งเรียงรายกันเป็นพืด ผู้คนดูขวักไขว่ แต่ยิ่งสูงขึ้นไปร้านค้าก็เหลือน้อยลง มองเห็นธรรมชาติสองข้างทางได้ถนัดถนี่ขึ้น แต่ถ้าก้มมองที่พื้นก็จะเห็นเศษพลาสติกและห่อขนมกลาดเกลื่อน ส่อแสดงให้เห็นว่าศรีปาทะกำลังจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยิ่งกว่าสถานที่จาริกแสวงบุญ

ครึ่งชั่วโมงแรกนั้นเดินได้อย่างสบาย เพราะเส้นทางไม่ค่อยลาดชัน แต่หลังจากนั้นก็ชันขึ้นเรื่อย ๆ แล้วยังพบอีกว่ามีเขาอีกลูกหนึ่งที่เราจะต้องฝ่าข้ามไปก่อนจะถึงภูเขาศรีปาทะ ส่วนศรีปาทะเองก็สูงตระหง่านขึ้นทุกขณะที่เดินเข้าใกล้ จนถึงกับต้องแหงนคอมองยอด อดสงสัยไม่ได้ว่าจะมีแรงเดินขึ้นไปบูชารอยพระพุทธบาทได้อย่างไร

ผ่านไปได้ชั่วโมงหนึ่งแล้ว จุดหมายก็ยังอยู่อีกไกล แถมยังชันขึ้นทุกที กำลังก็ลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ ขณะที่ความเหนื่อยเมื่อยล้าเพิ่มขึ้น ถึงตอนนี้ก็รู้แล้วว่างานนี้เดินด้วยเท้าอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยใจช่วยด้วย จึงเริ่มกำหนดลมหายใจเข้าออกให้ประสานกับเท้าที่ย่างก้าว เมื่อกายกับใจเชื่อมประสานกัน ก็รู้สึกเหนื่อยน้อยลง ไม่ใช่แค่เหนื่อยกายเท่านั้น แต่ความเหนื่อยใจก็ลดลงด้วย

ใจนั้นเหนื่อยก็เพราะคอยนึกถึงเป้าหมาย ยิ่งรู้ว่าเป้าหมายยังอยู่อีกไกล ใจก็ยิ่งท้อ ยิ่งใจเร่งอยากให้ถึงไว ๆ ก็ยิ่งรู้สึกหงุดหงิดที่ตัวยังไม่ถึงสักที จะว่าไปแล้วเหนื่อยกายไม่เท่ากับเหนื่อยใจ พอเหนื่อยใจเสียแล้ว กายก็ทำท่าจะไม่สู้ ถ้าจะเดินให้ได้นาน ก็ต้องรู้จักรักษาใจไม่ให้เป็นตัวถ่วง นั่นคือแทนที่จะปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านหรือเฝ้าจดจ่ออยู่ที่จุดหมายข้างหน้า ก็ดึงมาให้อยู่กับลมหายใจ คืออยู่กับปัจจุบัน อยู่กับทุกขณะที่ย่างก้าว ผลที่ตามมาคือจิตงอแงปั่นป่วนน้อยลง นิ่งสงบมากขึ้น เกิดเป็นสมาธิ ถึงตอนนี้ความเหนื่อยกายก็มารบกวนน้อยลง

แต่ทำเท่านี้ดูจะไม่พอ เพราะแม้ใจจะสู้ แต่แรงดึงดูดของโลกไม่ยอมรับรู้ด้วย ยังฉุดรั้งต่อไป แถมดูจะฉุดแรงขึ้น ขณะที่เท้าก็ต้องใช้พลังมากขึ้นในการย่างเหยียบบันไดแต่ละขั้นที่ชันมาก ไม่ต้องพูดถึงแสงอาทิตย์อันแรงกล้า (ถึงตรงนี้จึงเข้าใจว่าทำไมชาวศรีลังกานิยมเดินขึ้นเขาตอนกลางคืน) เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงตัดสินใจเดินให้ช้าลง ยก ย่าง เหยียบอย่างที่เห็นในหนังเวลาเขาทำ วิธีนี้ไม่เพียงดีต่อขาทั้งสองเท่านั้น หากยังเป็นการปรานีต่อปอดและหัวใจซึ่งเต้นถี่ยิบอย่างน่าสงสาร การเดินแบบนี้ สติสำคัญมาก เพราะบางครั้งใจเผลอนึกอยากให้ถึงไว ๆ ขณะที่กายก็เผลอก้าวเร็ว ๆ ตามความเคยชิน ทำให้ความเหนื่อยทับทวี จำเป็นต้องมีสติรู้ทันกายที่เคลื่อนไหวและใจที่คิดนึก เพื่อควบคุมจังหวะก้าวให้เป็นไปอย่างช้า ๆ

เพื่อนชาวเขาเคยแนะว่า เวลาขึ้นเขาให้เดินไปเรื่อย ๆ อย่าหยุดพัก เพราะขาจะแข็งและเดินได้ยากขึ้น คำแนะนำเช่นนี้ดูเหมือนทำยาก เพราะยิ่งเหนื่อยก็ยิ่งอยากหยุดพัก แต่เมื่อลองเดินช้า ๆ ไม่เร่งรีบ ใจประสานกับกาย ไม่วอกแวก เรากลับพบว่าสามารถเดินไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่จำต้องหยุดพักก็ได้ เพราะแต่ละก้าวเป็นการพักในตัว แม้จะยังเหนื่อย แต่ก็มีกำลังก้าวไปได้เรื่อย ๆ ตรงกันข้ามหากจ้ำเอา ๆ หรือเดินเพราะอยากจะไปให้ถึงไว ๆ ไม่นานก็เหนื่อยแทบขาดใจ จำต้องพัก ใครที่อยากไปถึงไว ๆ ถ้าเดินแบบนี้ มีแต่จะถึงช้าลง เพราะเสียเวลาไปมากกับการพัก ดีไม่ดีอาจเส้นพลิกเส้นขัด ไปไม่ถึงเอาเลยก็มี

สองชั่วโมงสุดท้ายหลังจากแวะพักฉันเพลแล้ว เราเดินขึ้นเขาโดยไม่ได้หยุดพักเลย ช่วงที่ยากที่สุดคือ ๕๐๐ เมตรสุดท้ายเพราะชันกว่า ๔๕ องศา บันไดแต่ละขั้นดูเหมือนสูงกว่าช่วงต้น ๆ เพราะรู้สึกว่าต้องยกเท้าสูงขึ้นกว่าเดิม แต่ขาก็อ่อนแรงลงทุกขณะ ต้องอาศัยมือทั้งสองจับราวบันไดและดึงตัวขึ้นมาทีละขั้น ๆ เสาข้างทางบอกระยะทางว่าใกล้จะถึงยอดเขาแล้ว แต่เมื่อใจไปพะวงถึงจุดหมาย หรือเวลาชะเง้อมองข้างบน ก็รู้สึกเหนื่อยยิ่งกว่าเดิมเพราะไม่ยอมถึงสักที ทีนี้จึงต้องกำหนดสายตาให้มองแต่เฉพาะขั้นบันไดไม่กี่ขั้นที่อยู่ข้างหน้า สนใจแต่เพียงว่าดึงตัวขึ้นมาและยกเท้าย่างเหยียบบันไดข้างหน้าก็พอ เตือนตนว่า ให้จดจ่อใส่ใจกับแต่ละก้าว ๆ เท่านั้น แล้วจุดหมายปลายทางจะมาถึงเอง จะว่าไปแล้วจุดหมายก็อยู่ที่ปลายเท้านี้เอง

ในที่สุดเราก็มาถึงยอดศรีปาทะสมความตั้งใจหลังจากใช้เวลานานกว่า ๓ ชั่วโมง เราก้มกราบรอยพระพุทธบาทซึ่งเป็นรอยลึกยาว ๑๕๐ ซม. กว้าง ๗๕ ซม. ในแผ่นหิน ด้วยความยินดีปลาบปลื้ม บนยอดเขานั้นเป็นที่แคบ ๆ ยิ่งตรงที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทด้วยแล้ว ไม่น่าจะรองรับคนได้มากกว่า ๓๐ คน หากเราขึ้นมารับอรุณบนยอดเขาพร้อมกับนักแสวงบุญ (และนักท่องเที่ยว) ซึ่งแต่ละวันมีนับพัน ๆ คน คงไม่มีโอกาสขึ้นมากราบรอยพระพุทธบาทอย่างใกล้ชิด พักอยู่ข้างบนได้ชั่วโมงเดียวก็ต้องกลับลงมาก่อนจะมืด เที่ยวนี้หัวเข่าต้องทำงานหนักทั้งสองข้างเพราะต้องรับน้ำหนักตัวตลอด ๒ ชั่วโมงเศษ เมื่อลงมาถึงเชิงเขา เหลียวกลับมามองยอดศรีปาทะซึ่งยืนตระหง่านเทียมเมฆ อดพิศวงตนเองไม่ได้ว่าขึ้นไปจนถึงยอดเขาได้อย่างไร แต่ที่น่าพิศวงยิ่งกว่าก็คือผู้ร่วมคณะซึ่งหลายคนอายุมากกว่า ๖๐ และกว่าครึ่งเป็นผู้หญิงที่เป็นคนเมือง มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่พ่ายแพ้แก่สังขาร นอกนั้นสามารถบากบั่นไปจนถึงยอดเขาและกลับมาได้โดยสวัสดิภาพก่อนพลบค่ำ

ทุกคนพูดตรงกันว่านี้คือประสบการณ์เหนื่อยที่สุดในชีวิต จะว่าไปคงไม่ใช่พวกเราคณะเดียวที่รู้สึกเช่นนี้ นักแสวงบุญชาวศรีลังกาจำนวนไม่น้อยก็คงรู้สึกอย่างเดียวกัน อดสงสัยไม่ได้ว่าหากไม่มีรอยพระพุทธบาทหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่บนนั้น จะมีสักกี่คนที่เพียรพยายามขึ้นไปให้ถึงยอด แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อดคิดไม่ได้ว่าสำหรับคนที่ขึ้นไปถึงยอด จะมีใครบ้างไหมที่ไม่พิศวงตนเองว่าขึ้นไปข้างบนนั้นได้อย่างไร

ศรีปาทะเป็นอะไรหลายอย่างสำหรับนักจาริกแสวงบุญ หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือสิ่งกระตุ้นเร้าให้ทุกคนใช้ความเพียรอย่างถึงที่สุด และช่วยให้ทุกคนได้ค้นพบตนเองว่าตนมีศักยภาพมากกว่าที่เคยคิด ทุกคนสามารถทำได้มากกว่าที่นึก ยิ่งกว่านั้นก็คือสามารถเป็นได้มากกว่าที่เคยเป็น ในอดีตการจาริกแสวงบุญต้องอาศัยการเดินทางเป็นแรมเดือนเพราะไม่มีรถยนต์ที่จะพามาจนถึงเชิงเขา นอกจากความเพียรแล้ว ทุกคนยังต้องรักษาศีล ซึ่งหมายถึงการอยู่อย่างสมถะ ลดละความสะดวกสบาย ยิ่งเดินทางได้ไกลเท่าไร ก็ยิ่งขัดเกลาชีวิตจิตใจของตนเองให้โปร่งเบา เป็นอยู่อย่างเรียบง่ายมากขึ้น และเมื่อถึงคราวที่จะต้องขึ้นเขา ก็จะตระหนักแก่ใจว่าอะไรบ้างที่จำเป็นสำหรับชีวิต ใครที่แบกสัมภาระไปมากมาย การขึ้นเขาจะกลายเป็นความทุกข์ทรมานอย่างมาก ถึงตอนนั้นจะรู้ว่าเพียงแค่อาหาร น้ำ และผ้าไม่กี่ชิ้นก็เพียงพอแล้ว ที่เหลือนั้นหาใช่สิ่งจำเป็นไม่ การจาริกแสวงบุญเช่นนี้ จุดหมายจริง ๆ จึงไม่ได้อยู่ที่ยอดเขา หากอยู่ที่การแปรเปลี่ยนตนเองให้เป็นคนใหม่

รอยพระพุทธบาทบนยอดศรีปาทะนั้นเป็นตัวแทนของอุดมคติสูงสุดของชาวพุทธ นั่นคือ นิพพาน หรือการรู้แจ้ง ด้วยเหตุนี้การขึ้นไปจนถึงยอดศรีปาทะจึงกล่าวได้ว่าเป็นเพียงจุดหมายขั้นต้นของการจาริกแสวงบุญเท่านั้น ยังมีจุดหมายที่สำคัญกว่านั้น ได้แก่การค้นพบพุทธะหรือนิพพานในใจตน การขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาทบนยอดศรีปาทะจึงมิใช่อะไรอื่น หากคือการตระเตรียมตนสำหรับการจาริกที่ยาวไกลกว่านั้น อันมีนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุด

ศรีปาทะนั้นสูงเสียดฟ้า สูงจนเหมาะเป็นที่สถิตของสิ่งดีงามและความใฝ่ฝันอันสูงส่ง ความดีงามและความใฝ่ฝันไม่ได้มีไว้ให้ผู้คนระลึกถึงเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เราทั้งหลายควรไปให้ถึงด้วย ประเพณีที่เชิญชวนให้ผู้คนเพียรพยายามขึ้นไปถึงยอดศรีปาทะจึงเป็นเสมือนการเชื้อเชิญให้เราทั้งหลายบากบั่นเพื่อบรรลุถึงความดีงามและความใฝ่ฝันอันสูงส่งของชีวิต

ความดีงามและความใฝ่ฝันอันสูงส่งของชีวิตนั้น ไม่ได้อาศัยแค่ความเพียรเท่านั้น หากยังต้องอาศัยศิลปะในการดำเนินชีวิตด้วย ศิลปะดังกล่าวมิใช่อะไรอื่น หากเป็นอันเดียวกับศิลปะในการขึ้นเขา นั่นคือการรักษาใจให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่พะวงถึงอนาคต ไม่ว่าจุดหมายจะยาวไกลแค่ไหน พึงใส่ใจกับชีวิตและการทำงานในแต่ละขณะให้ดีที่สุด มีสติเท่าทันกายและใจ ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่เราจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปจนถึงจุดหมายได้

ยิ่งอยากถึงไว ๆ กลับถึงช้า แต่เมื่อไม่สนใจจะถึง กลับถึงไว การรู้จักพักในทุกย่างก้าวย่อมทำให้เดินได้นานและถึงจุดหมายได้ฉันใด การพักทุกขณะที่ทำงานย่อมช่วยให้มีพลังทำงานอย่างต่อเนื่องจนบรรลุความสำเร็จได้ฉันนั้น ไม่ใช่แต่จุดหมายอันสูงส่งเท่านั้น แม้กระทั่งจุดหมายที่แสนธรรมดาสามัญก็บรรลุได้ด้วยศิลปะดังกล่าวเช่นกัน