พระไพศาล วิสาโล
ภาพประกอบ : อ้อย กาญจนะวณิชย์

face the truthระหว่างการสนทนากับเพื่อนในวงอาหาร หญิงสาวคนหนึ่งเล่าว่า “พ่อแม่รักฉันมากและแสดงความรู้สึกออกมาบ่อยๆ  เวลาฉันไม่เห็นด้วยกับแม่ แม่จะหยิบทุกอย่างที่อยู่ใกล้มือขว้างใส่ฉันทันที  คราวหนึ่งแม่ขว้างมีดใส่ฉัน ฉันต้องเย็บ ๑๐ เข็มที่ขา  หลังจากนั้นไม่กี่ปีพ่อก็บีบคอฉันตอนที่ฉันเริ่มเที่ยวกับผู้ชายที่ฉันชอบ” แล้วเธอก็ตบท้ายว่า “พ่อแม่เป็นห่วงฉันจริงๆ”

ใครได้ฟังก็ย่อมรู้ว่า ความรู้สึกของพ่อแม่ที่มีต่อเธอเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ความรักหรือความห่วงใยอย่างแน่นอน เพราะอาการแสดงออกของพ่อแม่ตามที่เธอเล่านั้นชัดเจนมากว่าเต็มไปด้วยความโกรธและความรุนแรง ซึ่งคงไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งสองครั้ง แต่เกิดเป็นประจำ

อะไรทำให้เธอยืนยันว่านั่นเป็นความรักที่พ่อแม่มีให้แก่เธอ  ใช่หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วเธอยอมรับไม่ได้ว่าพ่อแม่เกลียดเธอ  แม้พฤติกรรมของพ่อแม่จะแสดงออกอย่างชัดเจน แต่เธอเลือกที่จะ“ตีความ” ไปในทางตรงกันข้าม

บางครั้งความจริงเป็นเรื่องเลวร้าย ยอมรับเมื่อใดก็เจ็บปวดเมื่อนั้น หลายคนจึงเลือกที่จะปฏิเสธความจริง  บางคนใช้วิธีตีความปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไปในแง่อื่น แต่หลายคนเลือกที่จะปฏิเสธปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยทำเป็นมองไม่เห็นหรือไม่ได้ยินเอาเลย

อะไรทำให้เราปฏิเสธความจริงทั้งๆ ที่ชัดเจนแจ่มแจ้งหรืออยู่ต่อหน้าต่อตา

คำตอบคือความกลัว

บางคนกลัวว่าพ่อแม่ไม่รักหรือเพื่อนไม่คบ เพราะนั่นหมายถึงความรู้สึกไร้คุณค่า ตัวตนไม่มีความหมาย  ไม่มีอะไรที่เจ็บปวดรวดร้าวมากเท่ากับการเป็น nobody หรือไม่มีตัวตนในสายตาคนอื่น

ความกลัวตายก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคนปฏิเสธความจริง  คนจำนวนไม่น้อยไม่ยอมเชื่อเมื่อหมอยืนยันผลวินิจฉัยว่าเขาเป็นมะเร็ง ในใจเขานั้นได้แต่ตะโกนว่า “ไม่จริงๆ”  บางคนถึงกับทักท้วงหมอว่าวินิจฉัยผิดหรือหยิบฟิล์มผิดหรือเปล่า

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีชาวยิวหลายล้านคนถูกกวาดต้อนไปยังค่ายนรกเพื่อรอการสังหารด้วยการรมแก๊สพิษ  ปรากฏว่านักโทษหลายคนไม่เชื่อว่ามีห้องรมแก๊สพิษหรือการสังหารโหดในค่ายของตน ทั้งๆ ที่เห็นเตาเผาศพส่งกลิ่นไหม้คละคลุ้งอยู่ห่างไม่กี่ร้อยหลา รวมทั้งได้ยินข่าวลือดังกล่าววันแล้ววันเล่า  พวกเขาปฏิเสธความจริง เพราะยอมรับไม่ได้ว่าตนเองกำลังจะตาย

มิใช่แต่คนที่จิตใจอ่อนแอหรือสิ้นเรี่ยวสิ้นแรงเท่านั้นที่ไม่กล้ายอมรับความจริงอันเจ็บปวด แม้กระทั่งคนที่เต็มไปด้วยความมั่นอกมั่นใจหรือมีอำนาจก็อาจมีอาการดังกล่าวด้วยเช่นกัน อาจจะไม่ใช่เพราะกลัวตาย แต่เพราะกลัวความล้มเหลวหรือความพ่ายแพ้

เมื่อจอมพลเกอริง ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้รับรายงานว่ามีผู้พบเห็นเครื่องบินขับไล่ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นครั้งแรกในเขตแดนเยอรมนี ซึ่งไกลจากแนวรบของฝ่ายอักษะมาก  นั่นหมายความว่าฝ่ายสัมพันธมิตรได้พัฒนาเครื่องบินพิสัยไกลที่สามารถทิ้งระเบิดปูพรมเยอรมนีได้อย่างสบาย  เขาตกใจมาก เฝ้าแต่บอกตนเองว่าเป็นไปไม่ได้  ใช่แต่เท่านั้น เขายังมีคำสั่งกลับไปว่า “ผมขอยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเครื่องบินขับไล่ของอเมริกันมาไม่ถึงเมืองอาเชิน (Aachen)  ผมขอออกคำสั่งอย่างเป็นทางการกับคุณว่า เครื่องบินพวกนั้นไม่ได้อยู่ที่นั่น”

แต่ปฏิกิริยาของเกอริงนั้นยังเทียบไม่ได้กับสตาลินซึ่งเป็นตัวอย่างคลาสสิกของผู้นำที่ปฏิเสธความจริงจนวินาทีสุดท้าย ทั้งๆ ที่ข้อมูลข่าวสารพรั่งพรูมาจากทุกทิศทุกทาง

ฮิตเลอร์นั้นประกาศมานานแล้วว่าต้องการยึดรัสเซีย แม้มีการทำสนธิสัญญาระหว่างสองประเทศว่าจะไม่รุกรานกันใน ค.ศ.๑๙๓๙ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะระเบิด  แต่หลังจากที่เยอรมนีบุกโปแลนด์และประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร ก็มีเค้าลางว่าเยอรมนีจะบุกรัสเซีย

สตาลินรู้ดีว่ารัสเซียยังไม่พร้อมทำสงครามกับเยอรมนี จึงหวังพึ่งมาตรการทางการทูตเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง และฝากความหวังว่าวิธีการเหล่านั้นจะได้ผล  อย่างไรก็ตามสถานการณ์บ่งชี้ว่าเยอรมนีมีแผนบุกรัสเซียแน่นอน  นายพลรัสเซียหลายคนพยายามเตือนสตาลินครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สตาลินไม่เชื่อ  คราวหนึ่งเขาถึงกับบอกนายพลเหล่านี้ว่า “พวกเยอรมันกลัวเรา เรื่องนี้เป็นความลับนะ จะบอกคุณให้ ทูตของเราได้คุยกับฮิตเลอร์อย่างจริงจังเป็นการส่วนตัวแล้ว ฮิตเลอร์บอกเขาว่าโปรดอย่ากังวลที่ทหารของเรารวมพลกันที่โปแลนด์ กองทัพของเรากำลังฝึกซ้อมกันอยู่”

แม้ได้รับคำเตือนจากอังกฤษเรื่องการบุกของเยอรมนี สตาลินก็ไม่เชื่อ โดยให้เหตุผลว่าเป็นลูกไม้ของอังกฤษที่ต้องการยุแยงให้รัสเซียกับเยอรมนีผิดใจกัน  ครั้นสายลับของรัสเซียยืนยันข่าวดังกล่าวเป็นเสียงเดียวกัน สตาลินก็ตอบว่า “ฮิตเลอร์ไม่ใช่คนโง่ เขาไม่เปิดแนวรบสองด้านในเวลาเดียวกันหรอก” (คือแนวรบด้านตะวันตกกับด้านตะวันออก)

หนึ่งเดือนครึ่งก่อนเยอรมนีบุกรัสเซีย สตาลินได้รับรายงานว่าเยอรมนีส่งเครื่องบินมาลาดตระเวน  แทนที่จะตื่นตัว เขากลับบอกว่า “ผมไม่รู้ว่าฮิตเลอร์รู้เรื่องนี้หรือเปล่า”

สตาลินปฏิเสธทุกครั้งเมื่อได้ยินข่าวเกี่ยวกับยุทธการของฮิตเลอร์ เขาไม่ยอมรับ หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้น เขายอมรับไม่ได้ว่าฮิตเลอร์มีแผนร้ายต่อรัสเซีย จนกระทั่งวันที่เยอรมนีกรีธาทัพบุกรัสเซีย สตาลินก็ยังคิดว่านี่อาจเป็นแผนการยั่วยุของนายพลเยอรมัน “ฮิตเลอร์คงไม่รู้เรื่องนี้”  ดังนั้นเขาจึงไม่ออกคำสั่งให้ต่อต้านทหารเยอรมันจนกว่าจะได้รับคำยืนยันจากสถานทูตในเบอร์ลินเสียก่อน

ต่อเมื่อได้รับคำยืนยันจากทูตเยอรมันประจำรัสเซีย  สตาลินจึงต้องยอมรับว่าเยอรมนีประกาศสงครามกับรัสเซียจริงๆ เขาถึงกับนิ่งงันอยู่นาน สีหน้าเหนื่อยล้าและหมดสภาพ  ยิ่งได้ข่าวเป็นระยะๆ ว่าเยอรมนียึดได้เมืองแล้วเมืองเล่า เขาถึงกับทำอะไรไม่ถูก  ผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ สถานการณ์ของฝ่ายรัสเซียวิกฤตหนัก เพราะถูกตีแตกไม่เป็นขบวน  มีช่วงหนึ่งสตาลินถึงกับเก็บตัว ไม่คุยกับใคร และไม่สนใจอะไรเลย ได้แต่เดินไปเดินมาเหมือนคนไร้สติ  ผลก็คือรัฐบาลของรัสเซียเป็นอัมพาต ๒ วันเต็มๆ ไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมาจากส่วนกลาง แต่ละเมืองที่ถูกโจมตีต้องหาทางเอาตัวรอดกันเอง

กว่าสตาลินจะฟื้นจากฝันร้ายและพร้อมเผชิญหน้ากับความจริง ก็ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ แต่ถึงตอนนั้นรัสเซียก็เพลี่ยงพล้ำไปมากและถอยร่นจนเปิดทางให้กองทัพเยอรมันบุกประชิดกรุงมอสโกได้ในเวลาเพียง ๓ เดือน

ความกลัวพ่ายแพ้แบบหมดรูปทำให้สตาลินไม่ยอมรับความจริงว่าเยอรมนีมีแผนบุกรัสเซีย  เขาไม่เพียงปฏิเสธข่าวกรองนานาชนิดที่มาจากทุกสารทิศ แต่ยังพยายามให้เหตุผลทั้งแก่ตนเองและคนอื่นเพื่อยืนยันความเชื่อของตน จนถึงขั้นมั่นอกมั่นใจว่าฮิตเลอร์ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คนอื่นคิด  จะว่าไปแล้วในส่วนลึกคนฉลาดอย่างสตาลินย่อมรู้ดีว่าฮิตเลอร์คิดอะไร แต่เขาไม่อาจยอมรับความจริงดังกล่าวได้ จึงพยายามหลอกตัวเองด้วยเหตุผลและข้ออ้างสารพัด  จนกลายเป็นคนดื้อด้านและโง่เขลาในสายตาของผู้คนเป็นอันมาก

กรณีสตาลินยังชี้ให้เห็นถึงความสามารถของคนเราในการหลอกตนเอง  ยิ่งฉลาดเท่าใดก็ยิ่งสรรหาเหตุผลสวยหรูมาเป็นกำแพงปิดกั้นความจริง  ยิ่งมีอำนาจล้นฟ้าด้วยแล้วก็อาจบังคับข่มขู่เพื่อมิให้ความจริงนั้นมาถึงตัวหรือย้ำเตือนให้กระเทือนจิตได้  ดังสตาลินแสดงอาการกราดเกรี้ยวกับคนที่พูดไม่ถูกหู จนไม่มีใครกล้าบอกข่าวร้ายแก่เขา  แม้กระทั่งทันทีที่รู้ข่าวว่ากองทัพเยอรมันถล่มชายแดนรัสเซียแล้ว นายทหารคนสนิทก็ยังเกี่ยงกันแจ้งข่าวนี้แก่สตาลินเพราะกลัวภัยจากเขา

จะว่าไปแล้วการปฏิเสธความจริงด้วยวิธีการต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นวิธีปกป้องจิตใจตนเองไม่ให้เป็นทุกข์หรือเจ็บปวด แม้จะมีประโยชน์แต่ก็เป็นโทษในระยะยาว เพราะทำให้ไม่สนใจเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ความสูญเสียที่ตามมาจึงมักร้ายแรงกว่าการยอมรับความจริงเสียตั้งแต่แรก

สตาลินนั้นมีเดิมพันสูง มีราคามหาศาลที่ต้องจ่ายหากพ่ายแพ้แก่เยอรมนี เพราะเขาเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศที่ยิ่งใหญ่ จึงยอมรับข่าวร้ายจากชายแดนไม่ได้  แต่จะว่าไปแล้วเดิมพันอะไรจะสูงเท่ากับชีวิต สูญเสียตำแหน่งหรือทรัพย์สมบัติก็ไม่ร้ายเท่ากับสูญเสียชีวิต  ด้วยเหตุนี้ถึงแม้จะไม่ได้เป็นใหญ่อย่างสตาลิน เราทุกคนก็อาจมีอาการอย่างเดียวกับเขาหากพบว่าความตายกำลังจะมาถึงตัว นั่นคือไม่ยอมรับความจริงว่าตนกำลังจะตาย

อันที่จริงแม้ความตายยังไม่ถึงกับประชิดตัว แต่ในส่วนลึกของคนส่วนใหญ่นั้นไม่เชื่อว่าตนจะต้องตายด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ได้ยินได้ฟังว่ามีคนตายอยู่เนืองๆ  หรือถึงแม้รู้ว่าตัวเองจะต้องตายไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ใจก็ไม่ได้เชื่ออย่างนั้น  ดังนั้นเมื่อถึงคราวที่จะต้องตาย จึงยอมรับไม่ได้ พยายามปฏิเสธ ผลักไส และต่อต้าน ซึ่งเท่ากับเพิ่มความทุกข์ทรมานให้แก่ตนมากขึ้น

ปัญหาใดๆ ก็ไม่ร้ายแรงหรือน่ากลัวเท่ากับใจที่ปฏิเสธปัญหา เพราะนั่นหมายถึงความประมาท นิ่งดูดาย งอมืองอเท้า ปล่อยให้ปัญหานั้นจู่โจมโดยไม่ทันตั้งตัว

ถึงตอนนั้นแล้วหากใจยังปฏิเสธ ผลักไส ตีโพยตีพาย ไม่ยอมรับความจริง ก็ยิ่งเจ็บปวดเพราะถูกความจริงโบยตี  จะดีกว่ามากหากยอมรับความจริงเสียแต่ต้น แม้จะเจ็บปวดทีแรก แต่ก็มีโอกาสที่จะรับมือกับมันได้ดีขึ้น  ยิ่งยอมรับแต่เนิ่นๆ เท่าไรก็ยิ่งมีเวลาเตรียมการมากเท่านั้น อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ ดังผู้ที่เจริญมรณสติอยู่เสมอ ไม่เพียงจะตื่นตระหนกน้อยลงเมื่อความตายมาประชิดตัวเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ประโยชน์จากมัน คือเห็นธรรมจากความตาย ทำให้ปล่อยวางและเผชิญความตายด้วยใจสงบ