รินใจ
ภาพประกอบ : อ้อย กาญจนะวณิชย์

13heartน้องโยเป็นเด็กชายวัย ๗ ขวบ วันหนึ่งป้าชวนน้องโยซ้อนมอเตอร์ไซค์เข้าไปในเมือง ระหว่างทางมีรถพุ่งมาชนอย่างจัง ป้าแขนหัก ส่วนน้องโยขาแหลกเละไปข้างหนึ่ง ทั้งสองถูกนำส่งโรงพยาบาลนครปฐมทันที

หมอเล่าว่าขณะที่ป้าร้องโอดโอยอยู่นั้น น้องโยกลับนิ่งเงียบ ไม่ส่งเสียงร้องหรือแสดงอาการทุรนทุรายแต่อย่างใด ยอมให้หมอทำการรักษาอย่างสงบจนใคร ๆ ก็แปลกใจ

เมื่อผ่าตัดเสร็จ หมอถามว่าทำไมน้องโยไม่ร้องเลย น้องโยตอบสั้น ๆ ว่า “ผมกลัวป้าเสียใจครับ”

น้องโยรู้ว่าป้ากำลังเจ็บปวดเพราะแขนหัก จึงไม่อยากให้ป้าเป็นทุกข์มากไปกว่านี้หากได้ยินเสียงร้องของตน ป้าคงรู้สึกแย่อยู่แล้วที่เป็นเหตุให้หลานต้องมาประสบอุบัติเหตุร้ายแรง น้องโยจึงไม่อยากซ้ำเติมความทุกข์ของป้าด้วยการแสดงความเจ็บปวดให้ป้าเห็น

ในยามที่ตัวเองกำลังประสบเคราะห์กรรมแสนสาหัส น้องโยกลับมีใจนึกถึงคนอื่น ใช่หรือไม่ว่าการนึกถึงคนอื่นกลับทำให้น้องโยสามารถอดทนต่อความเจ็บปวดได้อย่างยากที่เด็ก (หรือแม้แต่ผู้ใหญ่) จะทำได้ ในทางตรงข้ามหากน้องโยนึกถึงแต่ตัวเองว่า “ทำไมถึงต้องเป็นฉัน” หรือ “จะทำยังไงดีถ้าขาฉันถูกตัด” น้องโยคงดิ้นทุรนทุรายด้วยความทุกข์ทรมานยิ่งกว่าป้าเสียอีก

ความเห็นใจและการนึกถึงผู้อื่นสามารถทำให้เรามีพลังต่อสู้กับความทุกข์และอดทนต่อความยากลำบากได้อย่างที่ตัวเองอาจนึกไม่ถึง จะเรียกว่านี้เป็นพลังแห่งความรักหรืออานุภาพแห่งเมตตากรุณาก็ได้ มนุษย์เรานั้นมีศักยภาพเหลือประมาณ ความรักหรือเมตตากรุณามีอานุภาพตรงที่สามารถดึงศักยภาพนั้นออกมาได้อย่างเต็มที่ ผู้เป็นแม่สามารถอดทนต่อความยากลำบากได้แทบทุกอย่าง ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะความรักที่มีต่อลูกนั่นเอง แต่ความรักหรือเมตตากรุณานั้นไม่ได้มีเฉพาะกับผู้เป็นแม่เท่านั้น หากยังมีได้กับทุกคน โดยเฉพาะเมื่อเกิดสายสัมพันธ์แห่งความเห็นอกเห็นใจ

หมออมรา มลิลา เล่าถึงชายผู้หนึ่งซึ่งประสบอุบัติเหตุ สมองได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง มิหนำซ้ำไตยังวายฉับพลัน จึงอยู่ในภาวะโคม่า หมอบอกว่ามีโอกาสรอดน้อยมากแม้จะถูกนำส่งโรงพยาบาลทันที แต่เขาก็รอดมาได้ สิ่งที่ช่วยชีวิตเขาไว้นั้นเป็นมากกว่ายาและความสามารถของหมอ

เขาเล่าว่าระหว่างที่นอนหมดสติอยู่ในห้องไอซียูนานเป็นสัปดาห์ บ่อยครั้งที่เขารู้สึกว่ากำลังลอยเคว้งคว้าง แต่มีบางช่วงที่ดูเหมือนจะมีมือมาแตะตัวเขา และมีพลังแผ่เข้ามา ทำให้ใจที่เหมือนจะขาดลอยหลุดไปนั้นกลับมารวมตัวกัน เกิดความรู้ตัวขึ้นมา สักพักความรู้ตัวนั้นก็เลือนหายไปอีก เป็นอย่างนี้ทุกวัน

เขามารู้ภายหลังว่ามีพยาบาลคนหนึ่งมาจับมือแล้วแผ่เมตตาให้กำลังใจแก่เขาทุกวันที่เข้าเวร พอจะออกเวรเธอก็มาลาเขา และพูดว่าขอให้สบายทั้งคืน พรุ่งนี้พบกันใหม่ กับคนไข้คนอื่น เธอก็ทำอย่างเดียวกัน

คนไข้ผู้นี้มีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ จนรู้สึกตัวได้มากขึ้น แต่บางคืนจะรู้สึกทรมานมาก เพราะทั้งเจ็บปวดทั้งหายใจลำบาก จนเขาอยากหยุดหายใจไปเลยจะได้หมดทุกข์ ในยามนั้นเขารู้สึกว่าการตายง่ายกว่าการมีชีวิตอยู่ แต่ขณะนั้นเองเขาก็จะนึกถึงพยาบาลผู้นั้นว่า หากเธอมาพบว่าเขาเสียชีวิตแล้ว เธอคงจะรู้สึกเสียใจและโทษความบกพร่องของตนเอง เขาจึงพยายามอดทนหายใจต่อไปเพื่ออยู่ให้ถึงเช้า จะได้ร่ำลาพยาบาลคนนั้น และบอกเธอว่าหากเขาตายไปก็ไม่ใช่ความผิดของเธอ เธอทำดีที่สุดแล้ว

ครั้นถึงตอนเช้า อาการเขาดีขึ้น พอพยาบาลคนนั้นมา เขาก็ลืมร่ำลาเธอ ตกกลางคืนเขากลับมีอาการทรุดลงอีก แต่ก็พยายามอดทนจนถึงเช้าเพื่อลาพยาบาล แล้วก็ลืมอีก เป็นเช่นนี้หลายครั้ง จนอาการดีขึ้นและหายเป็นปรกติ

คนไข้ผู้นี้ฝืนสู้กับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสจนสำเร็จ ไม่ใช่เพราะนึกถึงตนเอง แต่เพราะนึกถึงผู้อื่นซึ่งมีน้ำใจกับตน ใจที่เป็นห่วงผู้อื่นทำให้คนเราพร้อมจะมองข้ามความทุกข์ของตนเอง ดังนั้นจึงสามารถอดทนอย่างถึงที่สุด หรืออาจข้ามพ้นขีดจำกัดของตนเองไปได้ด้วยซ้ำ ตรงกันข้ามกับคนที่นึกถึงแต่ตนเอง มักจะอดทนต่อความลำบากได้น้อยกว่า ยิ่งคิดถึงความสุขสบายของตนเองมากเท่าไร ก็ยิ่งไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องอดทน และหากคิดถึงแต่ความสำเร็จของตน ก็ยิ่งจำกัดกรอบตัวเองให้เอาศักยภาพมาใช้แต่เพียงบางเรื่องที่ตนเองได้ประโยชน์ จึงไม่สามารถที่จะใช้ศักยภาพได้อย่างถึงที่สุด

คนเราจะเข้มแข็งมากขึ้นเมื่อนึกถึงตัวเองน้อยลงและคิดถึงผู้อื่นมากขึ้น แต่การคิดถึงผู้อื่นนั้นไม่ควรมีความหมายเพียงแค่การนึกถึงความทุกข์ของเขาเท่านั้น หากควรรวมไปถึงการมองจากมุมของเขาด้วย การเป็นห่วงว่าผู้อื่นอาจจะเป็นทุกข์ถือว่าเป็นความปรารถนาดีอย่างหนึ่ง แต่ความปรารถนาดีที่มองจากมุมของตัวเราเองอย่างเดียว แม้ทำให้เราเข้มแข็งก็จริง แต่อาจขาดความอ่อนโยน เพราะคิดแต่จะกะเกณฑ์ผู้อื่นให้โอนอ่อนตามความคิดของเรา และหากเขาไม่ทำตามก็จะเป็นทุกข์หรือเกิดความไม่พอใจขึ้นมา

ครูช่อผกาเป็นครูที่ขยันและเสียสละเพื่อนักเรียน ได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์เวรดูแลเด็กเข้าเรียน วันหนึ่งเห็นนักเรียนคนหนึ่งยืนลับ ๆ ล่อ ๆ ในขณะที่คนอื่นเข้าห้องเรียนกันหมดแล้ว ครูตั้งใจจะตักเตือนนักเรียน จึงเรียกให้เขาตามเข้าไปคุยในห้อง ครูเดินนำหน้าไปหลายช่วงตัวแล้ว แต่นักเรียนกลับไม่ขยับเขยื้อน ยืนเกาะราวบันไดอยู่ที่เดิม ครูโกรธขึ้นมาทันทีที่นักเรียนไม่ทำตามคำสั่ง จึงพูดขึ้นด้วยเสียงดุๆ ว่า “ทำไมไม่ตามครูมา”

แต่แล้วความคิดหนึ่งก็แวบเข้ามา ครูจึงถามนักเรียนอีกครั้งด้วยน้ำเสียงที่อ่อนลง นักเรียนตอบว่า “ผมเดินขึ้นบันไดไม่ได้ครับ ต้องเดินไปอีกด้านหนึ่ง” ปรากฏว่าเขาเป็นโรคกล้ามเนื้อหมดแรง ครูรู้สึกเสียใจที่พูดเสียงแข็งกับนักเรียนเพราะเผลอเข้าใจไปว่าเขากำลังขัดคำสั่งของเธอ แต่ก็ยังดีที่ครูถามเหตุผลของนักเรียนก่อนที่จะด่าหรือพูดจารุนแรงออกไป ความคิดที่แวบเข้ามาว่าเด็กอาจมีเหตุผลของตนทำให้ครูช่อผกาเสียงอ่อนลง และนั่นทำให้เธอพบความจริงที่น่าเศร้าของนักเรียนผู้นี้ ครูรู้ในเวลาต่อมาว่าเขาเคยเรียนเก่ง แต่หลังจากที่เป็นโรคนี้ก็สอบตกเกือบทุกวิชา ไม่ใช่แต่เขาคนเดียวเท่านั้น พี่ชายคนโตตอนนี้อาการหนักจนต้องนั่งอยู่ในรถเข็น ส่วนคนรองก็เริ่มเดินไม่ได้แล้ว ฐานะการเงินที่บ้านก็ย่ำแย่มาก ครูช่อผกาจึงหาทางช่วยเหลือเด็กคนนี้โดยร่วมมือกับครูคนอื่น ๆ ในโรงเรียน รวบรวมเงินจนสามารถส่งเสียให้เรียนจบ

หากครูช่อผกาไม่พยายามฟังเหตุผลของนักเรียนก่อน ก็คงจะจมอยู่กับความไม่พอใจที่เห็นเขาไม่ทำตามคำสั่งของเธอ ความรู้สึกว่า “ตัวกู” ถูกท้าทาย ทำให้เธอเกือบจะทำอะไรรุนแรงกับเด็ก ซึ่งเท่ากับเป็นการซ้ำเติมเขาให้เป็นทุกข์ยิ่งขึ้น

ใช่หรือไม่ว่าบ่อยครั้งผู้คนทำร้ายกันเพียงเพราะเอาความรู้สึกของตัวเป็นใหญ่ หาไม่ก็ยืนกรานที่จะมองจากมุมของตัวเอง จึงเห็นอีกฝ่ายเป็นผู้ผิด กว่าจะรู้ภายหลังว่าตนเองด่วนสรุปบางครั้งก็สายเกินไปแล้ว ภรรยาทะเลาะกับสามีเพราะหาว่านอกใจ เพื่อนผิดใจกันเพราะหาว่าไม่มาตามนัด คนไข้โกรธพยาบาลเพราะหาว่าปล่อยปละละเลย ทั้งหมดนี้อาจไม่เลวร้ายถึงขั้นนั้นหากถามหาเหตุผลของอีกฝ่ายก่อน หรือพยายามมองจากมุมของเขาดูบ้าง

การนึกถึงผู้อื่น ไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่ นอกจากจะทำให้เราด่วนทำร้ายกันน้อยลงแล้ว ยังช่วยให้เราเป็นทุกข์น้อยลงด้วย เวลาเห็นเพื่อนนิ่งเฉยกับคำทักทายของเรา แทนที่จะปล่อยให้ความไม่พอใจผุดขึ้นมาเป็นใหญ่ในใจ หรือจมอยู่กับความคิดว่า “ถือดีอย่างไรถึงมาปั้นปึ่งกับฉัน” ลองตั้งคำถามใหม่ว่า “เขามีอะไรไม่สบายใจหรือเปล่าถึงไม่พูดไม่จาอย่างนั้น” คำถามหลังนั้นช่วยลดทอนความโกรธออกไปจากใจเรา เกิดความห่วงใยขึ้นมาแทนที่ อีกทั้งยังเป็นสะพานเชื่อมความรู้สึกให้มาใกล้ชิดกันมากขึ้น ใครจะไปรู้ เขาอาจกำลังมีปัญหาบางอย่างเร้ารุมจิตใจ จึงทำให้ไม่ทันรับรู้การทักทายของเรา หาใช่เป็นเพราะกินแหนงแคลงใจเราไม่

ความเป็นมนุษย์นั้นขึ้นอยู่กับ “ขนาด” ของหัวใจ ใจจะใหญ่หรือเล็กไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัยหรือเพศ อีกทั้งไม่ได้ถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิด เด็กที่อายุเพียง ๗ ขวบอย่างน้องโยมีใจใหญ่กว่าผู้ใหญ่จำนวนมาก ไม่ใช่เพราะอะไรอื่น หากเพราะนึกถึงคนอื่นนั่นเอง ไม่มีอะไรที่จะรัดรึงใจเราได้แน่นหนาเท่ากับความเห็นแก่ตัว เมื่อใดก็ตามที่เรานึกถึงตัวเองน้อยลง ใจไม่เพียงขยายใหญ่ขึ้นเท่านั้น หากยังเป็นอิสระอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนอีกด้วย