เรื่อง : วันชัย ตัน
ภาพประกอบ : นายดอกมา
ในประเทศญี่ปุ่น มักมีเรื่องราวให้เราๆ ท่านๆ ชวนคิดได้เสมอ
ปี ๒๕๕๑ มีข่าวในกรุงโตเกียวว่า โตชิโร เซมบะ จ่าสิบตำรวจรถไฟวัย ๕๘ ปี ออกมาเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนทราบว่า ผู้บังคับบัญชาของตนได้ปลอมแปลงใบเสร็จค่าอาหารเพื่อมาเบิกเงินเป็นเวลานาน
แทนที่จะมีการลงโทษผู้บังคับบัญชาคนนั้น ปรากฏว่าจ่าเซมบะกลับถูกกลั่นแกล้งโดยถูกยึดปืนพก ด้วยข้ออ้างว่ามีอารมณ์แปรปรวนเป็นอันตรายต่อการมีอาวุธในครอบครอง และแย่ยิ่งกว่านั้น เขายังได้รับคำสั่งให้นั่งทำงานในห้องแคบๆ คนเดียวบนสถานีตำรวจเป็นเวลาถึง ๕๐๐ วัน ไม่ต่างจากการถูกบีบให้ออก
“ผมมาเป็นตำรวจเพราะอยากช่วยคนไม่มีทางสู้ ผมได้ยศจ่ามากว่า ๓๔ ปี ไม่ได้เลื่อนขั้นเลยเพราะปฏิเสธจะคอร์รัปชัน อาทิการปลอมใบเสร็จ จึงถูกดองเค็ม”
เซมบะเป็นตัวอย่างหนึ่งของบรรดา “นักเป่านกหวีด” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกข้าราชการชั้นผู้น้อย ผู้กล้าออกมาเตือนการทุจริตคอร์รัปชันภายในองค์กรของตนให้คนอื่นได้รับรู้
ฟังดูคนเหล่านี้น่าจะเป็นฮีโร่ขององค์กรนั้นๆ
แต่เอาเข้าจริงแล้วในแดนอาทิตย์อุทัย คนเหล่านี้ถูกเรียกว่า ตัวซวย เพราะคนส่วนใหญ่ยังให้การยอมรับในลำดับอาวุโสจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ
ประเภทว่าลูกพี่อาวุโสกว่าจะโกงกิน ตั้งแต่ร่วมมือกันปลอมแปลงเอกสารให้กับบริษัทผู้ผลิตแป้งพายที่หมดอายุแล้ว เซ็นรับรองอาคารของผู้รับเหมาก่อสร้างที่เลี่ยงการทดสอบอัคคีภัย หรือออกใบอนุญาตให้กับบริษัทผู้ผลิตเนื้อวัวแต่ดันทะลึ่งผสมเนื้อไก่ลงไปด้วย
ครั้นลูกน้องในองค์กรหรือบริษัทเหล่านี้เห็นการทุจริตเกิดขึ้นก็จำต้องปิดปากเงียบ เพราะเกรงใจในระบบอาวุโสที่ค้ำคอมาเป็นเวลานาน
แต่จ่าสิบตำรวจเซมบะได้ฟ้องศาลกล่าวหาว่าถูกกรมตำรวจกลั่นแกล้ง และศาลตัดสินให้เขาชนะคดีโดยได้รับค่าเสียหายคิดเป็นเงินไทยร่วม ๓ แสนบาท
เมื่อศาลวินิจฉัยว่าการที่กรมตำรวจปฏิบัติกับเซมบะถือว่ามีเจตนาแก้แค้นหลังจากเขาเปิดเผยการคอร์รัปชันในปี ๒๐๐๔
ระหว่างศาลอ่านคำตัดสิน เขาถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ “ผมพบแล้วว่ายังมีความยุติธรรมในโลกนี้”
แม้ว่ากรมตำรวจกำลังยื่นอุทธรณ์ และค่าเสียหายดังกล่าวอาจจะเล็กน้อย แต่ถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของบรรดานักเป่านกหวีดในญี่ปุ่น
ปัจจุบันเซมบะยังคงเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟ เขาบริจาคเงินที่ได้รับให้แก่การกุศล เพราะนั่นไม่ใช่ประเด็นที่เขาต้องการเรียกร้อง แท้จริงแล้วสิ่งสำคัญกว่าคือการได้รับการยอมรับจากคนทั่วไป ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นคือความถูกต้องต่างหาก
โคจิ อิงาตะ อาจารย์วิชาบริหาร ธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยโอซากา มองว่าปัจจุบันนักเป่านกหวีดในองค์กรหรือบริษัทของญี่ปุ่นยังถือว่ามีจำนวนน้อยมาก เพราะบริษัทส่วนใหญ่ก็บริหารด้วยระบบครอบครัว เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ชาวซามูไรยังคงยึดกับระบบอุปถัมภ์องค์กร และจะอยู่กับบริษัทนั้นๆ เป็นเวลานาน จึงมีความจงรักภักดีกับเจ้านายมากกว่าอื่นใด โดยถือคติที่ว่า
“Boss can do no wrong” หรือ “ยามใดที่เจ้านายเกิดปัญหา ลูกน้องที่ดีควรโดดออกมาปกป้องมากกว่าใส่ความ”
บรรดานักเป่านกหวีดที่พยายามเปิดโปงความไม่ซื่อสัตย์หรือการทุจริต จึงถูกมองเหมือนคนนอกที่เอาเรื่องครอบครัวไปแฉ
อย่างไรก็ตาม ในสังคมญี่ปุ่นก็เริ่มมีบรรดานักเป่านกหวีดมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ อากะฟูกุ คนทำแป้งพายในบริษัทผลิตขนมปังรายหนึ่ง ออกมาเปิดโปงกับสื่อว่า เจ้าของบริษัทได้สั่งให้พนักงานเอาขนมปังเก่าออกไปส่งขายตามร้านเหมือนสินค้าใหม่ ส่งผลให้โรงงานถูกปิดหลังจากนั้น
ติดตามมาด้วยเจ้าหน้าที่คนหนึ่งได้ออกมาเปิดเผยถึงความไม่ปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือ ลูกจ้างบริษัทอาหารชื่อดังออกมาเปิดโปงการยักยอกเงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือบริษัทนั้นมาเข้ากระเป๋าเจ้าของบริษัท
แต่ที่เมืองไทย หากทำตัวเป็นนักเป่านกหวีด ส่งเสียงดังๆ ให้รู้ว่าเกิดความไม่ชอบมาพากลหรือมีคนกำลังโกงบ้านโกงเมืองแล้ว
สิ่งสมนาคุณที่ได้รับมีสถานเดียวคือถูกอุ้มขึ้นรถตู้ไปทำปุ๋ยชีวภาพครับ