เรื่อง : องค์ บรรจุน
ภาพ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

prapeenang4

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ทรงประเคนเครื่องไทยทานถวายพระราชอุดมมงคล(หลวงพ่ออุตตมะ)
พระอริยะของชาวมอญสองแผ่นดิน
ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นประธานในงานสวดมหาราชพระปริตรมอญ
ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๒

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จไปทรงเป็นประธานในงานสวดมหาราชพระปริตรมอญ เพื่อจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๒ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นับเป็นพิธีที่มีความสำคัญยิ่ง เป็นการไขข้อกังขาที่ว่าความสัมพันธ์ของชาวมอญที่มีต่อพระราชวงศ์ไทยนั้นแนบแน่นและมีมาแต่ครั้งใด พิธีสวดพระปริตรมอญมีความหมายต่อพระมหากษัตริย์ไทยอย่างไร รวมทั้งการที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เสด็จมาประกอบพิธีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความรักความผูกพันที่พระเชษฐภคินีมีต่อพระอนุชามากเพียงใด

การสวดพระปริตรมอญ เป็นโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องมายาวนานในราชสำนักไทย หากแต่ไม่ค่อยมีผู้ใดรู้จักมากนัก เนื่องจากเป็นพิธีที่ปฏิบัติกันเฉพาะในหอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง และเป็นพิธีที่จัดทำขึ้นเฉพาะส่วนพระองค์ พิธีนี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อพระราชกิจวัตรประจำวันของพระมหากษัตริย์โดยตรง เนื่องจากเป็นพิธีที่สวดเพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์ทูลเกล้าฯ ถวาย ส่วนหนึ่งสำหรับจัดเป็นน้ำสรงพระพักตร์และน้ำโสรจสรง อีกส่วนหนึ่งเพื่อประพรมพระที่นั่งองค์สำคัญในเขตพระราชฐานชั้นใน ดังมีกฎมณเฑียรบาลระบุให้พระสงฆ์ที่ปฏิบัติหน้าที่นี้เป็นการพิเศษมีตำแหน่งเฉพาะ ๔ รูป ได้แก่ พระครูราชสังวร พระครูสุนทรวิลาศ พระครูราชปริต และพระครูสิทธิเตชะ รวมทั้งจำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นพระสงฆ์มอญและจำพรรษาอยู่ ณ วัดชนะสงครามเท่านั้น นอกจากนี้ พิธีดังกล่าวยังมีลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือ เป็นการสวดบทสวดพระปริตรภาษามอญ ภายหลังเมื่อสวดเสร็จเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่ประจำอยู่ภายในพระบรมมหาราชวังมักมาออกันแน่นตามทางที่พระสงฆ์จะเดินไปประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อหวังจะได้รับน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

ความสำคัญของพิธีสวดพระปริตรมอญเพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์ในพระบรมมหาราชวังนั้น ปรากฏตามพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า

“ในพระราชนิเวศน์เวียงวังของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตามแบบแผนบุรพประเพณีสืบมา พระสงฆ์รามัญได้สวดพระปริตรตามแบบอย่างข้างรามัญ ถวายน้ำพระพุทธมนต์และน้ำสรงพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นน้ำสำหรับสรงพระพักตร์ ประพรมเป็นทักษิณาวัฏรอบขอบ ในจังหวัดพระราชมหามณเฑียรนี้ทุกวัน เป็นการพระราชพิธีมีสำหรับบรมราชตระกูลสืบมาแต่โบราณ…”

prapeenang1

ตัวแทนชาวไทยเชื้อสายมอญ บ้านบางกระดี่ กรุงเทพฯ ถวายผ้าสไบมอญแด่
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร

“อนึ่ง เมื่อมีการเสด็จพระราชดำเนินประทับแรมราตรี ณ ตำบลใดเป็นทางไกล คือเสด็จไปการสงคราม หรือแทรกโพนช้างในแผ่นดินก่อนๆ พระสงฆ์รามัญสวดพระปริตรนี้ ก็ต้องตามเสด็จพระราชดำเนินด้วยทุกครั้ง เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้า เสด็จไปประทับอยู่กรุงลพบุรี ๘ เดือน ในฤดูแล้งทุกปี ก็ได้อาราธนาพระสงฆ์รามัญวัดตองปุให้ตามเสด็จขึ้นไปตั้งอารามชื่อวัดตองปุ อยู่สวดพระปริตรถวายพระพุทธมนต์ทุกวัน อารามนั้นก็มีปรากฏจนทุกวันนี้ แลน้ำพระพุทธมนต์พระปริตรนี้ ย่อมเป็นที่เห็นว่ามีอำนาจป้องกันอุปัทวันตรายต่างๆ ได้จริง ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งได้ดำรงสิริรัตนราไชยสวริยา-ธิปัตย์ เถลิงถวัลยราช ณ กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยานี้ ก็ได้ทรงถือน้ำพระพุทธมนต์พระปริตรที่พระสงฆ์รามัญสวดถวายนั้น เป็นน้ำสรงพระพักตร์และน้ำสรงมาทุกพระองค์”

เหตุอันควรเชื่อได้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยเลื่อมใสศรัทธาในพระสงฆ์และศาสนพิธีแบบมอญ ก็คงมาแต่ครั้งที่พระมหาเถรคันฉ่อง พระสงฆ์มอญผู้มีอุปการคุณได้ลอบทูลแผนปลงพระชนม์ของกษัตริย์พม่าต่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อครั้งยังเป็นตัวประกันอยู่ ณ เมืองหงสาวดี ภายหลังประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง พระมหาเถรคันฉ่องพร้อมด้วยไพร่พลมอญจำนวนมากได้โดยเสด็จมายังกรุงศรีอยุธยาด้วย รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการทำสงครามชนะพม่าหลายครั้ง ภายหลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดแต่งตั้งให้พระมหาเถรคันฉ่องเป็นสมเด็จพระสังฆราช สร้างพระอารามให้จำพรรษาในเขตพระบรมมหาราชวัง ปูนบำเหน็จให้แก่นายทหารและไพร่พลมอญ พระราชทานที่ตั้งบ้านเรือนแก่ชาวมอญข้างวัดขมิ้นและวัดขุนแสนใกล้กับวังจันทร์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เรื่องราวในเวลาต่อมายังปรากฏว่า เจ้าแม่วัดดุสิต (หม่อมเจ้าหญิงอำไพ) ราชธิดาในสมเด็จพระเอกาทศรถซึ่งเป็นพระนมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้สมรสกับขุนนางผู้สืบตระกูลมาจากนายทหารมอญที่ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา บุตรของเจ้าแม่วัดดุสิตคือเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ผู้เป็นบรรพบุรุษของพระปฐมบรมราชชนกในพระบรมราชจักรีวงศ์ มูลเหตุดังกล่าวจึงเป็นเครื่องยืนยันในสายสัมพันธ์และความจงรักภักดีที่ชาวมอญมีต่อพระราชวงศ์ไทยตลอดมา

prapeenang2

พระครูปริตรมอญสวดบทพระปริตรมอญสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๖ รอบ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นับเป็นการสวดพระปริตรนอกพระบรมมหาราชวังเป็นครั้งแรก

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์อธิบายเพิ่มเติมถึงราชประเพณีดังกล่าวในหนังสือ ตำนานพระปริต โดยแสดงให้เห็นว่า แม้ปรกติจะมีการแต่งตั้งตำแหน่งพระครูปริตไทย ๔ รูป และพระครูปริตมอญ ๔ รูป สำหรับสวดทำน้ำพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีโดยทั่วไปแล้ว แต่สำหรับพิธีสวดทำน้ำพระพุทธมนต์ที่หอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวังนั้น ให้มีเฉพาะพระครูปริตมอญเท่านั้นเข้ามาสวดทุกวัน ดังความว่า

“แต่การสวดพระปริตทำน้ำพระพุทธมนตร์ ถือเป็นการสำคัญในราชประเพณีอย่างหนึ่ง มีตำแหน่งพระครูพระปริตไทย ๔ รูป พระครูพระปริตมอญ ๔ รูป สำหรับสวดทำน้ำพระพุทธมนตร์ ในบรรดางานพระราชพิธีซึ่งมีสรงมุรธาภิเษก พระราชาคณะไทยรูป ๑ มอญรูป ๑ กับพระครูพระปริต ๘ รูปนั้นสวดทำน้ำพระพุทธมนตร์สำหรับสรงมุรธาภิเษกทุกงาน และโดยปกติพระครูพระปริตมอญต้องเข้ามาสวดทำน้ำพระพุทธมนตร์ที่หอศาสตราคมทุกวัน น้ำมนตร์พระปริตนั้น ส่วนหนึ่งแบ่งส่งไปสำหรับเป็นน้ำสรงพระพักตร์และโสรจสรง อีกส่วนหนึ่งในบาตร ๒ ใบให้สังฆการีถือตามพระครูพระปริต ๒ รูป เข้าไปเดินประพรมด้วยกำหญ้าคาที่ในพระราชวังเวลาบ่าย ๑๔ นาฬิกา ทุกวันเป็นนิตย์มาแต่โบราณ”

เมื่อได้บรรจุการสวดพระปริตรเป็นหนึ่งในพิธีหลวง จึงได้ทรงแต่งตั้งพระครูพระปริตประจำพระราชวัง สำหรับการสวดพระปริตรและสวดพระพุทธมนต์สำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ และสำหรับเสกทรายโดยเฉพาะ โดยมีพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ ๔ รูป ซึ่งแต่เดิมจำพรรษาอยู่ตามวัดต่างๆ ที่สังกัดอยู่ในคณะรามัญนิกาย เช่น วัดบวรมงคล วัดราชคฤห์ วัดชนะสงคราม เป็นต้น ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนแปลงเป็นพระสงฆ์มอญจากวัดชนะสงครามเพียงวัดเดียว ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการจัดเวรหมุนเวียนพระแต่ละวัดเกิดความไม่สะดวก หรืออาจเป็นเพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีพระที่สวดพระปริตรรามัญหลบภัยสงครามไปอยู่ตามวัดในต่างจังหวัด จะเหลืออยู่ก็แต่ที่วัดชนะสงคราม จึงได้จัดให้สวดวัดเดียวนับแต่นั้นมา

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ พระสงฆ์มอญที่สามารถสวดพระปริตรมอญได้นั้นมีน้อยไม่พอจะผลัดเปลี่ยนกัน พระครูราชสังวร (พิศ อายุวฑฺฒโก) รักษาการเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ได้ทำหนังสือถึงกรมการศาสนา ขอลดวันสวดเหลือสวดเฉพาะวันธรรมสวนะเท่านั้น โดยจัดเวรผลัดเปลี่ยนกันระหว่างพระครูปริตทั้ง ๔ รูป รับผิดชอบการสวดแต่ละวัน ดังนี้

๑. พระครูราชสังวร รับผิดชอบวันธรรมสวนะขึ้น ๘ ค่ำ
๒. พระครูสุนทรวิลาศ รับผิดชอบวันธรรมสวนะขึ้น ๑๕ ค่ำ
๓. พระครูราชปริต รับผิดชอบวันธรรมสวนะแรม ๘ ค่ำ
๔. พระครูสิทธิเตชะ รับผิดชอบวันธรรมสวนะแรม ๑๕ ค่ำ

โดยที่พระครูปริตทั้ง ๔ รูปทำหน้าที่เป็นประธานในการสวดแต่ละครั้ง รวมกับพระมอญอีก ๔ รูปในการสวดแต่ละวัน ปัจจุบันพระสงฆ์มอญที่สามารถสวดภาษามอญได้มีน้อยมาก สืบเนื่องจากสาเหตุหลายประการ โดยเฉพาะที่วัดชนะสงครามซึ่งเป็นพระอารามหลวงที่พระสงฆ์มอญมีบทบาทโดยตรงกับราชประเพณีดังกล่าว นอกจากพระสงฆ์มอญมีน้อยแล้วกฎเกณฑ์ที่จะแต่งตั้งตำแหน่งพระครูปริตเพื่อรับผิดชอบหน้าที่โดยตรงก็เป็นปัจจัยสำคัญ ได้แก่ พระสงฆ์รูปนั้นๆ จะต้องมีเปรียญธรรมไม่เกิน ๔ ประโยค แต่ในปัจจุบันพระสงฆ์ต่างจบเปรียญธรรมประโยคสูง จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระครูปริตได้ ปัจจุบันวัดชนะสงครามจึงยังคงเหลือตำแหน่งพระครูปริตเพียงตำแหน่งเดียวคือ พระครูสุนทรวิลาศ

prapeenang3

ชาวไทยเชื้อสายมอญในชุดพื้นเมืองเข้าร่วมงานสวดมหาราชพระปริตรมอญอย่างเนืองแน่น
ทั้งด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทั้งตื้นตันที่มีโอกาสได้เฝ้าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อย่างใกล้ชิด

เมื่อคณะนักวิจัยจากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงพื้นที่สำรวจและวิจัยร่วมกับชุมชนมอญวัดศาลาแดงเหนือ ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เพื่อจัดทำโครงการบันทึกแถบเสียงและจัดพิมพ์คู่มือการสวดมนต์ภาษามอญขึ้น ทำให้คณะทำงานสำรวจพบบทสวดพระปริตรมอญที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องของพิธีกรรมและประวัติความเป็นมาที่สัมพันธ์กับราชสำนัก จึงได้คิดส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักของผู้คนมากยิ่งขึ้น อันเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดพิธีสวดพระปริตรมอญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ชาวไทยเชื้อสายมอญต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นวาระอันสำคัญที่ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าต้องการมีส่วนร่วมในการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักและเทิดทูนของตน ในการนั้นทางคณะกรรมการจัดงานโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้ขอพระราชทานกราบทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นประธานในพิธีและพระราชทานน้ำต้นเพื่อจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ การจัดพิธีสวดมหาราชพระปริตรมอญในครั้งนั้นจึงนับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในยุครัตนโกสินทร์ที่เป็นการสวดนอกพระบรมมหาราชวัง โดยมีเจ้านายในพระราชวงศ์เสด็จมาทรงเป็นประธานด้วยพระองค์เอง

งานดังกล่าวนอกจากจะเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงสายใยความผูกพันที่ราชสำนักไทยมีต่อชนเชื้อสายมอญนับจากอดีตจวบจนปัจจุบันแล้ว ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์กับชุมชนมอญที่มีมาช้านาน กล่าวคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังบวรสถานมงคล มีเจ้านายฝ่ายต่างๆ สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญจำนวนมาก อีกทั้งที่ตั้งของวังยังสัมพันธ์กับชุมชนมอญและวังของพระบรมวงศานุวงศ์เชื้อสายมอญที่อยู่รายรอบวัดชนะสงคราม (วัดตองปุ) ซึ่งเป็นวัดมอญที่มีความสำคัญตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อเนื่องตั้งแต่ถนนพระอาทิตย์ บางลำพู ตลอดไปจนถึงบริเวณที่เรียกว่าสะพานมอญในปัจจุบัน และไม่เพียงแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เท่านั้น เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ขยายวิทยาเขตไปยังศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของชาวไทยเชื้อสายมอญเช่นกัน คณะกรรมการจัดงานจึงเห็นว่าสมควรที่จะจัดงานสวดพระปริตรมอญขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญสืบเนื่องตั้งแต่ในอดีตจวบจนปัจจุบัน

๘ ธันวาคม ๒๕๔๒ พระสงฆ์และชาวไทยเชื้อสายมอญทั่วทั้งประเทศต่างปีติยินดีให้ความร่วมมือและเดินทางมาร่วมงาน ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยากาศภายในหอประชุมคลาคล่ำด้วยชาวไทยเชื้อสายมอญในชุดแต่งกายแบบประเพณีมอญ แม้แต่ผู้สูงอายุในชุมชนมอญห่างไกลต่างก็หลั่งไหลมาจากทุกสารทิศเพื่อร่วมพิธีด้วยความจงรักภักดี ทุกคนสงบนิ่งตั้งมั่นในสมาธิพนมมือฟังพระสงฆ์มอญเจริญคาถาพระปริตรมอญ พร้อมจับจ้องไปยังสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่ประทับเป็นประธานอยู่เบื้องหน้าด้วยความปลื้มปีติ

“ฉันจำได้ วันนั้นคนมอญที่เกาะเกร็ดไปกันเยอะ มอญที่อื่นก็ไปกันเยอะ ทั่วประเทศแหละ ฉันไปตั้งแต่เช้า ไปนั่งรอรับเสด็จท่าน ท่านเสด็จมาถึงยิ้มมาแต่ไกล แต่งชุดสวยมาก เสื้อลูกไม้สีขาว ผ้าถุงสีน้ำเงิน ดูคล้ายๆ ผ้าถุงมอญเราเหมือนกัน เสียดายที่ท่านสิ้นพระชนม์เร็วเกินไป”

นางมะลิ วงศ์จำนง ชาวไทยเชื้อสายมอญปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ย้อนบรรยากาศภายในงานวันนั้นให้ฟัง เพื่อนบ้านหลายคนที่นั่งฟังอยู่ด้วยต่างก็เล่าด้วยความประทับใจไม่ต่างกัน และยังฝากถึงชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพด้วยว่า หากจองเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลแบบมอญถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เมื่อไรให้บอกด้วย พวกตนจะต้องมาร่วมงานด้วยอย่างแน่นอน

“งานพระนางเจ้ารำไพพรรณีฉันก็ไป งานสมเด็จย่าฉันก็ไป คนมอญเราทำพิธีมอญถวายมาแล้ว ๒ ครั้ง งานนี้ฉันก็จะไปอีก”

ขณะที่พระมหาจรูญ ญาณจารี วัดชนะสงคราม ที่ได้ร่วมในพิธีสวดพระปริตรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งนั้น และมีหน้าที่เข้าไปสวดพระปริตรในพระบรมมหาราชวังทุกวันพระ เล่าด้วยความรู้สึกปลาบปลื้มเช่นกันว่า

“งานนั้นเป็นงานใหญ่ ชาวไทยเชื้อสายมอญจากทุกจังหวัดตื่นตัวกันมาก คณะกรรมการและทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เตรียมงานกันนานเป็นปี ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย บ้างก็ออกแรงบ้างก็ออกทุน ข้าวของเครื่องใช้ อาหารเลี้ยงพระเลี้ยงคน และเครื่องไทยทาน เสร็จงานแล้วยังมีเงินเหลือบริจาคช่วยการกุศลอีกนับหมื่นบาท คณะจัดงานก็ปรึกษากันว่าควรจะเชิญเสด็จพระองค์ใดดีจึงจะเหมาะสม เรายังเสนอไปเลยว่าต้องเชิญเสด็จพระพี่นางฯ เพราะเป็นเจ้านายอาวุโสสูงสุดในพระราชวงศ์ตอนนั้น”

ดังได้กล่าวแล้วว่า พิธีครั้งนั้นเป็นพิธีอันสำคัญยิ่งที่ชาวไทยเชื้อสายมอญได้ร่วมกันนั่งสมาธิตั้งจิตอธิษฐานถวายพระพรเพื่อให้น้ำมนต์พระปริตรนั้นกอปรด้วยพุทธมงคลและพุทธเดชานุภาพ เพื่อถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชให้ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นร่มโพธิ์ทองและเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยสืบไป ทั้งนี้ได้มีการนิมนต์พระสงฆ์มอญจากทั่วประเทศทั้งสิ้น ๗๓ รูป และเป็นการสวดพระปริตรมอญแบบโบราณ บทสวดสิบสองตำนาน คือเป็นการสวดมหาราชปริตร ๑๒ บท ซึ่งในปัจจุบันไม่นิยมสวดกันแล้วเนื่องจากใช้เวลานาน

พิธีสวดพระปริตรมอญ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งนั้น ได้แสดงให้ประจักษ์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยเชื้อสายมอญกับพระราชวงศ์ไทย และหัวใจสำคัญของงานในครั้งนั้นก็คือ การที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่เริ่มพิธีถวายน้ำต้น ประทับทรงธรรม รวมทั้งสิ้นราว ๒ ชั่วโมง ในพระอิริยาบถอันสงบนิ่งและตั้งพระทัยมั่น ด้วยพระประสงค์ให้เกิดพระพุทธคุณส่งถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างเต็มกำลังโดยแท้จริง ยังความปลาบปลื้มมาสู่ชาวไทยเชื้อสายมอญที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของบุรพกษัตริย์ในอดีต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เป็นล้นพ้น ทั้งยังความตื้นตันมาสู่ปวงชนชาวไทยที่ได้เห็นภาพ ‘พี่สาว’ ตั้งมั่นปฏิบัติบูชาเพื่อ ‘น้องชาย’ ผู้เป็นที่รักยิ่งของพระองค์และพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า

เชิงอรรถ
๑ อนันต์ วิริยะพินิจ, บรรณาธิการ. พระปริตร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๒. หน้า ๒.
๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “ตำนานพระปริตร.” ใน งานฌาปนกิจศพนางเทศ สากลพิทักษ์ (สุนทรศาลทูล). พระนคร : บรรณาคาร, ๒๔๗๘. หน้า (๒๓).
๓ “ระเบียบและขนบธรรมเนียม.” ใน ยิ้ม ปัณฑยางกูร. เรื่องวัดชนะสงคราม. พระนคร : กรมศิลปากร, ๒๕๐๖. หน้า ๖๓.
๔ “พระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องประเพณีพระสงฆ์รามัญสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ในพระราชวังชั้นใน.” ใน เรื่องวัดชนะสงคราม. หน้า ๘๓.
๕ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. “พระราชอาณาจักรและราษฎรฝ่ายสยาม เล่ม ๑” ใน ประวัติศาสตร์บางเรื่องในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงสุคนธ์ ศัลยเวทยวิศิษฏ์ (สุคนธ์ คชเสนี). กรุงเทพฯ : เอราวัณการพิมพ์, ๒๕๓๒. หน้า ๗๗.
๖ ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, ๒๕๔๔. หน้า ๙.
๗ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. อ้างแล้ว. หน้า (๒๒)-(๒๓).
๘ พระปริตร. หน้า ๑๐๔.